หน้าแรก บทความสาระ
ผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญา (หน้า 2) (Preclusive Effect of the Constitutional Court Decision Ruling on a Criminal Proceeding)
อาจารย์ไกรพล อรัญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.บ. (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาฯ, นบท. (ลำดับที่ 1)
23 กุมภาพันธ์ 2557 21:05 น.
 
4.บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
                
                 ในหัวข้อก่อนหน้าเราได้ทราบแล้วว่า ถึงแม้ในสากลประเทศจะมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าไม่ควรมีการนำเอาคำพิพากษาของศาลคดีอื่นมาใช้เป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญา แต่ศาลฎีกาของประเทศไทยได้มีการสร้างบรรทัดฐานยอมรับเอาคำพิพากษาคดีอื่นมาใช้เป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาด้วย โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ซึ่งนำมาใช้ในคดีอาญาผ่านประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 อย่างไรก็ตาม แนวบรรทัดฐานที่ศาลฎีกายอมรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นนั้น คำพิพากษาของคดีอื่นต้องเป็นคำพิพากษาของศาลคดีแพ่งซึ่งถูกจัดอยู่ในประเภทศาลยุติธรรมเช่นเดียวกันกับศาลคดีอาญาด้วย หากคำพิพากษาของศาลคดีอื่นเป็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นศาลคนละประเภทกับศาลคดีอาญา ไม่ปรากฏว่ามีแนวบรรทัดฐานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ในหัวข้อนี้จะนำศึกษาว่า ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายลายลักษณ์อักษรของประเทศไทย มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ศาลคดีอาญาจะรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีเป้าหมายการศึกษาอยู่ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เป็นหลัก เพราะบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวถือเป็นบทบัญญัติที่มีปัญหาและมีความเป็นไปได้ที่จะถูกนำมาใช้อ้างอิงเพื่อนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญา ดังรายละเอียดต่อไปนี้
                 (ก) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า
                 ความผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อองค์กรอื่นๆได้ถูกกำหนดเอาไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคห้า ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ”โดยเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรานี้ก็เพื่อต้องการยืนยันและรักษาหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเอาไว้นั่นเอง[1]
                 สำหรับความหมายของคำว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด” นั้นหมายถึง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่สามารถถูกตรวจสอบโดยศาลอื่นได้ ซึ่งก็เป็นไปตามสภาพของศาลรัฐธรรมนูญเองอยู่แล้วที่มีเพียงศาลเดียว ศาลอื่นไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องในทางกฎหมายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งคู่ความในคดีก็ไม่สามารถอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปยังองค์กรอื่นได้อีกด้วย[2]
                 ส่วนความหมายของคำว่า “มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ” มีข้อพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับบทความฉบับนี้ว่า ผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อศาลนั้นมีขอบเขตมากน้อยเพียงไร? โดยคำว่า “ศาล” ย่อมหมายความรวมถึงศาลทุกประเภทที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเหตุนี้ ศาลยุติธรรมจึงตกอยู่ภายใต้ความผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วยอย่างแน่นอน
                 อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญส่วนใดบ้างที่จะมีผลผูกพันศาลยุติธรรม? เพราะในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมประกอบไปด้วยส่วนของข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เหตุผลประกอบการวินิจฉัย รวมถึงพลความอื่นๆที่ปรากฏในคำวินิจฉัยอีกด้วย ซึ่งในที่นี้เห็นว่า บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคห้า ไม่ได้กำหนดความหมายและขอบเขตของคำว่า “ผูกพัน” เอาไว้เลยว่าองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญจะต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในส่วนใดบ้าง ดังนั้น การตีความว่าส่วนใดของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกพันศาลยุติธรรมบ้างนั้น จึงต้องพิจารณาประกอบกับข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอื่นๆด้วย โดยในประเด็นนี้ได้มีนักวิชาการแสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า[3]“…..โดยหลักทั่วไปศาลยุติธรรมย่อมถูกผูกพันต่อผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและเหตุผลอันเป็นสาระสำคัญของคำวินิจฉัยในเรื่องนั้นๆ แต่กระนั้นก็ตาม ศาลยุติธรรมมิได้ผูกพันอย่างเด็ดขาดสมบูรณ์ไม่ เพราะตามหลักวิธีพิจารณาความอาญานั้น ศาลยุติธรรมจะต้องอาศัยข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้นมาเป็นพื้นฐานในการพิพากษาคดี เนื่องจากจะต้องวินิจฉัยว่าการกระทำความผิดนั้นๆของบุคคลครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติที่เป็นฐานความผิดหรือไม่ อันเป็นการใช้อำนาจคนละกรณีกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มิได้มีอำนาจวินิจฉัยในคดีอาญาหรือคดีแพ่ง…..”
                 จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การอ้างอิงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคห้า เพื่อนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะถึงแม้บทบัญญัติในมาตรา 216 วรรคห้า จะบัญญัติเอาไว้ในลักษณะของการบังคับให้ศาลยุติธรรมต้องถูกผูกพันตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็มิได้กำหนดขอบเขตเอาไว้ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญส่วนใดบ้างที่ผูกพันให้ศาลยุติธรรมต้องวินิจฉัยตาม ดังนั้น การกล่าวอ้างว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 216 วรรคห้า บังคับให้ศาลยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลที่พิจารณาคดีอาญาต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่เกินเลยและปราศจากเหตุผลที่ดีในการรองรับ
       

