หน้าแรก บทความสาระ
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนา
อาจารย์เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
23 กันยายน 2555 20:12 น.
 
“Congress shall make no law respecting an establishment of religion, or prohibiting the free exercise thereof... ”[1]
       
       รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับศาสนาอยู่สองส่วน หนึ่งคือบทบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา (Free exercise clause) และสอง บทบัญญัติว่าด้วยการห้ามสนับสนุนศาสนา (Anti-establishment clause) ซึ่งความทั้งสองส่วนนี้แตกต่าง เสรีภาพในการนับถือศาสนาห้ามมิให้รัฐขัดขวางการแสดงออกซึ่งความเชื่อหรือพิธีกรรมทางศาสนาของประชาชน  ส่วนการห้ามสนับสนุนศาสนานั้น ยึดหลักเรื่องความเสมอภาค ห้ามรัฐมิให้สนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งขึ้นมาเป็นพิเศษยิ่งกว่าศาสนาอื่น แต่ข้อความทั้งสองนี้ สะท้อนแนวคิดของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ว่าต้องการให้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกายุ่งเกี่ยวเฉพาะกับเรื่องในทางโลกเท่านั้น  ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวของเอกชนแต่ละรายซึ่งรัฐจะต้องเคารพ และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเป็นอันขาด  หากรัฐเข้าไปขัดขวางก็ดีหรือสนับสนุนการนับถือศาสนาก็ดี  ย่อมถือว่ารัฐกำลังคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน  โธมัส  เจฟเฟอร์สัน  หนึ่งในสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้แดสงความเห็นของตนในเรื่องนี้ชัดเจนว่า “ต้องมีกำแพงแบ่งระหว่างรัฐกับศาสนา”  “the wall of separation between church and state"[2]
                       ต่อมาในภายหลัง การตีความเรื่องบทบาทของรัฐกับศาสนานั้นหลากหลายขึ้นตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป[3] บางสำนักความคิดยังเชื่อในการแบ่งแยกรัฐและศาสนาอย่างเด็ดขาด ดังเช่นเจฟเฟอร์สัน คือ รัฐต้องไม่พูดถึงศาสนาเลยในกิจกรรมของตน บางสำนักความคิดเห็นว่า รัฐควรแค่วางตัวเป็นกลาง คือ อนุญาตให้ศาสนาต่างๆ ทำกิจกรรมของตนได้เท่าเทียมกันโดยไม่ขัดขวาง  และบางสำนักก็เห็นไปไกลถึงขั้นว่า  รัฐอาจสนับสนุนกิจกรรมของศาสนาต่างๆ ได้  เพียงแต่ต้องสนับสนุนทุกศาสนาหมด  แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน คือ หากรัฐสนับสนุนหรือขัดขวางศาสนาใดเป็นการเฉพาะแล้ว ย่อมไม่สามารถกระทำได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญ
                       เหตุที่รัฐธรรมนูญห้ามรัฐมิให้สนับสนุนการตั้งศาสนาประจำชาตินั้น  มูลเหตุทางประวัติศาสตร์คือ ความกังวลเรื่องการกดขี่คุกคามประชาชนที่ไม่ได้นับถือศาสนาดังกล่าว  ประเทศอเมริกาเมื่อแรกก่อตั้ง  มีประชากรจำนวนมากอพยพหนีการคุกคามเรื่องศาสนามาจากยุโรปซึ่งในขณะนั้นมีศาสนาประจำชาติ  ใครไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกับทางการแล้วถูกคุมคาม  บรรดาชนเหล่านั้นจึงอพยพมายังโลกใหม่ซึ่งให้เสรีภาพแก่พวกตนมากกว่า  ชุมชนแต่ละแห่งมีอิสระในการนับถือศาสนาต่างๆ ที่ตนพอใจโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกันและกัน  และรัฐก็เคารพเสรีภาพตรงนี้[4]  เมื่อเป็นเช่นนี้แนวคิดเรื่องเสรีภาพในศาสนาจึงตกทอดจากบรรพบุรุษมาจนถึงผู้ร่างรัฐธรรมนูญ  ในปัจจุบัน แม้การข่มขู่คุกคามนั้นจะไม่ปรากฏทางกายภาพชัดเจน แต่หากประชาชนรู้สึกถูกคุกคามด้านความรู้สึกนึกคิด การกระทำของรัฐนั้นก็ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรานี้ได้เช่นกัน (the non-coercion principle)[5]  
