หน้าแรก บทความสาระ
“The USA Impeachment Overview : ระบบการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งของสหรัฐอเมริกา”
คุณปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์ น.บ., ร.บ., น.บ.ท. นิติกร กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
29 มกราคม 2555 20:58 น.
 
ความนำ 
                   ระบบการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งเริ่มมีมาตั้งแต่ในสมัยกรีกโบราณ เรียกว่า “eisangelia”[1] ต่อมาระบบรัฐธรรมนูญอังกฤษได้นำมาปรับใช้เป็นกระบวนการกล่าวหาบุคคลที่ใช้อำนาจไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ หรือกระทำการขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยรัฐสภาของอังกฤษได้นำมาบังคับใช้และปฏิบัติติดต่อกันมาจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่อีกด้านหนึ่งในหลาย ๆ ด้านของรัฐสภา อันประกอบด้วย สภาขุนนางและสภาสามัญที่จะต้องปฏิบัติ และหลักการดังกล่าวนี้ในภายหลังได้แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ อีกหลายประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับที่มาของระบบการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งของประเทศอังกฤษอันถือได้ว่าเป็น “แบบฉบับ” ของหลักการดังกล่าวนี้ ได้เกิดขึ้นในสมัยที่พระมหากษัตริย์ของประเทศอังกฤษมีพระราชอำนาจมากในการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้ใดก็ได้ที่ทำหน้าที่ในการบริหารหรือปกครองประเทศ[2] กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจ ในการปกครองพร้อมทั้งแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้สมาชิกรัฐสภาเกิดความไม่พอใจและเกิดความขัดแย้งขึ้น รัฐสภาโดยสภาสามัญได้ใช้อำนาจฟ้องร้องกล่าวโทษรัฐมนตรีที่ประพฤติผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ต่อสภาขุนนางเพื่อพิจารณาโทษ และเมื่อสภาขุนนางได้พิจารณาแล้วได้มีการพิพากษาลงโทษปรับและจำคุก พร้อมทั้งถอดออกจากตำแหน่งหน้าที่และตัดผลประโยชน์ที่จะได้รับด้วย... ซึ่งวิธีการเช่นนี้ เรียกว่า “อิมพีชเมนต์” (Impeachment) [3]
                  
                   อย่างไรก็ดี แม้ประเทศอังกฤษจะเป็นดินแดนซึ่งให้กำเนิดแนวคิดเกี่ยวกับหลักการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งหรือที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า “ระบบอิมพีชเมนต์” ก็ตาม แต่บ่อยครั้งผู้คนมักเข้าใจว่า ดินแดนซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของระบบอิมพีชเมนต์นั้น น่าจะได้แก่ “สหรัฐอเมริกา” อันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทั้งนี้ อาจด้วยสาเหตุว่า ระบบอิมพีชเมนต์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกานั้นมีการวางรูปแบบกระบวนวิธีการที่ดีและมีการดำเนินงานที่ทรงประสิทธิภาพ ทั้งปรากฏว่ามีการดำเนินกระบวนการอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางฝ่ายบริหารของสหพันธรัฐที่ยิ่งใหญ่ของโลก คือ ประธานาธิบดี ดังนั้น ระบบการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งของสหรัฐอเมริกาจึงมีความน่าสนใจและมีรายละเอียดกระบวนการที่น่าศึกษา ทั้งนี้ อาจใช้เป็นองค์ความรู้เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับระบบการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งของประเทศไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
                   ในโอกาสนี้ จึงขอเสนอบทความวิชาการ เรื่อง “The USA Impeachment Overview: ระบบการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งของสหรัฐอเมริกา” โดยเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความหมาย เจตนารมณ์และลักษณะสำคัญของระบบอิมพีชเมนต์ในทางสากล ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิดและกระบวนวิธีการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งของสหรัฐอเมริกา (Impeachment)เพื่อเป็นกรณีศึกษาและทำความเข้าใจสำหรับท่านผู้อ่านโดยเฉพาะ
        
       

       ความหมายของระบบอิมพีชเมนต์[4]     

