หน้าแรก บทความสาระ
ข้อความคิดว่าด้วยเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง
ดร.ฤทัยรัตน์ ปทุมานนท์ น.บ. (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ร.บ. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, น.ม. (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Master 2 (Droit public) Université Clermont-Ferrand I, Doctorat en droit (Droit public) (mention très honorable et les félicitations à l’unanimité) Université Montpellier I, พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ กลุ่มศึกษากฎหมายมหาชน ๑ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง
9 มีนาคม 2557 22:00 น.
 
         ๑.     ความทั่วไปเกี่ยวกับเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง
       คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองมีประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาอย่างน้อย ๓ ประเด็นตามลำดับ ดังนี้ ประเด็นแรก ศาลจะต้องพิจารณาว่าคำฟ้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
       (la compétence) หรือไม่ ถ้าคำฟ้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองจึงจะพิจารณาประเด็นต่อไปว่า คำฟ้องและผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง
       (les conditions de recevabilité) อย่างครบถ้วนที่ศาลจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้าถูกต้องครบถ้วนทุกเงื่อนไขในคดีแต่ละประเภทแล้วศาลจึงจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาและดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยในประเด็นที่เป็นเนื้อหาของคดี (le fond) ต่อไปตามข้อ ๔๒ วรรคหนึ่ง ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓[1] 
       เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง หมายความว่า เงื่อนไขทุกประการเกี่ยวกับคำฟ้องหรือที่
       ผู้ฟ้องคดีจะต้องเคารพหรือดำเนินการก่อนฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งอาจกำหนดโดยกฎหมาย ระเบียบ
       แนวคำพิพากษาของศาล หรือหลักกฎหมายทั่วไป หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวศาลไม่อาจรับ
       คำฟ้องไว้พิจารณาได้
       หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองประกอบด้วย
       (๑) ศาลจะรับคำฟ้องเฉพาะคำฟ้องที่ “สมบูรณ์ครบถ้วน” กล่าวคือ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจ
       พิจารณาพิพากษาของศาลปกครองและปฏิบัติตามเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองครบถ้วนแล้วเท่านั้น
       (๒) ศาลจะพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองหลังจากพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครองแล้ว
       (๓) ประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับ
       ความสงบเรียบร้อย (les moyens d’ordre public) ซึ่งศาลสามารถยกขึ้นพิจารณาได้เองแม้คู่กรณีจะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างก็ตาม (d’office) และมีผลตลอดกระบวนพิจารณา (en tout état de la procédure) ตัวอย่างเช่น คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๐๐/๒๕๔๖ วินิจฉัยว่า กรณีที่ศาลสั่งรับคำฟ้องที่ขาดอายุความไว้พิจารณา หากศาลตรวจพบในภายหลัง ศาลชอบที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาและสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
       (๔) ในคดีที่มีหลายข้อหาศาลต้องพิจารณาเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองในทุกข้อหาที่ฟ้อง
        
       ๒. ประเภทของเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง
       เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองอาจแบ่งออกเป็น ๗ ประเภท ดังนี้
       (๑) เงื่อนไขเกี่ยวกับตัวผู้ฟ้องคดี (la recevabilité ratione personae) ประกอบด้วย
       เงื่อนไขเกี่ยวกับความสามารถในการฟ้องคดี (la capacité d’ester en justice) และเงื่อนไขเกี่ยวกับ
       ความเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือความเป็นผู้เสียหายของผู้ฟ้องคดี (l’intérêt à agir)
       (๒) เงื่อนไขเกี่ยวกับคำขอของผู้ฟ้องคดี
       (๓) เงื่อนไขเกี่ยวกับการที่ผู้ฟ้องคดีต้องดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนฟ้องคดี
       (๔) เงื่อนไขเกี่ยวกับการกระทำที่ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะโต้แย้ง (la recevabilité ratione materiae) ประกอบด้วยเงื่อนไขเกี่ยวกับการที่ต้องมีการออกคำสั่งทางปกครองหรือกฎแล้วจึงจะมีการฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎได้ (la règle de la décision préalable) และเงื่อนไขเกี่ยวกับการที่
       คำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นต้องก่อผลกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ฟ้องคดี (l’acte faisant grief)
       (๕) เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดี (la recevabilité ratione temporis)
       (๖) เงื่อนไขเกี่ยวกับคำฟ้องและค่าธรรมเนียมศาล
       (๗) เงื่อนไขเกี่ยวกับการฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
       ๓. เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา
       คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

