หน้าแรก บทความสาระ
กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ตอนที่ 5 (หน้าที่ 1)
ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
5 มิถุนายน 2554 19:37 น.
 
◊◊◊   ข้อ (๔.๒)  สาระ(โดยสรุป) ของ “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของตุลาการ  
               ใน ข้อที่ (๒) และข้อที่ (๓)  (ของส่วนที่สาม ) ที่ผ่านมา   เราได้ทำ ความรู้จัก  กับ ตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญ (เสียงข้างมาก)   โดยได้วิเคราะห์ “การให้เหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาด” ของตุลาการฝ่ายข้างมาก จำนวน ๔ ท่าน  ที่วินิจฉัยให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง  ใน “ประเด็น(ข้อกฎหมาย)”  มาแล้ว  ;  ต่อไปนี้ (ข้อที่ (๔))  เราจะทำความรู้จัก  กับ “ตุลาการ”ทุกท่าน รวม ๖ ท่าน  โดยจะวิเคราะห์ จาก”การให้เหตุผล ฯ” ของตุลาการแต่ละท่าน  ใน “ประเด็น (ข้อเท็จจริง)” ที่ว่า  พรรคประชาธิปัตย์  กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของนายทะเบียนพรรคการเมือง   หรือไม่
                  ผู้เขียนคิดว่า การวิเคราะห์ในข้อนี้ (ข้อที่ ๔)  จะทำให้เรา(ผู้เขียนและท่านผู้อ่าน)  ได้ทราบถึง  “พฤติกรรม” ของตุลาการของแต่ละท่าน  ได้ชัดเจนยื่งขึ้น 
                 ข้อ ๔.๒  ต่อไปนี้  เป็นหัวข้อที่ยาวถึง ๕๐ หน้า  (ซึ่งเป็นบทความตอนเดียว  ที่ยาวที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยเขียนบทความมา)  เพราะผู้เขียนคิดว่า  ท่านผู้อ่านจำเป็นจะต้องอ่านและสามารถตรวจสอบเปรียบเทียบ  “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ๖ ท่าน ในคราวเดียวกันได้พร้อมกัน  ไม่ควรแบ่งตอน
        
                     ● ในหัวข้อนี้   ผู้เขียนจะสรุปสาระของ “คำวินิจฉัย -  ส่วนตน”ของท่านตุลาการ ทั้งหมด ๖ ท่าน (เรียงตามลำดับ)   โดยแยกเป็น ๒ กลุ่ม :  กลุ่มแรก  ได้แก่ ตุลาการรวม ๔ ท่าน  ได้แก่  ท่านจรัล ภัคดีธนากุล  ท่านนุรักษ์ มาปราณีต  ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ และท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี   ที่มีความเห็นว่า  พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา  ; และกลุ่มที่สอง   ได้แก่ ตุลาการอีก ๒ ท่าน (ได้แก่  ท่านชัช ชลวร  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ,  และท่านบุญส่ง กุลบุบผา  ที่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์กระทำผิดตามข้อกล่าวหา
                ผู้เขียนเรียกหัวข้อนี้ว่า  เป็นการ “สรุป”สาระสำคัญของคำวินิจฉัย - ส่วนตน ( มิใช่ เป็นการ “ย่อ”สาระสำคัญ)  โดยในการ “สรุป” สาระในหัวข้อนี้  ผู้เขียนได้กำหนดเป็น “หลักการ” ไว้ว่ า ผู้เขียนจะต้องเก็บสาระสำคัญของคำวินิจฉัย - ส่วนตัวของท่านตุลาการไว้ให้ครบถ้วน  โดยเมื่อ “ท่านผู้อ่าน” ได้อ่านการสรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัย -ส่วนตน นี้แล้ว   ท่านผู้อ่านจะต้องสามารถทราบ “สาระ” ของคำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านตุลาการ  ได้ใน  ๓ ประการสำคัญ  คือ   (๑) ประการแรก   ต้องทราบได้ว่า ในคำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านตุลาการแต่ละท่าน  มี”ข้อเท็จจริง(ในคดี)”  ที่แตกต่างหรือเพิ่มเติม ไปจากความที่ปรากฎอยู่ใน “คำวินิจฉัยส่วนกลางของศาลรัฐธรรมนูญ” (ที่ได้รวบรวมไว้ในข้อ ๔.๑)  อย่างไร ;   (๒) ประการที่สอง  ต้องทราบได้ว่า   ท่านตุลาการผู้ที่เขียนคำวินิจฉัย -ส่วนตนแต่ละท่าน  มีเจตนาที่จะกำหนด ประเด็น” ในการพิจารณาวินิจฉัย  อย่างไร ;  และ (๓) ประการที่สาม  ต้องทราบว่า  ตุลาการแต่ละท่านนั้น  ได้“วินิจฉัย” ประเด็นต่าง ๆที่ ท่าน(ตุลาการ)กำหนดขึ้น  ด้วย “เหตุผล”  อย่างไร
               และด้วยเหตุนี้   การสรุปสาระคำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านตุลาการในข้อนี้  จึงจะค่อนข้างยาว   โดยคำวินิจฉัย - ส่วนตน ของตุลาการบางท่าน ก็จะยาวมาก   และของบางท่านก็จะยาวน้อย  ทั้งนี้  ขึ้นอยู่กับ “สาระ”  ที่มีอยู่ในคำวินิจฉัย - ส่วนตน ของ ท่านตุลาการแต่ละท่าน 
        
                 ● นอกจากนั้น  ผู้เขียนขอเรียนท่านผู้อ่านว่า   บางที  ตัวท่านผู้อ่านเองอาจจะประหลาดใจว่า   ทำไม  ท่านผุ้อ่านจึงสามารถอ่านและ “เข้าใจ”  คำวินิจฉัย -ส่วนตนของตุลาการแต่ละท่าน  จากการอ่าน”การสรุปสาระ” ในบทความนี้   ได้ง่ายกว่าและดีกว่า  ที่ท่านผู้อ่าน  จะอ่าน “คำวินิจฉัย -ส่วนตน จากต้นฉบับตัวจริง  
               ทำไม  จึงเป็นเช่นนั้น  ;  คำตอบ ก็คือ เพราะการย่อสาระในหัวข้อนี้   ผู้เขียนได้เก็บสาระเฉพาะที่เป็น “เนื้อแท้”ของการวินิจฉัยของท่านตุลาการ   และได้จัดลำดับเรียง “สาระ”  ให้อ่านง่ายและมีความชัดเจน  ; แต่อย่างไรก็ตาม  เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านและท่านตุลาการเจ้าของคำวินิจฉัย - ส่วนตน  สามารถแน่ใจได้ว่า   การเก็บสาระของผู้เขียนนี้ จะตรงกับ “ข้อความที่แท้จริง” ที่อยู่ในคำวินิจฉัย - ส่วนตนของท่านตุลาการ     ผู้เขียนก็จะอ้างอิง “เลขหน้า”ของคำวินิจฉัย - ส่วนตน ที่เป็นต้นฉบับ  กำกับไว้กับข้อความในการสรุปไว้ด้วยเสมอ  เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ   
              สำหรับปัญหาที่ว่า ทำไม  คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านตุลาการ(ส่วนมาก)  จึงเขียนแล้ว  “อ่านเข้าใจยาก”  หรือ “อ่านแล้วไม่สามารถเข้าใจได้”  แม้ว่า ผู้ที่อ่าน จะเป็น “นักกฎหมาย” ด้วยกันเองก็ตาม ; ผู้เขียนก็คงตอบว่า  คงมีได้จากหลายสาเหตุ   บางที ก็เป็นเพราะการไม่ใส่ใจในการกำหนด  “มาตรฐาน” ในการเขียนคำพิพากษาของศาล  หรือ บางที  ก็เป็นเพราะ  การขาดคุณภาพของท่านตุลาการเอง  หรือ  บางที  ก็เป็นเพราะ “พฤติกรรม” ของตุลาการผู้ที่เขียนคำพิพากษา  ที่มีเจตนาเพื่อจะปกปิดการบิดเบือนอำนาจของตน  ฯลฯ  ;  ซึ่งถ้ามีโอกาส  ผู้เขียนจะได้นำ “ปัญหา” นี้  ไปพูดภายหลังต่อไป 
        
                 ●  ประเด็น ว่าด้วย  “พรรคประชาธิปัตย์ กระทำผิด ตามข้อกล่าวหา  หรือไม่”   ที่จะนำมาพิจารณาใน ข้อ ๔.๒ นี้   ได้แก่  “ประเด็น” ใดบ้าง (?)
                 เพื่อความชัดเจน  ผู้เขียนขอเรียนว่า ประเด็น ว่าด้วย  “พรรคประชาธิปัตย์ กระทำผิด ตามข้อกล่าวหา  หรือไม่” ที่จะพิจารณา ใน ข้อ ๔.๒  ก็คือ  “ประเด็น” ที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็น  ประเด็นสำหรับการพิจารณาวินิจฉัยของศาล ( คำวิ. กลางหน้า ๒๙) นั่นเอง ; ศาลรัฐธรรมนูญ (ตามคำวินิจฉัยกลาง) ได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยไว้ทั้งหมด    ๕ ประเด็น  ( โดย ๒ ประเด็นแรก  เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการการยื่นคำร้อง และปัญหากฎหมาย ว่า จะนำกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) หรือฉบับเก่า (พ.ศ. ๒๕๔๑)  มาใช้บังคับได้ เพียงใด)   และมีประเด็น  ๓ ประเด็นหลัง  ที่เป็นประเด็น ที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของพรรคประชาธิปัตย์  คือ :   ประเด็นวินิจฉัย ที่ ๓  ผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับการอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘  เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือไม่ ; ประเด็นวินิจฉัยที่ ๔  ผู้ถูกร้องจัดทำ “รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน” ของพรรคการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘  ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือไม่ ) ; และ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๕  ในกรณีที่มีเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง   หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จะต้องถูกตัดสิทธิหรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  ตามกฎหมาย (พรบ.ฯ ว่าด้วยพรรคการเมือง  ๒๕๔๑ / ประกาศ คปค. ฯ ๒๕๔๙ / พรบ.ฯ ว่าด้วยพรรคการเมือง  ๒๕๕๐)  หรือไม่
                โดยในการสรุปสาระของ คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านตุลาการในข้อ ๔.๒ นี้   ผู้เขียนจะพิจารณาเฉพาะ ๓ ประเด็นท้าย   (ประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ - ๔ - ๕)  ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดไว้ในคำวินิจฉัยกลาง
        
