หน้าแรก บทความสาระ
กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ตอนที่ 4
ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
24 เมษายน 2554 19:39 น.
 
(๓) ข้อที่สาม  การวิเคราะห์การให้เหตุผล  ของตุลาการ ๑ ท่าน ที่วินิจฉัยให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง เพราะ “เหตุ” ที่ นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในกำหนดเวลา ๑๕ วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ( มาตรา ๙๓ วรรคสอง พรบ.ฯ  พ.ศ. ๒๕๕๐ )  
                การวินิจฉัยนี้    เป็นความเห็นของท่านตุลาการ ๑ ท่านในจำนวนเสียงข้างมากทั้งหมด ๔ ท่าน  คือ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี   โดยผู้เขียนขอพิจารณาเป็น  ๓  ประการ  ดังต่อไปนี้  
                 (๓.๑)  “ข้อวินิจฉัย” และ “ข้อยุติ” ของท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี(โดยสรุป)  มีอย่างไร  
                 (๓.๒)  วิธีการอธิบายเหตุผล” และการตั้ง “ประเด็น”  ของท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี   มีความครบถ้วน  มากน้อยเพียงใด 
                 (๓.๓)  ข้อวินิจฉัย” และ “ข้อยุติ”  ของท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี รับฟังได้เพียงใด (ตามความเห็นของผู้เขียน)
        
        
        
       ◊◊ (๓.๑)   “ข้อวินิจฉัย” และ “ข้อยุติ” ของท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี (โดยสรุป)  มีอย่างไร 
                  เราทราบแล้วว่า  ในการวิเคราะห์ “คำพากษาของศาล”   ผู้วิเคราะห์จำเป็นจะต้องทราบและทำ “ความเข้าใจ” กับคำพิพากษาก่อนที่จะเริ่มวิเคราะห์  ดังนั้น  ผู้เขียนจึงขอเริ่มต้นด้วยการสรุปสาระสำคัญของความเห็นของท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี  
        
                    ข้อวินิจฉัย  เมื่ออ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (หน้า ๓๗ - ๔๐)แล้ว  (โปรดตรวจดู “สาระ”ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ จากส่วนที่สอง)    เราอาจสรุป “เหตุผล”  ที่เป็นข้อวินิจฉัยของ  ตุลาการ (ฝ่ายข้างมาก) ท่านนี้  ได้  ๔ ประการ   คือ  
                ● ประการที่  (๑) ( คำวิ.กลาง หน้า ๓๘ ) ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัยว่า  ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง  กฎหมายมิได้บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องเสนอ “ความเห็น” ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ในการขอความเห็นชอบ(จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง)ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมือง  (ซึ่งความเห็นนี้  เป็นความเห็นที่ตรงกันข้ามกับตุลาการอีก ๓ ท่าน คือ  นายจรัล ภัคดีธนากุล / นายสุพจน์ ไข่มุกด์ / นายนุรักษ์ มาปราณีต) ;   และท่านอุดมศักดิ์ เห็นว่า  บทบัญญํติมาตรา ๙๓ วรรคสอง  ต่างกับ บทบัญญํติมาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง  โดยเห็นว่า มาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง  กำหนดไว้ว่า  เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ “ตรวจสอบ”แล้ว   ซึ่งมีความหมายว่า   นายทะเบียนพรรคการเมืองต้อง “ตรวจสอบกรณีนั้น” ด้วยอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง“ก่อน”  แล้วจึงเสนอคณะกรรมการเลือกตั้งพร้อม “ความเห็น”(ว่า พรรคการเมืองกระทำการตามมาตรา ๙๔ หรือไม่)  โดยท่านอุดมศักดิ์ มีความเห็นด้วยว่า  ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่า “ ความเห็น” ของนายทะเบียนพรรคการเมืองดังกล่าว จะต้องเป็น “ความเห็น” ที่เสนอให้ยุบพรรค (หรือไม่)   เพราะเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่จะให้การใช้ดุลพินิจของนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้รับการกลั่นกรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน ทั้งในกรณีที่นายทะเบียนฯ เสนอให้ยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค  เท่านั้น  
        ประการที่ (๒)  (คำวิ. กลาง หน้า ๓๘ - ๓๙ ) ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัยว่า(หน้า ๓๘)  “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” มีอำนาจควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง  และนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ตาม รธน. มาตรา ๒๓๖ และตาม พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสอง และ มาตรา ๙๕)  โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (มาตรา ๙๓ และ มาตรา ๙๕) ; และในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ ๑๔๔ / ๒๕๕๒ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒   คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติเสียงข้างมาก “สั่งการ” ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามกฎหมาย (โดยเป็นการสั่งการให้ดำเนินการตาม มาตรา ๙๕  ทั้งสองข้อกล่าวหา  รวมกันไป)   
               ประการที่ (๓) (หน้า  ๔๐ ) ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัยว่า ในกรณีนี้  การยื่นคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องอยู่ในบังคับ “ระยะเวลา”  ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง แห่ง พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐  คือ  ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียน
          
              ●  ประการที่ ๔  ข้อยุติ (หน้า   ๔๐):  ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัยเป็น “ข้อยุติ” ในข้อเท็จจริง ว่า  กรณีถือได้ว่า   คดีนี้  ความได้ปรากฎต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่า   ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) “มีกรณี” ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง  และคณะกรรมการการเลือกตั้ง “ได้เห็นชอบให้(นายทะเบียน ฯ) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้  ตั้งแต่ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ;   และ แม้ว่า ในการประชุมในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒   คณะกรรมการการเลือกตั้ง   จะได้มีมติเสียงข้างมาก “สั่งการ” ให้ผู้ร้อง (นายทะเบียนพรรคการเมือง)  ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ  ตามมาตรา ๙๕  รวมกันไปทั้งสองข้อกล่าวหา  ( ซึ่งท่านอุดมศักดิ์  เห็นว่า  เป็นความไม่ชัดเจนในการปรับบทบังคับใช้กฎหมายในองค์กรในขณะนั้นเท่านั้น)   แต่ต่อมา ในการประชุม วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓  คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติเอกฉันท์ที่ชัดเจน   ยืนยันเห็นชอบให้ผู้ร้อง (นายทะเบียน ฯ) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตาม มาตรา ๙๓  วรรคสอง แล้ว (หน้า ๓๙)
                ดังนั้น  เมื่อผู้ร้อง(นายทะเบียนพรรคการเมือง”ยื่นคำร้องคดีนี้ ใน วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ จึงพ้นระยะเวลา ๑๕ วันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว  กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย(หน้า ๔๑) 
        
       ◊◊ (๓.๒)  “วิธีการอธิบายเหตุผล” และการตั้ง “ประเด็น”  ของท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี   มีความครบถ้วน  มากน้อยเพียงใด 
                  วิธีการอธิบายเหตุผล” และการตั้ง “ประเด็น”  ของท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี  เป็นวิธีการที่ตรงไปตรงมา  และ เป็นการอธิบายที่สั้น และสามารถเห็น “เหตุผล”ได้ชัดเจน
               ก่อนที่ผู้เขียนวิเคราะห์ความเห็นของท่านตุลาการท่านนี้   ผู้เขียนได้ถามตนเองว่า    เพราะเหตุใด   ท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี  จึงไม่ยอมรับความเห็นของตุลาการเสียงข้างมากอีก  ๓ ท่าน  ( ท่านจรัล ภัคดีธนากุล / ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ / ท่านนุรักษ์ มาปราณีต )  เพราะ ไม่ว่าจะใช้ “เหตุผล”ในทางใดก็ตาม  แต่ผลสุดท้ายก็จะเหมือนกัน   คือ ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง  ด้วยกัน
                  แน่นอน ท่านอุดมศักดิ์ ย่อมมี “เหตุผล” ของท่านเอง  ที่จะไม่เห็นด้วยกับความเห็นของตุลาการอีก ๓ ท่าน  แต่ที่เห็นได้ชัดเจน  ก็คือ  การที่ท่านอุดมศักดิ์ไม่สามารถเห็นด้วยกับตุลาการอีก ๓ ท่านได้  ก็เพราะ ท่านอุดมศักดิ์ ไม่สามารถยอมรับ “เหตุผล”ของตุลาการ ๓ ท่าน ที่เห็นว่า  นายทะเบียนจะต้องทำ “ความเห็น” (และต้องเป็นความเห็นที่ชี้ขาดด้วยว่าพรรคการเมืองกระทำผิด)  มาก่อนที่จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา   เพราะท่านอุดมศักดิ์มีความเห็นในทางตรงกันช้าม  คือ  เห็นว่า  แม้ในมาตรา ๙๕ (กรณีพรรคการเมืองกระทำผิดร้ายแรง - ล้มล้างการปกครอง ฯลฯ) เอง  ที่มีบทบัญญัติให้นายทะเบียนต้อง”ตรวจสอบ”ก่อน   ท่านอุดมศักดิ์ก็ยังเห็นว่า  การเสนอความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็น “ความเห็น” ที่เสนอให้ยุบพรรคการเมืองหรือไม่   เพราะท่านอุดมศักดิ์เห็นว่า  เป็นไปตาม “เจตนารมณ์”ของกฎหมาย เพื่อให้การใช้ดุลพินิจของนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับการตรวจสอบกลั่นกรองจาก “คณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน”  (ทั้งในกรณีที่นายทะเบียนฯ เสนอให้ยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค)  เท่านั้น  ( หน้า ๓๘ )
           
                 ● ถ้าเราจะเปรียบเทียบ “วิธีการอธิบายเหตุผล” ของท่านอุดมศักดิ์  กับการอธิบายของท่านตุลาการอีก ๓ ท่านแล้ว   เราก็จะพบความแตกต่าง  คือ  ท่านอุดมศักดิ์ได้อธิบายบทบัญญัติมาตรา ๙๓ วรรคสอง  โดยเทียบเคียงกับ  มาตรา ๙๕   แต่ในการอธิบายของท่านตุลาการอีก ๓ ท่านนั้น  ไม่มีการเทียบเคียงและไม่มีการกล่าวถึงบทบัญญัติ และ “ถ้อยคำ”ในมาตรา ๙๕   เพื่อมาช่วยในการตีความ มาตรา ๙๓ วรรคสอง แต่อย่างใด ;  ซึ่งข้อนี้  เป็นที่แปลกใจของผู้เขียนมาก  เพราะตาม “หลักการตีความกฎหมาย” นั้น   ผู้มีหน้าที่ตีความกฎหมาย ย่อมต้องพยายามแสวงหา  “บทมาตรา” ที่มีลักษณะไกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกัน  มาช่วยในการอธิบายตีความ  เพื่อที่จะได้ความหมาย(ของบทกฎหมาย)ที่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  และอันที่จริง  มาตรา ๙๕ ก็ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากมาตรา ๙๓ แต่อย่างใด  (?)  
            