       เมื่อได้พิจารณาภาพรวมของเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ต่อไปจะได้กล่าวถึงเนื้อหาของเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอาจแยกพิจารณาได้เป็น ๙ เงื่อนไข ดังนี้
       (๑) เงื่อนไขเกี่ยวกับความสามารถในการฟ้องคดี (la capacité d’ester en justice) เป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับความสามารถตามกฎหมายของบุคคลธรรมดา (la personne physique) และของ
       นิติบุคคล (la personne morale) ในการฟ้องคดี รวมถึงการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทน เช่น บุคคล
       ผู้ไร้ความสามารถจะฟ้องคดีปกครองได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถ (ข้อ ๒๖ ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓) ตัวอย่างเช่น คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๘๓/๒๕๕๔ วินิจฉัยว่า ผู้พิทักษ์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถ ยกเว้นในกรณีฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถที่กายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบโดยได้รับอนุญาตจากศาลตามมาตรา ๓๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถโดยไม่ได้แนบหนังสือมอบอำนาจของ
       คนเสมือนไร้ความสามารถหรือคำสั่งศาลยุติธรรมที่อนุญาตให้ฟ้องคดีแทนมาพร้อมกับคำฟ้องตามข้อ ๒๖ ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ จึงทำให้คำฟ้องไม่สมบูรณ์ครบถ้วน
       สำหรับการฟ้องคดีปกครองของผู้เยาว์นั้น ข้อ ๒๗ ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วย
       วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดว่า ผู้เยาว์จะฟ้องคดีปกครองด้วยตนเองได้ต่อเมื่อมีอายุ
       ไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี บริบูรณ์ และได้รับอนุญาตจากศาล
       สำหรับนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน (la personne morale privée) เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท หรือสมาคมต่างๆ นั้น การฟ้องคดีปกครองของนิติบุคคลดังกล่าวต้องกระทำโดยตัวแทนของ
       นิติบุคคลนั้น (le représentant légal) ตัวอย่างเช่น การที่กรรมการของผู้ฟ้องคดี (บริษัท อ.) ซึ่งเป็น
       ผู้ลงลายมือชื่อท้ายคำฟ้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจลงชื่อผูกพันผู้ฟ้องคดีเฉพาะธุรกรรมด้านการเงินและทรัพย์สินวงเงินตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไปเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจลงชื่อผูกพัน
       ผู้ฟ้องคดีในการดำเนินการฟ้องคดีตามหนังสือรับรองจดทะเบียนบริษัทจำกัดนั้น ทำให้คำฟ้องดังกล่าว
       ไม่สมบูรณ์ครบถ้วน
       (๒) เงื่อนไขเกี่ยวกับความเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือความเป็นผู้เสียหายของผู้ฟ้องคดี (l’intérêt à agir) ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒[2]
       ความเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือความเป็นผู้เสียหายเป็นข้อความคิดทางกฎหมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อกำหนดบุคคลที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “หากไม่มีส่วนได้เสีย
       ก็ไม่อาจฟ้องคดีได้ (pas d’intérêt pas d’action)”  ทั้งนี้ เพื่อมิให้การฟ้องคดีปกครองกลายเป็นการฟ้องคดีโดยบุคคลใดก็ได้ (l’action populaire) ซึ่งอาจจะนำไปสู่การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลในทางที่ไม่ชอบ (l’abus) ส่วนกรณีใดจะถือว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อ
       ศาลปกครองได้นั้น มีข้อพิจารณาสำคัญ ๒ ประการ ดังนี้
       ประการแรก คดีฟ้องเพิกถอนกฎหรือคำสั่งตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับ
       การที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
       ผู้ฟ้องคดีพียงแต่ได้รับการกระทบกระเทือน (l’intérêt froissé) จากกฎหรือคำสั่งหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรก็มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้แล้ว กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้ฟ้องคดีจะต้องมีความสัมพันธ์โดยตรงและแน่นอน (la relation directe et certaine) กับกฎหรือคำสั่งหรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้ ตัวอย่างเช่น
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่๘๔/๒๕๕๔วินิจฉัยว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีมิใช่เจ้าของหรือ
       ผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารราชพัสดุ หรืออาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการดัดแปลงอาคารดังกล่าว
กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการออกใบอนุญาตให้ดัดแปลงอาคารราชพัสดุนั้น
       คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ ๑๗๖๓-๑๗๖๖/๒๕๔๙ วินิจฉัยว่า มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นนิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนใน
       การปรับปรุงและปกปักรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
และได้จดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนด้าน
       การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่อกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการจัด
       การป้องกันแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการต่างๆ ไม่ให้รถโดยสารและรถเอกชนร่วมบริการทุกบริษัทเกิดควันดำเกินมาตรฐาน
       ประการที่สอง คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ
       คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙
       วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีต้องถูกโต้แย้งสิทธิ (le droit lésé) กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ถูกกระทำละเมิดโดยตรงหรือเป็นคู่สัญญาที่ถูกโต้แย้งสิทธิจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตัวอย่างเช่น
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๐๓/๒๕๔๙ วินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ
       ผู้ถูกฟ้องคดีในสัญญาซื้อขายระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจร
ผู้ฟ้องคดีเป็นแต่เพียงผู้รับเหมารายย่อยของบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น จึงไม่อาจถือว่าผู้ฟ้องคดีมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา
       ซื้อขายระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
       (๓) เงื่อนไขเกี่ยวกับคำขอของผู้ฟ้องคดีซึ่งต้องเป็นคำขอที่ศาลสามารถออกคำบังคับให้ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒[3]
       เงื่อนไขข้อนี้ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ว่า “การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือนร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดใน
       มาตรา ๗๒” ตัวอย่างเช่น คำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลปกครองดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ถูกฟ้องคดี (คำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ๗๖๑/๒๕๔๕ ) หรือขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้
       ผู้ถูกฟ้องคดีพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และไปปฏิบัติหน้าที่อื่น (คำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ๑๔๘๙/๒๕๔๕) ขอให้ศาลปกครองบังคับให้คู่สัญญากระทำการหรืองดเว้นกระทำการนอกเหนือหรือแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในสัญญา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๒๒/๒๕๔๕ (ญ)) ขอให้ศาลปกครองขยายเวลาทำงานตามสัญญาจ้าง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑๘/๒๕๕๑) ขอให้ศาลปกครองบังคับให้
       ผู้ถูกฟ้องคดีต่อสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดีหลังจากสิ้นสุดสัญญาจ้าง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๑๓/๒๕๕๕) เป็นคำขอที่ศาลปกครองไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
       ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
       นอกจากนี้ เงื่อนไขข้อนี้ยังหมายความว่า ศาลปกครองจำเป็นต้องมีคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