       
       โดยทั่วไปแล้วระบบอิมพีชเมนต์ (Impeachment) ที่ได้มีการปรับใช้ในนานาประเทศนั้น หมายถึง การไต่สวนเพื่อการถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยเป็นกระบวนการซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติใช้เพื่อการควบคุมการบริหารและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งการบริหารระดับสูง หรือการฟ้องร้องกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูงของรัฐบาล โดยสภาผู้แทนราษฎรหรือโดยสภาสูง (วุฒิสภา) หรืออาจหมายถึงกลไกที่ใช้ในควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยเปิดโอกาสให้มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระการดำรงตำแหน่ง เพราะเหตุว่า หากปล่อยให้บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือภยันตรายต่อประเทศชาติและประชาชน
       หากพิจารณาทฤษฎีกฎหมายมหาชน โดยเฉพาะหลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักการจำกัดตนเองของรัฐ และหลักนิติรัฐแล้ว ล้วนแต่สนับสนุนให้ “องค์กรทางการเมือง” ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือตรวจสอบฝ่ายบริหารว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ ด้วยแนวความคิดที่ว่า “เพื่อให้อำนาจสามารถยับยั้งอำนาจด้วยกันได้และเพื่อให้แต่ละอำนาจอยู่ในกรอบของกฎหมายที่ได้มีการกำหนดไว้” ดังนั้น หากบุคคลใดใช้อำนาจรัฐไปในทางมิชอบ หรือไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว องค์กรทางการเมืองย่อมมีสิทธิและสามารถขับบุคคลผู้นั้น ออกจากตำแหน่งได้[5]
       จึงอาจกล่าวได้ว่า “ระบบอิมพีชเมนต์” เป็นกลไกและมาตรการสำคัญที่ใช้สำหรับลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด โดยจะใช้วิธีการขับออกจากตำแหน่งผ่าน “องค์กรทางการเมือง” กล่าวคือ องค์กรทางการเมืองจะเป็นผู้ตัดสินใจในการขับบุคคลเช่นว่านั้นออกจากตำแหน่งหากมีเหตุอันควร[6] ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นที่นิยมอย่างมากและใช้กันอย่างแพร่หลายไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป กลุ่มประเทศเอเชีย  รวมถึงประเทศไทยของเรา[7]
        
       

       เจตนารมณ์และลักษณะสำคัญของระบบอิมพีชเมนต์

       
                 การควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง หรือวิธีการอิมพีชเมนต์ (Impeachment) เป็นวิธีการ “ควบคุมการใช้อำนาจรัฐ” เพื่อประกันความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินการภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ โดยมุ่งหมายที่จะควบคุม “การกระทำ” เฉพาะการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือ ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ “บุคคล” ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งต่าง ๆ โดยหากบุคคลเช่นว่านั้นมิได้กระทำการตามอำนาจหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย ก็อาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งนั้นได้ ทั้งนี้ การควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยการถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นวิธีการที่มุ่งควบคุมผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐในด้านตัวบุคคลเป็นสำคัญ โดยส่วนใหญ่มักจะมุ่งควบคุมหัวหน้าฝ่ายบริหาร และรัฐมนตรี แต่ขอบเขตในด้านตัวบุคคลนี้อาจครอบคลุมถึงตำแหน่งอื่น ๆ ได้ ตามแต่ที่รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศจะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ[8]  และหากศึกษาประวัติศาสตร์ในการบังคับใช้ระบบอิมพีชเมนต์ซึ่งได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศนั้น ล้วนแล้วแต่ดำเนินกระบวนพิจารณาโดย“วิธีการพิเศษ”เป็นการเฉพาะ โดยไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามปกติ โดยมีความมุ่งหมาย ดังต่อไปนี้ [9]
       ๑.   เพื่อให้เกิดความแน่นอนในการดำเนินคดีต่อบุคคลผู้มีอำนาจในทางบริหารในขณะนั้น (ซึ่งบุคคลดังกล่าวอาจจะกลับมามีอำนาจในการบริหารอีก)
       ๒.   เพื่อป้องกันไม่ให้ศาลยุติธรรมต้องเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาในทางการเมือง และ
       ๓.   เพื่อประโยชน์ของผู้ต้องหาในคดี ในอันที่จะได้รับการพิจารณาและพิพากษาจากองค์กรที่สามารถพิจารณาปัญหาได้ทุกด้าน
       นอกจากนี้ ระบบการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง (Impeachment) ซึ่งได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศโดยมีรูปแบบและกระบวนการบังคับใช้แตกต่างกันออกไปนั้น  ไม่ว่าจะมีการบังคับใช้ในรูปแบบใดก็ตาม ระบบการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งจะมีลักษณะพิเศษ[10] กล่าวคือ
       ๑.     เป็นระบบการควบคุมโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารเป็นหลัก 
       ๒.   เป็นการควบคุมฝ่ายบริหารในด้านตัวบุคคล โดยการถอดถอนออกจากตำแหน่ง อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงขณะดำรงตำแหน่ง
       ๓.   เป็นกระบวนการควบคุมทางการเมือง แยกออกจากกระบวนการควบคุมทางศาลยุติธรรม
       ๔.   องค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเป็นหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน
       ๕.   เป็นระบบที่มีบทบัญญัติกำหนด “วิธีพิจารณา” และ “กลไก” ไว้โดยชัดแจ้งเพื่อให้มีการดำเนินงานที่รวดเร็วและยืนยันความถูกต้องของข้อมูลที่รัดกุม
       ๖.   องค์กรตรวจสอบจะต้องมีหน่วยงานบริหารที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน
        
       

