หน้าแรก บทความสาระ
ความท้าทายและการปรับตัวขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยในฐานะองค์การสาธารณะรูปแบบใหม่
คุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2 ธันวาคม 2555 18:25 น.
 
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai Public Broadcasting Service—ThaiPBS) หรือ ส.ส.ท. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2551 ตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ในฐานะองค์การสื่อสาธารณะที่ไม่แสวงผลกำไรแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อดำเนินการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่สนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรมบนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยผ่านทางบริการข่าวสารที่เที่ยงตรง รอบด้าน สมดุล และซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ กล่าวได้ว่าเป็นโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย
       ในการนี้ พรบ.ดังกล่าวได้กำหนดรูปแบบของการบริหารองค์กรซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแนวทางของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสให้มีการบริหารองค์กรสื่อสาธารณะอันวางอยู่บนรากฐานของแนวคิด/ปรัชญาที่ชัดเจนและมีมาตรฐาน โดยให้องค์กรสื่อสาธารณะทำหน้าที่เป็นผู้นำในการผลิตและสร้างสรรค์รายการข่าวสารคุณภาพสูงที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและส่วนรวม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อส่งเสริมให้มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงและสมดุลและมุ่งยกระดับการเรียนรู้ของประชาชนทุกภาคส่วนให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและประเทศ และสร้างความยั่งยืนให้แก่ความเป็นพลเมืองและสังคมส่วนรวมผ่านทางบริการข่าวสารและสาระความรู้
       โดยพื้นฐานแล้ว การบริหารองค์การสื่อสารมวลชนจะปรากฏปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกเป็นจำนวนมาก Denis McQuail (1994) ได้กล่าวถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับองค์กรสื่อสารมวลชนว่า การปฏิบัติงานขององค์กรผู้ผลิตสื่อมวลชนจะต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ทางสังคม ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อภาระหน้าที่ และเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้ผู้ทำการสื่อสารมวลชนต้องรับผิดชอบต่อสังคม ที่มีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ดังนั้น ปัจจัยภายในที่มีผลต่อการบริหารงานสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในการกำหนดนโยบายด้านการบริหารเพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการบริหารและการพัฒนาองค์กรรวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารให้สอดคล้องการสถานการณ์ทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างการบริหารและงบประมาณรายได้เป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งที่มีผลต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นอกจากนี้ ปัจจัยที่เป็นหัวใจหลักขององค์กรนี้คือ ปัจจัยในด้านบุคลากร ซึ่ง บุคลากรเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในองค์กรสื่อสารมวลชน ฉะนั้น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจึงมุ่งส่งเสริม ความรู้ความเข้าใจในด้านสื่อสาธารณะต่อคนในองค์กรและคนในสังคมและยังเร่งดำเนินการในการสร้างทัศนคติและวัฒนธรรมองค์กรให้เหมาะสมกับสื่อสาธารณะซึ่งแตกต่างจากสื่อเชิงพาณิชย์
       ด้านเทคโนโลยี เป็นส่วนสำคัญของการบริหารงานสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่จะต้องลงทุนในสิ่งที่จำเป็นเหล่านี้ และจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยตลอดเวลา จึงต้องมีการเรียนรู้และเข้าใจการใช้เทคโนโลยี เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการสร้างช่องทางในการเข้าถึงสื่อที่หลากหลายช่องทางและกว้างขวางเป็นสิ่งที่ท้าทายที่จะทำให้เกิดความสำเร็จต่อองค์กร โดยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขององค์กรย่อมมีผลต่อประสิทธิภาพ
       ส่วนปัจจัยภายนอกองค์กรในด้านการเมืองและรัฐบาล มีผลต่อการบริหารงานสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) ในประเด็นการไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ส่งผลให้สื่อถูกแทรกแซงได้ง่ายในการนำเสนอข้อมูล เพื่อให้สื่อเป็นเครื่องมือในการตอบสนองเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมีความขัดแย้งกับแนวคิด/ปรัชญาการบริหารงานของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) ในขณะเดียวกันปัจจัยทางการเมืองยังมีส่วนสำคัญ หากนักการเมือง เข้าใจสื่อสาธารณะ และก็ไม่คิดจะใช้สื่อเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ในสื่อมวลชนนั้นมีผลในด้านการเป็นผู้เปรียบเทียบในเชิงคุณภาพของผลงานและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) แต่สิ่งที่จะเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่สุดของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) ก็คือ สังคมและความต้องการของผู้ชม ซึ่งผู้ชมและประชาชนในสังคมจะเปรียบเสมือนกับกระจกเงาสะท้อนถึงสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) ในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้ผู้บริหารของสถานีหรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริง ปัญหา หรือความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่จะสามารถนำมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและแก้ไข พัฒนาสถานีให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
       นอกจากนี้ความต้องการของผู้ชมไม่ควรมีการแบ่งกลุ่ม แต่ต้องเน้นที่การนำเสนอสื่อออกไปแล้ว สามารถเป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาสังคม การส่งเสริมคุณธรรม และสื่อควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเน้นย้ำถึงแนวคิดในเรื่องสื่อสาธารณะอันมีหลักการสำคัญคือ สื่อสาธารณะจะต้องยึดถือประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก โดยมุ่งนำเสนอเนื้อหาที่มีประโยชน์แก่ประชาชนทุกกลุ่มโดยมีความเป็นอิสระและสร้างเสริมความเข้มแข็งให้แก่สังคม ซึ่งเป็นปรัชญาที่แตกต่างจากสื่อเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังต้องมีหลักการสำคัญ คือ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้โดยไม่มองประชาชนเป็นเพียงผู้บริโภค ซึ่งนี่คือสิ่งสำคัญในด้านสังคมและความต้องการของผู้ชม
        
       1.ปัจจัยภายใน
       ในการดำเนินการบริหารองค์การหนึ่งๆ ปัจจัยภายในองค์การถือว่ามีความสำคัญอย่างในการกำหนดทิศทางการทำงานและผลิตผลผลิตขององค์การ สำหรับไทยพีบีเอส ปัจจัยภายในสำคัญสามารถอธิบายได้ดังนี้
        
       1.1 ด้านโครงสร้างการบริหารงาน
       ในการบริหารงานองค์การ จะมีคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญใน 3 ด้าน คือกรรมการนโยบายด้านสื่อสารมวลชน 2 คน กรรมการนโยบายด้านบริหาร 3 คน และกรรมการนโยบายด้านประชาสังคม 4 คน โดยได้รับการสรรหาจากองค์กรที่เป็นตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม 15 องค์กร อาทิ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ประธานคณะกรรมการ ประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นต้น และได้กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายเป็นกลไกสูงสุด ทำหน้าที่กำหนดทิศทาง และกำกับดูแลการดำเนินกิจการขององค์การให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วยภารกิจในมาตรา 28 อันจำแนกได้เป็น 3 ส่วนหลัก ดังต่อไปนี้
       
       .ด้านของการกำหนดนโยบายและระเบียบ
       - การกำหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ โดยร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้างทั้งตัวแทนพนักงานและลูกจ้าง ผู้ผลิตรายการ ผู้รับชมและผู้รับฟังรายการ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน การผลิต การจัดหา และการเผยแพร่รายการของโทรทัศน์สาธารณะ ตลอดจนกำหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมของกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ ผู้บริหารขององค์การ พนักงานและลูกจ้างขององค์การ และบทลงโทษ
       -  กำหนดให้มีการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของรายการ
       -  กำหนดนโยบายและกำกับดูแลกิจการโดยทั่วไปของโทรทัศน์สาธารณะ แต่ไม่มีหน้าที่ในการบริหารงานโดยตรง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายฯ จะแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารประกอบด้วยประธานกรรมการบริหารคนหนึ่งและกรรมการบริหารอื่นอีกไม่เกินหกคน และให้ผู้อำนวยการโทรทัศน์สาธารณะ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายจะแต่งตั้งจากผู้มีประสบการณ์ด้านกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์เป็นประธานกรรมการบริหารโดยตำแหน่งคณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการจัดทำแผนการดำเนินการแผนงบประมาณ และแผนการเงินของโทรทัศน์สาธารณะรวมถึงการจัดทำผังรายการ และผู้อำนวยการโทรทัศน์สาธารณะมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารกิจการของโทรทัศน์สาธารณะให้มีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย และแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ในการบริหารกิจการของโทรทัศน์สาธารณะ ผู้อำนวยการโทรทัศน์สาธารณะต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการนโยบายฯ
       -  กำหนดระเบียบกลางเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การเงิน การงบประมาณและทรัพย์สิน การมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารดำเนินการต่างๆ และการดำเนินกิจการโดยทั่วไป
       -  กำหนดค่าตอบแทนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ
       -  แต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน
       
