หน้าแรก บทความสาระ
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับอำนาจท้องถิ่นของอังกฤษในการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่บริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง
อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง สัมฤทธิบัตรกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร อีเมลล์ pedithep.youyuenyong@email.dmu.ac.uk
23 กันยายน 2555 20:12 น.
 

       จำนวนประชากรที่หนาแน่นมากขึ้นและการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองในแต่ละท้องถิ่นของอังกฤษ เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พื้นที่สีเขียวในบริเวณชุมชนเมืองลดลง ซึ่งเมื่อพื้นที่สีเขียวในบริเวณชุมชนเมืองลดลงแล้ว ย่อมอาจส่งผลเสียหลายประการต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนเมือง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอังกฤษจึงได้แสวงหาแนวทางและพัฒนามาตรการทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมและผังเมืองเพื่ออนุรักษ์พื้นที่สีเขียวที่มีอยู่คู่พื้นดินหรือชุมชนมาแต่เดิม ไม่ให้ถูกขจัดหรือทำลายอันเนื่องมาจากการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมือง ที่ประชาชนท้องถิ่นหรือภาคเอกชนต้องการให้มีสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ เข้ามาแทนที่พื้นที่สีเขียวหรือบริเวณที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่คู่ชุมชนมาแต่ดั้งเดิม
       รัฐบาลอังกฤษจึงได้แสวงหาแนวทางในการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวหรืออนุรักษ์บริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกคู่กับชุมชนมาแต่เดิม โดยอาศัยการวางมาตรการกำหนดผังเมืองเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยรัฐได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดอำนาจและหน้าที่ให้ท้องถิ่นแต่ละระดับของอังกฤษ สามารถใช้อำนาจของตนในการบังคับให้เอกชนปฏิบัติตามคำสั่งของท้องถิ่นเพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ให้อยู่คู่กับพื้นที่ชุมชนเมืองทั่วไปหรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่ถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม[1] ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอังกฤษจึงได้ตรากฎหมาย Town and Country Planning Act 1990 และกฎหมาย Town and Country Planning (Tree Preservation) (England) Regulations 2012[2] ขึ้น โดยกฎหมายทั้งสองฉบับได้ให้อำนาจแก่ท้องถิ่นของอังกฤษในการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวและพื้นที่ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ในชุมชนเมืองมาแต่เดิม เพื่อให้พื้นที่สีเขียวและต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีอยู่แล้วในชุมชนเมือง ได้รับความคุ้มครองจากการตัด โค่น ถอน ทำลายหรือทำให้เสียหายประการอื่นๆ โดยหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนอื่นๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้นๆ ซึ่งแม้ว่าพื้นที่เหล่านั้นจะเป็นพื้นที่ๆ หน่วยงานของรัฐอื่นหรือเอกชนมีกรรมสิทธิหรือสิทธิครอบครอง แต่ท้องถิ่นของอังกฤษก็มีอำนาจในการพิจารณาว่าต้นไม้ขนาดใหญ่ต้นใดต้นหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ใด สมควรที่จะได้รับความคุ้มครองเพื่อได้รับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Conservation) หรือเพื่อประโยชน์แห่งรุกขกรรมอื่นๆ (Arboriculture)
       ดังนั้น กฎหมาย Town and Country Planning Act 1990 และกฎหมาย Town and Country Planning (Tree Preservation) (England) Regulations 2012 ได้ให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในการออก “คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้” (Tree Preservation Orders - TPOs) กล่าวคือ ท้องถิ่นของอังกฤษสามารถออกคำสั่งห้ามมิให้เอกชน ตัด โค่น ถอน จงใจทำลายหรือจงใจทำให้ต้นไม้เสียหายในกรณีอื่นๆ เพื่อประโยชน์แห่งการอนุรักษ์ต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุมชนเมือง รวมไปถึงต้นไม้อื่นๆ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้อยู่คู่กับพื้นที่ชุมชนเมืองหรือพื้นที่ของท้องถิ่นด้วย ซึ่งคำสั่งดังกล่าวนอกจากจะให้อำนาจแก่ท้องถิ่นหรือส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีหน้าที่อนุรักษ์ต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุมชนเมืองในแต่ละท้องถิ่นแล้ว เอกชนหรือหน่วยงานของรัฐที่รับคำสั่งดังกล่าวจำต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองพื้นที่สีเขียวในบริเวณชุมชนเมืองอีกประการหนึ่ง[3]
       คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้
       กฎหมาย Town and Country Planning Act 1990 และกฎหมาย Town and Country Planning (Tree Preservation) (England) Regulations 2012 ได้ให้อำนาจแก่สภาท้องถิ่น (City Council) ของอังกฤษในการออก “คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้” โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอาจใช้ดุลพินิจ[4]ในการออกคำสั่งห้ามมิให้เอกชน ตัด โค่น ถอน จงใจทำลายหรือจงใจทำให้เสียหาย กับต้นไม้ที่ท้องถิ่นเห็นว่าสมควรได้รับการอนุรักษ์ไว้เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมในชุมชนหรือเพื่อรักษารุกขกรรมเพื่อเพิ่มทัศนียภาพให้กับพื้นที่ชุมชนเมือง โดยคำสั่งดังกล่าวอาจระบุเฉพาะต้นที่สมควรได้รับการอนุรักษ์เอาไว้หรือระบุเป็นพื้นที่ที่ต้นไม้สมควรได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ นอกจากนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นอังกฤษได้ใช้อำนาจในการทำ “คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้” แล้ว เจ้าหน้าที่ของสภาท้องถิ่นของอังกฤษยังมีหน้าที่ในการจัดทำ “แผนที่ประกอบคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้” (Tree Preservation Order Maps) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจในการบังคับให้คำสั่งดังกล่าวบรรลุผลและเพื่อให้เอกชนเฉพาะรายหรือเอกชนเป็นกลุ่มที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ได้รู้ถึงตำแหน่ง ชนิด ประเภท่และพิกัดของต้นไม้ที่สมควรอนุรักษ์ภายใต้คำสั่งดังกล่าว
       สำหรับสาระสำคัญของ “คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้” ต้องประกอบด้วย ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งซึ่งอาจเป็นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการผังเมืองหรือเอกชนที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิหรือเอกชนที่มีเพียงสิทธิครอบครองบริเวณที่ต้นไม้ได้ตั้งอยู่ การระบุข้อมูลเกี่ยวกับประเภทหรือตำแหน่งที่ต้นไม้ได้ตั้งอยู่หรือพื้นที่ที่ท้องถิ่นได้มีคำสั่งอนุรักษ์ หลักเกณฑ์ในการโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวและการกำหนดวิธีหรือกระบวนการในการอุทธรณ์คำสั่ง หากเอกชนผู้ได้รับการกระทบสิทธิหรือผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวหรือเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวอาจกระทบสิทธิอื่นๆ ของตน เช่น คำสั่งดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคในการก่อสร้างหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Development)[5] ในพื้นที่ธุรกิจจัดสรรที่ดินหรือโครงการของภาคเอกชน เป็นต้น
       แม้ว่า “คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้” จะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของรัฐในการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้เพื่ออนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองให้คงอยู่คู่กับชุมชนต่อไป แต่การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการใช้อำนาจของท้องถิ่นในการจัดผังเมืองบางประการอาจไปกระทบสิทธิของเอกชน[6] ดังนั้น กฎหมายผังเมืองของอังกฤษที่ให้อำนาจท้องถิ่นในการทำคำสั่งดังกล่าว จึงเปิดช่องให้เอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งดังกล่าว สามารถอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเพื่อขออนุญาตท้องถิ่นในการตัด โค่น ถอน ทำลายหรือทำให้เสียหายอื่นๆ อันนำมาซึ่งประโยชน์ในการทำกิจกรรมของตน (Application for Tree Works) โดยเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นอาจใช้ดุลพินิจในการอนุญาตตามคำของของเอกชนและยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเป็นรายกรณีไป โดยในคำอุทธรณ์คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ของเอกชนหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องระบุถึงความจำเป็นอันอาจกระทบต่อสิทธิของเอกชนหรือลักษณะการดำเนินกิจกรรมของเอกชนที่อาจได้รับอุปสรรคจากคำสั่งของท้องถิ่นดังกล่าว (Description of Works) นอกจากนี้ ในคำอุทธรณ์ของเอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องต้องระบุถึงเหตุที่อาจก่อความเสียหายต่อทรัพยสินอื่นๆ หากคำสั่งดังกล่าวมีผล (Alleged Damage to Property) และระบุตำแหน่งหรือต้นไม้ที่อ้างเหตุแห่งความจำเป็นในการอุทธรณ์เป็นกรณีๆ ไป (Identification of Tree)