        ท่านผู้อ่าน จะ“เริ่มต้น” อ่านคำวินิจฉัย - ส่วนตน  ของท่านตุลาการ  อย่างไร  จึงจะอ่านเข้าใจเรื่องได้ง่ายขึ้น
                 เนื่องจาก  “สาระและรายละเอียด” ใน คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของตุลาการของแต่ละท่าน ไม่เหมือนกัน  และสำนวนความของท่านตุลาการแต่ละท่าน  ก็แตกต่างกัน   ดังนั้น  การจัดลำดับการ (เลือก)อ่านคำวินิจฉัย - ส่วนตน ว่า ฉบับใดจะอ่านก่อนและฉบับใดจะอ่านทีหลัง  จึงมีความสำคัญ  ;  เพราะถ้าเริ่มอ่านจาก คำวินิจฉัย - ส่วนตน (ของท่านตุลาการ) ที่อ่านเข้าใจยาก หรือให้ “สาระ” ที่เป็นข้อเท็จจริงของคดี ไม่เพียงพอ  ท่านผู้อ่าน ก็จะสับสนและเสียเวลากับการทำความเข้าใจเรื่อง โดยไม่จำเป็น ;  ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ท่านผู้อ่าน  เลือกอ่าน คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของตุลาการ    ดังนี้
               ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านผู้อ่าน  อ่านคำวินิจฉัย - ส่วนตน ใน ๓ ลำดับแรก เรียงตามลำดับ  ดังนี้  คือ   เรี่มอ่านจาก  คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของ ท่านชัช ชลวร  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (ตุลาการในกลุ่มที่สอง) ก่อน  โดยอ่านเฉพาะในประเด็นวินิจฉัย ที่ ๓ และ ที่ ๔ (โดยยังไม่ต้องอ่าน ประเด็นวินิจฉัยที่ ๕)  แล้วค่อยย้อนกลับมาอ่านคำวินิจฉัย - ส่วนตน ของ ท่านจรัล ภักดีธนากุลตุลาการในกลุ่มแรก ที่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้กระทำผิด [หมายเหตุ   ความเห็นของท่านจรัลและของตุลาการกลุ่มแรก จะไม่มีการวินิจฉัยในประเด็นวินิจฉัยที่ ๕  เพราะตุลาการกลุ่มนี้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้กระทำผิด ]  
                จากการอ่านคำวินิจฉัยของท่านตุลาการ ๒ ท่านดังกล่าว  ท่านผู้อ่านจะได้ทราบและเปรียบเทียบ ความสมบูรณ์ของการให้ “ข้อเท็จจริง “(จากสำนวนคดี)  และเปรียบเทียบ การให้ “เหตุผล”(ในการวินิจฉัย) ของท่านตุลาการทั้งสอง  ในประเด็นวินิจฉัย ที่ ๓ และ ที่ ๔  ซึ่งแน่นอนว่า  จะมีความแตกต่างกัน
                 ซึ่งเมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านแล้ว   ผู้เขียนก็เชื่อว่า  ท่านผู้อ่านจะได้ “รู้จัก” กับท่านตุลาการทั้งสองท่านนี้ได้   และนอกจากนั้นแล้ว  ท่านผู้อ่านยังจะได้ทราบถึง “ความสำคัญ” ของบทบาทของผู้พิพากษา(ตุลาการ)ในการชี้ขาดคดีของศาล (ไม่ว่า จะเป็นคดีของศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลใด ๆ )  และความสำคัญของการใช้ “อำนาจดุลพินิจ”ของผู้พิพากษา(ตุลาการ)  ในการอ้างอิง “ข้อเท็จจริง”(ในสำนวนคดี) และ ความสำคัญของ“การเขียนอธิบายให้เหตุผล”(ที่จะต้องมีความสมเหตุสมผล - logicality) ของผู้พิพากษา(ตุลาการ) อีกด้วย            
                 ต่อจากนั้น   ขอให้ท่านผู้อ่านย้อนกลับไป อ่านคำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านบุญส่ง กุลบุปผา  ตุลาการกลุ่มที่สองเพื่อเพิ่มความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวข้างต้น  (หมายเหตุ  ท่านบุญส่ง พิจารณาและวินิจฉัย เฉพาะกรณีของบริษัทเมซไซอะ  เพียงกรณีเดียว และเห็นว่าเพียงพอที่จะสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์)   และหลังจากนั้น   ท่านผู้อ่านจึงค่อยกลับไปอ่าน คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านตุลาการท่านอื่นในกลุ่มที่หนึ่ง( ที่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้กระทำผิด)  และพิจารณาเปรียบเทียบ “พฤติกรรม” ของตุลาการ (ที่ปรากฎให้เห็นได้จากการให้เหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี) แต่ละท่าน ด้วยตัวของท่านเอง  (ส่วนการวิเคราะห์ของผู้เขียน  จะได้ไปกล่าวในข้อ (๔.๓)  ต่อไป)
        
                                ===============================================
        
         ◊◊  ตุลาการ กลุ่มที่หนึ่ง (ท่านตุลาการ ที่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของนายทะเบียน ฯ) 
                 ตุลาการกลุ่มนี้   ประกอบด้วย ตุลาการเสียงข้างมากจำนวน  ๔ ท่าน  คือ นายจรัล ภัคดีธนากุล  นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายนุรักษ์ มาปราณีต  และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี  โดยทั้ง ๔ ท่านได้วินิจฉัยคดีนี้  ให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง   ( ตุลาการ ๓ ท่าน  ให้ยกคำร้อง เพราะ “การให้ความเห็นชอบ(ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ) ”ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ผิดขั้นตอนของกฎหมายในสาระสำคัญ และ ตุลาการอีก ๑ ท่าน  ให้ยกคำร้องเพราะ นายทะเบียนพรรคการเมือง  ยื่นคำร้องเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด)
                คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านตุลาการ ๔ ท่านนี้  จะมี “ข้อวินิจฉัย” เพียง ๒ ประเด็น  คือ  ประเด็นวินิจฉัย ที่ ๓ (ผู้ถูกร้องพรรคประชาธิปัตย์  ได้ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการอุดหนุนจากกองทุนฯ  ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘  เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ  หรือไม่)  และ ประเด็นวินิจฉัย ที่ ๔  (ผู้ถูกร้องจัดทำ “รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน” ของพรรคการเมือง ฯ  ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือไม่)  เท่านั้น    และ ทั้ง ๔ ท่านนี้   จะไม่มีการวินิจฉัยใน ประเด็นวินิจฉัย ที่ ๕ (การ”ตัดสิทธิ ฯ” และ “เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค - ในขณะนั้น)  เพราะทั้ง ๔ ท่าน วินิจฉัยให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมื อง
        
        
                              ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
       ◊◊  คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านจรัล ภัคดีธนากุล
        
              คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านจรัล ภัคดีธนากุล  เป็นคำวินิจฉัยที่ท่านผู้อ่านควรจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ   เพราะเราทราบแล้วว่า  “ความ” ในคำวินิจฉัย(กลาง)ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ ที่วินิจฉัยให้ยกคำของนายทะเบียนพรรคการเมือง  เป็น “ความ” เดียวกับคำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านจรัล ภัคดีธนากุล ; หรือ  ถ้าจะพูดให้ตรง  ก็คือ  ท่านจรัล ภัคดีธนากุล   น่าจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เป็น “ตุลาการประจำคดี ” ตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาฯ  พ.ศ. ๒๕๕๐  ซึ่งนักวิชาการท่านหนึ่ง  คือ  ศ.ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์ ได้เคยให้ข้อสังเกตไว้ในส่วนที่หนึ่ง (ของบทความนี้) ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้แต่งตั้ง “ตุลาการประจำคดี ” ไว้ ;  แต่ตามความเป็นจริง อาจเป็นไปได้ว่า  ศาลรัฐธรรมนูญ มีการแต่งตั้ง ““ตุลาการประจำคดี” ไว้   แต่ในการเขียนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ   ไม่ได้ระบุชี่อของตุลาการ ที่รับผิดชอบในตำแหน่งนี้ไว้ในคำวินิจฉัย  เพื่อให้บุคคลภายนอกทราบ  ก็ได้
                      ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านจรัล ภัคดีธนากุล  คงเป็นตุลาการเพียง “ท่านเดียว”เท่านั้น  ที่จะสามารถบอกให้เราทราบได้ว่า  เพราะเหตุใด  “ข้อเท็จจริง” ในการประชุมของคณะกรรมการเลือกตั้ง ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม  ๒๕๕๒ มีอย่างไร  (และนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ได้อยู่ในที่ประชุม และได้ลงมติในวันนั้น จริง ๆ   หรือไม่) ; และทำไม  “ข้อเท็จจริง”(ในการประชุมนี้) ที่เขียนไว้ในคำวินิจฉัย(กลาง)ของศาลรัฐธรรมนูญ  จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เขียนไว้ใน “คำวินิจฉัย - ส่วนตน”  ของท่านสุพจน์ ไข่มุกด์   (?)(?)
               