       .ด้านของการให้ความเห็นชอบและข้อเสนอแนะ
       -  ให้ความเห็นชอบแผนการบริหารกิจการและแผนการจัดทำรายการขององค์การให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551
       -  ให้ความเห็นชอบงบประมาณขององค์การ
       -  จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาและเผยแพร่ต่อสาธารณชน
       
       .ด้านของการกำกับควบคุม
       -  ควบคุมการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายตามมาตรา 29 ได้แก่
       

           
  • ควบคุมดูแลการผลิตรายการหรือการสร้างสรรค์รายการขององค์การให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบาย

  •        
           
  • กำกับดูแลการปฏิบัติงานขององค์การให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับขององค์การในกรณีที่มีการร้องเรียนของประชาชน

  •        
           
  • จัดทำแผนการบริหารกิจการและแผนการจัดทำรายการขององค์การเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อให้ความเห็นชอบ

  •        
           
  • จัดทำแผนพัฒนาองค์การ แผนพัฒนาบุคลากร และแผนการเงินเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย

  •        
           
  • จัดทำแผนแม่บทพัฒนาเครือข่าย

  •        
           
  • ประเมินคุณภาพรายการที่มีการเผยแพร่

  •        
           
  • ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย

  •        
           

       
       -  กำกับดูแลเพื่อให้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและคำติชม ตลอดจนข้อร้องเรียนของประชาชนต่อองค์การ ได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว
       -  คุ้มครองรักษาความเป็นอิสระของคณะกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ และพนักงานให้ปลอดจากการแทรกแซงใดๆ
       ที่ผ่านมานับแต่มีการจัดตั้งองค์การ โครงสร้างการบริหารงานของสถานีถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นระยะๆ เนื่องจากรูปแบบโครงสร้างองค์การเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่ปรากฏในสังคมไทยมาก่อน เป็นองค์การที่มีคณะผู้บริหารหลายชุด ทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น คณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการบริหาร คณะผู้บริหาร เป็นต้น อันส่งผลให้การดำเนินงานในช่วงแรกต้องการประสบการณ์และการปรับตัว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโครงสร้างการบริหารควรมีเสถียรภาพ ไม่ควรมีการปรับโครงสร้างใหญ่อีก ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ควรทำหน้าที่ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดดูแลงานในภาพรวมและยุทธศาสตร์ และกระจายอำนาจการบริหารไปยังรองผู้อำนวยการอย่างสมดุลและเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการบริหารงานภายในมากขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายที่ตนรับผิดชอบโดยตรงและภารกิจเร่งด่วน เช่น การสร้างอัตลักษณ์และวัฒนธรรมองค์การ การสื่อสารสังคม การกำหนดยุทธศาสตร์และแผน การพัฒนาระบบบริหารจัดการต่าง ๆ การระดมทุน การวิเทศสัมพันธ์ การหาเครือข่าย
       บทบาทของคณะกรรมการบริหาร ควรมอบหมายภารกิจที่ชัดเจน ได้แก่ ภารกิจในเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อ ส.ส.ท. ในระยะกลางและระยะยาว เช่น การจัดทำต้นร่างของแผนด้านต่าง ๆ การปฏิรูปกฎกติกาภายในองค์การ การออกแบบระบบพัฒนาบุคลากรการทำงานขยายเครือข่ายภาคประชาสังคมและการกำกับดูแลการทำวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพรายการ เป็นต้น การพัฒนาระบบการบริหารองค์การ ผู้บริหารควรปรับปรุงระบบการบริหารตามข้อเสนอแนะของคณะทำงานร่วมเสริมสร้างขวัญกำลังใจบุคคลากร เพื่อความเข้มแข็งของ ส.ส.ท. รวมทั้งให้ความสำคัญกับการประชุมที่มีประสิทธิภาพ และออกแบบระบบการทำงานที่งานสามารถเดินได้โดยไม่ต้องผ่านการประชุมเสมอไป การปรับปรุงระบบการทำงานที่มีลักษณะข้ามสายงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น ให้ทำงานร่วมกันได้ มีเจ้าภาพที่ชัดเจนและไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร หรืออาจให้มีการเลือกตัวแทนพนักงานระดับปฏิบัติการ เพื่อทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นและปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของพนักงาน อีกทั้งยังควรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ส.ส.ท. ด้านต่าง ๆ ลงเว็บไซต์ และให้ประชาชนสามารถสืบค้นได้ง่ายและเป็นระบบ ที่สำคัญควรให้ความสำคัญกับการออกแบบระบบที่ช่วยให้คนทำงานพัฒนาตัวเองและก้าวหน้าได้ มีระบบเส้นทางความก้าวหน้าตามสายวิชาชีพ (Career Path) แต่ไม่เป็นองค์กรที่มีลักษณะแนวดิ่งเชิงบังคับบัญชา
       อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารที่เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นปัญหาเสมอไป แต่ยังหมายถึงการให้ความสำคัญอย่างยิ่งของคณะผู้บริหารอีกด้วย เนื่องจากการถกเถียงและความพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างอยู่เรื่อย ๆ ก็เป็นไปเพื่อให้บรรลุผลในการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น แต่ละหน่วยบริหารจะต้องไม่ใหญ่เกินไป และจะต้องสอดคล้องกับการพัฒนาองค์กร ถ้าโครงสร้างไม่ตอบรับให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ได้ องค์กรก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างได้
       สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง ส.ส.ท. ได้ให้ความเห็นถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปรับองค์กร คือ เมื่อโครงสร้างการบริหารงานเริ่มมีปัญหา ในทางหลักการง่าย ๆ ของการบริหารสื่อมวลชน ต้องกำหนดโครงสร้าง กำหนดลักษณะงาน (Job description) โครงสร้างกำหนดบทบาทหน้าที่ โครงสร้างกำหนดกลไก และการจัดสรรทรัพยากร ดังนั้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อมาประกอบกับทิศทางของแนวนโยบาย และกรอบการปฏิบัติงานในระดับของฝ่ายปฏิบัติ ดังนั้นโครงสร้างที่ผิดพลาดจะกำหนดเป้าหมายองค์กรที่ผิดพลาด โครงสร้างที่ผิดพลาดจะกำหนดลักษณะงาน (job description) ที่ผิดพลาดด้วย
        ในฐานะองค์การสื่อสารมวลชน โครงสร้างการบริหารงานนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนออกมาทางด้านเนื้อหารายการด้วย กล่าวคือ หากโครงสร้างการบริหารมีประสิทธิภาพสามารถทำให้คนทำงานในองค์การถือคุณค่าสื่อสาธารณะ ผลผลิตซึ่งหมายถึงรายการโทรทัศน์ที่ออกมาก็จะมีกลิ่นอายของสื่อสาธารณะอย่างเห็นได้ชัด
        