       ระบบอิมพีชเมนต์กับแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา                       

       
                   ประเทศสหรัฐอเมริกามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี (presidential system) นับแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อปี ค.ศ. ๑๗๘๙ ซึ่งมีพัฒนาการมาจากความต้องการที่จะเป็นอิสระแยกจากจักรวรรดิอังกฤษ โดยจะพบว่า ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญได้มีการวางโครงสร้างรัฐธรรมนูญจากประสบการณ์ และปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษ ประกอบกับอิทธิพลทางความคิดของนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ จอห์น ล็อค และมองเตสกิเออ โดยนำแนวคิดของหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักการดุลและคานอำนาจ รวมถึงหลักการคุ้มครองและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย[11]
                   นอกจากนี้ หากพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาจะพบว่า“การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” เป็นหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ จากประสบการณ์ในการเป็นดินแดนภายใต้อาณานิคม ทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้นได้มองเห็นข้อบกพร่องของการปกครองระบอบรัฐสภาของอังกฤษในยุคนั้น และการใช้พระราชอำนาจตามแต่พระราชหฤทัย การใช้อำนาจของรัฐสภาในการตรากฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนความต้องการของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้สหพันธรัฐมีผู้นำที่เข้มแข็งและสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ เหล่านี้จึงได้เป็นที่มาของการจัดระบบการปกครองที่มีการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ได้จัดทำขึ้นเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ในการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว[12]
                   อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลักการของระบบอิมพีชเมนต์ของสหรัฐอเมริกาจะแตกต่างจากประเทศอังกฤษอยู่บ้าง โดยมิได้มีขอบเขตการตัดสินและลงโทษทางอาญาที่กว้างขวางดังเช่นระบบที่ใช้ในประเทศอังกฤษ แต่ความมุ่งหมายโดยพื้นฐานในการบังคับใช้ก็คือการมุ่งควบคุมการใช้อำนาจรัฐเช่นกัน โดยการนำหลักการของระบบดังกล่าวมาใช้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกานี้ อยู่บนพื้นฐานของความเห็นที่ว่า การไต่สวนฟ้องร้องเพื่อถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งนั้นเป็นเรื่องที่เกิดจากการกระทำอันมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรืออาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือฝ่าฝืนขอบเขตที่ได้รับมอบหมายจากมหาชน ดังนั้น กระบวนการอิมพีชเมนต์จึงเป็น “เรื่องที่เกี่ยวข้องในทางการเมือง” มิใช่ “เรื่องในทางตุลาการ” เนื่องจากความเสียหายเกิดขึ้นกับสังคมโดยตรง และผลของคำตัดสินลงโทษจำกัดเพียงการถอดถอนออกจากตำแหน่งเท่านั้น มิใช่เป็นการลงโทษทางอาญา ซึ่งฐานความผิดที่กล่าวหาโดยรัฐสภานั้น ไม่จำต้องเป็นความผิดในทางอาญาเสมอไป
        
       

       ระบบการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งของสหรัฐอเมริกา[13] 

       

                   รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาได้กำหนดหลักการทั่วไปเกี่ยวกับการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง (Impeachment) ไว้เป็นหลักการสำคัญ โดยองค์กรหลักที่เกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าวนี้ได้แก่องค์กรทางการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติทั้ง ๒ องค์กร กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) เป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาและเสนอข้อกล่าวหาบุคคลต่อวุฒิสภา และวุฒิสภา (Senate) จะเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการพิจารณาและลงมติตัดสินอันถือเป็นข้อยุติและมีผลให้บุคคลผู้ถูกกล่าวหาถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยมีกระบวนการและรายละเอียดดังนี้
        
       ๑)  บุคคลผู้ถูกกล่าวหา
                         ผู้ที่จะถูกกล่าวหาเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งได้นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้กระทำได้เฉพาะแต่ ประธานาธิบดี (President) รองประธานาธิบดี (Vice President) และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนของรัฐ (Civil Officers)[14] ทั้งหมด
       
