หน้าแรก บทความสาระ
ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการนำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ: ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างไทยกับอังกฤษ
อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง น.บ. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สัมฤทธิบัตรกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและกฎหมาย มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร อีเมลล์ pedithep.youyuenyong@email.dmu.ac.uk
25 มีนาคม 2555 20:58 น.
 
[1] บทนำ
       จากกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้วินิจฉัยและมีมติห้ามมิให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการเตรียมความพร้อมของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในระดับต่างๆหรือลีกต่างๆไม่ว่าสโมสรนั้นจะมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนหรือไม่ก็ตาม โดยการที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีมติห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ให้นำงบประมาณเข้าช่วยเหลือสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพและการดำรงอยู่ของสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพของแต่ละท้องถิ่นที่ต้องการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ เช่น ไทยพรีเมียร์ลีก ดิวิชั่น 1 และ ดิวิชั่น 2 เป็นต้น
       ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายปกครองท้องถิ่นและกฎหมายการคลังและภาษีอากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำเงินงบประมาณไปสนับสนุนหรือนำเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปอุดหนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลเพื่อพัฒนาศักยภาพหรือสนับสนุนการเข้าแข่งขันในการแข่งขันในระดับต่างๆหรือลีกต่างๆของประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่ได้มีการแสวงหาหลักเกณฑ์และมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจนในการรองรับการสำหรับกรณีดังกล่าว เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ใดบ้างที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถให้เงินอุดหนุนแก่สโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นได้และหากเข้าหลักเกณฑ์ใดบ้างที่ท้องถิ่นสมควรได้รับงบประมาณในการสนับสนุน เป็นต้น
       จากที่กล่าวมาในข้างต้นล้วนก่อให้เกิดประเด็นทางกฎหมายมหาชนและกฎหมายการคลังท้องถิ่น เพราะการห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ให้นำงบประมาณเข้าช่วยเหลือสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นย่อมถือเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยภายใต้หลักกฎหมายมหาชนโดยทั่วไปว่าด้วยประโยชน์สาธารณะและการจัดทำบริการสาธารณะที่ว่าประชาชนหรือเอกชนทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติที่เสมอภาคภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน แต่อย่างไรก็ดี ผลจากคำวินิจฉัยของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางธุรกิจและทางเศรษฐกิจของสโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่สามารถบริหารจัดการธุรกิจการกีฬาให้สโมสรของตนมีรายได้เลี้ยงตนเองอย่างเพียงพอ ประกอบกับความจำเป็นอื่นๆ ที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนหรืองบประมาณในการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการสโมสรหรือเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาชีพในระดับต่างๆในอนาคต
       กรณีที่ได้กล่าวมาในข้างต้น จึงถือเป็นประเด็นกฎหมายมหาชนทางการกีฬาที่น่าสนใจ ในกรณีที่อนาคตการเจริญเติบโตของการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับการแข่งขันต่างๆหรือลีกต่างๆ มีมากขึ้น ดังนั้น ความอยู่รอดของสโมสรต่างๆ โดยเฉพาะสโมสรที่เป็นตัวแทนของท้องถิ่นในระดับจังหวัดที่ต้องการทั้งความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของสโมสรนั้นๆ และการสร้างชื่อเสียงทางการกีฬาให้กับจังหวัดที่สโมสรนั้นตั้งอยู่จึงอาจเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความอยู่รอดและการดำรงอยู่ของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นนั้นๆ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย
       [2] ปัญหาการนำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันฟุตบอลอาชีพของไทย
       ในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายปกครองที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจและมีอิสระภาพในการบริหารการเงินและการคลังของตนได้ เช่น พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 เป็นต้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้กำหนดให้มีมาตรการทางกฎหมายที่สนับสนุนการกระจายอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ ได้แก่ พระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่ได้กำหนดแผนและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดให้ท้องถิ่นมีอิสระภาพทางการคลังเพื่อท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณที่ได้รับไปจัดทำบริการสาธารณะให้แก่ท้องถิ่นเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาและประชาชนได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะที่ท้องถิ่นจัดทำให้อย่างเท่าเทียม