                ก่อนอื่น ผู้เขียนขอลอกตัวบทของ ๒ มาตรา (มาตรา ๙๓ วรรคสอง และ มาตรา ๙๕) นี้มาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านเปรียบเทียบดู (โดยท่านผู้อ่านไม่ต้องไปเปิดกฎหมาย)
               มาตรา ๙๓  (วรรคสอง)  “ เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนื่ง  ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียน   เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน  ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น”
              มาตรา ๙๕   “ เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนหรือเมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง  และได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา ๙๔   ให้นายทะเบียนโดยความเห็นขอบของคณะกรรมการเลือกตั้งแจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐาน   เมื่ออัยการสูงสุดได้รับแจ้ง  ให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับแจ้ง  ถ้าอัยการสูงสุดเห็นด้วย ก็ให้ยื่นคำร้อง ..............................”
                  ท่านผู้อ่าน จะเห็นได้ว่า  บทมาตรา ๙๓ วรรคสอง และมาตรา ๙๕   เป็นมาตราที่ มีความใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง  ; ปัญหาที่ท่านผู้อ่านควรตั้ง “คำถาม” ถามตัวท่านเอง   ก็คือ  ทำไม  ท่านตุลาการ ๓ ท่าน จึงไม่อ้างมาตรา ๙๕ มาเปรียบเทียบและช่วยในการตีความมาตรา ๙๓ วรรคสอง   และในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ  ไม่มีความในตอนใดของการตีความมาตรา ๙๓ วรรคสอง(โดยท่านตุลาการ ๓ ท่าน) ที่อ้างอิงถึง มาตรา ๙๕   และ ไม่มีการคัดลอกบทบัญญัติมาตรา ๙๕  ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้อ่านเปรียบเทียบกัน
        
                 ใน“การวิเคราะห์” คำพิพากษา(หรือคำวินิจฉัย) ของศาล    การศึกษาถึงความรอบคอบและความกว้างในการมองหาเหตุผลของผู้พิพากษา (หรือตุลาการ) ที่ทำการวินิจัยคดี   เป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งที่นักวิเคราะห์จะต้องตรวจดู   และควรจะต้องตรวจดู “ประเด็น”นี้   ก่อนที่จะตรวจดู “ผล” ของการตีความของผู้พิพากษา    เพราะ “ความกว้างของการให้เหตุผลของผู้พากษา” ซึ่งได้แก่ การให้ความเห็นโดยพิจารณา “เหตุผล” จากหลายด้าน เพื่อไปสู่ “ข้อยุติ”อันเป็นการชี้ขาดคดี  (มิใช่เป็นการเขียนให้เหตุผลเพียงด้านเดียว จากด้านที่ผู้พิพากษามีความเห็น)   เป็น “เงื่อนไข” หนึ่ง  ที่ทำให้การตีความกฎหมายของศาล มี “คุณภาพ”   และทำให้ผู้อ่านหรือผู้วิเคราะห์ เกิด “ความเชื่อถือ” ในตัวผู้พิพากษา(หรือตุลาการ) ที่เขียนคำวินิจฉัย
                   การตีความหมายของมาตรา ๙๓ วรรคสอง โดยเทียบเคียงกับ มาตรา ๙๕  ของท่านอุดมศักดิ์  ย่อมแสดงให้เห็นถึง “ความกว้างของการให้เหตุผล”ของท่านอุดมศักดิ์  ( เมื่อเปรียบเทียบกับการตีความของท่านตุลาการอีก ๓ ท่าน)   และการตีความของท่านอุดมศักดิ์   จะเป็นไปตาม “หลักการตีความ” ตาม ตำราว่าด้วยการตีความกฎหมายของต่างประเทศ 
                   ผู้เขียนคงไม่สามารถตอบท่านผู้อ่านได้ ว่า  เพราะเหตุใด   ท่านตุลาการ ๓ ท่าน จึงไม่อ้างบทมาตรา ๙๕ มาเปรียบเทียบกับในการตีความมาตรา ๙๓ วรรคสอง   และเป็นเรื่องที่ท่านผู้อ่านจะพิจารณาเอาเอง 
                  แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว  เมื่อผู้เขียนได้อ่าน “ถ้อยคำ” ของบทบัญญติของมาตรา ๙๓ วรรคสองกับมาตรา ๙๕   และเมื่อคำนึงถึง  “หลักการตีความกฎหมาย” ตามตำราว่าด้วยการตีความกฎหมาย   และลักษณะของ “ความใกล้ชิด” ของมาตราทั้งสอง แล้ว   ผู้เขียนคิด(ตามความรู้สึกทั่วไป) ว่า   โดยมาตรฐานทางวิชาการ  ในการตีความ มาตรา ๙๓ วรรคสอง  “นักกฎหมายทั่ว ๆ ไป”(ที่ไม่ใช่ผู้พิพากษา)   คงเลี่ยงที่จะตีความ มาตรา ๙๓ วรรคสอง โดยไม่อธิบายเทียบเคีอง กับ มาตรา ๙๕  ได้ยาก(มาก)  เพราะทั้งสองมาตรานี้  เป็นมาตราที่กำหนดกรณีที่คล้ายคลึงกัน  และมีลักษณะที่ควบคู่กัน  ; ผู้เขียนคิดว่า  ท่านผู้อ่านจะเข้าใจได้ดีขึ้น  ถ้าท่านผู้อ่านลองสมมติตัวท่านเองเป็นอาจารย์สอนกฎหมายในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสักแห่งหนึ่ง   แล้วท่านออกข้อสอบให้นักศึกษา “ตีความ” มาตรา ๙๓ วรรคสอง  แล้วถามตัวท่านเองว่า  ถ้านักศึกษาเขียนคำตอบมาโดยตีความอธิบายความหมายของ  มาตรา ๙๓ วรรคสอง โดยไม่เทียบเคียงกับมาตรา ๙๕ (ซึ่งอยู่ถัดไปเพียงสองมาตรา)   ท่านผู้อ่าน (ในฐานะอาจารย์) คิดว่า  ท่านจะให้คะแนนนักศึกษาดังกล่าว  สอบได้หรือสอบตก  (?)
                ดังนั้น  ตามความเห็นของผู้เขียน  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการเสียงข้างมาก ๓ ท่าน (ที่วินิจฉัยมาตรา ๙๓ วรรคสอง โดยไม่เทียบเคียงกับ มาตรา ๙๕)  จึง “ผิดปกติ”   และทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓  ตกหล่นข้อความที่ “ควร” จะปรากฎ(แต่ไม่ปรากฎ)ในคำวินิจฉัย) อีกครั้งหนึ่ง   ทั้งนี้  โดยไม่ต้องคำนึงว่า  เมื่อมีการเทียบเคียงบทบัญญัติสองมาตรานี้แล้ว  ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความไปในทางใด
               และสิ่งที่ผู้เขียนขอทิ้งไว้ให้ท่านผู้อ่าน “คิด”ต่อไป  ก็คือ  ท่านผู้อ่านพอทราบหรือไม่ว่า  อะไร คือ “สาเหตุ” ที่ทำให้ตุลาการเสียงข้างมาก ๓ ท่าน (ท่านจรัล ภัคดีธนากุล / ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ / ท่านนุรักษ์ มาปราณีต ) ไม่ยก “มาตรา ๙๕”  ขึ้นมาเทียบเคียงในการตีความมาตรา ๙๓   (ทั้ง ๆ ที่สองมาตรานี้อยู่ใกล้เคียงกัน)
        
              โดยสรุปในข้อนี้  ผู้เขียนเห็นว่า  เมื่อท่านอุดมศักดิ์ได้นำเอาบทบัญญัติ มาตรา ๙๕ มาเทียบกับบทบัญญัติมมาตรา ๙๓ วรรคสองแล้ว  ท่านอุดมศักดิ์ได้พบความแตกต่างในถ้อยคำและเจตนารมณ์ของมาตราทั้งสอง  และดังนั้น ท่านอุดมศักดิ์จึงได้ตีความมาตรา ๙๓ วรรคสองว่า  ในกรณีนี้  นายทะเบียนไม่ต้องทำ “ความเห็น” มาก่อนการเสนอเรื่องให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
        
       ◊◊ (๓.๓)  “ข้อวินิจฉัย” และ “ข้อยุติ” ของท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี  มีเหตุผล - reason  รับฟังได้เพียงใด (ตามความเห็นของผู้เขียน)
               เมื่อท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี   ไม่สามารถยอมรับการตีความกฎหมาย มาตรา ๙๓ วรรคสอง (ในหลักเกณฑ์ที่ว่า  นายทะเบียนพรรคการเมือง จะต้องทำ “ความเห็น ฯ ” มาก่อนการประชุมคณะกรรมการการเลิอกตั้ง)  ตามความเห็น ของตุลาการ ๓ ท่าน   คือ  ท่านจรัล ภัคดีธนากุล / ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ / ท่านนุรักษ์ มาปราณีต แล้ว ;   ท่านอุดมศักดิ์  ก็ให้เหตุผลที่เป็น “ข้อยุติ” ของท่านเองโดยเฉพาะ 
                เราลองมาดูว่า การตีความของท่านอุดมศักดิ์ (การยื่นคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องอยู่ภายในบังคับของระยะเวลา ๑๕ วัน ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง)  มิเหตุผลที่รับฟังหรือยอมรับได้เพียงใด
           นอกจากเหตุผลประการแรกตามที่กล่าวมาแล้ว   ท่านอุดมศักดิ์  ยังมี “ข้อวินิจฉัย”และ “ข้อยุติ” อีก  ๓ ประการ    ซึ่งผู้เขียนจะขอให้ความเห็นของผู้เขียนอย่างสั้น ๆ   ในแต่ละประเด็น ไปตามลำดับ  ดังนี้
        
             ประเด็นแรก  (ท่านอุดมศักดิ์)วินิจฉัยว่า  คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง  และนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  และ  ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ ๑๔๔ / ๒๕๕๒ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒   คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติเสียงข้างมาก “สั่งการ” ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามกฎหมาย  
            ผู้เขียนมีความเห็นว่า  อำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” และ ของ “นายทะเบียนพรรคการเมือง”  มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดไว้แน่นอนชัดเจน    กฎหมายกำหนดไว้อย่างไร   ก็เป็นอย่างนั้น ;  เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีนี้  ปรากฎว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองได้มายื่นคำร้องต่อศาลรํฐธรรมนูญ ด้วย“ความเห็นชอบ”ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  การก็ย่อมเป็นไปตามมาตรา ๙๓ วรรคสองแล้ว   ; และผู้เขียนไม่ขอพิจารณาว่า ในเรื่องนี้  คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องมีหรือไม่มี“คำสั่ง” สั่งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองอีก  หรือไม่
        
              ประการที่สอง  (ท่านอุดมศักดิ์)วินิจฉัยว่า  การยื่นคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องอยู่ในบังคับ “ระยะเวลา”  ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง แห่ง พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐  คือ  ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียน
        