                         โดยในทางปฏิบัติได้มีการตีความขอบเขตของการบังคับใช้วิธีการอิมพีชเมนต์กับบุคคลผู้ถูกกล่าวหาประเภท “เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนของรัฐ”[15] ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนทั้งหมดซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหาร รวมถึงผู้พิพากษา(judge)ด้วย (ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกฟ้องร้อง    ถอดถอนมักจะเป็นผู้พิพากษา) ทั้งนี้ มิได้หมายความรวมถึง ทหาร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีปรากฏเป็นแนวคำพิพากษาในคดีของวุฒิสมาชิกวิลเลี่ยม เบลาน์ท (William Blount ) ในปี ค.ศ. ๑๗๙๗ ซึ่งเป็นคดีอิมพีชเมนต์คดีแรกในประวัติศาสตร์ โดยผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งว่าตนซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนของรัฐ” ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอันจะถูกถอดถอนด้วยกระบวนการอิมพีชเมนต์ได้ ซึ่งวุฒิสภาเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งดังกล่าวและมีมติว่าวุฒิสภาไม่มีอำนาจในการพิจารณา (ought not to hold jurisdiction) ให้ยกข้อกล่าวหาเสีย จากนั้นจึงเป็นแนวบรรทัดฐานในการพิจารณาว่า สมาชิกรัฐสภาไม่อาจถูกกล่าวหาในกรณีอิมพีชเมนต์ได้ ทั้งนี้เพราะสมาชิกรัฐสภาอาจถูกถอดได้โดยวิธีการเฉพาะซึ่งแต่ละสภาสามารถลงโทษสมาชิกที่ประพฤติตนขัดต่อความสงบเรียบร้อยโดยพิจารณาลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ขับสมาชิกออกจากการดำรงตำแหน่งได้”[16]     
                         โดยรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกากำหนดให้การดำเนินกระบวนการอิมพีชเมนต์เป็นวิธีเดียวที่สามารถควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นรายบุคคลได้ และการดำเนินกระบวนพิจารณาก่อนที่จะกล่าวหาและพิจารณาเพื่อขับออกจากตำแหน่งโดยรัฐสภานั้น ต้องปรากฏว่าผู้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดขณะดำรงตำแหน่งตามฐานความผิดที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้โดยจำกัดฐานความผิด     ที่เป็นเหตุกล่าวหาสำหรับความผิดตามกระบวนการอิมพีชเมนต์ด้วยกัน ๓ ฐานความผิด คือ ความผิดฐานทรยศต่อประเทศ (treason) ความผิดฐานรับสินบน (bribery) และความผิดอาญาระดับสูงและประพฤติมิชอบ(high crime and misdemeanors)[17]
       

       
๒)  สภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) : องค์กรผู้กล่าวหา
                         รัฐธรรมนูญประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แบ่งอำนาจในการฟ้องร้องและพิจารณาตัดสินของรัฐสภาในกรณีอิมพีชเมนต์ออกเป็น ๒ ส่วน โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่มีอำนาจกล่าวโทษ และวุฒิสภาเป็นองค์กรที่มีอำนาจที่จะพิจารณาและตัดสิน ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะที่องค์กรเดียวกันทำหน้าที่เป็นทั้งผู้กล่าวโทษและตัดสินในขณะเดียวกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ โดยกำหนดให้ “สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจที่จะยื่นข้อกล่าวหาเพื่อถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งแต่เพียงองค์กรเดียว”[18] และทำได้เพียงไต่สวนข้อเท็จจริงที่อ้างเป็นพยานหลักฐานในขั้นต้นว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นได้กระทำความผิดมีมูลตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หรือไม่
       

       
๓)  การดำเนินกระบวนการพิจารณาอิมพีชเมนต์ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร
                         ดังที่ได้นำเสนอแล้วว่า สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เริ่มกระบวนการกล่าวหาต่อวุฒิสภาว่ามีการกระทำตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่ โดยกระบวนพิจารณาข้อกล่าวหาของสภาผู้แทนราษฎร มีลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 
                         (๑) การดำเนินกระบวนการถอดถอนจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการแจ้งว่าเกิดความผิดอันเป็นฐานความผิดในกรณีอิมพีชเมนต์ขึ้น ซึ่งการแจ้งข้อกล่าวหานั้น โดยปกติจะมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งแจ้งต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือได้รับข้อมูลจากการทำงานของอัยการอิสระ(independent counsel) ซึ่งพบข้อเท็จจริงที่อาจเป็นเหตุให้ถอดถอนได้
                         (๒) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมอบหมายให้คณะกรรมาธิการยุติธรรม (The Judiciary Committee) พิจารณาและลงมติในเบื้องต้นว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นเพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนต่อไปหรือไม่ หากคณะกรรมาธิการยุติธรรมลงมติเห็นชอบว่าข้อมูลที่ได้รับในเบื้องต้นนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่กระบวนการถอดถอน ก็จะส่งความเห็นไปให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบในการดำเนินการไต่สวนเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไป
                         (๓) หากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ดำเนินการไต่สวนเพื่อดำเนินการถอดถอน คณะกรรมาธิ การยุติธรรมจะทำการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยการเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ซึ่งการไต่สวนนั้นจะต้องกระทำโดยเปิดเผย ยกเว้นกรณีที่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะเป็นอันตรายต่อประเทศ เป็นที่เสื่อมเสียต่อการบังคับใช้กฎหมาย อาจเป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงของบุคคล หรือขัดต่อกฎหมายหรือข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร
                         (๔) หลังจากดำเนินกระบวนการพิจารณาสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากเห็นว่าเพียงพอที่จะเสนอข้อกล่าวหาเพื่อถอดถอนได้ คณะกรรมาธิการยุติธรรมจะทำความเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหา โดยเสนอเป็นคำฟ้องเป็นรายข้อ เรียกว่า “Articles of Impeachment” พร้อมทั้งคำแนะนำ (Recommendations) ในข้อกล่าวหาแต่ละข้อด้วย และส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการยุติธรรมนี้ไม่ผูกพันต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะต้องมีความเห็นหรือมีมติในทำนองเดียวกันกับที่คณะกรรมาธิการเสนอคำแนะนำ[19]
                         (๕) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะได้รับเอกสารเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเพื่อนำไปพิจารณา และสามารถอภิปรายตามข้อกล่าวหาก่อนที่จะทำการลงมติได้ โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะทำการลงมติเห็นชอบตามข้อกล่าวหาดังกล่าวโดย “มติเสียงข้างมาก” ซึ่งการลงมตินั้นจะลงมติรวมกันทุกข้อกล่าวหาหรือจะแยกลงมติแต่ละข้อกล่าวหาก็ได้ ข้อกล่าวหาใดที่ผ่านความเห็นชอบอาจถูกแก้ไขได้ แต่จะเพิ่มบทความผิดมากกว่าที่คณะกรรมาธิการยุติธรรมสรุปมาไม่ได้ เพราะแต่ละข้อกล่าวหาได้มีการดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงทั้งการรับฟังพยานหลักฐานในขั้นกรรมาธิการแล้ว
                         (๖) หลังจากลงมติแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจะส่งคำฟ้องข้อกล่าวหาเพื่อถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง เรียกว่า “The Bill of Impeachment” ไปยังวุฒิสภา เพื่อทำการพิจารณาและตัดสินต่อไป
        
