หน้าแรก บทความสาระ
ความไม่เสมอภาคในการขอวีซ่า
คุณชำนาญ จันทร์เรือง มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
30 มิถุนายน 2556 20:52 น.
 
โดยปกติแล้วการเดินทางเข้าออกประเทศต่างๆที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะต้องมีการตรวจลงตราหนังสือเดินทางซึ่งเรียกง่ายๆว่าการขอวีซ่านั่นเอง ซึ่งไม่รวมผู้ที่เดินทางผ่านแดนชั่วคราวและผู้ที่เข้าออกประเทศโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ผู้ลักลอบเข้าเมือง เป็นต้น
       
       การขอวีซ่านั้นมีทั้งขอไปจากประเทศต้นสังกัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่หรือไปขอเมื่อเดินทางไปถึงซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Visa on arrival นั่นเอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงหรือการเสนอให้แต่ฝ่ายเดียวของของประเทศปลายทางด้วยเหตุผลหลายอย่าง อาทิ อยากได้เงินเขาจากการท่องเที่ยว หรือ ด้วยภาระจำยอมที่ถูกบังคับกลายๆด้วยเหตุที่เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาเขาหรืออยู่ภายใต้อารักขาของเขา ฯลฯ
       
       ในเรื่องของการขอวีซ่านั้นสำหรับผู้ที่ถือหนังสือเดินทางการทูต หนังสือเดินทางราชการหรือผู้ที่มีเงินฝากอยู่ในบัญชีออมทรัพย์เป็นถังๆคงไม่ค่อยมีประสบการณ์อันยุ่งยากในการขอวีซ่าเท่าไหร่นัก เพราะหนังสือเดินทางบางประเภทเช่นหนังสือเดินทางการทูตหรือหนังสือเดินทางราชการมักจะได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษในหลายๆประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่าจากต้นทาง และผู้ที่มีเงินเป็นถังๆในบัญชีออมทรัพย์เลขแปดหลักเก้าหลักก็มักจะผ่านฉลุย แต่ประชาขนคนไทยโดยทั่วไปแล้วการขอวีซ่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากค่อนข้างมาก เพราะนอกจากจะต้องหาหลักทรัพย์หรือหลักฐานต่างๆไปยืนยันต่อสถานทูตแล้วยังต้องไปเผชิญกับการดูถูกเหยียดหยามจากเจ้าหน้าทีสถานทูตนั้นๆอีก ประหนึ่งว่าการไปขอวีซ่าประเทศนั้นจะขอไปตายในประเทศนั้นเสียนี่กระไร
       
       การดูถูกเหยียดหยามจากเจ้าหน้าที่สถานทูตที่เป็นคนต่างด้าวนั้นก็แย่พอแล้ว แต่การดูถูกจากคนไทยกันนั้นแย่เสียยิ่งกว่าเพราะเป็นสิ่งสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจใฟ้แก่คนไทยด้วยกันเสียยิ่งนัก แล้วที่สำคัญก็คือระยะเวลาของวีซ่าที่ได้(หากได้รับความเมตตาปราณี)ก็ช่างสั้นเสียกระไร
       
       แต่เมื่อหันกลับไปดูกรณีของคนต่างชาติที่ได้รับปฏิบัติหรือสิทธิพิเศษจากไทยเราจะเห็นได้ว่ามีจำนวนมากกว่าสิทธิพิเศษที่เราได้รับมากมายนัก ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไหนว่าแต่ละประเทศที่เป็นเอกราชมีอธิปไตยเหมือนกันแต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เสียแล้ว ผู้คนจากประเทศต่าง เช่น ออสเตรเลีย/ออสเตรีย/บราซิล/บาห์เรน/บรูไน/แคนาดา/เดนมาร์ก/ฟินแลนด์/อินโดนีเซีย/ไอร์แลนด์/อิสราเอล/อิตาลี/คูเวต/ลักเซมเบิร์ก/เกาหลี/มาเลเซีย/โมนาโก/เนเธอร์แลนด์/นอร์เวย์/โอมาน/เปรู/ฟิลิปปินส์/โปรตุเกส/การ์ตา/สิงคโปร์/สเปน/แอฟริกาใต้/สวีเดน/สวิส/ตุรกี/สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์/สหราชอาณาจักร์บริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ/สหรัฐอเมริกา/เวียดนาม/เช็ก/ฮังการี/ญี่ปุ่น/ลิกเตนสไตน์/โปแลนด์/สโลวัก/สโลเวเนีย ฯลฯ นั้นได้รับสิทธิพิเศษที่สามารถขอวีซ่าเมื่อมาถึงประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขอจากต้นทาง และบางส่วนก็กลายมาเป็นพวกซำเหมาหรือไม่ก็เป็นมาเฟียตามเมืองท่องเที่ยวทั้งหลายที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองและสุจริตชนคนไทยทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง
       