             ประเด็นนี้  มีความสำคัญอย่างมาก   ในการพัฒนาหลัก “กฎหมายมหาชน” สำหรับนักกฎหมายทั่วไป ๆ ของไทย   เพราะ “การที่กฎหมายกำหนดระยะเวลา”   อาจเป็นบทบัญญัติที่กำหนดเวลาที่ตัดสิทธิของ “ผู้ที่มีส่วนได้เสีย” ที่เรียกว่า“อายุความ”ก็ได้   หรืออาจ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเวลาเพื่อเร่งรัดการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ได้  ทั้งนี้  จะต้องพิจารณาดู “เจตนารมณ์” ของบทกฎหมายในแต่ละเรื่อง  เป็นสำคัญ
                 ตามปกติ  ถ้าเป็น “บทอายุความ” ที่ตัดสิทธิ   ก็จะเป็นบทบัญญัติในกรณีทั่ว ๆ ไปสำหรับ “บุคคลทั่ว ๆ ไป” (คือ ไม่เจาะจงเเฉพาะ สำหรับกรณีของ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ”)   กฎหมายก็จะบัญญัติไว้แน่นอนว่า  ถ้าพ้นระยะเวลาไปแล้ว  ผู้ที่มีส่วนได้เสียจะใช้ “สิทธิ”ได้หรือไม่ได้  เพียงใด ;  แต่ถ้าเป็น “ระยะเวลาเพื่อเร่งรัดการดำเนินการของเจ้าหน้าที่”  ก็จะเป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ   และกฎหมายก็จะไม่มีบัญญัติที่เป็น “บทบังคับ” ในเรื่องนี้ไว้  
                ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลา (ในกรณีที่กฎหมายกำหนด “ระยะเวลาเพื่อเร่งรัดการดำเนินการของเจ้าหน้าที่” ไว้)     “ความรับผิดขอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ก็จะเป็นไปตามหลักกฎหมายและกฎหมายว่าด้วย “ระบบความรับผิดทางวินัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ”   ซึ่งไม่ได้หมายความว่า  ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่บทกฎหมายกำหนด  เจ้าหน้าที่จะต้อง”ผิดวินัย”เสมอไป ;  ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ จะมากหร้อน้อย หรือไม่ต้องรับผิด    ย่อมขึ้นอยู่กับ”เหตุผล” ของเจ้าหน้าที่ที่จะอธิบายหรือพิสูจน์ว่า  การที่ตนเองไม่สามารถดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดได้  เป็นเพราะเหตุใด  มีเหตุผลที่อธิบายในทางบริหารได้  หรือไม่ ฯลฯ 
               แต่ที่แน่นอนที่สุด  ก็คือ  ในการกำหนดระยะเวลาสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ  กฎหมายย่อมไม่มี “เจตนารมณ์”  ให้การกระทำความผิดกฎหมาย   ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยระบบตามที่กฎหมายกำหนดไว้   เพราะความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  หรือเพราะเจตนาแอบแฝงของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ที่ไม่กระทำการตามหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด (ด้วย “มูลเหตุชักจูง” ที่ยากจะพิสูจน์ หรือยากที่จะหา ใบเสร็จ)   ;  และในกรณีที่บทกฎหมายประสงค์จะให้ “ผู้กระผิด” พ้นจากการตรวจสอบตามระบบกฎหมาย (ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด)  บทกฎหมายก็จะต้องบัญญัติไว้ชัดเจน  เพราะถือเป็น “ข้อยกเว้น” ;   ประเด็นกฎหมายในเรื่องนี้  ได้มี “ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา”วางหลักเกณฑ์ไว้เป็นบรรทัดฐานไว้หลายกรณี   ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า  นักกฎหมายทั่วๆ ไป  คงทราบดีแล้ว
        
                สำหรับประเด็นว่าด้วย เจตนารมณ์ของกฎหมายในการกำหนด “ระยะเวลา” ในคดีนี้  นักวิชาการ (นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท ในต่างประเทศ)  ได้ให้คำอธิบายไว้อย่างชัดแจ้ง  และได้ให้เหตุผลในการโต้แย้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ไว้  โดยมีรายละเอียดตามสมควร  ตามที่ได้กล่าวมาแล้วใน ส่วนที่หนึ่ง  ;  นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์ ได้เปรียบเทียบระยะเวลา ที่เป็น   “อายุความการฟ้องคดีแพ่ง”    “ระยะเวลาฟ้องคดีปกครอง”  และ “ระยะเวลาเพื่อเร่งรัดการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ”   “เจตนารมณ์”ของบทบัญญัติของกฎหมายในแต่ละสาขา  รวมทั้ง อธิบาย “สิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้อง” ไว้ด้วย  ; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  นายวีรพัฒน์ ปริวงศ์  ได้อธิบายถึง  สิทธิของพรรคประชาธิปัตย์  ในการยก “ข้อเสียเปรียบ” เป็น ข้อต่อสู้ในศาลรัฐธรรมนูญ  ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นคำร้อง(ต่อศาล) เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  นานกว่าที่ควรจะเป็น  ไว้ด้วย ;  และ นักวิชาการอีกท่านหนึ่ง ( ศ.ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์) ก็ได้กล่าวถึง  “อายุความ” กับ “ประโยชน์สาธารณะ” ไว้ว่า การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง (ซึ่งเป็นเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชน)  เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ  ;   หากศาลซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองประโยชน์   ปฏิเสธไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวช้องกับประโยชน์สาธารณะ  ศาลก็จะเป็นผู้บกพร่องต่อหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเสียเอง ;   ซึ่งท่านผู้อ่าน อาจย้อนกลับไปอ่านความเห็นของท่านนักวิชาการเหล่านี้ได้ ใน ส่วนที่หนึ่ง
        
              ผู้เขียนไม่มีความเห็นเพิ่มเติมไปจากความเห็นของท่านนักวิชาการเหล่านี้  นอกจากจะขอเรียน  “ตัวอย่าง” บางตัวอย่าง ที่เกี่ยวกับ “กรณีที่กฏหมายกำหนดระยะเวลาสำหรับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการ”  มาให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดู   ;   รัฐธรรมนูญ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ฉบับปัจจุบัน  มาตรา ๓๐๐ วรรคห้า (บทเฉพาะกาล)  บัญญํติไว้ว่า “ในระหว่างที่ยังมิได้มีการตรา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  ให้ ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้  แต่ทั้งนี้  ต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้เสร็จภายในหนึ่งปี  นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ “;  เมื่อผู้เขียนได้อ่านแนวการวินิจฉัย “ปัญหาข้อกฎหมาย”ของศาลรัฐธรรมนุญตามที่กล่าวมาข้างต้น   ผู้เขียนก็เลยทำให้มีปัญหาสงสัยขึ้นในใจว่า   ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ยก “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”  ให้เสร็จภายในกำหนด “ระยะเวลา” ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หนึ่งปี ฯ  (คือ ภายในพ.ศ. ๒๕๕๑ )  เราจะตีความได้อย่างไรบ้าง  ;  ปัญหามีว่า  เมื่อระยะเวลาพ้นหนึ่งปีไปแล้ว   ศาลรัฐธรรมนูญของเราจะหมดสิทธิที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่    และถ้าจะมีการเสนอร่างกฎหมายหลังจากนั้น   การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้  ก็จะต้องกระทำโดยให้  “คณะรัฐมนตรี” หรือ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”  เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา ๑๓๙ (๑) หรือ (๒)  เท่านั้น  ใช่หรือไม่   (?) (?)
                [หมายเหตุ   ตามข้อเท็จจริงที่เป็นความจริง    ศาลรัฐธรรมนูญ ยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอต่อสภา  เกินกว่ากำหนด ๑ ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้  และขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๔)  ร่างพระราชบัญญัตินี้ ยังอยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้ “ตรา”ขึ้นใช้บังคับ ]
        
                 ● ประการที่สาม  (ท่านอุดมศักดิ์) วินิจฉัยเป็น ข้อยุติ(ในข้อเท็จจริง)ว่า  “ระยะเวลา”  ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง เริ่มนับตั้งแต่ “ความได้ปรากฎต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง”  และในกรณีนี้  คือ  ตั้งแต่  วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒  ซึ่งเป็น “วันที่” ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง “  มีมติเสียงข้างมาก “สั่งการ” ให้ผู้ร้อง (นายทะเบียนพรรคการเมือง)  ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (ตามมาตรา ๙๕ รวมกันไปทั้ง ๒ ข้อกล่าวหา)
               ปัญหามีว่า  ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ นั้น   ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนต้น (หัวข้อที่สอง ) แล้วว่า  “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวันนี้  ตามที่ปรากฎในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓  ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงใน “คำวินิจฉัย -ส่วนตน” ของ นายสุพจน์ ไข่มุกด์  (และของท่านบุญส่ง กุลบุปผา) ;  เพราะตามข้อเท็จจริงของท่านสุพจน์นั้น  นายอภิชาต สุขัคคานนท์  ซึ่งเป็น “ประธานกรรมการการเลือกตั้ง” และ “นายทะเบียนพรรคการเมือง”  ไม่ได้เข้าประชุมในวันนั้น  ;   และด้วยเหตุนี้  ในวันดังกล่าว  นายอภิชาต สุขัคคานนท์  นายทะเบียนพรรคการเมือง จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะทราบ “มติสั่งการ”ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ตามความเห็นของท่านอุดมศักดิ์) ได้
        
               ผู้เขียนไม่อาจทราบและไม่แน่ใจว่า  ในการวินิจฉัยดังกล่าว   ท่านอุดมศักดิ์ ได้ยึดถือ “ข้อเท็จจริง” อย่างไร   เพราะในคำวินิจฉัยส่วนนี้ของท่านอุดมศักดิ์    ท่านอุดมศักดิ์ไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงว่า  นายอภิชาต สุขัคคานนท์  นายทะเบียนพรรคการเมือง  ได้อยู่ในที่ประชุมหรือไม่    และถ้าตามความจริงปรากฎว่า   นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้อยู่ในที่ประชุมแล้ว   ท่านอุดมศักดิ์จะถือว่า   “ความได้ปรากฎต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง” ตั้งแต่เมื่อใด  ;  ท่านอุดมศักดิ์ จะถือว่าความปรากฎตั้งแต่วันที่ ที่“คณะกรรมการการเลือกตั้ง” มีมติ   หรือ จะถือว่าความปรากฎตั้งแต่วันที่  ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ทราบหรือควรจะทราบมตินั้น   (ซึ่งจะเป็นวันใด  ก็ไม่มีผู้ใดทราบ  เพราะไม่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ)
               ดังนั้น   เมื่อเราจึงไม่อาจทราบ “วันเริ่มต้น” ของระยะเวลา ๑๕ วันตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง ว่า จะเป็นวันใดแล้ว  เราก็ไม่อาจทราบวันที่ ที่เป็น “วันสิ้นสุด”ของระยะเวลาดังกล่าว  และดังนั้น  เราก็ไม่ทราบว่า  นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องยื่นคำขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในกำหนดเวลาใด   (?) (?)
        