       หากผู้รับคำสั่งหรือผู้ที่ต้องปฏิบัติตาม “คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้” มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในระยะเวลาที่คำสั่งดังกล่าวกำหนดหรือทำการฝ่าฝืนคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร สภาท้องถิ่นมีอำนาจฟ้องต่อศาลแขวงของท้องถิ่น (Magistrates Court) เพื่อให้ศาลแขวงท้องถิ่นลงโทษปรับ ทั้งนี้ ศาลแขวงท้องถิ่นมีอำนาจลงโทษปรับเอกชนที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวได้เป็นจำนวนเงินถึง 20,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1,000,000 บาท ซึ่งศาลอาจใช้ดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงสัดส่วนแห่งความเสียหายจากการฝ่าฝืนคำสั่งของเอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและทัศนียภาพพื้นที่สีเขียวบริเวณชุมชนเมือง
       จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ประโยชน์ “คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้” ใหญ่ในชุมชนเมืองหรือต้นไม้อื่นๆ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ย่อมทำให้ท้องถิ่นตระหนักถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการอนุรักษ์ต้นไม้ทั้งในพื้นที่ชุมชนเมืองทั่วไปหรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่ถูกประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการตัด โค่น ถอน ทำลายหรือทำให้เสียหายอื่นๆ แก่ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ชุมชนเมืองโดยไม่มีเหตุแห่งความจำเป็นและฝ่าฝื่นต่อคำสั่งหรือบทบัญญัติกฎหมายผังเมืองหรือกฎหมายท้องถิ่นอื่นๆ ย่อมอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อพื้นที่สีเขียวในบริเวณชุมชนเมืองที่สมควรได้รับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือเพื่อประโยชน์แห่งรุกขกรรมชุมชนเมืองเอาไว้ แต่อย่างไรก็ดี ท้องถิ่นอาจอนุญาตให้เอกชนอุทธรณ์ “คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้” เป็นรายกรณีๆ ไป ฉะนั้น เอกชนจึงอาจตัด โค่น ถอน ทำลายหรือทำให้เสียหายอื่นๆ แก่ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ชุมชนเมืองเมื่อท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นได้มีคำอนุญาตให้ท้องถิ่นกระทำการดังกล่าวได้ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นได้มีดุลพินิจทำคำอนุญาตเช่นว่านี้แล้ว เจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นอาจกำหนด “คำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทน”
       คำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทน
       แม้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสภาท้องถิ่นอังกฤษมีอำนาจดุลพินิจที่จะอนุญาตให้เอกชนกระทำการตัด โค่น ถอน ทำลายหรือทำให้เสียหายอื่นๆ แก่ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ชุมชนเมือง ตามคำขอของเอกชนหรือคำอุทธรณ์ของเอกชนที่อุทธรณ์ “คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้” ที่ได้กล่าวมาในข้างต้น แต่มิได้ไหมายความว่าเอกชนจะสามารถกระทำการการตัด โค่น ถอน ทำลายหรือทำให้เสียหายอื่นๆ แก่ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ชุมชนเมืองโดยปราศจากมาตรการในการเยี่ยวยาพื้นที่สีเขียวในบริเวณชุมชนเมืองที่มีคุณค่าในเชิงสิ่งแวดล้อมหรือมีคุณค่าในเชิงรุกขกรรมแต่ประการใด ด้วยเหตุนี้ กฎหมายผังเมืองของอังกฤษทั้งสองฉบับ ได้แก่ กฎหมาย Town and Country Planning Act 1990 และกฎหมาย Town and Country Planning (Tree Preservation) (England) Regulations 2012 จึงได้ให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในการทำ “คำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทน” (Tree Replacement Notices - TRNs)[7]
