หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 269
17 กรกฎาคม 2554 21:55 น.
ครั้งที่ 269
       
       สำหรับวันจันทร์ที่ 18 ถึงวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2554
        
       “หลังเลือกตั้ง”
        
                 ในที่สุด การเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ผ่านไปอย่างเรียบร้อย ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่พรรคเพื่อไทยยังคงรักษาความเป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากเป็นอันดับหนึ่งของการเลือกตั้งชนิดที่ทิ้งห่างอันดับสองไปอย่างน่าตกใจ นี่คือสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 เพื่อล้าง “ระบอบทักษิณ” แม้จะมีความพยายามจากทุก ๆ ฝ่ายที่จะล้าง “ระบอบทักษิณ” ตลอดเวลาหลังรัฐประหารมาจนกระทั่งก่อนวันออกเสียงเลือกตั้งไม่กี่วัน แต่ความพยายามเหล่านั้นก็เป็นแค่ความพยายาม เพราะในวันนี้ ประชาชนเสียงข้างมากในประเทศได้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งที่จะเลือก “ระบอบทักษิณ” ให้เข้ามาบริหารประเทศอีกครั้งหนึ่ง โดยคราวนี้ชัดเจนถึงขนาดยอมให้ “น้องสาวทักษิณ” เป็นผู้นำประเทศ ผมก็ได้แต่หวังว่า บรรดาผู้ที่กระทำการย่ำยีเจตนารมณ์ของคนไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาคงจะต้อง “ยอมรับ” ผลการเลือกตั้งครั้งนี้และให้ความร่วมมือกับฝ่ายบริหารและฝ่ายปกครองเพื่อนำพาประเทศไทยเราให้หลุดพ้นไปจากภาวะแย่ ๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างรวดเร็วครับ
                 ช่วงเวลาที่ผ่านมา 2 สัปดาห์เศษภายหลังการเลือกตั้ง เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนคงจำได้ดีเพราะไม่ว่าจะเป็นหลังเลือกตั้งครั้งใดก็ตามมักจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทุกครั้ง นั่นก็คือ ความพยายามของคนจำนวนหนึ่งที่จะเข้าไปเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการของแทบจะทุกคนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาและของแทบจะทุกคนที่ช่วยงานการเมืองอยู่ข้างนอก รวมไปถึงพวกที่อยากมีตำแหน่งทางการเมืองใจจะขาดที่พยายามสร้างราคาให้กับตนเองด้วยการทำตัวให้เป็นข่าว บางคนขอให้สถาบันการศึกษาจัดอภิปรายเพื่อให้ตนเองได้ไปพูด จะได้ทำให้คนทั่วไปได้รู้จัก บรรยากาศแบบนี้มีขึ้นทุกครั้งหลังจากที่มีการเลือกตั้งครับ แต่ในบทบรรณาธิการนี้คงกล่าวถึงเฉพาะนักการเมืองก่อน  ในวันนี้ นักการเมืองมีความพยายามอย่างสุดเหวี่ยงที่จะได้เข้าไปทำงานในฝ่ายบริหาร สังเกตได้จากผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาก็จะรวมกันเป็นกลุ่มภายในพรรคการเมืองเพื่อเพิ่มศักยภาพในการต่อรองตำแหน่งของตนให้มากขึ้นกว่าการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนเดียวที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวภายในพรรค การต่อรองให้ได้ตำแหน่งทางการเมืองเกิดขึ้นทั้งทางตรงคือการไปเจรจากับหัวหน้าพรรคการเมืองหรือไม่ก็ทางอ้อม เช่นการให้ข่าวต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่ว่า ตนเองหรือคนในกลุ่มมีความเหมาะสมที่จะเป็นรัฐมนตรี เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับ “หน้าตา” และ “ความสามารถ” ของคณะรัฐมนตรี คงต้องขอให้ผู้มีอำนาจจัดตั้งรัฐบาลต้องพยายามชี้แจงให้บรรดาลูกพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทราบให้ชัดเจนว่า ประชาชนเลือกบุคคลเหล่านั้นเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร เข้ามาทำหน้าที่ในการผลิตกฎหมายออกมาใช้ในประเทศ ไม่ใช่เลือกให้เข้ามาบริหารประเทศ การบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่ใครก็ตามมีเสียงสนับสนุนจากกลุ่ม 5 - 6 