       แต่อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการเตรียมความพร้อมของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในระดับต่างๆหรือลีกต่างๆไม่ว่าสโมสรนั้นจะมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนหรือไม่ก็ตาม โดยในปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำได้เพียงการให้งบประมาณหรือเงินอุดหนุนสำหรับการก่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่อใช้บริการสาธารณะด้านนันทนาการและการกีฬาสำหรับประชาชนโดยทั่วไป เช่น งบประมาณในการการก่อสร้างสวนสาธารณะให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถพักผ่อนหย่อนใจและเล่นกีฬา และงบประมาณการสร้างสนามกีฬาของเทศบาลเพื่อเปิดให้ประชาชนโดยทั่วไปออกกำลังกายหรือใช้จัดการแข่งขันกีฬาในระดับต่างๆ เป็นต้นนอกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างสาธารณูปโภคด้านนันทนาการและการกีฬาแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังอาจจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนการแข่งขันกีฬาเช่น งบประมาณในการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนโครงการกีฬาต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
       ดังนั้น การที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้วินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับการห้ามมิให้นำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสนับสนุนสโมสรฟุตบอลอาชีพท้องถิ่น อาจพิจารณาได้เป็นสี่ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ประการแรก ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายการคลังและภาษีอากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการเฉพาะเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่น ทั้งนี้ การที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ย่อมสอดคล้องกับหลักกฎหมายมหาชนทั่วไปที่ว่าด้วยเรื่องบริการสาธารณะ กล่าวคือ การให้งบประมาณในการสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นที่มีสถานะภาพเป็นเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะโดยปราศจากหลักเกณฑ์ที่แน่นอนและสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นที่มีสถานะเป็นเอกชนดังกล่าวนำงบประมาณหรือเงินอุดหนุนที่ได้รับไปใช้ในกิจกรรมส่วนตัว โดยที่ประชาชนโดยทั่วไปไม่ได้ประโยชน์อันใดจากกิจกรรมดังกล่าว เช่น หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมอบเงินให้กับสโมสรฟุตบอลอาชีพท้องถิ่น เพียงเพื่อต้องการสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจการกีฬาของสโมสรฟุตบอลอาชีพท้องถิ่น ให้มีศักยภาพทางธุรกิจและเศรษฐกิจเพียงพอในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับภูมิภาคหรือระดับชาติ ย่อมขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดทำบริการสาธารณะโดยทั่วไป เป็นต้น
       ประการต่อมา การปราศจากหลักเกณฑ์ในการมอบงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่แน่นอนและชัดเจนย่อมอาจก่อให้เกิดปัญหาในการทางกฎหมายตามมาในภายหลังและอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติในภายหลัง ซึ่งหากจังหวัดใดมีสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นหลายสโมสร ปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้น ได้แก่ ทีมหรือสโมสรกีฬาฟุตบอลใดอาจได้รับสิทธิในการสนับสนุนงบประมาณหรือเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ตัวอย่างเช่น กรณีของจังหวัดศรีสะเกษ ที่ประกอบด้วยสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นสองสโมสร คือ สโมสรฟุตบอลจังหวัดศรีสะเกษและสโมสรอีสานยูไนเต็ด ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ปัญหาที่อาจตามมาคือทีมใดควรได้รับการสนับสนุนหรือยกฐานะให้เป็นทีมประจำจังหวัดและได้รับการสนับสนุนงบประมาณเป็นการเฉพาะ เป็นต้น ดังนั้น การไร้ซึ่งมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในการนำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสนับสนุนสโมสรฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นย่อมก่อให้เกิดปัญหาในทางกฏหมายการคลังท้องถิ่นและความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ที่ได้รับการสนับสนุนทางงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยปราศจากหลักเกณฑ์ที่แน่นอนทางกฎหมายการคลังท้องถิ่น
       ประการที่สาม ในกรณีของสโมสรกีฬาฟุตบอลหรือทีมกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นบางทีมในระดับการแข่งขันฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และ ดิวิชั่น 2 ที่แฝงตัวอยู่ในสมาคมกีฬาของจังหวัด กรณีดังกล่าวอาจมีปัญหาทางกฎหมายที่ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำเงินมาสนับสนุนสมาคมกีฬาจังหวัดนั้นๆ แล้วสมาคมกีฬาจังหวัดนั้นๆ สามารถส่งงบประมาณหรือมอบเงินอุดหนุนต่อมายังทีมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นหรือสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นที่สังกัดกับสมาคมกีฬาจังหวัดนั้นๆ ได้หรือไม่[1] เพราะหากสามารถทำได้ อาจทำให้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อทีมกีฬาฟุตบอลของจังหวัดนั้นๆ เป็นการเฉพาะ ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนารูปแบบสากลของจากกลุ่มทีมท้องถิ่นไปสู่สโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนเป็นการเฉพาะ เพราะหากการแฝงตัวกับสมาคมกีฬาจังหวัด จะสามารถทำให้ทีมกีฬาฟุตบอลจังหวัดไม่ต้องการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนเพราะต้องการรอเพียงเงินอุดหนุนจากวิธีการดังกล่าว โดยไม่ยอมพัฒนาความสามารถในการบริหารงานการกีฬาของทีมตนเองทั้งในแง่ความอยู่รอดของทีมในการบริหารการกีฬาทั่วไปและความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของทีมดังกล่าว