       ๔)  วุฒิสภา(senate) : องค์กรผู้ทำหน้าที่พิจารณาและตัดสิน
                         รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกากำหนดให้วุฒิสภา (Senate) มีอำนาจพิจารณาข้อกล่าวหาให้ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวหาฟ้องร้องแต่เพียงองค์กรเดียว ซึ่งการตัดสินในกรณีอิมพีชเมนต์นี้ กระทำโดยสมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกวุฒิสภาที่มาประชุม[20]
                         ซึ่งมีข้อพิจารณาว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภาเป็นองค์กรพิจารณาตัดสินคดี อิมพีชเมนต์ ไม่ใช่ศาลสูงสุด (Supreme Court) ด้วยแนวคิดที่ว่า การดำเนินกระบวนพิจารณานี้จะต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของการตัดสิน และวุฒิสภาเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาและตัดสินคดีดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมมีความเป็นอิสระอย่างเพียงพอ ทั้งยังเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลการใช้อำนาจขององค์กรผู้กล่าวหา คือ สภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งหากมอบอำนาจดังกล่าวให้แก่ฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะศาลสูงจะทำให้ศาลต้องปฏิบัติงานมากขึ้น และการที่ผู้พิพากษานั้นมิได้มาจากการเลือกตั้ง จะมีผลให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในการที่จะมอบอำนาจนี้ให้แก่ฝ่ายตุลาการ  
                         นอกจากนั้น การดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมมีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวและเข้มงวดหลายประการ กระบวนการดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับกระบวนการอิมพีชเมนต์ ซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้พิจารณาและตัดสินที่มีดุลพินิจอย่างกว้างขวาง เพื่อที่จะกระทำการชี้ขาดบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ จึงมิควรมอบหมายภาระหน้าที่นี้ให้แก่คนกลุ่มน้อย (องค์คณะศาล) และกระบวนพิจารณาฟ้องร้องเพื่อถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งนั้นมุ่งผลเฉพาะการออกจากตำแหน่งของผู้ที่ดำรงตำแหน่งเท่านั้น ไม่มีผลให้การลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดยุติลง ผู้กระทำความผิดยังอาจถูกฟ้องร้องและอาจต้องได้รับโทษตามกฎหมายได้หากการกระทำนั้นเป็นความผิดในทางแพ่งหรืออาญาได้อยู่ จึงไม่เป็นการสมควรที่จะให้องค์กรเดิมที่มีอำนาจในฐานะองค์กรผู้พิจารณามีอำนาจตัดสินในอีกคดีหนึ่งไปพร้อมกัน
                         โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาก็อาจถูกตรวจสอบตามกระบวนการอิมพีชเมนต์ได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะทำให้การพิจารณาและตัดสินขาดความยุติธรรมได้และผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาจไม่สะดวกที่จะพิจารณาถอดถอนผู้เป็นประธานาธิบดีได้ เนื่องจากประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาให้เข้าดำรงตำแหน่ง
       

