หน้าแรก บทความสาระ
ปัญหากฎหมายในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
คุณนิจจารีย์ ภาคินปริพรรห์ สำนักงาน กกต.
6 ตุลาคม 2555 18:09 น.
 
ปัญหากฎหมายในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 
        
       ปัจจุบันการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระได้พัฒนารูปแบบไปอย่างมาก เช่น การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับชาติหรือการขับออกจากตำแหน่ง“Impeachment”[1] ซึ่งกระทำผ่านองค์กรทางการเมืองต่างๆ และการถอดถอนระดับท้องถิ่นหรือการปลดออกจากตำแหน่ง “Recall” ที่ให้อำนาจประชาชนลงคะแนนเสียงปลดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง  
       สำหรับการถอดถอนระดับท้องถิ่นหรือการปลดออกจากตำแหน่ง “Recall” นั้น เป็นรูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่มีองค์ประกอบสำคัญ คือ (1) ต้องมีสภาพบังคับให้มีการเริ่มต้นกระบวนการโดยประชาชน (2) การตัดสินใจขั้นสุดท้ายโดยประชาชน[2] ซึ่งรูปแบบนี้ทั่วโลกใช้น้อยมากและประเทศที่ใช้การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ ได้แก่ ปานามา และเวเนซูเอล่า หรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับมลรัฐและข้าราชการระดับสูง ได้แก่ อาร์เจนตินา โคลัมเบีย เอควาดอร์ เปรู และเวเนซูเอล่า หรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา และประเทศไทย[3]  
       
       1.กระบวนการลงคะแนนเสียงถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นของต่างประเทศ
       ประเทศสหรัฐอเมริกา รูปแบบปกครองเป็นสหพันธ์รัฐประชาธิปไตย แบ่งการปกครองเป็น 50 มลรัฐ มี 13 มลรัฐ ที่ใช้ระบบ “Recall” และแบ่งได้ 3 รูปแบบ
       รูปแบบที่ 1 การถอดถอนถือเป็นการเลือกตั้งใหม่ไปในคราวเดียวกัน จึงมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีการโฆษณาเสียง มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง การนับคะแนนหากผู้ถูกร้องได้คะแนนน้อยกว่าผู้สมัครอื่นผู้ถูกร้องก็พ้นจากตำแหน่งทันที หากนับคะแนนชนะก็ทำหน้าที่ต่อไป เช่น Arizona, California , Colorado,  Nevada, North Dakota ,Wisconsin
        รูปแบบที่ 2 ลงคะแนนถอดถอนแล้วตามด้วยการเลือกตั้งพิเศษ กล่าวคือ จัดการลงคะแนนเสียง 2 ครั้ง (1)จัดการลงคะแนนเสียงถอดถอน (2)จัดการเลือกตั้งใหม่พิเศษแยกออกมา เช่น Georgia, Louisiana, Michigan , Minnesota , Montana,  New Jersey,  Oregon, Rhode Island
       รูปแบบที่ 3 ลงคะแนนเสียงถอดถอนแล้วแต่งตั้งบุคคลตามรายชื่อมาสืบต่อตำแหน่ง กล่าวคือ บัตรลงคะแนนมีการตั้งคำถามให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนตอบ 2 ข้อ (1) ท่านต้องการถอดถอนเจ้าหน้าที่ให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ “ใช่” หรือ”ไม่ใช่” (2) มีรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนให้เลือกด้วย การนับคะแนนจะนับจากความต้องการของประชาชนที่ต้องการถอดถอนก่อน ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการถอดถอนก็หยุดกระบวนการสืบต่อตำแหน่ง ผู้ถูกร้องก็ทำหน้าที่ต่อไป หากเป็นการถอดถอนผู้ว่าการมลรัฐ ผู้ที่สมัครจะสืบต่อตำแหน่งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดียวกับผู้ถูกร้องและต้องได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการของพรรคการเมือง[4] เช่น  Washington ,Alaska , Illinois
        ประเทศแคนนาดา รูปแบบปกครองแบบสหพันธ์รัฐประชาธิปไตย แบ่งการปกครองเป็น 10 รัฐ และ 3 ดินแดน  การถอดถอนถือว่าเป็นการเลือกตั้งใหม่ ตามพระราชบัญญัติการถอดถอนเจ้าหน้าที่ออกจากตำแหน่งและการริเริ่มเสนอกฎหมาย (The Recall and Initiative Act)[5]
       ประเทศฟิลิปปินส์ รูปแบบปกครองแบบสหพันธ์รัฐ แบ่งการปกครองเป็น 30 เขต 80 จังหวัดและ 120 เมือง[6] การถอดถอนถือเป็นการเลือกตั้งใหม่ตามประมวลกฎหมายปกครองท้องถิ่น ค.ศ. 1991(The Local Government Code of the Philippines, 1991) โดยผู้บริหารท้องถิ่นมี 3 ระดับ (1) ระดับจังหวัด เช่น นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล (2) ระดับเมือง เช่น หัวหน้าหมู่บ้าน และสมาชิกสภาหมู่บ้านในเขตเมือง (3) ระดับเทศบาล เช่น หัวหน้าหมู่บ้านและสมาชิกสภาหมู่บ้านในเขตเทศบาล ในการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นมี 2 รูปแบบ ดังนี้
        ก. สภาท้องถิ่นปลดออกจากตำแหน่ง (Preparatory recall assembly) สมาชิกสภาท้องถิ่นเสียงข้างมากเรียกร้องให้เปิดประชุมเพื่อลงคะแนนถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น และใช้คะแนนเสียงข้างมากของผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดเป็นการพ้นจากตำแหน่ง
        ข. ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 25 %  จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเรียกร้องขอให้รัฐจัดการลงคะแนนเสียงถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น โดยใช้สิทธิการถอดถอนกระทำได้เพียงครั้งเดียวและห้ามเรียกร้องในปีแรกที่เข้าสู่ตำแหน่งและปีสุดท้ายก่อนพ้นจากตำแหน่ง
       