       1.2 ด้านบุคลากร
       ปัจจัยภายในด้านบุคลากรนั้นนับเป็นปัจจัยและเป็นปัญหาสำคัญของทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่ส่งผลและประสบอยู่นับแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ภายใต้การบริหารงานองค์การสมัยใหม่ บุคลาการในฐานะทรัพยากรมนุษย์ถือว่ามีความสำคัญและส่งอิทธิพลต่อการดำเนินงานอย่างมาก
       สำหรับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย บุคลากรสามารถจำแนกได้ 3 ระดับ กล่าวคือ 1)ระดับนโยบาย 2)ระดับบริหาร เช่น ผู้อำนวยการ และก็ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ3)ระดับพนักงาน
       การเปลี่ยนแปลงจากทีวีเชิงพาณิชย์เดิมมาเป็นทีวีสาธารณะนั้น การดำเนินการเปลี่ยนถ่ายถือว่าส่งผลในด้านนี้อย่างมาก ผู้ปฏิบัติงานมักจะมีความคิดความเชื่อเดิมของทีวีพาณิชย์ บุคลากรเจ้าหน้าที่มีการโอนถ่ายกัน จึงต้องมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย เพราะการเปลี่ยนการทำงานในบรรยากาศจากเชิงพาณิชย์/สื่อพาณิชย์ เป็นสื่อที่มีความเป็นสาธารณะ ปรัชญาของการทำงานก็ต่างกัน การบริหารงานก็ต่างกัน การทำงานของพนักงานก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน เช่น ปัญหาในการที่จะทำให้พนักงานเหล่านี้มีความเข้าใจก่อนว่าความเป็นสื่อสาธารณเป็นอย่างไร เพื่อนำไปสู่การปรับตัวในการทำงาน เช่น เรื่องของจริยธรรมข้อบังคับจริยธรรม เป็นข้อบังคับที่บุคลากรอาจจะไม่เคยชินกับมาก่อน หลายอย่างที่เคยทำได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึง แต่สื่อสาธารณะ ต้องมีข้อบังคับเรื่องจริยธรรม จึงต้องมีการปรับทัศนคติในการทำงานว่า รายการที่ทำ กิจกรรมที่จัด จะต้องปรับแนวความคิดว่า ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ มากกว่าทำเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันพอสมควร วิธีการแก้ไข หรือปรับทัศนคติ มีหลายทาง เช่น การอบรมที่เป็นทางการ ก็การให้ความรู้เรื่องสื่อสาธารณะ จริยธรรม การเรียนรู้ผ่านการทำงานและผู้บริหารต้องเป็นตัวอย่างที่คอยกำกับการเปลี่ยนแปลง ถ้าในบางบุคคล มีการฝึกอบรมแล้ว แต่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ อันดับแรกก็คือ การให้เวลา ให้โอกาสเพื่อเกิดการยอมรับความเป็นสื่อสาธารณะ ซึ่งการที่จะเปลี่ยนตรงนี้ได้ต้องมีผู้นำที่ดีและเข้มแข็ง ปัญหาที่ตามมาคือ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรในการทำงานต่าง ๆ ต้องอาศัยเวลา ตลอดจนความกล้า ความคิด ถ้าผู้บริหารดี ผู้นำดีย่อมเปลี่ยนได้ง่าย หากผู้นำไม่กล้าตัดสินใจเท่าที่ควรก็เป็นปัญหาต่อไป
       ดังนั้น ปัจจัยหลักในการก้าวสู่การเป็นสื่อสาธารณะอย่างเต็มภาคภูมิจึงเป็นเรื่องคุณภาพและความเข้มแข็งของบุคลากรที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพภายใต้จริยธรรมและหลักการทำงานของสื่อสาธารณะ โดยในปี พ.ศ. 2554 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้มีการดำเนินงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเข้มข้นกว่าที่ผ่านมา โดยมีวิสัยทัศน์ว่า “พนักงาน ส.ส.ท.มีคุณภาพ คุณธรรม และมุ่งไปในทิศทางเดียวกับองค์การอย่างมีความสุขร่วมกัน”
       รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี พ.ศ.2554 ของ ส.ส.ท. ได้อธิบายถึงแนวทางการพัฒนาบุคลากรที่น่าสนใจไว้หลายประการ โดยยึดการพัฒนาบุคลากรในทุกระดับจำนวนถึง 66 หลักสูตร รวม 1,364 คน รวมถึงยังมีการพัฒนาโครงการ Professional Coach เพื่อช่วยให้คำแนะนำทางการบริหารแก่หัวหน้างานขึ้นไป และโครงการ Personal Coach สำหรับพนักงานที่ต้องการคำปรึกษา โดยดำเนินการทั้งในรายบุคคลและเป็นกลุ่ม สรุปได้ดังนี้
       
       - การพัฒนาระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน (PMS - Performance Management System)
       การที่องค์การมีการพัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานไปสู่การบริหารผลงาน ทำให้บุคลากรทำงานอย่างมีเป้าหมายที่ไปในทิศทางเดียวกันเชื่อมโยงกับเป้าหมายใหญ่ขององค์กร และทำให้การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดเชิงพฤติกรรม (Competency) และตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) รวมทั้งมีกระบวนการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างโปร่งใส ให้ความสำคัญกับการสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับหัวหน้าในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย ปรึกษาหารือ และประเมินผลร่วมกันพร้อมกับการใช้รูปแบบประเมินผลรอบด้าน 360 องศา และการตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายร่วมพิจารณา
       
       - การพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ
       เพื่อรักษาบุคลากรที่ผ่านการเรียนรู้ความเป็นสื่อสาธารณะ องค์การจึงมีการประเมินค่างานทุกตำแหน่งงานจัดโครงสร้างระดับตำแหน่งงาน และโครงสร้างเงินเดือนใหม่ให้เหมาะสมและมีความเป็นธรรมมากขึ้น จัดทำเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ จัดกระบวนการเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนระดับ ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ทำให้พนักงานมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน สู่ระบบบริหารผลงาน ซึ่งทำให้พนักงานทำงานอย่างมีเป้าหมาย และเป็นเป้าหมายที่ไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเชื่อมโยงกับเป้าหมายใหญ่ขององค์กร นอกจากนี้ยังเน้นการดูแลสวัสดิการต่างๆ เพื่อสร้างหลักประกันที่พนักงานอุ่นใจทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น กองทุนประกันสุขภาพ กองทุนบำเหน็จ ให้ความช่วยเหลือและเคียงข้างพนักงานในยามที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ ทั้งช่วยอพยพ ตั้งศูนย์พักพิงพร้อมอาหาร 3 มื้อ ให้พนักงานและครอบครัว มอบเสื้อชูชีพและถุงยังชีพ (ในเหตุการณ์ครั้งนี้ ผู้บริหารและพนักงานได้รับถุงยังชีพพระราชทานจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ) และไทยพีบีเอสยังมอบเงินช่วยเหลือเพื่อซ่อมแซมที่พักอาศัยหลังน้ำลดให้แก่พนักงานอีกด้วย
       นอกจากนี้ ในด้านของการประสานวัฒนธรรมองค์กรให้วางอยู่บนคุณค่าของความเป็นสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอสได้สร้างวัฒนธรรมองค์การผ่านกลไกการพัฒนาจริยธรรมองค์การ โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติในหลักจริยธรรมนับตั้งแต่การปฐมนิเทศพนักงานใหม่ ไปจนถึงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลและกลุ่ม และโครงการพัฒนาคุณค่าชีวิตและจิตสาธารณะ มีการจัดเวทีรวบรวมประเด็นกรณีศึกษา ทำการถอดบทเรียนเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้การปฏิบัติงานภายใต้จริยธรรมของสื่อสาธารณะ และริเริ่มจัดทำหนังสือแนวทางการทำข่าวแบบสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส (Style Book)
        
       1.3 ด้านเทคโนโลยี
       เมื่อพิจารณาเนื้อความหลักในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ซึ่งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หลักขององค์การแล้ว ในข้อที่ (1) ได้ปรากฏความต่อไปนี้
       “…(1) จัดให้มีสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือเผยแพร่รายการในระบบอื่นหรือเทคโนโลยีทันสมัยอื่น โดยมีเครือข่ายให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศหรือให้มีสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์เพิ่มเติมเป็นเครือข่าย ไม่เก็บค่าสมาชิกและไม่หารายได้จากการโฆษณา เว้นแต่เป็นการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนองค์การ…”
       
