หน้าแรก บทความสาระ
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับระยะเวลาเรียกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
คุณนิธินันท์ สุขวงศ์ นิติศาสตรบัณฑิต,เนติบัณฑิตไทย ,นิติศาสตรมหาบัณฑิต ม.รามคำแหง , ประกาศนียบัตร ด้านการจัดการความรู้ ม.เชียงใหม่
31 กรกฎาคม 2554 21:30 น.
 
การที่หน่วยงานของรัฐจะเรียกให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิดในการปฎิบัติหน้าที่แล้วเกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ  รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นั้น เป็นที่ทราบกันว่า จะต้องมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539  ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539    ซึ่งเมื่อดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าวแล้ว หน่วยงานของรัฐมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้  กระบวนการในการตรวจสอบกรณีการละเมิดของเจ้าหน้าที่ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น โดยสรุปสาระสำคัญ มีดังนี้
                 การแต่งตั้งคณะกรรมการ
                 เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐแห่งใด  และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้[1]        
                 ถ้าเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐอีกแห่งหนึ่ง  ให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำให้เกิดความเสียหายแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาและให้มีการรายงานตามลำดับชั้นจนถึงหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัด เว้นแต่
                 (1) ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ทำให้เกิดความเสียหายเป็นรัฐมนตรี ให้แจ้งต่อนายกรัฐมนตรี
                 (2) ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ทำให้เกิดความเสียหายเป็นกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้แจ้งต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น
                 (3) ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ทำให้เกิดความเสียหายเป็นผู้ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้แจ้งต่อกระทรวงการคลัง
                 (4) ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ทำให้เกิดความเสียหายเป็นผู้ซึ่งไม่มีผู้บังคับบัญชาและมิใช่ผู้ปฏิบัติงานในราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานของรัฐอื่นของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้แจ้งต่อผู้มีอำนาจกำกับดูแล ผู้แต่งตั้งตน หรือผู้ซึ่งสั่งให้ตนปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานของรัฐ[2]
                 ในกรณีความเสียหายเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐอีกแห่งหนึ่ง  ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเสียหายและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นสังกัด หรือผู้ซึ่งระเบียบนี้กำหนดให้เป็นผู้รับแจ้งตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ข้างต้น แล้วแต่กรณี มีอำนาจร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการ[3]
                  ในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐมากกว่าหนึ่งแห่ง และหรือความเสียหายเกิดจากผลการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานของรัฐ ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการ[4]
                 ถ้าผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการ ไม่ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการภายในเวลาอันควรหรือแต่งตั้งกรรมการโดยไม่เหมาะสม ให้ปลัดกระทรวง ปลัดทบวง หรือรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหรือควบคุมการปฏิบัติงานของบุคคลดังกล่าวมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการแทนผู้มีอำนาจแต่งตั้งนั้นได้ตามที่เห็นสมควร[5]
                การพิจารณาของคณะกรรมการและผู้แต่งตั้ง
                 ในการประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม มติที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการที่ไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมอาจทำความเห็นแย้งมติที่ประชุมรวมไว้ในความเห็นของคณะกรรมการได้[6]         
                 เมื่อผู้แต่งตั้งได้รับผลการพิจารณาของคณะกรรมการแล้วให้วินิจฉัยสั่งการว่า มีผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด แต่ยังมิต้องแจ้งการสั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
                 ให้ผู้แต่งตั้งส่งสำนวนภายในเจ็ดวันนับแต่วันวินิจฉัยสั่งการให้กระทรวงการคลังเพื่อตรวจสอบ เว้นแต่เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนดว่าไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ
                  ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ให้ผู้แต่งตั้งสั่งการให้ตระเตรียมเรื่องให้พร้อมสำหรับการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชำระค่าสินไหมทดแทนหรือดำเนินการฟ้องคดีเพื่อมิให้ขาดอายุความสองปีนับจากวันที่ผู้แต่งตั้งวินิจฉัยสั่งการ
                 ให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนอายุความสองปีสิ้นสุดไม่น้อยกว่าหกเดือน ถ้ากระทรวงการคลังไม่แจ้งผลการตรวจสอบให้ทราบภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้แต่งตั้งมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรและแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ เว้นแต่ในกรณีหน่วยงานของรัฐนั้นเป็นราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานของรัฐอื่นของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนอายุความสองปีสิ้นสุดไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ถ้ากระทรวงการคลังไม่แจ้งผลการตรวจสอบให้ทราบภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้แต่งตั้งมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรและแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ[7]
                      การพิจารณาของกระทรวงการคลัง
                 เมื่อกระทรวงการคลังพิจารณาเสร็จแล้ว ให้ผู้แต่งตั้งมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง และแจ้งคำสั่งนั้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ แต่ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เสียหายเป็นราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานของรัฐอื่นของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้กำกับดูแลหรือควบคุมหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นวินิจฉัยสั่งการให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวปฏิบัติตามที่เห็นว่าถูกต้อง