       ประการสุดท้าย แม้ว่าการให้งบประมาณจากภาครัฐหรือเงินอุดหนุนจากภาครัฐเพื่อสนับสนุนแก่สโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นในการแข่งขันฟุตบอลอาชีพสามารถกระทำได้โดยอาศัยกฎหมายอื่นๆ หรือวิธีการอื่นๆ เช่น การนำงบประมาณการดำเนินโครงการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการตามแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด ไปสนับสนุนสโมสรฟุตบอลอาชีพท้องถิ่น  ซึ่งขอรับการจัดสรรงบประมาณในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณและความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจโอนเงินงบประมาณมาสนับสนุน โดยผ่านทางการกีฬาแห่งประเทศไทย แล้วการกีฬาแห่งประเทศไทยนำเงินจากงบประมาณดังกล่าวอุดหนุนหรือสนับสนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตาม พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 มาตรา 8 เป็นต้น[2] แต่วิธีการต่างๆ ที่ได้กล่าวมานี้ มิใช่บทบัญญัติเฉพาะหรือมาตรการทางกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าว
       ฉะนั้น แม้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้วินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับการห้ามมิให้นำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสนับสนุนสโมสรฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น แต่อย่างไรก็ดี การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือการบัญญัติมาตรการทางกฏหมายเฉพาะเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการเตรียมความพร้อมของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในระดับต่างๆหรือลีกต่างๆในอนาคต ย่อมถือเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อให้สโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นได้รับการช่วยเหลือหรืออุดหนุนทางการเงินจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเป็นการตามวินัยทางการเงินการคลังท้องถิ่น
       [3] บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษในการสนับสนุนด้านการเงินแก่กิจกรรมกีฬาฟุตบอลและกิจกรรมกีฬาประเภทอื่นๆ  
       องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศอังกฤษที่จำแนกตามขนาดและประเภทของการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ มลฑล (County) เมือง (City) เทศบาลขนาดเล็ก (Borough) ตำบล (District) และสภาเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก (Parish Council) ประกอบด้วยฝ่ายหรือแผนกต่างๆ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมนันทนาการและกิจกรรมพักผ่อนของประชาชนที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศอังกฤษในรูปแบบต่างๆ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษมีบทบาทสำคัญในสนับสนุนด้านการเงินแก่กิจกรรมกีฬาฟุตบอลและกิจกรรมนันทนาการอื่นที่เกี่ยวข้องในลักษณะและรูปแบบของการจัดหาเงินอุดหนุนที่สำคัญ (substantial grants) เพื่ออุดหนุนให้กับการจัดทำบริการสาธารณะด้านการกีฬาและกิจกรรมนันทนาการ รวมไปถึงโครงการต่างๆ ที่มีส่วนในการสนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะด้านการกีฬา อันทำให้กิจกรรมการกีฬาและนันทนาการของท้องถิ่นและประชาชนชาวอังกฤษดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับความต้องการทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนชาวอังกฤษ ซึ่งการให้เงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษต่อสโมสรกีฬาและชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่น
       ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษโดยให้เงินอุดหนุนประกอบด้วยประเภทของการให้เงินอุดหนุนแก่สโมสรกีฬาฟุตบอลและชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่น ดังต่อไปนี้[3]
       -          เงินอุดหนุนและเงินให้กู้ยืมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือโครงการลงทุนที่สำคัญ(Grants and loans to help capital projects) โดยลักษณะการลงทุนดังกล่าวต้องเป็นการลงทุนเพื่อการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริหารสาธารณะด้านการกีฬาฟุตบอล
       -          เงินอุดหนุนภาษีเพื่อปรับปรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อมหรือแข่งขันกีฬาฟุตบอลของท้องถิ่น (Revenue grants for improving or restoring existing property) กล่าวคือ เงินอุดหนุนดังกล่าวนำไปใช้จัดซื้ออุปกรณ์กีฬาหรือนำไปก่อสร้างสาธารณูปโภคทางการกีฬาเพื่อจัดทำบริการสาธารณะทางการกีฬาที่สำคัญ
       -          เงินอุดหนุนสำหรับผู้เล่นที่มีพรสวรรค์ในการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการแข่งขันหรือฝึกซ้อม (Grants for talented performers to help towards the cost of competition or training)
       -          เงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้แก่องค์กรและสมาคมกีฬาท้องถิ่นในการช่วยเหลือการจัดกิจกรรมการกีฬาที่สำคัญ (Grants for Governing Bodies to help run major sporting events)