          (ข) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145
       

          จากการศึกษาลักษณะการนำเอาข้อเท็จจริงในคดีอื่นมาใช้ในคดีอาญาตามแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาไทยพบว่า ทุกครั้งที่ศาลฎีกาจะนำเอาคำพิพากษาคดีอื่นมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญามศาลฎีกาจะอ้างอิงถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เสมอ ซึ่งศาลฎีกานำเอามาใช้กับคดีอาญาโดยผลของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546, 5175/2547 และ 2396/2554 ดังนั้น จึงน่าจะมีช่องทางให้ศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีอาญารับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยอ้างอิงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั่นเอง
       อย่างไรก็ตาม ในการที่ศาลอาญาจะนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ในคดีอาญาในฐานะบทตัดสำนวน โดยอ้างอิงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ผู้เขียนเห็นว่าไม่สามารถทำได้ เพราะบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ที่บัญญัติว่า “…..คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง…..”นั้น ความหมายของคำว่า “ศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 หมายความถึงศาลยุติธรรมด้วยกันเท่านั้น ตามความหมายที่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(1) ที่บัญญัติว่า “ศาล หมายความว่า ศาลยุติธรรม……” ด้วยเหตุนี้ การที่ศาลอาญาจะนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ผ่านช่องทางของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 นั้น จะทำได้ต่อเมื่อศาลที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเอาไว้ก่อนหน้าเป็นศาลยุติธรรมด้วยกันเท่านั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่อยู่ในความหมายนี้ และไม่มีบทบัญญัติที่บังคับให้ศาลยุติธรรมต้องถือข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีอาญาก็ย่อมไม่มีอำนาจที่จะนำเอาข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยเอาไว้โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ในคดีอาญาได้
       

กล่าวโดยสรุป ถึงแม้ศาลยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลอาญาจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่มีความเกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยเอาไว้แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใดมาบัญญัติบังคับให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะต้องถูกผูกพันโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งศาลยุติธรรมยังไม่อาจนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 มาใช้ในคดีอาญาเพื่อเป็นช่องทางในการนำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ในคดีอาญาได้อีกด้วย เพราะศาลตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 หมายความถึงศาลยุติธรรมเท่านั้น
       