                 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เสียหายตามวรรคหนึ่งสั่งการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ให้ผู้แต่งตั้งดำเนินการเพื่อออกคำสั่งให้ชำระค่าสินไหมทดแทน หรือฟ้องคดีต่อศาลอย่าให้ขาดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้แต่งตั้งแจ้งคำสั่งให้ผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทราบ[8]
                   ผู้เขียนขอกล่าวกระบวนการพิจารณาไว้เพียงเท่านี้  ซึ่งประเด็นปัญหาในบทความนี้  จะอยู่ที่กรณีหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการออกคำสั่งหรือฟ้องให้เจ้าหน้าที่รับผิดภายในระยะเวลาใด   หากพิจารณาจากหลักเกณฑ์ของกฎหมายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539               
       มาตรา 10  ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                 สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการตามวรรคหนึ่ง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
                  กล่าวคือ หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รับผิด  ในกรณีที่หนึ่ง โดยทั่วไป คือ สองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน นั้นก็คือ วันที่ผู้แต่งตั้งได้รับรายงานจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้ววินิจฉัยสั่งการ[9]   และในกรณีที่สอง คือ กรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง   ซึ่งในกรณีนี้ หากพิจารณาตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้ว กรณีจะต้องเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด  ระยะเวลาการเรียกร้องจึงจะขยายไปอีกหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ขอบเขตของกรณีที่สอง จะมีความหมายแค่ไหน เพียงใด  เนื่องจากในทางปฎิบัติพบว่า เมื่อมีการส่งเรื่องไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว  และแจ้งกลับมายังหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานของรัฐสั่งการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง  หน่วยงานของรัฐมักจะกล่าวอ้างว่า  มีระยะเวลาในการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รับผิดหนึ่งปีในทุกกรณี    โดยอ้างตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสองบ้าง    อ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  ข้อ 18 วรรคสองบ้าง         ประกอบกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็กล่าวไว้ว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  ข้อ 18 วรรคสอง  เป็นการนำหลักในมาตรา 10 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาขยายให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง[10]   และตามเจตนารมย์ในการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฎิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539[11]    ที่ต้องการให้ระเบียบดังกล่าว เหมาะสมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.2539         หรือระเบียบดังกล่าวจะต้องไม่ไปขัดต่อหลักการสำคัญของกฎหมาย 
                    ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า  พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง    และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  ข้อ 18 วรรคสอง นั้น หากพิจารณาดี ๆ แล้วจะเห็นได้ว่า ทั้งสองหลักเกณฑ์นั้น มีความแตกต่างกัน  กล่าวคือ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง จะต้องเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด  สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจะขยายไปหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง   แต่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  ข้อ 18 วรรคสอง  ต้องเป็นในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เสียหาย สั่งการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง    ผู้แต่งตั้งต้องออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชำระค่าสินไหมทดแทน หรือฟ้องคดีต่อศาลอย่าให้ขาดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้แต่งตั้งแจ้งคำสั่งให้ผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทราบ โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขที่ว่า หน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด แต่อย่างใด  ทำให้ในทางปฎิบัติเมื่อความเห็นของหน่วยงานของรัฐไม่ตรงกับความเห็นของกระทรวงการคลัง       และเมื่อหน่วยงานของรัฐสั่งการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง    ก็อาจจะทำให้เข้าใจได้ว่า  สามารถเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รับผิดได้โดยระยะเวลาขยายไปอีกหนึ่งปีทุกกรณี      ซึ่งในกรณีที่ระยะเวลาในการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รับผิดจะขยายออกไปอีกหนึ่งปี     ผู้เขียนเห็นว่า จะต้องเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายที่ว่า หน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังเห็นว่า ต้องรับผิดเท่านั้น   ระยะเวลาดังกล่าวจึงจะขยายออกไปหนึ่งปี  มิใช่ว่า  เมื่อมีการสั่งการตามความเห็นของกระทรวงการคลังแล้ว ทุกกรณีจะขยายไปอีกหนึ่งปีแต่อย่างใดไม่      ระเบียบสำนักนายกฯ  จะตีความหรือแปลความให้เกินขอบเขตของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้  โดยเฉพาะการตีความหรือแปลความในทางลบหรือในทางที่เป็นผลร้ายไปกระทบกับสิทธิของบุคคล     ซึ่งการขยายระยะเวลานั้น ผู้เขียนเห็นว่า อาจพิจารณาได้ ดังนี้
                        ก.กรณีหน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องรับผิด และกระทรวงการคลังเห็นว่า ต้องรับผิดเช่นกัน  เช่น หน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องรับผิด 1,000,000 บาท กระทรวงการคลังเห็นว่าต้องรับผิด 1,000,000 บาท เช่นกัน กรณีไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขยายระยะเวลา เนื่องจากมิใช่กรณีหน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังเห็นว่า ต้องรับผิด      กรณีดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขการเรียกร้องให้รับผิดภายในสองปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
                       ข.กรณีหน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในจำนวนที่มาก  แต่กระทรวงการคลังเห็นว่า ต้องรับผิดในจำนวนที่น้อยกว่า   เช่น หน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องรับผิด 1,000,000 บาท กระทรวงการคลังเห็นว่า ต้องรับผิด 500,000 บาท    กรณีไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขยายระยะเวลา  เนื่องจากมิใช่กรณีหน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังเห็นว่าต้องรับผิด   กรณีดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขการเรียกร้องให้รับผิดภายในสองปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
