หน้าแรก บทความสาระ
ความชอบด้วยกฎหมายของร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
รองศาสตราจารย์เจริญศักดิ์ ศาลากิจ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
30 ธันวาคม 2555 22:31 น.
 
การคัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบโดยเครือข่ายนิสิตนักศึกษาและผู้มีส่วนได้เสีย ในระหว่างสมัยประชุมนิติบัญญัติของรัฐสภา คงเป็นเรื่องเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และข่าวในทีวี ดังนั้นความรู้ในหลักกฎหมายมหาชนและความเป็นมาของเรื่องราวดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญในการติดตามสถานการณ์เพื่อพิเคราะห์ถึงความสามารถในการใช้เหตุผลของสังคมไทยรวมทั้งวิธีการทางกฎหมายที่ควรปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวม
        
       ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ
       การสัมมนาเรื่องปัญหาและบทบาทของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นการริเริ่มเรื่องมหาวิทยาลัยควรจะต้องออกจากระบบราชการ เพื่อให้เกิดเสรีภาพทางวิชาการ[1]และเพื่อความคล่องตัวในเรื่องการใช้จ่ายเงินโดยเรียกชื่อว่าความเป็นอิสระ[2]เกี่ยวกับระบบบริหารงานมหาวิทยาลัย
        
       สิ่งแวดล้อมของยุคสมัยนั้น คือ อำนาจรัฐและการบริหารประเทศอยู่ภายใต้คณะปฏิวัติ รวมทั้งระเบียบการเงิน การพัสดุ การงบประมาณและการบริหารงานบุคคลนั้นอยู่ภายใต้ระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งเงื่อนไขการเรียกร้องเรื่องเสรีภาพทางวิชาการได้รับการรับรองด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๗ รวมทั้งได้มีกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๐๗ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสทองของการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานสถาบันอุดมศึกษา โดย รศ. ดร.ปฐม มณีโรจน์[3] ความว่า “ความเป็นจริงแล้วจะเป็นโดยเจตนาหรือด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการออกกฎหมาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎทบวงซึ่งเป็นกฎหมายฝ่ายบริหารที่แก้ไขได้สะดวกและง่ายกว่า) ได้ละทิ้งโอกาสนี้ไปเสียคงปล่อยให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่อยู่ภายในกรอบของระบบราชการต่อไป”
       ต่อมาสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้จัดการสัมมนาบทบาทของมหาวิทยาลัยฯ ณ สถานที่พักตากอากาศสวางคนิวาส  บางปู สมุทรปราการ อีก ๓ ครั้งในปี พ.ศ.๒๕๐๙ ๒๕๑๐ และ ๒๕๑๓ โดยการสัมมนาครั้งที่ ๓ เป็นการพิจารณาเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับ ส่งผลทำให้มีการนำเสนอข้อสรุปของการสัมมนาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ ซึ่งเกิดมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการและมอบให้สภาการศึกษาแห่งชาติ จัดทำรายละเอียดพร้อมทั้งยกร่างกฎหมาย
       สภาการศึกษาแห่งชาติได้นำเสนอกฎหมายต่อสภาบริหารคณะปฏิวัติผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้มหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อพิจารณาให้ความเห็นและข้อสังเกต โดยปรากฏผลมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและคณะปฏิวัติไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามแนวทางของสภาการศึกษาแห่งชาติ เรื่องจึงยุติลงเช่นเดียวกับการรื้อฟื้นเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลในปี พ.ศ.๒๕๑๗ โดยคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา
        
       การจัดตั้งมหาวิทยาลัยในกำกับของรั
       การจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว ๑๕ ปี (พ.ศ.๒๕๓๓ -๒๕๔๗) ได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลความว่า “รัฐบาลพึงให้การสนับสนุนการปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญากับรัฐ โดยพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้ว ให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นส่วนราชการ ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่จะจัดตั้งใหม่ให้มีฐานะและรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตั้งแต่แรกตั้ง” ดังนั้นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จึงเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลภายใต้เงื่อนไขสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่จัดตั้งใหม่
       รัฐบาลสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน มีนโยบายการพัฒนาระบบบริหารสถาบันอุดมศึกษาจึงเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวน ๑๖ แห่งต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๓๕ แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจนเป็นร่างพระราชบัญญัติตกไปเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติหมดอายุลง
        