       นอกจากนี้ การขอเงินอุดหนุนของสโมสรหรือชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่น ต้องเข้าแนวทางหรือหลักเกณฑ์ที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ด้านกิจกรรมกีฬาและนันทนาการต่อประชาชนทั่วไปด้วย ดังต่อไปนี้
       -          ประชาชนทุกคนต้องสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่จัดซื้อหรือก่อสร้างจากเงินอุดหนุนที่ได้รับมาจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       -          โครงการการจัดสร้างสิ่งก่อสร้างหรือจัดซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกทางการกีฬา ที่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษต้องมีความสำคัญและได้รับการสนับสนุนจากสมาคมกีฬาชนิดนั้นๆ
       -          ในการก่อสร้างหรือจัดซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกทางการกีฬาจากเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทรัพย์สินและอุปกรณ์ที่ก่อสร้างหรือจัดซื้อ ต้องมีลักษณะการใช้งานในระยะยาวที่เป็นประโยชน์ต่อสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นหรือชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่น รวมไปถึงประชาชนโดยทั่วไปด้วย
       -          สโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นหรือชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นต้องแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับต่อสโมสรหรือชมรมและต่อประชาชนโดยทั่วไป
       องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษไม่เพียงสนับสนุนด้านเงินอุดหนุนต่อสโมสรกีฬาฟุตบอลและชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นตามหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังอาจจัดหาเงินอุดหนุนเพื่อการบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือศูนย์กีฬาและนันทนาการของท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปและชมรมและสโมสรกีฬาฟุตบอลที่ต้องการเข้าไปใช้สถานที่ในการเป็นที่ฝึกซ้อมชั่วคราวหรือประจำ
       จากหลักเกณฑ์ทั่วไปของการสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษโดยให้เงินอุดหนุนแก่สโมสรและชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ย่อมมุ่งเน้นการให้เงินอุดหนุนในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและการจัดซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกทางการกีฬาที่ประชาชนและสโมสรกีฬาฟุตบอลหรือชมรมกีฬาฟุตบอลโดยทั่วไปได้รับประโยชน์ทั่วไปจากสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาจากเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เช่น การเปิดโอกาสให้สโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นหรือชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นที่ไม่มีสนามกีฬาฟุตบอลของตนเอง สามารถเข้ามาใช้งานเป็นประจำได้ เป็นต้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตาม มาตรา 19 ของกฎหมาย Local Government (Miscellaneous Provisions) Act 1976 หรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานรัฐบาลท้องถิ่นของอังกฤษ ที่ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ในเรื่องของ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านนันทนาการ (Recreational facilities)[4] กล่าวคือ กฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษในการจัดหาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการกิจกรรมนันทนาการที่เหมาสม (fit) และปราศจากอคติ (without prejudice) เพื่อให้สาธารณชนได้รับประโยชน์และใช้ประโยชน์จากกิจกรรมนันทนาการต่างๆ ถ้วนหน้ากัน รวมไปถึงสโมสรกีฬาฟุตบอลหรือชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่น
       จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้นอาจเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์ทั่วไปของการสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษโดยให้เงินอุดหนุนแก่สโมสรและชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากสโมสรและชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นจะได้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกทางการกีฬานั้นๆแล้ว ประชาชนทั่วไปต้องได้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกทางการกีฬานั้นๆด้วยในระยะยาว โดยการให้เงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวนอกจากจะคำนึงถึงคำร้องหรือข้อเสนอของสโมสรกีฬาท้องถิ่นหรือชมรมกีฬาท้องถิ่นที่ต้องการของให้ท้องถิ่นอุดหนุนการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการกีฬาฟุตบอลแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนที่อาจได้รับจากการสร้างหรือจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกนั้นๆในระยะยาวด้วย ดั้งนั้น การสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษโดยให้เงินอุดหนุนแก่สโมสรและชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นย่อมไม่ใช่การให้เงินแก่สโมสรหรือชมรมกีฬาฟุตบอลเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจหรือประโยชน์เฉพาะของสโมสรหรือชมรมกีฬาฟุตบอลนั้นๆในฐานะที่เป็นเอกชน แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทั่วไปหรือประโยชน์ของเอกชนทั่วไปด้วยในการพิจารณาให้เงินอุดหนุนดังกล่าว กล่าวคือ แม้เงินดังกล่าวเป็นการมอบให้สโมสรกีฬาหรือชมรมกีฬาท้องถิ่นไปดำเนินกิจกรรมหรือดำเนินการจัดสร้างสาธารณูปโภคทางการกีฬา แต่ในระยะยาวประชาชนทั่วไปหรือสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นหรือชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นนั้นๆ ต้องได้รับประโยชน์ร่วมกันจากผลการสนับสนุนโดยการมอบเงินอุดหนุนดังกล่าว
       นอกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะช่วยเหลือด้านเงินอุดหนุนต่อโครงการลงทุนเพื่อการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริหารสาธารณะด้านการกีฬาฟุตบอลดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษอาจมอบเงินอุดหนุนเพื่อช่วยพัฒนานักกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นรุ่นเยาว์หรือนักกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นทั่วไปที่มีพรสวรรค์และอาจมอบเงินอุดหนุนเพื่อจัดโครงการแข่งขันหรือจัดโครงการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมกีฬาฟุตบอลทั้งในระดับชาติที่มาจัดการแข่งขันในท้องถิ่นของตนหรือในระดับท้องถิ่นนั้นๆเอง
       [4] เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษและไทยในการสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นเพื่อกิจกรรมต่างๆ
       จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้นสำหรับปัญหาของกฎหมายไทยและมาตรการทางกฎหมายปกครองท้องถิ่นของอังกฤษในปัจจุบัน อาจพบข้อพิจารณาเปรียบเทียบหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการคลังท้องถิ่นและการอุดหนุนหรือสนับสนุนงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อกิจกรรมการกีฬาและนันทนาการ ได้แก่
       [4.1] การให้เงินอุดหนุนในการก่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่อกิจกรรมการกีฬาหรือนันทนาการสามารถกระทำได้ทั้งกฎหมายการคลังท้องถิ่นไทยและกฎหมายการคลังท้องถิ่นหรือกฎหมายปกครองท้องถิ่นอังกฤษ เพราะการก่อสร้างสาธารณูปโภคที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคเพื่อการหย่อนใจดังกล่าวย่อมเพื่อประโยชน์สาธารณะ กล่าวคือ ประชาชนโดยทั่วไปได้ประโยชน์จากการนั้นหรือได้ประโยชน์จาการให้เงินอุดหนุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น นอกจากนี้ ชมรมกีฬาท้องถิ่นหรือสโมสรกีฬาท้องถิ่นสามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ทางการกีฬาฟุตบอลหรือสนามกีฬาฟุตบอลที่ท้องถิ่นได้ก่อสร้างขึ้นได้ นอกจากนี้ อาจใช้สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาฟุตบอลที่ก่อสร้างขึ้นโดยเงินอุดหนุนของท้องถิ่นในการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับนักเรียนหรือระดับท้องถิ่นอีกด้วย
       [4.2] ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรการทางภาษีอากรทั่วไปหรือมาตรการทางภาษีอากรท้องถิ่นเป็นการเฉพาะ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมทีมฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นในการแข่งขันระดับต่างๆโดยตรง แต่อย่างไรก็ดี ประเทศอังกฤษได้กำหนดลักษณะของเงินอุดหนุนภาษีเพื่อปรับปรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อมหรือแข่งขันกีฬาฟุตบอลของท้องถิ่น กล่าวคือ เงินอุดหนุนดังกล่าวนำไปใช้จัดซื้ออุปกรณ์กีฬาหรือนำไปก่อสร้างสาธารณูปโภคทางการกีฬาเพื่อจัดทำบริการสาธารณะทางการกีฬาที่สำคัญ โดยเมื่อมีการปรับปรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อมหรือการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของท้องถิ่นในสนามกีฬาฟุตบอลสาธารณะหรือสวนสาธารณะทั่วไป ย่อมอาจเป็นผลดีต่อสโมสรหรือชมรมกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นของอังกฤษในการได้รับการฝึกซ้อมภายใต้อุปกรณ์ทางการกีฬาที่มีสภาพเหมาะสมและปลอดภัยต่อการฝึกซ้อมและแข่งขัน
       [4.3] ทั้งประเทศอังกฤษและประเทศไทยได้จัดให้มีการอุดหนุนและสนับสนุนทางงบประมาณแก่ผู้เล่นที่มีพรสวรรค์ในการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการแข่งขันหรือฝึกซ้อม ในประเทศอังกฤษ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถมอบเงินอุดหนุนสำหรับผู้เล่นที่มีพรสวรรค์ในการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการแข่งขันหรือฝึกซ้อม สำหรับประเทศไทยนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลและองค์การบริหารส่วนจังหวัดสามารถสนับสนุนด้านงบประมาณให้นักเรียนได้ทำการฝึกซ้อมกีฬาเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงออกทางความสามารถทั่วไปหรือเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนที่มีพรสวรรค์ทางการกีฬาได้พัฒนาศักยภาพของตนเพื่ออาศัยความสามารถหรือพรสวรรค์ดังกล่าวในการเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงต่อไปในอนาคต
       [4.4] องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งของประเทศไทยและประเทศอังกฤษ สามารถอุดหนุนและสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการแข่งขันหรือกิจกรรมการแข่งขันที่สำคัญ ให้แก่องค์กรและสมาคมกีฬาท้องถิ่นในการช่วยเหลือการจัดกิจกรรมการกีฬาที่สำคัญเช่นเดียวกัน เช่น การแข่งขันกีฬาในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติที่มาจัดการแข่งขันในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้น