       จะเห็นได้ว่ามีการระบุถึงการใช้ ‘เทคโนโลยีทันสมัย’ ในการดำเนินกิจการด้วย สุวิทย์ สาสนพิจิตร์ ผู้อำนวยการสำนักรายการและสร้างสรรค์รายการ ส.ส.ท. ได้เคยกล่าวไว้ว่าสถานีไม่มีความกังวลด้านความล้าหลังหรือความไม่ทันสมัยทางด้านเทคโนโลยีเลย หรือจะกล่าวได้ว่าในหลายๆ ช่วงขณะ สถานีไทยพีบีเอสถือว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีระบบการผลิตและการออกอากาศที่ทันสมัยที่สุดอีกด้วย ซึ่งข้อพิสูจน์สามารถดูได้จากวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ถือได้ไทยพีบีเอสเป็นผู้นำก้าวเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีการออกอากาศที่ทันสมัยที่สุด ด้วยการออกอากาศในระบบความละเอียดสูง (High Definition TV: HD) เป็นแห่งแรกของฟรีทีวีในประเทศไทย
       กล่าวได้ว่าปัจจัยด้านเทคโนโลยีมีผลต่อประสิทธิภาพขององค์การอย่างมาก เพราะว่าเป็นองค์การสื่อสาสารมวลชนที่ผลิตสื่อ และการออกอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงเรื่องคุณภาพในการบริหารงานเช่นกัน ซึ่งในช่วงของการก่อตั้งสถานี องค์การได้ดำเนินการเพียงสื่อโทรทัศน์เพียงชนิดเดียวก็ตาม อย่างไรก็ดี ปัจจุบันองค์การได้ขยายเทคโนโลยีของตนออกไปในสื่ออื่นด้วย
       อย่างไรก็ดี สำหรับ ส.ส.ท. ถือว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ เนื่องจากปัจจุบัน เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในการบริโภคสื่อ เช่น เด็กจำนวนมากไม่ค่อยดูทีวี แต่จะเข้าอินเทอร์เน็ตแทน เพราะฉะนั้น องค์การต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิต ในการนี้ การเป็นสื่อสาธารณะของ สสท. จึงไม่ได้กำหนดว่ามีแค่ทีวี หรือทีวีกับวิทยุ ส.ส.ท.สามารถใช้มัลติมีเดีย (multi-media) หรือ สื่อใหม่ (new media) ได้ เพื่อให้ตอบรับกับคุณค่าของความเป็นสื่อสาธารณะที่ต้องเข้าถึงประชาชนโดยทั่วถึง (universality) การเข้าถึงในเชิงเทคโนโลยีไม่ใช่แค่การออกอากาศอย่างเดียว แต่มันมีรูปแบบที่จะเข้าถึงประชาชนได้มากมาย การเข้าถึงคนอย่างกว้างขวางต้องสามารถที่จะใช้รูปแบบเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็นที่นิยมมากขึ้นได้เต็มที่
       ในปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสได้พัฒนาการให้บริการผ่านทางสื่อออนไลน์และสื่อสังคม (social media) อย่างจริงจังเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารรวมถึงรายการต่างๆ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและกว้างขวาง ตลอดจนเป็นการตอบสนองต่อพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสื่อสารและรับรู้สถานการณ์ทางสังคมที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
       บทบาทของการสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดียหรือเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์มีความโดดเด่นมากเป็นพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมต้องการข้อมูลและข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ ในช่วงวิกฤตน้ำท่วมปลายปี 2554 ไทยพีบีเอสได้ใช้เว็บไซต์และเครือข่ายโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางสำคัญในการกระจายข้อมูลและข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อการตัดสินใจและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งยังเป็นกลไกในการระดมความคิดเห็นและความร่วมมือของภาคประชาสังคมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและจัดการกับปัญหาในพื้นที่ต่างๆ
       ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงสื่อใหม่ 2 ประเภท ได้แก่
       1) วิทยุออนไลน์
       ไทยพีบีเอสเริ่มให้บริการวิทยุออนไลน์ขึ้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2554 โดยเป็นการต่อยอดจากสื่อวิทยุที่เริ่มต้นไว้ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่ง ส.ส.ท. ได้ร่วมผลิตรายการเพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว FM 105 MHz.ปัจจุบันวิทยุออนไลน์ไทยพีบีเอสเผยแพร่รายการระหว่าง 06.00 น. - 21.00 น. ทางเว็บไซต์  www.thaipbsonline.net, www.facebook.com/ThaiPBSFan ผู้ฟังสามารถรับฟังได้ทั้งทางคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ประชาชนในต่างจังหวัดสามารถรับฟังผ่านสถานีวิทยุชุมชนต่างๆ ที่ทำการเชื่อมโยงสัญญาณไปออกอากาศผ่านสถานีวิทยุชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการเพิ่มเครือข่ายการออกอากาศ และเผยแพร่รายการไปยังสาธารณชน นอกจากนี้ยังสามารถรับสัญญาณผ่านดาวเทียมด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม ที่รองรับระบบ DVB - S2 ได้ด้วยเช่นกัน และเมื่อได้รับจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุจาก กสทช. ในอนาคต จะทำการพัฒนาให้ออกอากาศ 24 ชั่วโมงต่อไป
       การดำเนินการวิทยุออนไลน์เป็นการตอบสนองการดำเนินงานด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงสาธารณะ ซึ่งเป็นภารกิจตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยไทยพีบีเอสมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำการผลิตสื่อวิทยุออนไลน์เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ ใช้สื่อวิทยุออนไลน์เป็นพื้นที่สื่อสาธารณะที่จะสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วนในประเด็นทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ รวมทั้งเพื่อให้ข่าวสารความรู้และความบันเทิงแก่ผู้ฟังทุกกลุ่มเป้าหมาย
       ทั้งนี้ รูปแบบรายการวิทยุออนไลน์ที่นำเสนอในช่วงทดลองออกอากาศเดือนมิถุนายน - กันยายน แบ่งตามประเภทการผลิตเป็นรายการที่ผลิตขึ้นใหม่โดยผู้ผลิตภายใน (ทีมข่าวและทีมวิทยุ) ร้อยละ 36 รายการวิทยุที่นำมาออกอากาศซ้ำ (รีรัน) จากรายการที่เคยผลิตออกอากาศทางสถานีวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว คลื่น FM105.0 MHz. ร้อยละ 18 และเป็นรายการที่ดึงสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์ คิดเป็นร้อยละ 46 อีกทั้งยังแบ่งสัดส่วนการนำเสนอเป็นกลุ่มรายการข่าว ร้อยละ 36 กลุ่มรายการสารประโยชน์และสาระบันเทิงร้อยละ 64
       เมื่อดำเนินการมาสักระยะ ในไตรมาสที่ 4 (เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2554) สถานีได้ปรับสัดส่วนการนำเสนอเป็นรายการกลุ่มข่าวร้อยละ 30 รายการกลุ่มสารประโยชน์และสาระบันเทิง ร้อยละ 70 และยกเลิกรายการออกอากาศซ้ำ (รีรัน) ออกจากผังรายการทั้งหมด แล้วผลิตรายการใหม่เข้าไปทดแทนโดยเปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตรายการภายนอกที่มีความรู้ความสามารถ ได้มีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่สื่อสาธารณะด้วยรายการที่หลากหลาย ทำให้สัดส่วนรายการที่ผลิตใหม่เพิ่มเป็นร้อยละ 61 และรายการที่ดึงสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์ลดลงเหลือร้อยละ 39
       
       2) เว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ (social media)
       ในปี 2554 ไทยพีบีเอสได้มีการสร้างเว็บไซต์ข่าวแยกออกจากเว็บไซต์หลัก ทำให้เกิดความชัดเจนและติดตามชมข่าว รายการข่าวและข้อมูลเศรษฐกิจได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งให้บริการข่าวสารที่ฉับไวและครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับข่าวจากหน้าจอ นำเสนอผ่านทางเว็บไชต์ www.thaipbs.or.th อีกทั้งยังเผยแพร่รายการโทรทัศน์ออนไลน์ ในลักษณะการดึงภาพการออกอากาศสด (live cast) จากหน้าจอของไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นบริการที่ได้รับความนิยมสูง ด้วยคุณภาพความคมชัดทั้งภาพและเสียง รองรับระบบ HDและสัญญาณที่ต่อเนื่อง ทั้งยังนำรายการที่ดีและมีประโยชน์เผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ให้เลือกชมย้อนหลังได้ตามความต้องการ (on demand) อีกด้วย
       เมื่อสิ้นปี 2554 พบว่ามีอัตราการเติบโตของผู้เข้าชมหน้าเว็บไซต์สะสมตลอดปี เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึงร้อยละ 243.83 และในวันที่ 25 ตุลาคม 2554 เว็บไซต์ www.thaipbs.or.th ขึ้นอันดับ 1 ในประเภทสถานีโทรทัศน์ (FreeTV) มี 49,435 UIP, 150,601 Page views โดยหน้าที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 คือ หน้าชมทีวีออนไลน์ http://live.thaipbs.or.th
       ขณะเดียวกัน การบริการข่าวสารและสร้างเครือข่ายผ่านทางโซเชียลมีเดีย มีการขยายตัวของผู้ติดตามข่าวสารเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตน้ำท่วม ตุลาคม - ธันวาคม 2554 ทำให้ทวิตเตอร์ @ThaiPBS มีผู้ติดตามอย่างก้าวกระโดดขึ้นเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มองค์กรสื่อที่นำเสนอข่าว ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2554 และยังคงเป็นอันดับ 1 มาจนถึงปัจจุบัน (กันยายน พ.ศ.2555)
       ดังนั้น ในขณะที่ภารกิจอันหนักหน่วงยิ่งขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่สูง และยังต้องปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สื่อสาธารณะในโลกสื่อออนไลน์และสื่อใหม่ ยังคงตั้งใจมุ่งมั่น รักษามาตรฐานและพัฒนาคุณภาพ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการทำหน้าที่สื่อสาธารณะเพื่อสังคมคุณภาพและคุณธรรม
        
