หน้าแรก บทความสาระ
ปฏิรูปอะไร ปฏิรูปอย่างไร
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
23 กุมภาพันธ์ 2557 21:05 น.
 
เราปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสปฏิรูปได้ถุกจุดติดขึ้นแล้ว จะมากหรือน้อย จะช้าหรือเร็วจะต้องมีการปฏิรุป เพราะข้อเสนอมาจากทั้งฝ่าย กปปส.และฝ่ายรัฐบาล แต่ข้อเสนอของแต่ละฝ่ายจะเป็นไปอย่างจริงจังและจริงใจแค่ไหน หรือจะเป็นเพียงวาทกรรมที่สวยหรูเพื่อสร้างความนิยมให้แกฝ่ายตนเองเท่านั้น ซึ่งระยะเวลาและการกระทำจะเป็นเครื่องพิสูจน์
       การเสนอปฏิรูปประเทศไทยเรานั้น มีผู้เสนอมามากมายไม่ว่าจะเป็นโดยคณะรัฐประหารซึ่งตั้งชื่อคณะของตนเองว่าคณะปฏิรูปเพื่อปิดบังความน่าเกลียดของการรัฐประหารก็มีมาแล้วหลายคณะ ล่าสุดก่อนปรากฏการณ์ม็อบ กปปส.เกิดขึ้น ก็มีคณะกรรมปฏิรูปประเทศที่อดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และสมัชชาปฏิรูปประเทศที่มีหมอประเวศ วสี เป็นประธาน หมดเงินไปหลายร้อยล้านบาท แต่ข้อเสนอของทั้งสองคณะก็ยังไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติแต่อย่างใด
       จวบจนเกิดปรากฏการณ์ม็อบ กปปส.เกิดขึ้น มีการเสนอหลัก 6 ประการเพื่อปฏิรูปประเทศขึ้นภายหลังจากที่มีการชุมนุมคัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรมไปทั่วประเทศและต่อเนื่องมาจนเป็นการไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ออกจากตำแหน่งแม้ว่าจะยุบสภาไปแล้วก็ตาม โดยบีบให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องออกจากการรักษาการแล้วตั้งหาคนกลางมาเป็นรัฐบาลพร้อมกับตั้งสภาประชาชนขึ้นมาปฏิรูปเสียก่อนแล้วจึงค่อยมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งรัฐบาลก็ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่าไม่สามารถทำได้
       นับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยังยืนยันในความเชื่อของตนว่าถูกต้อง โดยไม่อาจคาดเดาได้ว่าใครจะเป็นผู้กำชัยชนะ สถานการณ์บ้านเมืองจึงเกิดภาวะตึงเครียดที่สุดนับแต่ผู้คนร่วมสมัยจะจำความได้
       ในขณะเดียวกันต่างฝ่ายต่างแย่งกันเสนอโมเดลของการปฏิรูปทั้งจากฝ่าย กปปส.ที่เสนอหลัก 6 ประการ ที่สร้างความฮือฮาด้วยการเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและให้ตำรวจมาขึ้นกับท้องถิ่น ฯลฯ เล่นเอากระบวนการขับเคลื่อนในเรื่องจังหวัดจัดการตนเองทั้งดีใจและตกใจ ที่ว่าดีใจก็คือประเด็นนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเสนออย่างดังสนั่นหลังจากที่ขับเคลื่อนกันมาอย่างไม่หวือหวามากนักแต่ก็มีแนวร่วมถึง 45 จังหวัด ที่ว่าตกใจก็คือแม้ว่าจะเห็นด้วยในเนื้อหาแต่ก็เกรงว่ากระบวนการนี้จะถูกเหมารวมไปเป็นกลุ่มเดียวกับ กปปส.ไปด้วย เพราะที่ผ่านมากระบวนการจังหวัดจัดการตนเองได้รับการยอมรับว่าเป็นที่รวมของคนหลากหลายและทุกสีเสื้อไม่ว่าสีเหลืองหรือสีแดงหรือไม่มีสี
       ส่วนฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องพูดถึง มีการเสนอขายไอเดียเป็นรายสัปดาห์ มีแม้กระทั่งเสนอรูปแบบสภาสนามม้าในอดีต แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับเพราะใครๆก็รู้ว่าเป็นการเสนอเพื่อแก้เกมการเมืองเฉพาะหน้าเท่านั้นเอง ก็เลยต้องพับใส่กระเป๋าไป
       ส่วนนักวิชาการนั้นเล่า ต่างมีการแย่งชิงกันเสนอไอเดียกันอย่างมากมาย มีทั้งในตำรา นอกตำรา ยกทฤษฎีการเมืองและประวัติศาสตร์การเมืองมาสนับสนุนความคิดของตนเอง ที่น่าขันก็คือทฤษฎีหรือประวัติศาสตร์การเมืองอันเดียวกันแต่นักวิชาการต่างขั้วต่างก็เสนอไปในแนวทางต่างกันลิบลับ ไม่ว่าจะเป็นสำนักฝรั่งเศส สำนักเยอรมัน ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถนำมายกตัวอย่างได้หมด ทั้งนี้ รวมไปถึงกลุ่มนักธุรกิจหรือกลุ่มผลประโยชน์ทั่วไปต่างก็เสนอความคิดเห็นในเรื่องการปฏิรูปกันอย่างหลากหลายซึ่งล้วนแล้วแต่มาสนับสนับสนุนความเชื่อและผลประโยชน์ของตนเอง
