หน้าแรก บทความสาระ
ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับ กับผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
คุณเฉลิมพล สุมโนพรหม ประธานคณะผู้ทำงานทางด้านกฎหมายของเครือข่ายพลังราม นายกสมาคมปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ก่อตั้ง) นักศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมาย มหาวิทยาลัยรามคำแหง(ประธานนักศึกษา Ph.D.รุ่น 8) อุปนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ประธานนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น 10
12 เมษายน 2554 01:23 น.
 
สืบเนื่องจากกรณีสำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา มีคำสั่งลงโทษทางวินัยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักปราบปรามทุจริตภาคการเมือง 2 มีมติการประชุมครั้งที่ 192-27/2553 วาระที่ 3.3วันที่ 27 เมษายน 2553 เรื่อง สำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหา รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ร่วมกันออกคำสั่งขยายระยะเวลาราชการให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล รองอธิการบดี โดยมิชอบ ตามเรื่องกล่าวหาหมายเลขดำที่ 50441790
                   เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยมี นายวิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ และ รศ.ดร. ธำรงสิน เจียรตระกูล อาจารย์ในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้กล่าวหา ได้กล่าวหาว่า รศ.รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝ่ายวิชาการและวิจัย และ รศ.คิม ไชยแสนสุข รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝ่ายบริหาร ร่วมกันออกคำสั่งขยายเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ให้แก่ผู้เกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ พ.ศ.2547 ด้วยการให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงในขณะนั้น และ รศ.รำไพ สิริมนกุล ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงในขณะนั้น โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล ได้รับเงินบำเหน็จ บำนาญ จากการต่ออายุราชการ และได้รับผลประโยชน์จากเงินสมนาคุณตำแหน่ง เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับความเสียหาย
                   กล่าวคือเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 ขณะที่ รศ.รังสรรค์ แสงสุข ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในขณะนั้น และเป็นผู้ที่จะมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2547 โดย รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ และ รศ.คิม ไชยแสนสุข ได้ทำการเสนอให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขยายระยะเวลาราชการ ด้วยการบรรจุ รศ.รังสรรค์ แสงสุข เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเสนอให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา การกระทำของ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝ่ายวิชาการและวิจัย และทำหน้าที่รักษาการแทนอธิการบดีในขณะนั้น และยังมี รศ.คิม ไชยแสนสุข ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝ่ายบริหาร ในขณะนั้น ด้วยการเป็นผู้ลงนามเสนอต่ออนุกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อให้มีการขยายระยะเวลาราชการของบุคคลทั้งสองดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับความเสียหาย เพราะเป็นเหตุที่ทำให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และ รศ.รำไพ สิริมนกุล ได้รับเงินบำเหน็จ บำนาญ และได้รับผลประโยชน์จากการดำรงตำแหน่งบริหารดังกล่าว
                   ต่อมาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้มีหนังสือถึงอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง แจ้งเรื่องการขยายระยะเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งสรุปความได้ว่า ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมีตำแหน่งตั้งแต่ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป เมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ในสิ้นปีงบประมาณ อาจให้รับราชการเพื่อทำหน้าที่สอนหรือวิจัยต่อไปได้ จนถึงสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบ 65 ปี บริบูรณ์ หนังสือฉบับดังกล่าวนี้ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝ่ายวิชาการและวิจัย และทำหน้าที่รักษาการแทนอธิการบดีในขณะนั้น และยังมี รศ.คิม ไชยแสนสุข ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝ่ายบริหาร ในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามรับทราบหนังสือฉบับดังกล่าว และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมอบให้กองการเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษากำหนด ต่อไป