                       ค.กรณีหน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในจำนวนน้อย  แต่กระทรวงการคลังเห็นว่า ต้องรับผิดในจำนวนที่มากกว่า   เช่น หน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องรับผิด 1,000,000 บาท กระทรวงการคลังเห็นว่า ต้องรับผิด 1,500,000 บาท   กรณีนี้ ผู้เขียนเห็นว่า  เฉพาะจำนวน 500,000 บาท เท่านั้น ที่เข้าเงื่อนไขที่จะขยายระยะเวลา  เนื่องจากหน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดเพียง 1,000,000 บาท  ส่วนอีก 500,000 บาท ไม่ต้องรับผิด    แต่กระทรวงการคลังเห็นว่า ต้องรับผิดตรงกันในจำนวนแรก 1,000,000 บาท ซึ่งโดยทั่วไปหากเห็นตรงกัน ก็เป็นไปตาม ข้อ ก. คือ  อยู่ภายใต้เงื่อนไขการเรียกร้องให้รับผิดภายในสองปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน    ส่วนในจำนวน 500,000 บาท   เป็นส่วนที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังเห็นว่าต้องรับผิด  ซึ่งเข้าตามเงื่อนไขที่จะขยายระยะเวลาออกไปอีกหนึ่งปี 
                         ง.กรณีหน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดเลย  แต่กระทรวงการคลังเห็นว่าต้องรับผิด ซึ่งเข้าตามเงื่อนไขที่จะขยายระยะเวลาออกไปอีกหนึ่งปี   
                       กลับมาพิจารณาตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  ข้อ 18          ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เสียหายตามวรรคหนึ่งสั่งการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ให้ผู้แต่งตั้งดำเนินการเพื่อออกคำสั่งให้ชำระค่าสินไหมทดแทน หรือฟ้องคดีต่อศาลอย่าให้ขาดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้แต่งตั้งแจ้งคำสั่งให้ผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทราบ  ซึ่งไม่มีการกำหนดเงื่อนไขตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539  ทำให้อาจพิจารณาได้ว่า  ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่า     เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในจำนวนใด   และกระทรวงการคลังเห็นว่า ต้องรับผิดในจำนวนนั้น  ซึ่งเป็นจำนวนที่เท่ากันก็ดี    หรือในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่า     เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในจำนวนใด   และกระทรวงการคลังเห็นว่า ต้องรับผิดในจำนวนที่น้อยกว่าก็ดี   หรือในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่า     เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในจำนวนใด   และกระทรวงการคลังเห็นว่า ต้องรับผิดในจำนวนที่มากกว่าก็ดี             แล้วหน่วยงานของรัฐสั่งการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง       หน่วยงานของรัฐก็จะสามารถดำเนินการให้เจ้าหน้าที่รับผิดได้   โดยมีระยะเวลาขยายไปอีกหนึ่งปีทุกกรณี      ซึ่งกรณีไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการขยายระยะเวลาบังคับเอากับทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ในทางที่เป็นผลร้าย นั้น จะต้องมีกฎหมายกำหนด และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด กฎ ระเบียบ ไม่อาจตีความ หรือแปลความ ขยายความให้ไปไกลกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ได้    
                    นอกจากนั้น หากพิจารณาในเรื่องความเหมาะสมและสอดคล้อง ตามเจตนารมณ์ในการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฎิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539     ซึ่งระเบียบฯ ในข้อ 18 วรรคสอง  พบว่า มิได้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.2539 มาตรา 10  วรรคสอง        กล่าวคือ  พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.2539 มาตรา 10  วรรคสอง        สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการตามวรรคหนึ่ง  ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่า ต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง       ส่วนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  ข้อ 18   วรรคสอง          ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เสียหายตามวรรคหนึ่งสั่งการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ให้ผู้แต่งตั้งดำเนินการเพื่อออกคำสั่งให้ชำระค่าสินไหมทดแทน หรือฟ้องคดีต่อศาลอย่าให้ขาดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้แต่งตั้งแจ้งคำสั่งให้ผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทราบ ความแตกต่างกันในข้อนี้ อยู่ที่ว่า ระยะเวลา หรืออายุความการใช้สิทธิเรียกร้อง  มีความแตกต่างกัน  กล่าวคือ  พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.2539 มาตรา 10  วรรคสอง          สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น มีกำหนดอายุความหนึ่งปี  นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง       แต่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  ข้อ 18   วรรคสอง          ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เสียหายตามวรรคหนึ่งสั่งการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง  ให้ผู้แต่งตั้งดำเนินการเพื่อออกคำสั่งให้ชำระค่าสินไหมทดแทน หรือฟ้องคดีต่อศาลอย่าให้ขาดอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่ผู้แต่งตั้งแจ้งคำสั่งให้ผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทราบ   ระยะเวลา หรืออายุความการใช้สิทธิแตกต่างกัน  คือ นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง    ก็เป็นวันหนึ่ง หน่วยงานของรัฐสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังวันใด ก็เริ่มนับระยะเวลา  และ  นับแต่วันที่ผู้แต่งตั้งแจ้งคำสั่งให้ผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทราบ   ก็เป็นอีกวันหนึ่ง  ผู้แต่งตั้งแจ้งคำสั่งให้ผู้รับผิดทราบวันใด  ก็เริ่มนับระยะเวลา  วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง    จะต้องเกิดก่อนวันที่ผู้แต่งตั้งแจ้งคำสั่งให้ผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทราบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ทั้งสองวันจะเริ่มพร้อมกัน หรือสอดคล้องกัน         
                     การใช้การตีความกรณีหน่วยงานของรัฐหรือผู้แต่งตั้งสั่งการตามความเห็นของกระทรวงการคลังในกรณีละเมิดของเจ้าหน้าที่  อาจเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐ  แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ประโยชน์ดังกล่าวก็ควรจะเป็นประโยชน์ที่ได้มาโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย หรือกฎ กติกา ของบ้านเมืองด้วย.
       