        ■■  ระเด็นวินิจฉัยที่ ๓  ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ฯ  ปี พ.ศ. ๒๕๔๘  เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ  หรือไม่ 
                 ความเห็นของ ท่านจรัล ภัคดีธนากุลในประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ (หน้า ๑๐ ถึง ๑๔ รวม ๔ หน้าครึ่ง) นี้  เป็นความเห็นที่ยาวที่สุด และละเอียดที่สุดในบรรดาความเห็นของท่านตุลาการฝ่ายข้างมากทั้ง ๔ ท่าน   ซึ่งสมควรได้รับพิจารณาเป็นพิเศษ ; ในประเด็นนี้โดยท่านจรัญได้วินิจฉัย  โดยแยกพิจารณา  เป็น  ”ประเด็น”  ต่าง ๆ   โดยเริ่มต้นด้วย ประเด็นในปัญหาข้อกฎหมาย   
        
                   ●●    ประเด็น (ปัญหาข้อกฎหมาย)  (หน้า ๑๐ - ๑๑)   การกระทำของผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์)  เป็นกระทำผิดตาม มาตรา ๖๒ หรือไม่ ;   ท่านจรัล   ได้แยกกำหนด “ประเด็น” พิจารณา ตามลำดับ ดังนี้
                   ● ประเด็นว่า มาตรา ๖๒ มีความหมายเพียงใด
                    □□  ท่านจรัล  วินิจฉัย ว่า(หน้า ๑๐)   โดยที่ พรบ.ฯ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๒  บังคับให้พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไป “ตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้” นั้น  ท่านจรัลเห็นว่า  คำว่า “(บท)บัญญัติในส่วนนี้”  ก็คือ  (บท)บัญญัติในส่วนที่ ๒ (ของพรบ. ฯ  ๒๕๔๑).  และในส่วนที่ ๒  ก็มีบทบัญญัติที่ให้พรรคการเมืองปฏิบัติ  อยู่เพียง ๒ มาตรา เท่านั้น คือ มาตรา ๕๙  และมาตรา ๖๓
        
                   ● ประเด็นว่า  ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) จัดทำป้ายก่อน(ได้รับอนุมัติ จาก กกต. ให้ปรับเปลี่ยนวงเงิน)  และ ขนาดของป้ายไม่ตรง (ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ จาก กกต.)  เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย (มาตรา ๕๙ และ มาตรา ๖๓) หรือไม่
                 □□  ท่านจรัล  วินิจฉัย ว่า (หน้า ๑๐)“การจัดทำป้ายก่อน” ได้รับอนุมัติให้ปรับเปลียนวงเงิน (จาก กกต.) ก็ดี   (การจัดทำป้ายที่มี )“ขนาดของป้ายไม่ตรง” ตามที่ได้รับอนุมัติ(จาก กกต.) ก็ดี  ไม่ใช่ “การกระทำ” ที่ฝ่าฝืนต่อ มาตรา ๕๙ และ มาตรา ๖๓  โดยท่านจรัลให้เหตุผล ดังนี้
                ท่านจรัล  ให้ความเห็นในเบื้ยงต้น ว่า(หน้า ๑๐)    มาตรา ๕๙  แห่ง พรบ.ฯ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑  บัญญัติกำหนดให้พรรคการเมืองใช้จ่ายเงินสนับสนุนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง  เพื่อการบริหารพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมือง / การหาสมาชิกเพิ่ม / การใช้จ่ายการเลือกตั้ง / การให้ความรู้แก่สมาชิกและประชาชน  ;  (แต่) มาตรา ๕๙  หาได้มีบทบัญญัติห้ามพรรคการเมืองกระทำการอันเป็น  “มูลเหตุแห่งคดีนี้”   แต่อย่างใด (ไม่)  ;  ส่วนมาตรา ๖๓  ก็เป็นเพียง บทลงโทษในกรณีที่พรรคการเมืองมิได้ดำเนินการตามมาตรา ๓๗  มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐  โดยบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ว่า หากพรรคการเมืองฝ่าฝืนบทมาตราดังกล่าว จะต้องคืนเงินสนับสนุนที่ได้รับไป  เท่านั้น
                ท่านจรัล อ้างคำร้องของนายทะเบียน ว่า(หน้า ๑๐) (ข้อความเต็ม)  “ คดีนี้  ผู้ ร้อง (นายทะเบียน) อ้างว่า ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ที่อ้างไว้   โดยให้ “เหตุผล”ว่า  จัดทำป้ายก่อนได้รับอนุมัติ ให้ปรับเปลี่ยนวงเงิน(จาก กกต.)  และ ขนาดของป้ายไม่ตรงตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ (จาก กกต.)” 
             แต่ “การจัดทำป้ายก่อน” ได้รับอนุมัติให้ปรับเปลียนวงเงิน (จาก กกต.) ก็ดี   (การจัดทำป้ายที่มี )“ขนาดของป้ายไม่ตรง” ตามที่ได้รับอนุมัติ(จาก กกต.) ก็ดี  ไม่ใช่ “การกระทำ”ที่ฝ่าฝืนต่อ มาตรา ๕๙ และ มาตรา ๖๓  แต่อย่างใด
               [หมายเหตุ   ดูเหมือนว่า    ท่านจรัล ตั้งใจจะให้หมายความว่า การจัดทำป้ายก่อน(ได้รับอนุมัติ จาก กกต. ให้ปรับเปลี่ยนวงเงิน)  และการจัดทำป้ายที่มี ขนาดของป้ายไม่ตรง (ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ จาก กกต.)  คือ “มูลเหตุแห่งคดีนี้” ; ดังนั้น  ในเมื่อ มาตรา ๕๙ และมาตรา ๖๒ ไม่ได้กำหนดห้ามพรรคการเมือง ไม่ให้ “จัดทำป้ายก่อน” ได้รับอนุมัติ ฯ  และไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองมิให้จัดทำป้ายที่มี “ขนาดของป้ายไม่ตรง”   การกระทำนี้ก็ไม่ใช่ “การกระทำ” ที่ฝ่าฝืนต่อ มาตรา ๕๙ และ มาตรา ๖๓     ]
        
             ● ประเด็นว่า  การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ มี “เหตุ” ที่จะต้องยุบพรรคตาม มาตรา ๖๒ หรือไม่
                □□  ท่านจรัล  วินิจฉัย เป็น “ข้อยุติ”ว่า (หน้า ๑๐) (ด้วยเหตุผลอังกล่าว)  การอ้างของผู้ร้อง (นายทะเบียนพรรคการเมือง)ว่า  การจัดทำป้ายก่อน / และการจัดทำป้าย ขนาดไม่ตรงกับขนาดที่ได้รับอนุมัติ(จาก กกต.)   จึงไม่ใช่“เหตุ” ที่จะต้องยุบพรรคตามมาตรา ๖๒   [หมายเหตุ  คำว่า “ยุบพรรคตามมาตรา ๖๒”นี้  เข้าใจว่า  ท่านจรัลหมายความว่า ยุบพรรค ตามมาตรา ๖๕ (๕)  โดยอาศัยเหตุตาม มาตรา ๖๒   ไม่ใช่ “ยุบพรรคตาม มาตรา ๖๒”]
        
