หน้าแรก บทความสาระ
การจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของนักกีฬามวยตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
คุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ นิติศาสตรบัณฑิต นิติศาสตรมหาบัณฑิต เนติบัณฑิตไทย ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน (ธรรมศาสตร์)
20 พฤษภาคม 2555 23:03 น.
 
การแข่งขันกีฬาชกมวยไม่ว่าจะเป็นมวยสากลหรือมวยไทย ในปัจจุบันมิใช่เป็นการแข่งขันที่เป็นการละเล่นตามประเพณี แต่เป็นการแข่งขันที่มีเงินรางวัลหรือผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง การที่ค่ายมวยต่างๆ นำเด็กยากจนมาชุบเลี้ยงดูแลฝึกหัดชกเป็นเป็นนักกีฬามวย มิใช่เป็นการเลี้ยงดูแลผู้ยากไร้เพื่อเอาบุญเอากุศล แต่เป็นการเลี้ยงดูเพื่อแสวงหาเอาผลประโยชน์กับนักมวย มิใช่ค่ายมวยเป็นผู้ให้เปล่า ความสัมพันธ์ระหว่างค่ายมวยกับนักมวยจึงเป็นการต่างตอบแทน จึงไม่มีผู้ใดที่เป็นบุญคุณระหว่างกันทั้งค่ายมวยและนักมวย ดังนั้น การชกมวยของนักมวยจึงเป็นการประกอบอาชีพ ซึ่งประชาชนมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญบัญญัติรองรับไว้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔๓ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ตามมาตรา ๒๙ บัญญัติว่า ในการบัญญัติกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับใดในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ กฎหมาย กฎหรือข้อบังคับใดที่จำกัดเสรีภาพเกินสมควร มีผลกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญ
       
       ในการตรากฎหมายว่าด้วยกีฬามวยตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงมีคำปรารถว่า พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย (มาตรา ๕๐ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่กฎหมายตราขณะนั้น บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม”) และโดยได้ระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกีฬามวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งการแข่งขันมวยไทยได้กลายเป็นกีฬามวยที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมดูแลการแข่งขันมวย และส่งเสริมสนับสนุนกีฬามวยให้มีมาตรฐาน ดังนั้น สมควรให้มีกฎหมายเพื่อควบคุมกิจการดังกล่าวและเพื่อจัดให้มีสวัสดิการแก่นักมวยและบุคคลในวงการกีฬามวยที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
       