       ปฏิรูปอะไร
       ผมถูกถามคำถามนี้อยู่เสมอ และผมจะตอบอยู่เสมอเช่นกันว่า ต้องถามประชาชนเพราะประชาธิปไตยนั้นอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน กปปส., รัฐบาล, นักวิชาการ, นักธุรกิจ, องค์กรวิชาชีพ, ข้าราชการ, ศาล, ทหาร, รัฐบุคคล(ศัพท์ใหม่ล่าสุด) ฯลฯ ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ การปฏิรูปไม่ว่าจะโดยใครก็ตามจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย “ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็ย่อมเอื้อแก่ชนชั้นนั้น” สิ่งที่เราว่าดีมีประโยชน์หรือต้องการปฏิรูปประชาชนเขาอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ เขาอาจจะบอกว่าไม่ต้องมาทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี”มาจัดการให้เขา
       เขาอาจจะต้องการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากระบบเสรีไปเป็นสังคมนิยม หรือเปลี่ยนแปลงจากระบบประกันราคาข้าวหรือจำนำข้าวไปเป็นราคาลอยตัวเลยก็ได้ใครจะรู้ หรือแม้แต่ระบบการศึกษาก็เช่นเดียวกันประชาชนเขาอาจจะอยากกลับไปใช้ระบบแบบเดิมๆหรืออาจจะต้องการระบบใหม่เอี่ยมที่ไม่ต้องไปโรงเรียนแต่เรียนอยู่กับบ้านก็ได้ หรืออาจจะต้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นอันดับแรกก็ได้เพราะเขาได้รับผลกระทบโดยตรงจากความไม่ยุติธรรมหรือถูกละเมิดสิทธิอยู่เสมอๆ หรือเขาอาจจะไม่สนใจว่าจะมีหรือไม่มีวุฒิสภาหรือองค์กรอิสระเลยก็ได้ ฯลฯ ซึ่งใครจะรู้ดีกว่าตัวประชาชนเอง
       ปฏิรูปอย่างไร
       สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นหน้าที่ของพวกเราจะช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรจะสามารถนำความต้องการหรือเนื้อหาสาระว่าจะปฏิรูปอะไรได้ด้วยวิธีการใด รูปแบบที่แต่ละฝ่ายที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นจากฝ่าย กปปส.หรือรัฐบาลหรือนักวิชาการ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน และไปเหมารวมการปฏิรูปอะไรกับปฏิรูปอย่างไรเข้าไปด้วยกัน
       วิธีที่ผมเห็นว่าเข้าท่าที่สุดเท่าที่สดับตรับฟังมาจากวงสนทนาและสามารถกล่าวได้ว่ามีความยึดโยงกับประชาชนในทุกพื้นที่ก็คือ การเริ่มต้นจากการคัดตัวแทนจากหมู่บ้านทุกหมู่บ้านจากทั่วประเทศหมู่บ้านละ 3-5 คนแล้วแต่ขนาดของหมู่บ้านแล้วนำไปคัดในระดับตำบลโดยให้เลือกกันเองให้เหลือตำบลละ 3-5 คนเช่นกัน แล้วก็ไปคัดในระดับอำเภอละ 3-5 คนเช่นกัน แต่เมื่อถึงระดับจังหวัดจำนวนก็คงขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ซึ่งในชั้นนี้น่าจะถือจำนวนผู้แทนหรือ ส.ส.เป็นหลักไว้ก่อน แล้วนำทุกจังหวัดมารวมกันเป็นสภาปฏิรูปหรือจะเรียกว่าสภาประชาชนก็สุดแล้วแต่ หรือหากท่านใดจะมีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้ก็ขอให้ช่วยกันนำเสนอต่อสาธารณะ
       อย่าลืมว่าการปฏิรูปมีหลายประเด็น หลายมิติ ไม่มีทางที่จะสามารถปฏิรูปให้สำเร็จได้ในคราวเดียวหรือเพียงชั่วข้ามคืน อันไหนทำได้ก็ทำก่อน อันทำยากก็ค่อยๆทำ ที่สำคัญก็คือการปฏิรูปต้องทำตลอดเวลา มิใช่เพียงแต่เป็นคำหวานลมๆแล้งเพื่อสร้างคะแนนนิยมหรือการสนับสนุนให้แก่ตนเองและพรรคพวกเท่านั้น
       --------------
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544