       ♦♦ [ หมายเหตุ  ข้อสังเกตของผู้เขียน (ในปัญหาข้อกฎหมาย) :     
                 ในการวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายของ ท่านจรัล  ทั้ง ๓ ประการ   มีข้อที่ “ท่านผู้อ่าน” สมควรจะต้องพิจารณา ทั้ง  ๓ ประการ        
                    แต่ก่อนที่จะพิจารณาปัญหากฎหมายดังกล่าว  เนื่องจากในคำวินิจฉัย - ส่วนตนของท่านจรัล ภัคดีธนากุล มิได้คัดลอกบทบัญญัติของกฎหมายไว้ให้ท่านผู้อ่านได้ตรวจดู    ผู้เขียนจึงขอลอกบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในปัญหานี้  ได้แก่    มาตรา ๖๒  มาตรา ๖๓ และมาตรา ๕๙  (ของหมวด ๓ การสนับสนุนพรรคการเมือง ) ตามที่ท่านจรัลได้อ้างอิง  กับ มาตรา ๖๕  (ของหมวด ๔ การเลิกหรือการยุบพรรคการเมือง)  ซึ่งเป็นบทบังคับของมาตรา ๖๒  ไว้  เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบไว้ก่อนโดยไม่ต้องไปหาตัวบทมาอ่านเอง    ดังนี้
                  มาตรา ๕๙ (พรบ. ๒๕๔๑)  ให้พรรคการเมืองใช้จ่ายเงินสนับสนุนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสนับสนุนที่พรรคการเมืองได้รับ  เพื่อการบริหารพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมือง  การหาสมาชิกเพิ่ม การใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และการให้ความรู้ทางการเมืองแก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป
                   มาตรา ๖๒ (พรบ. ๒๕๔๑)   พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุน  ต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน “ส่วนนี้”   และต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง  และยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
                มาตรา ๖๓  (พรบ. ๒๕๔๑)  ในกรณีที่พรรคการเมืองใดได้รับเงินสนับสนุนไปแล้ว  ถ้าต่อมาปรากฎต่อนายทะเบียนว่า  พรรคการเมืองไม่ดำเนินการตาม มาตรา ๓๗   มาตรา ๓๘ มาตรา  ๓๙   และ มาตรา  ๔๐  ให้นายทะเบียนเรียกคืนเงินสนับสนุนดังกล่าว  และให้นายทะเบียนนำเงินสนับสนุนที่เรียกคืนส่งเข้ากองทุน [ มาตรา ๓๗ (คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการทำบัญชีฯ)  /  มาตรา ๓๘   (กำหนดบัญชีประเภทต่าง ๆ ของ บัญชีพรรคการเมือง)  มาตรา  ๓๙ (เวลาการปิดบัญชี  และการทำงบการเงิน)   และ มาตรา  ๔๐ (การตรวจสอบและการรับรองงบการเงิน]         มาตรา ๖๕ (พรบ. ๒๕๔๑  หมวด ๔)  พรรคการเมือง ย่อมเลิกหรือยุบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง  ดังต่อไปนี้
       (๑) ...............ฯลฯ..............................................
       (๕) ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตาม มาตรา ............................หรือมาตรา ๖๒
                 เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนว่า  พรรคการเมืองใดมีเหตุตามที่ระบุไว้ใน (๑) .......หรือ (๕)   ให้นายทะเบียนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียน  เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบีบน  ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น
                 ............................................................................... “
       เมื่อท่านผู้อ่านได้ทราบตัวบทของพระราชบัญญัติ แล้ว  เราจะพิจารณาเรียงตามลำดับ “ประเด็น” ที่ท่านจรัลยกขึน พิจารณาดังนี้
       ♦  ข้อสังเกตประการแรก :  ความเห็นของท่านจรัล  ที่เห็นว่า  “มาตรา ๖๒  ที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุน  ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ ๒  (ของ หมวด ๓ การสนับสนุนพรรคการเมือง)  มีบทบัญญัติที่ให้พรรคการเมืองปฏิบัติ อยู่เพียง ๒ มาตรา  คือ มาตรา ๕๙  และมาตรา ๖๓ เท่านั้น”  นั้น  รับฟังได้เพียงใด
                 ประเด็นนี้  เป็นประเด็น(กฎหมาย)  ที่มีท่านจรัล เพียงท่านเดียวเท่านั้น ที่ได้ยกประเด็นนี้ขึ้น  และผู้เขียนมีข้อสังเกตดังนี้
               ก่อนอื่น ผู้เขียน ขอให้ท่านผู้อ่าน อ่านมาตรา ๖๒ (ซึ่งเป็น “เหตุ” ให้มีการยุบพรรคการเมืองได้ตามมาตรา ๖๕) อีกครั้งหนึ่งอย่างช้า ๆ  และท่านผู้อ่านก็จะพบว่า มาตรา ๖๒  แยกได้เป็น ๒  ประโยค  คือ ประโยคแรก ว่าด้วย “พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุน  ต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน “ส่วนนี้”     และประโยคที่สอง  ว่าด้วย พรรคการเมือง ต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทิน  ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
                ในประเด็นความเห็นของท่านจรัญในข้อนี้  จะเกี่ยวข้องและเป็นการพิจารณาเฉพาะ ประโยคแรก ว่าด้วย  “พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน “ส่วนนี้”  เพียงประโยคเดียวเท่านั้น(ส่วนประโยคที่สอง  เราเอาไว้ไปพิจารณา ในข้อสังเกตที่ ๓  ต่อไป)
                    มาตรา ๖๒  เริ่มต้นด้วยความ ว่า “ (พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุน)  ต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้ “ ;  ในข้อความนี้  ท่านจรัลมีความเห็นว่า คำว่า “ตามที่บัญญัติในส่วนนี้”นั้น   มีอยู่เพียง ๒ มาตรา เท่านั้น  ที่เป็นบทบัญญัติที่ให้พรรคการเมืองปฏิบัติ  คือ มาตรา ๕๙ และ มาตรา ๖๓ เ  ;  ปัญหามีว่า ความเห็นของท่านจรัล  ถูกต้องหรือไม่
                  ในปัญหานี้    ผู้เขียนคงไม่บอกว่า  ความเห็นของผู้เขียนมีอย่างไร  คำว่า “บทบัญญัติในส่วนนี้” จะมีกี่มาตราที่เป็นบทบัญญัติที่ให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติ    และมีมาตราใดบ้าง ;  แต่ผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเอาเองจาก “ข้อเท็จจริง”  ดังต่อไปนี้           
                    ผู้เขียนขอเรียนว่า    คำว่า “ในส่วนนี้” ในมาตรา ๖๒  หมายถึง  ส่วนที่ ๒ ของหมวด ๓  (ว่าด้วย การสนับสนุนพรรคการเมือง)  ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน   ส่วนแรกว่าด้วย “การบริจาคแก่พรรคการเมือง”  และส่วนที่ ๒ ว่าด้วย “ การสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐ ” 
                   ในส่วนที่สองนี้  มีอยู่ทั้งหมด  ๙ มาตรา  (มาตรา ๕๖  ถึง มาตรา ๖๔ รวมมาตรา ๖๒)  และนอกจากมาตรา ๕๙ และ มาตรา ๖๓  ตามท่านจรัลยกขึ้นกล่าวแล้ว  ก็มีบทมาตราอื่นที่เกี่ยวกับ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (ที่ท่านจรัลไม่ได้กล่าวถึง)  ที่ท่านผู้อ่านควรสนใจ  อยู่อีก  ๓ มาตรา  ดังนี้ 
                “มาตรา ๕๖ ให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการสนับสนุนพรรคการเมือง  และการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการพัฒนาพรรคการเมือง ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด   โดยกองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน  ดังต่อไปนี้
           (๑) .....................................................”
                “มาตรา  ๕๗ (วรรคหนึ่ง)  ให้คณะกรรมการเลือกตั้ง มีอำนาจและหน้าที่ ในการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง  และควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินกองทุนหมุนเวียน “
                “มาตรา  ๕๘ ในการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง  ให้จัดสรรให้เป็นรายปี  ตามโครงการและแผนงานในการดำเนินกิจการของแต่ละพรรคการเมือง  ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด  โดยให้คำนึงถึง .................”
        
              ผู้เขียนขอทิ้ง “ประเด็น” นี้ไว้ให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเอาเอง ว่า  บทบัญญัติ  ๓ มาตรา (มาตรา ๕๖ มาตรา ๕๗ และ มาตรา ๕๘) ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ดังกล่าวข้างต้น นี้   มีความหมายรวมอยู่ในคำว่า “ตามที่บัญญัติในส่วนนี้”  ของความที่ว่า   “พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุน  ต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน “ส่วนนี้”    ของมาตรา ๖๒   หรือไม่
              เพราะถ้ามาตราดังกล่าวมีความหมาย “รวม” อยู่ด้วยแล้ว  คำว่า  “ตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้”  ก็จะหมายความว่า   ในการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองของรัฐตามบทบัญญัติ มาตรา ๕๘    พรรคการเมืองจะต้องขออนุมัติ “โครงการและแผนงานในการดำเนินกิจการของแต่ละพรรคการเมือง  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ;  และ เมื่อพรรคการเมืองได้รับอนุมัติโครงการและแผนงานจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว  พรรคการเมืองก็จะต้องใช้เงินตามโครงการและแผนงานตามที่ได้รับอนุมัติ  ; ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ได้รับอนุมัติไว้   พรรคการเมืองก็จะต้องขออนุมัติการเปลี่ยนแปลงจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด   ;   ถ้าพรรคการเมืองใช้เงินสนับสนุน ผิดไปจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ก็เข้าใจได้ว่า  พรรคการเมืองนั้นได้ฝ่าฝืนมาตรา ๖๒  ที่บัญญัติไว้  มีความว่า “พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุน  ต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุน ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้”  
        
       ♦ ข้อสังเกตประการที่ (๒)  : ความเห็นของท่านจรัล  ที่มีความเห็นว่า(หน้า ๑๐)   “การจัดทำป้ายก่อน (ได้รับอนุมัติ)”ก็ดี  และ“ขนาดของป้าย(ไม่ตรงตามที่ได้รับอนุมัติ)”ก็ดี  มิใช่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน มาตรา ๕๙ และมาตรา ๖๓ แต่อย่างใด       จึงมิใช่เหตุที่จะต้องยุบพรรคตามมาตรา ๖๒”    นั้น  รับฟังได้เพียงใด
                 ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า “การจัดทำป้ายก่อน (ได้รับอนุมัติ)”ก็ดี  และ“ขนาดของป้าย(ไม่ตรงตามที่ได้รับอนุมัติ)”ก็ดี  คงมิใช่เป็นกรณีตามบทบัญญัติมาตรา ๕๙  ( มาตรา ๕๙ เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการกำหนดขอบเขตของการใช้จ่ายเงินสนับสนุน  มิใช่บทบัญญัติที่กำหนด “กรณี” ห้ามการใช้เงินสนับสนุน)   แต่การห้ามการใช้เงินสนับสนุน เป็นกรณีของบทบัญญัติมาตรา ๖๒ (มาตรา ๖๒ กำหนดให้พรรคการเมืองใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน “ส่วนนี้”)  ประกอบกับ “มาตรา ๕๘ ” คือ  การใช้จ่ายเงินสนับสนุนต้องเป็นไป ตามคำขอและการอนุมัติ  ตาม “หลักเกณฑ์และวิธีการ”ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด (ตามที่ได้อธิบายมาแล้วในข้อสังเกตแรก  ซึ่งก็แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะพิจารณาตีความและมีความเห็น)
              ผู้เขียนคิดว่า  บทกฎหมายคงไม่สามารถเขียนให้ครอบคลุม  “ข้อเท็จจริง” ทั้งหมดที่อาจเป็น “เหตุผล” ของการกระทำผิดได้ทุกกรณีอย่างครบถ้วน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “จัดทำป้ายโฆษณา” หรือจัดทำ “กิจกรรม”ต่าง ๆ จำนวนมาก   ที่พรรคการเมืองอาจเสนอขอเงินสนับสนุนจากรัฐได้ ;   ดังนั้น บทกฎหมายที่บัญญัติกำหนดให้พรรคการเมือง  ต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่พรรคการเมืองได้ยื่นคำขอและตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้อนุมัติไว้   ก็น่าจะพอเพียงที่จะเป็น “มูลเหตุแห่งคดี”  ที่ทำให้ การกระทำใด ๆ ของพรรคการเมือง  ที่ไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งอนุมัตินั้น  เป็น “การกระทำ” ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ได้
                    ปัญหาจึงกลับมาสู่  มาตรา ๖๒ ที่บัญญัตว่า “ พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุน  ต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้.......”  ว่า  มีความหมายอย่างไร  จะหมายถึงเฉพาะเพียง ๒ มาตรา  คือ มาตรา ๕๙ และ มาตรา ๖๒ (ตามความเห็นของท่านจรัล)  หรือจะมีความหมายรวมไปถึงมาตราต่าง ๆ ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่กล่าวมาข้างต้น  อีกครั้งหนึ่ง  และเป็นปัญหาข้อกฎหมายเดียวกัน
        
