หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 352
24 ธันวาคม 2560 15:20 น.
"ปัญหาการลงมติเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้ง"
       
       ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการได้มาซึ่งกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 2 คนที่มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
       ก่อนที่จะไปพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ลองมาดูข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก่อน
       มาตรา 222 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คนโดยมีที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาจำนวน 5 คนและมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 คน
       
       มาตรา 222 คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลดังต่อไปนี้
                   (1) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่าง ๆ ที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา จำนวนห้าคน
                   (2) ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวนสองคน
                   ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้งตาม (1) ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 232(2) (3) (4) (5) (6) หรือ (7) หรือเป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด
       
       มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติถึงเรื่องการคัดเลือกหรือการสรรหากรรมการการเลือกตั้งเอาไว้ว่า กรรมการการเลือกตั้งที่มีที่มาทั้ง 2 แบบคือ มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาจำนวน 5 คนและจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 คนในการสรรหาหรือคัดเลือก มาตรา 12 วรรคสาม ได้กำหนดเอาไว้ว่าให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย
        
       มาตรา 12 ในการสรรหากรรมการ ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ มีพฤติกรรมทางจริยธรรม เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม และไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสําเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาดําเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้ โดยคํานึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
                   ให้นําความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาด้วยโดยอนุโลม
                   ในการสรรหาหรือคัดเลือก ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผยและให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย
                   ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา
                   ผู้ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกา
                   ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคสี่หรือวรรคห้า หรือมีแต่ยังไม่ครบจํานวนที่จะต้อง สรรหาหรือคัดเลือก ให้มีการลงคะแนนใหม่สําหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสามหรือไม่เกินกึ่งหนึ่ง แล้วแต่กรณี ถ้ายังได้ไม่ครบตามจํานวนให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจํานวนที่จะต้องสรรหาหรือคัดเลือก ให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่สําหรับจํานวนที่ยังขาดอยู่
                   เมื่อคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสรรหาหรือคัดเลือกได้บุคคลใดแล้วให้เสนอชื่อ ไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกนั้นต้องได้รับความเห็นชอบ จากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าท่ีมีอยู่ของวุฒิสภา
                   ในกรณีท่ีวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใด ให้ดําเนินการสรรหา หรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทนผู้นั้นแล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
                   เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตําแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับกรรมการซึ่งยังไม่พ้นจากตําแหน่ง ถ้ามี เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือก แต่เมื่อรวมกับกรรมการซึ่งยังดํารงตําแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจํานวนถึงห้าคน ก็ให้ดําเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งต้ังแล้ว ให้คณะกรรมการดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเพิ่มเติมให้ครบตามจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือกต่อไปโดยเร็ว
                    ในการสรรหาเพิ่มเติมตามวรรคเก้า ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหาชุดเดิมเป็นผู้ดําเนินการ
                   ให้ประธานวุฒิสภานําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
       
       นี่คือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการลงมติเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้งครับ
       ส่วนข้อเท็จจริงนั้น มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
       
       ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คนนั้น คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เลือกผู้ที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งจำนวนห้าคนไปแล้วเมื่อต้นเดือนธันวาคม เช่นเดียวกับในส่วนของศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวนกว่า 150 คนได้เลือกผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 2 คนไว้เรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกันเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม มีข่าวปรากฎตามสื่อต่างๆว่า กระบวนการการสรรหาหรือการคัดเลือกกรรมการการเลือกตั้งของศาลฎีกาที่มาตรา 12 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 กำหนดให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย ในการคัดเลือกตัวแทนจากศาลฎีกาในครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2560 กลับเป็นการลงคะแนนลับ ขณะเดียวกัน การเลือกตัวแทนจากศาลฎีกาในวันที่6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นการลงคะแนนโดยลับอีกครั้งหนึ่ง เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อมาตรา 12 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งพ.ศ. 2560
       ต่อมา ศาลฎีกาก็ได้เสนอชื่อบุคคลทั้งสองต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้ทำหนังสือขอคำยืนยันถึงกระบวนการลงมติการคัดเลือกกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ในสัดส่วนของศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาก็ได้มีหนังสือยืนยันว่า กระบวนการดังกล่าวทำโดยถูกต้องตาม
       พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 และรัฐธรรมนูญทุกประการ
       เมื่อศาลฎีกายืนยันมาเช่นนี้ วันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงได้มีมติรับรองรายชื่อว่าที่กรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ทั้ง 7 คน ทั้งที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาจำนวน 5 คนและมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 คน ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 7 คน คณะกรรมาธิการจะต้องตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวเพื่อเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบภายใน 45 วัน
       