       ทั้งนี้ การใช้อำนาจการทำ “คำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทน” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอังกฤษ หมายถึง การใช้อำนาจของท้องถิ่นของอังกฤษในการสร้างหลักเกณฑ์ในเอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียปลูกต้นไม้ใหญ่ทดแทนจากที่ได้กระทำการตัด โค่น ถอน ทำลายหรือทำให้เสียหายในกรณีอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นมีอำนาจตามกฎหมายผังเมืองในการออก “คำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทน” เพื่อให้เอกชนปฏิบัติตาม โดยเอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในฐานะที่เป็นผู้รับคำบอกกล่าว อาจเป็นเอกชนรายหนึ่งรายใดหรือเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อาจระบุรายชื่อไว้อย่างชัดเจนในคำบอกกล่าวดังกล่าว ซึ่ง “คำบอกกล่าว” (Notice) ตามกฎหมายผังเมืองของอังกฤษในลักษณะนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของเอกชนและผู้มีส่วนใดส่วนเสียอื่นๆ เพราะคำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทน มีลักษณะของการกำหนดกฎเกณฑ์และสร้างหน้าที่ให้เอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียปลูกต้นไม้ทดแทน
       “คำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทน” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอังกฤษต้องระบุสาระสำคัญ ได้แก่ หน้าที่ของเอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่จะต้องกระทำตามคำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทน (Duty to Plant) เพื่อทดแทนต้นไม้ในพื้นที่ชุมชนเมืองที่ถูกทำลายหรือทำให้เสียหาย  การกำหนดพื้นที่เพื่อให้เอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ สามารถปลูกต้นไม้ทดแทนในบริเวณที่ท้องถิ่นได้กำหนดเอาไว้ (Address of Land) เพื่อให้เอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ได้ทราบพื้นที่ในการปฏิบัติตามคำบอกกล่าวของท้องถิ่นดังกล่าว  เหตุผลที่เอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ต้องปฏิบัติตามคำบอกกล่าวของท้องถิ่น (Reasons for Serving Notice) เงื่อนไขที่ท้องถิ่นได้กำหนดให้เอกชนปฏิบัติ (Requirement)  เงื่อนเวลาที่ท้องถิ่นกำหนดให้เอกชนปฏิบัติภายในระยะเวลาที่กำหนด  (Date) คำชี้แจงเกี่ยวกับสิทธิในการอุทธรณ์คำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทนดังกล่าว (Right to Appeal) คำชี้แจงกรณีที่เอกชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ไม่สามารถกระทำตามคำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทน (Failure to Comply) ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษอาจเข้ามาดำเนินการปลูกต้นไม้ทดแทนเองและเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากเอกชนในภายหลัง และคำแนะนำอื่นๆ (Advice) ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับคำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทนดังกล่าว อนึ่ง การใช้อำนาจท้องถิ่นในการทำ “คำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทน” ย่อมส่งผลดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพื้นที่รุกขกรรมในชุมชนเมือง เพราะการใช้อำนาจของท้องถิ่นเช่นนี้ย่อมส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวที่ประกอบด้วยต้นไม้ใหญ่ในชุมชนเมืองสามารถดำรงอยู่ได้โดยการปลูกต้นไม้ทดแทนและเพิ่มภูมิทัศน์ที่ดีสำหรับประชาชนที่อยู่อาศัยในชุมชนเมือง
       แม้ว่าการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองของอังกฤษ พร้อมๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรในชุมชนเมือง อาจก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่อาศัยในชุมชนเมืองในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองของแต่ละท้องถิ่น แต่การใช้อำนาจท้องถิ่นของอังกฤษในการอนุรักษ์ต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียวในบริเวณชุมชนเมืองผ่านกระบวนการและการบังคับให้เป็นไปตาม “คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้” และ “คำบอกกล่าวให้เอกชนปลูกต้นไม้ทดแทน” ย่อมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งทำให้ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ต้นไม้ภายในท้องถิ่นและพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่คู่ชุมชนเมืองมาแต่เดิมไม่ให้ถูกทำลายลง
                  