       ♦    ข้อสังเกตประการที่ (๓)   ความเห็นของท่านจรัล  ที่มีความเห็นเป็น “ข้อยุติ” ว่า(หน้า ๑๐)  “การอ้างของผู้ร้อง (นายทะเบียนพรรคการเมือง) ว่า  การจัดทำป้ายก่อน / และการจัดทำป้าย ขนาดไม่ตรงกับขนาดที่ได้รับอนุมัติ(จาก กกต.) นั้น ไม่ใช่“เหตุ” ที่จะต้องยุบพรรคตามมาตรา ๖๒”   รับฟังได้เพียงใด   
        
                 ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า  ความเห็นของท่านจรัลในประเด็นนี้  คงจะต้องรับฟังโดยจำกัด  เพราะเราทราบแล้วว่า  มาตรา ๖๒  บัญญัติว่า    “มาตรา ๖๒  พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุน  ต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้   และต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง  และยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป”  และการไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๖๒เป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ตามมาตรา ๖๕)   
                มาตรา ๖๒   มีบทบัญญัติอยู่ ๒ ประโยค     ประโยคแรก ว่าด้วย  “ (พรรคการเมือง) ต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุน ให้เป็นไปตามที่บัญญํติไว้ในส่วนนี้”  และ ประโยคที่สอง  ว่าด้วย “(พรรคการเมือง) ต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง” ; และ ในประโยคที่สองนี้  ไม่ได้มีการอ้างถึง “บทบัญญัติในส่วนนี้”  แต่อย่างใด  แต่บัญญัติว่า พรรคการเมืองต้องจัดทำรายงานให้ “ถูกต้องตามความเป็นจริง”  ; พูดง่าย ๆ ก็คือ  บทบัญญัติมาตรา ๖๒ มีอยู่ ๒ เรื่อง  เรื่องการใช้จ่ายเงินสนับสนุนฯ  และเรื่อง การจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนฯ
                ดังนั้น  ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะตีความ ประโยคแรก ว่ามีความหมายอย่างใด   การฝ่าฝินมาตรา ๖๒ ในประโยคที่สอง  (คือ การจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ไม่ถูกต้องตาม “ความเป็นจริง”)  ก็ยังเป็น “เหตุ”ให้ถูกยุบพรรคการเมือง ตาม มาตรา ๖๕ (๕) ได้
        
               ปัญหามีว่า  ในความเห็นของท่านจรัลข้างต้น(หน้า ๑๐) นั้น  ท่านจรัลมิได้บอกเราว่า  ความเห็นของท่านที่เห็นว่า  ไม่มี “เหตุ” ที่จะต้องยุบพรรคตามมาตรา ๖๒ นั้น  จำกัดอยู่ในเฉพาะเรื่อง “การใช้จ่ายเงินสนับสนุนฯ “ในประโยคที่หนึ่งเท่านั้น  หรือท่านจรัลจะให้มีความหมายรวมไปถึงกรณี “การจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน” ในประโยคที่สองด้วย  ;   เมื่อท่านจรัลไม่ได้ระบุให้ชัดเจน  ผู้เขียนก็เลยไม่อาจทราบความในใจของท่านจรัลได้
                แต่โดยที่  ท่านจรัลได้ให้ “ความเห็น”การตีความ มาตรา ๖๒ (พรบ. ๒๕๔๑) ในขณะพิจารณาระเด็นวินิจฉัยที่ ๓ ( คือ การใช้จ่ายเงินที่ได้รับการอุดหนุน  เป็นไปจริงตามโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือไม่) ;  ดังนั้น  ผู้เขียนจึงคิดว่า  “ความเห็น” ของท่านจรัล คงจะเป็นการตีความปัญหากฎหมาย ที่จำกัดเฉพาะสำหรับประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ (การใช้จ่ายเงิน ฯ ) เท่านั้น   แต่คงไม่ได้รวมไปถึง ประเด็นวินิจฉัยที่ ๔(การจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินว่า ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือไม่) ;  กล่าวคือ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน  ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง  ท่านจรัลคงมีความเห็นว่า ยังเป็นเหตุให้ยุบสภาตามมาตรา ๖๒ ได้ 
               ท่านผู้อ่านคงจะต้องไปดูเอาเอง ว่า ในการวินิจฉัย ประเด็นวินิจฉัยที่ ๔ ต่อไป ท่านจรัลจะให้ความเห็นในข้อนี้  อย่างไร  เพราะผู้เขียนจะไม่ให้ข้อสังเกตไว้อีก
        
        ♦ อนึ่ง เมื่อเทียบข้อความทั้งสองประโยคของมาตรา ๖๒ เข้าด้วยกันแล้ว   ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า  การเข้าใจความหมายของมาตรา ๖๒  (ประโยคแรก)โดยจำกัดว่า  มี “บทบัญญัติให้พรรคการเมืองปฏิบัติ “ เพียง ๒ มาตรา( ตามนัยที่ท่านจรัลมี “ความเห็น”)  จะทำให้ มีความขัดแย้งกันเองใน “เจตนารมณ์”ของบทบัญญัติสองประโยค
              กล่าวคือ ในเมื่อ  มาตรา ๖๒  (ประโยคที่สอง) กำหนดให้ “การไม่จัดทำรายงาน” ให้ตรง ตามความเป็นจริง ของพรรคการเมือง ให้เป็นความผิดถึงกับให้มี “การยุบพรรค”ได้   แต่คำถามจะตามมาว่า  แล้วเพราะเหตุใด   กฎหมายจึงไม่กำหนดให้ “การกระทำ”  ซึ่งได้แก่ การใช้จ่ายเงินสนับสนุน (ที่ไม่เป็นไปตามโครงการ ฯที่ได้รับอนุมัติ)  ที่มีความสำคัญมากกว่าการจัดทำรายงาน (ที่เกี่ยวกับ “การกระทำ”)   ให้เป็น “ความผิด” ที่ให้มีการยุบพรรคด้วยซึ่งเห็นได้ชัดว่า   เป็นเรื่องที่ขัดต่อตรรก (ความสมเหตุสมผล)   และเห็นได้ว่า  การตีความมาตรา ๖๒ (ประโยคแรก) ตามนัยที่จำกัดอยู่เพียง ๒ มาตรา (มาตรา ๕๙ และมาตรา ๖๒)   ไม่น่าจะเป็นการตีความที่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย 
              แต่อย่างไรก็ตาม  ในปัญหาข้อนี้  พรบ. ฯ ฉบับต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้เขียนให้ชัดเจนขึ้นแล้ว (โดยไม่ปล่อยให้อยู่ในดุลพินิจของตุลาการแต่ละท่านที่จะ “เลือก” ตีความ)   โดย พรบ.ฯ ๒๕๕๐ ได้เพิ่ม ส่วนที่ ๕- การใช้จ่ายของพรรคการเมือง ( มาตรา ๘๗  การกำหนดแผนการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง  และหน้าที่ของพรรคการเมืองต้องใช้จ่ายเงินตามแผน ฯ )  และได้แก้ไขถ้อยคำในมาตรา ๘๒ (ซึ่งเทียบได้กับ  มาตรา ๖๒  แห่ง พรบ. ๒๕๔๑) ให้ครอบคลุมถึงบทบัญญัติ ในส่วนที่ ๕ ด้วย ]
        
                  หลังจาก “ประเด็นในปัญหาข้อกฎหมาย” ดังกล่าวข้างต้น  ท่านจรัล  ภักดีธนากุล ได้กำหนด “ประเด็น”ต่าง ๆ  และพิจารณาวินิจฉัย  ดังต่อไปนี้
        
                   ●●    ประเด็น ว่า(หน้า  ๑๑)  ผู้ถูกต้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ใช้จ่ายเงินสนับสนุน ฯ เป็นไปตามโครงการหรือไม่  มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร
                     □□ ท่านจรัล  กำหนด “ประเด็นพิจารณา” ว่า(หน้า ๑๑)  สาระสำคัญที่จะต้องพิจารณา (ในประเด็นนี้)  ก็คือ  มีการจัดทำป้ายตามที่ได้รับอนุมัติ(จาก กกต.)  “จริง” หรือไม่  และมีการจ่ายเงินสนับสนุนตามจำนวนที่ได้รับอนุมัติ (จาก กกต.)  “จริง” หรือไม่ ;  ส่วนเรื่องการจัดทำป้ายก่อน(ได้รับอนุมัติ)ก็ดี  “ขนาดของป้ายไม่ตรง(ตามที่แจ้ง) ก็ดี  เป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อยในการดำเนินการ   
                     □□  ท่านจรัล  วินิจฉัยว่า(หน้า ๑๐)  ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติว่า  ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์)  ได้มีการว่าจ้างให้จัดทำป้ายตามที่(กกต.)ได้รับอนุมัติ “จริง”  และมีการจ่ายเงินที่ได้รับจากกองทุนเพื่อจัดทำป้ายฯ ไป “จริง” ด้วยเหตุผลดังนี้
                     □ ท่านจรัล  ได้ฟังพยานบุคคล ๒ คน  คือ(หน้า ๑๑)  นายประจวบ สังขาว และ  นางสาววาศินี ทองเจือ ;  โดยท่านจรัลกล่าวว่า ในเบื้องต้น รับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ได้รับอนุมัติ(จาก กกต.) ให้จัดทำป้ายฟิวเจอร์บอร์ด จำนวน ๑๐๐๐๐๐ ป้าย  โดยมีผู้รับทำป้าย ๒ คน  โดยนายประจวบ สังขาว  ให้การยอมรับว่า ไว้กับ “พนักงานสอบสวน” ว่า ได้ทำป้ายหาเสียงให้กับผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์  ๓๖๖ เขต ผู้สมัตรจำนวน ๓๖๖ คน ฯลฯ  และ นางสาววาศินี ทองเจือ  ให้การยอมรับใน “บันทึกถ้อยคำ” ยืนยันว่า ได้รับจ้างทำป้ายให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๕๐๐๐๐ แผ่น ราคาแผ่นละ ๑๘๐ บาท
                  ท่านจรัล   เห็นว่า พยานทั้งสองปากน่าเชื่อถือ   เพราะเป็นพยานของผู้ร้อง(นายทะเบียน)และเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง  และ “ผู้ร้อง(นายทะเบียนไม่มีพยานหลักฐาน” นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น  ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นที่ยุติ
        