              กล่าวโดยสรุบในข้อนี้   เมื่อพิจารณาข้อวินิจฉัยและข้อยุติของท่านอุดมศักดิ์  ทั้ง ๓ ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว   ผู้เขียนก็ขอให้เป็นเรื่องที่ท่านผู้อ่านจะพิจารณาเอาเองว่า  ความเห็นของท่านอุดมศักดิ    รับฟังได้เพียงใด  ;  ท่านผู้อ่านก็มีความเห็นของท่านผู้อ่าน   ผู้เขียนก็มีความเห็นของผู้เขียน   
                  แต่ขอเรียนว่า  สิ่งที่นักวิชาการหลายท่าน (ตามที่กล่าวไว้ในส่วนที่หนึ่ง)  ให้ความสนใจอย่างมาก ก็คือ ความเห็นของท่านอุดมศักดิ์ นี้   มีความแตกต่างกันอย่างตรงกันข้ามกับความเห็นของตุลาการ ๓ ท่าน ( ท่านจรัล ภัคดีธนากุล / ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ / ท่านนุรักษ์ มาปราณีต )  กล่าวคือ ท่านอุดมศักดิ์ เห็นว่า ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง  นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ต้องทำ “ความเห็น”  เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง   แต่ท่านจรัล ภัคดีธนากุล / ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ / ท่านนุรักษ์ มาปราณีต   เห็นว่า   นายทะเบียนพรรคการเมือ ต้องทำ “ความเห็น”เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยจะต้องทำความเห็นนี้ ก่อนเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ  ฯลฯ   
                 และ ปัญหาของนักวิชาการ มีว่า  “ความเห็น”ที่แตกต่างกันอย่างตรงกันข้ามนี้   จะนำมานับรวมกัน  ให้เป็น “เสียงข้างมาก”ของตุลาการในการลงมติชี้ขาดให้ “ยกคำร้องของนายทะเบียนฯ”  ได้หรือไม่ เพียงใด  และในการตั้ง “ประเด็น”เพื่อการลงมติชี้ขาด นั้น  ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีการตั้งประเด็นในการลงมติชี้ขาดอย่างไร จึงจะทำให้ “เหตุผล”(ที่แตกต่างกันอย่างตรงกันข้ามนี้)  มีความชัดเจนและปรากฎอยู่ในการวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ  ( ซี่งปัญหานี้  ผู้เขียนจะได้หาโอกาสมาพูดถึงการแก้ปัญหานี้ อีกครั้งหนึ่ง  ในตอนที่สาม  ของส่วนนี้)
        
                                ========================================================
         
              
         (๔)  ข้อที่สี่   การวิเคราะห์การให้เหตุผลใน “คำวินิจฉัย -ส่วนตน” ของตุลาการเสียงข้างมาก ๔ ท่าน (ที่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้กระทำความผิด ตามข้อกล่าวหา)  (“ประเด็น” นี้   คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓”  ไม่ได้มีการวินิจฉัยไว้ )  
                ในข้อที่สอง และข้อที่สาม ที่ผ่านมา  เป็นการวิเคราะห์ “ข้อเท็จจริง”และ “การวินิจฉัย” ของตุลาการ จาก คำวินิจฉัย(ส่วนกลาง)ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓    และวิเคราะห์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ “ประเด็น (ข้อกฎหมาย)” ของตุลาการเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ  ที่วินิจฉัยให้ “ยกคำขอของนายทะเบียนพรรคการเมือง” เท่านั้น ;  แต่ในข้อที่สี่นี้ จะเป็นการวิเคราะห์จาก “คำวินิจฉัย -ส่วนตน ของท่านตุลาการแต่ละท่าน  และจะเป็นการวิเคราะห์ ใน “ประเด็น” ที่ตุลาการแต่ละท่านให้ความเห็น ว่า พรรคประชาธิปัตย์กระทำผิด หรือไม่กระทำผิด ตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ตามข้อกล่าวหา หรือไม่
              ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่แน่ใจว่า   การตกหล่นข้อความที่”ควร”ปรากฎ (แต่ไม่ปรากฎ) ใน “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๓”  เกิดขึ้นเพราะ ”เหตุ” ใด ;  บางที  การอ่านข้อที่สี่นี้  อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านแน่ใจได้
        
                  ข้อที่สี่นี้  เป็น “หัวข้อที่มีความสำคัญอยู่มาก ” และเป็นหัวข้อที่ยาวอีกหัวข้อหนึ่งของบทความนี้ ;  เพราะหัวข้อนี้  เป็นการวิเคราะห์“คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของตุลาการแต่ละท่าน   ที่จะทำให้ เราสามารถ “รู้จัก” กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของเราได้เป็น “รายบุคคล”   โดยพิจารณาจาก “พฤติกรรม” ที่ท่านตุลาการแสดงออก  ให้เราเห็นได้จากการให้เหตุผลในวินิจฉัยชี้ขาดคดี (ของท่านตุลาการเอง)   ; และตามความจริง  “โอกาส”เช่นนี้ของวงการวิชาการของเราก็มีอยู่เสมอ ๆ   แม้แต่ในคดีสำคัญ ๆ ของศาลรัฐธรรมนูญเอง (เช่น คดีซุกหุ้น)   เพียงแต่ว่า”ระดับการพัฒนาของนักกฎหมายมหาชน” ของเรา  ยังแตกต่าง(ต่ำ)กว่านักกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่มาก  จึงไม่(ค่อย)มีการวิเคราะห์ให้เป็นระบบ
        
            อันที่จริง  “พฤติกรรมของตุลาการ (ที่แสดงออก - ให้บุคคลภายนอกสามารถเห็นได้)”   มิได้มีเฉพาะแต่ในกรณี “การให้เหตุผล(ของตุลาการ)ในการวินิจฉัยขี้ขาดคดี” เท่านั้น   เพราะในการพิจารณาคดี  ตุลาการอาจใช้ “ดุลพินิจ” ในการสั่งการหรือไม่สั่งการได้ในหลายกรณี ;  และดังนั้น  ถ้าเราจะวิเคราะห์ศึกษาถึง “พฤติกรรมของตุลาการ”ในแต่ละคดี ให้สมบูรณ์แล้ว ก็จะต้องนำเอา “การใช้ดุลพินิจของตุลาการ” ในการสั่งการในกรณีต่าง ๆ  มารวมศึกษาและวิเคราะห์ ในทุกประเด็น  และ เรา(บุคคลภายนอก) ก็จะสามารถมองให้เห็น “ภาพรวม” ของพฤติกรรมทั้งหมดของตุลาการในคดีนั้นได้
                ตัวอย่างเช่น  ในกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ (การยุบพรรคประชาธิปัตย์) นี้   “ประเด็น”อื่น ที่เกี่ยวกับ “การใช้ดุลพินิจสั่งการของตุลาการในคดีนี้ “ ที่น่าจะนำมาวิเคราะห์รวมกัน  ก็ยังมีอยู่อีก ๒ - ๓ ประเด็น   เป็นต้นว่า   (๑) ประเด็น  การ(จะ)สั่งการ “ให้รวมหรือไม่รวมพิจารณาคดีนี้”  กับ คดีที่มีการกล่าวหาว่า  พรรคผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)ได้รับเงินบริจาคจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน ฯ (นายประชัย )แล้ว   ไม่เปิดเผยแต่ได้ทำเป็น “นิติกรรมอำพราง”จ้างทำป้าย หรือไม่   หรือ (๒) ประเด็นการสั่งหรือไม่สั่ง  ให้มี “การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น” ในคดีนี้ หรือไม่  เพราะในคดีนี้  พรรคผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์)ได้ขอให้มีการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื่องต้นก่อนการไต่สวน  ( คือ โดยจะไม่มีการพิจารณาในประเด็นสาระของเรื่อง เกี่ยวกับการกระทำผิดหรือไม่กระทำผิด ของพรรคประชาธิปัตย์)   แต่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ไม่ปรากฎว่า  ศาล(ตุลาการ)ได้มีการสั่งการใน “คำขอ”นี้แต่ประการใด   แต่แล้วในที่สุด “ศาลรัฐธรรมนูญ”  ก็ได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง (ในประเด็นที่พรรคผู้ถูกร้องขอให้มี “การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น )  โดยไม่มีการพิจารณาและวินิจฉัยในประเด็นสาระของเรื่อง
               อย่างไรก็ตาม  “ประเด็น” ( การใช้ดุลพินิจของท่านตุลาการ)ในกรณีต่าง ๆ  เหล่านี้   ผู้เขียนจะยังไม่พิจารณาในชั้นนี้  แต่จะขอนำไปพิจารณาในภายหลังถ้ามีโอกาส (หากผู้เขียนไม่ลืมเสียก่อน)   โดยในที่นี้  จะขอพิจารณาแต่เฉพาะ “สาระ” ที่ปรากฎอยู่ใน “คำวินิจฉัย -ส่วนตน” ของท่านตุลาการเท่านั้น
        
                    ในข้อที่สี่นี้  ผู้เขียนขอแยกเป็น  ๓ ข้อ(ย่อย)  ดังนี้
                  (๔.๑)   การรวม “ข้อเท็จจริง” ที่เกี่ยวกับประเด็นว่า  พรรคประชาธิปัตย์กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่    ตามที่ปรากฎในอยู่ใน คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ  ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓) ทั้งหมด  มารวมไว้ในในที่เดียวกัน   เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบไว้เป็นพื้นฐาน  เพื่อที่จะได้นำไปเปรียบเทียบกับ “ข้อเท็จจริง” ที่อยู่ใน “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของตุลาการแต่ละท่าน  ที่จะกล่าวต่อไปใน ข้อ ๔.๒
                 (๔.๒)  ว่าด้วย  สาระของ “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของตุลาการแต่ละท่าน (โดยย่อ) : โดยผู้เขียนจะย่อสาระคำวินิจฉัย - ส่วนตน  ออกเป็น ๒ กลุ่ม  คือ  กลุ่มแรก  ได้แก่ คำวินิจฉัย - ส่วนตนของตุลาการฝ่ายข้างมาก ๔ ท่าน (ที่เห็นว่า  พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำผิด)  ให้ท่านผู้อ่านได้อ่านก่อน   และต่อจากนั้น  ผู้เขียนก็จะย่อ  คำวินิจฉัย - ส่วนตนของกลุ่มที่สอง คือ   ตุลาการฝ่ายข้างน้อย  ๒ ท่าน (ที่เห็นว่า  พรรคประชาธิปัตย์กระทำผิด)  ;   ทั้งนี้  เพื่อท่านผู้อ่านจะได้มีโอกาสทำความ “รู้จัก” กับตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญทุกท่านแต่ละท่าน  โดยพิจารณาเปรียบเทียบการอธิบาย “การให้เหตุผลในการวินิจฉัยคดี (ของตุลาการ)” ทั้งสองกลุ่มทีละคน   ด้วยตัวของท่านผู้อ่านเอง
                  (๔.๓)  ในข้อท้ายสุด   ผู้เขียนจะให้ “ข้อวิเคราะห์ และ ข้อสังเกต”  ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของท่านตุลาการ (ตามความเห็นของผู้เขียน)
        
                                ========================================================
        
        
       ◊◊◊ (๔.๑)  การรวม “ข้อเท็จจริง” ทั้งหมดในประเด็นว่า  พรรคประชาธิปัตย์กระทำความผิด  ตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่  ตามที่ปรากฎอยู่ใน คำวินิจฉัย(กลาง)ของศาลรัฐธรรมนูญ  ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓   
        