                   อนึ่ง ในวันที่ 29 สิงหาคม 2548 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาเรื่องการดำรงตำแหน่งทางบริหารของผู้ได้รับการต่อระยะเวลาราชการตามข้อหารือของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ได้ทำหนังสือหารือไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความโดยย่อว่า ในกรณีข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ซึ่งได้รับการขยายระยะเวลาราชการออกไปอีก นับแต่วันที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ในปีงบประมาณ โดยให้ขยายระยะเวลาราชการออกไปได้จนถึงอายุครบ 65 ปี บริบูรณ์ ในปีงบประมาณ จึงมีข้อหารือว่าบุคคลผู้ได้รับการขยายระยะเวลาดังกล่าวสามารถดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัย เช่น ตำแหน่งรองอธิการบดี หรือผู้อำนวยการสำนัก หรือผู้อำนวยการสถาบันมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้หรือไม่ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทำการประชุมปรึกษาหารือและได้ตอบข้อหารือดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พอสรุปได้ความว่า ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งได้รับการต่อเวลาราชการตามมาตรา 19 และ/หรือมาตรา 72 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ต้องปฏิบัติหน้าที่เฉพาะการสอนหรือวิจัย ตามที่ได้รับอนุมัติให้ได้รับราชการต่อไปเท่านั้น ไม่สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งหรือดำรงตำแหน่งทางบริหารตามมาตรา 18 (ข) ในขณะเดียวกันได้ ซึ่งสรุปได้ว่า ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งได้รับการต่ออายุราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ต้องปฏิบัติหน้าที่เฉพาะการสอนหรือวิจัยตามที่ได้รับอนุมัติให้รับราชการต่อไปเท่านั้น ไม่สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งบริหารในขณะเดียวกันได้ (1)
                   อีกทั้งยังมีข้อหารือของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้ทำการหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด้วยการหารือในประเด็นปัญหาว่า ผู้ที่พ้นจากตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพราะเหตุเกษียณอายุ แต่ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นคณบดี อันเป็นตำแหน่งบริหารตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 โดยตำแหน่งดังกล่าวมิได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2530 ว่าต้องให้พ้นจากการดำรงตำแหน่งด้วยเหตุเกษียณอายุราชการตามมาตรา 28 และ 29 ซึ่งต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มีผลบังคับใช้และมีบทบัญญัติกำหนดถึงเรื่องผู้ที่ได้รับการต่อระยะเวลาราชการต้องทำหน้าที่สอนและวิจัยเท่านั้น ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีผู้เกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ พ.ศ.2546 และได้แสดงความจำนงที่จะรับราชการต่อไป ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรได้อนุมัติขยายระยะเวลาราชการให้นั้น จะต้องปฏิบัติอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำการวินิจฉัย ประชุมปรึกษาหารือ แล้วตอบข้อหารือแก่มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ความโดยย่อในประเด็นปัญหาดังกล่าวว่า ข้าราชการที่ได้รับการพิจารณาต่อเวลาราชการ และได้รับคำสั่งให้รับราชการต่อไป ต้องปฏิบัติหน้าที่เฉพาะการสอนหรือวิจัยเท่านั้น ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการบริหารได้ (2)
                    ในความเป็นจริงแล้ว รศ.รังสรรค์ แสงสุข เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2546 และต้องอยู่ในตำแหน่งจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2550 และ รศ.รำไพ สิริมนกุล ยังคงดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีนับแต่วันที่ 16 มกราคม 2546 และต้องดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2550 เช่นกัน จากกรณีดังกล่าวนี้ทำให้ผู้กล่าวหาได้ทำการกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยการทำเป็นหนังสือกล่าวหาฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ความว่า ทั้ง รศ.รังสรรค์ แสงสุข และ รศ.รำไพ สิริมนกุล ได้รับบำเหน็จ บำนาญ และผลประโยชน์จากการดำรงตำแหน่งอธิการบดี และรองอธิการบดี ตามลำดับ ทำให้เห็นได้ว่าการดำเนินการของผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาพิเศษร่วมกันที่จะให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ทำให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับความเสียหาย แต่ในหนังสือฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า ผู้กล่าวหาได้รับความเสียหายอย่างไร จึงต้องมากล่าวหาเป็นคดีนี้
                   หลังจากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นคำสั่งที่ 323/2550 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2550
                   และเมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ทำการไต่สวนข้อเท็จจริง แล้วเสร็จ ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการประชุมต่อไป ซึ่งเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักปราบปรามการทุจริต ภาคการเมือง 2 ได้ทำการประชุม ครั้งที่ 192-27/2553 วาระที่ 3.3 วันที่ 27 เมษายน 2553 ที่ประชุมลงคะแนนเสียงแยกเป็นสองฝ่าย ดังนี้ คือ
                   ฝ่ายเสียงข้างมากจำนวน 7 เสียง มีความเห็นพ้องต้องกันว่า คดีนี้มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 39 วรรคสาม และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
                   ท้ายที่สุดมติของที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.สรุปว่า รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ และ  รศ.คิม ไชยแสนสุข ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 39 วรรคห้า และมีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
                   ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีในศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณา พิพากษาคดี กับ รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ และ  รศ.คิม ไชยแสนสุข ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณี
                   ในที่สุดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ดร.สุเมธ แย้มนุ่ม เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ลงโทษไล่ออก รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิม ไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2547 เฉพาะ รศ.รังสรรค์ แสงสุข ส่วน รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ นั้นให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2553 ส่วน รศ.คิม ไชยแสนสุข ให้มีผลทันที ซึ่งคำสั่งดังกล่าวส่งผลให้ทั้ง รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิม ไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ต้องคืนบำเหน็จ บำนาญ ย้อนหลัง และไม่อาจได้รับบำเหน็จ บำนาญ ตลอดจนต้องส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คุณงามความดีที่ได้ทำมาตลอดชีวิตต้องสิ้นสุดลงโดยไม่คิดฝัน
                   ผู้เขียนได้พิจารณา และตรวจสอบบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคะแหง พ.ศ.2541 รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ...ฉบับที่ 4/46 ซึ่งเป็นร่างฉบับที่ สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นเรื่องเสร็จที่ .../2547 พบว่า ในเรื่องตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นั้น จะถูกบรรจุไว้ในหมวดที่ 2 เรื่องการดำเนินการ โดยกล่าวถึงตำแหน่งอธิการบดีไว้ว่าเป็นตำแหน่งที่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับปริญญาหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่น ที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงรับรอง และผู้นั้นจะต้องได้ทำการสอนหรือมีประสบการณ์ทางด้านบริหารไม่น้อยกว่า 5 ปี ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงรับรอง นอกจากนี้ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นั้นมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ ตลอดจนในพระราชบัญญัติดังกล่าวยังได้บัญญัติถึงเรื่องการพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไว้อย่างชัดเจนอีกด้วยว่า นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ 4 ปี แล้ว การจะพ้นตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นั้นได้ก็ต่อเมื่อ ตาย ลาออก ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะเหตุกระทำความผิดอาญา เว้นแต่เป็นความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ ถูกให้ออกเพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง และสภามหาวิทยาลัยมีมติให้ถอดถอน (3)
                   นอกจากนี้ ในบทบัญญัติของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 ยังบัญญัติต่อไปอีกว่า ในการนับวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ต้องให้นับวาระการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นวาระแรก (4) นั่นหมายความถึง ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นั้นได้เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 และเมื่อมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหงฉบับนี้บังคับใช้แล้ว ให้นับวาระการดำรงตำแหน่งของอธิการบดีที่ได้รับการสรรหา เลือกตั้ง และแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้เป็นวาระที่ 1 ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงผู้ดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นวาระที่ 1 นั้น ยังคงสามารถมีโอกาสได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้อีกวาระหนึ่งติดต่อกัน
                   เมื่อพิจารณาจากตัวบทกฎหมายในร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.........
       ซึ่งเป็นร่างฉบับที่ สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นเรื่องเสร็จที่ .../2547 พบว่า ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้นยังคงเป็นตำแหน่งที่จะได้พระทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง และจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับปริญญาหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงรับรอง และต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านการสอนหรือด้านการบริหารในมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงรับรองไม่น้อยกว่า 5 ปี (5) ตลอดจนการพ้นจากตำแหน่งของอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นอกจากการพ้นตามวาระสี่ปี (6) แล้วตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นั้นนอกจากจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อครบวาระสี่ปีแล้วยังจะพ้นจากตำแหน่งก็ต่อเมื่อ ตาย ลาออก เป็นผู้ถูกคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เป็นบุคคลล้มละลาย และเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (7)
                   จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 และฉบับใหม่ที่ร่างแล้วเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ล้วนแต่มีบทบัญญัติในเรื่องตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นั้นต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหงเท่านั้น ซึ่งตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นตำแหน่งที่ได้รับพระมหากรุณาด้วยการทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามคำแนะนำของนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงเท่านั้น และมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี โดยมิได้คำนึงถึงว่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นั้นจะเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือไม่ หรือจะเป็นผู้ที่ได้รับการต่ออายุราชการ หรือขยายระยะเวลาราชการอันเนื่องมาจากการเกษียณอายุราชการเมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ในสิ้นปีงบประมาณ อาจให้รับราชการเพื่อทำหน้าที่สอนหรือวิจัยต่อไปได้ จนถึงสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบ 65 ปี บริบูรณ์ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 หรือไม่แต่อย่างใดทั้งสิ้น