       ส่วนประเทศที่คนไทยสามารถเดินทางไปโดยไม่ต้องขอวีซ่าจากต้นทางคือประเทศไทยเรามีเพียง อาร์เจนตินา/บราซิล/ชิลี/เกาหลีใต้/เปรู/เอกวาดอร์/ฮ่องกง/อินโดนีเซีย/ลาว/มาเก๊า/มองโกเลีย/มาเลเซีย/มัลดีฟส์/รัสเซีย/สิงคโปร์/แอฟริกาใต้/เวียดนาม/เซเซลส์/ตุรกี(ตั้งแต่ปี2555)/ฟิลิปปินส์/บาห์เรน/บรูไน/กัมพูชา ฯลฯ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นประเทศในอาเซียนด้วยกันเองอยู่แล้ว
       
       แต่เมื่อหันไปดูประเทศต่างๆเหล่านี้เมื่อพีไทยเราจะเดินทางไปบ้างกว่าจะได้วีซ่านั้นแสนสาหัส ที่ขึ้นชื่อในความยากก็ คือ
       
       สหรัฐอเมริกา - ยากไม่ยากก็ขนาดโน๊ตอุดมเอาไปทำเป็นทอล์คโชว์ล้อเลียนขายดิบขายดีจนผลิตแทบไม่ทัน
       
       สเปน - จะยุ่งยากมากหากไปเหยียบแผ่นดินสเปนเป็นประเทศแรก แต่หากเป็นวีซ่าเชงเกนลงประเทศอื่นก่อนเข้าสเปนก็แล้วไป แต่หากไปเริ่มขอที่สถานทูตสเปนนั้นบอกได้อย่างเดียวว่ายากเย็นแสนเข็ญ และกว่าจะได้ก็ก่อนเครื่องบินออกแทบจะทุกที ที่เจ็บปวดก็คือให้มาแล้วบางทียังผิดๆถูกๆไม่ครอบคลุมระยะเวลาเดินทางตามตั๋วเครื่องบินที่ทางเจ้าหน้าที่สถานทูตสเปนขอไปดูแล้วดูอีกเสียอีก ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่วเพราะเหตุแห่งความไม่รอบคอบของเจ้าหน้าที่ หากสถานทูตสเปนต้องการข้อมูลผมก็ยินดีให้ เพราะผมประสบด้วยตนเองมาสดๆร้อนๆ แต่โชคดีที่ได้เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในลิสบอน โปรตุเกส ที่ผมและคณะรวม 10 คนต้องเดินทางไปประชุมต่อได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดียิ่งซึ่งผมและคณะขอขอบคุณอย่างสูงมา ณ ที่นี้
       
       ญี่ปุ่น - ดีหน่อยที่ประกาศออกมาแล้วว่าจะให้วีซ่าท่องเที่ยวแก่คนไทยเมื่อไปถึงได้แล้ว แต่เดิมนั้นต้องไปเข้าคิวกันตีสามตีสี่ เข้าใจว่าคงเป็นด้วยต้องการเงินจากพี่ไทยเราให้ไปช็อปปิงแข่งกับเกาหลีที่คนไทยไปช็อปกันกระจายมาแล้ว ฯลฯ
       
       เรื่องดังกล่าวข้างต้นนี้ถูกปล่อยปะละเลยมานานเพราะผู้ที่มีอำนาจในการแก้ไขไม่ได้รับความเดือดร้อนเช่นที่ว่านี้เพราะเป็นผู้ได้รับความสะดวกสะบายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ในการออกกฎออกระเบียบต่างๆที่จะใช้บังคับแก่ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยหรือผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นข้าราชการที่ได้รับสิทธิพิเศษจนไม่ได้รู้ถึงความทุกข์ยากของพี่น้องร่วมชาติทั้งหลาย
       
       จริงอยู่เราคงไม่สามารถไปบังคับให้ต่างประเทศเขาผ่อนคลายหรือยกเว้นกฎระเบียบที่จะใช้กับคนไทยเราเพราะเป็นเอกสิทธื์ของแต่ละประเทศเขา แต่ที่เราจะทำได้ก็คือเราต้องให้ประชาชนคนไทยได้มีความรู้สึกถึงความเท่าเทียมและมีเกียรติมีศักดิ์ศรีกับนานาอารยประเทศทั้งหลาย
       
       ฉะนั้น ผมจึงเรียกร้องและผมเชื่อว่าหลายๆคนที่ประสบกับความขมขื่นในการปฏิบัติดังกล่าวนี้คงเห็นด้วยกันกับผมว่า เมื่อประเทศอื่นปฏิบัติกับคนไทยเราเช่นใดเราก็ควรที่จะปฏิบัติต่อคนชาตินั้นเช่นเดียวกับเรา ไม่ต้องกลัวหรอกครับว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะหดหาย เพียงแต่เราจัดระบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าที่สถานทูตหรือสถานกงสุลไทยให้ดีเขาก็จะมาเอง อาจจะลำบากขึ้นบ้าง ก็ประเทศของเอ็งปฏิบัติกับคนไทยเราไม่ดีเองก่อนนี่หว่า
       
       ผมไม่ใช่คนที่คลั่งชาติหรือชาตินิยมจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น แต่อยากเห็นการปฏิบัติที่ทัดเทียมกันเท่านั้นเอง พรรคการเมืองไหนมีนโยบายเช่นนี้ช่วยบอกมาที ผมจะเลือกพรรคการเมืองนั้นครับ
       
       --------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544