หน้าแรก บทความสาระ
การกำหนดวิทยฐานะข้าราชการครูตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547
คุณเชาวลิต เหล่าชัย นิติกร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 2
15 มกราคม 2555 18:51 น.
 
การกำหนดวิทยฐานะครูตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547  พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดวิทยฐานะของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ยังไม่เหมาะสมสอดคล้องในการจูงใจให้ข้าราชการครูปฏิบัติการสอนอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้คุณภาพทางการเรียนของผู้เรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนสูงขึ้นในระดับที่น่าพอใจ
                         ถ้าได้ทราบสภาพที่แท้จริงของปัญหาในการกำหนดวิทยฐานะของข้าราชการครูตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547  พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาพ.ศ. 2547 และระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดวิทยฐานะของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้วจะได้แนวทางแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.  2547  พระราชบัญญัติเงินเดือน  เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดวิทยฐานะของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยอาจแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดวิทยฐานะครูกำหนดให้ข้าราชการครูผู้ยื่นขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะนั้นต้องมีผลการปฏิบัติการสอนที่ส่งผลให้ผู้เรียนที่มีคุณภาพทางการศึกษา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นซึ่งต้องแสดงจากผลการวัดผลระดับเขตพื้นที่การศึกษา และผลการทดสอบระดับชาติ  อีกทั้งผลการประเมินความพึงพอใจในการปฏิบัติการสอนที่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากการสอนของข้าราชการครู ได้แก่ นักเรียน  ผู้ปกครอง  และชุมชนมาประกอบการพิจารณาด้วย  อีกทั้งในการประเมินผลงานวิชาการนั้นเพื่อให้ครูมีเวลาทุมเทในการสอนในห้องเรียนมากขึ้นจึงไม่ควรเน้นให้ครูทำผลงานวิชาการเป็นงานวิชาการเชิงการวิจัยแบบอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ควรกำหนดให้มีรูปแบบที่ง่ายขึ้นกว่าเดิมและเป็นรูปแบบที่ส่งผลต่อยอดต่อการนำผลงานดังกล่าวมาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพการเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนให้สูงขึ้น  ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่จะส่งเสริมให้มีกระบวนการในการกำหนดวิทยฐานะของข้าราชการครูที่มีความเหมาะสมอันจะส่งเสริมจูงใจให้ข้าราชการครูปฏิบัติการสอนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อส่งผลดีทำให้คุณภาพทางการเรียน และผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนสูงขึ้น  อีกทั้งจะทำให้ข้าราชการครู  มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติการสอนดีขึ้น  มีเวลาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนักเรียนมากขึ้น มีการจัดทำผลงานวิชาการที่สอดคล้องส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนให้สูงขึ้นอันจะส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนมีระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป
       ปัญหาทางกฎหมายของการกำหนดวิทยฐานะข้าราชการครูหลายประการ ได้แก่
       1. ความเหมาะสมและการใช้บังคับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547