                       นอกจากนี้  ปัจจุบันนี้มีคำอธิบายอีกประการในเรื่องห้ามตั้งศาสนาประจำรัฐ นั่นคือ  เพื่อห้ามรัฐรับรองศาสนาใดศาสนาหนึ่งว่าถูกต้องที่สุด ซึ่งเป็นการรับรองสถานะของคนบางกลุ่ม[6]  อันธรรมดาทุกคนในสังคมนั้นย่อมแข่งขันกันในเรื่องนานัปการ  เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ  แข่งขันกันเรื่องสถานะ  ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องนามธรรม  แต่ก็เป็นสาระสำคัญแก่จิตใจไม่แพ้เรื่องทางกายใดๆเลย หากรัฐสนับสนุนศาสนาหนึ่งขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ เท่ากับรัฐกำลังรับรองความเชื่อหนึ่งว่าถูกต้องที่สุดดีกว่าความเชื่ออื่นๆ ผลคือรัฐรับรองสถานะของผู้นับถือศาสนานั้นๆไว้สูงกว่าดีกว่าผู้นับถือศาสนาอื่น เมื่อรัฐเข้ามาตัดสินชี้ถูกผิดในเรื่องที่ทุกคนต่างเชื่อไม่ตรงกัน และไม่มีผิดถูกจริงแท้แน่นอน ผลที่เกิดคือ สมาชิกในสังคมบางส่วนย่อมรู้สึกไม่เท่าเทียมกัน และสังคมนั้นจะหาความสงบสุขได้ยาก (the non-endorsement principle)
                       เมื่อเราหันกลับมาดูรัฐไทยบ้าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ดังนี้[7]
       “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบ ร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
       ในการใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น”
       ในส่วนของประเทศไทยนั้นต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยมีหลักฐานยืนยันความพยายามที่จะแบ่งแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน ในอดีตมา รัฐแสดงออกถึงความผูกพันกับศาสนาพุทธอย่างแนบแน่น ทั้งในเรื่องส่วนตัวของผู้มีอำนาจ เช่น การออกผนวช การมีพระราชปรารภในพระราชนิพนธ์ว่าตั้งใจจะ "ยอยกพระพุทธศาสนา”  และเรื่องของส่วนรวม เช่น การเกณฑ์แรงงานเพื่อก่อสร้างศาสนสถาน พระราชพิธีและรัฐพิธีที่เน้นความเชื่อแบบพราหมณ์-พุทธ การยกที่ดินกัลปนาแก่วัด และความสัมพันธ์นี้ก็ได้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการตั้ง
       มหาเถรสมาคมขึ้นมาเพื่อดูแลกิจการของศาสนาพุทธ การเรียนการสอนพุทธศาสนาเป็นหลักสูตรบังคับ การประกาศวันหยุดราชการตามวันสำคัญทางศาสนา และในรัฐธรรมนูญเองก็กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะ นับเป็นบุคคลเดียวในชาติไทยที่ต้องถูกกำหนดความเชื่อทางศาสนาไว้  ดังนั้นแม้ศาสนาพุทธจะไม่ได้รับการบัญญัติให้เป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริง รัฐไทยนั้นเป็นผู้ส่งเสริมอุปถัมภ์ศาสนาพุทธอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
                       อย่างไรก็ดีในระยะหลังที่ผ่านมา วิธีการของรัฐในการสนับสนุนศาสนาพุทธทวีความเข้มข้นมากขึ้น จากเดิมที่การสนับสนุนเป็นไปในภาพรวม เช่น ตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแล หรือผ่านการศึกษาภาคบังคับเป็นหลัก  ในระยะหลัง การสนับสนุนส่งเสริมพุทธศาสนา เป็นเรื่องส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐมากขึ้น อาทิ การใช้ทรัพยากรของหน่วยงานจัดพิธีกรรมทางศาสนาหรืออบรมเผยแพร่พุทธศาสนา หรือการจัดงานพิธีกรรมเหล่านี้บางครั้งส่งผลกระทบในวงกว้าง อาทิ ต้องปิดการจราจร[8] ดังนั้น เราจึงอาจควรกลับมาทบทวนการตีความความหมายของเสรีภาพในการนับถือศาสนาใหม่ว่า สมควรขยายความรวมไปถึงเสรีภาพที่จะไม่ถูกบังคับโดยรัฐ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อมให้ต้องเข้าร่วมหรือปฏิบัติตาม หรือได้รับผลกระทบจากความเชื่อที่ตนไม่ศรัทธาจริงจังหรือไม่  รัฐควรจะต้องจำกัดบทบาทของตนเองในเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนพุทธศาสนาให้มากขึ้นหรือไม่ เพราะ กิจกรรมศาสนาที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐนั้น แท้จริงแล้วคือการนำงบประมาณ สถานที่ และบุคลากรซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทุกคนไม่ว่าจะศาสนาใดเพื่อส่งเสริมศาสนาพุทธโดยเฉพาะเพียงศาสนาเดียว ในกรณีนี้อาจถือว่าเกิดการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ คือ ผู้มีอำนาจในหน่วยงานรัฐนั้นกำลังพยายามส่งเสริมความเชื่อของตนโดยใช้ทรัพยากรส่วนรวม ทั้งยังเป็นการรับรองศาสนาพุทธเป็นพิเศษกว่าศาสนาอื่นซึ่งอาจขัดกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาของศาสนิกชนอื่นได้ รัฐนั้นต้องเป็นผู้ปกครองทุกคนในรัฐไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม ศาสนาทุกศาสนานั้นเป็นเรื่องของความดีความชั่วซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีผิดถูกจริงแท้แน่นอน รัฐจึงควรระมัดระวังที่จะสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งมากจนเกินไป ซึ่งอาจเป็นการกดดันหรือคุกคามเสรีภาพทางศาสนาของ