       
       

       

       [1] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539    ข้อ 8
       

       

       [2] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539    ข้อ 9
       

       

       [3] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539    ข้อ 10
       

       

       [4] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539    ข้อ 11
       

       

       [5] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539    ข้อ 12
       

       

       [6] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539    ข้อ 13
       

       

       [7] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539    ข้อ 17
       

       

       [8] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539    ข้อ 18
       

       

       [9] คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 579/2551
       

       

       [10] ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา  เรื่องเสร็จที่  204/2541
       

       

       [11] โดยที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ขึ้น และกฎหมายดังกล่าวมีหลักการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากแนวทางปฏิบัติในเรื่องความรับผิดทางแพ่งที่ทางราชการถือปฏิบัติในปัจจุบัน โดยได้แยกความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ออกเป็นเหตุที่เนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่และที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ โดยเมื่อมีความเสียหายเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น หน่วยงานของรัฐจะต้องรับภาระชดใช้ค่าเสียหายไปก่อน ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐจะรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐเพียงใดนั้น ให้ไปไล่เบี้ยต่อไปในภายหลัง โดยจะยึดหลักว่าจะเรียกเอาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเฉพาะกรณีความเสียหายนั้นเกิดขึ้นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น  นอกจากนี้ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถผ่อนชำระค่าสินไหมทดแทนได้โดยคำนึงถึงรายได้ ฐานะ ครอบครัวและความรับผิดชอบ และพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบด้วยสำหรับความเสียหายที่เกิดจากการที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องถูกฟ้องและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นการส่วนตัวโดยไม่เกี่ยวกับทางราชการสมควรวางระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ...
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544