       
๕)  การพิจารณาและตัดสินในชั้นวุฒิสภา
                     วุฒิสภาเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาและตัดสินวินิจฉัยถอดถอน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้  โดยเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาข้อมูลและพยานหลักฐานและลงมติให้เสนอข้อกล่าวหาต่อไปแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาและตัดสินของวุฒิสภา ดังต่อไปนี้
                         (๑) สภาผู้แทนราษฎรจะมีการแต่งตั้งคณะบุคคล เรียกว่า “managers” ทำหน้าที่เสมือนพนักงานอัยการในนามของสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่กล่าวหาฟ้องร้องตามข้อกล่าวหา และแสดงพยานหลักฐานต่อวุฒิสภาดังเช่นการดำเนินกระบวนพิจารณาแบบมีข้อพิพาท
                         (๒) กระบวนการพิจารณาถอดถอนของวุฒิสภาเริ่มต้นขึ้น โดยสมาชิกวุฒิสภาจะต้องสาบานตน และเริ่มดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งต้องกระทำโดยเปิดเผย โดยมีประธานวุฒิสภาเป็นประธานในการพิจารณา เว้นแต่กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหานั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้ที่จะทำหน้าที่ประธานในการพิจารณา ได้แก่ ประธานศาลสูงสุด (The Chief Justice)[21]
                          (๓) เปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายผู้กล่าวหาโดย Managers และฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา กล่าวอ้างและคัดค้านพร้อมทั้งอ้างพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของฝ่ายตน โดยมีลักษณะเช่นเดียวกับการพิจารณาในศาลยุติธรรม ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิแต่งตั้งผู้แทนหรือทนายความได้ โดยการพิจารณานี้เป็นไปโดยเปิดเผยซึ่งประชาชนสามารถเข้าฟังการพิจารณาได้
                               โดยในการพิจารณานี้ เพื่อความสะดวกในการดำเนินการ วุฒิสภาได้อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญกำหนดข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการพิจารณาถอดถอนขึ้น เรียกว่า “Rules of Procedure and Practice in The Senate when sitting on impeachment trials” โดยในข้อบังคับข้อที่ ๑๑ ได้ให้อำนาจประธานที่ประชุมวุฒิสภาตามความเห็นของวุฒิสภา แต่งตั้งคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่รับฟังพยานหลักฐานและคำให้การของพยานแทนวุฒิสภาทั้งหมด และมีหน้าที่รายงานต่อวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภาตัดสินต่อไป แต่มิได้กำหนดให้วุฒิสภานำรายงานที่คณะกรรมาธิการสรุปมาเป็นหลักในการพิจารณา และยังเปิดโอกาสให้วุฒิสภาสามารถรับฟังพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้อีกด้วย
                         (๔) เมื่อวุฒิสภาได้รับรายงานสรุปสำนวนการไต่สวนพยานหลักฐานจากคณะกรรมาธิการวุฒิสภาแล้ว จะเริ่มการพิจารณาโดยผู้ถูกกล่าวหาหรือทนายความของคู่ความมีสิทธิเข้ารับฟังการพิจารณาของวุฒิสภาได้  นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้คู่ความสามารถซักถามพยานบุคคล และคู่ความฝ่ายตรงข้ามมีสิทธิถามค้านพยานบุคคลนั้นได้ โดยวุฒิสภามีอำนาจเรียกพยานมาในชั้นพิจารณาและซักถามพยานเพิ่มเติมได้อีกเช่นกัน
                               ทั้งนี้ กระบวนพิจารณาของวุฒิสภาจะต้องกระทำการโดยเปิดเผย เว้นแต่กรณี   การลงมติตัดสินของวุฒิสภาแต่ละข้อกล่าวหา จึงจะกระทำเป็นการลับ 
                         (๕) วุฒิสภาจะดำเนินการลงมติตัดสินโดยก่อนการลงมตินั้น สมาชิกวุฒิสภาสามารถอภิปรายในข้อกล่าวหาได้ โดยการลงมติของวุฒิสภาจะต้องลงมติเป็นการลับแยกแต่ละข้อกล่าวหา การตัดสินจะตัดสินทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยพิจารณาว่า มีข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่ และการกระทำนั้นเป็นความผิดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าเป็นเหตุให้ถอดถอนหรือไม่อีกประการหนึ่ง มติในการการตัดสินว่าบุคคลมีความผิดในแต่ละข้อกล่าวหานั้น ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกวุฒิสภาที่เข้าประชุมขณะนั้น 
       
                   โดยวุฒิสภาจะต้องพิจารณาลงมติในข้อกล่าวหาเป็นรายข้อ หากข้อกล่าวหาใด “แม้เพียงข้อเดียว” ได้รับการลงมติ (be convicted on one or more of the articles against him or her) ว่ามีความผิดจริง ผู้ถูกกล่าวหาก็จะต้องถูกถอดถอนโดยผลของกฎหมายทันที โดยไม่ต้องมีการลงมติออกเสียงอย่างเป็นทางการว่าให้ถอดถอนบุคคลผู้ถูกกล่าวหา    ออกจากตำแหน่งอีก อย่างไรก็ดี การตัดสินเพิ่มเติมให้บุคคลดังกล่าวนั้นขาดจากคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งในหน่วยงานใด ๆ ของรัฐ วุฒิสภาจะต้องมีมติโดยเสียงข้างมาก[22]
        