                   เมื่อพิจารณาถึงในเรื่องการดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ของ รศ.รังสรรค์ แสงสุข ที่ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2546 ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 15 มกราคม 2550 ทั้งนี้เป็นไปตามตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 มาตรา 23 วรรคสอง เมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ย่อมทำให้การดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ของ รศ.รังสรรค์ แสงสุข เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นในทุกประการ
                   แต่เมื่อพิจารณาถึงบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 แล้วกลับทำให้พบว่าตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งรวมทั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย ได้ถูกบัญญัติไว้ในหมวดที่ 3 เรื่องการกำหนดตำแหน่ง การบรรจุและแต่งตั้ง ทำให้ตำแหน่งอธิการบดีเป็นตำแหน่งประเภทผู้บริหาร (8) และยังมีบทบัญญัติในเรื่องการต่อเวลาราชการ หรือขยายระยะเวลาราชการ ในกรณีผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า หรือดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ หากเป็นผู้ที่จะต้องพ้นหรือเกษียณอายุราชการในสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ และสถาบันอุดมศึกษามีความจำเป็นและมีความประสงค์ที่จะให้ผู้เกษียณอายุนั้นรับราชการต่อไป ให้สถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้นสามารถที่จะพิจารณาให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปได้จนถึงปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบ 65 ปี บริบูรณ์ แต่ผู้ที่ได้รับการต่ออายุราชการดังกล่าวนั้นจะต้องดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่เฉพาะเพียงเพื่อทำการสอนและวิจัยเท่านั้น (9) โดยที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ได้รับการต่ออายุราชการไปจนถึงอายุ 65 ปี บริบูรณ์นั้น จะดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประเภทผู้บริหาร เช่น ตำแหน่งอธิการบดี ตำแหน่งรองอธิการบดี ตำแหน่งคณบดี ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี ตำแหน่งรองอธิการบดี หรือตำแหน่งรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขต ผู้อำนวยการกอง หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่ากองตามที่ กพอ.กำหนด และตำแหน่งงานอื่นๆ ตามที่ กพอ.กำหนดว่าเป็นตำแหน่งประเภทผู้บริหาร (10)
                   แต่แล้วกลับพบว่ามีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547ได้บัญญัติไว้มีใจความว่า ถ้าหากข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาไปดำรงตำแหน่งอธิการบดี ตำแหน่งรองอธิการบดี ตำแหน่งคณบดี หรือตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นแต่มีฐานะเทียบเท่าคณะ แล้ว ให้ผู้นั้นมีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนและได้รับเงินประจำตำแหน่ง แต่หากเป็นกรณีผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีที่ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงสุดถึงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ขึ้นไปแล้วในขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีให้สามารถได้รับเงินเดือนในขั้นสูงสุดของตำแหน่งศาสตราจารย์ได้ (11) และเมื่อพ้นจากตำแหน่งประเภทผู้บริหารให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมและได้รับเงินเดือนตามตำแหน่งนั้น ตามขั้นที่ได้รับอยู่ในขณะที่พ้นตำแหน่งประเภทบริหาร (12)
                   เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ดังกล่าวข้างต้น แล้วทำให้เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้มิได้ห้ามไม่ให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ไปดำรงตำแหน่งอธิการบดี ตำแหน่งรองอธิการบดี และตำแหน่งบริหารอื่นๆ ตามมาตรา 18 (ข) แต่อย่างใด
                   จึงต้องสรุปว่าพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ได้บัญญัติห้ามไม่ให้เพียงเฉพาะผู้ที่ได้รับการขยายระยะเวลาราชการในกรณีที่เกษียณอายุหรือผู้ที่จะพ้นจากราชการในสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และได้รับการขยายระยะเวลาราชการ โดยให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปได้จนถึงสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบ 65 ปี บริบูรณ์เท่านั้นที่ต้องห้าม ไม่ให้ดำรงตำแหน่งบริหารตามมาตรา 18 (ข) เท่านั้น
