หน้าแรก บทความสาระ
ไทยกับการค้ามนุษย์
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
18 พฤษภาคม 2557 21:28 น.
 
เมื่อวันที่ 9 พ.ค.57 ที่ผ่านมาสำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานข่าวการที่ไทยอาจถูกลดระดับกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ลงมาอยู่ในระดับที่ 3 ซึ่งเป็นลำดับต่ำที่เลวร้ายที่สุด ทั้งๆที่ไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 2 ที่ต้องจับตามองเมือปี 2556 ที่ผ่านมานี้เอง( Tier II watch list in the 2013 Trafficking in Persons Report)ข่าวนี้ดูเหมือนว่าจะไม่มีความสำคัญนักต่อในสายตาคนไทยโดยทั่วไป แต่สำหรับผมแล้วเห็นว่าเป็นข่าวที่สำคัญมากเพราะไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่แย่มากในสายตาของนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกแล้วยังจะส่งผลเสียต่อสถานะทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทยที่จะถูกคว่ำบาตรจากต่างประเทศได้
       ในรายงานข่าวระบุว่ามีกลุ่มต่างๆ 19 องค์กร รวมถึง Human Rights Watch และ  The American Federation of Labour ได้ทำหนังสือส่งถึง นายจอห์น แคร์รี รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ให้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตร เพื่อเป็นการลงโทษไทยที่ล้มเหลวในการคุ้มครองแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อการลักลอบค้ามนุษย์ เพราะไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ที่จะพัฒนาให้ได้มาตรฐานในการคุ้มครองแรงงาน ที่ตกเป็นเหยื่อการลักลอบค้ามนุษย์
       ตามรายงานของกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากล ยังอ้างข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อเดือนธันวาคม 2556 ว่า รัฐบาลไทยได้ขายผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยมุสลิมชาวโรฮิงยาหลายร้อยคนที่หลบหนีมาจากประเทศพม่า ให้แก่ขบวนการค้ามนุษย์อีกด้วย(It cited a December 2013 Reuters report that showed Thai government officials sold hundreds of Rohingya refugees from Myanmar to human traffickers.)
       สหรัฐฯ ได้จัดอันดับกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ประจำปี เป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 กลุ่มประเทศดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ได้ตามมาตรฐาน ระดับที่ 2 กำลังดำเนินการพยายามให้เข้าข่ายมาตรฐาน และระดับที่ 3 ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย และล้มเหลวในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง
       หากไทยถูกลดระดับมาอยู่ระดับ 3 แล้ว อาจทำให้ไทยยังต้องเผชิญหน้ากับการถูกคัดค้านไม่ให้ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ ธนาคารโลก รวมถึงการระงับความช่วยเหลือ หรือการถอนตัวให้ความช่วยเหลือของกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ฯลฯ
        
       การค้ามนุษย์ คืออะไร
       ใน พิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (The Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, especially Women and Children)เพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (United Nations Convention Against Transnational Organized Crime) ระบุความหมาย ไว้ว่า
       “การค้ามนุษย์ หมายถึง การจัดหา การขนส่ง การส่งต่อ การจัดให้อยู่อาศัย หรือการรับไว้ซึ่งบุคคลด้วยวิธีการขู่เข็ญ หรือด้วยการใช้กำลัง หรือด้วยการบีบบังคับในรูปแบบ อื่นใด ด้วยการลักพาตัว ด้วยการฉ้อโกง ด้วยการหลอกลวง ด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือด้วยการใช้สถานะความเสี่ยงภัยจากการค้ามนุษย์โดยมิชอบ หรือมีการให้ หรือรับเงินหรือผลประโยชน์เพื่อให้ได้มาซึ่งความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจ ควบคุมบุคคลอื่น เพื่อความมุ่งประสงค์ในการแสวงประโยชน์ การแสวงประโยชน์ อย่างน้อยที่สุด ให้รวมถึงการแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีของบุคคลอื่น หรือการแสวงประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การเอาคนลงเป็นทาสหรือการกระทำอื่นเสมือนการเอาคนลงเป็นทาส การทำให้ตกอยู่ใต้บังคับ หรือการตัดอวัยวะออกจากร่างกาย ให้ถือว่าการจัดหา การขนส่ง การส่งต่อ การจัดให้อยู่อาศัย หรือการรับไว้ซึ่งเด็กเพื่อความมุ่งประสงค์ในการ แสวงประโยชน์ เป็นการค้ามนุษย์ แม้ว่าจะไม่มีการใช้วิธีการใด ๆ ที่ระบุไว้”
       และในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติไว้ว่า
       “มาตรา ๖ ผู้ใดเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
       (1) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้นเพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล หรือ
       (2) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขังจัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็กผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์”
       สรุปสั้นๆก็คือ การค้ามนุษย์คือ การกระทำใด ๆ ในการจัดหา ขนส่ง ลำเลียง ซื้อ ขาย ส่งต่อ รับ กักขัง หน่วงเหนี่ยวคนเพื่อให้คนไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หญิงหรือชาย ยอมทำในสิ่งไม่อยากทำหรือตกอยู่ในสภาพที่ลำบากโดยถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกแสวงหาประโยชน์ นั่นเอง
        
       สถานะของประเทศไทย
       ประเทศไทยประสบปัญหาการค้ามนุษย์ใน 3 สถานะ คือ
        1)เป็นประเทศต้นทาง มีการนำคนจากพื้นที่ชนบทชุมชนชาวไทยภูเขา หรืออื่น ๆ ส่งไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ
        2)เป็นประเทศทางผ่าน ขบวนการค้ามนุษย์ใช้เป็นทางผ่านพาคนจากประเทศพม่า ลาว จีน เขมรฯลฯ ไปยังประเทศอื่น ๆ
        3)เป็นประเทศปลายทาง มีการนำคนจากที่อื่นเข้ามาพักและแสวงหาประโยชน์
       ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มาตั้งแต่ปี 2551 แล้ว แต่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยยังคงล้มเหลว มีการดำเนินการอย่างมีข้อจำกัด เกิดจากสาเหตุหลายประการ ทั้งความรู้ความเข้าใจในตัวบทกฎหมาย การเพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
        
       การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล(ไหนก็ตาม) หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเอาจริงเอาจัง และประชาชนที่จะต้องเป็นหูเป็นตาช่วยกันสอดส่องแก้ไข ก่อนที่ไทยเราจะถูกคว่ำบาตรจากต่างชาติ ซึ่งจะนำมาซึ่งความเสียหายไม่น้อยกว่าความแตกแยกทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันเช่นกัน
        
       -------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544