       ๖)  ผลทางกฎหมายของคำตัดสินในคดีอิมพีชเมนต์
                    รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกากำหนดให้ผลของคำวินิจฉัยในคดีอิมพีชเมนต์ต้องมีขอบเขตไม่เกินไปกว่าการถอดถอนออกจากตำแหน่ง  และขาดจากคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ โดยผู้ถูกตัดสินว่ากระทำผิดนั้นยังอาจถูกฟ้องร้อง และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาพิพากษาและลงโทษตามกฎหมายอื่นได้[23]
                    อนึ่ง ผลของคำตัดสินตามกระบวนการอิมพีชเมนต์ของวุฒิสภานั้น ประธานาธิบดีไม่สามารถใช้อำนาจในฐานะประธานาธิบดีในการลดหย่อนหรืออภัยโทษ (power to grant Reprieves and Pardons for Offenses against the United States) ได้[24] อันแสดงถึงการมอบอำนาจอย่างเด็ดขาดในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งของวุฒิสภานั่นเอง
            นอกจากนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้มีการอุทธรณ์ในกระบวนการอิมพีชเมนต์ได้
       แต่ได้ให้อำนาจแก่วุฒิสภาเป็นองค์กรที่มีอำนาจเพียงหนึ่งเดียวในการพิจารณาและตัดสินในระบบการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง จึงอาจถือได้ว่ากระบวนการอิมพีชเมนต์นั้นสิ้นสุดลงและถือเป็นอันยุติในขั้นตอนการพิจารณาตัดสินของวุฒิสภาเท่านั้น 
        

       

       ความส่งท้าย 

       
                   หลักการควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งหรือวิธีการ อิมพีชเมนต์ (impeachment) เป็นวิธีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐเพื่อประกันความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมุ่งควบคุม “การกระทำ” ของ “บุคคล” ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นวิธีการที่มุ่งหมายควบคุมในด้านตัวบุคคลเป็นสำคัญ โดยส่วนใหญ่จะมุ่งควบคุมหัวหน้าฝ่ายบริหารและรัฐมนตรี แต่การควบคุมนี้อาจครอบคลุมถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ได้ แล้วแต่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศนั้น ๆ
                   กระบวนการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งหรือ “อิมพีชเมนต์” ของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ถือได้ว่าเป็นกลไกที่สำคัญประการหนึ่งของการควบคุมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมี ความสอดคล้องกับหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ แม้จะเป็นกระบวนการควบคุมทาง การเมือง แต่ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของฝ่ายตุลาการภายใต้หลักการที่แยกองค์กรผู้ฟ้องร้องออกจากองค์กรที่มีอำนาจตัดสินชี้ขาด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้องค์กรเดียวกัน     ทำหน้าที่ตลอดทั้งกระบวนการ และมีการกำหนดรายละเอียดการพิจารณาตัดสินโดย “วุฒิสภา”   ซึ่งเป็นองค์กรชี้ขาดไว้อย่างชัดเจน
                   อย่างไรก็ดี มีข้อควรพิจารณาซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางประการหนึ่งว่า หากบุคคลผู้ถูกกล่าวหาได้พ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อนที่กระบวนพิจารณาถอดถอนจะเสร็จสิ้นลงนั้น องค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาจะต้องยุติการดำเนินการหรือไม่ ซึ่งปัญหาในกรณีดังกล่าวนี้ รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาหรือแม้แต่ของประเทศไทยเองก็มิได้วางหลักการไว้อย่างชัดเจน       แต่หากพิจารณาจากแนวทางปฏิบัติของสหรัฐอเมริกาแล้วจะพบว่า ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาลาออก (Resign) ก่อนกระบวนพิจารณาการถอดถอนเสร็จสิ้นลง การดำเนินการก็มักจะยุติเสียเป็นส่วนใหญ่แต่ก็มิใช่ทั้งหมด ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า “แม้เป็นทางปฏิบัติของสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีระบบอิมพีชเมนต์ที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงการวิชาการ ก็ไม่อาจที่จะนำมายึดถือเทียบเคียงหรืออนุโลมใช้กับระบบการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งในประเทศอื่น ๆ ซึ่งอาจมีเหตุผลและบริบทในการบังคับใช้ระบบดังกล่าวแตกต่างกันไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของแต่ละประเทศได้” ดังนั้น เพื่อให้ไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ การกำหนดหลักการในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศให้มีความชัดเจนก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับระบบการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ...
        
       ----------------------------------------------------
        
        
        
       

       
       

       
       

       [1] ณวัฒน์ ศรีปัดถา, “ความเป็นไปได้ในการนำหลักการในระบบอิมพีชเมนต์ของประเทศสหรัฐอเมริกามาปรับใช้กับการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”, (วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๔), หน้า ๓๒.

       
       

       [2] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, “ระบบการตรวจสอบทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง (Impeachment)”, พิมพ์ครั้งแรก, (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๓๘), หน้า ๓๓.

       
       

       [3]  “... การต่อสู้ระหว่างรัฐสภากับพระมหากษัตริย์นั้นเป็นการต่อสู้เพื่อที่จะลดทอนอำนาจของ พระมหากษัตริย์ โดยการถอดถอนรัฐมนตรีผู้ซึ่งเกื้อกูลอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยทั่วไปรัฐสภาจะใช้กระบวนการอิมพีชเมนต์ก็ต่อเมื่อรัฐสภาเห็นว่า การกระทำของรัฐมนตรีผู้นั้นมีพฤติกรรมที่ทำลายระบบรัฐสภา ...” ดูเพิ่มเติม  ณวัฒน์ ศรีปัดถา, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑, หน้า ๓๒-๓๓.