       ศาสนิกชนศาสนาอื่น หรือแม้กระทั่งชาวพุทธเอง
       นอกจากนั้นการที่หน่วยงานของรัฐพยายามส่งเสริมศาสนาพุทธนั้นเป็นการรับรองศาสนาดังกล่าวซึ่งในสังคมปัจจุบันที่มีคนหลายศาสนา หลายความเชื่อ อาศัยอยู่ด้วยกันนั้นไม่น่าจะเหมาะสม รัฐควรคำนึงถึงบุคคลผู้นับถือศาสนาอื่น หรืออย่างน้อยที่สุดผู้ที่ไม่ประสงค์จะร่วมพิธีกรรมหรือกิจกรรมนั้นๆ ว่าจะอยู่ใต้ความกดดันหรือไม่ และมีทางหลีกเลี่ยงได้มากน้อยเพียงใด ในพิธีกรรมเหล่านี้ หลายครั้งผู้ที่เข้าร่วมอาจมิได้เชื่อถือจริงจัง หากแต่ต้องเข้าร่วมพิธีกรรมหรือการอบรม เพราะแรงกดดันทางสังคมจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน หรือในสถานศึกษาก็คือแรงกดดันจากครูผู้สอนอีกทางหนึ่ง ผู้เข้าร่วมหรือผู้ได้รับผลกระทบบางคนอาจจะรู้สึกถูกคุกคามเสรีภาพของตน หรืออย่างน้อยที่สุด อาจรู้สึกว่าตนเป็นชนกลุ่มน้อย ถูกแบ่งแยกจากสังคมหลัก เนื่องจากไม่ได้นับถือหรือเข้าร่วมกับศาสนาหลักที่รัฐสนับสนุนเป็นพิเศษ
                       แน่นอนว่าการขีดเส้นแบ่งที่ชัดเจนตายตัวระหว่างรัฐกับศาสนาเป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อน  แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา การกำจัดศาสนาออกจากกิจการของรัฐโดยสิ้นเชิงนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้[9] และบทความนี้ก็มิได้ให้คำตอบสุดท้าย แต่อย่างน้อยที่สุด รัฐควรลองเปรียบเทียบกิจการของรัฐในสถานการณ์ต่างๆว่า สิ่งใดควรกระทำได้และสิ่งใดควรหลีกเลี่ยง
       อย่างน้อยที่สุดรัฐไทยอาจจะต้องพยายามขีดเส้นแบ่งระหว่างที่มาหรือความหมายของกิจกรรมที่ตนกำลังส่งเสริมว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีหรือรัฐพิธี หรือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ หรือเพียงเพื่อเผยแพร่ศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว ในกรณีหลังอาจถือว่าผู้มีอำนาจในหน่วยงานของรัฐนั้นกำลังพยายามส่งเสริมความเชื่อของตนโดยใช้ทรัพยากรส่วนรวม ซึ่งนอกจากขัดกับเรื่องผลประโยชน์ขัดกันแล้ว ยังเป็นการคุกคามเสรีภาพของผู้ที่มิได้เชื่อถือในศาสนานั้นๆด้วย จึงไม่ควรให้กระทำได้ ส่วนในกรณีอื่นอาจจะต้องพิจารณากันถึงผลกระทบต่อส่วนรวมทั้งหมด
       แม้ในมาตรา ๓๗ เองจะไม่บัญญัติเรื่องการห้ามรัฐสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษเหมือนกับ Anti-establishment clause ของสหรัฐอเมริกา แต่ที่จริงแล้วเสรีภาพในการนับถือศาสนาก็ต้องตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานเรื่องความเสมอภาคด้วย รัฐจึงควรปฏิบัติต่อทุกศาสนาอย่างเสมอภาคกันและหลีกเลี่ยงการให้ความสำคัญกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งเกินความจำเป็น
       ข้อเสนอแนะที่ให้รัฐปรับท่าทีของตนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับศาสนานั้นมิได้บอกว่าเนื้อหาคำสอนของศาสนาพุธไม่ดี ไม่สมควรเผยแพร่ ศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน และดีเสมอกันทุกศาสนา แต่การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความเชื่อที่แตกต่างกันของสมาชิกทุกคนในสังคม และหลีกเลี่ยงการใดๆ อันอาจกระทบกระเทือนกัน สิ่งใดที่เป็นความเชื่อส่วนตัวแม้จะเป็นสิ่งดีสิ่งประเสริฐ ก็พึงไม่บังคับยกให้ผู้อื่นที่ไม่ต้องการ นั่นจึงจะเป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง 
        
