หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 349
12 พฤศจิกายน 2560 19:39 น.
เสวนาทางวิชาการเรื่อง “เสรีภาพสื่อและกฎหมาย : ความท้าทายในยุค 4.0”

       
       
เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “เสรีภาพสื่อและกฎหมาย : ความท้าทายในยุค 4.0” ซึ่งมีผมร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรมเสวนาครั้งนี้ด้วย แต่เนื่องจากเวลามีจำกัด จึงทำให้ไม่สามารถพูดได้เท่าที่อยากพูด จึงขอนำสิ่งที่ได้พูดไปแล้วและสิ่งที่อยากพูดมาสรุปเอาไว้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ครับ

       
       
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้คงมาจากเมื่อกลางปีที่ผ่านมา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ลงมติเห็นชอบร่างกฏหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนหรือที่ถูกสื่อบางฉบับเรียกว่า กฎหมายควบคุมสื่อ ต่อมาเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะกรรมการดังกล่าวก็ได้หยิบยกร่างกฎหมายฉบับนี้เข้ามาเป็นวาระสำคัญสำหรับการปฏิรูปประเทศด้วย ก็เลยเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงกฎหมายควบคุมสื่อฉบับนี้ครับ

       
       
เท่าที่ตรวจสอบจากข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ต่างๆ พบว่ามีเสียงคัดค้านจำนวนมากเกี่ยวกับร่างกฏหมายฉบับนี้เพราะเห็นว่าการทำงานของสื่อสารมวลชนนั้น หากต้องการให้เป็นอิสระจริงๆก็ไม่ควรจะมีการควบคุม แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่งที่คิดว่าการควบคุมสื่อเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญเพราะปัจจุบันสื่อมีมากมายหลายประเภท การนำเสนอข่าวที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนจะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในประเทศ เพราะฉะนั้นจึงควรมีกฎหมายควบคุมสื่อ

       
       
หากจะเริ่มต้นพูดถึงเรื่องการควบคุมสื่อก็คงต้องเริ่มต้นจากบทบัญญัติในมาตรา 35 วรรคแรกแห่ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งกำหนดเอาไว้ว่า  บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ จุดเริ่มต้นนี้เองเป็นประเด็นที่นำมาสู่การโต้เถียงว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนเอาไว้ ดังนั้น การที่รัฐจะไปควบคุมหรือกำกับดูแลการทำงานของสื่อมวลชนจึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและอาจขัดกับรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว

       
       
ในปัจจุบัน สื่อมวลชนมีอยู่มากมายหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนบนกระดาษหนังสือพิมพ์วิทยุโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ในทุกรูปแบบ สื่อมวลชนมีหน้าที่อยู่หลายประการด้วยกันคือ การเสนอข่าวอันได้แก่การนำเหตุการณ์ข้อเท็จจริงออกมาเผยแพร่ ต่อมาก็คือการเสนอความคิดเห็น ที่อาจเป็นการนำความเห็นของสื่อมวลชนเอง ของนักวิชาการต่างๆ หรือของนักการเมืองออกมาเผยแพร่ให้สังคมรับรู้รับทราบถึงปัญหา รวมไปถึงข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้แล้วเรายังเห็นสื่อมวลชนทำหน้าที่นำเสนอสิ่งที่เราเรียกกันว่า ความบันเทิง การประชาสัมพันธ์ การโฆษณา รวมไปถึงการศึกษาหาความรู้ต่างๆด้วย

       
       
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ใช้สื่อออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารและรับทราบข้อมูลข่าวสารกันมากเพราะข่าวที่มาจากสื่อประเภทดังกล่าวมีความรวดเร็วและแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง มีประเด็นเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวในสื่อออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นความถูกต้องของข้อมูลที่นำเสนอ การเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นรวมไปถึงครอบครัวของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงประเด็นเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณก็เป็นสิ่งที่พูดกันเยอะมากเมื่อพูดถึงสื่อมวลชน การประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนไม่มากก็น้อย

       
       
ในสังคมของเรานั้น การประกอบวิชาชีพบางวิชาชีพของบุคคลคนหนึ่งอาจมีผลไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลคนหนึ่งหรือบุคคลจำนวนมากเนื่องมาจากการประกอบวิชาชีพของตน ผลจากการประกอบวิชาชีพอาจกระทบต่อบุคคลภายนอกไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางด้านร่างกาย จิตใจ ชื่อเสียงและอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น วิศวกรหรือแพทย์ที่ทำงานผิดพลาดอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลภายนอกได้ เพราะฉะนั้น ในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย จึงกำหนดให้มีการควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพบางวิชาชีพให้ประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อที่จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน นั่นก็คือการควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อให้การประกอบวิชาชีพอยู่ในกรอบระเบียบแบบแผนของวิชาชีพของตน การควบคุมการประกอบวิชาชีพอาจทำได้โดยหน่วยงานของรัฐหรือทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกันเอง

       
       จากการตรวจสอบดูตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนได้ พบว่า มีองค์กรวิชาชีพอันได้แก่แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สัตวแพทย์สภา สภาวิชาชีพบัญชี สภาวิศวกร สภาทนายความ สภาสถาปนิก คุรุสภาและสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี องค์กรวิชาชีพเหล่านี้มีกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวสามารถควบคุมการประกอบวิชาชีพกันเองในแต่ละวิชาชีพโดยมีองค์กรที่กำกับดูแลกันเองภายใน ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความก็มีสภาทนายความทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของทนายความ มีเรื่องมรรยาททนายความ มีโทษการทำผิดมรรยาททนายความ มีคณะกรรมการมรรยาททนายความ ถ้าผู้ประกอบวิชาชีพทนายความทำผิดมรรยาททนายความก็จะถูกลงโทษตามความร้ายแรงของความผิดไม่ว่าจะเป็นการภาคทัณฑ์ การห้ามทำการเป็นทนายความตามกำหนดเวลาหรือการลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ แต่สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น ในประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยตรง มีแต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องข้างเคียง เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กฎหมายการพิมพ์ กฎหมายภาพยนตร์กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดคอมพิวเตอร์ และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติอีกหลายฉบับ
       
       ผมคงไม่พูดวิจารณ์หรือวิเคราะห์ร่างกฏหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนของ สปท. เพราะมีผู้วิจารณ์กันไปมากเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่ผมจะขอตั้งเป็นประเด็นเอาไว้ว่า หากการมีกฎหมายดังกล่าวเพื่อจัดระเบียบและวางระบบในการทำงานของสื่อมวลชนเพื่อให้ข่าวที่ถูกนำเสนอออกมานั้นถูกต้องตรงความเป็นจริง ไม่หวังผลอื่น ไม่ทำร้าย ไม่สร้างความสับสนในสังคม ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม หากการมีกฎหมายดังกล่าวเพื่อควบคุมสื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการควบคุมที่เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวด้านการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์ การขุดคุ้ยการดำเนินงานและการใช้อำนาจต่างๆของรัฐที่ไม่ถูกต้องก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ดีไม่เหมาะสมและคงเกิดผลเสียตามมามากมาย ในความเห็นของผมนั้น การมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนด้วยกันเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โครงสร้างของกฎหมายที่จะมีขึ้นควรจะมีลักษณะที่ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ใช้ความรู้ความสามารถและทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีบทบัญญัติที่คุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเสนอข่าวที่มีอคติ ไม่ถูกต้อง หวังผลทางการเมืองหรือหวังผลทางด้านอื่นๆด้วย การกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพโดยผู้ประกอบวิชาชีพด้วยกันเองเป็นสิ่งที่น่าจะดีที่สุดเพราะการประกอบวิชาชีพแต่ละวิชาชีพมีรายละเอียดทางด้านเทคนิคจำนวนมากที่ผู้ไม่ได้ประกอบวิชาชีพอาจไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ นอกจากนี้แล้ว ผมยังมีความเห็นว่า หากจะต้องมีการตั้งองค์กรขึ้นมาควบคุมการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเช่นที่ปรากฏในร่างกฏหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่มีชื่อว่า “คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” คณะกรรมการดังกล่าว นอกจากจะต้องประกอบด้วย ตัวแทนจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนด้านต่างๆแล้ว ยังเห็นควรให้มี ตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เช่น ตัวแทนจากสภาทนายความ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้มีตัวแทนจากภาครัฐไม่ว่าจะโดยตำแหน่งใดก็ตามเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะการมีตัวแทนภาครัฐเข้าไปนั่งอยู่ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทนภาครัฐที่มีตำแหน่งสูงหรือไม่ก็เป็นตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจะทำให้การดำเนินงานของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขาดความเป็นอิสระ และนอกจากนี้แล้ว เมื่อจะมีกฏหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ก็ควรทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนทางอ้อมที่มีอยู่ทั้งหมด รวมไปถึงประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนไปในคราวเดียวกันเพื่อให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนอยู่ในที่เดียวกันอันจะเป็นการสะดวกแก่การใช้และการทำความเข้าใจของทั้งบรรดาสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป 
        
       
       
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอสองบทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ คุณปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง "กำหนดเวลาในกฎหมายนั้น สำคัญไฉน" ส่วนบทความที่สอง เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง "ตอบข้อสงสัยการไม่นับถือศาสนา" ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองด้วยครับ 

       
       
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ครับ

       
       
ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์

       
        
       
       



 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544