                   □ ต่อจากนั้น  ท่านจรัล เห็นว่า (หน้า ๑๑)   “ประเด็น” ที่จะต้องพิจารณาต่อไปตาม “ข้อกล่าวหา”  คือ  นายประจวบ สังขาว (คำวิ. ไม่ได้ระบุว่า เป็น “ใคร”)  ได้ใช้เงินของบริษัท ที พี ไอ โพลีน ฯ ในการจัดทำป้าย หรือไม่ ;  และเมื่อนายประจวบ สังขาว ได้รับเงินค่าทำป้าย จากผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์จำนวน ๒๓.๙ ล้านบาทแล้ว ได้สั่งจ่ายเงินกลับไปให้กับผู้ถูกร้องหรือผู้บริหารของผู้ถูกร้อง  หรือไม่” ;โดย ท่านจรัลได้แยกพิจารณาและวินิจฉัย  เป็น ๒ ข้อ ดังนี้
        
                   ●● ประเด็นว่า  การใช้เงินทำป้ายให้พรรคประชาธิปัตย์ ( โดยนายประจวบ สังขาว - บริษัทเมซไซอะ)  เป็นเงินจากบริษัท ที พี ไอ โพลีน ฯ  หรือไม่ (หน้า ๑๑ - ๑๒  ยาวครึ่งหน้า)
                 □ ท่านจรัญ ได้ฟังพยานบุคคล ๒ คน คือ  นายประชัย เลียวไพรัช (ไม่ได้ระบุว่า เป็นใคร) และนายประจวบ สังขาว(ไม่ได้ระบุว่า เป็น ใคร)
                โดยนายประชัย เลียวไพรัช  ให้การยืนยัน (หน้า ๑๒) (ข้อความต็ม)  ว่า “ เงินที่ให้กับบริษัทเมซไซอะฯ  ไม่ได้เป็นเงินบริจาคให้ผู้ถูกร้อง  แต่ยืนยันว่าเป็นเงินค่าจ้างในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ (ไม่ได้ระบุจำนวนเงิน) “  ; และนายประจวบ สังขาว  เบิกความ (หน้า ๑๒) (ข้อความเต็ม)  ว่า  เงินที่ใช้ในการทำป้ายให้ผู้ถูกร้อง  มิใช่เงินที่ได้จากบริษัท ทีพีไอ โพลีนฯ แต่เป็นเงินในธุรกิจของบริษัท (เมซไซอะ)
            □□  ท่านจรัล  วินิจฉัยว่า (หน้า ๑๒)    (ข้อความเต็ม)  “ คำเบิกความของนายประจวบ สังขาว  ถึงแม้จะขัดแยังกับคำให้การที่เคยได้ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนพิเศษ  แต่ก็มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ  เพราะได้เบิกความในศาล โดยเปิดเผยต่อสาธารณชน และต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่ายซึ่งมีโอกาสซักถามได้เต็มที่” [หมายเหตุ  ท่านจรัล มีได้กล่าว สรุปว่า   ท่านจรัลเห็นว่า  ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ได้ใช้เงินของบริษัท ที พี ไอ โพลีน ฯ จริง ]
        
              ●● ประเด็นว่า  เมื่อนายประจวบ สังขาว ได้รับเป็นค่าจ้างทำป้ายจากผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย) จำนวน ๒๓.๙ ล้านบาทแล้ว นายประจวบ ได้ สั่งจ่ายเงินกลับไปให้กับผู้ถูกร้องหรือผู้บริหารของผู้ถูกร้อง  หรือไม่) (หน้า ๑๒ - ๑๓ รวม ๑หน้าครึ่ง)          
                 □□   ท่านจรัล  วินิจฉัย ว่า(หน้า ๑๓)   ข้อเท็จจริง(ที่ผู้ร้องอ้าง) จึงรับฟังไม่ได้ว่า  “ บริษัทเมซไซอะ หรือ นายประจวบ สังขาว”  โอนเงินที่ได้รับค่าจ้างทำป้ายคืนให้กับผู้ร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)หรือผู้บริหารของผู้ถูกร้อง  ด้วยเหตุผล ดังนี้
               □ “เส้นทางการเงิน”(หน้า ๑๒)   ท่านจรัลกล่าวว่า  ตามที่ผู้ร้อง(นายทะเบียนฯ)นำสืบ  ว่า เมื่อผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) โอนเงิน จำนวน ๒๓.๙ ล้านบาท  ให้กับ บริษัท เมซไซอะแล้ว   นายประจวบ สังขาว ได้โอนให้แก่บุคคลต่าง ๆ รวม ๕ กลุ่ม  คือ (๑) กลุ่มญาติของนายประจวบ สังขาว  ; (๒)  กลุ่มนายธงชัย ดลศรีชัย  ซึ่งเป็นญาติของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์   ; (๓) กลุ่มธุรกิจ โฆษณา ; กลุ่มบุคคลที่ยังหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงไม่ชัดเจน และ (๕) นำส่งเป็นค่าภาษี
                   ท่านจรัล ได้แยกพิจารณา เป็นราย “กลุ่ม”  ดังนี้
                   ● ประเด็น  การโอนเงินให้แก่กลุ่ม ๓ กลุ่ม  คือ  กลุ่มที่ ๑ (ญาติของนายประจวบ สังขาว)   ; กลุ่มที่ ๓ (สื่อฯ) ;  และกลุ่มที่ ๕ (ภาษี)            
                □□  ท่านจรัล วินิจฉัยว่า(หน้า ๑๒)  เงินที่โอนให้แก่ ๓ กลุ่มนี้   ไม่เกี่ยวกับผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) และกรรมการของผู้ถูกร้อง  แต่อย่างใด
        ♦ [หมายเหตุ  ข้อสังเกตของผู้เขียน  ผุ้เขียนไม่อาจทราบ “เหตุผล”ได้  ว่า  เพราะเหตุใด ท่านจรัลจึงมีความเห็นว่า  กรณีการโอนเงินให้แก่กลุ่มของ ญาติของนายประจวบ ฯ   ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) และกรรมการของผู้ถูกร้อง หรือไม่ (?)   เพราะในคำวินิจฉัยฯของท่านจรัล  ไม่ได้ให้ “เหตุผล”ไว้  และไม่ได้มีการกล่าวถึง “ข้อเท็จจริง” ว่า  นายประจวบ สังขาว  เป็น ใคร และมีบทบาทในการจัดทำป้ายให้พรรคประชาธิปัตย์ อย่างไร ]
        
                 ● ประเด็น การโอนเงินให้แก่กลุ่มของนายธงชัย ดลศรีชัย (ญาติของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์) (กลุ่มที่ ๒ )  :           
               □□  ท่านจรัล  วินิจฉัย  ว่า (หน้า ๑๒) (ข้อความเต็ม)  “ส่วนเงินที่โอนให้แก่ กลุ่ม ของนายธงชัย ดลศรีชัย  ซึ่งเป็น ญาติของ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์  ซึ่งเป็นกรรมการของผู้ถูกร้อง โดยมีตำแหน่งเลขาธิการพรรคนั้น   ก็ไม่ปรากฎหลักฐานว่า ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) และกรรมการของผู้ถูกร้อง คนใด  ได้รับเงินที่นายประจวบ สังขาว โอนให้บุคคลดังกล่าว ;  ผู้ร้อง(นายทะเบียน) คงมีหลักฐานเพียง  การโอนเงินให้ บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับ “กรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้อง” เท่านั้น “ (ไม่ระบุว่า “บุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง”  คือ ใคร)
                  □ ท่านจรัลกล่าวว่า  ข้อเท็จจริงที่ท่านจรัญ ได้ฟังพยานบุคคล ๒ คน คือ    นายประจวบ สังขาว และนายธงชัย ดลศรีชัย (ญาติของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์) กลับปรากฎว่า  :   นายประจวบ สังขาว  เบิกความต่อศาลว่าเป็นการโอนให้บุคคลในทางธุรกิจ เพื่อชำระหนี้การจ้างงานช่วง (ซับงาน)  โดย(นายประจวบ)ใม่ทราบว่า  เงินที่เบิกให้บุคคลต่าง ๆ จะเกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) หรือกรรมการของผู้ถูกร้องหรือไม่ ; และคำเบิกความของ นายธงชัย ดลศรีชัย พยานผู้ร้อง ยืนยันว่า   เงินที่ได้รับโอนจากนายประจวบฯ  เป็นการชำระหนี้ทางการค้า ระหว่างบริษัทเมซไซอะ ฯ กับตัวพยาน  ไม่เกี่ยวกับผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) และกรรมการของผู้ถูกร้อง แต่อย่างใด
        