       จึงจะแก้ไขหรือบรรเทาความเดือนร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีได้  ดังนั้น
       หากเหตุแห่งการฟ้องคดีหมดสิ้นไปแล้ว ก็เป็นกรณีที่ศาลปกครองไม่จำเป็นต้องมีคำบังคับให้
       ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ตัวอย่างเช่น
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒/๒๕๕๖ และที่ ๘๒/๒๕๕๖ วินิจฉัยว่า การที่หน่วยงานทางปกครองซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้ว จึงเป็นกรณีที่เหตุแห่งการฟ้องคดีหมดสิ้นไป ศาลจึงไม่จำต้องกำหนดคำบังคับให้
       ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีอีก ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
       (๔) เงื่อนไขเกี่ยวกับการที่ผู้ฟ้องคดีต้องดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนฟ้องคดี
       เงื่อนไขข้อนี้ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง
       ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควร หรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด
       บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นมีสาระสำคัญว่า ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะนำคดีมาฟ้องต่อ
       ศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ผู้ฟ้องคดีต้องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ในฝ่ายปกครองก่อนตามกฎหมายเฉพาะหรือตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙[4] และเมื่อมีการสั่งการตามกฎหมายนั้นแล้ว หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควร[5] หรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด ผู้ฟ้องคดีจึงจะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ ตัวอย่างเช่น
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๘๒/๒๕๕๔ วินิจฉัยว่า ประกาศรายงานผลการทดสอบ GAT/PAT ของผู้ฟ้องคดีเป็นคำสั่งทางปกครอง แม้จะไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะ ผู้ฟ้องคดีก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าวได้ตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กรณีจึงถือได้ว่ามีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากประกาศรายงานผลการทดสอบ GAT/PAT เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้อุทธรณ์ประกาศรายงานผลการทดสอบ GAT/PAT ในการสอบครั้งดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีก่อนนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาล กรณีจึงถือว่าผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ดำเนินการให้มี
       การแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้ก่อนฟ้องคดี
       นอกจากนี้ เงื่อนไขเกี่ยวกับการที่ผู้ฟ้องคดีต้องดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนฟ้องคดียังนำมาใช้กับการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บางกรณีด้วย เช่น กรณีฟ้องว่าหน่วยงานของรัฐละเลยต่อหน้าที่ไม่จัดพิมพ์หรือจัดหาข้อมูลข่าวสารไว้บริการประชาชนตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐[6] (ไม่ใช่กรณีปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว[7])
       ผู้ฟ้องคดีต้องร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการตามมาตรา ๑๓ เสียก่อน หากไม่ดำเนินการ ศาลจะสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๔๙/๒๕๕๑)
       อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นที่ผู้ฟ้องคดีสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้โดยตรง
       โดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อฝ่ายปกครองก่อนฟ้องคดี เช่น
       ๑. กรณีฟ้องเพิกถอนกฎ (มาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙)
       ๒. กรณีฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยรัฐมนตรี (มาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙)
       ๓. กรณีฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองของบรรดาคณะกรรมการต่างๆ ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือไม่ (มาตรา ๔๔ ประกอบกับมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙)
       ๔. กรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่คู่กรณีในการทำคำสั่งทางปกครอง (มาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙)
       ๕. กรณีฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองทั่วไป[8]หรือคำสั่งอื่น
       ๖. กรณีฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ซึ่งถือเสมือนว่าไม่มีการออกคำสั่งทางปกครองมาก่อน (l’acte inexistant) ตัวอย่างเช่น คำสั่งที่
       ฝ่ายปกครองออกไปโดยปราศจากอำนาจอย่างชัดแจ้ง[9]
       ๗. กรณีที่คำสั่งทางปกครองระบุให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวฟ้องคดีต่อ
       ศาลปกครองได้โดยตรง
       ๘. กรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งทางปกครองนั้นฟ้องคดีต่อ
       ศาลปกครองได้โดยตรง
       ๙. กรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้คำสั่งทางปกครองนั้นเป็นที่สุด
       ๑๐. กรณีฟ้องละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒  
       ๑๑. กรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองใหม่เพื่อแก้ไขคำสั่งทางปกครองเดิมและผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองเดิมมาแล้ว กรณีเช่นนี้ผู้ฟ้องคดีสามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยตรง โดยไม่ต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองใหม่นั้นอีก
       (๕) เงื่อนไขเกี่ยวกับการที่ต้องมีการออกคำสั่งทางปกครองหรือกฎแล้วจึงจะมีการฟ้อง
       เพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎได้ (la règle de la décision préalable)
       เงื่อนไขข้อนี้มีสาระสำคัญว่า เรื่องที่จะฟ้องต่อศาลปกครองได้นั้น ต้องเป็น “นิติกรรมทางปกครอง” (l’acte administratif)[10] ที่มีผลบังคับทันที(le caractère exécutoire) กล่าวคือ ต้องก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย (l’effet juridique) หรือก่อให้เกิดข้อผูกพันหรือสิทธิต่างๆ ต่อผู้อยู่ในบังคับของนิติกรรมทางปกครองได้ฝ่ายเดียว โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นแต่ประการใด ศาลปกครองจึงจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ หากเรื่องที่ฟ้องเป็นเพียงความเห็นก็ดี (les avis) การตอบข้อหารือก็ดี
       การแสดงความคาดหวังหรือความปรารถนาก็ดี (les voeux) การให้ข้อมูลก็ดี (les renseignements) คำแนะนำก็ดี (les recommandations) ข้อเสนอแนะก็ดี (les propositions) การประกาศให้ทราบเรื่องก็ดี (les acts déclaratifs) ศาลจะไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
       เมื่อพิจารณาแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองไทยจะเห็นได้ว่า เรื่องที่ฟ้องจะต้องเป็นกฎหรือคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙[11] หากการกระทำใดไม่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีโดยตรง ก็ไม่อาจถือได้ว่า
       ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตัวอย่างเช่น
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๙๖/๒๕๕๐ วินิจฉัยว่า การตอบข้อหารือมีลักษณะเป็นเพียงการแปลความหรือตีความกฎหมายเท่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี
       ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๕/๒๕๕๑วินิจฉัยว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุคคลที่จะต้องร่วมรับผิด
       ในกรณีที่มีบุคคลกระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงาน โดยมิได้ระบุบุคคลผู้จะถูกกระทบหรือต้องรับผิดไว้ด้วย คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจึงหามีผลกระทบต่อบุคคลใดๆ  ฉะนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี
       ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ส่วนความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดก็เป็นเพียงการให้ข้อมูลภายในของหน่วยงานของรัฐ เพราะคณะกรรมการมีหน้าที่เพียงเสนอความเห็นต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้ง มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยสั่งการให้คุณหรือให้โทษต่อผู้ใด  ดังนั้น การพิจารณาและเสนอความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทบสิทธิหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงยังมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
       คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๗๔/๒๕๕๔ วินิจฉัยว่า หนังสือของกรมประมงที่แจ้งให้
       ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่โครงการศึกษาพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเชิงพาณิชย์  มิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไปเป็นเพียงการแจ้งเตือนเท่านั้น มิได้มีผลบังคับให้
       ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และบริวารต้องออกจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และบริวารไม่ยอมออกจากพื้นที่โครงการ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไปโดยการฟ้องคดีต่อ
       ศาลยุติธรรม หนังสือดังกล่าวจึงยังมิได้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีทั้งสามอันจะทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง
       ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๘๒/๒๕๕๔ วินิจฉัยว่า หนังสือของผู้ถูกฟ้องคดี เรื่อง ขอแจ้งผลเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการตรวจกระดาษคำตอบ GAT/PAT ในการสอบครั้งที่ ๓/๒๕๕๓ (ตุลาคม) เป็น
       แต่เพียงการแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบถึงผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือร้องเรียนต่อ
       ผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น
มิได้มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี
       แต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย
       อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีข้อหานี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา
       คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
       อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า การที่ต้องมีการออกคำสั่งทางปกครองหรือกฎแล้วจึงจะมีการฟ้อง
       เพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎได้นั้น เป็นประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง มิใช่ประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครอง กล่าวคือ แม้จะยังไม่มีการออกคำสั่งทางปกครองหรือกฎก็ตาม แต่หากมีการดำเนินการโดยฝ่ายปกครองแล้ว ก็ถือเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง เพียงแต่ยังไม่เข้าเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองเท่านั้น
       สำหรับประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครองนั้น เป็นประเด็นเกี่ยวกับการกระทำที่อยู่หรือไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เช่น การกระทำของรัฐบาล (l’acte de gouvernement) ซึ่งเป็นงานด้านนโยบาย งานทางการเมือง การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (les actes intervenus dans les relations internationales)[12] การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์กับฝ่ายนิติบัญญัติ (les actes concernant les rapports du gouvernement avec
       le parlement)[13] หรือนิติกรรมทางตุลาการ[14] ล้วนแต่เป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองทั้งสิ้น ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครอง มิใช่ประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง  ดังนั้น จึงต้องแยกประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครองและประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองออกจากกันให้ชัดเจน
       (๖) เงื่อนไขเกี่ยวกับการที่คำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นต้องก่อผลกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ฟ้องคดี (l’acte faisant grief)
       เงื่อนไขนี้มาจากหลักกฎหมายปกครองฝรั่งเศส โดยศาลปกครองฝรั่งเศสได้วางเป็น
       หลักกฎหมายทั่วไปว่า นอกจากนิติกรรมทางปกครองจะต้องก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย(l’effet juridique)หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีแล้ว นิติกรรมทางปกครองนั้นต้องก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ฟ้องคดีด้วย(l’acte faisant grief) (De minimis non curat praetor) ศาลจึงจะรับคำฟ้องไว้พิจารณา หากนิติกรรมทางปกครองนั้นเพียงแต่ก่อให้เกิดความขัดข้องเล็กน้อย ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติจากการดำเนินการในหน่วยงานนั้น ศาลปกครองก็ไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ เช่น การกระทำที่อยู่ในขั้นตระเตรียมการเพื่อที่จะออกกฎหรือทางปกครอง (lesactes préparatoires) หรือคำสั่งยืนยัน (la décision confirmative) ที่มีวัตถุประสงค์และเนื้อหา (ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย) ไม่ต่างไปจากคำสั่งเดิม หรือมาตรการภายในของฝ่ายปกครอง (lesmesures d’ordre intérieur) ที่มีขึ้นเพื่อจัดระบบการทำงานภายในฝ่ายปกครองและมีผลใช้บังคับเฉพาะกับฝ่ายปกครองเท่านั้น[15] หรือคำสั่งจัดระบบงานภายในกองหรือสำนัก หรือคำสั่งย้ายข้าราชการภายในกองโดยไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์หรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินเพิ่มเติม
       เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับคำพิพากษาของศาลปกครองไทยก็จะพบได้ว่ามีแนวทางที่คล้ายกัน โดยศาลจะถือว่า หากคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นไม่ได้ก่อผลกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตัวอย่างเช่น
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๙/๒๕๔๗ วินิจฉัยว่า การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอทางด้านเทคนิคเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาตัดสินผู้ชนะการประกวดราคาเช่าคอมพิวเตอร์ฯ
       การพิจารณาดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครองอันเป็นการพิจารณาทางปกครองที่เป็นขั้นตอนการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง ตามบทนิยามของมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หากผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาตัดสินผู้ชนะการประกวดราคาเช่าคอมพิวเตอร์ฯ โดยออกคำสั่งรับหรือไม่รับคำเสนอเช่าของผู้เข้าร่วมประกวดราคาเช่าแล้ว การออกคำสั่งดังกล่าวจึงจะเป็นคำสั่งทางปกครองตามกฎกระทรวง
       ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๑๕/๒๕๕๐ วินิจฉัยว่า มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่อง ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการโอนและการตกทอดทางมรดกสิทธิการเข้าทำประโยชน์
       เป็นเพียงแนวปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติในการพิจารณาการโอนสิทธิและการตกทอดทางมรดกสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นำมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดังกล่าวแจ้งให้
       ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทราบเพื่อเป็นการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการโอนและการตกทอดทางมรดกสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิของผู้ฟ้องคดี ส่วนหนังสือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่
       ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งแนวทางปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การโอนหรือการตกทอดทางมรดกสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน มีผลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ภายในองค์กรปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเท่านั้น ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรงจากหนังสือเวียนดังกล่าวที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๔๖/๒๕๕๐ วินิจฉัยว่า เทศบาลนครสมุทรสาครย้าย
       ผู้ฟ้องคดีจากหัวหน้าหน่วยงานธุรการ กองช่าง ไปช่วยปฏิบัติราชการเป็นหัวหน้าธุรการสารบรรณ
       กองการประปา เป็นการชั่วคราว ๑ ปี เป็นการสั่งให้ไปช่วยราชการในระดับและอัตราเงินเดือนเดิม ไม่มีผลกระทบต่อสถานะทางกฎหมายและสิทธิหน้าที่ ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้
       อย่างไรก็ดี นอกจากหนังสือเวียนที่ตีความกฎหมาย (la circulaire interprétative)