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาเป็นยุติตามที่ได้มีการวินิจฉัยเอาไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีฐานอำนาจที่ชัดเจนตามกฎหมายให้สามารถทำได้ เนื่องจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า ที่ถูกอ้างอิงว่าเป็นบทบังคับให้ศาลยุติธรรมต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามนั้น แท้จริงเมื่อศึกษาแล้วพบว่ายังมีความคลุมเครืออยู่มาก ดังนั้น การตีความว่าส่วนประกอบใดของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีผลผูกพันศาลที่พิจารณาคดีอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของข้อเท็จจริง จึงจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยด้านอื่นประกอบอีกด้วย ในหัวข้อต่อไปจะนำศึกษาถึงข้อที่ควรต้องคำนึงถึงก่อนตัดสินใจว่าควรมีการนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ในคดีอาญาหรือไม่
       

 
       

5. ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการรับฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญา
        
                               เราทราบแล้วว่าบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ไม่สามารถใช้เป็นช่องทางในการนำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ในคดีอาญาได้ ส่วนในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า ที่ถูกอ้างอิงว่าเป็นบทบังคับให้ศาลยุติธรรมต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามนั้นยังมีความคลุมเครืออยู่มาก และก่อให้เกิดการถกเถียงในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง ดังนั้น ในหัวข้อนี้จะนำเสนอปัจจัยแวดล้อมอื่นๆที่ควรนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจว่าศาลอาญาควรรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งปัจจัยแวดล้อมที่ควรนำมาพิจารณามีดังต่อไปนี้
                 (ก) การสร้างความเป็นเอกภาพในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาล (To Promote the Unification of Judgment)ปัจจัยข้อนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนการนำเอาข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นยุติในคดีอาญา กล่าวคือ ศาลยุติธรรมและศาลรัฐธรรมนูญต่างเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญจัดให้อยู่ในหมวดของศาลด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น มาตรฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงของทั้งสองศาลควรเหมือนกัน และไม่ควรเกิดกรณีที่ศาลยุติธรรมและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อเท็จจริงขัดแย้งกันเองอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาในมาตรฐานของผู้อำนวยความยุติธรรม การนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นยุติ หรือรับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาจะช่วยสร้างเอกภาพให้กับการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของทั้งสองศาล และป้องกันการเกิดข้อครหาในมาตรฐานการอำนวยความยุติธรรมในหมู่ประชาชนได้เป็นอย่างดี