                                  1.1 ปัญหาการประเมินวิทยฐานะของข้าราชารครูที่ต้องประเมินจากผลงานทางวิชาการซึ่งเกิดจากการทำผลงานทางวิชาการตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547   ซึ่งไม่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เนื่องจากการประเมินวิทยฐานะของข้าราชารครูต้องประเมินจากผลงานทางวิชาการซึ่งเกิดจากการทำผลงานทางวิชาการตามมาตรา ดังกล่าว  ทำให้ครูผู้ซึ่งต้องการได้เงินค่าตอบแทนที่เป็นเงินวิทยฐานะมาใช้จ่ายในครอบครัว ต้องทุ่มเททางด้าน การทำผลงานทางวิชาการ มากกว่างานการสอนซึ่งเป็นหน้าที่หลัก   ส่งผลให้คุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนตกต่ำลง  การบริหารบุคคลโดยใช้หลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะดังกล่าวจึงไม่เอื้ออำนวยให้เกิดคุณภาพกับผู้เรียนได้จริง
              1.2   ปัญหาความไม่เท่าเทียมและเสมอภาคของกฎหมายฉบับเดียวกันตาม มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547  ที่ทำให้ข้าราชการพลเรือนเดิมในสำนักงานที่เปลี่ยนเป็นตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค(2) ที่กฎหมายไม่ได้ให้โอกาสก้าวหน้าในวิชาชีพครูโดยการทำวิทยฐานะเช่นเดียวกับตำแหน่งข้าราชการครู  ซึ่งกฎหมายน่าจะกำหนดให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นเหล่านี้มีความก้าวหน้าได้ไม่แตกต่างกับข้าราชการครูที่สามารถทำผลงานทางวิชาการแล้วได้เงินวิทยฐานะทำให้เกิดความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันในความก้าวหน้าทางวิชาชีพ
                        1.3  ปัญหาการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะเพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในตำแหน่งและวิทยฐานะที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547  ที่กำหนดให้มีการประเมินตำแหน่งวิทยฐานะข้าราชการครูซึ่งดำรงไว้ด้วยความเชี่ยวชาญ ให้ดำรงศักยภาพนั้นไว้ หากปรากฏว่าศักยภาพเสื่อมถอยก็ต้องพัฒนาตัวเอง มิฉะนั้นก็จะงดเงินวิทยฐานะ หากพัฒนาไม่ได้ก็ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ออกได้ อันเป็นการตัดคนไม่ดีให้ออกจากระบบราชการ  ซึ่งไม่ได้มีการนำกฎหมายมาตรานี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
                        1.4  ปัญหาการกำหนดให้ตำแหน่งข้าราชการครูเป็นตำแหน่งที่มีวิทยฐานะที่ต้องทำผลงานทางวิชาการโดยเทียบกับผลงานทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยในระดับอุดมศึกษา ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งไม่เหมาะสมเนื่องจากภารกิจหลักของครู คือ การสอนนักเรียนให้มีคุณภาพของการศึกษาที่สูงและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูง  ไม่ใช่การนำผลงานทางวิชาการอย่างเช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เน้นกระบวนการวิจัยที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้าเป็นอย่างมาก  หากแต่ครูควรเน้นกระบวนการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนมีระดับที่สูงขึ้นมากกว่า ไม่ควรยึดการทำวิจัยเป็นหลัก
        
        2.  ความเหมาะสมของระบบการให้เงินวิทยฐานะในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  พ.ศ. 2547  
                 2.1 ปัญหาระบบการประเมินวิทยฐานะที่ครูจะต้องเข้าสู่ตำแหน่งที่มีวิทยฐานะ ก่อนจึงจะได้รับเงิน  ทำให้ครูต้องพยายามหาทางเพื่อให้เข้าสู่ตำแหน่งให้ได้ก่อน  โดยใช้เวลาทุ่มเททำผลงานทางวิชาการมากกว่างานหลักคือการสอน จนมีเวลาในการเตรียมการสอนน้อยลงทำให้ขาดประสิทธิภาพทางการสอน  และส่งผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนต่ำลง
                 2.2  ปัญหาการได้รับเงินวิทยฐานะที่ไม่ผูกโยงกับผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่การให้เงินวิทยฐานะครูในแต่ละปีรวมเงินที่รัฐต้องจ่ายเป็นเงินหลายพันล้านบาท แม้จะช่วยให้กำลังใจครูเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้สนับสนุนส่งเสริมความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนโดยตรง  ซึ่งอาจเห็นได้จากผลลัพท์สุดท้ายทางการศึกษาที่เพิ่งผ่านมาได้ คือ ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติประจำปีการศึกษา พ.ศ.2553 ทั้งแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 , มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ มัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ผ่านมา  พบว่าผลสอบโอเน็ตในภาพรวมมี คะแนนเฉลี่ยต่ำลงเรื่อย ๆ  และมีค่าเฉลี่ยไม่ถึง 50% ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่าหากครูใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะมาก และสนใจการสอนน้อยลง ไม่มีเวลาเตรียมการสอนและจัดกิจกรรมการสอนแล้วจะหวังให้ผลเป็นไปตามเป้าหมายยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนให้สูงขึ้นนั้นคงเป็นไปไม่ได้