       ซึ่งเป็นมาตรการภายในของฝ่ายปกครอง (lesmesures d’ordre intérieur) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีหนังสือเวียนอีกประเภทหนึ่งที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล
       ซึ่งเรียกว่า «la circulaire réglementaire» (หนังสือเวียนที่มีลักษณะเป็นกฎหมาย) ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหนังสือเวียนดังกล่าวสามารถฟ้องเพิกถอนหนังสือเวียนนั้นต่อศาลปกครองได้ ตัวอย่างเช่น
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๕๐/๒๕๔๗ วินิจฉัยว่า หนังสือกระทรวงการคลังซึ่งแจ้งเวียนให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและส่วนราชการทราบเพื่อถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดทำสัญญาเพิ่มเติมทุกครั้งที่มีการอนุมัติให้ข้าราชการขยายระยะเวลาลาศึกษาเป็นบทบัญญัติที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป หนังสือกระทรวงการคลังดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นกฎ ตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง
       ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒  ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีต้องมาจัดทำสัญญาเพิ่มเติม โดยอ้างทางปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว จึงทำให้
       ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบโดยตรงจากหนังสือกระทรวงการคลังฉบับนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับ
       ความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันจะทำให้
       ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนหนังสือกระทรวงการคลังดังกล่าวได้  ทั้งนี้ ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับคำสั่งของ
       ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีจัดทำสัญญาเพิ่มเติมโดยอาศัยอำนาจตามหนังสือกระทรวงการคลังฉบับนั้นได้ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับผู้ฟ้องคดี และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีแล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
       อนึ่ง จากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวข้างต้น ทำให้กล่าวได้ว่า ฝ่ายปกครองสามารถออกคำสั่งทางปกครองให้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของบุคคลโดยอาศัยฐานจากหนังสือเวียนที่มีลักษณะเป็นกฎหมาย (la circulaire réglementaire) ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหนังสือเวียนและคำสั่งดังกล่าวสามารถฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนหนังสือเวียนและคำสั่งที่ออกโดยอาศัยฐานจากหนังสือเวียนดังกล่าวได้
       นอกจากหนังสือเวียนอาจจะมีสถานะเป็นกฎดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น หนังสือเวียนอาจจะมีสถานะเป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปก็ได้ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหนังสือเวียนดังกล่าวสามารถฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนหนังสือเวียนได้ ตัวอย่างเช่น คำสั่งปกครองสูงสุดที่ ๕๑๒/๒๕๕๑ วินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งเวียนให้คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกจังหวัดถือปฏิบัติตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยให้ผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าที่ได้รับคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยไม่ได้ใช้วิธีสอบคัดเลือก กลับคืนสู่สถานภาพในตำแหน่งและระดับเดิม หากตำแหน่งเดิมไม่ว่างหรือผู้นั้นได้โอนมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่น ให้พิจารณากำหนดตำแหน่งรองรับเป็นการเฉพาะราย หนังสือเวียนฉบับดังกล่าวจึงมีผลกระทบเฉพาะกลุ่มข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งรองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มาจากการคัดเลือกโดยวิธีดังกล่าวเท่านั้น หนังสือเวียนฉบับดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไป
       อนึ่ง จากแนวคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า ศาลปกครองพยายามรักษาดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับการไม่ล่วงล้ำเข้าไปในแดนอำนาจของฝ่ายปกครองมากจนเกินไป กล่าวคือ แม้ว่าจะมีการออกนิติกรรมทางปกครองก็ตาม แต่ก็มี
       นิติกรรมทางปกครองบางประเภทที่ศาลปกครองไม่รับไว้พิจารณา เพราะเป็นเรื่องภายในโดยแท้ของ
       ฝ่ายปกครอง หรืออาจจะเป็นเรื่องที่ปลีกย่อยจนเกินไป หรือเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการในการออกนิติกรรมทางปกครองเท่านั้น ซึ่งยังไม่สมควรให้มีการตัดตอนนำมาฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพราะอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการต่อไปตามกระบวนการในการออกนิติกรรมทางปกครองนั้น
       (๗) เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดี (la recevabilité ratione temporis)
       เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๙[16] มาตรา ๕๑[17] และมาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง[18] แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอาจแยกพิจารณาได้ ดังนี้
       ๑. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎ
       คำสั่งทางปกครอง หรือกระทำการอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีต้องฟ้องคดีต่อ
       ศาลปกครองภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี (มาตรา ๔๙)
       ๒. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี (มาตรา ๔๙)
       แต่ถ้าผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่
       อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ได้ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้า
       เกินสมควร กรณีเช่นนี้ระยะเวลาการฟ้องคดีจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด ๙๐ วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงาน หรือหากผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำชี้แจงดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้ กรณีเช่นนี้ระยะเวลาการฟ้องคดีจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือชี้แจง (มาตรา ๔๙)
       ๓. คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี  อย่างไรก็ดี ระยะเวลา ๑ ปี นั้น จะต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี (มาตรา ๕๑)
       ๔. คดีพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) ผู้ฟ้องคดีต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน ๕ ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี  อย่างไรก็ดี ระยะเวลา ๕ ปี นั้น จะต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี (มาตรา ๕๑)
       อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า คำว่า “วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” ในมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น
       พึงติดตามแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่จะพิจารณาเป็นรายกรณีไปว่า วันใดถือเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดี
       รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีอันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการนับอายุความฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
       สำหรับคดีพิพาทเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น การฟ้องคดีขอให้ศาล
       เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับหนองน้ำสาธารณะ หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับสถานะของบุคคล เช่น การฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญชาติของบุคคล ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อใดก็ได้ โดยไม่มี
       อายุความ (มาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง)
       มีข้อสังเกตว่า เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีเป็นเงื่อนไขที่ไม่อาจแก้ไขให้สมบูรณ์ครบถ้วนได้ในภายหลัง (irrégularisable) เนื่องจากระยะเวลาการฟ้องคดีเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง  อย่างไรก็ดี มาตรา ๕๒ วรรคสอง[19] แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดให้ศาลยกเว้นเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีได้ ถ้าศาลเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น
