หน้าแรก บทความสาระ
ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบราชการสมัยใหม่ (Modern Bureaucracy) กับการจัดทำบริการสาธารณะ
คุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล บัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
30 มิถุนายน 2556 20:52 น.
 
ระบบราชการสมัยใหม่นั้น แนบอิงอยู่กับฐานคิดของระบบการโครงสร้างองค์การในอุดมคติอันเป็นระบบซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและมีเหตุมีผลของ Max Weber โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการที่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ เช่น มีโครงสร้างอำนาจหน้าที่ มีลำดับชั้นการบังคับบัญชา มีกฎระเบียบที่เจาะจง การจ่ายค่าชดเชยบนพื้นฐานสัญญาที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์และการควบคุมของหน่วยงาน หรือมีความเป็นทางการ สิ่งเหล่านี้ในทางปฏิบัติได้ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญอย่างยิ่งที่ขัดแย้งในตัวของมันเองและสะท้อนออกมาในรูปของการจัดบริหารสาธารณะที่ไร้ประสิทธิภาพอันตรงข้ามกับสิ่งที่ Weber วาดฝันไว้
                   ในที่นี้ ผมจะกล่าวถึง 2 ประเด็นสำคัญที่เห็นได้ชัดจากโครงสร้างดังกล่าว ได้แก่ ความผิดปกติในการปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการ (Dysfunctions in Bureaus) และความไม่ยืดหยุ่นของระบบราชการ (Bureaucracy as Rigidity)
        
       ความผิดปกติในการปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการ(Dysfunctions in Bureaus)
                   ปัญหาความผิดปกติในการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการที่สำคัญอันหนึ่งซึ่งสะท้อนมากจากโครงสร้างของระบบราชการสมัยใหม่ คือ ความสัมพันธ์กันระหว่างวิธีการ (means) กับ เป้าหมาย (ends)  เริ่มจากการที่หน่วยงานราชการมีวิธีการที่สนับสนุนให้เกิดเป้าหมายแก่สังคมภายนอก แต่ผลที่ได้จะเกิดขึ้นภายในหน่วยงานราชการเอง หรือในกรณีที่หน่วยงานราชการปฏิบัติกับวิธีการในฐานะเป็นเป้าหมายไปในตัว สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการที่หน่วยงานราชการไม่เข้าใจเป้าหมายในการบริการสาธารณะอันมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเรียกร้องในหน่วยงานราชการดำเนินการตามวิธีการอย่างคร่ำเคร่งมากเกินไป
                   ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ การปฏิบัติงานด้วยความรู้เฉพาะด้านในองค์การแบบราชการ ส่งผลให้มีผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น  สิ่งที่ตามมาคือองค์การต้องพึ่งพาคนเหล่านี้ อันจะทำให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้กลายเป็นผู้ครอบครององค์การในเวลาต่อมา อันอาจส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างอำนาจของผู้บริหารกับความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในระบบราชการ
                   ที่สำคัญคือ โครงสร้างดังกล่าวอาจทำให้ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาได้ เนื่องจากองค์การประกอบด้วยกลุ่มของปัจเจกบุคคลหลายกลุ่ม ซึ่งมีผลประโยชน์และเป้าหมายต่างกัน และจะเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน  ดังนั้น จึงยากที่จะให้คนในองค์การมุ่งต่อเป้าหมายที่เป็นที่ยอมรับของทุกกลุ่ม จึงกล่าวได้ว่าคุณลักษณะขององค์การแบบราชการ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของปัจเจกชน ในการปฏิบัติงานในองค์การ ดังนั้น รูปแบบไม่เป็นทางการ (Informal) จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จขององค์การได้มากกว่าคุณลักษณะความเป็นทางการของตัวแบบ Weber
        