                 (ข) การป้องกันการดำเนินคดีซ้ำซ้อนในข้อเท็จจริงเดียวกัน (To Prevent Re-litigation)ปัจจัยข้อนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนการนำเอาข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นยุติในคดีอาญา กล่าวคือการนำหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดีมาใช้ ถือเป็นการตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะในแง่ที่ว่า การดำเนินคดีอาญาจะต้องมีจุดสิ้นสุด (Interest reipublicae ut sit finis litium) และบุคคลไม่ควรถูกฟ้องถึงสองครั้งในเหตุเดียวกัน (Nenodebetbisvexari pro eadam cause) ด้วยเหตุนี้ ในข้อเท็จจริงอันเป็นมูลกรณีเดียวกัน (Same Cause of Action)[4]หากปล่อยให้มีการดำเนินคดีในศาลรัฐธรรมนูญครั้งหนึ่งแล้ว และในภายหลังมีการนำเอาข้อเท็จจริงเดียวกันนั้นมาฟ้องร้องเป็นคดีความต่อศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีอาญาอีกครั้งหนึ่ง ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเดียวกันถูกพิจารณาถึง 2 ครั้ง อันเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนกันถึงสองครั้งในข้อเท็จจริงเดียวกันอย่างชัดเจน ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้จะทำให้การดำเนินคดีอาญาไม่มีจุดสิ้นสุด การนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาจะสามารถตอบสนองต่อนโยบายสาธารณะในข้อนี้ได้อย่างสมบูรณ์
                 (ค) การรักษาต้นทุนด้านเวลาและเศรษฐกิจ (To Promote Judicial Economy)ปัจจัยข้อนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนการนำเอาข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นยุติในคดีอาญา กล่าวคือการบังคับให้ศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีอาญารับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้น ส่งผลให้การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาสามารถทำได้โดยการวินิจฉัยข้อกฎหมายเพียงลำพัง ศาลอาญาไม่ต้องเสียเวลาสืบพยานเพื่อรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนคดีนั้นอีกต่อไป รวมถึงคู่ความก็ไม่จำต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่ตนกล่าวอ้าง ซึ่งเป็นการประหยัดทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และประหยัดเวลาที่ศาลและคู่ความต้องเสียไปจากการสืบพยานอีกด้วย
                 (ง.) การส่งเสริมหลักการดำเนินคดีอาญาแบบตรวจสอบ (To Promote the Examination Principle)ปัจจัยข้อนี้เป็นปัจจัยโต้แย้งการนำเอาข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นยุติในคดีอาญา กล่าวคือในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญามีหลักสำคัญอยู่ว่า การดำเนินคดีอาญาจะต้องกระทำในลักษณะของการตรวจสอบ (Examination) ซึ่งหมายความว่า องค์กรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน ต่างมีหน้าที่ต้องตรวจสอบความจริงในเรื่องที่เกิดขึ้นและต้องตรวจสอบค้นหาความจริงโดยปราศจากข้อผูกมัดใดๆ[5] ทั้งนี้ องค์กรต่างๆในคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ตกอยู่ภายใต้การดำเนินการของรัฐดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว หรือองค์กรที่เป็นอิสระ เช่น ทนายความ ต่างก็มีพันธะในการร่วมมือกันค้นหาความจริงและตรวจสอบเรื่องที่กล่าวหา เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลยด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นการยุติการค้นหาข้อเท็จจริงในคดีอาญาแล้วนำเอาข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยเอาไว้แล้วในคดีของศาลรัฐธรรมนูญมาผูกมัดแทนจึงไม่สามารถทำได้ดังเช่นในคดีแพ่ง[6]เพราะคดีอาญามีความสำคัญทั้งในแง่ของการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้ถูกกล่าวหาดังนั้น การดำเนินคดีอาญาแบบตรวจสอบจึงเป็นเหมือนหลักประกันความถูกต้องของข้อเท็จจริงในคดีอาญาได้ในระดับหนึ่ง