       2. กระบวนการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของประเทศไทย  
       การลงคะแนนเสียงถอดถอน “Recall” ใช้เฉพาะกับปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล  กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา  กระบวนการถอดถอนเริ่มต้นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าชื่อ[7]ยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(แล้วแต่กรณี) ขอให้จัดการลงคะแนนเสียงถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่ดำเนินการจัดการลงคะแนน (การถอดถอนคล้ายกับของประเทศสหรัฐอเมริกา รูปแบบที่ 2) คือลงคะแนนถอดถอนแล้วตามด้วยการเลือกตั้งพิเศษ (แทนตำแหน่งที่ว่าง) และเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นคำร้องคัดค้านเฉพาะการลงคะแนนเสียงที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใน 30 วันนับจากวันประกาศผล (ในต่างประเทศที่ถือว่าการถอดถอนเป็นการเลือกตั้งใหม่ในตัวจึงไม่มีการคัดค้าน) ผลการถอดถอนสำเร็จ คือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันลงคะแนนเสียงถอดถอน[8] ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นถือว่าบุคคลที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเวลา 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง[9]  
        
        3. ปัญหากฎหมายในการถอดถอนสมาชิกสภาและผู้บริหารท้องถิ่น
        การถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นบัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน [10]โดยมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542  เป็นแนวทางปฏิบัติกำหนดจำนวนผู้เข้าชื่อ หลักเกณฑ์การเข้าชื่อ การลงคะแนนเสียงถอดถอนและการคัดค้านการลงคะแนนเสียงถอดถอน เป็นต้น จากการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการถอดถอนฯ 13 ปี มีการยื่นคำร้อง 13 คำร้อง และถอดถอนสำเร็จเพียง 3 ครั้ง การถอดถอนไม่สำเร็จอันเนื่องจากมีบทบัญญัติบางมาตราที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำและเป็นอุปสรรคในภาคปฏิบัติหลายประการ ดังนี้
        3.1  บทบัญญัติของกฎหมายฉบับรองขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
        บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ[11]ไม่กำหนดขอบเขต“เหตุของการถอดถอนไว้”จึงร้องได้ทุกเรื่อง แต่กฎหมายว่าด้วยการถอดถอนฯ[12]กลับกำหนดขอบเขตเหตุของการถอดถอนไว้  2 กรณี (1) ต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ (2) มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างใด ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีกรณีอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ก็ได้ ประเด็นปัญหาคือบทบัญญัติของกฎหมายฉบับรองเกี่ยวกับเหตุของการถอดถอนขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ[13] ซึ่งประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยตีความ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจสับสนว่ามีเพียง 2 กรณีเท่านั้นที่ไม่สมควรดำรงตำแหน่ง แนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้กฎหมายมีประสิทธิภาพและปฏิบัติได้ทุกกรณี ควรแก้ไขเหตุของการถอดถอนในบทบัญญัติมาตรา 6 (2) ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มีเจตนารมณ์ให้การถอดถอนสามารถกระทำได้ง่าย
        3.2 การใช้เขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น   
       สภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ประกอบด้วย ผู้บริหารท้องถิ่น 1 คนและสมาชิกสภาผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนในเขตเลือกตั้งครบตามจำนวนที่กำหนดในพระราชบัญญัติจัดตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เช่น สภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจากหมู่บ้านละสองคน หรือสภาเทศบาล มีสมาชิกสภาเทศบาลตำบล (ส.ทต.) จำนวน 12 คน  สมาชิกสภาเทศบาลเมือง (ส.ทม.) จำนวน 18 คน และสมาชิกสภาเทศบาลนคร (ส.ทม.) จำนวน 24 คน เป็นต้น  เมื่อกฎหมายกำหนดให้การถอดถอนต้องมาจากประชาชนทั่วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) กรณีถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกเมืองพัทยา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สามารถใช้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่ว อปท.ได้ เนื่องจากผู้บริหารท้องถิ่นเป็นตัวแทนของเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
        ประเด็นปัญหาคือ การใช้หลักเดียวกันในการถอดถอนสมาชิกสภาของท้องถิ่น ขัดแย้งกับความเป็นจริง ปฏิบัติไม่ได้และส่งผลถึงการเข้าชื่อและการลงคะแนนเสียงถอดถอนไม่สำเร็จ เนื่องจากสมาชิกสภาท้องถิ่นแต่ละคนได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในเขตเลือกตั้ง ไม่ใช่เขตองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นตัวแทนของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ นั้นๆ  กรณีจะถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่ง อปท. จึงเกินกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่แท้จริงในพื้นที่ของสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวไม่เคยลงคะแนนให้กับสมาชิกสภาของหมู่บ้าน หรือเขตเลือกตั้งอื่น ดังเช่นการถอดถอนนายนิพนธ์ ทับศรีรักษ์  สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโนนภิบาล ถูกกล่าวหาว่านำเงินบริหารกองทุนหมู่บ้านไปใช้ส่วนตัวมีพฤติกรรมทุจริตยักยอก ไม่ร่วมพัฒนาหมู่บ้าน แต่มีประชาชนเข้าชื่อเพียง 49 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่ว อปท. 2,270 คน คำร้องตกไปเพราะผู้เข้าชื่อไม่ถึง 1 ใน 5 ไม่มีการลงคะแนนเสียง[14] ผู้ศึกษาเห็นว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่การถอดถอนกลับใช้เขต อปท. จึงเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการถอดถอนอีกทั้งยังสร้างภาระให้ประชาชนต้องรวมตัวกันมากกว่าการเลือกตั้ง เพื่อให้กฎหมายมีประสิทธิภาพใช้บังคับได้ทุกกรณีและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้ง ควรปรับปรุงบทบัญญัติ[15]เกี่ยวกับเขตการถอดถอนให้ชัดเจนจึงจะแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องทางปฏิบัติได้ จากเดิมกำหนดว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด เป็น “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”  
         3.3 คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เหมาะสมกับกระบวนการถอดถอน 
        "ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง"[16]หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้น” ปัญหาคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นบทนิยามที่เหมาะสมกับการเลือกตั้ง สำหรับการถอดถอนควรไม่มีบทนิยามกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเข้าชื่อ หรือผู้มีสิทธิลงคะแนน หรือผู้มีสิทธิคัดค้านไว้ เมื่อใช้คำว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ทำให้ประชาชนสับสนเรื่องการใช้สิทธิถอดถอน จึงลงชื่อในคำร้องโดยไม่มีสิทธิและส่งผลทำให้คำร้องไม่สมบูรณ์ได้ เนื่องจากต้องตัดรายชื่อของผู้ไม่มีสิทธิออกจากบัญชีอาจทำให้จำนวนผู้เข้าชื่อไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ผู้ศึกษาเห็นว่ากระบวนการเลือกตั้งเป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครด้วยกันและประชาชนใช้สิทธิเลือกอย่างอิสระ แต่กระบวนการถอดถอนเป็นการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก เพื่อตรวจสอบการทำงานของผู้ได้รับเลือกตั้งที่อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่ง ดังนั้น ผู้มีสิทธิถอดถอนจึงแตกต่างจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากการถอดถอนเป็นการตรวจสอบจึงต้องจำกัดคุณสมบัติของประชาชนบางประการ เช่น ผู้มีสิทธิเข้าชื่อต้องไม่เสียสิทธิเลือกตั้ง หรือเคยลงคะแนนเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หรือผู้มีสิทธิลงคะแนนถอดถอนต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี ของวันที่ 1 ม.