                   แต่อย่างไรก็ตามบทบัญญัติในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มีความขัดและแย้งกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 โดยเฉพาะในเรื่องการดำรงตำแหน่งอธิการบดี ตำแหน่งรองอธิการบดี ตำแหน่งคณบดี หรือตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นแต่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ทั้งนี้เพราะในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 นั้นได้บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 23 ว่า ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นตำแหน่งที่ต้องได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย และการดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั้นมีวาระสี่ปี โดยไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดที่บัญญัติถึงข้อยกเว้น หรือกำหนดเงื่อนไขในเรื่องกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีนั้นเป็นผู้ที่ได้รับการขยายระยะเวลารับราชการของผู้ที่เกษียณอายุหรือผู้ที่จะพ้นจากราชการในสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และได้รับการขยายระยะเวลาราชการโดยให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปได้จนถึงสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบ 65 ปี บริบูรณ์ ว่าบุคคลผู้นั้นต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี หรือห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี หรือตำแหน่งบริหารอื่นใดเลยแม้แต่น้อย
                   ดังนั้น เมื่อกรณีเป็นดังเช่นที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ทำให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเฉพาะข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เฉพาะในกรณีของผู้ที่ได้รับการขยายระยะเวลารับราชการของผู้ที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ในปีงบประมาณ และได้รับการขยายระยะเวลาราชการต่อไปจนถึงอายุ 65 ปี บริบูรณ์ ในปีงบประมาณ ต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายถึงสองฉบับที่มีความขัดและแย้งกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะเมื่อต้องพิจารณาถึงในเฉพาะกรณีประเด็นปัญหาการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเฉพาะ รศ.รังสรรค์ แสงสุข ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ต้องอยู่ในตำแหน่งในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2546  ถึงวันที่ 15 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ยังไม่ได้ประกาศใช้ในวันเข้ารับตำแหน่งอธิการบดี และขณะยังไม่ได้เกษียณจากอายุราชการแต่ ในระยะต่อมา รศ.รังสรรค์ แสงสุข ได้มีอายุครบเกษียณราชการในปีงบประมาณ พ.ศ.2547 คือ วันที่ 30 กันยายน 2547 อันเป็นวันก่อนวันประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 อีกทั้ง รศ.รังสรรค์ แสงสุข ยังต้องดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามคำแนะนำของนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยจะไปสิ้นสุดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในวันที่ 15 มกราคม 2550 อันเป็นวันหลังจากวันที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ประกาศใช้
                   ผู้เขียนมีความเห็นในทางวิชาการว่า กรณีที่ รศ.คิม ไชยแสนสุข ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหงในขณะนั้น ได้ร่วมกับ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ในฐานะรักษาการณ์อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและวิจัยของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในขณะนั้น ได้ทำความเห็นเสนอต่อคณะอนุกรรมการข้าราชการมหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยการเสนอให้มีการต่ออายุ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และ รศ.รำไพ สิริมนกุล ให้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ในกรณีที่ครบกำหนดเกษียณอายุหรือมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ในปีงบประมาณ พ.ศ.2547 ด้วยการให้รับราชการในมหาวิทยาลัยรามคำแหงต่อไป ไม่ว่าจะโดยการดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ผู้สอนและวิจัยหรือไม่ก็ตาม ซึ่งการขยายระยะเวลาราชการดังกล่าวของ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และ รศ.รำไพ สิริมนกุล นั้น ล้วนเกิดขึ้นก่อนที่ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ประกาศใช้ และต้องดำรงตำแหน่งจนถึงเวลาภายหลังจากที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ประกาศใช้แล้ว
                   นอกจากนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า กรณีที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะทำให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังไปในลักษณะที่เป็นโทษแก่บุคคลที่ได้รับการต่ออายุราชการหรือการขยายระยะเวลาราชการ ของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา อย่างเช่นกรณี รศ.รังสรรค์ แสงสุข และ รศ.รำไพ สิริมนกุล ซึ่งเป็นผู้ที่จะครบกำหนดเกษียณอายุในปีงบประมาณ พ.ศ.2547 คือ วันที่ 30 กันยายน 2547 และได้มีการขยายระยะเวลาราชการไปก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งตามหลักการของหลักกฎหมายทั่วไป แล้วย่อมไม่อาจทำได้ ทั้งนี้เพราะต้องเป็นไปตามทฤษฎีกฎหมายที่ว่า “ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดเมื่อขณะกระทำไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด”