              ● ประเด็น การโอนเงิน(ที่ได้รับจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน) ให้แก่นางมาลี ปัญญาลักษณ์  ญาติของนายนิพนธ์ บุญญามณี  :  ท่านจรัญ ได้กล่าวถึง “ ประเด็น” ที่ผู้ร้อง (นายทะเบียน)อ้าง ว่า  ได้โอนเงินที่ได้รับจาก บริษัท ที พี ไอ โพลีน  ให้แก่นางมาลี ปัญญาลักษณ์  ญาติของนายนิพนธ์ บุญญามณี  (หน้า ๑๓)  [ ไม่ได้ระบุว่า นายนิพนธ์ บุญญามณี  คือ  ใคร  และ  ไม่ได้ระบุว่า  การโอนเงินนั้น  “ใคร” เป็นผู้ที่กระทำ ]
                □ ท่านจรัลได้ฟังพยานบุคคล ๑ คน คือ   นายนิพนธ์ บุญญามณี  :  โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี  ได้เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า  เงินที่นางมาลี ปัญญาลักษณ ซึ่งเป็นน้องสาวของพยาน ได้รับจากนายประจวบ สังขาว  เป็นเงินที่ชำระหนี้ในทางธุรกิจ ระหว่างบริษัท เมซไซอะ ฯ กับนางมาลีฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)หรือกรรมการบริหารของผู้ถูกร้องแต่อย่างใด
                 □□   ท่านจรัล  วินิจฉัย ว่า(หน้า ๑๓)   ข้อเท็จจริง(ที่ผู้ร้องอ้าง) จึงรับฟังไม่ได้ว่า  “ บริษัทเมซไซอะ หรือ นายประจวบ สังขาว”  โอนเงินที่ได้รับค่าจ้างทำป้ายคืนให้กับผู้ร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)หรือผู้บริหารของผู้ถูกร้อง
                 นอกจากนี้  ท่านจรัลได้เสริมเป็นการสรุป  โดยฟังพยานบุคคล อีก ๑ คน คือ นายประจวบ สังขาว (ท่านจรัล ไม่ได้ระบุว่า นายประจวบ สังขาว คือ ใคร) ว่า(หน้า ๑๓) (ข้อความเต็ม) “ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  เมื่อบริษัท เมซไซอะ ฯ รับจ้างทำป้ายให้กับผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์)แล้ว  บริษัทเมซไซอะ ฯย่อมต้องใช้เงินเป็นต้นทุนในการจัดทำป้าย  จึงไม่น่าเชื่อว่า  เงินที่นายประจวบ สังขาว(ท่านจรัล ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร)  เบิกจากบริษัทเมซไซอะ ฯ จะเป็นการโอนกลับคืน  แต่น่าเชื่อ  ตามที่นายประจวบ สังขาว เบิกความต่อศาลว่า เป็นเงินที่โอนทางธุรกิจ เพื่อชำระหนี้ในการจ้างงานช่วง”
                ●● ประเด็น “การจัดทำป้ายก่อน ได้รับอนุมัติ (จาก กกต)” เป็นการไม่ถูกต้อง  หรือไม่ (หน้า ๑๓ - ๑๔ ยาว ๑หน้า)
              ในตอนท้ายของการวินิจฉัยของท่านจรัลใน “ประเด็นวินิจฉัย ที่ (๓) ”นี้   ท่านจรัญ ได้กลับมาพิจารณาประเด็นว่า การที่ผู้ร้อง(นายทะเบียน)อ้างว่า  ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) จัดทำป้ายก่อนที่ได้รับอนุมัติ (จาก กกต.)  อีกครั้งหนึ่ง
               □□  ท่านจรัล วินิจฉัย ว่า(หน้า ๑๓)   การทำป้ายโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมือง  (ถ้าพิจารณา)โดยการกระทำแล้ว ไม่เป็นความผิดหรือต้องห้ามตามกฎหมายแต่อย่างใด   เพียงแต่ ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)จะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าป้ายนั้น(ด้วยตน)เองเท่านั้น  
                □ ท่านจรัญ  เห็นว่า  ตามรายงานการประชุมของ “คณะกรรมการกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง  ได้มีการโอนเงินเข้าบัญชีให้ผู้ถูกร้องแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๘ เพียงแต่อยู่ในระหว่างการขอปรับปรุงโครงการ  ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับอนุมัติ   การทำป้ายดังกล่าวก็ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย   เพียงแต่ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)จะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าป้ายนั้นด้วยตน)เอง  ; การชำระเงินค่าป้าย  ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์  ก็ใช้เงินของผู้ถูกร้องจากบัญชีของผู้ถูกร้องเอง   ซึ่งไม่ทำให้ “กองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง” เสียหาย  
        
            ●● ประเด็น ว่า  การจัดทำป้ายของพรรคประชาธิปัตย์  ได้ทำเสร็จเมื่อใด  คือ เสร็จในปี ๒๕๔๗  หรือในปี ๒๕๔๘ (หน้า ๑๓ - ๑๔ ยาวครึ่งหน้า) :
                   □□  ในประเด็นนี้ ท่านจรัญ  วินิจฉัย ว่า(หน้า ๑๔)   ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า  การจัดทำป้ายได้เสร็จไปแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗  คือ เสร็จก่อนปีปฏิทินของ พ.ศ. ๒๕๔๘  อันเป็นปีที่พรรคผู้ถูกร้องขอเงินสนับสนุนเพื่อทำป้ายสำหับการหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไป ที่กำหนดไว้ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘) ; กล่าวคือ ท่านจรัลเห็นว่า  การจัดทำป้าย(ในกรณีของนางสาววาศินี)  ได้ทำเสร็จในปี ต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๘
                   ท่านจรัล ได้ให้คำอธิบายประเด็นนี้  ไว้ ๒ ประการ  คือ  ประการแรก การนำสืบของผู้ร้อง(นายทะเบียน) ยังรับฟังไม่ได้  และ ประการที่สอง เรื่อง หลักการทางบัญชี ในการลงรายการในบัญชี
                    □  ประการแรก (การนำสืบของผู้ร้อง รับฟังได้เพียงใด)   ท่านจรัล เห็นว่า(หน้า ๑๔)     แม้ว่าผู้ร้อง(นายทะเบียนฯ) จะนำสืบ โดยอ้างคำให้การของ นางวาศินี ทองเจือ ว่า ได้จัดส่งป้ายฟิวเจอร์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗  อันเป็นวันก่อนถึง ปี  ๒๕๔๘  ก็ตาม   แต่ฟังได้ว่า   (๑) “ผู้ร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ได้ยื่นขอรับ “เงินสนับสนุนประจำปี ๒๕๔๘”  ตั้งแต่วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๗  ตามเอกสารหมายเลข ถร. ๑ ;  (๒) การอนุมัติได้เกิดก่อนปี ๒๕๔๘  ; และ (๓) การดำเนินการของผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์)อยู่ในช่วงเวลาระหว่างปี ๒๕๔๗ - ๒๕๔๘ ก่อนการเลือกตั้ง วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗    ดังนั้น   ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า  การจัดทำป้ายได้ทำเสร็จไปก่อนแล้ว
        
        ♦ [หมายเหตุ  ข้อสังเกตของผู้เขียน :ผู้เขียนสังเกตว่า  การรับฟังพยานของท่านจรัลได้เปลี่ยนไปจากหลักการเดิม  เพราะในการวินิจฉัยประเด็น (หน้า ๑๑)   ท่านจรัล รับฟัง “คำให้การของ นางวาศินี ทองเจือ “  เพราะเห็นว่า เป็น”ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง”และเป็นพยานของผู้ร้องเอง  ดังนั้น จึงน่าเชื่อถือแต่ในประเด็นข้อนี้ (หน้า ๑๘)  ท่านจรัลไม่รับฟังนางวาศินี ทองเจือ  ;   และนอกจากนั้น  ผู้เขียนคงต้องยอมรับไม่มีความสามารถพอที่จะเข้าใจ (ตรรก -logic) ของท่านจรัลได้  ว่า    เพราะเหตุใด  การยื่นคำขอ / การอนุมัติของ กกต.  / และการดำเนินการจัดทำป้ายของพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงเวลาดังกล่าว  ท่านจรัลจึงมีความเห็นว่า  เหตุเหล่านี้ เป็น “เหตุ”  ที่ทำให้การจัดทำป้ายของนางวาศินี (รับจัดป้ายโฆษณาของพรรค)   ไม่สามารถเสร็จก่อน ปีปฏิทิน  ๒๕๔๘ ได้   เพราะผู้เขียนเห็นว่า  แม้ว่าจะมี “เหตุ” ต่าง ๆ ดังกล่าวตามที่ท่านจรัลอ้างถึง  แต่การจัดทำป้ายของนางวาศินี(ที่รับจัดป้ายโฆษณาของพรรค) ก็สามารถทำเสร็จ (และส่งมอบงาน) ก่อนปีปฏิทิน  ๒๕๔๘  ได้  ตามที่นางวาศีนี  เองได้ให้การไว้ ;  และนอกจากนั้น  การจ้างทำป้ายของพรรคประชาธิปัตย์ มีอยู่ ๒ ราย  คือ กรณีของนางสาววาศินี และ กรณีของบริษัทเมซไซอะ (รับทำป้าย ๓๓๖ เขต  ซึ่งท่านจรัญ ไม่ได้อธิบายไปถึง “กรณีของบริษัทเมซไซอะ” (?)  ]
        