       1.4 ด้านงบประมาณและรายได้
       ในทางปฏิบัติแล้ว งบประมาณหลักของสื่อสาธารณะจะมีความแตกต่างจากสื่อทั่วไป อันทำให้ไม่ต้องไปผูกยึดกับเรื่องของเชิงพาณิชย์ การโฆษณา รวมถึงเรื่องการเมืองซึ่งจะต้องไปขออนุมัติงบประมาณทุกปีเหมือนองค์กรต่าง ดังนั้นข้อดีคือ ทำให้มีอิสระในการบริหารงานจากภายนอก โดยตามกฎหมายที่ระบุว่าได้รับจากภาษีสุราและบุหรี่ จำนวนร้อยละ 1.5 แต่ไม่เกิน 2,000 ล้าน อาจไม่เพียงพอซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการแสวงหางบประมาณเพิ่มเติม เนื่องจากการดำเนินการผลิตรายการโทรทัศน์ถือเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ต้นทุนทางงบประมาณสูงมาก
       ความกังวลและความท้าทายของการบริหารเรื่องงบประมาณในระยะยาวจึงเป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจและเป็นวาระนโยบายของ ส.ส.ท. โดยมีประกาศคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เรื่อง แนวนโยบายด้านการหารายได้ การหารายได้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพ สาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 คณะกรรมการนโยบายจึงกำหนด แนวนโยบายด้านการหารายได้ดังต่อไปนี้
       1. ส.ส.ท. เปิดรับการสนับสนุนด้านทรัพยากรและเงินทุนจากบุคคล กลุ่ม องค์การ และสถาบัน ภายนอกทุกระดับ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้ในกิจการขององค์การฯ ทั้งนี้การสนับสนุนดังกล่าวจะต้องไม่กระทบต่อความเป็นอิสระในการผลิตและเผยแพร่รายการของส.ส.ท.
       2. การรับการสนับสนุน หรือการรับบริจาคต้องเป็นไปภายใต้หลักความเป็นสถาบันสื่อสาธารณะ และไม่กระทบต่อกระบวนการสร้างวัฒนธรรมองค์กร และต้องกระทำโดยตรงต่อส.ส.ท. เท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีการสนับสนุนหรือบริจาคผ่านรายการใดรายการหนึ่ง
       3. ให้ฝ่ายบริหารสร้างกลไกและกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดการสนับสนุนองค์การฯประเภท ต่าง ๆ โดยยึดหลักการของความเป็นสถาบันสื่อสาธารณะ และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
       4. ให้ฝ่ายบริหารจัดทำแผนพัฒนาระบบการหารายได้ที่หลากหลายตาม มาตรา 11 (4), (5), (6) และ (7) โดยยึดหลักการของความพอเพียงและความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว
       5. ให้ฝ่ายบริหารรายงานสถานการณ์และแนวโน้มในด้านการสนับสนุน การรับบริจาค และ รายได้ของส.ส.ท.ให้คณะกรรมการนโยบายทราบ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
       เนื่องจากรายได้ที่มาจากภาษีเหล้าบุหรี่ จะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมไม่ได้หรือคาดไม่ถึงตามมา องค์การจึงจำเป็นต้องพึ่งตนเองให้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ภายใต้โครงสร้างงานของไทยพีบีเอสเอง ก็มีสำนักพัฒนาทุนทางสังคมทำหน้าที่ในการระดมทุนจากภายนอกผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงอยู่บนหลักการของสื่อสาธารณะ ขณะเดียวกัน หากพิจารณาในด้านของกฎหมายจัดตั้ง จะพบว่ามีการเปิดโอกาสให้ดำเนินการหารายได้จากช่องทางอื่นได้ เช่น สามารถที่จะไปของบประมาณสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งรัฐบาล องค์กรรัฐ องค์กรเอกชน ในการจัดกิจกรรมและผลิตรายการต่าง ๆ อันจะทำให้มีพันธมิตรและเครือข่ายที่พร้อมให้การสนับสนุนในแง่ของงบประมาณในการผลิต ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการจะทำให้สามารถที่จะลดการพึ่งพางบประมาณจากภาษีเหล้าบุหรี่ในอนาคตได้ อีกทั้งในปี พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา ทาง ส.ส.ท.เองก็ได้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิไทยพีบีเอสขึ้น เพื่อที่จะระดมทุนเพื่อที่จะนำมาใช้ในกิจการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมกิจกรรมสาธารณะด้วย
       อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ไทยพีบีเอสต้องคำนึงถึงเรื่องรายได้ขององค์การซึ่งจะเชื่อมโยงกับการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของของประชาชน คือ การรับรายได้จากภาษีสุราและยาสูบอันถือว่าเป็นเงินของคนที่บริโภคสินค้าเหล่านี้เท่านั้น ไม่ได้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับประชาชนจริงๆ ในระยะยาว องค์การควรพิจารณาทางเลือกภาษีชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น การเก็บภาษีโทรทัศน์หรือค่าธรรมเนียมบริการอย่างสถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ หรือ NHK ของญี่ปุ่น
                  
       สรุปได้ว่า ปัจจัยภายในสำคัญที่ส่งผลต่อการบริหารงานของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย มี 4 ปัจจัย คือ ด้านโครงสร้างการบริหารงาน ด้านบุคลากร ด้านเทคโนโลยี และด้านงบประมาณรายได้ กระนั้นปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อการบริหารงานขององค์กรมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับโครงสร้างการบริหาร การจัดรูปแบบองค์กร ผู้บริหาร กลยุทธ์และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งในส่วนของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยในฐานะเป็นสื่อสาธารณะ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลโดยตรงต่อการบริหารของทางสถานีทั้งสิ้น
       ในด้านโครงสร้างการบริหารงาน เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะที่ต้องลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นคือ ปลอดจากอิทธิพลทางการเมืองและอิทธิพลจากกลุ่มทุน ดังนั้นความโปร่งใสและความเป็นอิสระในด้านต่าง ๆ ของสถานีรวมถึงการมีส่วนร่วมของคนในสังคมจึงเป็นหลักการสำคัญของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในด้านโครงงานการบริหารงานทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจะมีคณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการบริหาร ซึ่งสองส่วนนี้จะมีความอิสระในการบริหารงาน คณะกรรมการนโยบายจะกำหนดนโยบาย วางกรอบนโยบาย พอหลังจากนั้นคณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารจะกำหนดแผนงานการบริหารให้สอดคล้องกับนโยบายของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่ทางคณะกรรมการนโยบายวางกรอบขึ้นมา เมื่อผู้บริหารระดับสูงเช่นคณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายต่าง ๆ เมื่อระดับบนแข็งแกร่ง ไม่มีการแทรกแซงจากด้านต่าง ๆ มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน ระดับผู้ปฏิบัติงานก็จะปฏิบัติงานทางกรอบที่วางไว้ตามหลักการที่ พ.ร.บ. กำหนดอ่างเคร่งครัด
       ส่วนในด้านบุคลากร ปัจจัยด้านนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ส่งผลต่อการบริการงานของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นอย่างมาก และอาจเป็นปัญหาหลักของทางสถานีด้วย เนื่องจากว่า ประเทศไทยยังไม่เคยมีสื่อสาธารณะเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะแห่งแรก ดังนั้นบุคลากรที่เข้ามาในองค์กรสื่อสาธารณะแห่งนี้ ส่วนมากมีการถ่ายดอนมาจากสถานีโทรทัศน์
       ทีไอทีวี และสื่อพาณิชย์ช่องอื่น ดังนั้นจึงต้องมีการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อสาธารณะให้มีความเข้าใจที่ตรงกันและเปลี่ยนทัศนคติ วัฒนธรรมองค์กรเดิมมาสู่วัฒนธรรมองค์กรใหม่คือสื่อสาธารณะ และปลูกจิตสำนึกให้บุคลากรมีจิตสาธารณะต่อไป
       ส่วนทางด้านเทคโนโลยี เทคโนโลยีไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเพราะทางสถานีมีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมในด้านต่าง ๆ ต่องานสื่อสารมวลชนรวมถึงเป็นผู้นำด้านการถ่ายทอดในระบบดิจิทอลความละเอียดสูง (High Definition TV: HD)
       สุดท้ายในด้านงบประมาณและรายได้ ปัจจัยด้านนี้มีผลโดยตรงต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเพราะเนื่องจากว่ากฎหมายกำหนดให้ทางทีวีไทย ได้รับงบประมาณจากทางภาษีกรมสรรพาสามิต
       เหล้า บุหรี่ร้อยละ 1.5 เปอร์เซ็นต์ แต่มีกรอบเพดานของงบประมาณไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ดังนั้น ณ ขณะนี้ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสยังไม่ประสบปัญหาในด้านนี้ เพราะงบประมาณเพียงพอ แต่สิ่งที่ผู้บริหารและกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ในสังคมกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือว่า ถ้าเกิดในอนาคตทางสถานีต้องมีการผลิตรายการที่มีคุณภาพสูง ค่าใช่จ่ายสูงขึ้น หรือมีการขยายเครือข่ายสื่อหลายช่องทางต่าง ๆ งบประมาณตรงนี้อาจไม่เพียงพอ จึงต้องมีการคิดถึงวิธีการแก้ไขต่อไปในอนาคต
        
       2.ปัจจัยภายนอก
       การบริหารงานองค์กรหนึ่ง ๆ นั้น ปัจจัยแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรมาก นอกเหนือจากปัจจัยแวดล้อมภายในที่มีผลต่อองค์กรแล้ว ปัจจัยแวดล้อมภายนอกยังเป็นอีกส่วนหนึ่ง สำหรับปัจจัยแวดล้อมภายนอกของไทยพีบีเอสมีดังต่อไปนี้
        