                   เมื่อนำหลักทฤษฎีกฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาประกอบในประเด็นปัญหาตามอุทาหรณ์ ในกรณีตามข้อกล่าวหาที่ว่า รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ร่วมกันออกคำสั่งขยายระยะเวลาราชการให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล รองอธิการบดี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องราวไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 50441790 ผู้เขียนมีความเห็นว่าขณะ รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ร่วมกันออกคำสั่งขยายระยะเวลาราชการให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล ในขณะนั้นมีเพียงพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 ฉบับเดียวเท่านั้นที่เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้อำนาจไว้ว่ากระทำได้และกฎหมายฉบับดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ แต่ในทางตรงกันข้ามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งออกมามีผลบังคับใช้ภายหลัง และจะให้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ที่ออกมาบังคับใช้ภายหลังนี้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ในกรณี รศ.รังสรรค์ แสงสุข เพื่อให้ต้องได้รับผลร้ายจากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ดังกล่าว หาเป็นการสมควรไม่ ทั้งนี้เพราะตามหลักกฎหมายว่าด้วยเรื่องนิติรัฐ ที่เราชาวไทยต่างล้วนยอมรับมาใช้ว่าเป็นหลักกฎหมายที่ดีที่สุดในการบริหารปกครองประเทศ เช่นนี้ย่อมต้องเป็นที่เข้าใจกันดีว่า ตามหลักทฤษฎีตามกฎหมายแล้วย่อมต้องถือว่า “เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำใดเป็นความผิดแล้ว ย่อมไม่อาจลงโทษผู้กระทำการอันไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การกระทำเช่นว่านั้นเป็นความผิด”
                   ดังนั้นในกรณีคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในคดีหมายเลขดำที่ 50441790 จนเป็นเหตุทำให้ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา มีคำสั่งลงโทษไล่ออกข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา คือ รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ในข้อหาว่าร่วมกันออกคำสั่งขยายระยะเวลาราชการให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำได้อย่างไร ทั้งๆที่ในขณะเวลาที่ทำการต่ออายุราชการหรือขยายระยะเวลาราชการ ให้กับ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และ รศ.รำไพ สิริมนกุล ในปีงบประมาณ พ.ศ.2547 คือ เมื่อสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2547 ดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการประกาศใช้ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และในการดำเนินการแต่งตั้งรศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล นั้นได้กระทำไปตามที่ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 ได้บัญญัติให้อำนาจไว้ สิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดและบกพร่องอยู่มากในคำสั่งทางปกครองของ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตามที่ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ออก รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ในข้อหาว่าร่วมกันออกคำสั่งขยายระยะเวลาราชการให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล โดยมิชอบด้วยกฎหมาย นั้นถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ที่มีผลย้อนหลัง เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า คำสั่งดังกล่าว ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าในกรณีของ รศ.รังสรรค์ แสงสุข ให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2547 จึงถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้คำสั่งดังกล่าวจะเป็นคำสั่งที่ ได้ทำการสั่งตามผลการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ตาม
                   ทำให้เกิดเป็นกรณีประเด็นปัญหาที่สำคัญยิ่ง คือ ประเด็นปัญหาที่ว่าในปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต้องตกอยู่ในสภาวะ หรือในสถานการณ์ที่จำต้องแบกรับภาระ ด้วยการต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับใช้ บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวมีบทบัญญัติที่สำคัญยิ่ง คือ บทบัญญัติว่าด้วยตำแหน่งอธิการบดี ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 นั้นต้องเป็นตำแหน่งที่จะต้องได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง และมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี โดยที่บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541ฉบับนี้ไม่มีข้อห้ามหรือมีเงื่อนไขว่าการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้นห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ผู้สอนหรือผู้วิจัย หรือเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา แต่อย่างใดทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 ยังไม่มีบทบัญญัติถึงเรื่องอายุของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไว้อีกด้วย
                   แต่ในขณะเดียวกัน (ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547) ได้มีพระราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 โดยให้มีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2547 เป็นต้นไป (11) ซึ่งเมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ออกมาบังคับใช้ โดยพระราชบัญญัติ ฉบับดังกล่าวได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ที่มีอายุครบกำหนดเกษียณอายุราชการหรือผู้ที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ในปีงบประมาณให้ผู้นั้นสามารถได้รับการขยายระยะเวลาราชการออกไปได้อีกจนถึงในปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบ 65 ปี บริบูรณ์ แต่ได้บัญญัติห้ามบุคคลผู้ที่ได้รับการขยายระยะเวลาราชการมิให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร เช่น ตำแหน่งอธิการบดี ตำแหน่งรองอธิการบดี ฯลฯ เป็นต้น