       ประเด็นปัญหาการจำกัดเสรีภาพของผู้ประกอบอาชีพนักกีฬามวยคือ พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๐ บัญญัติว่า “นักมวยที่จดทะเบียนแล้วต้องสังกัดค่ายมวยใดค่ายมวยหนึ่งในการชกแต่ละครั้งแต่เพียงค่ายมวยเดียว และต้องปฏิบัติตามระเบียบของค่ายมวยที่ได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการโดยเคร่งครัด ข้อตกลงจำกัดไม่ให้นักมวยย้ายสังกัดค่ายมวยเป็นโมฆะ เว้นแต่จะเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด” การที่กฎหมายให้นักมวยจดทะเบียนนั้นไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพเกินสมควร เพราะเป็นการควบคุมในการจัดระเบียบการประกอบอาชีพและคุ้มครองสิทธิของนักมวย แต่การที่มาตรา ๓๐ บังคับให้นักมวยที่จดทะเบียนแล้วต้องสังกัดค่ายมวยใดค่ายมวยหนึ่งในการชกแต่ละครั้งแต่เพียงค่ายมวยเดียว ถ้าไม่สังกัดค่ายจะไม่มีสิทธิในการชกมวย ทำให้เสรีภาพในการประกอบอาชีพของนักมวยตกเป็นสิทธิขาดของหัวหน้าค่ายมวย  จึงทำให้เสรีภาพในการประกอบอาชีพของนักมวยถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงภายใต้อำนาจของหัวหน้าค่ายแต่ฝ่ายเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับการจำกัดการประกอบอาชีพของบุคคลที่ประกอบอาชีพที่มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพของประชาชนและกระทบในทางความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่กฎหมายมีการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ที่เรียกกันว่า “การประกอบวิชาชีพ” ได้แก่ ทนายความ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร สัตวแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ วิศวกร สถาปนิก เป็นต้น ตามกฎหมายว่าด้วยการปะกอบวิชาชีพเหล่านั้นบังคับแต่แต่ว่าผู้ที่จะกอบวิชาชีพจะต้องได้รับใบอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพจึงจะประกอบวิชาชีพได้ มิได้บังคับให้ทนายความ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรวิศวกร สถาปนิก ว่าจะต้องสังกัดสำนักงานกฎหมาย โรงพยาบาล ร้านขายยา หน่วยงานใดๆ จึงจะประกอบวิชาชีพได้ การจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของวิชาชีพต่างๆที่บังคับเพียงแต่จะต้องได้รับอนุญาตหรือขึ้นทะเบียน จึงไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพเกินความจำเป็นและมิได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งการประกอยอาชีพของนักกีฬาอื่นๆ เช่น นักฟุตบอล นักกรีฑา นักกอล์ฟ นักเท็นนิด ก็ไม่มีกฎหมายฉบับใดบังคับว่าจะต้องสังกัดค่ายเท่านั้นจึงจะประกอบอาชีพนักกีฬาได้ แต่การที่พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๐ บังคับว่านักมวยจะขึ้นชกได้จะต้องสังกัดค่ายเท่านั้น จะชกโดยอิสระหรือในนามของตนเองโดยไม่สังกัดค่ายไม่ได้ จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพเกินความจำเป็นและกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพ และเมื่อได้มีการออกระเบียบคณะกรรมการกีฬามวยว่าด้วยการสังกัดและย้ายสังกัดค่ายมวย พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙(๑) และมาตรา ๓๐ โดยข้อ ๑๑ กำหนดว่า “นักมวยที่สังกัดค่ายมวยจะต้องแข่งขันในนามของค่ายมวยที่ตนสังกัดและใช้ชื่อแข่งขันตามที่กำหนดในสัญญาเท่านั้น กรณีที่นักมวยจะเข้าแข่งขันในนามอื่น เช่น ในนามผู้แทนชาติไทย หรือหน่วยงาน หรือการกุศลในพิธีสำคัญเป็นครั้งคราว ให้กระทำได้โดยความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากหัวหน้าค่ายมวยเท่านั้น” จึงทำให้นักมวยไม่สามารถประกอบอาชีพชกมวยได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากหัวหน้าค่ายมวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนักมวยจะเข้าแข่งขันในนามผู้แทนชาติไทย หากหัวหน้าค่ายมวยไม่ยินยอมก็จะชกในนามผู้แทนชาติไทยไม่ได้เลย และตามระเบียบฯ ข้อ ๑๑ ก็มิได้กำหนดทางแก้ไขว่า หากหัวหน้าค่ายมวยไม่ยินยอมแล้ว จะวิธีการหรือหนทางใดในการทางแก้ไขเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการประกอบชกมวยของนักกีฬามวย มีลักษณะที่ทำให้นักมวยเป็นทาสของหัวหน้าค่ายมวยไปตลอดอายุสัญญา แม้ว่าระเบียบฯ ข้อ ๑๔ (๔) จะให้สิทธิแก่นักมวยย้ายสังกัดค่ายมวยได้ในกรณีที่หัวหน้าค่ายมวยไม่จักให้นักมวยขึ้นชกเกินกว่าหกเดือนโดยไม่เหตุอันสมควร แต่ก็เป็นการสายเกินกว่าเหตุที่จะแก้ไข เพราะการขึ้นชกของนักมวยในแต่ละครั้งมีความสำคัญต่อความก้าวหน้าและรายได้ของนักมวย โดยเฉพาะการชกในนามผู้แทนชาติไทย เช่นการชกโอลิมปิก ที่นักมวยอาจชกได้เหรียญรางวัลจนทำให้ตัวเองได้เงินรางวัลต่างๆ จนร่ำรวยและสามารถเลิกอาชีพชกมวยได้ แต่ถ้าหัวหน้าค่ายมวยไม่อนุญาตเสียแล้ว โอกาสที่จะได้ชกในนามผู้แทนชาติไทยในกีฬาโอลิมปิกก็หมดสิ้นลง โดยที่กฎหมายหรือระเบียบฯ มิได้กำหนดวิธีการหรือทางหาแก้ไขให้สำหรับนักมวยแต่อย่างใด เมื่อเปรียบการจำกัดการประกอบอาชีพของผู้เยาว์ ที่ไม่บรรลุนิติภาวะ การประกอบอาชีพเช่น การค้าหรือธุรกิจอื่น จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน ตามมาตรา  ๒๗ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตได้  และเมื่อผู้เยาว์ประกอบอาชีพการค้าหรือธุรกิจไปแล้ว ก่อให้เกิดความเสียหายถึงขนาดหรือเสื่อมเสียแก่ผู้เยาว์ผู้แทนโดยชอบธรรมมีสิทธิบอกเลิกความยินยอมได้  ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมบอกเลิกความยินยอมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการบอกเลิกความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมได้  ตามมาตรา  ๒๗ วรรคสามและวรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะเห็นได้ว่าแม้กฎหมายจะจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของผู้เยาว์ที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เยาว์ แต่หากผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ยินยอมหรือบอกเลิกความยินยอมโดยไม่เหตุอันสมควร กฎหมายก็ยังกำหนดช่องทางหรือวิธีการที่จะทำให้เสรีภาพในการประกอบอาชีพของผู้เยาว์ยังคงอยู่มิได้ถูกจำกัดสิทธิโดยสิ้นเชิง แต่ตามระเบียบฯ ข้อ ๑๑ กำหนดว่าจะต้องความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากหัวห้าค่ายมวยเท่านั้น โดยมิได้กำหนดหนทางหรือวิธีการแก้ไขเพื่อรักษาเสรีภาพในการปะกอบอาชีพ จึงเป็นระเบียบข้อบังคับที่ทำลายเสรีภาพของนักมวยลงโดยสิ้นเชิง ดังนั้น มาตรา ๓๐ พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อ ๑๑ ของระเบียบคณะกรรมการกีฬามวยว่าด้วยการสังกัดและย้ายสังกัดค่ายมวย พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นกฎหมายที่เขียนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของหัวหน้าค่ายมวย มิใช่เขียนรักษาคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของนักมวย จึงเป็นกฎหมายและกฎที่มีบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพเกินความจำเป็น และกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของนักมวยตามมาตรา ๕๓ ประกอบมาตรา ๒๙ จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ เมื่อมาตรา ๓๐ พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. ๒๕๔๒ ขัดรัฐธรรมนูญ ตกเป็นโมฆะ ระเบียบคณะกรรมการกีฬามวยว่าด้วยการสังกัดและย้ายสังกัดค่ายมวย พ.ศ. ๒๕๔๔ ตามออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๐ จึงตกเป็นโมฆะตามไปด้วยทั้งฉบับ
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544