       (๘) เงื่อนไขเกี่ยวกับแบบของคำฟ้อง (les formes de la requête) และค่าธรรมเนียมศาล
       คำฟ้องคดีปกครองต้องมีเนื้อหาตามที่ระบุในมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒[20] และหาก
       ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙
       วรรคหนึ่ง (๓) หรือ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลให้ครบถ้วนตามมาตรา ๔๕ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว[21]
       อนึ่ง การฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น ผู้ฟ้องคดีสามารถฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง
       โดยไม่จำต้องมีทนายความ ในการนี้ผู้ฟ้องคดีจะยื่นคำฟ้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลโดยตรง หรือจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการนับอายุความ ให้ถือว่าวันที่ส่งคำฟ้องแก่
       เจ้าพนักงานไปรษณีย์เป็นวันที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง (มาตรา ๔๖)
       (๙) เงื่อนไขเกี่ยวกับการฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
       เงื่อนไขข้อนี้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๓๖ (๑) ซึ่งกำหนดห้ามการฟ้องซ้อน[22] ข้อ ๙๗ ห้ามการฟ้องซ้ำ[23] และข้อ ๙๖ ห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ[24] หากคำฟ้องใดเป็นการฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
       ศาลก็จะไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
       ตัวอย่างคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการฟ้องซ้อน (ข้อ ๓๖ (๑))
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๙/๒๕๕๐ วินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีเคยยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ
       ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในเรื่องเดียวกันนี้ต่อศาลปกครองนครราชสีมา และศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในคดีนี้เกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีเดียวกันนี้ต่อศาลปกครองนครราชสีมาอีก จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกัน อันเป็นการต้องห้ามตามความในข้อ ๓๖ (๑)
       ตัวอย่างคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการฟ้องซ้ำ (ข้อ ๙๗)
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๔๕/๒๕๕๔ วินิจฉัยว่าคดีเดิมศาลปกครองมีคำสั่งถึงที่สุดไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว
       เมื่อผู้ฟ้องคดีนำมาฟ้องเป็นคดีใหม่อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำ
       ตัวอย่างคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ (ข้อ ๙๖)
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ร.๑๔๘/๒๕๕๑ วินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีเคยยื่นคำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยแล้วว่า คำขอของผู้ฟ้องคดีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒[25] ต่อมา
       ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่อีกครั้ง จึงต้องห้ามตามข้อ ๙๖ ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ
       ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่บัญญัติห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว
       อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า หากคำฟ้องหรือผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง
       ข้อใดข้อหนึ่งตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ใช่ว่าศาลปกครองจะต้องมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณาในทันทีทุกกรณี เพราะหากเงื่อนไขนั้นเป็นเงื่อนไขที่อาจแก้ไขให้สมบูรณ์ครบถ้วนได้ (régularisable) ศาลต้องสั่งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไข (l’invitation  à régulariser) หากผู้ฟ้องคดีไม่ยอมแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือถ้าเป็นเงื่อนไขที่ไม่อาจแก้ไขได้ (irrégularisable) ศาลโดยองค์คณะจึงจะมีคำสั่งไม่รับ
       คำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามข้อ ๓๗ วรรคสอง ของระเบียบฯ ว่าด้วย
       วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยในเนื้อหาของคดี (le fond) จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแบ่งคำฟ้องที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองให้ครบถ้วนออกเป็นสองกรณี คือ กรณีที่อาจแก้ไขได้ (régularisable) และกรณีที่ไม่อาจแก้ไขได้ (irrégularisable)
       กรณีที่อาจแก้ไขได้ เช่น คำฟ้องที่ระบุชื่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีไม่ถูกต้องตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง (๒)[26] คำฟ้องที่ไม่ได้ระบุการกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี พร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี หรือระบุไม่เพียงพอหรือไม่ครบถ้วน (le défaut de motivation) ตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง (๓) [27] คำฟ้องที่ระบุคำขอไม่ชัดเจนหรือไม่สมบูรณ์ (le défaut de conclusions)[28] ตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง (๔) คำฟ้องที่ไม่ลงลายมือชื่อผู้ฟ้องคดีหรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี (le défaut de signature) ตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง (๕)[29] ความบกพร่องในเรื่องความสามารถในการฟ้องคดี (le défaut de capacité ou qualité)
       ความบกพร่องในเรื่องการมอบอำนาจ[30] (le défaut d’autorisation d’ester)  และความไม่สมบูรณ์ครบถ้วนของเอกสารที่จำเป็นต้องยื่นต่อศาล (le défaut de productions)
       เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองที่โดยสภาพ (par nature) ไม่อาจแก้ไขให้สมบูรณ์ครบถ้วนได้ในภายหลังหรือเป็นเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองที่มีลักษณะสำคัญ เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีมิใช่
       ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง หรือกรณีที่ผู้ฟ้องคดียังมิได้ดำเนินการแก้ไข
       ความเดือดร้อนหรือเสียหายตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ (non-exercice d’un recours administratif obligatoire) ตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง หรือกรณีที่ฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ แต่ยังไม่มีการออกคำสั่งทางปกครองหรือกฎ (l’absence de la décision préalable) หรือคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นมิได้ก่อผลกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ฟ้องคดี หรือคำฟ้องยื่นเมื่อพ้นระยะเวลาการฟ้องคดี (la méconnaissance des délais) ตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๕๑[31]
       ๔. บทส่งท้าย
       การฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น ผู้ฟ้องคดีจำต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกว่า คดีนั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ
       วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒[32] หรือไม่ จากนั้นจึงจะพิจารณาต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ถ้าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ศาลจึงจะรับ
       คำฟ้องไว้พิจารณาและดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยในประเด็นที่เป็นเนื้อหาของคดีต่อไป หากคำฟ้องนั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง หรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง ศาลก็จะไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณา  ด้วยเหตุนี้นอกเหนือจากประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของ
       ศาลปกครองแล้ว ประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองก็เป็นประเด็นที่สำคัญ และยังเป็นประเด็นที่ละเอียดซับซ้อนซึ่งจะต้องมีการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการต่อไป
        
