หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 14
14 ธันวาคม 2547 14:59 น.
"วิพากษ์ตำรากฎหมายมหาชน"
       ผ่านไปแล้วสำหรับการพิจารณาคดี "ซุกหุ้น" ของนายกรัฐมนตรีโดยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งก็เป็นไปตามที่ผมได้กล่าวไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไรก็คงหนีไม่พ้นคำวิจารณ์
       มีผู้สอบถามผมเป็นการส่วนตัวรวมทั้งส่งคำถามเข้ามายัง pub-law.net มากมายเกี่ยวกับความเห็นของผมที่มีต่อผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าว ในฐานะนักวิชาการคนหนึ่งนั้นผมคงรอคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ครบทุกคนก่อนแล้วจึงค่อยลงมือทำการศึกษาอย่างละเอียดต่อไป ส่วนผู้ที่ส่งคำถามเข้ามายัง pub-law.net นั้นผมคงไม่ตอบด้วยเหตุผลสองประการคือ ประการแรกนั้น ผมยังอยากรักษา pub-law.net ไว้ให้เป็น website ที่มีลักษณะ "วิชาการแท้ๆ" อยู่ และในประการที่สอง ผมเห็นว่าวันนี้มีผู้ออกมาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวมากพอแล้วในสังคมไทย หากจะมีผู้สงสัยก็คงหาคำตอบจากบรรดาผู้รู้เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ดังนั้น สำหรับบรรดาคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับคดี "ซุกหุ้น" ผมจึงขอละเว้นที่จะไม่ตอบ ส่วนคำถามอื่นนั้นขอเชิญอ่านคำตอบได้แล้วในเวทีทรรศนะ
       เมื่อสองสามวันก่อนผมได้เข้าไปเดินในศูนย์หนังสือจุฬาฯเช่นปกติ ผมรู้สึก "ยินดี" เป็นอย่างมากที่เห็นมีหนังสือออกใหม่หลายๆเล่มเกี่ยวกับกฎหมายมหาชน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพลิกดูด้านในก็รู้สึกผิดหวังที่ "สาระ" ของหนังสือดังกล่าวมิได้มีอะไรแปลกใหม่ บางเล่มนำเอากฎหมายมาอธิบายซึ่งผมเองก็ไม่ทราบว่า "ผู้อธิบาย" นั้นมีความ "สามารถ" พอที่จะอธิบายได้หรือไม่ ทุกวันนี้ ในฐานะอาจารย์ ผมยังอยากเห็นตำราทางวิชาการด้านกฎหมายมหาชนที่เกิดจากการศึกษาและค้นคว้าเปรียบเทียบกับของต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะระบบกฎหมายมหาชนของเราเพิ่งจะเริ่มต้นอย่างจริงจังมาไม่นาน และเรายังขาดแคลนตำราที่ดีในหลายๆเรื่องอยู่ ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ด้านกฎหมายมหาชนให้ดียิ่งขึ้น จึง
       สมควรที่บรรดา "ผู้รู้" ทั้งหลายจะช่วยกันผลิตตำราที่ดีและมีคุณภาพเพื่อสังคมต่อไป
       ส่วนหนังสือหลายๆเล่มที่ "ตัดแปะ" หรือ "อธิบายกฎหมาย" โดยการเอาตัวบทมาขยายความนั้น เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งเพราะหากสำนักพิมพ์ใช้ "เงิน" ที่พิมพ์หนังสือเหล่านั้นไปจัดพิมพ์หนังสือที่มี "คุณภาพ" หรือนิสิตนักศึกษาจะใช้ "เงิน" ที่ซื้อหนังสือเหล่านั้นไปซื้อหนังสือที่มี "คุณภาพ" มาตรฐานทางวิชาการของเราคงจะพัฒนาการไปได้ไกลกว่านี้เป็นแน่ ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงอยากขอ "ฝาก" ข้อแนะนำเล็กๆน้อยๆสำหรับทุกฝ่ายไว้ว่า สำหรับสำนักพิมพ์ นั้นการผลิตหนังสือไม่มีคุณภาพออกมาจะสะท้อนถึง "มาตรฐาน" ของสำนักพิมพ์ ส่วน ผู้รวบรวม (ผู้คัดลอก ผู้ดัดแปลง ฯลฯ แล้วแต่จะเรียก) นั้น อาจได้ "ชื่อ" ว่ามีหนังสือในท้องตลาด แต่การได้ชื่อนั้นจะทำให้น่า "ภูมิใจ" ยิ่งไปกว่านี้หากผลงานนั้นเป็นผลงานที่มีคุณภาพ เกิดขึ้นจากการศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ ส่วนผู้ซื้อนั้น ก่อนที่จะ "ถูกหลอก" กรุณาใช้วิจารณญาณให้เต็มที่เปิดดูสารบัญและสาระต่างๆให้ละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อหนังสือ "ประเภท" เหล่านั้น และนอกจากนี้ "หน่วยงาน" ที่ผู้รวบรวมชอบนำมาใส่ไว้ท้ายชื่อของตนเองเพื่อแสดงให้เห็นว่าตน "ทำงาน" ที่นั่นควรจะมีมาตรการอะไรบางอย่างเพื่อปกป้อง "ชื่อเสียง" ของหน่วยงานที่มาปรากฏอยู่บนปกของหนังสือ "ประเภทนั้น"
       ในสัปดาห์นี้ เราไม่มี "บทสัมภาษณ์" เพราะผมมัวแต่ยุ่งกับการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์สิบกว่าเล่ม คงต้องขอหยุดไปชั่วคราวก่อนสักระยะหนึ่ง ส่วนบทความนั้นในสัปดาห์นี้เรามีบทความ 3 เรื่องด้วยกันโดยในเรื่องแรกยังคงเป็นตอนต่อไปของบทความของมเรื่อง "ศาลรัฐธรรมนูญในประเทศฝรั่งเศส" ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ นอกจากบทความของผมแล้ว ในสัปดาห์นี้ผมได้นำบทความ "คลาสสิก" ทางด้านกฎหมายมหาชนชื่อ "นักนิติศาสตร์หลงทางหรือ" ของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ บิดาแห่งกฎหมายมหาชนของไทยมาลงไว้ ณ ที่นี้ด้วย แล้วเพื่อให้นักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ได้อ่านและรับทราบ "แนวความคิด" ของการพัฒนากฎหมายมหาชนในบ้านเรา ซึ่งบทความดังกล่าวได้พิมพ์เผยแพร่ในวารสารกฎหมายปกครองของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อปี พ.ศ.2533 แต่ก็ยังเป็นบทความที่นับได้ว่า "ร่วมสมัย" อยู่ตลอดเวลา ส่วนบทความสุดท้ายจะเป็นบทความจะเป็นบทความขนาดยาว 3 ตอนจบเรื่อง "การเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีเกิดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ" ของ ผศ.มานิตย์ จุมปา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลงานด้านกฎหมายมหาชนออกมาจำนวนหนึ่งในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากบทความทั้ง 3 แล้ว ในสัปดาห์นี้การตอบคำถามในเวทีทรรศนะก็ยังคงเป็นไปตามปกติ มีคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญและการวินิจฉัยคดีซุกหุ้นซึ่งผมขอไม่ตอบเนื่องจากปัจจุบันกลายเป็นปัญหาที่มีลักษณะการเมืองไปแล้ว ผมยังอยากให้ pub-law.net รักษามาตรฐาน website ทางวิชาการไว้อย่างเหนียวแน่นต่อไป ส่วนการแนะนำหนังสือเราก็มีการแนะนำหนังสือ 2 เล่มซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักพิมพ์วิญญูชน การปรับเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการอื่นๆใน website ก็ยังคงเป็นไปตามปกติเพื่อความ "ทันสมัย" ของข้อมูล
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 17 กันยายน 2544
       
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544