หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 289
23 เมษายน 2555 14:30 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 23 เมษายนถึงวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2555
       
       “50 ปีของการยอมรับอำนาจรัฐประหาร”
        
       
                   เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้อ่านบทความเรื่อง “ยกเลิกผล คตส.กลับหลักคำพิพากษาศาลฎีกา” ของ สว.คำนูณ สิทธิสมาน ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการแล้วก็รู้สึก “ดีใจ” เป็นอย่างมากที่ไม่ได้มีผมเพียงคนเดียวที่คิดอยากจะให้ศาลฎีกากลับหลักคำพิพากษาศาลฎีกาที่ “ยอมรับอำนาจรัฐประหาร” ครับ หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเราน่าจะมีข้อยุติได้ในหลายเรื่องโดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการใด ๆ เลยครับ
              ในบทบรรณาธิการคราวที่แล้ว ผมได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการปรองดองตามข้อเสนอของหลายๆฝ่ายว่ามีความเป็นไปได้ยาก  ยิ่งจะให้ล้มคดี คตส. หรือนิรโทษกรรมก็จะยิ่งทำให้คนขัดแย้งกันมากขึ้นไปอีก ไม่ต้องดูอะไรมากนัก ขนาดแค่มีข้อเสนอแบบ "ไม่ฟันธง" ออกมาก็ยังแทบจะเอาตัวไม่รอดกันเลย ไม่กล้าคิดว่าถ้าขืนทำกันจริงๆจะวุ่นวายแค่ไหน เมื่อผมมานั่งนึกทบทวนดูว่า ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเราจะแก้กันได้อย่างไรแล้วก็มองไม่เห็นทางออก มีหลายเรื่องเหลือเกินที่ต้องทำ พยายามมองหาช่องทางที่ถ้ามีการดำเนินการใดๆแล้วสามารถแก้ปัญหาได้และะไม่ถูกคัดค้านเลยก็พบว่ามีอยู่ไม่มากนัก ช่องทางหนึ่งเป็นช่องทางที่ผมได้เคยเสนอไปแล้วในบทบรรณาธิการแรกของปีนี้คือ บทบรรณาธิการครั้งที่ 281 ที่ได้เผยแพร่ไปตั้งแต่วันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมาโดยผมได้เขียนเรื่อง “โอกาสดีที่จะปฏิเสธการรัฐประหาร” ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปความได้ว่า ในปี พ.ศ. 2555 นี้จะมีคดีสำคัญคดีหนึ่งคือ คดี “รถและเรือดับเพลิง” เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  คดีดังกล่าวมีที่มาจากการที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และต่อมาก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 9 คน และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จำนวน 12 คน เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งโดยผลของการรัฐประหารที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบซึ่ง คตส. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ คปค. แต่งตั้ง แต่ต่อมาก็ปรากฏว่า คตส. ไม่สามารถสรุปสำนวนการสอบสวนคดีรถและเรือดับเพลิงเสร็จภายในกำหนดเวลา คตส. จึงได้ส่งมอบคดีรถและเรือดับเพลิงให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่แต่งตั้งโดย คปค.  เพื่อดำเนินการต่อ ท้ายที่สุดก็มีการยื่นฟ้องเรื่องดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อปลายปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา
                   อีกครั้งหนึ่งที่ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 281 ผมได้นำเอาคำวินิจฉัยส่วนตัวของผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนหนึ่งคือคุณกีรติ กาญจนรินทร์ ที่ได้แสดงความเห็น “ไม่ยอมรับการรัฐประหาร” เอาไว้ในปี พ.ศ. 2552 มาเผยแพร่โดยในคำวินิจฉัยส่วนตัวดังกล่าวมีข้อความที่น่าสนใจอยู่ท่อนหนึ่งที่ว่า ....หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป......
                   แม้ความเห็นดังกล่าวจะเป็นเพียง 1 ใน 9 ความเห็นและเป็นเพียงความเห็นเดียวที่ “ปฏิเสธ” การรัฐประหาร แต่ผมก็มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการ “พาประเทศ” กลับเข้าสู่ “ระบบปกติ” ที่ศาลฎีกาในอดีตเป็นผู้ “พาประเทศ” ออกจาก “ระบบปกติ” ครับ โดยผมได้เสนอไว้ว่า ในช่วงเวลาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิจารณาคดีรถและเรือดับเพลิงซึ่งส่วนหนึ่งของคดีดังกล่าวมีที่มาจากการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารนั้น เป็นโอกาสดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะได้ “คืน” ความถูกต้องของระบบการปกครองประเทศ “คืน” ระบบนิติรัฐให้กับประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งด้วยการกลับหลักคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ที่ “ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร” ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นฐานในการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันครับ
                 ในช่วงเวลาเกือบปีที่ผ่านมา มีข้อเสนอหลายข้อเสนอเกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อแก้ปัญหาของประเทศไม่ว่าจะเป็นการล้มล้างผลของการรัฐประหาร การนิรโทษกรรมและล่าสุดก็คือข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าที่ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด ข้อเสนอทุกข้อเสนอถูกคัดค้านจากหลาย ๆ ฝ่ายโดยมีพื้นฐานมาจาก “ความเกลียด” และ “ความไม่ไว้ใจ” ในองค์กรหรือบุคคลที่เสนอเพราะไปมองว่า ข้อเสนอทั้งหมดจะไปเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร โดยผู้คัดค้านเหล่านั้นไม่ได้มองไปไกลเกินกว่าเรื่องดังกล่าว จึงทำให้พลาดโอกาสสำคัญที่จะแก้ปัญหาเรื่องของการรัฐประหารที่ศาลฎีกาได้เคย “ผูกเอาไว้” ในอดีตครับ
               ผมมองว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้มีผู้กล้าทำรัฐประหารก็เพราะศาลฎีกาในอดีตได้เคยรับรองการรัฐประหารและสิ่งที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นี่คือปัญหาพื้นฐานของประเทศและเป็นปัญหาสำคัญที่ “ทำลาย” หลายสิ่งหลายอย่างในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐประหารทุกครั้งไม่มีใครกล้าทำอะไรทั้งนั้นเพราะศาลฎีกาได้วางหลักเอาไว้แล้วว่า ผู้ทำการรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ วางหลักเอาไว้อย่างนี้บ้านเมืองเราจึงมีผู้กล้าทำรัฐประหาร  ตอนปี พ.ศ. 2534 มีรัฐประหารบ้านเมืองก็ถอยหลังไปไม่รู้กี่ปี วุ่นวายกับรัฐธรรมนูญจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2540 เราก็ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ดีที่สุดมาแต่ใช้ไปได้ไม่กี่ปีก็เกิดรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวทิ้งอีก คณะรัฐประหารใช้อำนาจสารพัดอย่างเพื่อที่จะทำลายนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ก็เพราะ ผู้ทำการรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ นั่นเองครับ ในส่วนของศาลเองไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรืิอศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ยอมรับเรื่องดังกล่าวไว้อีกในหลายคำพิพากษา แม้กระทั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 ก็ได้กล่าวเอาไว้ในตอนหนึ่งว่า คปค. มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว การยืนยันตอกย้ำเรื่อง ผู้ทำการรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีโอกาส การรัฐประหารจึงถือเป็นความ “ชอบธรรม” ที่อำนาจตุลาการได้รับรองเอาไว้ครับ
                 ในวันนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงเป็นสถาบันเดียวที่จะ “คืน” ความถูกต้องให้กับประเทศไทยอีกครั้งด้วยการ “ปฏิเสธ” การใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร เพียงแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปฏิเสธการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปฏิเสธการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดจากหรือมีที่มาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร เรื่องทุกอย่างก็คงคลี่คลายไปในทางที่ดีเพราะศาลนั้นเป็นที่เคารพของประชาชนอยู่แล้ว หากศาลวินิจฉัยว่าการรัฐประหารไม่ถูกต้องใครจะกล้ามาโต้แย้งครับ จริง ๆ แล้วก็รู้กันอยู่ในใจทุกคนว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ถูกต้องแต่เมื่อศาลฎีกาในอดีตเคยวางหลักไว้ว่าผู้ทำการรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ก็เลยทำให้ทหารกล้าที่จะทำการรัฐประหาร ผู้เกี่ยวข้องก็เลยหลับหูหลับตาให้กับการรัฐประหารและเห็นดีเห็นงามไปกับการดำเนินการที่เป็นโทษกับคู่แข่งของตนหรือผู้ที่ตนไม่ชอบ เรียกง่าย ๆ ว่ายืมมือทหารมาฆ่านักการเมืองคู่แข่งนั่นเองครับ ลองถ้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวางหลักใหม่ว่า การรัฐประหารขัดต่อมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผู้กระทำรัฐประหารต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตและหากจะแก้ปัญหาเรื่องการรัฐประหารให้เด็ดขาดได้จริงๆก็ขอให้รัฐสภาแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า ผู้ทำรัฐประหารไม่อาจได้รับการอภัยโทษ นิรโทษกรรมหรือล้างมลทินได้ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม อยากดูเหมือนกันว่า “หน้าไหน” จะกล้าทำรัฐประหารครับ !!!
                 เพราะฉะนั้น เมื่อผมเห็นบทความของ สว.คำนูณฯ ผมจึงดีใจเป็นอย่างมากที่ สว.คำนูณฯ เขียนเอาไว้ในตอนท้ายของบทความว่า ....ผมอยากเห็นการกลับหลักคำพิพากษาศาลฎีกาเดิมด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่โดยศาลฎีกาเองไม่ใช่กฎหมายจากรัฐบาลและสภา !.....