                              2.3 ปัญหาการได้รับเงินมีวิทยฐานะของครูที่มิได้ส่งเสริมให้ครูเป็นครูที่มีคุณภาพสูง          ปัญหาการศึกษาดังกล่าวข้างต้นมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือคุณภาพของครูอาจารย์ที่ตกต่ำลง  ต้องมีการปฏิรูปเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างเร่งด่วน  ซึ่งตรงกันข้ามกับข้อมูลที่ครูได้รับวิทยฐานะในระดับต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก  อันแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการได้รับวิทยฐานะของครูนั้นมิได้ทำให้ครูมีคุณภาพสูงที่จะไปจัดการเรียนการสอนส่งเสริมให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือมีคุณภาพทางการเรียนสูงขึ้นแต่อย่างใด 
                                    2.4 ปัญหาความไม่คุ้มค่าของงบประมาณที่รัฐต้องสูญเสียไปเป็นเงินวิทยฐานะเป็นจำนวนมหาศาลแต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนกลับตกต่ำลง  ที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษามากที่สุดมาหลายปีติดต่อกันและงบประมาณประจำปีอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ปรากฏว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนไทยต่ำกว่าหลายประเทศที่ใช้งบประมาณในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน    ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของประเทศไทยมิได้น้อยแต่อย่างใดแต่ขาดการบริหารจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ  ทำให้คุณภาพการศึกษาต่ำลง  และจากการวิจัยในหลาย ๆ ประเทศได้ข้อสรุปว่าหัวใจของการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการศึกษานั้นต้องเป็นการเพิ่มคุณภาพของครูผู้สอน ดังนั้นการปรับปรุงการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ จึงต้องปรับปรุงการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูเพื่อพัฒนาครูให้เป็นครูคุณภาพสูงให้ได้ เพื่อจะได้ไปพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพที่สูงและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงต่อไป   
        
       3.  การกำหนดวิทยฐานะข้าราชการครูไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการให้ค่าตอบแทนเพื่อจูงใจให้ครูพัฒนาตนเองให้เป็นครูมีคุณภาพสูง
                              3.1 ปัญหาครูผู้สอนได้รับวิทยฐานะ แต่ผลการเรียนของผู้เรียนกลับมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ตกต่ำลง   ทั้งที่เมื่อครูมีตำแหน่งที่สูงขึ้นมีวิทยฐานะที่สูงขึ้นก็น่าจะเป็นครูที่มีคุณภาพสูงหรือสอนเก่งสามารถสอนผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูง  อันแสดงให้เห็นว่าการกำหนดวิทยฐานะข้าราชการครูมีปัญหาที่วิทยฐานะมิได้เป็นค่าตอบแทนที่เป็นการจูงใจครูให้พัฒนาตนเองให้เป็นครูมีคุณภาพสูงเพื่อให้ไปสั่งสอนผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงโดยตรง   เหตุปัจจัยหนึ่งของเรื่องนี้ คือ พวกครูจะทุ่มเทในการทำผลงานทางวิชาการกันมากถือว่าเป็นงานหลัก  ส่วนงานสอนที่ควรจะเป็นงานหลักกลับกลายเป็นงานรอง  และผลงานทางวิชาการของครูหลายคนก็ไม่ได้เขียนเองโดย จ้างผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการ                                             