               ●  ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะอ่าน “ข้อเท็จจริง” ดังกล่าว  ผู้เขียนขอทบทวนถึง “ความสำคัญ” ของข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัย(กลาง)ของศาลรัฐธรรมนูญ  และ “ความรับผิดชอบ” ของตุลาการในการแสวงหาข้อเท็จจริง  อีกครั้งหนึ่ง ว่า
                ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในส่วนที่สองแล้ว  ว่า   การตรวจดู “ ข้อเท็จจริง” (เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เป็นมูลคดี) ที่ปรากฎอยู่ในคำพิพากษาของศาล ว่า  มีความถูกต้อง ครบถ้วนเพียงใด นั้น   เป็นสิ่งที่แรก ที่“ผู้วิเคราะห์” จะต้องทำเพราะ “ความ ถูกต้อง (หรือความไม่ถูกต้อง) และความสมบูรณ์(หรือความไม่สมบูรณ์) ของข้อเท็จจริงในคำพิพากษา”   เป็น  สิ่งบอกเหตุ - sign สิ่งแรก ที่ทำให้ผุ้วิเคราะห์สามารถทราบได้ว่า   คำพิพากษาฉบับใด  เป็นคำพิพากษาที่ “ผิดปกติ” หรือไม่ 
                 และผู้เขียนได้เรียนให้ทราบไว้แล้วตั้งแต่ตันเช่นเดียวกันว่า  โดยที่ “กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ” นี้   เป็นกระบวนการ ในรูปแบบที่เราเรียกกันว่า “วิธีการไต่สวน”  หรือ “วิธีการแสวงหาความจริง”  ;  ดังนั้น  ความรับผิดชอบในการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ถูกต้องสมบูรณ์ ในขั้นสุดท้าย   จึงตกอยู่ที่ “ตุลาการ” ที่พิจารณาคดี
               ด้วยเหตุนี้    การรวมข้อเท็จจริงทั้งหมดในประเด็นสำคัญ ที่กระจัดกระจายอยู่ในคำวินิจฉัย  ให้อยู่ในที่เดียวกัน  เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ  จึงเป็นเงื่อนไขข้อแรก ที่นักวิเคราะห์จะต้องการทำ
        
                 แม้ว่า  เรา (ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก)  อาจไม่สามารถทราบได้ว่า  ความที่ปรากฎในอยู่ใน คำวินิจฉัย(กลาง)ศาลรัฐธรรมนูญนี้  จะมีความถูกต้อง  ครบถ้วน  และ ตรงตาม “ข้อเท็จจริง” ที่ปรากฎอยู่ในเอกสารและพยานหลักฐานที่อยู่ในสำนวนคดี   มากน้อยเพียงใด  ก็ตาม ;  แต่ ความที่ปรากฎอยู่ใน คำวินิจฉัย(กลาง)ศาลรัฐธรรมนูญ  ก็เป็นข้อเท็จจริงที่มากที่สุด ที่เรา(บุคคลภายนอก)จะสามารถเข้าถึง -  access  ได้  ; แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้าเรา(นักวิชาการ) ให้ความสนใจในการอ่าน   เราก็อาจพบ “ความเป็นจริง” บางอย่างได้   ดังเช่น   การตรวจพบข้อเท็จจริง(ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการประขุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ )  ที่กล่าวไว้ในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ  ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่อยู่ในคำวินิจฉัย  - ส่วนตน ของท่านตุลาการบางท่าน  ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นแล้ว  เป็นต้น 
                    ในทางปฏิบัติ   ผู้เขียนเข้าใจว่า   “ข้อเท็จจริง” ที่เขียนอยู่คำวินิจฉัยกลาง ของศาล    ย่อมจะเป็น “ข้อมูลพื้นฐาน” ที่ตุลาการทุกคนในองค์คณะ  ใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดี  ; และดังนั้น   โดยหลักการ   ข้อเท็จจริง” ที่เขียนอยู่คำวินิจฉัยกลาง ของศาลรัฐธรรมนูญ  จึง “ควร” จะต้องเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์  ครบถ้วน  และตรงตามความเป็นจริง ตามเอกสารและการสืบพยานที่อยู่ในสำนวนคดี ;  ปัญหามีว่า   แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า  ข้อมูลที่อยู่ในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ สมบูรณ์  ครบถ้วน  และตรงตามความเป็นจริง ตามเอกสารและการสืบพยานที่อยู่ในสำนวนคดี  หรือไม่
        
        
                   ข้อเท็จจริง(ที่เกี่ยวกับ”ประเด็น” ว่า  พรรคประชาธิปัตย์กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง  ตามที่มีการกล่าวหา  จริงหรือไม่)   ตามที่ปรากฎในคำวินิจฉัย (ส่วนกลาง) ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ นั้น  แยกกันอยู่ใน “หลายส่วน” ของคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ  ;  ซึ่งบางส่วน  ผู้เขียนก็ได้ย่อสาระให้ท่านผู้อ่านได้อ่านมาแล้วในส่วนที่สอง  แต่บางส่วน  ผู้เขียนก็ยังไม่ได้กล่าวไว้ในส่วนที่สอง ( คือ คำวินิจฉัยกลาง  ในส่วนที่ว่าด้วย  “การไต่สวนและการนำสืบ” ของนายทะเบียนพรรคการเมืองผู้ร้องและของพรรคประชาธิปัตย์ผู้ถูกร้องเพราะผู้เขียนเห็นว่า  ข้อเท็จจริงดังกล่าว ยังไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ (พรรคประชาธิปัตย์ “กระทำผิด” ตามข้อกล่าวหา หรือไม่)  
               การนำเอา “ช้อเท็จจริง”ที่เกี่ยวกับประเด็นว่า พรรคประชาธิปัตย์กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่  มาเขียนรวมกันไว้  ในที่เดียวกัน  มีความมุ่งหมายให้ท่านผู้อ่านสามารถมองเห็น “ภาพรวม” ของ การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์  ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคำวินิจฉัยนี้  ได้ทั้งหมดพร้อมกัน
        
                    ในคำวินิจฉัย (กลาง) ของศาลรัฐธรรมนูญ  ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓  มี “ข้อเท็จจริง” ที่เกี่ยวกับ ประเด็นว่า พรรคประชาธิปัตย์กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่   กระจัดกระจายอยู่ใน ๓ ส่วน :  คือ  (๑)  ในข้อความส่วนที่ว่าด้วย  “การไต่สวนและการนำสืบของคู่กรณี”  หน้า ๑๕ - ๒๐  ; (๒) ในข้อความส่วนที่เป็น “ข้อเท็จจริงที่ดู่กรณีรับกันและไม่ได้โต้แย้งกัน”  เฉพาะในส่วนที่ระบุ  เอกสารหลักฐาน เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินในการดำเนินการตาม “โครงการทำแผ่นป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์” ของ พรรคประชาธิปัตย์   หน้า ๒๗ - ๒๘ ; และ  (๓) ในข้อความบางส่วน ของคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ของพรรคประชาธิปัตย์เอง  หน้า ๘ - ๙
        
                  ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่า ในส่วนที่สอง (การย่อสาระของ คำวินิจฉัยกลาง)  ผู้เขียนแนะนำไว้ว่า ให้ท่านผู้อ่านที่เบื่อการอ่าน ให้ข้าม(การอ่าน) ส่วนที่สอง นั้นไปก่อน   ต่อเมื่อท่านผู้อ่านมี “ความอยากรู้ - appetite” เมื่อใด  หรือมีปัญหาสงสัย เมื่อใด จึงค่อยย้อนกลับมาอ่าน ;  แต่ในหัวข้อนี้  ผู้เขียนขอแนะนำในทางตรงกันข้าม  คือ แนะนำให้ท่านอ่านหัวข้อนี้ก่อน (ที่จะอ่านต่อไป)  แต่อย่างไรก็ตาม  ท่านผู้อ่านไม่จำเป็นต้องอ่านละเอียด  ขอให้อ่านเพียงให้ทราบว่า  ในเรื่องนี้  (ประเด็นว่า พรรคประชาธิปัตย์กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่)  “ข้อเท็จจริง” ที่เขียนอยู่ในคำวินิจฉัยกลางนี้  มีสาระสำคัญ อะไรบ้าง ;  เหตุที่ผู้เขียนแนะนำให้ท่านผู้อ่านควรอ่านหัวข้อนี้ก่อน  ก็ด้วยเหตุผลอย่างง่าย ๆ  คือ  เพราะว่า  ข้อความที่ถัดไปต่อไปนี้ (ข้อ ๔.๒) จะเป็นการย่อ “สาระ” ของคำวินิจฉัย - ส่วนตน  ของท่านตุลาการเป็นรายบุคคล   ดังนั้น  ถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านและทราบ “ข้อเท็จจริง” ที่เขียนอยู่คำวินิจฉัยกลาง ของศาลรัฐธรรมนูญ ไว้เป็นพื้นฐานก่อนแล้ว   ต่อไปเมื่อท่านได้อ่าน ข้อที่ ๔.๒    ท่านผู้อ่านก็จะสามารถเปรียบเทียบและทราบได้ว่า   “ข้อเท็จจริง” ที่เขียนอยู่คำวินิจฉัยกลาง ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓นี้  เป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ ครบถ้วน  และตรงตามความเป็นจริงตามสำนวนคดี หรือไม่  หรือ “ตกหล่น” ข้อความที่ “ควร”จะปรากฎ (แต่ไม่ปรากฎ)  ไปมากน้อยเพียงใด  (ถ้าท่านไม่อ่านก่อน  ท่านก็ไม่รู้)
        
                
        
       ◊  (๑)  ข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ในส่วนที่ว่าด้วย “การไต่สวนและการนำสืบ” ของคู่กรณี
               “ข้อเท็จจริง”นี้  เป็นข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากหน้า ๑๕ - ๒๐ รวม ๖ หน้า   ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ตอน :  ตอนแรก เป็น  การนำสืบของผู้ร้อง (นายทะเบียนพรรคการเมือง) หน้า ๑๕ -๑๘ รวม ๔ หน้า และตอนที่สอง  เป็น  การนำสืบของผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) หน้า ๑๘ - ๒๐ รวม ๒ หน้า
               ผู้เขียนขอเรียนว่า  การย่อสาระของผู้เขียนในข้อนี้  คงไม่อาจย่อให้สั้นได้มากนัก   เพราะผู้เขียนต้องการเก็บรักษาความครบถ้วนของ”สาระ”ไว้ให้มากที่สุด    เนื่องจาก “ข้อเท็จจริง” ใน คำวินิจฉัย (ส่วนกลาง)ของศาลรัฐธรรมนูญนี้จะใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบเทียบเคียงกับ ข้อเท็จจริงใน “คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของตุลาการแต่ละท่าน  ;  และในการย่อสาระนี้   ผู้เขียนได้จัดแบ่งข้อความ  โดยย่อหน้าและจัดสาระใหม่   (ไม่ได้เขียนติดต่อกันไป  เหมือนในต้นฉบับคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ)  ทั้งนี้  เพื่อให้ท่านผู้อ่าน  สามารถอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น และสามารถมองเห็นความต่อเนื่องของ“เหตุการณ์” ได้
        
        ●●  ตอนแรก  การนำสืบของผู้ร้อง (นายทะเบียน ฯ)  หน้า ๑๕ - ๑๘   รวม ๔ หน้า
                     ผู้ร้อง(นายทะเบียน) นำสืบว่า  ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ได้ใช้จ่ายเงิน และจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง ใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๘  ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ไม่ถูกต้องตรงตามความจริง   ใน ๒ รายการ  คือ
        