ค. ในปีที่มีการเข้าชื่อ เป็นต้น แนวทางแก้ไขปัญหาควรยกเลิกบทนิยามผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกแล้วกำหนดบทนิยามเป็น“ผู้เข้าชื่อ หรือผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอน และผู้มีสิทธิคัดค้าน” ใหม่ให้ชัดเจนและเหมาะสมกับกระบวนการถอดถอนทั้งระบบ จึงจะแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องทางปฏิบัติได้
       3.4 บัตรลงคะแนนเสียงถอดถอน
        หัวใจของการถอดถอนอยู่ที่การลงคะแนน ซึ่งต้องใช้บัตรเนื่องจากบัตรเป็นตัวชี้วัดความคิดเห็นของประชาชนว่าเชื่อข้อกล่าวหาตามคำร้องหรือไม่ ปัญหาคือตัวบทกำหนดถ้อยคำในช่องบัตรว่า
       “ เห็นด้วย ” หรือ “ ไม่เห็นด้วย ”[17] ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวทำให้ประชาชนผู้มาใช้สิทธิเกิดความสับสนความหมายในการลงคะแนน เนื่องจากคำว่า “เห็นด้วย” หมายความว่า ต้องการถอดถอนให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่า “ต้องการให้ผู้ถูกร้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป” จึงลงคะแนนไม่ตรงกับความประสงค์ที่แท้จริงหรือลงคะแนนในช่องอื่นๆ ทำให้มีบัตรเสียจำนวนมาก  ผู้ศึกษาเห็นว่า ถ้อยคำดังกล่าวที่ใช้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการถอดถอน เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของชาวบ้าน และตรงกับเจตนารมณ์การถอดถอน ควรปรับปรุงบทบัญญัติจากเดิม “ เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” เป็น  “ ถอดถอน” หรือ “ไม่ถอดถอน” และปัจจุบันรัฐธรรมนูญกำหนดให้สิทธิถอดถอน“คณะผู้บริหารท้องถิ่น”เพิ่มเติม  ดังนั้น อาจจะมีการถอดถอนบุคคลหลายคน จึงขอเสนอรูปแบบบัตรลงคะแนนที่ตั้งคำถามให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนอ่านก่อนลงคะแนนเสียงน่าจะมีความเหมาะสมกับการถอดถอนของไทย  
       3.5 ค่าใช้จ่ายในการลงคะแนนเสียงถอดถอน  
        การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่กฎหมายไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการถอดถอนไว้ จึงเป็นช่องโหว่ว่าองค์กรใดจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะที่ประชาชนต้องการถอดถอนผู้แทนของตนออกจากตำแหน่ง หรือกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะผู้ดำเนินการลงคะแนนเสียงถอดถอน ซึ่งประเด็นดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า[18] “เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ไม่ได้บัญญัติเรื่องค่าใช้จ่ายในการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นไว้โดยเฉพาะ กรณีจึงต้องพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เมื่อการจัดการดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการลงคะแนนเสียงถอดถอน”[19] ผู้ศึกษาเห็นว่าการตั้งงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ ล้วนได้รับงบประมาณมาจากรัฐบาลซึ่งเป็นเงินภาษีอากรของประชาชนทั่วทั้งประเทศเช่นเดียวกับงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งได้รับงบประมาณบริหารงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง งบประมาณสำหรับการเลือกตั้งระดับชาติ เพื่อใช้คัดเลือกตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ หรืองบประมาณอุดหนุนในการเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น  ฉะนั้น  หากจะนำเงินภาษีอากรของคนทั่วประเทศไปสนับสนุนให้มีการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ จึงน่าจะไม่เหมาะสมกับการใช้จ่ายใช้เงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศที่ต้องมาช่วยรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของตน แนวทางแก้ไขข้อขัดข้องทางปฏิบัติและสอดคล้องกับหลักการงบประมาณของ อปท. ควรเพิ่มบทบัญญัติกำหนดให้ท้องถิ่นที่มีการถอดถอนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหมือนกับการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพื่อสอนประชาชนให้ตระหนักถึงการเลือกผู้แทนท้องถิ่นและเข้าใจว่าเมื่อจะตรวจสอบการทำงานของผู้แทนตามระบบ “Recall” ประชาชนในท้องถิ่นต้องร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