       เงื่อนไขการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB)
       การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยเมื่อการประกาศลดค่าเงินในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ทำให้รัฐบาลไทยต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินภายนอกประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและชดเชยการขาดดุลของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๑ ให้ความเห็นชอบเงื่อนไขการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยมีกรอบนโยบายที่ทบวงมหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบดำเนินการ คือ
        ๑ มหาวิทยาลัยจะได้รับมอบอำนาจการบริหารงบประมาณในส่วนงบดำเนินการที่มิใช่เงินเดือน ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๒ เป็นต้นไป โดยสร้างระบบการติดตามผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในเรื่องความสามารถในการตรวจสอบได้และความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
       ๒ มหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งจะได้รับการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยอิสระ(Autonomous University) หรือมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลภายในปี ๒๕๔๕ โดยภายในเดือนธันวาคม ๒๕๔๑ จะมีมหาวิทยาลัยของรัฐอย่างน้อย ๑ แห่ง ปรับสภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
        
       ต่อมาในการประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่องสถาบันอุดมศึกษาไทย:รูปแบบที่พึ่งประสงค์เพื่อแก้วิกฤติชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร) ได้ประกาศต่อสาธารณะว่า”รัฐบาลชุดนี้ไม่บังคับเรื่องออกนอกระบบ แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ ความพอเพียงและคุณภาพทางการศึกษา ไม่ขอชี้นำว่ามาวิทยาลัยใดควรออกนอกระบบหรือไม่..” ส่งผลทำให้เงื่อนไขของการกู้เงินธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียได้ถูกยกเลิกไป
        หลังจากรัฐประหารในเดือนกันยายน ๒๕๔๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายวิจิตร ศรีสอ้าน) มีหนังสือถึงนายกสภามหาวิทยาลัยของรัฐ ๒๐ แห่งทั่วประเทศ[4] โดยกำหนดแนวปฏิบัติสำคัญ ๕ ข้อ[5] ดังต่อไปนี้
       ๑ การเปลี่ยนสถานภาพจากมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นความสมัครใจของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยเป็นอำนาจการตัดสินใจของสภามหาวิทยาลัยตามสภาพความพร้อมและความต้องการของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะเร่งรัดหรือมีกรอบเวลาที่จะปรับเปลี่ยนแต่ประการใด
       ๒ ก่อนสภามหาวิทยาลัยจะมีมติเสนอร่างพระราชบัญญัติเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ควรจะได้มีการรับฟังความคิดเห็นและแสวงหาความเห็นพ้องจากบุคลากรทุกกลุ่มในมหาวิทยาลัย จนได้ข้อยุติว่าพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและดำเนินการในรูปแบบมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
       ๓ มหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบในการเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับ ถึงสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการแล้วหรือกำลังจะเสนอมา ขอให้รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นและความเห็นพ้องรวมทั้งประเด็นความเห็นแตกต่างจากกลุ่มบุคลากรทุกกลุ่มในมหาวิทยาลัย รวมทั้ง ประเด็นความเห็นต่าง เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย มหาวิทยาลัยใดยังมิได้ทำการรับฟังความคิดเห็นหรือต้องการทำการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ขอให้ดำเนินการก่อนที่จะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี
       ๔ ร่างพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติรับหลักการแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ หากมหาวิทยาลัยจะมีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการก็สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ขอให้ประสานงานกับคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องโดยตรง
       ๕ การเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ของมหาวิทยาลัยที่ประสงค์จะขอเปลี่ยนสถานภาพ ถือเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยและบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นปัญหาที่ยังข้องใจ หวั่นวิตกหรือความเห็นที่แตกต่าง เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปโดยราบรื่น
        