       (ก)รายการที่ ๑  กรณีใบสำคัญจ่ายค่าจัดทำป้ายของ บริษัท เกิดเมฆ แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง แอนด์ กรู๊ป จำกัด (หน้า ๑๕ - ๑๗)  มีความว่า
              ประมาณเดือนกันยายน ๒๕๔๗  ก่อนมีการเลือกตั้งทั่วไป  นางสาววาศินี ทองเจือ   โดยการชักชวนของนายสุชาติ  เกิดเมฆ ไปติดต่อกับนายนิพนธ์ บุญญามณี ( คำวิ. ไม่ได้ระบุว่า เป็น “ใคร” ?)   เพื่อขอรับจ้างจัดทำป้ายโฆษณาหาเสียงให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)  ; ต่อมา นายนิพนธ์ แจ้งว่า ที่ประชุมพรรคตกลงว่าจ้างนางสาววาศินี ทำป้ายฟิวเจอร์บอร์ดเพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายพรรค จำนวน ๕ แบบ แบบละ ๑๐๐๐๐แผ่น จำนวน ๕๐๐๐๐แผ่น ราคาแผ่นละ ๑๘๐ บาท ขนาดป้าย ๑.๒๐ เมตร คูณ ๒.๔๐ เมตร  สำหรับแจกจ่ายภาคเหนือ ภาคตวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกบางส่วน  โดยเป็นการจ้างเหมา(รวมค่าแรงและค่าวัสดุอุปกรณ์)  ไม่ได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณอักษร  โดยผู้ถูกร้อง(พรรค หชปง) จะจ่ายค่าจ้างเป็นเงินสดล่วงหน้าเป็นงวด ๆ
            นางสาววาศินี ฯ  รับว่า ได้ว่าจ้างช่วงบริษัทอื่น ต่ออีก ๕ ราย   ราคาแผ่นละประมาณ ๔๐ - ๕๐ บาท คือ  บริษัท เกิดเมฆ แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง แอนด์ กรู๊ป จำกัด จำนวน ๑๐๐๐๐ แผ่น เป็นเงิน ๔๐๐๐๐๐ - ๕๐๐๐๐๐ บาท,  บริษัท ลักกี้วัน / บริษัท ฐิติกาญจน์ / นายกฤชพล หรือเฮียตั้ว / นายสาธิต  รายละ ๑ แบบ แบบละ ๑๐๐๐๐ แผ่น ;   โดยนางสาววาศินี นำเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่รับจากนายธงชัย คลศรีชัย (คำวิ. ไม่ได้ระบุว่า เป็น “ใคร” ? ) ไปซื้อวัศดุจาก  บริษัทป๊อปปูล่า อินเตอร์พลาส จำกัด / บริษัท อุตสาหกรรมอีโค่พลาส (แห่งประเทศไทย)จำกัด / บริษัท วินสันสกรีน จำกัด  และจ่ายค่าจ้างให้กับผู้รับช่วง
             เมื่อผู้รับช่วงงานจัดทำป้ายเสร็จ  นางสาววาศีนี  ได้ว่าจ้างรถบรรทุกส่งไปยังจุดต่าง ๆ  ตามที่นายธงชัย คลศรีชัย (คำวิ. ไม่ได้ระบุว่า เป็น “ใคร” ? ) แจ้ง ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ๒๕๔๗  ถึงปลายเดือน พฤศจิกายน - กลางเดือนธันวาคม ๒๕๔๗   โดยได้ทำใบค่าจ้างส่งของแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากไม่รวมกับค่าจ้างที่ตกลงไว้  ;  ป้ายที่ส่งทั้งหมด ๔๙๙๔๐ แผ่น และเป็นค่าขนส่ง ๒๒๔,๘๐๐ ยาท
        
              ● ต่อมา  กลางเดือนธันวาคม ๒๕๔๗  นายธงชัย คลศรีชัย (คำวิ. ไม่ได้ระบุว่า เป็น “ใคร” ?)  แจ้งให้นางสาววาศินี ทราบว่า ผู้ร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ )  ต้องการใบเสร็จค่าจ้างทำป้ายเพื่อนำไปแสดงค่าใช้จ่ายในทางบัญชีของผู้ถูกร้อง(พรรค ประชาธิปัตย์)  ซึ่งนางสาววาสินีเห็นว่า  การออกใบเสร็จผิดไปจากข้อตกลงเดิม  เนื่องจากนางสาววาศินี ต้องรับภาระในส่วนของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ ๓  (หน้า ๑๖)
           นายธงชัย คลศรีชัย (คำวิ. ไม่ได้ระบุว่า เป็น “ใคร” ?)  จึงได้กำหนดแนวทางการออกใบเสร็จให้นางสาววาศินีไปดำเนินการ  เพื่อที่ผู้ถูกร้อง (?) ไม่ต้องรับภาระจ่ายเพิ่มในส่วนที่เกินกว่าที่ตกลงไว้  โดยให้แยกใบเสร็จรับเงินเป็น ๒ กรณี  คือ   (๑) ใบเสร็จรับเงินค่าวัสดุ ให้แยกออกจากยอดจ้างเหมาทั้งหมด  และให้ผู้จำหน่ายวัศดุออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) โดยตรง  (คือใบเสร็จของ บริษัท ป๊อปปูล่า - ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  / บริษัท อุตสาหกรรมอีโคพลาส ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๗  / บริษัทวินสกันสกรีน ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๘ ) ;  และ (๒) ใบเสร็จรับเงินค่าแรงงานในการทำป้าย ของบริษัทเกิดเมฆ  โดยระบุผู้ถูกร้อง(พรรค ประชาธิปัตย์) เป็นผู้ซื้อ  จำนวน ๕๐๐๐๐ แผ่น (คือ  ใบเสร็จของ บริษัท เกิดเมฆฯ วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ )
            เมื่อนางสาววาศินี  นำ“ใบเสร็จรับเงินดังกล่าว” ไปมอบให้ นายธงชัย คลศรีชัย (คำวิ. ไม่ได้ระบุว่า เป็น “ใคร” ?)  แล้ว  นางสาววาศินี ได้รับเช็ครวม ๔ ฉบับ  เป็นเช็คผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ รวม ๓ ฉบับ (เช็คสั่งจ่าย  แก่ บริษัท ป็อปปูล่า - ใบส่งของลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๗  / บริษัท อุตสาหกรรมอีโคพลาส - ใบส่งของลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๗  / บริษัทเกิดเมฆ - ค่าจ้างทำป้าย)  และเป็นเช็คของผู้ถูกร้องลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๘  อีก ๑ ฉบับ (เช็คสั่งจ่าย แก่ บริษัทวินสกันสกรีน - ออกใบส่งสินค้าจำนวน ๑๔ ฉบับระหว่าง วันที่ ๒ -๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๗)
        
        
        
       (ข) รายการที่ ๒  กรณีใบสำคัญจ่ายค่าจัดทำป้าย โดยบริษัท เมซไซออะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด (หน้า ๑๗ - ๑๘)  มีความว่า 
             ในกรณีนี้ ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) สั่งจ่ายเช็ค เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  จำนวน ๒๓.๓ ล้านบาท ให้แก่ บริษัทเมซไซอะ  โดยไม่มีสัญญาจ้างและมิได้มีการทำธุรกิจกันจริง  เป็นเพียง “การสั่งจ่ายเงิน” ออกจากบัญชีของผู้ถูกร้อง(พรรค ประชาธิปัตย์) เพื่อเป็นพยานหลักฐานสำหรับการตรวจสอบว่า ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ได้จ่ายเงินออกมาให้บริษัทโฆษณา ฯ  (หน้า ๑๗)
              ● เมื่อนายคณาปติ หรือประจวบ สังขาว (คำวิ. ไม่ระบุว่าเป็น “ใคร” ?)  ได้รับเช็คของผู้ถูกร้อง(พรรค ประชาธิปัตย์)แล้ว  ก็นำเข้าบัญชีธนาคารของ บริษัทเมซไซอะ ในวันเดียวกัน (วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘)  และหลังจากนั้น  นายคณาบดีก็โอนเงินดังกล่าวให้แก่ “บุคคล” ต่าง ๆ ตามคำสั่งของนายธงชัย คลศรีชัย (คำวิ. ไม่ระบุว่าเป็น ใคร ?)  แล้ว เบิกเป็นเงินสด  นำมาให้ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์)
              ● โดยบริษัท เมซไซอะ  จะนำรายการสั่งจ่าย “เช็คให้กับบุคคล” มาบันทึกบัญชี ว่า เป็นการสั่งจ่ายเงิน “ค่าจ้างเหมาบริการ”  ให้กับ ๓ ปริษัท  คือ บริษัท ชัยชวโรจน์ / บริษัท พีจีซี อินเตอร์เนชั่นแนล / ห้างหุ้นส่วนจำกัด สินวัฒนาเอเชียนเอนเตอร์ไพรส์   เพื่อสร้างหลักฐานให้ดูเหมือนมีการประกอบการจริง  และนำหลักฐานไปจัดทำ ภ.ง.ด. ๕๓ เพื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย  (ซึ่งบริษัททั้งสาม  เป็นบริษัทที่กรมสรรพากรและเจ้าหน้าที่สรรพากรที่ตรวจสอบผลประกอบการของบริษัทดังกล่าวในช่วง ๒๕๔๗ - ๒๕๔๘  ให้การยืนยันว่า บริษัททั้งสามไม่มีการประกอบการจริงและถูกสั่งเพิกถอนการออกใบกำกับภาษี)
        
                 นอกจากนั้น  นายคณาปติ หรือประจวบ สังขาว (คำวิ. ไม่ระบุว่าเป็น “ใคร” ?)   ยังเป็นผู้รับจ้าง(หรือนำไปช่วงให้ผู้อื่นทำแทน)   ทำป้ายหาเสียง(รวมทั้งการจัดส่งป้าย) ให้กับผู้สมัตร ส.ส.ของพรรคผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ในจำนวน ๓๖๖ เขต  (เขตละ ๒๐๐ - ๓๐๐ แผ่น) โดยเริ่มผลิดตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗  โดยการจ้างดังกล่าวไม่ได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณะอักษร  โดยใช้ เงินที่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน ฯ  โอนเข้ามาในบัญชีของบริษัท เมซไซอะ ฯ ;   ซึ่งในการใช้เงินนี้  นายคณาปติ หรือประจวบ สังขาว  เพียงแต่แจ้งนายธงชัย คลศรีชัย หรือ “ทีซี” (คำวิ. ไม่ระบุว่าเป็น ใคร ?)  ซึ่งนายธงชัย ฯ จะอนุมัติโดยไม่มีเอกสารเป็นหลักฐาน  และเมื่อจัดทำป้ายเสร็จแล้ว ก็จัดส่งป้ายไปยังจุดต่าง ๆ ตามที่นายธงชัยสั่งการ  ;   ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด  นายคณาปติ หรือประจวบ สังขาว จะเบิกจ่ายจากบัญชีของ บริษัท เมซไซอะ ฯ   และแจ้งให้ นายธงชัย คลศรีชัย หรือ “ทีซี” ทราบ เช่นเดียวกัน 
        