       ระบบราชการกับความไม่ยืดหยุ่น  (Bureaucracy as Rigidity)
                   ลักษณะขององค์การแบบราชการนั้นไม่มีความยืดหยุ่นหรือ ‘แข็งตัว’  (rigidity)  พิจารณาจากการที่ระบบราชการมีกฎ/ระเบียบที่ตายตัวและเป็นทางการในการปฏิบัติงานประจำ (routine) ทำให้ระบบราชการมีลักษณะเป็นงานประจำ มีความล่าช้า (red tape) ไม่มีความสามารถในการตอบสนองและรับผิดชอบต่อความต้องการของสาธารณะอันหลากลาย ที่สำคัญมีกระบวนการที่ซับซ้อนและยุ่งเหยิง
                   ทั้งนี้  ผมมองว่าความไม่ยืดหยุ่นในหน่วยงานราชการ  สามารถแบ่งเป็น  2  ลักษณะ กล่าวคือ ลักษณะที่ยังเป็นความแข็งตัวแบบธรรมดา (normal) เช่น การที่หน่วยงานราชการมีขนาดใหญ่จากการเป็นองค์การที่เก่าแก่ และลักษณะที่แข็งตัวแบบไม่ธรรมดา (abnormal) คือ การที่องค์การราชการเข้าสู่วงจรความไม่ยืดหยุ่นหรือเรียกว่า  โรคแข็งกระด้าง  (ossification  syndrome)
                   การที่องค์การราชการไม่มีความยืดหยุ่น ทำให้เกิดลักษณะอนุรักษ์นิยม (Conservative)  เปรียบเสมือนว่าองค์การได้ตายแล้ว และเมื่อไหร่ก็ตามที่องค์การเข้าสู่วงจรดังกล่าว เมื่อนั้นองค์การจำต้องปรับเปลี่ยนใหม่ (reorganization) อันนำไปสู่การปฏิรูประบบราชการและสร้างปัญหารูปแบบใหม่ในอีกลักษณะหนึ่ง
        
       ผลผลิตจากระบบในฐานะบริการสาธารณะอันไร้ซึ่งประสิทธิภาพ
                 จากปัญหาของหน่วยงานราชการอันมาจากโครงสร้างข้างต้น ได้ก่อให้เกิดบริการสาธารณะที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะหน่วยงานราชการมัวแต่คำนึงถึงหลักการปฏิบัติในการปฏิบัติงาน ตลอดจนพุ่งความสนใจเพียงแค่การปฏิบัติงานในองค์การของตน อันขัดแย้งกับรูปแบบการบริหารงานที่คำนึงถึงสาธารณะจริงๆ เนื่องจากการทำงานโดยมุ่งผลเพื่อประโยชน์สาธารณะ (public interest) จำเป็นต้องคำถึงถึงคุณค่า (value) ประการอื่นๆด้วยนอกเหนือจากการปฏิบัติงานเพื่อให้ถูกต้องตามกฎระเบียบโดยที่ไม่สนใจความต้องการอันแท้จริงและหลากหลายของสาธารณะ ดังนั้น เมื่อโครงสร้างของระบบราชการไม่ได้ ตั้งต้นจากการตอบสนองคุณค่าทางสาธารณะแล้ว การจัดโครงสร้างองค์การของระบบราชการย่อมเป็นปัญหากับการจัดทำบริการสาธารณะแน่นอน
                   ดังนั้น เมื่อระบบราชการสมัยใหม่มีปัญหาในตัวเอง ผลผลิตของระบบที่ออกมานั้นย่อมต้องไม่มีประสิทธิภาพเป็นแน่ อีกทั้งยังมิอาจตอบสนองหรือบรรลุเป้าหมายทางสาธารณะอีกด้วย ทางที่ดีระบบราชการควรตั้งต้นจากชนิดของคุณค่าสาธารณะ (public value) และออกแบบโครงสร้างตลอดจนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับคุณค่านั้น เพื่อให้ระบบราชการสามารถจัดบริการสาธารณะร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ได้ และไม่เป็นปัญหาเสียเอง


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544