        3.6 บทลงโทษที่ไม่ครอบคลุมกับการถอดถอนทั้งระบบ 
       กฎหมายกำหนดบทลงโทษไว้เฉพาะในกระบวนการลงคะแนนเสียงถอดถอนที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้น[20] ไม่มีบทกำหนดโทษในกระบวนการเข้าชื่อ ซึ่งการถอดถอน 13 ครั้งที่ผ่านมา พบมีการการทุจริตหลายรูปแบบ [21] เช่นปลอมลายมือชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือหลอกลวงให้ลงชื่อในคำร้อง หรือสัญญาจะให้ทรัพย์สิน สิ่งของ เพื่อจูงใจให้ลงชื่อในคำร้องการเข้าชื่อขอให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอน จากสภาพปัญหาที่กฎหมายไม่มีสภาพบังคับ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในกระบวนการถอดถอนและทำให้การปฏิบัติภารกิจของภาครัฐยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในสายตาของประชาชนมักจะมองในแง่ลบ ส่วนมากมักจะคิดว่าเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง หรือมีผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งประเด็นกฎหมายไม่มีสภาพบังคับใช้นั้นได้มีการขอปรับปรุงกฎหมายแล้ว[22]  ผู้ศึกษาเห็นว่ากระบวนการเข้าชื่อของประชาชนสืบเนื่องจากการใช้สิทธิของประชาชน หากการใช้สิทธิดังกล่าวเกิดจากความไม่บริสุทธิ์ใจก็เป็นผลร้ายต่อสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น(ผู้ถูกร้อง)ได้เหมือนกันและไม่เป็นไปตามทฤษฎีการใช้สิทธิสุจริตอีกด้วย หากเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้ครอบคลุมถึงการใช้สิทธิของประชาชนด้วย น่าจะครอบคลุมกับการถอดถอนทั้งระบบ เช่น “ผู้ใดกระทำการเพื่อชักจูง หรือจูงใจ โดยไม่ได้เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือบังคับข่มขู่ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงชื่อในคำร้องโดยไม่บริสุทธิ์ใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 
        3.7 อำนาจวินิจฉัยคำร้องคัดค้านการลงคะแนนเสียงถอดถอน
       รัฐธรรมนูญมาตรา 239 กำหนดว่าเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยในการเลือกตั้งระดับชาติ และศาลอุทธรณ์ เป็นผู้วินิจฉัยในการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่มาตรา 24 ของกฎหมายว่าด้วยการถอดถอนฯ กำหนดว่าหลังประกาศผลแล้วภายใน 30 วัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยได้ 2 กรณี คือ ลงคะแนนเสียงถอดถอนใหม่ หรือยกคำร้อง เมื่อเทียบเคียงกับการเลือกตั้งท้องถิ่น กรณีการให้อำนาจในการพิจารณาการคัดค้านหลังการประกาศผล คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องส่งความเห็นการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิไปยังศาลอุทธรณ์ เป็นผู้วินิจฉัย  ดังนั้น การเลือกตั้งใหม่ หรือลงคะแนนเสียงถอดถอนใหม่ กฎหมายกำหนดวิธีปฏิบัติในส่วนการพิจารณาคัดค้านดังกล่าวไว้เหมือนกันแต่ถือกฎหมายคนละฉบับ ซึ่งปัจจุบันรัฐธรรมนูญได้เปลี่ยนแปลงอำนาจในการวินิจฉัยการคัดค้านหลังประกาศผลของคณะกรรมการการเลือกตั้งไปยังศาลศาลอุทธรณ์แล้ว  ดังนั้น กฎหมายว่าด้วยการถอดถอนฯ จึงล้าสมัยทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในวิธีปฏิบัติ แนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาการทุจริตการลงคะแนนเสียงถอดถอนหลังประกาศผลควรเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง น่าจะมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสิทธิของบุคคลในกระบวนยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญมากกว่า  
       