         ●● ตอนที่สอง  การนำสืบของผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) (หน้า ๑๘ - ๒๐) รวม ๒ หน้า
               ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์.)  นำสืบว่า  ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.)  มีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองเลขาธิการพรรคในขณะนั้น เป็น “ประธานคณะทำงานฝ่ายยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง”   รับผิดชอบภารกิจด้านประชาสัมพันธ์   จัดซื้อจัดจ้าง และตรวจรับป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง   ได้ดำเนินการจัดทำป้ายโฆษณา(ฟิวเจอร์บอร์ด)  จำนวน ๒ ประเภท ดังนี้
        
               ป้ายประเภทที่หนึ่ง (ป้ายนโยบายพรรค)   ในช่วงปี ๒๕๔๗ (ไม่ได้ระบุเดือน)    นางสาววาศินี  ทองเจือ ได้ติดต่อผ่านทาง “ คณะทำงานฝ่ายยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง” ของพรรค  ขอรับจ้างจัดทำป้ายฟิวเจอร์บอร์ด   คณะทำงานพิจารณาแล้ว เห็นว่าเสนอราคาต่ำกว่ารายอื่น จึงได้ว่าจ้างให้นางสาววาศีนี เป็นผู้จัดทำป้ายฯ จำนวน ๕๐๐๐๐ ป้าย โดยจ้างเฉพาะค่าแรง ป้ายละ ๕๐ บาท เป็นการเหมาจ่าย  โดยนางสาววาศินี จะเป็นผู้จัดส่งป้ายไปยังจุดต่าง ๆตามที่กำหนด ;  ส่วนวัสดุสำหรับจัดทำป้าย   นางสาววาศินี จะเป็นผู้ติดต่อสั่งจากผู้จำหน่าย  โดยผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) จะเป็นผู้ที่ชำระค่าวัสดุ  ให้กับผู้จำหน่ายพัศดุโดยตรง
                หลังจากนางสาววาศินี จัดทำและส่งมอบป้ายเสร็จแล้ว (ไม่ได้ระบุเดือน)    ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘   เป็นค่าจ้างทำป้าย ให้แก่ให้กับ “บริษัทเกิดเมฆ” จำนวน ๒.๐ ล้าน  เนื่องจากนางสาววาศินีเป็นผู้ร้องขอให้จ่ายให้แก่ “บริษัทเกิดเมฆ” ในฐานะที่เป็นผู้รับช่วงงาน   ประกอบกับ ป้ายที่นางสาววาศินี ส่งมอบบางส่วน  มีข้อความระบุว่า “ผลิด โดย เป๋ โปสเตอร์”  ซี่งเป็นเครื่องหมายการค้า ของบริษัทเกิดเมฆ
               ส่วนค่าวัสดุ  ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) สั่งจ่ายเช็คให้ผู้จำหน่ายวัสดุจำนวน ๓ ราย โดย เช็คลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ ทั้ง ๓ ราย   คือ  (๑)  ให้บริษัทอุตสาหกรรมอีโคพลาส  โดยบริษัทวางใบเสร็จรับเงิน(และใบกำกับภาษี) เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ ; (๒) ให้บริษัท ป็อปปูล่า  โดยบริษัทวางใบส่งของและใบกำกับภาษี วันที่  ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๗  ; และ (๓) บริษัทวินสันสกรีนส  โดยบริษัทวางใบเสร็จรับเงิน วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๘
        
               ป้ายประเภทที่สอง  (ป้ายแนะนำตัวผู้สมัคร)  ในช่วงเดือนตุลาคม  ๒๕๔๗   บริษัท เมซไซอะ โดยนายคณาปติ หรือประจวบ สังขาว ( คำวิ.   ไม่ได้ระบุว่า นายคณาปติ หรือประจวบ สังขาว มีฐานะหรือตำแหน่งใด ในบริษัทฯ )  ซึ่งเคยรับทำป้ายให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผู้ถูกร้องมาก่อน  ได้ติดต่อผ่าน “คณะทำงานฝ่ายยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง”ของผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)  เพื่อขอรับจัดทำป้ายฟิวเจอร์บอร์ดของผู้ถูกร้อง  ;  คณะทำงานพิจารณาแล้ว  ตกลงให้บริษัท เมซไซอะ จัดทำฟิวเจอร์บอร์ดแนะนำตัวผู้สมัตรรับเลือกตั้ง  เป็นการจ้างเหมารวมค่าแรงและวัสดุ  โดยให้บริษัทจัดเตรียมความพร้อมให้ทันก่อนวันสมัตรรับเลือกตั้ง ;  ต่อมา มีการสมัครับเลือกตั้งในวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๘  และเมื่อผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)จับสลากได้ “หมายเลขพรรค” แล้ว  บริษัท เมซไซอะ จึงได้สกรีน(ใส่)หมายเลขดังกล่าวลงในป้ายที่จัดทำไว้  และส่งมอบไปยังจุดต่าง ๆ
                ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) ได้ออกเช็คลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ จำนวน ๒๓.๓ ล้านบาท เป็นค่าจ้างให้แก่ บริษัทเมซไซอะ (โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ ๓ จำนวน ๖๗๒,๕๒๕ บาทออก) และบริษัทเมซไซอะออกใบสำคัญรับเงิน ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  (?)  ระบุยอดเงินเดียวกัน
               รวมเงินค่าใช้จ่ายในการจัดทำป้ายฟิวเจอร์บอร์ดทั้งสองประเภทเป็น  ๓๒.๔ ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน ๒๗ ล้านจ่ายบาท ,  ส่วนที่เกิน  ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.)เป็นผู้ออกเงินสมทบ
        
              ●●  ข้อสังเกต(ของผู้เขียน) เกี่ยวกับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ก่อนที่จะพิจารณาต่อไป   ผู้เขียนขอให้ “ข้อสังเกต” เกี่ยวกับ ข้อเท็จจริงที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสักเล็กน้อย ดังนี้
              ท่านผู้อ่านคงจะสังเกตเห็นว่า  ผู้เขียนได้ “วงเล็บ” ข้อความที่น่าจะต้องปรากฎ(แต่ไม่ปรากฎ) ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (ในส่วนที่ว่าด้วย การนำสึบพยานของผู้ร้อง(นายทะเบียนพรรคการเมือง) และของผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ไว้ ๒ ประการ  คือ  (๑) การระบุชื่อบุคคล โดยไม่ระบุว่าเป็น “ใคร”  และ (๒) การไม่ระบุ “วัน - เวลา” ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ; ซึ่งอันที่จริงแล้ว  ข้อเท็จจริงทั้ง ๒ ประการ นี้ เป็นมาตรฐานขั้นต้นของ “การนำสืบ”   เพราะถ้าเราไม่รู้ว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องเป็น “ใคร”  เราก็ไม่สามารถทราบได้ว่า บุคคลนั้น  มี “ความรับผิดชอบ”ในฐานะใด  เพียงใด   และในทำนองเดียวกัน  ถ้าเราไม่ทราบว่า เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น “เมื่อใด”   เราก็ไม่สามารถทราบ”ความเป็นจริงของเหตุการณ์” และ “ความต่อเนื่องของเหตุการณ์” ได้ว่า อะไรเกิดขึ้นก่อนและหลัง  อย่างไร     
                ในกรณีนี้(จากการอ่าน “ข้อเท็จจริง” ที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ)  ผู้เขียนไม่สามารถทราบได้ว่า   นายธงชัย คลศรีชัย  (ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการสั่งการเกี่ยวกับการสั่งจ่ายเงิน)  คือ “ใคร”  หรือ นายคณาปติ หรือประจวบ สังขาว เป็น “ใคร”  เกี่ยวข้องกับ บริษัทเมซไซอะ อย่างไร  และนอกจากนั้น  ผู้เขียนก็ไม่สามารถทราบว่า การจัดทำป้ายหาเสียงให้กับพรรคผุ้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) โดยบริษัท เมซไซออะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด (โดยนายคณาปติ หรือประจวบ สังขาว)  ซึ่งมีจำนวนถึง ๓๖๖ เขต นั้น  ได้มีการจัดทำหรือนำไปรับจ้างช่วงที่ไหน  อย่างไร เมื่อไร   และ มีการรับจ้างทำงานกันจริง ๆ หรือไม่  ฯลฯ 
               ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ว่า    “การตกหล่น” ในการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมูลคดี ที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเหล่านี้  เกิดขึ้นเพราะเหตุใด ;  อาจจะเกิดจากความบกพร่องใน “การนำสืบ” ของผู้นำสืบเอง   เช่น  ผู้ร้อง(นายทะเบียนพรรคการเมือง) ไม่ได้นำสืบว่า นายธงชัย คลศรีชัย หรือ นายคณาปติ หรือประจวบ สังขาว   เป็น “ใคร”มาจากไหนฯลฯ  ;  หรืออาจจะเกิดจาก “มาตรฐาน”ในการเขียนคำวินิจฉัย(กลาง) ของศาลรัฐธรรมนูญเอง  ;  แต่ข้อสำคัญที่ผู้เขียนทราบ  ก็คือ  การให้ “ข้อเท็จจริง” ที่ไม่ครบถ้วน (ในสาระสำคัญ)ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น   เปิด “โอกาส” ให้การวินิจฉัยของตุลาการผิดพลาดไปจาก “ข้อเท็จจริง” ที่เป็นความจริงได้  โดยนักวิชาการและบุคคลภายนอกไม่สามารถตรวจสอบได้  (ไม่ว่าตุลาการที่วินิจฉัยชี้ขาดนั้น จะมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ตาม)
        