                 (จ) การส่งเสริมหลักการพิจารณาคดีอาญาต่อหน้าจำเลย (To Promote the Right to Confrontation)ปัจจัยข้อนี้เป็นปัจจัยโต้แย้งการนำเอาข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นยุติในคดีอาญา กล่าวคือหลักการพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยมีหลักสำคัญอยู่ว่า การพิจารณาสืบพยานในคดีอาญาจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลย และพยานหลักฐานที่ศาลจะใช้ในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจะต้องเป็นพยานหลักฐานที่ได้นำมาสืบต่อหน้าจำเลยในชั้นพิจารณาเท่านั้น เพื่อให้จำเลยมีสิทธิในการเผชิญหน้ากับพยาน (Right to Confrontation) เพราะการที่จำเลยได้มีโอกาสเผชิญหน้ากับพยานอาจทำให้พยานไม่กล้าเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยด้วยกลัวว่าอาจถูกถามค้านได้ (Cross-Examination) อนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวของจำเลยเอาไว้อย่างเด็ดขาด ทำให้จำเลยไม่สามารถสละสิทธินี้ได้ ด้วยเหตุที่กฎหมายเล็งเห็นว่าจำเลยจะต้องเป็นผู้ได้รับผลร้ายจากการดำเนินคดีอาญาแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น จึงควรให้จำเลยได้รับทราบกระบวนพิจารณาที่ดำเนินไป รวมถึงรับทราบข้อเท็จจริงทุกอย่างในคดีเพื่อประโยชน์ของจำเลยเองที่จะสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่[7]หากปล่อยให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากข้อเท็จจริงนั้นเป็นผลร้ายแก่จำเลยในคดีอาญา ย่อมละเมิดต่อสิทธิในการพิจารณาคดีอาญาต่อหน้าจำเลยซึ่งถือเป็นสิทธิตามหลักศุภนิติกระบวน (Due Process Right) ที่สำคัญมากประการหนึ่งเลยทีเดียว
                 (ฉ) การรักษาหลักการรับฟังพยานบอกเล่า (To Promote the Hearsay Rule as a Result of Exclusionary Rule) ปัจจัยข้อนี้เป็นปัจจัยโต้แย้งการนำเอาข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นยุติในคดีอาญา กล่าวคือข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลนำมาเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น จึงถูกจัดอยู่ในความหมายของพยานบอกเล่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 ได้วางบทตัดพยานบอกเล่าเอาไว้ (Exclusionary Rule)เพราะมีความเชื่อว่าพยานหลักฐานที่จะสามารถพิสูจน์ความจริงได้ดีที่สุด ต้องผ่านกระบวนการถามค้านโดยคู่ความฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับพยานหลักฐานชิ้นนั้น (Cross-Examination) การยอมให้รับฟังพยานบอกเล่าย่อมทำให้หลักการดังกล่าวเสียไป ด้วยเหตุที่พยานบุคคลที่นำมาเบิกความต่อศาลไม่ใช่ผู้ที่รู้เห็นหรือประสบเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตรง เพียงแต่ได้รับฟังข้อเท็จจริงต่อมาอีกทอดหนึ่งเท่านั้น แม้มีการถามค้านพยานบุคคลดังกล่าวก็หาได้ทำให้พยานหลักฐานดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นการตัดโอกาสในการซักค้านประจักษ์พยานเพื่อทำลายน้ำหนักคำพยานที่เบิกความต่อศาลของคู่ความฝ่ายตรงข้ามด้วย ดังนั้น การรับฟังพยานบอกเล่าจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และเป็นที่มาของบทตัดพยานบอกเล่าออกจากคดีนั่นเอง[8]จะเห็นได้ว่าลำพังเพียงการรับฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างมากเพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นพยานบอกเล่า จึงไม่มีเหตุผลหรือความชอบธรรมประการใดที่จะยอมให้มีการนำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาได้
                 จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรมีการนำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาหรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งปัจจัยที่สนับสนุนและปัจจัยที่โต้แย้งเลยทีเดียว ในหัวข้อต่อไปจะวิเคราะห์ความเหมาะสมในการนำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญา ว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร
        
