หน้าแรก บทความสาระ
สิทธิได้รับค่าเช่าบ้านต้องเป็นไปตามเงื่อนเวลา
คุณัฐวุฒิ สุขแสวง นักบริหารงานท้องถิ่นระดับกลาง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล น.บ.,รป.ม.
21 มกราคม 2561 15:12 น.
 
สิทธิที่จะได้รับค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าเช้าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 ซึ่งตามระเบียบฯดังกล่าว กำหนดว่า  “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล และพนักงานส่วนตำบล “ท้องที่” หมายความว่า อำเภอ กิ่งอำเภอ หรือท้องที่ของอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดให้เป็นท้องที่เดียวกัน ส่วน “ท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรก” หมายความว่า ท้องที่ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการหรือมีคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการ และได้มีการรายงานตัวเพื่อปฏิบัติราชการตามระเบียบนี้เป็นครั้งแรก และ “ท้องที่ที่กลับเข้ารับราชการใหม่” หมายความว่า ท้องที่ที่กลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามระเบียบนี้ สิทธิการเบิกค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น[1] เกิดจากการที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำใน สำนักงานในต่างท้องที่ มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านซึ่งจะต้องจ่ายจริงตามสมควรแก่สภาพบ้านสภาพ อย่างสูงต้องไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้าน โดยมีข้อยกเว้นคือ 1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดที่พักอาศัยให้ และ 2. มีเคหะสถานอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือคู่สมรสในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่โดยไม่มีหนี้ค้างชำระกับสถาบันการเงิน เดิมทีเดียวก่อนมีการใช้บังคับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551) มีข้อยกเว้น ที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ไม่สามารถใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามระเบียบดังกล่าว ที่กำหนดว่า ข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ ต่อมาได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานใหม่ในท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกหรือท้องที่ที่กลับเข้ารับราชการใหม่ ยกตัวอย่างเช่น นาย ดำ เริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2530 ได้รับการบรรจุแต่งตั้งที่ เทศบาลเมืองคลองหลวง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ต่อเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2542ได้รับคำสั่งให้โอน (ย้าย) ไปรับราชการที่เทศบาลเมืองคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี  จากนั้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน2547นายดำ ได้โอน (ย้าย)กลับมาที่เทศบาลเมืองคลองหลวง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรก)[2] อย่างนี้ นายดำ ไม่สามารถใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้ ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้แก้ไขระเบียบว่าด้วยค่าเช่าบ้านกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551ที่กำหนดให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ที่เป็นท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกหรือท้องที่ที่กลับเข้ารับราชการใหม่ด้วย[3] เช่น นายดำ เริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2530 ได้รับการบรรจุแต่งตั้งที่ เทศบาลเมืองคลองหลวง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ต่อเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2542ได้รับคำสั่งให้โอน (ย้าย) ไปรับราชการที่เทศบาลเมืองคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี    จากนั้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 นายดำ ได้โอน (ย้าย) กลับมาที่ เทศบาลเมืองคลองหลวง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรก) กรณีเช่นนี้ นายดำ สามารถใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้ (สังเกตว่าย้ายมาหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ซึ่งเป็นวันมีผลใช้บังคับ) ดังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา ดังนี้
       
                คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.2160/2559 ได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไว้โดยมีข้อเท็จจริงว่า นาย ช. (ผู้ฟ้องคดี) เริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2530 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สังกัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2542 ได้โอน (ย้าย)ไปอยู่ที่เทศบาลตำบลอีกแห่งหนึ่ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้นเมื่อวันที่ 30กันยายน 2547 ได้มีคำสั่งให้นาย ช. โอน (ย้าย) กลับมาสังกัดเทศบาลนครแห่งเดิม อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช (ที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรก) ต่อมาผู้ฟ้องคดี ได้ทำสัญญากู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อซื้อที่ดินและอาคารตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 นาย ช ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อ เป็นประกันเงินกู้ไว้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ต่อมา นาย ช.(ผู้ฟ้องคดี)มีบันทึกข้อความ ลงวันที่ 4 มกราคม 2555 ขออนุมัติเบิกค่าเช่าบ้าน บ้านเลขที่ 8/619 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 เสนอต่อปลัดเทศบาล ผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดี (นายกเทศมนตรี)  คณะกรรมการตรวจสอบบ้านเช่าได้ทำการตรวจสอบแล้วมีความเห็นว่า นาย ช (ผู้ฟ้องคดี) ขอเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อผ่อนชำระกับสถาบันการเงินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2551 ปลัดเทศบาลจึงได้มีคำสั่งอนุมัติให้ นาย ช.(ผู้ฟ้องคดี)เบิกค่าเช่าบ้าน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 นาย ช.(ผู้ฟ้องคดี)จึงได้ยื่นแบบขอเบิกค่าเช่าบ้านประจำเดือนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2552 เดือนละ 3,500 และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552ถึง 31 ธันวาคม 2554  เดือนละ 4,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 167,000 บาท จากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดี(นายกเทศมนตรี) ได้มีหนังสือหารือการเบิกเงินค่าเช่าบ้านของ นาย ช. (ผู้ฟ้องคดี) ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และได้ชะลอการเบิกค่าเช่าบ้านไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับหนังสือตอบข้อหารือ  ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ตอบข้อหารือการเบิกค่าเช่าบ้าน ความว่า เมื่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ข้อ 5กำหนดว่า สิทธิของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำในสำนักงานในท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกหรือท้องที่ที่กลับเข้ารับราชการใหม่ ให้เริ่มมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการ เมื่อได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ ตั้งแต่วันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ โดยระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2551 นาย ช (ผู้ฟ้องคดี) จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ปลัดเทศบาลนคร จึงสั่งการให้ส่งเรื่องคืนและแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามบันทึกข้อความ ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดี แต่ไม่ได้รับการพิจารณาอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อ 6 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 3 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเท่าที่ต้องจ่ายจริง ประกอบกับข้อ 12 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 ยังกำหนดข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตั้งแต่วันที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้นั้นได้เช่าอยู่จริงแต่ไม่ก่อนวันที่รายงานตัวเพื่อเข้ารับหน้าที่ การพิจารณาเฉพาะข้อ 5 ของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 จึงไม่ถูกต้อง และพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านของข้าราชการ (ฉบับที่2) พ.ศ.2550กับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ต่างมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สิทธิสำหรับข้าราชการที่ได้รับคำสั่งให้ไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของข้าราชการเรื่องที่พักอาศัยอันเนื่องมาจากราชการเป็นเหตุ โดยไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้สิทธิแก่ข้าราชการที่ได้รับคำสั่งตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับตามที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัย นั้น เห็นว่า แม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะเป็นผู้ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำในสำนักงานในต่างท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกหรือท้องที่ที่กลับเข้ารับราชการใหม่ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 6 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 และอาจมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อ 12 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 ก็ตาม แต่การที่ผู้ฟ้องคดีจะมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านหรือไม่ ย่อมต้องเป็นไปตามเงื่อนเวลาของการเริ่มมีสิทธิ ตามข้อ 5 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 กำหนดไว้ด้วย กรณีจึงไม่อาจพิจารณาข้อ  6 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น(ฉบับที่2) พ.ศ.2551 และข้อ 12 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 ตามที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้างได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งให้เดินทางไปดำรงตำแหน่งรองปลัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช สำนักงานเทศบาลนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรก เมื่อวันที่ 30กันยายน 2547 อันเป็นเวลาที่ก่อนระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับ โดยระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2551เป็นต้นไป ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อ 5 ของระเบียบดังกล่าว ทั้งนี้ แม้ว่ากฎหมายว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการจะมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องที่พักอาศัยของข้าราชการอันเนื่องมาจากราชการเป็นเหตุก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวก็ได้มีการกำหนดเงื่อนเวลาในการได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ไว้ด้วย การพิจารณาสิทธิของผู้ฟ้องคดีจึงต้องพิจารณาให้ครบเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง ดังนั้น คำสั่งของผู้ฟ้องคดี (นายกเทศมนตรีนคร) ที่แจ้งการไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านของ นาย ช.(ผู้ฟ้องคดี) จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจรับฟังได้
       
                การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นฟ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น
                พิพากษายืน
       
                คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ได้ไว้วางบรรทัดฐานในเรื่องค่าเช่าบ้านไว้เป็นอย่างดี ในประเด็นผลแห่งการใช้บังคับตามระเบียบ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของเวลา ที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ข้อ 5 กำหนด ดังนั้น ข้าราชการส่วนท้องถิ่นจะมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน กรณีได้รับคำสั่งไปประจำสำนักงานในท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกหรือท้องที่ที่กลับเข้ารับราชการใหม่ ให้เริ่มมีสิทธิการได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเมื่อได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ตั้งแต่วันที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551[4] มีผลใช้บังคับ กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นไป
        
       ____________________________
        
       
       

       
       

       
       

       [1] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับ 2) พ.ศ.2551 ข้อ 6

       
       

       [2] อ้างแล้ว ข้อ 6 (3)

       
       

       [3] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าเช่าบ้านของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับ 2) พ.ศ.2551 ข้อ 6  วรรคสอง

       
       

       [4] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 85  ง  21  พฤษภาคม 2551

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544