       2.1 ด้านการเมืองและรัฐบาล
       หากพิจารณาในกฎหมายจัดตั้งองค์การ มาตรา 7 (2) ระบุให้องค์การมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตรายการทางด้านข่าวสารสารประโยชน์ทางด้านการศึกษา และสาระบันเทิง ที่มีสัดส่วนอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูงเน้นความหลากหลายในมิติต่าง ๆ โดยมุ่งดำเนินการอย่างปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ และยึดถือผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
       อีกทั้งในมาตรา 21 ระบุว่าในขณะดำรงตำแหน่ง กรรมการนโยบายต้อง
       1) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เว้นแต่อาจารย์ผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
       2) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
       3) ไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
       นอกจากนี้ มาตรา 56 ระบุว่าการกระทำใด ๆ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงองค์การให้เผยแพร่รายการที่ขัดหรือแย้งต่อวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 หรือข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพที่ได้จัดทำขึ้นตามมาตรา 42 ให้ถือเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่มีผลบังคับใช้ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
       จากข้างต้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินการขององค์การได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างดีจากกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ อย่างไรก็ตาม การเมืองภายนอกอาจจะเป็นภัยคุกคามต่อองค์กรได้ เพราะว่าไทยพีบีเอสจัดตั้งขึ้นด้วยกฎหมาย ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามภาคการเมืองแข็งต้องการแทรกแซงผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการ หรือต้องการลดงบประมาณ เมื่อนั้นรัฐบาลก็สามารถแก้กฎหมายอยู่ดีเพื่อที่จะเข้ามาแทรกแซงได้ ดังนั้น ในขณะเดียวกันไทยพีบีเอสจึงจำเป็นต้องสร้างมวลชน สร้างสภาผู้ชมผู้ฟังที่สนับสนุนองค์การ เพราะหากประชาชนรับรู้ว่าไทยพีบีเอสมีประชาชนเป็นเจ้าของจริงๆ เป็นสถานีทีวีของประชาชน รับใช้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ก็จะเป็นหลักประกันอีกชั้นหนึ่งเพื่อกันการเมืองไม่ให้ดำเนินการแทรกแซง  ความพยายามในการแทรกแซงของรัฐบาลเป็นไปเพื่อต้องการที่จะให้สื่อเป็นพวกเดียวกับตนและตอบสนอง กล่าวคือ เป็นเครื่องมือของรัฐ ถึงแม้ว่าไทยพีบีเอสปัจจุบันจะมีหลักประกันอยู่หลายชั้น แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ การทำข่าวว่าจะคงความเป็นกลางบนฐานคุณค่าของความเป็นสื่อสาธารณะไว้ได้อย่างไร
       ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ การดำเนินงานของไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองปี พ.ศ.2553 เนื่องจากความเป็นสื่อสาธารณะของ ส.ส.ท. ผ่านการทดสอบครั้งใหญ่ในช่วงของการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในช่วงเวลานั้นไทยพีบีเอสทุ่มเททรัพยากรทุกด้าน วางกำลังจับตาตามจุดต่างๆ เพื่อรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้รอบด้านมากที่สุด ควบคู่ไปกับการเปิดพื้นที่ให้ความคิดเห็นของทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมและสมดุล เพื่อให้ได้ข้อมูลความคิดเห็น ตลอดจนทางออกที่หลากหลาย แม้ในสถานการณ์ที่สื่อถูกคุกคามและขาดความปลอดภัย ไทยพีบีเอสยังคงยืนหยัดการทำข่าวในทิศทางข้างต้นอย่างต่อเนื่อง ไทยพีบีเอสปฏิเสธคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศ.อ.ฉ.) ซึ่งสั่งให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่องงดรายการปกติรวมถึงการรายงานข่าวและให้ออกอากาศรายการที่ ศ.อ.ฉ. กำหนด เพื่อเกาะติดสถานการณ์ เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวขัดต่อหลักการเสรีภาพของสื่อ
       การรายงานสถานการณ์และภาพข่าวของไทยพีบีเอสเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และตระหนักว่าสื่อไม่มีสิทธิไปจำกัดสิทธิในการรับรู้ข้อเท็จจริงของสาธารณชนโดยมีคำว่า “จริยธรรมของสื่อ” กำกับการทำงาน การรายงานข่าวทุกช่วงจึงผ่านการกลั่นกรองที่จะต้องไม่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น
       ข้อเท็จจริงจากรายงานเหตุการณ์ช่วงวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างครอบคลุมและรวดเร็ว ทำให้สื่ออื่นๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจำนวนมากต่างนำภาพข่าวเหตุการณ์สำคัญจากไทยพีบีเอสไปเสนอต่อ นับเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจสถานการณ์ในวงกว้างและยังเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอนาคตไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับการเปิดเวทีให้กับคู่ขัดแย้งและภาคส่วนต่างๆ ของสังคมได้พูดคุยหารือถึงทางออกต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยได้ยกเลิกผังรายการปกติและเพิ่มรายการพิเศษ “ฝ่าวิกฤตการเมืองไทย” เพื่อให้เป็นเวทีสะท้อนสถานการณ์ทุกด้าน ตลอดจนเป็นช่องทางในการพูดคุยเพื่อหาทางออก รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไทยพีบีเอสยังเป็นสื่อในการแก้ปัญหา เปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งความเดือดร้อน และประสานงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ เป็นสื่อกลางในการรับบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค ร่วมกับ “เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ” นำไปมอบให้ชาวชุมชนบ่อนไก่ นับเป็นส่วนหนึ่งในบทบาทของสื่อสาธารณะท่ามกลางความแตกแยกทางการเมือง ในการนี้ การรายงานข่าวสารอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการเมือง จน ส.ส.ท.ได้กลายเป็นแหล่งอ้างอิงของสถานีโทรทัศน์ระดับสากลเกือบทุกแห่ง
        
       2.2 ด้านเศรษฐกิจ
       จากมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งได้กำหนดให้องค์การมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงองค์การจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ และจัดสรรให้เป็นรายได้ขององค์การ โดยให้มีรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกินสองพันล้านบาท และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการปรับเพิ่มรายได้สูงสุดตามมาตรานี้ทุกสามปี เพื่อให้องค์การมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ โดยให้พิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อของปีที่ผ่านมาประกอบกับขอบเขตการดำเนินงานขององค์การที่เปลี่ยนแปลงไปและผลการประเมินการดำเนินงานขององค์การตามมาตรา 50
       ดังนั้น เศรษฐกิจอาจมีผลกระทบอยู่บ้าง เพราะว่าเศรษฐกิจที่ตกต่ำจะมีผลกระทบถึงการบริโภคเหล้าบุหรี่ และจะกระทบต่อภาษี แต่การที่รัฐบาลขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่ก็กลับกลายเป็นผลดีต่อองค์การไป ถ้าหากเปรียบเทียบกับสื่ออื่นๆ หลักประกันรายได้ในฐานะสื่อสาธารณะยังส่งผลให้เกิดโอกาสที่ดีกว่าสื่ออื่นๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ
       เนื่องจากสื่อสาธารณะรับงบประมาณจากองค์กรธุรกิจที่ต้องจัดแบ่งภาษีบางส่วนมาให้ ฉะนั้นถ้าธุรกิจไม่ดีมันก็จะส่งผลให้งบประมาณที่ได้ไม่ถึงตามกำหนด แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและไม่ยินดีพร้อมกัน คือ ธุรกิจที่อาจจะดี ส่วนตัดแบ่งมาให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ฉะนั้นบางส่วนส่วนที่เกินก็ต้องคืน และเรื่องที่ไม่ดีก็คือว่าถ้าธุรกิจเจริญเติบโตหมายความว่า การทำลายด้านสุขภาพของประชาชนคงจะต้องมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยพีบีเอสก็ไม่ได้ส่งเสริมธุรกิจต่างๆ เพราะสื่อสาธารณะไม่ได้มีเงื่อนไขว่าหากรับภาษีจากหน่วยงานใดแล้วจะต้องไปทำอะไรอะไรให้กับหน่วยงานนั้น องค์การถือว่าเป็นภาษีประชาชน หากหน่วยงานใดมีปัญหาต่อสังคม องค์การก็ต้องดำเนินการทำข่าวเกี่ยวกับด้านนั้นๆ อยู่ดี
        