                  นี่คือ “ช่องทางแห่งการปรองดอง” ที่ สว.คำนูณฯ ได้ชี้ให้เห็นครับ
                 ในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งในสังคมยังมีอยู่มากเช่นในปัจจุบัน อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารยังไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการดำเนินการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือการออกกฎหมายเพื่อล้มล้างผลของการรัฐประหารเพราะอย่างไรก็คงไม่สามารถทำได้โดยไม่มีการคัดค้าน  ที่ถูกต้องที่สุดและที่เป็นไปได้ที่สุดควร "เริ่มต้น" จากการที่อำนาจตุลาการเข้าไป "ปรับระบบ" ให้เป็นปกติด้วยการยืนยันหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ทำให้มาตรา 113 แห่งประมวลกฏหมายอาญากลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่งและนำเอาสิ่งที่ถูกต้องกลับคืนสู่ประเทศไทยครับ
                 อีกไม่กี่วันข้างหน้า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จะเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีรถและเรือดับเพลิงอีกครั้งหนึ่ง ถามหลาย ๆ คนที่พอรู้เรื่องก็บอกว่า เรื่องน่าจะจบลงได้ในเวลาไม่กี่เดือน
                 ในส่วนของผม ก็คงต้องพยายามพูดและเขียนเรื่องนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้กดดันศาลหรือหวังผลอะไรทั้งนั้น เพียงแต่พอมองเห็นว่ามี “แสงสว่าง” ที่จะเกิดขึ้นหากศาลปฏิเสธไม่ยอมรับการรัฐประหารและการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร วางหลักใหม่ให้กับประเทศไทย เราก็จะได้ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดการรัฐประหารกันอีกต่อไปครับ
                 อนาคตของระบอบประชาธิปไตย อนาคตของประเทศชาติจึงอยู่ในมือของผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 9 ท่านครับ
                   50 ปีที่ผ่านมาคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ยังส่งผลอยู่ หลักการที่ผิดๆนี้อยู่กับประเทศไทยมา 50 ปีแล้วทั้งๆที่ในความเป็นจริงแทบจะไม่มีประเทศไหนในโลกยอมรับการรัฐประหาร ก็ต้องขอความกรุณาจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ช่วยพิจารณาทบทวนหลักที่ศาลฎีกาในอดีตได้วางเอาไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยครับ อย่าปล่อยให้ “โอกาสทอง” หลุดมือไปนะครับ ช่วยพาประเทศกลับเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องเสียที ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกชื่อของพวกท่านทั้งหมดเอาไว้อีกนานแสนนานเช่นเดียวกับที่คุณกีรติ  กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองได้เคยทำเอาไว้แล้วในคำวินิจฉัยส่วนตนที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คุณกีรติฯ คือ “วีรบุรุษผู้กล้า” แห่งวงการนักกฎหมายไทยที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นที่สุดครับ
                 ใครเห็นด้วยก็ช่วยกันหน่อยนะครับ ช่วยกันพูด ช่วยกันเขียน ช่วยกันเผยแพร่ความคิดออกไป นี่คือจุดเริ่มต้นและยังเป็นสิ่งที่มีโอกาสเป็นไปได้มากครับ !!!
        
          ผมมาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสได้ร่วมสัปดาห์หนึ่งแล้วครับ มาเป็น visiting professor ที่มหาวิทยาลัย Bretagne Occidentale เช่นเดียวกับทุกปี ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของการเลือกตั้งประธานาธิบดี มีเรื่องน่าสนใจมากมาย ถ้าเป็นไปได้ก็จะนำมาเล่าให้ฟังในบทบรรณาธิการครั้งหน้าครับ
        
                 สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความ บทความแรกเขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนเรื่อง "หมายเหตุท้ายคดีรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 เรื่อง พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่" บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง "การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพขององค์การบริหารส่วนตำบลภายใต้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจและกฎหมายมหาชนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง" ที่เขียนโดย อาจารย์ชาติ ไทยเจริญ แห่งวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม บทความสุดท้าย เป็นบทความเรื่อง "เกร็ดความรู้การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส" ที่เขียนโดย อาจารย์วรรณภา ติระสังขะ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
        
       
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2555
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544