                   □  ประการที่สอง (หล้กการทางบัญชี)   ท่านจรัลกล่าวถึงหลักการทางบัญชี โดยให้ความเห็น  ว่า(หน้า ๑๔)  (ข้อความเต็ม) “ข้ออ้างของผู้ร้องที่อ้างว่า เงินสนับสนุนพรรคการเมือง ไม่สามารถจ่ายก่อนปี ๒๕๔๘  โดยอ้างหลักทางบัญชีที่ใช้ “เกณฑ์สิทธิ” นั้น    (ท่านจรัล)เห็นว่า “เกณฑ์สิทธิ”ในการบัญชี  หมายถึงการบันทึกรายจ่าย ที่ใช้เงินจาก “รายรับของปีใด”  ให้บันทึกเป็นรายจ่ายของปีนั้น   โดยไม่คำนึงว่าจะจ่ายจริง เมื่อใด  มิได้หมายความว่า หาก “จ่ายจริง” ในปี ๒๕๔๗ แล้ว  จะต้องเป็นรายจ่ายของปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เท่านั้น  ฉะนั้น  แม้รายจ่ายสำหรับค่าป้ายที่เป็นรายจ่ายจาก “รายรับสำหรับปีพ.ศ. ๒๕๔๘   ที่จ่ายในปี ๒๕๔๗ กํต้องบันทึกบัญชี นปี ๒๕๔๘  ตามหลักเกณฑ์สิทธิ  มิได้ผิดหลักเกณฑ์ทางบัญชีแต่อย่างใด”
        ♦[หมายเหตุ ข้อสังเกตของผู้เขียน  : ในประการที่สองนี้  ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า  ผู้เขียนคงต้องสารภาพว่า ผู้เขียนไม่มีความสามารถบอกได้ว่า  หลักการทางบัญชีที่ถูกต้อง มีอย่างไร   เพราะผู้เขียนไม่ใช่ “ผู้เชียวชาญทางบัญชี” ;  ผู้เขียนเพียงแต่อยากทราบว่า   “ความเห็น”ของท่านจรัลที่กล่าวถึงหลักการทางบัญชี ในคำวินิจฉัยข้างต้นนั้น   เป็นการให้ “ความเห็น”ของท่านจรัลเอง  หรือเป็น “ความเห็น”  ที่ท่านจรัลได้มาการรับฟังหรือซักถามจาก“พยาน (ผู้เชี่ยวชาญทางบัญชี)”ของคู่กรณี ในชั้นพิจารณา   เพราะท่านจรัลไม่ได้บอกให้ทราบว่า  ความเห็นนี้มาจากไหน  (!) ; อนึ่ง  “ประเด็นนี้(การทำป้ายโฆษณา เสร็จเมื่อใด)”  เป็นประเด็นที่มีตุลาการ (ท่านจรัล) ยกขึ้นพิจารณาเพียงท่านเดียว  ส่วนตุลาการท่านอื่นนั้นรับ “ข้อเท็จจริง” ตามที่นางสาววาศินีให้การ ]   
        
       ■■  ประเด็นวินิจฉัย ที่ ๔ ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน(ปี  พ.ศ. ๒๕๔๘) ตรงตามความเป็นจริง  หรือไม่  (หน้า ๑๔ ถึง ๑๕ ยาว ๑ หน้า) 
               ประเด็นวินิจฉัยที่ ๔  (จัดทำรายงานการใช้จ่าย ฯ  ตรงตามความเป็นจริง หรือไม่) นี้  เป็นประเด็นสำคัญ ควบคู่กับ  “ประเด็นวินิจฉัย ที่ ๓”  เพราะ “ข้อเท็จจริง” ที่พิสูจน์ในประเด็นวินิจฉัย ที่ ๓ จะเป็นสิ่งที่บอกให้เราทราบว่า  “การจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน(ปี  พ.ศ. ๒๕๔๘) ของผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์)  ตรงตามความเป็นจริง  หรือไม่ ;  เราลองมาพิจารณาดูว่า ท่านจรัลอธิบายในประเด็นวินิจฉัยที่ ๔ นี้อย่างไร
               ท่านจรัญ อธิบายประเด็นนี้ ไว้สั้นมาก (เมื่อเทียบกับ การอธิบายใน ประเด็นวินิจฉัย ที่ ๓)  คือ ท่านจรัลให้เหตุผลไว้เพียง ๑ หน้า (หน้า ๑๔ - ๑๕)  แต่ที่น่าสนใจ ก็คือ  ถ้อยคำในทุกประโยคของท่านจรัล เต็มไปด้วย “สาระ” ที่ท่านผู้อ่านควรจะต้องอ่าน  ดังนี้   :  
        
                □  ท่านจรัล เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง “ข้อกล่าวหาขอผู้ร้อง (นายทะเบียน)” ว่า(หน้า ๑๔)  (ข้อความเต็ม)  “ผู้ร้องกล่าวหาว่า  ผู้ถูกร้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ไม่ถูกต้องตรงตามความจริง  โดยให้เหตุผลว่า ผู้ถูกร้องใช้ใบสำคัญจ่ายที่ไม่ตรงความเป็นเจริง / ใบสำคัญจ่ายออกให้แก่ผู้ถูกร้อง โดยไม่มีการทำงานจริง / และใบสำคัญจ่ายที่ผู้ถูกร้องนำมาใช้เป็นหลักฐานรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นใบสำคัญจ่ายของบริษัทที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง” นั้น
               ท่านจรัล  ได้กำหนดประเด็นเพื่อการพิจารณา ดังนี้  (หน้า ๑๔)  (ข้อความเต็ม) “ (เห็นว่า)  การรายงานการใช้เงินสนับสนุนตรงตามความเป็นจริงหรือไ ม่(นั้น)   ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่า  ผู้ถูกร้องได้ว่าจ้างให้มีการจัดทำป้าย เป็นจำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติไว้หรือไม่  ทั้งมีการทำป้าย และจ่ายเงินไป “จริง” ตามที่ได้รับอนุมัติหรือไม่  นอกจากนั้น  มาตรา ๖๒ บัญญัติให้พรรคการเมืองจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้ถูกต้องเท่านั้น   มิได้บังคับให้แสดงเอกสารสนับสนุนอย่างไร ”      
                  □□ จากเกณฑ์ดังกล่าว(มี “การว่าจ้าง” - จริง  และ “มีการทำป้ายและจ่ายเงิน”  - จริง)   ท่านจรัล วินิจฉัยว่า  ผู้ถูกร้องได้จัดทำรายงานการใช้เงินสนับสนุนถูกต้องแล้ว”  โดยท่านจรัล   ให้เหตุผล  ๒ ประการ  ดังนี้ 
                   □□ ประการแรก  คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ยืนยันว่าเป็นรายงาน ฯที่ถูกต้องแล้วโดยคณะกรรมการฯ ไม่ได้มีการยกเลิกหรือเพิกถอนการยืนยัน  :  ท่านจรัล  อธิบายว่า  (หน้า ๑๔) (ข้อความเต็ม)   “ซึ่งข้อเท็จจริงยังปรากฎว่า  ผู้ถูกร้องได้ทำรายงานฯยื่นต่อคณะกรรมการการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๙  ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด  ตามเอกสารหมาย ถร. ๕๒  ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ยืนยันว่าเป็นรายงานที่ถูกต้องแล้ว  ตามหนังสือของผู้ร้อง(นายทะเบีบน)  เอกสารหมาย ถร. ๕๓ ซึ่งไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า มีการยกเลิกหรือเพิกถอน  แต่อย่างใด   
                    ท่านจรัล วินิจฉัยว่า(หน้า ๑๔)   ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า  ผู้ถูกร้องได้จัดทำรายงานการใช้เงินสนับสนุนถูกต้องแล้ว ” (ไม่ได้กล่าวว่า หนังสือของนายทะเบียน ถร. ๕๓  มี “ข้อความ” อย่างใด)
                  □□  ประการที่สอง  ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นเอกสาร (ตามที่ท่านจรัลเห็นว่า  มาตรา ๖๒ ไม่ได้บัญญัติว่า ให้ต้องแสดงเอกสารสนับสนุนการจัดทำรายงาน ฯ )
                 ท่านจรัล  วินิจฉัยว่า (หน้า ๑๕)   (ข้อความเต็ม)  “สำหรับเอกสารใบกำกับภาษีที่ผู้ถูกร้องใช้ในการลงบัญชี    แม้จะเป็น “ใบกำกับภาษีที่ไม่ตรงกับผู้รับเงินจริง” หรือเป็น “ใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการที่ถูกยกเลิกไปแล้ว”   ก็ไม่ทำให้การจ่ายเงินที่ถูกต้องตรงตามที่ได้รับอนุมัติจาก “คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาการเมือง”  ต้องเสียไปด้วย  ;  ทั้งมิใช่เอกสารที่ผู้ถูกร้องจัดทำขึ้นเอง  และไม่ปรากฎจากพยานหลักฐานสำนวนว่า  ผู้ถูกร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการจัดทำและการใช้เอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด”
        
                ท่านจรัล ได้ให้ความเห็นในตอนท้าย ไว้ว่า (หน้า ๑๕)(ข้อความเต็ม)  “นอกจากนี้  กรณีดังกล่าว  เป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องต้องปฏิบัติตาม มาตรา ๓๘ วรรคสอง ที่เกี่ยวกับการลงบัญชีให้ถูกต้องสมบูรณ์  ถ้าพรรคการเมืองฝ่าฝืน ก็ต้องคืนเงินสนับสนุนตาม มาตรา ๖๓  หาใช่เหตุต้องยุบพรรคการเมืองในคดีนี้ไม่ “
        
        ♦[หมายเหตุ ข้อสังเกตของผู้เขียน   ผู้เขียนคิดว่า  คำอธิบายของท่านจรัลใน “ประเด็นวินิจฉัย ที่ ๔”  นี้ มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัว    ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า  ท่านผู้อ่านทุกท่านสามารถอ่านเข้าใจได้  โดยผู้เขียนไม่จำเป็นต้อง ให้ความเห็นแต่อย่างใด ]
              


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544