                                                                      
        
       บรรณานุกรม
       

ประสาท พงษ์สุวรรณ์, เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง, เอกสารประกอบการบรรยาย หลักสูตร พนักงานคดีปกครอง ระดับกลาง รุ่นที่ ๑๖, ๒๕๕๖.
       

ฤทัย หงส์สิริ, ศาลปกครองและการดำเนินคดีปกครอง, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่ง
       เนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๕๓.
       VAN LANG (A.), Dictionnaire de droit administratif, 5é éd., Dalloz, 2008.
       

  
       


       
       

       
[1] ข้อ ๔๒ วรรคหนึ่ง  เมื่อตุลาการเจ้าของสำนวนเห็นว่าคำฟ้องใดเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ครบถ้วน ให้มีคำสั่งรับคำฟ้องและมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การ โดยส่งสำเนาคำฟ้องและสำเนาพยานหลักฐานไปด้วย ในกรณีที่เห็นสมควร จะกำหนดประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องให้การ หรือให้จัดส่งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรือที่จะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลด้วยก็ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่กำหนดไว้ในข้อ ๖๑

       

       [2] มาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง  ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมี
       ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๙ (.....) ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
       

       

       [3] มาตรา ๗๒ ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
       (๑) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
       (๒) สั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่
       ศาลปกครองกำหนด ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
       (๓) สั่งให้ใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการโดยจะกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ ไว้ด้วยก็ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการฟ้องเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
       (๔) สั่งให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีการฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงความเป็นอยู่ของสิทธิหรือหน้าที่นั้น
       (๕) สั่งให้บุคคลกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
       

       

       [4] มาตรา ๔๔  ภายใต้บังคับมาตรา ๔๘ ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว
       คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย
       การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง
       

       

       [5] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๖๐/๒๕๔๖ (ญ) วินิจฉัยว่า “ระยะเวลาอันสมควร” ตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้แก่ ระยะเวลา ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์โดยเทียบเคียงจากระยะเวลาขั้นสูงในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ใน
       มาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง รวมกับระยะเวลาตามมาตรา ๔๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
       

       

       [6] มาตรา ๑๓  ผู้ใดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่จัดพิมพ์ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๗ หรือไม่จัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ตามมาตรา ๙ หรือไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ตนตามมาตรา ๑๑ หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าหรือเห็นว่าตนไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้นั้นมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการ เว้นแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา  ๑๕  หรือคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านตามมาตรา  ๑๗  หรือคำสั่งไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามมาตรา ๒๕
       ในกรณีที่มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง  คณะกรรมการต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องเรียน  ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ขยายเวลาออกไปได้  แต่ต้องแสดงเหตุผลและรวมเวลาทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหกสิบวัน         
       

       

       [7] มาตรา ๑๕  ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ  ประโยชน์สาธารณะ  และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน
       (๑) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
       (๒) การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ  หรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ 
       ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน การปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบ  หรือการรู้แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม
       (๓) ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด  แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ  รายงานข้อเท็จจริง  หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการทำความเห็นหรือคำแนะนำภายในดังกล่าว
       (๔) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด
       (๕) รายงานการแพทย์หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร
       (๖) ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย  หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดย
       ไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น
       (๗) กรณีอื่นตามที่กำหนดให้พระราชกฤษฎีกา
       คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้  แต่ต้องระบุไว้ด้วยว่าที่เปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทใดและเพราะเหตุใด และให้ถือว่าการมีคำสั่งเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นดุลพินิจโดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามลำดับสายการบังคับบัญชา  แต่ผู้ขออาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
       

       

       [8] “คำสั่งทางปกครอง” มีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม (ใช้บังคับกับกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นการเฉพาะ) และมีผลเฉพาะราย (ใช้บังคับกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ) สำหรับ “กฎ” มีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นนามธรรม (ไม่ใช้บังคับกับกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นการเฉพาะ) และมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป (ใช้บังคับกับบุคคลเป็น
       การทั่วไป โดยไม่เจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ) ส่วน “คำสั่งทางปกครองทั่วไป” มีลักษณะผสมระหว่าง
       คำสั่งทางปกครองกับกฎ กล่าวคือ เป็นกฎเกณฑ์ที่มีลักษณะเป็นรูปธรรม (ใช้บังคับกับกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นการเฉพาะ) และมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป (ใช้บังคับกับบุคคลเป็นการทั่วไป โดยไม่เจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ)
       

       

       [9] คำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ซึ่งถือเสมือนว่าไม่มีการออกคำสั่งทางปกครองมาก่อน (l’acte inexistant) นั้น ฝ่ายปกครองสามารถเพิกถอนได้เองตลอดเวลา และคำสั่งดังกล่าวยังอาจถูกฟ้องเพิกถอนต่อศาลปกครองได้ตลอดเวลา โดยไม่มีอายุความในการฟ้องคดี
       

       

       [10] «l’acte administratif» มีความหมายสื่อแสดงออกมาตามภาษาไทยได้ ๔ นัยด้วยกัน กล่าวคือ ๑) หมายความถึง การกระทำทางปกครอง อันจำแนกออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ นิติกรรมทางปกครอง และปฏิบัติการทางปกครอง
       ๒) หมายถึง นิติกรรมทางปกครอง อันได้แก่ นิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียว (กฎหรือคำสั่งทางปกครอง) และสัญญาทางปกครอง (นิติกรรมทางปกครองหลายฝ่าย) ๓) หมายความถึงเฉพาะนิติกรรมทางปกครองในบริบทของนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียว (กฎหรือคำสั่งทางปกครอง) และ ๔) หมายถึง นิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวเฉพาะราย (คำสั่งทางปกครอง) โดยไม่หมายรวมถึงนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป (กฎ)  อนึ่ง «l’acte administratif» ในบทความนี้ผู้เขียนมุ่งประสงค์ให้หมายถึงความหมายนัยที่สามเป็นสำคัญ
       