       

       
       

       
       

       [1] U.S. Const. amend. I.

       
       

       [2] Reynold v. United States, 94 U.S. at 164.

       
       

       [3] Geoffrey Stone et al., The First Amendment, (3d ed.), at 554-560 (2008).

       
       

       [4] Everson v. Board of Education, 330 U.S. 1 (1947).

       
       

       [5] Lee v. Weisman, 505 U.S. 577 (1992).

       
       

       [6] Allegheny County v. ACLU, 492 U.S. 573 (1989).

       
       

       [7] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๗.

       
       

       [8] อาทิ กรณีการธุดงค์ธรรมชัย ระหว่างวันที่ ๒-๖ เมษายน ๒๕๕๕ หรือกรณีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ๒๒,๖๐๐ รูป ฉลองพุทธชยันตี ณ วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งทั้งสองครั้งล้วนแต่ต้องปิดพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานครฯไป

       
       

       [9] เช่น กรณี ceremonial deism ดู Elk Grove Unified School District v. Newdow, 542 U.U. 1 (2004) ซึ่งศาลเห็นว่าการอ้างถึง God ในคำสาบานตน (Pledge of Allegiance) นั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้เจาะจงถึงพระเจ้าในคริสตศาสนา แต่เป็นการกล่าวถึงพระเจ้าอันเป็นที่เคารพนับถือของศาสนิกชนทั่วไป หรือการที่วันคริสมาสต์และวันขอบคุณพระเจ้าเป็นวันหยุดราชการของประเทศสหรัฐอเมริกา 

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544