       4. อุปสรรคในการถอดถอนสมาชิกสภาและผู้บริหารท้องถิ่น
        4.1 การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน  
       รัฐธรรมนูญมุ่งเน้นให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น โดยให้อำนาจตรวจสอบการทำงานของสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นตลอดวาระการดำรงตำแหน่งด้วยการลงคะแนนเสียงถอดถอนบุคคลดังกล่าว ซึ่งการตรวจสอบนั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าประชาชนมีความรู้ มีความเข้าใจ มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยเหตุผล และตระหนักรู้ถึงผลของการตัดสินใจ แต่ในความเป็นจริงประชาชนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจกับระบบการลงคะแนนเสียงถอดถอนดังกล่าว จึงอาจตกอยู่ภายใต้การชักนำของกลุ่มทุนชักนำให้ตัดสินใจตามการชี้นำได้ง่าย ดังนั้น การตรวจสอบเพื่อถอดถอนจึงไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงกับประชาชน
         4.2 ความซับซ้อนของกระบวนการถอดถอน
        เนื้อหาของกฎหมายว่าด้วยการถอดถอนฯ ส่วนใหญ่เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนในท้องถิ่นต้องรวมตัวกันมากกว่าการเลือกตั้ง และสร้างกลไกที่ดูคล้ายกับคุ้มครองผู้ถูกร้องทำให้ถอดถอนสำเร็จยาก ซึ่งน่าจะขัดกับวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้การปกครองท้องถิ่นยุคปัจจุบันมีความเข้มแข็งในการบริหารสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประชาธิปไตยและมีอิสระ ซึ่งความซับซ้อนของกระบวนการที่ทำให้ถอดถอนยากเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนประชาชนเป็นหลักในการถอดถอนตั้งแต่การเข้าชื่อ การลงคะแนนยกเว้นการคัดค้านที่ไม่กำหนดจำนวนปะชาชน
        ก. กรณีการเข้าชื่อ [23] ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 100,000 คน ต้องมีผู้เข้าชื่อจำนวน 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่ว อปท. ซึ่งการรวมตัวของประชาชนในท้องถิ่นค่อนข้างยาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรแต่ตัวไปทำงานต่างจังหวัด หากจะมาใช้สิทธิก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการไม่ใช้สิทธิถอดถอนก็ไม่มีมาตรการบังคับหรือตัดสิทธิดังเช่นการเลือกตั้ง
        ข. กรณีการพ้นจากตำแหน่ง กำหนดเงื่อนไขด้วยการนับคะแนน 2 ครั้ง (1) นับจากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมดของ อปท.ว่าเกินครึ่งหนึ่งหรือไม่ (2) นับจากบัตรที่ลงคะแนนในช่อง “เห็นด้วย” ต้องมีคะแนนเกิน 3 ใน 4 ของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด[24] วิธีการนับจากคนที่มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งถือได้ว่าเป็นหลักประกันให้ผู้ถูกร้องได้ว่าไม่ถูกกลั่นแกล้งอีกทั้งยังแสดงความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักการเมืองกับประชาชน แต่นับแล้วต้องเกิน 3 ใน 4 นั้น เป็นเทคนิคทางกฎหมายที่คุ้มครองนักการเมืองมากเกินไป เห็นว่าอาชีพนักการเมืองต้องพร้อมกับการถูกตรวจสอบจากประชาชนที่เลือกตนเข้ามาตลอดเวลาอยู่แล้ว และการถอดถอนที่จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาท้องถิ่น ควรเปลี่ยนตัวผู้บริหารได้ง่าย หากเปลี่ยนจากคะแนน 3 ใน 4 เป็นคะแนนเสียงข้างมากรอบเดียว น่าจะมีความเหมาะสมกับรูปแบบการถอดถอนของไทย
       4.3 การปฏิบัติงานด้านกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
         คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินการหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือสนับสนุนการสรรหา สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม[25] สำหรับการจัดลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นหน้าที่ตามกฎหมายอื่นที่บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการ[26]โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งส่วนมากใช้กฎหมายมหาชน ดังนั้น บุคคลกรที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติงาน เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด คณะอนุกรรมการ พนักงานสืบสวนสอบสวน และนิติกร ควรมีความรู้พื้นฐานกฎหมายกว้างพอสมควร ในเบื้องต้นต้องรู้เข้าใจหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง หลักนิติธรรม และโครงสร้างของการบริหารงานราชการแผ่นดินเป็นพื้นฐานที่ค่อนข้างเข้มแข็งและมีความสัดทัดจัดเจนในองค์ประกอบของกฎหมายแม่บทต่างๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต. และสนง.กกต. เพื่อประกอบการพิจารณาข้อเท็จจริงในการปฏิบัติงานให้ได้ว่าเป็นไปตามกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพื่อเสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด  เนื่องจาก สนง.กกต. มีอายุเพียง 13 ปี บุคลากรที่บรรจุแต่งตั้งจึงมีหลากหลายอาชีพ และบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่จะนำตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับเลือกตั้ง กฎหมายการออกเสียงประชามติ และกฎหมายถอดถอน ที่ไม่มีสอนในตำราออกมาเป็นภาคปฏิบัติได้  หรือจึงไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งวิทยากรหรือนักวิชาการที่รอบรู้งานที่ กกต.รับผิดชอบนั้นก็หายากมาก ที่สำคัญสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งละเลยการพัฒนาองค์กรและบุคลากร ทำให้โอกาสที่จะนำพาองค์กรไปสู่แนวหน้าจะเป็นไปอย่างลำบาก
        