       [4.5] ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินอุดหนุนหรือการให้งบประมาณสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆของประเทศอังกฤษและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบทั่วไปและรูปแบบพิเศษของประเทศไทย ล้วนแล้วแต่ต้องพิจารณาตามหลักบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะ กล่าวคือ ประชาชนหรือสาธารณะชนโดยทั่วไปควรได้ประโยชน์จากการให้เงินอุดหนุนหรืองบประมาณสนับสนุนทางการกีฬา โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถให้เงินแก่สโมสรหรือชมรมกีฬาฟุตบอลเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจหรือประโยชน์เฉพาะของสโมสรหรือชมรมกีฬาฟุตบอลนั้นๆในฐานะที่เป็นเอกชน แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทั่วไปหรือประโยชน์ของเอกชนทั่วไประยะยาวในการพิจารณาให้เงินอุดหนุนดังกล่าว[5]
       [5] ข้อพิจารณาในการแก้ไขกฎหมายหรือบัญญัติกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยสามารถนำงบประมาณไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันฟุตบอลอาชีพของไทย
       แนวคิดที่สนับสนุนการจัดทำมาตรการทางกฏหมายเฉพาะเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการเตรียมความพร้อมของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในระดับต่างๆหรือลีกต่างๆ ย่อมถือเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อให้สโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นได้รับการช่วยเหลือหรืออุดหนุนทางการเงินจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเป็นการตามวินัยทางการเงินการคลังท้องถิ่น
       แต่อย่างไรก็ดี อาจมีข้อพิจารณาหลายประการในการเสนอแก้ไขกฎหมายปัจจุบันหรือการจัดทำมาตรการทางกฎหมายเฉพาะเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในการช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการเตรียมความพร้อมของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในระดับต่างๆหรือลีกต่างๆ โดยอาจมีข้อพิจารณาในการเสนอแก้ไขกฎหมายปกครองและกฎหมายการคลังท้องถิ่นปัจจุบันหรือการจัดทำมาตรการทางกฎหมายเฉพาะเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำเงินไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นได้ ดังต่อไปนี้
       [5.1] การแก้ไขกฎหมายปกครองหรือกฎหมายการคลังและภาษีอากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการระบุชัดเจนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบทั่วไป ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและพัทยา สามารถนำงบประมาณไปอุดหนุนหรือสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการเตรียมความพร้อมของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในระดับต่างๆหรือลีกต่างๆไม่ว่าสโมสรนั้นจะมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนหรือไม่ก็ตามเพราะจะทำให้สมาคมหรือชมรมกีฬาฟุตบอลที่มีสถานภาพทางกฎหมายทุกประเภทได้รับการปฏิบัติหรือสนับสนุนทางการกีฬาอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน
       [5.2] กฎหมายที่ได้รับการแก้ไขหรือมาตรการทางกฎหมายที่จัดทำขึ้นใหม่ ควรมีการระบุหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการนำงบประมาณไปอุดหนุนหรือสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการเตรียมความพร้อมของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในระดับต่างๆหรือลีกต่างๆ โดยอาจกำหนดหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ต้องให้สโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นที่ต้องการได้รับการสนับสนุนทางการเงินหรือได้รับการอุดหนุนทางการเงินปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายได้บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานให้ทุกสโมสรหรือทุกทีมปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ว่าทีมที่สามารถขอเงินอุดหนุนหรืองบประมาณต้องมีสนามฝึกซ้อมเป็นของตนเองหรือใช้พื่นที่อื่นซึ่งมีความปลอดภัยต่อนักกีฬาฟุตบอลและผู้ชมกีฬาฟุตบอล การกำหนดหลักเกณฑ์โดยสโมสรท้องถิ่นในรูปแบบนิติบุคคลที่จะของบประมาณสนับสนุนดังกล่าวต้องไม่เคยฝ่าฝืนกฎหมายอาญาและข้อบังคับขององค์กรกีฬาฟุตบอลที่เกี่ยวข้องต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ นอกจากหลักเกณฑ์ที่กฎหมายได้บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานให้ทุกสโมสรหรือทุกทีมปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันแล้ว หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังอาจสร้างธรรมาภิบาลการกีฬาและเป็นแรงจูงใจให้สโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นที่ต้องการได้รับเงินอุดหนุนหรืองบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐไม่กระทำการใดๆที่ฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบของสมาคมกีฬาหรือองค์กรกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันในระดับต่างๆ เช่น ไทยพรีเมียร์ลีก ดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 เป็นต้น