       นอกจากนี้มาตรา ๓๖[6] แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ได้กำหนดหลักการของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และหลักการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ซึ่งกำหนดให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นนิติบุคคล โดยสามารถดำเนินกิจการอย่างอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัยตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนั้น
        
       โดยสรุป ผลของอำนาจกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและคำสั่งว่าด้วยแนวปฏิบัติการเสนอร่างพระราชบัญญัติฯของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา เป็นการมอบอำนาจการตัดสินใจเพื่อเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยโดยสภามหาวิทยาลัย และกำหนดขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญก่อนการมีมติเสนอร่างพระราชบัญญัติฯต้องมีข้อยุติว่า “บุคลากรทุกกลุ่มในมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและดำเนินการในรูปแบบมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ”
        
       การบัญญัติกฎหมายต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       ประเทศไทยเป็นรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย(นิติรัฐ) และเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยภายใต้หลักการทั่วไปความว่า “มนุษย์แต่ละคนเกิดมาอย่างมีศักดิ์ศรี ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์สามารถแสดงออกได้อย่างเสรีภายใต้การรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ” ดังนั้นการกระทำของรัฐประกอบด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม[7]
       ความหมายของหลักนิติธรรม[8] คือ “บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย บุคคลไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นใดย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายปกติธรรมดาของแผ่นดิน ซึ่งบรรดาศาลธรรมดาทั้งหลายจะเป็นผู้รักษาไว้ซึ่งกฎหมายดังกล่าว” ดังนั้นบรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของรัฐบาลและฝ่ายปกครองจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย
       การบัญญัติพระราชบัญญัติเพื่อเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น มีหลักการสำคัญประการหนึ่ง คือ การมอบอำนาจในการบริหารจัดการสาธารณะสมบัติหรือทรัพย์สินของแผ่นดินให้แก่สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กลุ่มเพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์การจัดตั้งมหาวิทยาลัย จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต้องมีการพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดถึงพฤติการณ์ต่างๆของสภามหาวิทยาลัยต้องดำเนินการกระทำภายใต้ความรับผิดชอบตามหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง โดยเฉพาะการกระทำก่อนการลงมติของสภามหาวิทยาลัยต้องมีข้อยุติของบุคลากรทุกกลุ่มในมหาวิทยาลัย ว่า “พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและดำเนินการในรูปแบบมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ”
       ภายใต้หลักสำคัญของการบริหารมหาวิทยาลัย ๓ ประการ คือ หลักความมีอิสระ หลักเสรีภาพทางวิชาการ และหลักความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งหลักการบริหารจัดการที่ดี จึงต้องกระทำการอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้อย่างส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย แต่การดำเนินการเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติฯเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยละเลยขั้นตอนสำคัญในการมีส่วนร่วมของบุคลากรในมหาวิทยาลัย ย่อมส่งผลให้พิจารณาได้ว่า “การใช้อำนาจการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯขัดต่อความในมาตรา ๒๖ แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ เพราะร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ละเลยต่อสิทธิของประชาชนตามความในมาตรา ๕๘[9]  และมาตรา ๕๗[10] แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐”
        
       โดยสรุปผลของการละเลยของสภามหาวิทยาลัยต่อการรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรทุกกลุ่มในมหาวิทยาลัยก่อนการลงมติเสนอร่างพระราชบัญญัติฯต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภา ย่อมทำให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถดำเนินการใช้สิทธิตามมาตรา ๕๙[11] และมาตรา ๖๐[12] แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐
        