                   เมื่อกรณีที่มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ จำนวนสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ดังกล่าว เช่นนี้แล้ว ทำให้เกิดมีข้อสงสัยว่า ในกรณีเช่นนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเฉพาะ รศ.รังสรรค์ แสงสุข ซึ่งเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2550 นั้น จะต้องยึดถือหรือปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 หรือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 จึงจะถูกต้องที่สุด
                   และเมื่อกรณีเกิดเป็นคดีขึ้นตามเรื่องที่มีผู้กล่าวหาว่า รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ร่วมกันออกคำสั่งขยายระยะเวลาราชการให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามเรื่องกล่าวหาหมายเลขดำที่ 50441790 ทำให้ผู้ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ จะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง และเป็นธรรม หรือมีความยุติธรรมที่สุด
                   ประการแรก กรณี รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ในขณะนั้น คือ ในช่วงระยะเวลาแห่งการทำคำร้องหรือคำสั่งเพื่อขอให้สภามหาวิทยาลัยขยายระยะเวลาราชการให้แก่ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล นั้นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 ที่มีอยู่ในขณะนั้นใช่หรือไม่ หรือจะให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2547
                   ผู้เขียนมีความเห็นว่าในกรณี รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ในขณะนั้น คือ ในช่วงระยะเวลาแห่งการทำคำร้องหรือคำสั่งเพื่อขอให้สภามหาวิทยาลัยขยายระยะเวลาราชการให้แก่ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล ในขณะนั้นทั้งรศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น และประกอบกับตำแหน่งอธิการบดีนั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 แต่หากในขณะนั้นรศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ไม่กระทำการเช่นว่านั้นก็จะต้องมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องทำ ส่วนเรื่องการขยายระยะเวลาราชการนั้นเป็นเรื่องที่มีบัญญัติอยู่ทั้งใน พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 แต่กรณีเรื่องการห้ามผู้ขยายระยะเวลาราชการโดยเหตุเกษียณอายุนั้นเพิ่งบัญญัติขึ้นภายหลังโดยบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 จึงไม่สมควรที่จะนำมาบังคับใช้ในกรณีต่ออายุราชการ หรือขยายระยะเวลาราชการของ รศ.รังสรรค์ แสงสุขและไม่สมควรนำมาใช้กับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ของ รศ.รังสรรค์ แสงสุข ในช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอธิการบดีระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2546 ถึง วันที่ 15 มกราคม 2550
                   ประการที่สอง กรณี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายในการพิจารณาไต่สวนคำร้องตามเรื่องกล่าวหาหมายเลขดำที่ 50441790 เพื่อทำคำสั่งชี้มูลความผิดนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องนำเอาพระราชบัญญัติฉบับใดมาใช้ระหว่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 ที่มีอยู่ในขณะนั้นหรือไม่ หรือจะให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2547
                   ในส่วนกรณี ตามประเด็นปัญหาที่ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้นสมควรใช้พระราชบัญญัติฉบับใด ผู้เขียนมีความเห็นว่าในยุคสมัยนี้ ประกอบกับระเบียบปฏิบัติที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องปฏิบัติในกรณีที่มีผู้เสียหายกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน ด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทำการไต่สวน เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาและเป็นหลักฐานยืนยันว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และนำพยานหลักฐานที่ได้มานั้นนำมาใช้เพื่อประกอบการพิจารณา และเพื่อใช้ยืนยันให้ได้ความจริงว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ ไปพร้อมๆ กันด้วยจึงจะถูกต้อง ตามทฤษฎีกฎหมายว่าด้วยการไต่สวน
                   หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ/หรือคณะอนุกรรมการไต่สวน ได้พยายามใช้กฎหมายทุกฉบับ หรือพยายามหาเหตุผลทุกเหตุผลเพื่อ ที่จะลงโทษผู้ถูกกล่าวหาให้จงได้ แล้วย่อมเข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ที่เรียกว่าเป็นลักษณะของระบบกล่าวหาโดยแท้ทั้งๆที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้นเกิดขึ้นมาควบคู่กับระบบไต่สวน ระบบนิติรัฐโดยแท้ และเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้กระทำการในลักษณะที่พยายามทุกวิถีทางที่จะหาพยานหลักฐานมาลงโทษผู้ถูกกล่าวหาให้จงได้ เช่นนี้จึงเข้าลักษณะที่เหมือนกับระบบกล่าวหาในสมัยดั้งเดิม กล่าวคือ หากมีกรณีที่ว่ามีผู้กล่าวหาว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำความผิดอาญา และได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนในยุคนั้นสมัยนั้น จะเร่งรีบทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาความผิดของผู้ถูกกล่าวหาให้จงได้ เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่บ่งบอกถึงความผิดของผู้ถูกกล่าวหาได้พอสมควรแล้ว พนักงานสอบสวนจะรีบนำสำนวนคดีความนั้นเสนอต่อพนักงานอัยการ และเมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนคดีความจากพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการจะรีบดำเนินการตรวจสำนวนคดีความนั้นว่าพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้เพียงพอที่จะฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลได้แล้วหรือไม่ หากพนักงานอัยการเห็นว่าพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมานั้นยังไม่พอที่จะฟ้องผู้ถูกกล่าวหาให้เป็นจำเลยต่อศาลได้ พนักงานอัยการก็จะทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนให้ทำการสอบสวน สืบสวนในประเด็นปัญหาต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ได้พยานหลักฐานแน่นหนาพอที่จะฟ้องผู้ถูกกล่าวหาให้เป็นจำเลยต่อศาลให้ได้ และเมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการสืบสวน สอบสวน จนครบกระบวนการตามที่พนักงานอัยการมีคำสั่งมาแล้ว จากนั้นพนักงานอัยการได้ร่างฟ้องและส่งคำฟ้องนั้นไปพร้อมกับตัวผู้ต้องหาเพื่อฟ้องต่อศาลในที่สุด