                               3.2  ปัญหาครูที่ผ่านการประเมินวิทยฐานะมิได้เป็นครูมีคุณภาพสูงที่สามารถจัดการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นได้  การที่กฎหมายกำหนดให้การประเมินผลงานทางวิชาการของครูเป็นเอกสาร  โดยครูที่จะผ่านการประเมินผลงานวิชาการได้วิทยฐานะในระดับต่าง ๆ จะต้องเขียนเก่ง คือเขียนผลงานให้คณะกรรมการประเมินอ่านแล้วคล้อยตามเชื่อว่าครูผู้นั้นเก่งจริงตามที่เขียน ซึ่งในความเป็นจริงอาจสอนไม่ดีก็ได้ ในขณะที่ครูบางคนสอนเก่งจนเด็กนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และได้รับรางวัลต่าง ๆ  มากมาย หากเขียนผลงานไม่เก่งหรือไม่ชอบเขียน ชอบสอนมากกว่า ก็จะไม่ได้รับวิทยฐานะ และเกณฑ์ประเมินผลงานวิชาการแม้จะมีการแก้ไขบ้าง แต่หลักเกณฑ์ใหญ่ ยังคงเดิม คือครูก็ยังต้องทิ้งห้องเรียนไปทำผลงานทางวิชาการเหมือนเดิม
             3.3  ปัญหาระบบการประเมินวิทยฐานะ   ที่มีปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับการประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อกำหนดวิทยฐานะครูอย่างต่อเนื่อง   ซึ่งการคัดลอกหรือลอก เลียนหรือการรับจ้างทำผลงานทางวิชาการหรือจ้างวาน ใช้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการหรือนำผลงานทางวิชาการของผู้อื่นไปใช้เสนอขอ ปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขึ้นนั้นถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง  มีบทลงโทษทางวินัยเสมือนเป็นการทุจริตคือ ปลดออกจากราชการหรือไล่ออกจากราชการ  แต่ก็มีครูจำนวนหนึ่งฝ่าฝืนหลักกฎหมายดังกล่าว    และมีปัญหาความไม่เหมาะสมของระบบกฎเกณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูทำให้เกิดการคัดลอก ลอกเลียน หรือจ้างทำผลงานทางวิชาการ  ที่ทำให้เกิดช่องว่างของกลุ่มบุคคลที่ใช้ความรู้ ความสามารถหาผลประโยชน์กับครู  การที่ ก.ค.ศ. ให้น้ำหนักผลงานทางวิชาการโดยมีบุคลากรทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นผู้พิจารณาตัดสินชี้ขาด แต่มีขั้นตอนที่เคร่งครัดไม่สามารถทราบถึงผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนที่ได้จากการจัดการเรียนการสอนของครูผู้ส่งผลงานได้อย่างแท้จริง  ประกอบกับครูรุ่นเก่าที่มีอายุราชการมากถึง 25-30 ปี ส่วนใหญ่จะไม่มีความรู้ในการเขียนผลงานทางวิชาการจึงจำต้องแสวงหากลุ่มคนที่รับจ้างทำผลงานให้จนเกิดปัญหาการจ้างทำผลงานทางวิชาการเกิดขึ้นซึ่งทำลายเกียรติภูมิครูเป็นอย่างมาก   การที่ครูที่จ้างเขียนและคัดลอกผลงานแต่ยังคงได้รับการเลื่อนวิทยฐานะ ที่เป็นผลร้ายที่สุดคือ เมื่อครูเหล่านี้ได้เลื่อนวิทยฐานะแล้วกลับไม่มีองค์ความรู้และไม่ปฏิบัติหน้าที่ ส่วนครูที่ไม่ได้รับเลื่อนหรือแม้แต่ครูประจำการอื่นๆ ยังปฏิบัติหน้าที่เหมือนเดิม และบางคนหนักกว่าเดิมก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องหลายด้าน เช่น ช่วงการทำผลงาน ครูส่วนใหญ่ไม่ใช้เวลาสอน แต่กลับใช้เวลาแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองไปทำผลงานทางวิชาการ เพื่อให้ได้เงินวิทยฐานะที่จะได้รับเพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพทางการศึกษาที่จะส่งผลต่อการเรียนการสอน   นอกจากนี้ยังมีปัญหาการมีบริษัท หรือกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยรับจ้างเขียนผลงานวิชาการ  ทำให้เกิดผลเสียหาย  คือ ครูที่ผ่านการประเมินวิทยฐานะ จะเป็นครูที่ไม่ต้องสอนหนังสือ ในขณะที่ครูที่ทำงานการสอนหนังสืออย่างหนักมักจะไม่ผ่านการประเมิน เพราะไม่มีเวลาที่จะทำผลงานวิชาการ
        
       ข้อเสนอแนะ
                   1.  ระยะสั้น