       

       [11] มาตรา ๕  ในพระราชบัญญัตินี้
                     “คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า
                     (๑) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ กาอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ
                     (๒) การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
       

       

       [12] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๘๑/๒๕๔๖ วินิจฉัยว่า การพิจารณาของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ใน
       การเปิดจุดผ่อนปรนบริเวณด้านกิ่งผางอกเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลด้านการต่างประเทศ มิใช่การใช้อำนาจทางปกครอง จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
       

       

       [13] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๐๑/๒๕๕๑ วินิจฉัยว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติใดถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในการเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนิติบัญญัติ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
       

       

       [14] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๕๙/๒๕๕๓, ๑๑๑/๒๕๕๓ และ ๓๔๒/๒๕๔๘ วินิจฉัยว่า การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมเป็นการใช้อำนาจตุลาการมิใช่การกระทำทางปกครองที่ศาลปกครองจะเข้าไปตรวจสอบหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
       

       

       [15] มาตรการภายในของฝ่ายปกครอง ได้แก่ หนังสือเวียนที่ตีความกฎหมาย (la circulaire interprétative) และแนวทางปฏิบัติ (la directive) ซึ่งเป็นเครื่องมือของฝ่ายปกครองในการกำหนดแนวทาง (l’orientation) ให้กับผู้ที่อยู่ในหน่วยงานปฏิบัติตาม โดยใช้อำนาจทั่วไปซึ่งก็คือ อำนาจบังคับบัญชาเพื่ออธิบายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจถึงกฎหมาย หรือการตีความกฎหมาย หรือนโยบายของหน่วยงาน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือหน้าที่แก่บุคคลภายนอกโดยตรง
       แต่ประการใด
       

       

                   [16] มาตรา ๔๙  การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผลแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
       

       

                   [17] มาตรา ๕๑  การฟ้องคดีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ให้ยื่นฟ้องภายในหนึ่งปี และการฟ้องคดีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) ให้ยื่นฟ้องภายในห้าปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มี
       เหตุแห่งการฟ้องคดี (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๕)
       พ.ศ. ๒๕๕๑)
       

       

                   [18] มาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง  การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้
       

       

       [19] มาตรา ๕๒ วรรคสอง  การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่า
       คดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้
       

       

       [20] มาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง  คำฟ้องให้ใช้ถ้อยคำสุภาพและต้องมี
       (๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี
       (๒) ชื่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี
       (๓) การกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี พร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว
       (๔) คำขอของผู้ฟ้องคดี
       (๕) ลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดี ถ้าเป็นการยื่นฟ้องคดีแทนผู้อื่นจะต้องแนบใบมอบฉันทะให้ฟ้องคดีมาด้วย
       

       

       [21] มาตรา ๔๕ วรรคสี่  การฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่การฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงินหรือ
       ส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา๙ วรรคหนึ่ง (๓) หรือ (๔) ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง ๑ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์
       อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ 
       

       

       

[22] ข้อ ๓๖  นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้
       (๑) ห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก  
       


       

       [23] ข้อ ๙๗  คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่กรณีเดียวกันฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน
       

       

       

[24] ข้อ ๙๖  เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น เว้นแต่
       (๑) การแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตามข้อ ๙๕
       (๒) การพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ตามมาตรา ๗๕
       (๓) การพิจารณาใหม่แห่งคดีที่สำนวนคดีหรือเอกสารในสำนวนคดีสูญหายหรือบุบสลายตามข้อ ๒๑
       (๔) การยื่น การรับ หรือไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา ๗๓
       (๕) การดำเนินการเกี่ยวกับการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งคำอุทธรณ์อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นตามข้อ ๑๐๔ หรือข้อ ๑๐๖
       (๖) การที่ศาลปกครองสูงสุดส่งคดีคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้นที่ได้พิจารณาและพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีนั้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่หรือพิจารณาและพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามข้อ ๑๑๒
       (๗) การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
       


       

       [25] มาตรา ๗๕  ในกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองเสร็จเด็ดขาดแล้ว
       คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนั้นอาจมีคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้ในกรณีดังต่อไปนี้
       (๑) ศาลปกครองฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
       (๒) คู่กรณีที่แท้จริงหรือบุคคลภายนอกนั้นมิได้เข้ามาในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีหรือได้เข้ามาแล้วแต่ถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกระบวนพิจารณา
       (๓) มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม
       (๔) คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ทำขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดและต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
       การยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคู่กรณีหรือบุคคลภายนอกไม่ทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาคดีครั้งที่แล้วมา โดยมิใช่ความผิดของผู้นั้น
       การยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่ต้องกระทำภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้นั้นได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ได้ แต่ไม่เกินห้าปีนับแต่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด
       

       

       [26] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๔๓/๒๕๕๕
       

       

       [27] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๐๗/๒๕๔๕ที่ ๕๗๖/๒๕๔๖, ที่ ๑๒๖/๒๕๕๑, ที่ ๔๑๗/๒๕๕๒, ที่ ๕๘๕/๒๕๕๒ ที่ ๙/๒๕๕๔, ที่ ๓๘๓/๒๕๕๔
       

       

       [28] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๙๕/๒๕๔๙, ที่ ๔๙/๒๕๕๒, ที่ ๕๗๕/๒๕๕๒,ที่ ๔๔/๒๕๕๓, ที่ ๑๑๐/๒๕๕๔, ที่ ๓๕๘/๒๕๕๕
       

       

       [29] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๕๓/๒๕๔๕
       

       

       [30] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๑๔/๒๕๕๑
       

       

       [31] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๘/๒๕๕๑
       

       

       [32] มาตรา ๙  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
       (๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับ
       การกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
       (๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
       (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
       (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
       (๕) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
       (๖) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
       เรื่องดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
       (๑) การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร
       (๒) การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
       (๓) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่น
        
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544