       2.3 ด้านสังคมและผู้สนับสนุน
       สำหรับไทยพีบีเอสแล้ว สังคมคือตัวกำกับสื่อสาธารณะ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนดูเท่านั้นที่คอยกำกับว่าองค์การทำงานตามภารกิจหรือไม่ หรือรายการที่ออกอากาศเป็นไปตามที่สาธารณชนคาดหวังและมีคุณภาพหรือไม่ ดังนั้น คณะกรรมนโยบายจึงมีความใส่ใจถึงเรื่องทางสังคมอย่างมาก ถึงขั้นจัดเป็นประกาศเรื่องนโยบายส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับเครือข่ายและพันธมิตรทางธุรกิจในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นองค์กรหน่วยงานและภาคธุรกิจที่ไม่ทำร้ายสังคม โดยพิจารณาประวัติการถูกร้องเรียน หรือถูกประท้วงจากชุมชนท้องถิ่น กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มเครือข่ายประชาสังคม อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการลงทุน มีพฤติกรรมประกอบธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่ออาชีพผู้ประกอบการรายย่อย หรือไปส่งเสริมอาชีพที่สังคมรังเกียจ ทำให้สังคมอ่อนแอ มอมเมาเด็ก เยาวชน และสังคม ให้พึ่งพาสารเสพติด เหล้า บุหรี่ หรือมีพฤติกรรมเสื่อมทรามทางเพศ และความรุนแรงทางสังคม นอกจากนั้น ไทยพีบีเอสควรเป็นองค์กร หน่วยงาน และภาคธุรกิจ ที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยพิจารณาจากประวัติในการอุทิศทรัพยากร บุคคลากร การบริจาคเงิน หรือตั้งกองทุน หรือมูลนิธิให้กับผู้ด้อยโอกาส เด็กและเยาวชน ผู้พิการ หรือ ทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะและชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสื่อเพื่อสังคม
       สำหรับปัจจัยด้านนี้ หากกล่าวให้ถึงที่สุด สังคมและไทยพีบีเอสอาจเป็นเหตุปัจจัยและผลซึ่งกันและกัน ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อก็อาจเป็นตัวกำหนดวาระทางสังคมผ่านการนำเสนอรายการหรือค่านิยมสื่อสาธารณะ ในขณะเดียวกัน สังคมก็จะเป็นตัวกำกับสื่อสาธารณะในฐานะผู้ชมและพลเมืองที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดวาระของการนำเสนอเช่นกัน เนื่องจากหากดูถึงผู้สนับสนุนจริง ๆ มีจะมีภาคประชาชน และองค์กรต่าง ๆ ที่เห็นดีเห็นงามพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดเนื้อหา และก็ทำให้มีเรื่องรายการดีที่น่าสนใจ
       สุวิทย์ สาสนพิจิตร์ ผู้อำนวยการสำนักรายการและสร้างสรรค์รายการ ส.ส.ท. กล่าวว่าองค์กรสมัยใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคม ยกตัวอย่างเช่น ในการทำละครที่มีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังทำร้ายผู้หญิง ในขณะนั้นมีสินค้าเกี่ยวกับผู้หญิงยี่ห้อหนึ่งต้องการสนับสนุนโดยไม่ต้องโฆษณาให้กับผลิตภัณฑ์ก็ได้ ผู้สนับสนุนเช่นนี้ที่ไทยพีบีเอสชื่นชม เนื่องจากองค์การไม่ต้องการผู้สนับสนุนที่หวังผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อโฆษณาชื่อสินค้าหรือหน่วยงานของตน แต่ต้องการผู้สนับสนุนที่จริงใจและบริสุทธิ์ใจกับประชาชนเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ
        
       2.4 ด้านตลาดคู่แข่งขัน
       หากพิจาณาในมาตรฐานของสื่อทั่วไป ไทยพีบีเอสถือว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘คู่แข่ง’ นั้นไม่มี เพราะว่าการดำเนินงานไม่ได้เป็นไปเพื่อแย่งการโฆษณากับใคร ดังนั้น การไม่มีคู่แข่งจึงหมายถึงการทำงานที่มุ่งเพียงเพื่อประโยชน์สาธารณะเพียงประการเดียว หากจะต้องแข่งคงมีเพียงการแข่งกับความมีคุณภาพในการผลิตของตน หรือการแย่งชิงประชาชน ซึ่งในที่นี้มิได้หมายถึง แย่งชิงมาเพื่อให้มาดูแล้วสร้างมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้น แต่แย่งชิงให้ประชาชนมาดูในสิ่งที่เขาควรจะดู/ควรจะรู้ หรือสิ่งที่เขาเรียกร้องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพ
       ปัจจุบันสังคมไทยยังถือว่ามีสื่อสาธารณะเพียงแห่งเดียว คือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2551 อย่างไรก็ดี ในอนาคตสื่อสาธารณะอาจไม่ได้มีเพียงองค์การเดียว ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากการแข่งขันจะนำไปสู่คุณภาพที่ดียิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้คุณค่าของสื่อสาธารณะและยึดผลประโยชน์กับสาธารณะเป็นสำคัญ ที่สำคัญคือ นับเป็นการเพิ่มทางเลือกในการบริโภคสื่อของประชาชน เพราะหากมีเพียงองค์การเดียวต่อไปเรื่อยๆ จากเจตนาที่ดีของสื่อสาธารณะอาจจะกลายเป็นการผูกขาดสื่อสาธารณะไปซึ่งนับเป็นสิ่งที่ควรระวัง
        