       สรุปและข้อเสนอแนะ  การลงคะแนนเสียงถอดถอนเป็นวิธีการตรวจสอบควบคุมการทุจริตของนักการเมืองระดับท้องถิ่น โดยประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจตรวจสอบ  ซึ่งการตรวจสอบเพื่อถอดถอนจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริงๆ กฎหมายที่ใช้ต้องมีประสิทธิภาพและรัฐต้องเร่งทำประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจระบบการลงคะแนนเสียงถอดถอนกับประชาชนในท้องถิ่น  โดยการเสริมสร้างความเข้าใจของประชาชนให้ถูกต้องระหว่างคำว่า “ตรวจสอบ” กับ “ถอดถอน” รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นให้มีทัศนคติที่เป็นบวกต่อคำว่าตรวจสอบและถอดถอนว่าเป็นกระบวนการตามแนวทางประชาธิปไตย เพื่อให้ผู้ตรวจสอบและผู้ถูกตรวจสอบนั้น มีความมั่นใจในความถูกต้องของกระบวนการตามกฎหมาย
        
        
       บรรณานุกรม
       หนังสือ
       วนิดา แสงสารพันธ์ , หลักรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยประชาชน.(กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์วิญญูชน,2548), หน้า 15-16.
       บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ระบบการตรวจสอบทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง(Impeachment).(กรุงเทพมหานคร:
       โรงพิมพ์เคล็ดไทย,2538,) หน้า 3
       กฎหมาย
       -รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
       -รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
       -พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542.
       -พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545.
       บทความ
       ภูมิ มูลศิลป์,งานวิจัยโครงการศึกษาแนวทางการสร้างสุขภาวะในกระบวนการนิติบัญญัติ, [online] Available, URL:http://ppvoice.thainhf.org/commit.him, 2553 (ธันวาคม 17).
        คำพิพากษา
       -คำสั่งศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ 33/2546 ศาลปกครองขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2546
       -คำสั่งศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ 426/2550 และคดีหมายเลขแดงที่13/25521 ศาลปกครองนครราชสีมา  เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551.
       รายงานวิจัย
       สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.โครงการพัฒนากฎหมาย.สถาบันพระปกเกล้า. (2552).ปัญหากฎหมายในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น:ศึกษากรณีพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2542 ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550. 
       เอกสารอื่น ๆ
       - ข้อมูลการถอดถอนประเทศสหรัฐอเมริกา [online] Available, URL:http://www.ncsl.org/default.  commit.him,2554(เมษายน 5).
       - ข้อมูลการถอดถอนประเทศฟิลิปปินส์  [online] Available, URL:http//apecthai.org/apec/th/ commit.him,2554(เมษายน 5).
       -ข้อมูลการถอดถอนประเทศแคนนาดา [online] Available, URL:http//Elections BC is the custodian of  that right on behalf of BC voters.[Online].(ตุลาคม,9 ,2010).
       - ร่างกฎหมายผ่านความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1)  เรื่องเสร็จที่ 831/2552 
       - ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 369/2551.
       เอกสารภาษาอังกฤษ
       Handbook :Direct Democracy :the International IDEA.Press,2008.
       Handbook :Direct Democracy :the International IDEA.Press,2010.
       

