หน้าแรก บทความสาระ
ความรับผิดของกรรมการบริหารพรรคการเมือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
24 มิถุนายน 2561 15:48 น.
 
คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบหรือองคาพยพหนึ่งที่สำคัญที่พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องมี แน่นอนว่าเมื่อเป็นตำแหน่งที่สำคัญหากเกิดการผิดพลาดหรือมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น กรรมการบริหารพรรคฯก็ย่อมจะต้องมีความรับผิดที่สำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งผมจะนำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการบริหารพรรคฯที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้กำหนดข้อห้ามและบทลงโทษไว้ มาเสนอในส่วนที่สำคัญๆ ดังนี้
       1. ถูกกกต.ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง 20 ปี หากเพิกเฉยเมื่อรู้ว่าสมาชิกพรรคฯกระทำผิดในการเลือกตั้งส.ส.หรือการเลือกส.ว.
       เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าคณะกรรมบริหารไม่มีมติหรือสั่งการให้สมาชิกฯยุติการกระทำอันอาจมีลักษณะที่อาจทําให้การเลือกตั้ง(ส.ส.)หรือการเลือก(ส.ว.)มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้คณะกรรมการพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ คำสั่งดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดังกล่าวดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองจนกว่าจะพ้นเวลา 20 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง(มาตรา 22 วรรคสี่)
       และหากกรรมการบริหารฯที่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวกระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการตามสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และหากไปมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่นหรือการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองจะต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 140,000 บาท ถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(มาตรา 22วรรคหกและมาตรา 105)
       2.สรรหาผู้สมัคร ส.ส.,ส.ว.ไม่เป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
       หากหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารฯไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 50 (ว่าด้วยวิธีการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง)และมาตรา 51(ว่าด้วยวิธีการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ)จะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาทและถูกศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี(มาตรา 52 และมาตรา 117)
       3.ยักยอกเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค
       หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสมาชิกผู้ใดได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องแจ้งให้พรรคการเมืองทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ และให้พรรคการเมืองออกใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เป็นหนังสือให้แก่ผู้บริจาคเป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด กิจกรรมที่ว่านี้หมายความรวมถึงการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด สมาชิก หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้(พูดง่ายๆว่าอุ๊บอิ๊บเอาไปเป็นของตนเองว่างั้นเถอะ)ต้องถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง(มาตรา 67 และมาตรา 122)
       4.ให้เงินหรือทรัพย์สินแก่ ส.ส.ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด
       ในกรณีที่พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมืองหรือบุคคลใดให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าจะให้เป็นประจำหรือเป็นครั้งคราว ถ้าการให้หรือรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้น ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 (ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่)หรือมาตรา 149 (ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่) ให้พรรคการเมืองหรือบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงการให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและ   ถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น(เข้าใจง่ายๆว่าห้ามแอบให้เงิน(เป็นเดือน/เป็นก้อน)หรือทรัพย์สินแก่ ส.ส.นั่นเอง)(มาตรา 88 วรรคหนึ่งและมาตรา 134)
       5.นำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคฯไปใช้นอกจากที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
       ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารฯที่จะต้องตรวจสอบและควบคุมมิให้มีการนำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 84(เงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนพัฒนาการเมือง) มาตรา 87(ค่าใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิกและค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง)พรรคการเมืองต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การดําเนินกิจกรรม)และมาตรา 88 (ตามข้อ 4)ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ(มาตรา 89 และ มาตรา 136)
       6.ถูกยุบพรรคแล้วยังไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคฯใหม่หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคฯขึ้นใหม่อีก
       ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 140,000 บาท ถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(มาตรา 94 วรรคสองและมาตรา 105)
       เอาเฉพาะที่สำคัญๆเท่านี้ก่อนนะครับ แค่นี้กรรมการบริหารพรรคฯและว่าที่กรรมการบริหารพรรคฯคงหนาวๆร้อนๆไปตามๆกันนะครับ นี่ยังไม่รวมที่จะต้องอยู่ชำระชำระบัญชีหรือผู้ที่รู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการบริหารและตำแหน่งแต่ยังยินยอมรับการแต่งตั้งฯอีกด้วยน่ะครับ
       ตำแหน่งก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดครับ 
       --------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544