       

6. วิเคราะห์การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญา
       

 
       

        จากการศึกษาเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาเป็นยุติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ทำให้ทราบถึงทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมหรือโต้แย้งการนำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาจนครบถ้วนแล้ว ดังนั้น ในหัวข้อนี้จะนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลรวมกันเพื่อวิเคราะห์ว่าการใช้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร โดยจะเริ่มจากพิจารณาจากเหตุผลของฝ่ายที่สนับสนุน ฝ่ายที่โต้แย้ง และบทวิเคราะห์ความเหมาะสมตามลำดับ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
       

          สำหรับเหตุผลของฝ่ายที่สนับสนุนการนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ในคดีอาญามองว่าเมื่อคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคดีอาญาตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเดียวกัน (Same Cause of Action) หากปล่อยให้ศาลในแต่ละคดีวินิจฉัยข้อเท็จจริงไปตามลำพังอาจก่อให้เกิดปัญหาการรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบงานและความเลื่อมใสศรัทธาในมาตรฐานการรับฟังข้อเท็จจริงขององค์กรฝ่ายตุลาการ ดังนั้น การถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะช่วยสร้างความเป็นเอกภาพในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลยุติธรรมกับศาลรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้น ซ้ำยังเป็นการช่วยประหยัดต้นทุนทางเศรษฐกิจ (Judicial Economy) จากการดำเนินคดีซ้ำกันถึงสองครั้งในข้อเท็จจริงเดียวกัน (Re-litigation) ได้อีกด้วย
       ส่วนเหตุผลของฝ่ายที่โต้แย้งการนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ในคดีอาญามองว่า การดำเนินคดีอาญาควรจะต้องเป็นไปตามหลักการดำเนินคดีแบบตรวจสอบ (Examination Principle) ซึ่งศาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริงแห่งคดีอย่างเต็มที่โดยปราศจากข้อผูกมัดใดๆทั้งสิ้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดมาใช้ในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย หากศาลในคดีอาญาจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะในทางที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่จำเลย ย่อมทำให้ศาลคดีอาญาขาดความเป็นอิสระในการแสวงหาข้อเท็จจริงเฉพาะคดี เพราะถูกผูกมัดให้ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ หากเป็นในประเทศที่ใช้ระบบการพิจารณาคดีแบบลูกขุนจะมองว่า จำเลยในคดีอาญามีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาจากลูกขุน (Right to a Jury Trial) และมีสิทธิที่จะได้เผชิญหน้ากับพยานในคดีอาญา (Right to Confrontation of Witnesses) ดังนั้น หากปล่อยให้มีการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นการละเมิดต่อสิทธิของจำเลยที่อย่างชัดเจน
       ในความเห็นของผู้เขียนมองว่า แนวคิดในการนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ในคดีอาญาถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังในทางที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่จำเลยในคดีอาญาก็ตาม ทั้งนี้ เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่กำหนดให้ศาลอาญาต้องยึดถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคห้า ก็ไม่ได้บัญญัติให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพัน “ข้อเท็จจริง” ในคดีของศาลยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง ทั้งนี้อาจด้วยเหตุผลที่ว่าหลักการสำคัญในคดีอาญาจะต้องมุ่งตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยปราศจากข้อผูกมัดใดๆ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดยิ่งกว่าการมุ่งเอาชนะกันระหว่างคู่ความ เพราะการดำเนินคดีอาญามีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของจำเลย และยังมีผลกระทบที่สำคัญต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมอีกด้วยอีกทั้งตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลยุติธรรมจะต้องอาศัยข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้นมาเป็นพื้นฐานในการพิพากษาคดี เพราะศาลยุติธรรมจะต้องวินิจฉัยว่าการกระทำความผิดนั้นๆของบุคคลครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติที่เป็นฐานความผิดหรือไม่ อันเป็นการใช้อำนาจคนละกรณีกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มิได้มีอำนาจวินิจฉัยในคดีอาญานอกจากนี้ การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาเป็นยุติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับ หลักการพิจารณาคดีอาญาต่อหน้าจำเลย และหลักการรับฟังพยานบอกเล่าตามที่กล่าวมาแล้วอีกด้วย
       ด้วยเหตุดังที่วิเคราะห์มานี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าศาลยุติธรรมไม่ควรนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาแต่อย่างใด แม้การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นตามหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดีจะช่วยป้องกันการขัดแย้งกันของคำพิพากษาและช่วยประหยัดต้นทุนทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการสืบพยาน แต่เมื่อเป็นคดีอาญาที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยเป็นอย่างมากแล้ว การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยย่อมมีความสำคัญเหนือกว่านโยบายด้านการประหยัดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจน (When it comes to criminal matters, Due Process Right completely outweigh a policy concerning Judicial Economy)ดังนั้น การนำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
        
       

7. บทสรุปและข้อเสนอแนะ
       

 
       

        หลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) เป็นหลักที่บังคับให้ศาลต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลคดีก่อนหน้า หากปรากฏว่าคดีทั้งสองมีข้อเท็จจริงและคู่ความเดียวกัน (Same Parties and Same Issue) อย่างไรก็ตาม หลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดีมีการยอมรับอย่างเป็นสากลให้นำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางในการพิจารณาคดีแพ่ง ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใดที่กำหนดให้นำเอาหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญา
       

          อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาในประเทศไทยได้พยายามสร้างบรรทัดฐานให้มีการนำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่นมาใช้รับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาได้ โดยอ้างอิงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 และคำพิพากษาฎีกาที่ 5175/2547 แต่คำพิพากษาของศาลคดีอื่นตามแนวบรรทัดฐานที่กล่าวมานี้ก็ยังคงจำกัดอยู่ในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมด้วยกันเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลอื่นนอกเหนือจากศาลยุติธรรม เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใดปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าถ้าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นและคู่ความเดียวกันกับคดีอาญา ศาลในคดีอาญาจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งการตอบคำถามดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับว่ามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใดที่เป็นพื้นฐานอ้างอิงให้กระทำเช่นนั้นได้หรือไม่
       ในที่นี้เห็นว่าศาลอาญาไม่สามารถอ้างอิงบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 มาใช้ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติในคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 และ 5175/2547 เพราะบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ที่บัญญัติว่า“…..คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง…..” ความหมายของคำว่า “ศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 หมายความถึงศาลยุติธรรมด้วยกันเท่านั้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้วด้วยเหตุนี้ การที่ศาลอาญาจะนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ผ่านช่องทางของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 นั้น จึงไม่สามารถทำได้
       ในส่วนของบทบัญญัติอีกบทหนึ่งที่มีการอ้างอิงอยู่เสมอเพื่อนำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า ซึ่งจากการศึกษาพบว่าถึงแม้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว จะกำหนดให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันศาล แต่ก็ไม่ได้กำหนดขอบเขตของคำว่า “ผูกพัน” เอาไว้ว่ามีขอบเขตมากน้อยเพียงไร จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญส่วนใดบ้างที่จะผูกพันศาลยุติธรรมให้ต้องวินิจฉัยตาม ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้าบังคับให้ศาลอาญาต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องเกินเลยอย่างมาก
       อนึ่ง จากการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการนำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาพบว่า ศาลยุติธรรมไม่ควรนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาแต่อย่างใด แม้การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นตามหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดีจะช่วยป้องกันการขัดแย้งกันของคำพิพากษาและช่วยประหยัดต้นทุนทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการสืบพยาน แต่เมื่อเป็นคดีอาญาที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยเป็นอย่างมากแล้ว การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย ซึ่งเป็นสิทธิตามหลักศุภนิติกระบวน (Due Process Right) อย่างหนึ่ง ย่อมมีความสำคัญเหนือกว่านโยบายด้านการประหยัดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจน  อีกทั้งการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาย่อมขัดต่อหลักการรับฟังพยานบอกเล่า และหลักการดำเนินคดีอาญาแบบตรวจสอบอีกด้วย
       ด้วยเหตุตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะโดยห้ามไม่ให้ศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีอาญา วินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่เห็นควรให้ศาลยุติธรรมดำเนินการไต่สวนและสืบพยานหลักฐานในคดีอาญาไปตามปกติ หากข้อเท็จจริงตามทางนำสืบฟังได้เป็นประการใดแล้วก็ให้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไปตามนั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีการนำเสนอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญา ก็ให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญารับฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นพยานบอกเล่าชิ้นหนึ่งซึ่งมีคุณค่าในเชิงพิสูจน์พอสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 และต้องรับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นด้วยเพื่อความถูกต้องแน่นอนในการวินิจฉัยข้อเท็จจริง
        
       


       
       

       

       [1]ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต และคณะ, รายงานการวิจัยเรื่อง สภาพบังคับของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร: บริษัท พี.เพรส จำกัด, 2550), หน้า 34.
       

       

       [2]รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, รายงานการวิจัยเรื่อง การเปลี่ยนแปลงแนวคำวินิจฉัยและผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ศึกษากรณีศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาและศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (กรุงเทพมหานคร: บริษัท มิสเตอร์ก๊อปปี้ จำกัด, 2550), หน้า73.
       

       

       [3]ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต และคณะ, รายงานการวิจัยเรื่อง สภาพบังคับของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ, หน้า 264.
       

       

       [4]โสภณ รัตนากร,  คำอธิบายพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2553), หน้า 219.
       

       

       [5]คณิต ณ นคร, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, พิมพ์ครั้งที่ 7(กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2549), หน้า 50.
       

       

       [6]เรื่องเดียวกัน, หน้า 8.
       

       

       [7]ธานี สิงหนาท,  คำอธิบายกฎหมายพยานหลักฐานคดีแพ่งและคดีอาญา, พิมพ์ครั้งที่ 9 (กรุงเทพมหานคร: กรุงสยามพับลิชชิ่ง, 2554), หน้า 433.           
       

       

       [8]พรเพชร วิชิตชลชัย,  คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 4, หน้า 257.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544