       ◊  (๒)  ข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ   ในส่วนที่ระบุ  เอกสารหลักฐาน เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินในการดำเนินการตามโครงการทำแผ่นป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ของ พรรคประชาธิปัตย์ (หน้า ๒๗ - ๒๘) 
             ความข้อนี้ มาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ หน้า ๒๗ - ๒๘  ในช่วงที่สี่ ของคำวินิจฉัย (ว่าด้วยหัวข้อ “ข้อเท็จจริงที่คู่กรณีรับกัน และฟังเป็นที่ยุติ” - หน้า ๒๐)   ตอนที่สอง เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินในการดำเนินการตามโครงการทำแผ่นป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ของ พรรคประชาธิปัตย์  ซึ่งจะเป็นการระบุ  “รายการเช็ค (ใบเสร็จรับเงิน / ใบกำกับภาษี)  จำนวน ๕ ฉบับ”    โดยเป็นเช็คที่ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘   จำนวน ๔  ฉบับ และ เป็นเช็คลงวันที่ ๑๒  มกราคม  ๒๕๔๘  อีกหนึ่งฉบับ  ตามรายการ ดังนี้
                “  (๑) เช็คผู้ถูกร้อง(พรรคปชป.)  จ่ายให้แก่ บริษัท เมซไซอะ  ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  (จำนวนเงิน ๒๓.๓ ล้านบาท)  ;  บริษัทออก ใบแจ้งหนี้ / ต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน / ต้นฉบับใบกำกับภาษี  ของบริษัท  ทั้ง ๓ ฉบับ  ลงวันที่  ๗  มกราคม ๒๕๔๘  และใบสำคัญรับเงิน ของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  จำนวนเงิน ๒๓.๙ ล้านบาท หักภาษี ณ ที่จ่าย ๐. ๖๗ ล้านบาท (เอกสารหมาย ร ๘๔, ร ๙๓, ร ๑๑๑, ร๑๑๔ และ ถร ๔๒)
                 (๒) เช็คผู้ถูกร้อง(พรรคปชป.)  จ่ายให้แก่ บริษัท เกิดเมฆ แอ๊ดเวอณืไทซิ่ง   ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  (จำนวนเงิน ๒.๐๙  ล้านบาท);   บริษัทออกใบเสร็จรับเงิน / ใบกำกับภาษี  ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๓  และใบสำคัญรับเงิน ของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘   (เอกสารหมาย ร ๑๑๔ และ ถร ๔๖)
                 (๓)เช็คผู้ถูกร้อง(พรรคปชป.)  จ่ายให้แก่ บริษัท ป๊อปปูล่า อินเตอร์พลาส  ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  (จำนวนเงิน ๑.๒๘ ล้านบาท); บริษัทออกต้นฉบับใบกำกับภาษี / ใบส่งของ ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๗   และต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  (เอกสารหมาย ร ๑๑๔  และ ถร ๔๔)
                  (๔) เช็คผู้ถูกร้อง(พรรคปชป.)  จ่ายให้แก่ บริษัทอุตสาหกรรม อีโคพลาส ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  (จำนวนเงิน ๔.๖๙  ล้านบาท); บริษัทออก ใบกำกับภาษี / ใบเสร็จรับเงิน / ใบส่งสินค้า / สำเนาใบกำกับภาษี  ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๗  ทั้ง ๔ ฉบับ  และใบสำคัญรับเงิน ของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  (เอกสารหมาย ร ๑๑๔ และ ถร ๔๓)
                 (๕) เช็คผู้ถูกร้อง(พรรคปชป.)  จ่ายให้แก่  บริษัท วินสันสกรีน  ลงวันที่ ๑๒  มกราคม ๒๕๔๘ (จำนวนเงิน  ๑.๐๑ ล้านบาท)  ;  บริษัทออกใบเสร็จรับเงิน วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๘  (!)(!)  ระบุว่าเป็นการชำระหนี้ตามใบส่งของ ๑๔ ฉบับ (ไม่มีรายละเอียดของ ใบส่งของ)  และใบสำคัญรับเงิน ของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) วันที่ ๑๒  มกราคม ๒๕๔๘  (เอกสารหมาย ร ๑๑๔ และ ถร ๔๕)
                  (๕)  เช็คผู้ถูกร้อง(พรรคปชป.)  จ่ายให้แก่ บริษัทวินสกรีน จำกัด  ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๘ ;  บริษัทออกใบเสร็จรับเงิน ๑๑ มกราคม ๒๕๔๘  (!)(!)   ระบุเป็นการชำระหนี้ตามใบส่งของ  ๑๔ ฉบับ  และใบสำคัญรับเงินของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๘ ” (เอกสารหมาย ร ๑๑๔  และ ถร ๔๕)
        
        
       ◊ (๓)  ข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ว่าด้วย  การแก้ข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์(บางส่วน)  
                 ความข้อนี้ มาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ หน้า ๘ -๙  ในช่วงที่หนึ่งของคำวินิจฉัย (ว่าด้วย  คำร้องและคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ของคู่กรณี)  ในส่วนที่เป็น “คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้อง - พรรคประชาธิปัตย์” เอง รวม ๗ ข้อ (หน้า ๖ - ๑๐ ยาว ๔ หน้า) แต่คัดมาบางส่วน เฉพาะข้อ ๔ ข้อ ๕ และ ข้อ ๖  (หน้า ๗  - ๑๐)  ซึ่งมีความดังนี้ 
        
         “ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพร้อมเอกสารต่อศาลรัฐธรรมนูญ  สรุปได้ดังนี้
                          ................................................................................................................................................................. ....................................................................................................................................................................
                  “(๔) การจ้างทำป้ายฟิวเจอร์บอร์ด (หน้า ๗) ;  ผู้ถูกร้องกล่าวว่า ผู้ร้องได้ว่าจ้างบริษัท เมซไซอะ ทำ “ป้ายฟิวเจอร์บอร์ด” เป็นจำนวนเงิน ๒๓.๙ ล้านบาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)  และ เมื่อ บริษัทฯ ได้จัดทำและส่งมอบป้ายโฆษณาหักับผู้ร้องครบถ้วน  ผู้ถูกร้องจึงได้จ่ายเงินให้บริษัท เมซไซอะ เป็นจำนวน ๒๓.๓ ล้านบาท (หลังหักภาษี)   เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ ;  ซึ่งผู้ร้องได้ใช้เงินที่ได้รับการสนับสนุนจาก“กองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง”   มิใช่เงินที่ได้รับจากบริษัท ทืพืไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) ; ส่วนเมื่อ บริษัท เมซไซอะ ได้รับเงินค่าจ้างจากผู้ถูกร้องไปแล้ว  จะนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายให้กับใคร  ด้วยมูลหนี้อะไร  ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.)ไม่ทราบ  เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของบริษัทเมซไซอะ กับบุคคลภายนอก
                   (๕) การใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง (หน้า ๘) ;  ผู้ถูกร้องได้จัดทำโครงการขอรับการ
       สนับสนุนจาก “กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง”ซึ่งก็ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุนฯ  และโอนเงินเข้าบัญชีพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๘  จำนวน ๕๕.๗ ล้านบาท ;  โดยต่อมา ได้มีการขอปรับปรุงโครงการบางประการในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  และคณะกรรมการกองทุนฯ เห็นชอบและแจ้งให้ผู้ร้องทราบ โดยหนังสือ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๘
               ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) กล่าวว่า  การจ่ายเงินให้บริษัท เมซไซอะ ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ (กองทุนเพื่อการพํฒนาการเมือง ได้โอนเงินให้ผู้ถูกร้อง ในวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๔๘ )  มิใช่เรื่องที่ผิดปกติ แต่ประการใด  เพราะผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.)ได้เตรียมการเลือกตั้งล่วงหน้า เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่น  โดยได้ติดต่อผู้ที่จะดำเนินการตามโครงการไว้ ตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ อันเป็นวันที่ คณะกรรมการกองทุนฯ อนุมัติโครงการ  และการที่บุคคลภายนอกเข้ารับงานโฆษณาประชาสัมพันธ์กับพรรคการเมืองนั้นก็อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นสำคัญ ;   และผู้ร้อง(พรรคปประชาธิปัตย์ก็ได้ทราบภายหลังว่า  บริษัทเมซไซอะ ได้เตรียมการจัดทำป้ายด้วยการจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เวลานั้นเช่นเดียวกัน
              ผู้ร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ได้รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ในรอบปี ๒๕๔๘  เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๘  และคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้ตรวจสอบแล้ว และมีมติว่าผู้ถูกร้องได้ดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบถูกต้องแล้ว ;  หาก “กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง”เห็นว่า เสียหายหรือผิดระเบียบ ก็สามารถสั่งให้ผู้ถูกร้องชดใช้เงินคืนได้
        
             (๖) ในเรื่อง “ขนาดของป้าย”ฟิวเจอร์บอร์ด (หน้า ๙)  ; ผู้ถูกร้องชี้แจงว่า  ขนาดของป้ายฟิวเจอร์บอร์ด ตามที่ “หัวหน้าพรรค” ผู้ถูกร้อง(ศาลไม่ได้ระบุ”ชื่อ” ว่าผู้ใดเป็น หัวหน้าพรรค)  ได้ระบุในหนังสือขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุน เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๗ ระบุว่าเป็น ป้ายพลาสติก PP  กว้าง ๑.๓๐ เมตร สูง ๒.๔๐ เมตร นั้น  ในการอนุมัติของกองทุนเพื่อการพัฒนาฯ มิได้ระบุชนาดของป้ายไว้ โดยระบุเพียงจำนวนป้ายเท่านั้น  และเพิ่งมากำหนด ขนาดป้ายโดยมีการประชุมร่วมกันระหว่าง กกต.และหัวหน้าพรรคการเมือง ในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๘  โดยระบุขนาด ๑.๒๐ เมตร คูณ ๒.๔๐ เมตร (ราคาแผ่นละ ๓๐๐ บาท  ;  และการที่ขนาดของป้ายในใบเสร็จรับเงินของบริษัทเมซไซอะ  ระบุขนาดเป็น   ๑.๒๐ เมตร คูณ ๒.๔๐ เมตร ไม่ตรงกับขนาดป้ายที่หัวหน้าพรรคระบุไว้ในคำขอรับการจัดสรรเงินสนับสนุนฯ ( ๑.๓๐ เมตร คูณ ๒.๔๐ เมตร) นั้น  เป็นความผิดพลาดของผู้จัดทำใบเสร็จรับเงิน (!)(!)  แต่ขนาดของป้ายที่ทำจริง  ตรงตามแบบคำขอรับการสนับสนุนงบประมาณ(ของหัวหน้าพรรคการเมือง) ต่อ  กกต. ทุกประการ ”
        
       ●●   ขณะนี้  ท่านผู้อ่านได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด (ที่เกี่ยวกับ “ประเด็น” ปัญหา ว่า พรรคประชาธิปัตย์ กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่)  ตามที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้ว
                 ต่อไป จะเป็น ข้อ ๔.๒  ซึ่งผู้เขียนจะย่อ “สาระ” ที่ปรากฎอยู่ใน “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของท่านตุลาการแต่ละท่าน   เพื่อที่ท่านผู้อ่านจะได้อ่านเปรียบเทียบดูว่า   ”ข้อเท็จจริง” ที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัย(กลาง)ของศาลรัฐธรรมนูญ  กับ “ข้อเท็จจริง”ที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัย - ส่วนตน ของตุลาการอีก ๖ ท่าน  มีความเหมือนกันหรือต่างกัน อย่างไร (?)   และ “ข้อเท็จจริง”ที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัย(กลาง)ของศาลรัฐธรรมนูญ  ได้ “ตกหล่น” ไป(อีก)มากน้อย  เพียงใด  (?)
                 และนอกจากนั้น  ท่านผู้อ่านยังมีโอกาสที่จะเปรียบเทียบด้วยตัวของท่านเอง  ว่า “ข้อเท็จจริง” และ “เหตุผล” ที่อยู่ใน “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของท่านตุลาการกลุ่มฝ่ายข้างมาก ๔ ท่าน  คือ  ท่านจรัญ ภักดีธนากุล ,  ท่านนุรักษ์ มาประณีต , ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์  และ ท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี (ที่เห็นว่า  พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำผิด)   กับ “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของท่านตุลาการกลุ่มฝ่ายข้างน้อย  ๒ ท่าน  คือ  ท่านชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  และท่านบุญส่ง กุลบุปผา ,(ที่เห็นว่า  พรรคประชาธิปัตย์กระทำผิด)   มีความแตกต่างกันมากน้อย  เพียงใด [หมายเหตุ สำหรับความเห็นและข้อสังเกตของผู้เขียน  จะไปกล่าวใน ข้อ ๔.๓ ต่อไป]
        
        
                                                                                                                                            ๑๙ เมษายน ๒๕๕๔
       (จบ ข้อที่สี่ (๔.๑)  ใน ตอนที่หนึ่ง  ของ“ส่วนที่สาม” ;  บทความนี้ยังไม่จบ)
        
        
                                  -------------------------------------------------------------------------------------------------------
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544