                 1.1   ควรปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547    และหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดวิทยฐานะของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)  ซึ่งเป็นกฎหมายในการกำหนดวิทยฐานะข้าราชการครู ให้เอื้อประโยชน์ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูง  และให้การได้รับเงินวิทยฐานะของครูมีการผูกโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน  โดยเปลี่ยนระบบในการประเมินวิทยฐานะ  ให้ประเมินวิทยฐานะจากการปฏิบัติงานของครูในการสอนผู้เรียนมากกว่า การเสนอเอกสารทางวิชาการอย่างเดียวซึ่งไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงของผู้เรียน  ควรประเมินวิทยฐานะจากผลการเรียนของผู้เรียนในความรับผิดชอบของครู และควรให้บุคคลที่ใกล้ชิดครูและมีส่วนได้ส่วนเสียในการสอนของครู เช่น นักเรียน และผู้บังคับบัญชา ผู้ปกครองและชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในกรรมการประเมิน  ควรเน้นการประเมินวิทยฐานะจากการจัดการเรียนการสอนของครูซึ่งส่งผลโดยตรงให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนสูงขึ้นเป็นหลักมากกว่าประเมินจากเอกสาร  โดยกำหนดให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนเป็นเกณฑ์สำคัญที่จะผ่านการประเมินหากผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตกต่ำลงก็ไม่ควรให้ครูเลื่อนวิทยฐานะ  เพื่อให้ระบบการประเมินวิทยฐานะเป็นระบบที่ส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาทักษะในการสอนเพื่อส่งเสริมให้ได้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนที่สูงโดยตรง   ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของการประเมินผลการปฏิบัติงานในการประเมินวิทยฐานะเพื่อให้สามารถทราบผลการปฏิบัติงานของครูผู้ปฏิบัติงานการสอนอย่างถูกต้อง  สามารถให้ค่าตอบแทนแก่ครูอย่างตรงกับผลงาน  เพื่อจูงใจให้ทำงานการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวคิดของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติที่สามารถนำมาปรับใช้ประโยชน์ในการประเมินวิทยฐานะครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย โดยมีการกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติเพื่อใช้ในการกำกับมาตรฐานการศึกษาของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพสูง ตลอดจนใช้ในการประกันคุณภาพของผู้เรียนที่จบในแต่ละระดับต่าง ๆ ของการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยมีการประเมินวิทยฐานะเพื่อให้ค่าตอบแทนครูตามคุณภาพผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง ซึ่งการนำแนวคิดทั้งสองนี้มาปรับใช้กับการประเมินวิทยฐานะจะทำให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถมุ่งสู่เป้าหมายการศึกษาของชาติในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนให้สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                          1.2  ควรปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547    และหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดวิทยฐานะของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)   กำหนดให้บุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค (2)มีความก้าวหน้าเท่าเทียมกับข้าราชการครู และศึกษานิเทศก์ซึ่งเป็นบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ค (1) โดยปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวทางในมาตรา 29  และแก้ไขพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่ง  พ.ศ. 2547 ให้รวมถึงบุคลากรตามมาตรา 38 ค (2) ให้ชัดเจน 
          1.3   ควรนำหลักเกณฑ์การดำรงวิทยฐานะในมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ที่กำหนดให้มีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นระยะๆ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการ หรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่งและวิทยฐานะที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง มาบังคับใช้อย่างเคร่งครัดขึ้น  กรณีที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ก็ให้ดำเนินการ ให้มีการพัฒนาข้าราชการครูผู้นั้นให้สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล เพื่อให้สามารถผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานได้  และให้ดำเนินการในมาตรการเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรืองดเงินประจำตำแหน่ง หรือเงินวิทยฐานะ   ในกรณีที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในระดับที่กำหนด ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามกฎหมาย สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการได้  ซึ่งเป็นการตัดคนไม่ดีออกจากระบบการศึกษาไทยและสอดคล้องกับหลักกฎหมายในการบริหารงานบุคคลของครูในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศฟินแลนด์ และประเทศญี่ปุ่น ที่มีการประเมินครูเพื่อให้ครูดำรงความรู้ความสามารถให้อยู่ในระดับสูงอยู่เสมอ หากครูผู้ใดไม่สามารถดำรงความรู้ความสามารถดังกล่าวได้ ก็จะถูกให้ออกจากการเป็นครู
       1.4  กรณีมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประเมินผลงานทางวิชาการ  หน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการครู ควรดำเนินการสอบสวน กรณีมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประเมินผลงานทางวิชาการโดยเร็วและหากปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าข้าราชการครูผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำการคัดลอก ลอกเลียน หรือจ้างงานให้ผู้อื่นนำผลงานทางวิชาการเพื่อประเมินวิทยฐานะให้พิจารณาโทษทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547   ขั้นสูงสุดถึงขั้นปลดออกจากราชการแก่ข้าราชการครูผู้นั้น  และควรดำเนินการจัดการกับบริษัท หรือกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยที่รับจ้างเขียนผลงานวิชาการอย่างเด็ดขาด อีกด้วย                      
                      2.   ระยะยาว
            2.1  รัฐควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครู  เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงอย่างจริงจัง  โดยแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้
                        1)  กำหนดให้มีการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องและถือเป็นหน้าที่ ที่ครูต้องพัฒนาตนเองเหมือนกับแนวคิดกฎหมายในการพัฒนาวิชาชีพครูของประเทศญี่ปุ่น  ที่กำหนดให้มีการพัฒนาครูในโรงเรียนเป็นระยะเวลา 15 ปี จนกลายเป็นวัฒนธรรมในโรงเรียนที่คณะครูร่วมกันทำงานกันเป็นทีม ทำการพัฒนาแผนการสอน และวิธีสอนร่วมกันอย่างต่อเนื่องจนได้แผนการสอนและวิธีการสอนที่สมบูรณ์ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น   
                         2)  กำหนดให้การพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องเป็นหน้าที่ ดังเช่นกฎหมายว่าด้วยข้อบังคับพิเศษเกี่ยวกับบุคลากรทางการศึกษาของญี่ปุ่นที่กำหนดว่าครูทุกคนมีหน้าที่เข้ารับการอบรมและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่  ดังเช่นหลักสูตรฝึกอบรมที่จัดให้ครูที่มีประสบการณ์ 5 ปี 15 ปีและ 20 ปี  ซึ่งตามกฎหมายคณะกรรมการการศึกษาประจำจังหวัดมีหน้าที่ต้องจัดอบรมครูที่เริ่มทำงานใหม่และครูที่ทำงานมาแล้ว 10 ปีดังกล่าว
                         3)  กำหนดให้การพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องเป็นเงื่อนไขหนึ่ง ของการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ  โดยมีระยะเวลาที่กำหนดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้ารับการพัฒนาวิชาชีพที่แน่นอน  และอาจกำหนดให้แสดงหลักฐานให้เห็นว่าการอบรมเพื่อพัฒนาวิชาชีพนั้นส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน   ดังเช่นกฎหมายของบางมลรัฐในสหรัฐอเมริกา อาทิ 8 NYCRR 80-3.6 ของมลรัฐนิวยอร์คที่กำหนดว่าผู้มีสิทธิได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต้องผ่านการพัฒนาวิชาชีพเป็นเวลา 175 ชั่วโมงทุก ๆ 5 ปี