คนก็สามารถเข้าไปเป็นรัฐมนตรีได้ การบริหารประเทศเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูงมาทำหน้าที่ วันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเรานับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาจนถึงปัจจุบันมีอยู่มากมายเหลือเกิน การได้คนไม่มีความเชี่ยวชาญมาทำงานนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังทำให้การก้าวเดินไปตามนโยบายที่รัฐบาลวางไว้ต้องล่าช้าไปด้วย แถมถ้าเกิดการ “รวมพลังนอกสภา” ขึ้นมาอีก ก็คงวุ่นวายไม่รู้จบกันไปอีกนานครับ เพราะฉะนั้น การตั้งรัฐบาลหนนี้น่าที่จะเปลี่ยนวิธีการแบบเดิม ๆ ที่ใช้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นตัวชี้วัดว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีมาเป็นคำนึงถึงคุณสมบัติ ความเป็นมืออาชีพและมีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งอย่างจริงจังครับ  นอกจากนี้แล้ว ว่าที่รัฐมนตรีใหม่ที่นอกจากจะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาของประเทศที่หมักหมมมาอยู่หลายปียังจะต้องเข้าไป “สร้าง” งานหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ “สัญญา” ไว้กับประชาชนตอนหาเสียงเลือกตั้งอีกหลายเรื่อง เพราะในวันนี้ เสียงที่ได้ยินกันไปทั่วคือ รัฐบาลใหม่จะทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนได้หรือไม่ เช่น จบปริญญาตรีได้เงินเดือน 15,000 บาท หรือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั้ง 2 เรื่องเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างเพราะจะต้องมีการปรับโครงสร้างทั้งระบบให้สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลจะทำ รวมไปถึงการขึ้นราคาของค่าบริการและค่าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ที่ต้องปรับตามค่าแรงขั้นต่ำไปด้วย ลำพังคิดคงไม่ยากแต่ถ้าหากจะทำให้เกิดผลสำเร็จและไม่กระทบกับสิ่งที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ได้นั้นจะทำอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้คนที่มีความชำนาญอย่างมากมาทำ ไม่ใช่นักการเมืองหัวหน้ากลุ่มที่มีเสียงสนับสนุน 5 - 6 คนให้เป็นรัฐมนตรีเป็นแน่ครับ
                 เรื่องใหญ่อีกเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลคือ การปรองดอง วันนี้เป็นเรื่องที่พูดกันมากเหลือเกินว่าทำอย่างไรคนในประเทศถึงจะปรองดองกันได้ จากบทเรียนจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมานั้น แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาหาแนวทางในการปรองดองอยู่ก็ตาม แต่เมื่อคนในรัฐบาลไม่หยุดพูดมากในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง ความปรองดองก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ รัฐบาลใหม่น่าจะทำเรื่องดังกล่าวได้เพราะเท่าที่สังเกตดู บุคลิกของว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นคนที่ “นิ่ง” และ “ไม่ตอบโต้” ซึ่งก็จะทำให้การปรองดองเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง ส่วนที่ว่า “การปรองดอง” คือ การลืมทุกสิ่งทุกอย่างแล้วมาเริ่มต้นกันใหม่นั้น ผมคงต้องบอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะมีปัญหาหลายเรื่องที่ค้างคาใจทั้งคนไทยและคนต่างประเทศอยู่หลายเรื่องที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจน เช่น เรื่องสองมาตรฐานของหน่วยงานหลายหน่วยงาน เรื่องการสลายการชุมนุมแล้วมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแต่ก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบเพราะต่างฝ่ายต่างก็โทษกัน เรื่องการเสียชีวิตของนักข่าวต่างประเทศที่การไม่มีคำตอบจากรัฐบาลจะทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยต้องมัวหมองต่อไปอีกนานไม่รู้จบเช่นคดี “เพชรซาอุ” อันลือลั่น เป็นต้น การปรองดองจึงต้องตั้งต้นจากการตรวจสอบทุกเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ยุติธรรมและเป็นกลาง การตรวจสอบไม่ใช่เรื่องของการแก้แค้น แต่เป็นการกระทำที่จะช่วยให้ประเทศไทยเรากลับเข้าสู่ความเป็นนิติรัฐอีกครั้งหนึ่งหลังจากเราได้สูญเสียสิ่งนั้นไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ครับ  นอกจากนี้ หากจะเลยไปเรื่องอื่น ๆ ที่ควรต้องตรวจสอบด้วยก็จะเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันที่มีข่าวออกมามากเหลือเกินในสื่อทุกประเภท รัฐบาลชุดใหม่จึงควรต้องตรวจสอบโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็งและบรรดาโครงการจำนวนมากที่เกิดจากการประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติครั้งสุดท้ายของรัฐบาลชุดก่อนว่า เป็นอย่างไรบ้าง มีการทุจริตโดยตรง มีการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ ประชาชนเจ้าของประเทศควรได้รับทราบข้อมูลพวกนี้ครับ แต่การตรวจสอบควรต้องทำด้วยความระมัดระวัง ควรทำโดยใช้องค์กรที่เป็นกลาง มีความชำนาญ ไม่ใช่ทำแบบที่คณะรัฐประหารทำมาแล้วคือ การตั้ง ค.ต.ส. ซึ่งก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า “คิดอย่างไร” กับผู้ถูกตรวจสอบครับ
                 ส่วนเรื่องใหญ่มาก ๆ ที่รัฐบาลยังไม่ควรแตะทันทีก็คือเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด เพราะทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก การหักด้ามพร้าด้วยเข่ามีแต่จะสร้างความแตกแยกให้กับสังคมและจะทำให้การปรองดองไม่สำเร็จ หากจะให้ผมเสนอความคิดในทั้ง 2 เรื่อง รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการที่มีความเป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายเข้ามาทำการศึกษาวิเคราะห์อย่างจริงจังและเป็นระบบ เมื่อได้ข้อเสนอจากคณะกรรมการดังกล่าวก็ปล่อยให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็นในระยะเวลาที่พอสมควรแล้วจึงค่อยเสนอเข้าไปให้รัฐสภาพิจารณาครับ ถ้าทำได้ก็จะได้ข้อเสนอที่ดีเป็นรูปธรรมและผ่านการให้ความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนโดยทั่วไปด้วย
                 อีกเรื่องที่ผมคิดว่าคงปล่อยไว้ไม่ได้อีกแล้วก็คือ การกระจายอำนาจการปกครอง แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และ 2550 จะวางหลักเกี่ยวกับการกระจายอำนาจการปกครองไว้ดีแล้ว แต่ทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น รัฐบาลกลับไม่ให้ความสนับสนุนที่จะให้เกิดการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่นเท่าที่ควร จึงทำให้ดูเหมือนส่วนกลางยังคงหวงอำนาจเอาไว้กับตนเองอยู่ ไม่ต้องดูอื่นไกล นโยบายที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ใช้หาเสียงกับประชาชนจำนวนไม่น้อยเป็นเรื่องที่ควรอยู่ในอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลประชาชนในด้านการศึกษา สาธารณสุข รวมไปถึงกองทุนหมู่บ้านด้วย ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ส่วนกลางต้องพยายามเร่งทำทุกอย่างเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่กว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ อย่าไปกลัวว่าท้องถิ่นทำไม่ได้ อย่าไปกลัวว่าท้องถิ่นจะทุจริตคอร์รัปชันเพราะเรื่องดังกล่าวส่วนกลางสามารถทำได้ด้วยการวางระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจและการใช้จ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้มข้นกว่าเดิม โดยการตรวจสอบควรต้องวางกลไกการตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการจัดทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มักจะมีทั้งข้าราชการประจำและนักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเข้าไปแทรกแซงจนทำให้การจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอยู่มากครับ เรื่องนี้ถ้ามีโอกาสผมจะนำมาเขียนอีกครั้งครับ