       บทสรุป
       ถ้าได้มีการพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านเป็นการเรียกร้องการมีส่วนร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือการขอรับทราบข้อสงสัยในเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติก่อนการนำเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งเป็นการปฏิบัติภายใต้มาตรา ๕๘ แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากสภามหาวิทยาลัย บทความนี้จึงมีข้อเสนอภายใต้หลักนิติธรรม ดังนี้
         ๑  “ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อรัฐสภาต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัตินั้นได้โดยสะดวก” ย่อมเป็นหลักฐานเพื่อเปรียบเทียบกับประวัติการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่สถาบันนิติบัญญัติ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๐ เรื่องการเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
        ๒ เหตุที่สภามหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๐ เป็นการกระทำที่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งผู้คัดค้านสามารถเสนอคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๒๔๔ แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐
        ๓ เหตุที่ร่างพระราชบัญญัติไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา ๕๘ แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ เครือข่ายผู้คัดค้านย่อมสามารถดำเนินการเรียกร้องต่อสมาชิกรัฐสภา เพื่อพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
        ๔ ถ้าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เครือข่ายผู้คัดค้านสามารถใช้สิทธิตามความในมาตรา ๒๑๒ แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติ ดังกล่าว
        
       โดยสรุปการเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเป็นนวัตกรรมที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคมไทยเป็นประโยชน์สาธารณะ เมื่อเป็นการกระทำที่เกิดประโยชน์เป็นผลดีต่อสังคมประทศชาติจึงควรที่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาถึงความดีความงามดังกล่าว
        
       แต่ในทางตรงกันข้ามการปฏิบัติของมหาวิทยาลัย คือ “ไม่ได้เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ชี้แจงทำความเข้าใจต่อสังคมตามคำสั่งของรัฐมนตรีฯ” รวมทั้งการแสดงพฤติการณ์ความเร่งรีบเพื่อให้เกิดการบัญญัติพระราชบัญญัติฯ จึงเป็นความสงสัยใน“พฤติการณ์ของสภามหาวิทยาลัย กระทำการตามอำเภอใจอาจมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อประโยชน์คณะบุคคล สังคมไทยจะยังคงยินยอมมอบทรัพย์ของแผ่นดินให้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะบุคคลในสภามหาวิทยาลัยฯ หรือไม่” จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามการประชุมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาการใช้เหตุผลของสมาชิกรัฐสภา
        
       ..........................................
       

       
       

       

       [1] เสรีภาพทางวิชาการ (academic freedom) หมายความถึง  เสรีภาพของบุคคลที่จะสืบค้นพัฒนางานทางวิชาการ โดยไม่ขึ้นต่อความคิดเห็นหรือความเชื่อหรือการบังคับบงการของใคร
       

       

       [2] ความเป็นอิสระ (autonomy) หมายถึง ความเป็นอิสระอย่างสมเหตุสมผล (reasonable autonomy) ไม่ใช้ความอิสระในการใช้อำนาจตามอำเภอใจ
       

       

       [3] ปฐม มณีโรจน์, วิวัฒนาการและความเป็นอิสระของการจัดการอุดมศึกษาของไทย ใน”อำนาจอิสระของการบริหารมหาวิทยาลัยไทย” สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย,  ตุลาคม ๒๕๔๕, หน้าที่ ๒-๗๒.
       

       
       

       [5] หนังสือที่ ศธ.๐๕๐๙.๖(๑.๔)/ว ๑๔ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๐ เรื่องการเสนอร่างพระราชบัญญัติในกำกับของรัฐ
       

       

       [6] มาตรา ๓๖ “ให้สถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเป็นนิติบุคคล และอาจจัดเป็นส่วนราชการ หรือเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ยกเว้นสถานศึกษาเฉพาะทางตามมาตรา ๒๑
                               ให้สถานศึกษาดังกล่าวดำเนินกิจการได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้นๆ”
       

       

       [7] มาตรา ๓ (วรรคสุดท้าย) แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ความว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม”
       

       

       [8] หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์   ใน http:// www.enlightened-jurists.com
       

       

       [9] มาตรา ๕๘ ความว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน”
       

       

       [10] มาตรา ๕๗ “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
                               การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ”
       

       

       [11] มาตรา ๕๙ “บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันรวดเร็ว”
       

       

       [12] มาตรา ๖๐ “บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น”
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544