       [5.3] ในกรณีที่จังหวัดหนึ่งมีหลายทีม เช่น กรณีของจังหวัดศรีสะเกษ ที่ประกอบด้วยสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นสองสโมสร คือ สโมสรฟุตบอลจังหวัดศรีสะเกษและสโมสรอีสานยูไนเต็ด ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน เป็นต้น เพราะในกรณีที่มีสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นหลายทีมภายในจังหวัดเดียวกันนั้น หากทีมใดทีมหนึ่งได้รับการสนับสนุนหรืออุดหนุด แต่อีกทีมหนึ่งกลับไม่ได้รับการสนับสนุนหรือการอุดหนุน อาจก่อให้เกิดปัญหาในการเลือกปฏิบัติจากทางฝ่ายการเมืองท้องถิ่นหรือฝ่ายปกครองสำหรับการพิจารณางบประมาณที่เกี่ยวข้องในอนาคต ดังนั้น ควรมีการแก้ไขกฎหมายหรือบัญญัติกฎหมายใหม่เพื่อขจัดหรือป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อสโมสรใดสโมสรหนึ่งในอนาคต เพื่อให้ทุกสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นหรือทุกทีมท้องถิ่นในจังหวัดนั้น สามารถได้รับงบประมาณในการสนับสนุนหรือเงินอุดหนุนอย่างเท่าเทียมกัน
       [5.4] ควรให้สโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณหรือเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องทำรายงานสถานะการใช้จ่ายงบประมาณทางการเงินให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อตรวจสอบข้อมูลรายงานสถานะการใช้จ่ายงบประมาณที่สโมสรนั้นได้ใช้ในปีงบประมาณต่างๆ เพื่อนำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเรียกดูงบประมาณในภาพรวมทั้งหมดหรือติดตามดูผลผลิตหรือโครงการหรือหมวดรายจ่ายของสโมสรท้องถิ่นต่างๆ โดยการรายงานสถานะการใช้จ่ายอาจมีผลต่อการของบประมาณอุดหนุนหรืองบประมาณสนับสนุนของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นนั้นๆในปีงบประมาณต่อไป
       [5.5] เมื่อสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นที่ของบประมาณดังกล่าวมีศักยภาพในการบริหารธุรกิจหรือสถานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ควรอุดหนุนหรือสนับสนุนด้านงบประมาณอีกต่อไป เพราะอาจทำให้ทีมกีฬาฟุตบอลที่คอยแต่งบประมาณสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ยอมพัฒนาตนเองในด้านความสามารถการบริหารงานการกีฬาของทีมตนเองทั้งในแง่ความอยู่รอดของทีมในการบริหารการกีฬาทั่วไปและความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของทีมในระยะยาว[6]
       [5.6] หลังจากที่สโมสรฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครหรือนายกเทศมนตรีเมืองพัทยาหรือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจติดตามประเมินผลการใช้งบประมาณของสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งอาจประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันและผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในการตรวจสอบว่าสโมสรหรือทีมฟุตบอลท้องถิ่นดังกล่าวได้รับประโยชน์หรือมีข้อจำกัดจากการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่และเพื่อรักษาความสมดุลระหว่างวินัยทางการเงินการคลังและธรรมาภิบาลการกีฬาในด้านงบประมาณ
       [5.7] นอกจากแนวคิดในการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการเตรียมความพร้อมของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในระดับต่างๆแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังอาจเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชนกับสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่น ในการให้กองทุนหรือภาคเอกชนต่างๆ สนับสนุนทางด้านการเงินแก่สโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เช่น หากเอกชนรายใดต้องการให้ทุนอุดหนุนแก่นักกีฬาฟุตบอลรุ่นเยาว์ที่มีพรสวรรค์ (Talented Young People in Sport) และต้องการพัฒนาตนเองไปแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น เป็นต้น[7]
       [6] บทสรุปและข้อเสนอแนะ
       แม้ในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีบทบัญญัติเฉพาะหรือมาตรการทางกฎหมายเฉพาะที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการเตรียมความพร้อมของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในระดับต่างๆหรือลีกต่างๆไม่ว่าสโมสรนั้นจะมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี ภาครัฐอาจกำหนดให้มีการแก้ไขบทบัญญัติกฎหมายหรือจัดทำมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในอนาคต โดยควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการขอรับงบประมาณสนับสนุนหรือเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นตัวแทนของท้องถิ่นและเข้าร่วมการแข่งขันในระดับการแข่งขันต่างๆ หรือลีกต่างๆภายในประเทศ
       ดังนั้น การศึกษาแนวทางในการนำเงินไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการเตรียมความพร้อมของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นหรืออุดหนุนนักกีฬาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอังกฤษ อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นของประเทศไทยในอนาคต เพราะหากการขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและแน่นอนในการนำเงินไปสนับสนุนหรืออุดหนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการเตรียมความพร้อมของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่น ย่อมก่อให้เกิดความไม่เท่าเที่ยมและไม่เป็นธรรมทางการกีฬาได้ ดังนั้น กฎหมายมหาชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กฎหมายปกครองและกฎหมายการคลังท้องถิ่นควรมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างธรรมาภิบาลการกีฬาสำหรับองค์กรทางกีฬาทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในการนำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่น
       