                 อยากแสดงความเห็นส่วนตัวต่อรัฐบาลใหม่ไว้ด้วยว่า อย่าชะล่าใจกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ มากเกินไป ในอดีต พรรคไทยรักไทยซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาด้วยเสียงข้างมากก็ถูกรัฐประหารไปแล้ว พรรคพลังประชาชนที่ได้รับคะแนนเสียงมากละสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ถูกยุบพรรคไปแล้ว คราวนี้พรรคเพื่อไทยซึ่งได้คะแนนเสียงข้างมากเช่นกันจึงควรต้องระวังตัวไว้ให้มากเพราะอย่างน้อย อำนาจต่าง ๆ ที่เคยทำให้เกิดปัญหากับทั้งพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน กับนายกทักษิณฯ และนายกสมัครฯ ยังอยู่ครบครับ ความไม่แน่นอนทางการเมืองจึงยังคงมีอยู่ พรรคเพื่อไทยควรต้องระมัดระวังตัวเองให้มากและปิดช่องโหว่ที่จะถูกเล่นงานให้ได้ครับ !!
                 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งต้องกลับไปเป็น “ฝ่ายค้าน” ในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ทราบว่า “หลังเลือกตั้ง” มีแผนการอย่างไรบ้างหรือไม่ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมมองว่าวิธีการที่ใช้เป็นประจำคือการตอกย้ำความผิดของอีกฝ่ายหนึ่งจนทำให้คนเกลียดชังฝ่ายนั้นเป็นวิธีการที่ใช้ไม่ได้ผลแล้ว ขนาดโค้งสุดท้ายเอารูป “เผาบ้านเผาเมือง” มาช่วยหาเสียงก็ยังแพ้แทบจะเรียกได้ว่าไม่เห็นฝุ่น ในวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ควรต้องปรับกระบวนท่ากันใหม่ ควรทำให้ประชาชนรัก ควรนิ่งและหยุดวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม แค่ชี้แนะประชาชนก็มองเห็นแล้วครับ ข้อสำคัญก็คือต้องพยายามสร้างระบบ “ความรับผิดชอบ” ขึ้นมาทั้งภายในพรรคการเมืองและในตัวบุคคลด้วย เป็นไปได้อย่างไรที่ในการปราบปรามการชุมนุมมีคนเสียชีวิตร่วม 100 ศพ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำนอกจากจะไม่แสดงความรับผิดชอบใด ๆ แล้ว กลับให้ข่าวว่าเป็นเรื่องของผู้ก่อการร้าย เป็นฝีมือของชายชุดดำ หากมีระบบความรับผิดชอบที่ดีอย่างน้อยนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาของข้าราชการทั้งประเทศควรต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบบางอย่างต่อประชาชน หรือถือว่าประชาชนไม่ได้เลือกให้เข้ามาเป็นรัฐบาลแต่ได้มาเป็นรัฐบาลด้วยเหตุอื่นจึงไม่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชนก็ไม่ทราบ
                 เปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงานใหม่ดีกว่านะครับ โอกาสมีอยู่เสมอสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ครับ !!!
                 ก่อนจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ก็ต้องขอฝากไว้กับทั้งน้องสาว เพื่อนและสื่อทั้งหลายด้วยว่า ควรทิ้งระยะให้ห่างจาก “พี่ชาย” เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สถานะของ “พี่ชาย” ในวันนี้ก็ยังคงเหมือนเดิมคือ หนีการรับโทษตามคำพิพากษา การ “เข้าใกล้” มากเกินไปอาจเกิดผลเสียตามมากับรัฐบาลและประเทศได้ครับ
        
                 ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว คือบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง “ไทยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ผมขอขอบคุณชำนาญ ฯ ที่ได้ส่งบทความมาเผยแพร่กับเราอย่างสม่ำเสมอครับ
        
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2554
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544