       

        
       

       
       

       

       [1] สภาท้องถิ่นของอังกฤษระดับต่างๆ อาจประกาศพื้นที่ของท้องถิ่นในบางพื้นที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Conservation Areas) โดยท้องถิ่นต้องคำนึงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และคุณภาพของภูมิทัศน์ในพื้นที่นั้นๆ ว่าสมควรประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยท้องถิ่นต้องจัดทำบัญชีรายชื่อและแผนที่กำหนตพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนเมืองแต่ละท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน ท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถทราบว่าพื้นที่ใดเป็นเขตอนุรักษ์และทราบว่าพื้นที่ใดต้องดำเนินกิจกรรมสาธารณะเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นแบบใด ให้เหมาะกับสภาพสิ่งแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ โปรดดู  Leicester City Council, Environment & Planning Conservation Areas, available online at http://www.leicester.gov.uk/your-council-services/ep/planning/conservation/conservationareas/
       

       

       [2] กฎหมาย Town and Country Planning (Tree Preservation) (England) Regulations 2012 ได้บัญญัติขึ้นมายกเลิกกฎหมายฉบับเดิม ได้แก่ กฎหมาย Town and Country Planning (Trees) Regulations 1999 กฎหมาย Town and Country Planning (Trees) (Amendment) (England) Regulations 2008 และกฎหมาย Town and Country Planning (Trees) (Amendment No 2) (England) Regulations 2008
       

       

       [3] การให้อำนาจแก่ท้องถิ่นของอังกฤษในการออก “คำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้” ถือเป็นการแก้ปัญหาจากเดิมที่หน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่น ไม่อาจดำเนินการอนุรักษ์ต้นไม้ในพื้นที่ที่เอกชนมีกรรมสิทธิหรือมีสิทธิครองครอง ซึ่งแต่เดิมรัฐเองไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปอนุรักษ์และบำรุงรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ของเอกชนได้
       

       

       [4] แม้ว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของอังกฤษจะมีอำนาจดุลพินิจในการออกคำสั่งห้ามหรือคำสั่งอนุญาตให้เอกชนสามารถตัด โค่น ถอน ทำลายหรือทำให้เสียหายในกรณีอื่นใดแก่ต้นไม้ขนาดใหญ่ แต่เจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นเองอาจใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ เจ้าหน้าที่อาจใช้ดุลพินิจที่ไม่เหมาะสม (wrongly fettered discretion) หรือไม่มีกฎหมายรองรับให้ใช้อำนาจ โดยอาจทำให้เอกชนได้รับความเสียหายจนอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เอกชนฟ้องร้องท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตามข้อเท็จจริงในคคี Wilkson Properties Ltd v Royal Borough of Kensington and Chelsea [2010] EWHC 3274 (QB) โปรดดูเพิ่มเติมใน Case Comment, Wilkson Properties Ltd v Royal Borough of Kensington and Chelsea: tree preservation order confirmation, Journal of Planning & Environment Law, 2011, 8, 1083-1114.
       

       

       [5] Brown, P., Legal Update, Journal of Planning & Environment Law, 2010, 13 Supp, 58-112.
       

       

       [6] Hart, K., The wood for the trees, Post Magazine, 2011, Jan 20, 30.
       

       

       [7] Planning Inspectorate, A Guide for Appellants (Tree Replacement Notices), available online at http://www.planningportal.gov.uk/uploads/pins/trn_app_guidance.pdf
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544