       
       

       

       [1] สรุปผลการประชุม คณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 77 วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2555 ณ ห้องประชุมคณะกรรมธิการ หมายเลข 4 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1
       

       

       [2] สรุปผลการประชุม คณะกรรมาธิการท่องเที่ยวและกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 11 วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2555 ณ ห้องประชุมคณะกรรมธิการ หมายเลข 3601 ชั้น 6 อาคารรัฐสภา 3
       

       

       [3] โปรดดูหลักการให้เงินอุดหนุนด้านการกีฬาแก่สโมสรกีฬา โดยเทียบเคียงจากเอกสาร England & Wales Cricket Board, Sources of Grant Aid and Funding For Cricket Clubs, England & Wales Cricket Board, London, page 24.
       

       

       [4] UK, Legislation, Local Government (Miscellaneous Provisions) Act 1976, See Website: www.legislation.gov.uk/ukpga/1976/57
       

       

       [5] การอุดหนุนและสนับสนุนทางการเงินจาก Rushmoor Borough Council ต่อสโมสร Farnborough Football Club อันเป็นสโมสรท้องถิ่นในแฮมเชียร์ ที่ต้องการเงินไปสนับสนุนการจัดสร้างสนามกีฬาฟุตบอลของท้องถิ่น (Stadium Requirements) โดยการร้องของบประมาณสนับสนุนดังกล่าว อ้างถึงอรรถประโยชน์ใช้สอย (multi uses community stadium offer) และความภาคภูมิใจของประชาชนในท้องถิ่น (sense of pride within the local population) โปรดดู หน้า 9 ของเอกสาร Rushmoor Borough Council, FARNBOROUGH FOOTBALL CLUB, AGENDA ITEM NO. 6, CABINET 22NDJUNE 2010, REPORT NO. DOR1010, See website: http://www.rushmoor.gov.uk/CHttpHandler.ashx?id=1130&p=0&fb_source=message
       

       

       [6] แท้จริงแล้วในการยื่นเอกสารเพื่อประกอบการขอเงินอุดหนุนหรือของบประมาณสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเสนอแผนทางธุรกิจ (Business Planning)และบัญชีการเงินของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่น (Historic Accounts) เพื่อประกอบการพิจารณาในการขอเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย โปรดดู Farnborough Football Club Supporting information for Grant Application Rushmoor Borough Council May 2010 ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการประชุมรัฐบาลท้องถิ่นใน Rushmoor Borough Council, FARNBOROUGH FOOTBALL CLUB, AGENDA ITEM NO. 6, CABINET 22ND JUNE 2010, REPORT NO. DOR1010, See website: http://www.rushmoor.gov.uk/CHttpHandler.ashx?id=1130&p=0&fb_source=message
       

       

       [7] โปรดเทียบกับ สภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแฮมเชียร์ (Hampshire County Council) ในประเทศอังกฤษ ที่หาแหล่งทุนจากเอกชนและกองทุนต่างๆที่ต้องการสนับสนุนนักกีฬาท้องถิ่น มาสนับสนุนด้านการเงินแก่ทีมฟุตบอลท้องถิ่นหรือนักกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นรายบุคคล โปรดดู Hampshire County Council, Financial Support for School Sports Associations and Individuals in Hampshire, See website: http://www3.hants.gov.uk/education/outdoor-education/school-sport-contents/school-sport-support.htm
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544