       2.5 ด้านความต้องการของผู้ชม
       สถานีโทรทัศน์สาธารณะไม่ได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ การดำเนินการของสถานีจึงไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันของเรตติ้ง (rating) หรือสัดส่วนผู้ชมรายการ ซึ่งทำให้สถานีโทรทัศน์สาธารณะแตกต่างจากสถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ ที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อสัดส่วนผู้ชมรายการ แม้สถานีโทรทัศน์สาธารณะจะมีจุดมุ่งหมายในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน การไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันของเรตติ้ง อาจทำให้สถานีห่างเหินจากประชาชนได้ หากไม่มีการออกแบบกลไกในการเชื่อมโยงกับประชาชน ตัวอย่างของกลไกในการเชื่อมโยงกับประชาชนได้แก่ การกำหนดให้มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์สาธารณะจากประชาชน และการกำหนดดัชนีชี้วัดในการดำเนินงาน (keyperformance indicator) ของผู้บริหาร ที่เชื่อมโยงกับประชาชนในแง่มุมต่าง ๆ ประกอบกัน เช่น
       - การสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของรายการ โดยหน่วยงานสำรวจที่เป็นอิสระจากสถานี
       - การสำรวจเรตติ้งของรายการ เฉพาะในรายการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนโดยทั่วไป
       - การได้รับเงินบริจาค (donation) จากประชาชน และการสนับสนุนรายการ (sponsorship) จากองค์กรต่าง ๆ
       ในการนี้ คำว่า ‘สื่อสาธารณะ’ ย่อมสื่อความถึงการไม่แบ่งกลุ่มผู้ชมว่าเป็นคนเมืองหลวง เมืองใหญ่คนชนบท คนชั้นกลาง เป็นต้น  แต่ดูว่าการทำหน้าที่สื่อนั้นมีผลช่วยสร้างสังคมคุณภาพและคุณธรรมอันเป็นเป้าหมายองค์การหรือไม่ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายไทยพีบีเอส คือ สาธารณะ ดังนั้น จึงต้องพยายามตอบสนองทุกภาคส่วน
       อีกทั้ง ความเป็นสื่อสาธารณะส่งผลให้ไทยพีบีเอสต้องยึดโยงอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น การมีส่วนร่วมและภาคประชาชนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญหรือนับเป็นหัวใจในการพัฒนาสื่อสาธารณะ โดยกลไกการมีส่วนร่วมที่มีอยู่คือ สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการอันเป็นกลไกเพื่อให้ทุกคนในประเทศส่งเสียงสะท้อน (Feedback) กลับมาหรือร้องเรียนต่อองค์การ โดยสภาผู้ชมก็คือ กลุ่มประชาชน และเครือข่ายประชาสังคมที่ถูกตั้งขึ้นมา และทำงานกำกับควบคู่กันไปกับไทยพีบีเอส
       ในปี พ.ศ.2554 การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ชมผู้ฟังสามารถสรุปได้ ดังนี้
       -     ความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 3 พบว่า ในภาพรวมไทยพีบีเอสได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 7 ตามลำดับ โดยมีความพึงพอใจในระดับดีมาก ในรายการข่าวและสารคดีเชิงข่าว รองลงมาคือรายการสารคดีที่ให้ความรู้
       -     ความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของไทยพีบีเอส 7 อันดับ คือ การใช้ภาษาที่ถูกต้องชัดเจน ความทันสมัยทันเหตุการณ์ ความมีสารประโยชน์ของรายการ ความถูกต้องน่าเชื่อถือ ความง่ายในการทำความเข้าใจเนื้อหาของรายการความหลากหลายของรายการ และความน่าสนใจของรายการ
       -     รายการที่ผู้ชมวางใจ 10 อันดับ ได้แก่ ข่าวและรายการที่เกี่ยวเนื่องกับข่าว สารคดีท่องโลกกว้าง คุยกับแพะ ภัตตาคารบ้านทุ่ง พินิจนคร สถานีประชาชน กินอยู่คือ เปิดปม ลุยไม่รู้โรย และชุมชนต้นแบบ
       -     รายการที่ควรปรับปรุง ได้แก่ รายการข่าว การ์ตูน ดนตรีกวีศิลป์ เกมโชว์ ศิลป์สโมสร และซีรีย์ต่างประเทศ
       -     การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ได้แก่ ภาพรวมของการเสนอข่าว รูปแบบของรายการ ความรู้เนื้อหาสาระรูปแบบการนำเสนอ การมีส่วนร่วมของประชาชน คุณภาพการออกอากาศ ความทันสมัยของการสื่อสาร ความหลากหลายของรายการ ความรวดเร็วและทันเหตุการณ์
       อย่างไรก็ดี ความท้าทายของสื่อสาธารณะแห่งประเทศไทยในอนาคตคือ จะทำอย่างไรให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสาธารณะอย่างแท้จริงโดยไม่ผู้ขาดหรือโน้มเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากในทางปฏิบัติ เป็นการยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำคุณค่าสื่อสาธารณะทั้งหมดมาจัดใส่หรือแปรรูปอยู่ในสถานีโทรทัศน์เพียงสถานีเดียว ดังนั้น ความกังวลหรือสิ่งที่ต้องคำนึงในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ คือ การจะขยายการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชมที่หลากหลายยิ่งขึ้น ดังกรณีตัวอย่างของ BBC ในประเทศอังกฤษที่มีหลากหลายช่องเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้ชมอันหลากหลาย เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคอการเมือง เป็นต้น            
       โดยสรุปปัจจัยภายในองค์กร ในด้านโครงสร้างการบริหารงาน และโครงสร้างสร้างขององค์กรโดยมีกรรมการฝ่ายนโยบาย เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายด้านการบริหารให้เป็นแนวปฏิบัติในการบริหารและการพัฒนาองค์กร โครงสร้างองค์กรย่อมมีหน้าที่ในการกำหนดความสำคัญ/รายละเอียดของงาน การกำหนดอำนาจ บทบาทหน้าที่ การกำหนดกลไก และการจัดสรรทรัพยากร
       ส่วนปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกองค์กร ในด้านการเมืองและรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากงบประมาณของการบริหารงานสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) ขึ้นอยู่กับเงินภาษีหากเศรษฐกิจไม่ดีส่งผลให้งบประมาณที่จะได้รับการจัดสรรลดน้อยลง จึงจำเป็นต้องมีแนวทางในการระดมทุน เพื่อเป็นงบประมาณในการดำเนินงานต่อไป ด้านสังคม มีผลต่อการบริหารงานสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในด้านที่สังคมต้องเป็นกระบอกเสียง หรือหน่วยของสังคมไม่ว่าจะเป็นส่วนของพลเมือง ที่จะต้องทำหน้าที่ในการควบคุม/กำกับการบริหารงาน ด้านผู้สนับสนุน ซึ่งผู้ที่มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญ คือ ภาคประชาชน และองค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในสื่อ ด้านการตลาดและคู่แข่งขัน การแข่งขันเป็นวิธีการที่ดีที่ทำให้คนมีทางเลือกในการบริโภคสื่อ และในด้านกฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญในการเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับองค์กรอันจะนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงการนำเสนอสื่อให้มามาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องของประชาชน
       จากที่กล่าวมา ความเป็นสาธารณะขององค์การได้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของการบริหารงานและการดำเนินงานที่ชัดเจนภายใต้กฎระเบียบรับรองและกรอบจริยธรรมต่างๆ ที่เข้มข้น ในการนี้ การกำเนิดขึ้นขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะไทยตลอดจนการทำหน้าที่สื่อขององค์การบนฐานของคุณค่าความเป็นสื่อสาธารณะที่เป็นสากลและชัดเจนจึงมีความน่าสนใจและท้าทายต่อการทำงานในภาคสาธารณะในปัจจุบันเนื่องจากมันเป็นผลผลิตทางนโยบายสาธารณะที่ไม่ปรากฏบ่อยนักในสังคมไทยอันผ่านการกำหนดนโยบายที่มีลักษณะสมเหตุสมผล (rational decision-making) ที่มาจากการเรียนรู้และถ่ายโอนนโยบายจากต่างประเทศ ตลอดจนการทำหน้าที่ที่มากกว่าสื่อสารมวลชนอื่นๆ ท่ามกลางบริบทปัจจัยท้าทายร่วมกับภาคประชาสังคมในลักษณะเครือข่ายบนฐานความรู้ที่ส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตยและความเป็นพลเมือง
       อันที่จริง สังคมไทยมีองค์การสาธารณะที่ทำหน้าที่ในลักษณะของเครือข่ายคล้ายคลึงกับกรณีขององค์การสื่อสาธารณะนี้อยู่แล้ว แต่อาจจะในจำนวนที่ไม่มาก ซึ่งถือเป็นลักษณะการดำเนินงานรูปแบบใหม่เพื่อตอบรับกับปัญหาสาธารณะที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่สำคัญคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ลักษณะการดำเนินงานขององค์การสื่อสาธารณะจะสามารถนำไปปรับใช้กับองค์การในภาคสาธารณะอื่นๆ? เนื่องจากความพิเศษขององค์การสื่อสาธารณะนี้คือ ระดับความเข้มข้นของการดำเนินงานที่ควบคู่ไปกับกลไกภาคประชาชนในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วน (partnership) โดยมีอำนาจในการตัดสินใจร่วมในเรื่องบางเรื่องหรือสามารถส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการองค์การในระดับสูงได้ ที่สำคัญคือ มีภาคส่วนประชาชนที่สามารถทำงานร่วมกันในนามขององค์การได้และเป็นมีสถานะเป็น ‘เจ้าของ’ องค์การจริงๆ ดังนั้น กรณีศึกษานี้จึงเป็นหนึ่งในกรณีที่ดีในการดำเนินงานยุค governance ของสังคมไทยในจำนวนไม่มากที่น่าศึกษาและจับตามองต่อไป
       
        
       บรรณานุกรม
       Atkinson, D., & Raboy, M. (1997). Overview of a Crisis. In Public Service Broadcasting: The Challenges of the Twenty-first Century. Paris: UNESCO.
       McQuail, D. (1994). Mass Communication Theory: An Introduction. (3rd ed.). London: Sage          Publication.
       Siroros, P. & Ungsuchaval, T. (2012). Public Participatory Policy Process in the Establishment of     Thai Public Broadcasting Service.Paper presented of the International Conference for   Case Studies on Development Administration 2012 (NIDA-ICCS 2012).
       ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร. (2546).สื่อสาธารณะ. รายงานวิจัยภายใต้การ
       สนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
       ทรงยศ บัวเผื่อน. (2546). การปฏิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 40. กรุงเทพฯ:       วิญญูชน.
       พัทธนันท์ วิเศษสมวงศ์. (2551). พัฒนาการและการจัดตั้งโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศ
       ไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศน์ศาสตร์พัฒนาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต.
       มูลินิธิสาธารณสุขแห่งชาติ. (2550). ประสบการณ์และบทเรียนโทรทัศน์สาธารณะ : ทำอย่างไรให้ ประสบความสำเร็จ. กรุงเทพฯ : เปนไท พับลิชชิ่ง.
       รายงานทีดีอาร์ไอ. (2550). การจัดตั้งโทรทัศน์สาธารณะในประเทศไทย. 47(6) : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.
       สมเกียรติ จันทรสีมา. (2555). สัมภาษณ์ วันที่ 10 กันยายน ณ  องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ.
       สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2550). การศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็กและครอบครัว. รายงานการวิจัยนำเสนอต่อมูลนิธิสาธารณสุข
        แห่งชาติ.
       สุภารัตน์ ธนกุลพรรณ. (2553). สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย : แนวคิด ปรัชญา กลยุทธ์และปัจจัยที่มีผลต่อการบริหารงาน. วิทยานิพนธ์ปริญญาวารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
       สุวิทย์ สาสนพิจิตร์. (2554). สัมภาษณ์ วันที่ 19 มกราคม ณ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ.
       สุมนา สุวรรณอำภา. (2555). สัมภาษณ์ วันที่ 10 กันยายน ณ  องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ.
       องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. (2552). รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี  2551. กรุงเทพฯ: ผู้แต่ง.
       __________. (2553). รายงานผลการปฏิบัติงาน  ประจำปี 2552. กรุงเทพฯ: ผู้แต่ง.
       __________. (2554). รายงานผลการปฏิบัติงาน  ประจำปี 2553. กรุงเทพฯ: ผู้แต่ง.
       __________. (2555). รายงานผลการปฏิบัติงาน  ประจำปี 2554. กรุงเทพฯ: ผู้แต่ง.
       __________.(2554). คู่มือสำหรับการยื่นข้อเสนอรายการ พ.ศ.2554. กรุงเทพฯ: ผู้แต่ง.
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544