       ทั้งหมดคือข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเรื่องของการได้มาซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
       
       กระบวนการลงมติคัดเลือกกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ในสัดส่วนของศาลฎีกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการลงคะแนนโดยเปิดเผยนั้นเป็นเรื่องที่น่าจะมีปัญหาในวันข้างหน้าหากไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน
       ไม่ทราบว่าเรื่องนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หากคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลทั้ง 7 คนมีมติรับรองความประพฤติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ทั้ง 7 คนดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง ต่อมาในวันข้างหน้า เมื่อมีการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจหยิบยกประเด็นเรื่องที่มาของกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 2 คน ที่ยังไม่มีข้อยุติอย่างชัดเจนขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้เพื่อที่จะลบล้างความมีอยู่ของกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 2 คนได้ เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงในสภาพสังคมที่ยังมีขัดแย้งกันอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา
       มีทางแก้ปัญหาหรือทางออกในเรื่องนี้อยู่หลายแนวทางด้วยกัน แต่บางแนวทางก็ไม่สามารถย้อนกลับไปทำได้แล้ว เช่น เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีหนังสือขอคำยืนยันไปที่ศาลฎีกาและเพื่อความชัดเจนไม่ให้เรื่องดังกล่าวอาจกลายเป็นปัญหาระดับชาติได้ในอนาคต ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็อาจเริ่มกระบวนการคัดเลือกใหม่และลงมติอย่างเปิดเผยตามแนวทางปฏิบัติขององค์กรอื่นที่มีการลงมติอย่างเปิดเผย เช่น องค์กรรัฐสภา เป็นต้น แต่ในปัจจุบัน การดำเนินการทั้งหมดได้ผ่านขั้นตอนนั้นไปแล้ว ในความเห็นผม แนวทางที่เป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวและทำให้เกิดความชัดเจนของการได้มาซึ่งกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 2 คนจากศาลฎีกาก็คงอยู่ตรงที่ว่าต้องมีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 210 (3) ซึ่งคนที่จะไปร้องศาลรัฐธรรมนูญได้น่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันที่เป็นคนยกประเด็นนี้ขึ้นมาว่าเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
       
       มาตรา 210 ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
       (1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย
       (2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
       (3) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
              การยื่นคำร้องและเงื่อนไขการยื่นคำร้อง การพิจารณาวินิจฉัย การทำคำวินิจฉัยและการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
             ให้นำความในมาตรา 189 มาตรา 190 มาตรา 191 และมาตรา 193 มาใช้บังคับแก่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม
       
       คงมีเรื่องให้คิดต่อไปอีกมากว่า หากคณะกรรมการการเลือกตั้งใช้ช่องทางตามมาตรา 210 (2) เสนอเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญแต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับไว้พิจารณาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เรื่องดังกล่าวก็คงยุติลงอย่างเด็ดขาดแบบคลุมเครือ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา ก็จะมีประเด็นต้องคิดต่อไปอีกว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การดำเนินการของศาลฎีกาขัดต่อมาตรา 12 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง
       แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กระบวนการลงมติของศาลฎีกานั้นเป็นไปโดยสอดคล้องกับมาตรา 12 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตรงนี้ก็คงจะยุ่งอีกเหมือนกันเพราะว่าในอนาคต คงต้องย้อนกลับไปดูกระบวนการในการใช้วิธีลงคะแนนต่างๆทั้งหมดที่ต้องทำโดยเปิดเผย คงหนีไม่พ้นว่าต่อไปนี้การลงคะแนนต่างๆที่ต้องใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผยต้องยึดตามแนวทางที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ดำเนินการไปแล้วครับ !!!!!
        
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง กฎ UEFA Financial Fair Play กับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในสหภาพยุโรป  ที่เขียนโดย อาจารย์ปีดิเทพ อยู่ยืนยง แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บทความที่สอง เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่องยึดเงียบราชการส่วนภูมิภาค ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองบทความด้วยครับ
        
       บทบรรณาธิการนี้เป็นบทบรรณาธิการครั้งสุดท้ายของปี พ.ศ. 2560 ขอให้ปี พ.ศ. 2561 เป็นปีที่ดีของประเทศไทยและของพวกเราทุกคนครับ
        
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
        


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544