หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 7
13 ธันวาคม 2547 15:36 น.
"ในฝรั่งเศสมีกฎหมายบังคับใช้มากเหลือเกิน"
       ข่าวสำคัญข่าวหนึ่งที่เกิดขึ้นในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ข่าวของร่างกฎหมายพิทักษ์ปวงชนและรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงข่าวและนำเอาสาระบางประการของร่างกฎหมายมาตีแผ่เพื่อให้เห็นว่า หากนำร่างกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับก็จะเป็นการถอยหลังเข้าคลองกลับไปสู่ยุค "เผด็จการ" กันอีกครั้งหนึ่ง
       สืบเนื่องมาจากข่าวเรื่องร่างกฎหมายดังกล่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม 2544 ก็ได้ลง "ภาพล้อเลียน" แนวคิดหรือที่มาของร่างกฎหมายซึ่งผมดูแล้วรู้สึก "ชอบใจ" จึงได้ขออนุญาตนำมาลงไว้ ณ ที่นี้ด้วย
       ผมไม่แน่ใจว่าอะไรคือ "ความจำเป็น" ที่จะต้องมีกฎหมายประเภทดังกล่าว
       คำถามที่อยู่ในใจเวลาเห็นกฎหมายบางฉบับออกมา คือ ทุกวันนี้เรามีกฎหมายมากเกินไปหรือไม่ เรื่องนี้ผมเข้าใจว่าหลายประเทศก็คงมีสภาพคล้ายกัน คือ มีอะไรก็ต้องออกกฎหมายมาแก้ปัญหา
       เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมได้ซื้อหนังสือมาเล่มหนึ่งจากประเทศฝรั่งเศส หนังสือเล่มนี้ชื่อ "เลิกวุ่นวายกับคนฝรั่งเศสเสียที เรามีกฎหมายไม่ได้เรื่องมากมายเหลือเกินในประเทศนี้" ผู้เขียนได้เล่าไว้ในปกหลังของหนังสือดังกล่าวว่า ในปี ค.ศ.1966 เมื่อนาย George POMPIDOU เป็นนายกรัฐมนตรี เย็นวันหนึ่งซึ่งก็เหมือนเย็นวันอื่นๆ คณะทำงานของท่านก็ได้หอบแฟ้มขนาดใหญ่ที่บรรจุไปด้วยร่างรัฐกฤษฎีกา (décret) มาให้ท่านลงนาม เมื่อนายกรัฐมนตรี POMPIDOU เห็นแฟ้มขนาดใหญ่ก็ได้พูดขึ้นมาด้วยความโมโหว่า "เลิกวุ่นวายกับคนฝรั่งเศสเสียที เรามีกฎหมายมาก เรามีกฎเกณฑ์ ระเบียบ คำสั่งต่างๆมากมาย น่าสงสารประชาชน น่าจะปล่อยให้เขาอยู่กันอย่างปกติ (โดยไม่มีต้องมีกฎหมายบังคับ)แล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง…" จากคำพูดดังกล่าว ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จึงได้ลุกขึ้นทำการศึกษาค้นคว้าตัวบทกฎหมายต่างๆในประเทศฝรั่งเศสและพบว่า ในปัจจุบันฝรั่งเศสมีกฎหมายระดับรัฐบัญญัติอยู่กว่า 8,500 ฉบับ รัฐกฤษฎีกาและประกาศกระทรวงกว่า 120,000 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายของฝ่ายบริหาร (règléments) อยู่อีกกว่า 380,000 ฉบับ ซึ่งนับว่ามากอย่างไม่น่าเป็นไปได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงได้นำเอาสาระของกฎหมายบางฉบับซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ไม่จำเป็นหรือความ "แปลกประหลาด" มาวิเคราะห์ไว้ในลีลาที่สนุกสนานน่าอ่าน ซึ่งในวันข้างหน้าหากผมมีเวลาว่างพอ ก็จะเลือกกฎหมายสนุกๆบางฉบับมาแปลลง pub-law.net ต่อไป
       สำหรับสาระสำคัญใหม่ๆของ pub-law.net ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความขนาดยาวเรื่อง "บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขตอำนาจศาลระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครอง" ของ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ จากสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งคงต้องขอแบ่งลงเป็นสองตอน นอกจากนี้แล้ว pub-law.net ยังได้รับเกียรติจากนักกฎหมายมหาชนคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทยซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ ที่ได้กรุณาให้สัมภาษณ์พิเศษกับ pub-law.net เกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของสำนักงานศาลปกครอง รวมทั้งความจำเป็นและความสำคัญของกฎหมายมหาชนในประเทศไทย ซึ่งสามารถหาอ่านได้ใน บทสัมภาษณ์ และในส่วนของมุมค้นคว้า นั้น เราได้เพิ่มบรรณานุกรมส่วนตัวของคุณชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งมีผลงานทางวิชาการด้านกฎหมายมหาชนจำนวนมากเอาไว้ในส่วน "ผลงานของนักวิชาการในสาขากฎหมายมหาชน" และนอกจากนี้ ก็ได้มีการเอารายชื่อวิทยานิพนธ์สาขากฎหมายมหาชนของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2543 (จบการศึกษาในปีนี้) มานำเสนอไว้ด้วยแล้ว โดยจัดไว้ในช่องพิเศษต่อท้ายผลงานของนักวิชาการสาขากฎหมายมหาชน ส่วนรายชื่อหนังสือกฎหมายมหาชนภาษาฝรั่งเศสของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผมได้แจ้งให้ทราบไว้ในคราวก่อนว่าจะนำมาลงในเดือนนี้นั้น เนื่องจากติดปัญหาหลายอย่างจึงทำให้การดำเนินการจัดทำยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น ผมจึงขอเลื่อนการนำเสนอบรรณานุกรมดังกล่าวไปก่อนซึ่งผมต้องขออภัยต่อผู้ใช้บริการ pub-law.net มา ณ ที่นี้ด้วย
       พบกันใหม่วันที่ 11 มิถุนายน 2544
       
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
       คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544