       
       

       
       

       [1] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ระบบการตรวจสอบทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง(Impeachment).(กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์เคล็ดไทย,2538,) หน้า 3

       
       

        [2] วนิดา แสงสารพันธ์ , หลักรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน.(กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์วิญญูชน,2548), หน้า 15-16.

       
       

        [3] ภูมิ มูลศิลป์,งานวิจัยโครงการศึกษาแนวทางการสร้างสุขภาวะในกระบวนการนิติบัญญัติ, [Online] Available URL:http//ppvoice.thainhf.org/commit.him,2553 (ธันวาคม 17)

       
       

        [4] ข้อมูลการถอดถอนประเทศสหรัฐอเมริกา [online] Available, URL:http://www.ncsl.org/default. commit.him,2554(เมษายน 5).

       
       

        [5] ข้อมูลการถอดถอนประเทศแคนนาดา [online] Available, URL:http//Elections BC is the custodian of that right on behalf of BC voters.[Online].(ตุลาคม,9 ,2010).

       
       

        [6]  ข้อมูลการถอดถอนประเทศฟิลิปปินส์  [online] Available, URL:http//apecthai.org/apec/th/ commit.him,2554(เมษายน 5).

       
       

        [7] มาตรา 5 การเข้าชื่อร้องขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อดำเนินการให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้ใดหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเพราะเหตุที่ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไปให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง ดังนี้
       (1)           ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกินหนึ่งแสนคนต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
       (2)           ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินหนึ่งแสนคนแต่ไม่เกินห้าแสนคนต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
       (3)           ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่าห้าแสนคนแต่ไม่เกินหนึ่งล้านคนต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่าสองหมื่นห้าพันคนของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
       (4)           ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่าหนึ่งล้านคนต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่าสามหมื่นคนของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
             การนับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งให้ถือตามจำนวนในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นครั้งหลังสุดที่ใช้สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี

       
       

         [8] มาตรา 23 วรรคสอง พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542.

       
       

        [9] มาตรา 45 (9) พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545.

       
       

        [10] มาตรา 286 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมาตรา 285  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.

       
       

        [11] มาตรา 285 “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้มีสิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง  ทั้งนี้ จำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อ หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ การตรวจสอบรายชื่อ และการลงคะแนนเสียง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

       
       

        [12] มาตรา 6 คำร้องขอให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามมาตรา 5 ต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
                                        ....................
                  (2) รายละเอียดของข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้ใด หรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสงค์จะให้ลงคะแนนเสียงถอดถอนนั้นมีการปฏิบัติหน้าที่หรือมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างใดจนเป็นเหตุที่ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป”

       
       

        [13] มาตรา 6  รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

       
       

        [14]สถาบันพระปกเกล้า,“รายงานการศึกษาปัญหาทางกฎหมายในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น:ศึกษากรณีพระราชบัญญัติว่าด้วยการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ, (โครงการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐระดับต้น, สิงหาคม, 2552), หน้าที่ 47.

       
       

        [15] มาตรา 285 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 5 พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2542.

       
       

         [16] มาตรา 3 พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542.

       
       

         [17] มาตรา 13 การลงคะแนนเสียงให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยตรงและลับ
       การออกเสียงลงคะแนนให้ทำเครื่องหมายลงในบัตรลงคะแนนเสียงในช่องที่"เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย"กับการให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ที่ถูกร้องขอให้ลงคะแนนเสียงถอดถอน
        ลักษณะและขนาดของบัตรลงคะแนนเสียงและหีบบัตรลงคะแนนเสียงให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

       
       

        [18] คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 369/2551.

       
       

        [19]มาตรา 8 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นโดยให้ประกาศกำหนดวันลงคะแนนเสียงไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 7

       
       

        [20] มาตรา 25 ถึงมาตรา 27  พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542.

       
       

       [21] คำสั่งศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ 33/2546 ศาลปกครองขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2546.และคำสั่งศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ 426/2550  และคดีหมายเลขแดงที่13/25521 ศาลปกครองนครราชสีมา   เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551.

       
       

        [22] ร่างกฎหมายผ่านความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1)  เรื่องเสร็จที่ 831/2552 
                        “มาตรา25/1 และมาตรา 25/2 กำหนดว่า ผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด หรือข่มขู่ด้วยประการใด เพื่อให้บุคคลใดเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเพื่อให้บุคคลใดถอนหรือมิให้ถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการลงลายชื่อปลอมในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อ หรือใช้ หรืออ้างลายมือชื่อปลอมเช่นว่านั้น เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแท้จริง ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”.

       
       

       [23] มาตรา 5 พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542.

       
       

         [24] มาตรา 23 พระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน.

       
       

         [25] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ฉบับที่ 32 เรื่อง อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง. 

       
       

         [26] มาตรา 8 พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542.
        

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544