                   จากกรณีคดีเรื่องกล่าวหา รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ร่วมกันออกคำสั่งขยายระยะเวลาราชการให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล รองอธิการบดี โดยมิชอบ ตามเรื่องกล่าวหาเลขดำที่ 50441790 ในความคิดเห็นของผู้เขียน ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับกระบวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตลอดจนการประชุมลงมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะผู้เขียนเห็นว่าในกรณีคดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ควรจะใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 เป็นที่ตั้งในคดีฐานความผิดดังกล่าว ไม่ควรนำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาประกอบการพิจารณา เพราะตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นั้นเป็นตำแหน่งที่ได้มาตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 โดยแท้ หาได้เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 แต่อย่างใดไม่ ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มีผลบังคับใช้ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีของ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และภายหลังจากที่ รศ.รังสรรค์ แสงสุข ได้รับมติให้ขยายอายุราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  
                   ประการที่สามกรณี ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้ทำคำสั่งทางปกครองโดยมีคำสั่งไล่ออก รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ โดยในกรณีของ รศ.รังสรรค์ แสงสุข ให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2547 นั้นสมควรที่จะทำคำสั่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 หรือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547
                   สุดท้ายในกรณีของ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง ด้วยการมีคำสั่งไล่ออกกล่าวหา รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ โดยให้มีผลกับ รศ.รังสรรค์ แสงสุข ย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2547 นั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการทำคำสั่งทางปกครองในกรณีที่ให้ผลของการบังคับใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ทั้งๆที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2547 คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
                   ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความทางวิชาการนี้ อาจก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย และหากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอน้อมรับไว้เพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป
        
       .......................................................................
       เชิงอรรถ
       (1) บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำรงตำแหน่งทางบริหารของผู้ได้รับการต่อระยะเวลาราชการ เรื่องเสร็จที่ 522/2548
       (2) บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำรงตำแหน่งทางบริหารของผู้ได้รับการต่อระยะเวลาราชการ เรื่องเสร็จที่ 119/2549 
       (3) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม
       (4) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 มาตรา 58 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล      (3) ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ......ฉบับที่ สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นเรื่องเสร็จที่ .../2547 มาตรา 26
       (5) ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ......ฉบับที่ สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นเรื่องเสร็จที่ .../2547 มาตรา 27
       (6) ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ......ฉบับที่ สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นเรื่องเสร็จที่ .../2547 มาตรา 28
       (7) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 18 (ข)
       (8) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง
       (9) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 19 วรรคสอง
       (10) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง
       (11) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 26 วรรคสาม
       (12) ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ ที่ 70 ก. ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547
        
        
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544