                         4)  กำหนดให้มีเงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา  ดังเช่นพระราชบัญญัติมาตรฐานการศึกษาแห่งอเมริกัน(No Child Left Behind Act of 2001) และ พระราชบัญญัติอุดมศึกษา (Higher Education Act) ของสหรัฐอเมริกา  ที่ให้มลรัฐ  เขตการศึกษา ภาคีร่วมพัฒนาครู  หรือสถาบันอุดมศึกษาเสนอโครงการเพื่อให้รัฐบาลกลางพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุน  โดยผู้ได้รับเงินอุดหนุนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีระบบตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าจะนำเงินไปพัฒนาการผลิต  สรรหา  รักษา และพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพสูงตามเป้าหมายที่กำหนดในกฎหมาย
         2.2  รัฐควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547  และพระราชกฤษฎีกาการปรับเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  พ.ศ. 2554 โดยแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้
                          1) กำหนดให้ขั้นเงินเดือนของครูบรรจุใหม่มีระดับที่สูงกว่าปัจจุบัน และให้มีความแตกต่างกับระดับขั้นเงินเดือนของครูอาวุโสเมื่อเกษียณอายุราชการเพียงสามถึงสี่เท่า  ตามแนวคิดของกฎหมายในการกำหนดเงินเดือนครูของต่างประเทศ  ที่เงินเดือนครูในประเทศอุตสาหกรรมจะมีความแตกต่างของเงินเดือนครูบรรจุใหม่ กับเงินเดือนครูอาวุโสเมื่อเกษียณอายุเพียงสามถึงสี่เท่า  ซึ่งจะสามารถจูงใจให้คนเก่งคนดีอยากมาเป็นครู
                           2) กำหนดให้ขั้นเงินเดือนของครูสูงกว่าข้าราชการทั่วไป  ตามแนวคิดของกฎหมายเกี่ยวกับเงินเดือนของประเทศญี่ปุ่น เช่น  กฎหมายว่าด้วยมาตรการพิเศษเกี่ยวกับเงินเดือนครูโรงเรียนแห่งชาติ และโรงเรียนรัฐที่จัดการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2514 (Special Measures Act Regarding the Salaries of Education Personnel of National and Public Schools for Compulsory Education 1971) ซึ่งแยกระบบเงินเดือนครูให้สูงกว่าเงินเดือนของข้าราชการประเภทอื่น  และกฎหมายว่าด้วยการรักษาบุคลากรทางการศึกษาที่มีความสามารถ พ.ศ. 2517 (Law of Secure Capable Educational Personnel 1974) ซึ่งทำให้เงินเดือนครูเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในช่วงเวลา 5 ปี   อย่างไรก็ตามการคัดเลือกบรรจุ และมาตรฐานการพัฒนาวิชาชีพครูจะมีความเข้มงวดกว่าข้าราชการประเภทอื่น และมีมาตรการให้ครูที่ไม่มีประสิทธิภาพออกจากงานด้วย  
                              3) ขยายฐานเงินเดือน ค่าตอบแทนสวัสดิการ  และสิทธิประโยชน์จูงใจต่าง ๆ ของข้าราชการครูให้สูงขึ้น  เพื่อให้เพียงพอกับการดำรงชีพอย่างไม่เดือดร้อน  ไม่ต้องไปแสวงหาเงินวิทยฐานะโดยการทำผลงานทางวิชาการที่ต้องสูญเสียเวลาที่มีค่าในการสอนผู้เรียนให้มีคุณภาพไปกับการกระทำดังกล่าว  ซึ่งจะทำให้ครูมีความสุขในการสอนมากกว่าปัจจุบัน อันจะทำให้ครูสามารถจัดการศึกษาชนิดที่ดีที่สุดให้กับผู้เรียนได้  และส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นได้ 
       2.3  รัฐควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547  และพระราชกฤษฎีกาการปรับเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  พ.ศ. 2554 โดยกำหนดให้ขั้นเงินเดือนของครูที่ทำการสอนในเขตพื้นที่นอกเมือง สูงกว่าขั้นเงินเดือนของครูที่ทำการสอนในเขตพื้นที่ในเมือง  ตามแนวคิดกฎหมายเกี่ยวกับเงินเดือนครูของประเทศอังกฤษ  และกำหนดให้เงินเดือนหรือค่าตอบแทนเป็นพิเศษแก่ครูที่สอนในพื้นที่ที่มีความยากลำบากสูงกว่าครูที่สอนตามพื้นที่ปกติ ตามแนวคิดกฎหมายเกี่ยวกับเงินเดือนครู่ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการจูงใจครูที่มีความสามารถสูงให้ไปพัฒนานักเรียนซึ่งเรียนอยู่นอกเมือง และพื้นที่ซึ่งมีความยากลำบากมากขึ้น  
        2.4  รัฐควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547  ในมาตรา 75  กำหนดค่าตอบแทนครูเป็นเงินวิทยพัฒน์แก่ครูที่ไปพัฒนาตนเอง  เพื่อเพิ่มพูนความรู้และนำความรู้ที่ได้รับมาสอนให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น และออกระเบียบคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)  กำหนดการให้เงินวิทยพัฒน์ ดังกล่าวให้ชัดเจน
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544