       
       

       [4]โปรดดูเพิ่มเติมใน กิตติพงษ์ เกียรติวัชรชัย, “การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยประชาชน”, (วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๒), หน้า ๔๑.

       
       

       [5] เพิ่งอ้าง, หน้า ๒๖.

       
       

       [6] เพิ่งอ้าง, หน้าเดียวกัน.

       
       

       [7] อย่างไรก็ดี ในกรณีของประเทศไทยนั้น บทบัญญัติในมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติให้กระบวนการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งจาก “องค์กรทางการเมือง” กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (หรือสมาชิกวุฒิสภาเฉพาะการร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกวุฒิสภาด้วยกัน) ใช้สิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลตามมาตรา ๒๗๐ ออกจากตำแหน่ง.
         และจาก “ภาคประชาชน” คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนสามารถใช้สิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลตามมาตรา ๒๗๐ ออกจากตำแหน่งได้เช่นกัน  ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าระบบการถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญของไทยเป็นระบบที่ “ภาคประชน” มีส่วนร่วมในการเริ่มกระบวนการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งได้เช่นเดียวกับ “องค์กรทางการเมือง” ดังกล่าว แต่ยังไม่ถึงกับสามารถลงคะแนนเสียงถอดถอนบุคคลได้ ดังเช่นระบบการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยประชาชน หรือที่เรียกว่า ระบบรีคอลล์ (Recall) ซึ่งใช้ในกรณีการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริการท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๘๕ .

       
       

       [8] ดูเพิ่มเติม ณวัฒน์ ศรีปัดถา, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑, หน้า ๓๑.

       
       

       [9] อมร จันทรสมบูรณ์, “กฎหมายปกครอง”, (กรุงเทพฯ :  บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๒๐) หน้า ๙๗. อ้างถึงใน/ดูเพิ่มเติม กานดา สิริฤทธิภักดี,“การนำ “ระบบอิมพีชเมนต์” มาใช้ในประเทศไทย”, (วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๘), หน้า ๑๙๐-๑๙๑.

       
       

       [10] กานดา สิริฤทธิภักดี,เพิ่งอ้าง, หน้า ๓๗-๓๘.

       
       

       [11] ณวัฒน์ ศรีปัดถา, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑, หน้า ๓๘.

       
       

       [12] เพิ่งอ้าง, หน้า ๓๙.

       
       

       [13] ดูเพิ่มเติม ณวัฒน์ ศรีปัดถา, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑, หน้า ๔๒ - ๖๘ และโปรดดู T.J. Halstead, “An Overview of the Impeachment Process” (Congressional Research Service; The Library of Congress), April 20, 2005. และ Elizabeth B. Bazan and Anna C. Henning, “Impeachment: An Overview of Constitutional Provisions, Procedure, and Practice” (Congressional Research Service; The Library of Congress), October 14, 2009.

       
       

       [14] United State constitution:  Article II,  Section 4;  “The President, Vice President and all civil Officers of the United States, shall be removed from Office on Impeachment for, and Conviction of, Treason, Bribery, or other high Crimes and Misdemeanors.”

       
       

       [15] ดูเพิ่มเติม  Elizabeth B. Bazan and Anna C. Henning, “Impeachment: An Overview of Constitutional Provisions, Procedure, and Practice” (Congressional Research Service; The Library of Congress), October 14, 2009, pp. 17-18.

       
       

       [16] United State constitution:  Article I,  Section 5, clause 2 ;  “Each House may determine the rules of its proceedings, punish its members for disorderly behavior, and, with the concurrence of two thirds, expel a member.”

       
       

       [17]United State constitution:  Article II,  Section 4.

       
       

       [18] United State constitution:  Article I,  Section 2, clause 5 ;  “The House of Representatives …shall have the sole Power of Impeachment.”

       
       

       [19] โปรดดู  T.J. Halstead, “An Overview of the Impeachment Process” (Congressional Research Service; The Library of Congress), April 20, 2005, p. 3.

       
       

       [20] United State constitution:  Article I,  Section 3, clause 6 and 7 ;  “The Senate shall have the sole Power to try all Impeachments. When sitting for that Purpose, they shall be on Oath or Affirmation. When the President of the United States is tried, the Chief Justice shall preside: And no Person shall be convicted without the Concurrence of two thirds of the Members present.” 
       “Judgment in Cases of Impeachment shall not extend further than to removal from Office, and disqualification to hold and enjoy any Office of honor, Trust or Profit under the United States: but the Party convicted shall nevertheless be liable and subject to Indictment, Trial, Judgment and Punishment, according to Law.”.
        

       
       

       [21] United State constitution:  Article I,  Section 3, clause 6.

       
       

       [22]  โปรดดู T.J. Halstead, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒๐ , หน้า ๕-๖.

       
       

       [23] United State constitution:  Article I,  Section 3, clause 7.

       
       

       [24] United State constitution:  Article II,  Section 2, clause 1

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544