หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 21
14 ธันวาคม 2547 15:28 น.
"ปีทองของนักกฎหมายมหาชน"
       เหลือเวลาอีกไม่กี่วันเราก็จะผ่าน ปี พ.ศ. 2544 ไปสู่ปี พ.ศ.2545 ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมานี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ปีทอง” ของกฎหมายมหาชน
       “ปีทอง” ของกฎหมายมหาชนนั้นมีความหมายหลายนัยด้วยกัน ในความหมายแรก เราจะเห็นได้ว่าในรอบปีที่กำลังจะผ่านไปเกิด “เหตุการณ์” สำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศาลปกครอง การพิจารณาคดีนายก
       รัฐมนตรี “ซุกหุ้น” โดยศาลรัฐธรรมนูญ การคัดเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ที่มี “เสียงสะท้อน” ที่ไม่สู้ดี และที่สำคัญที่สุดก็คือการเกิดขึ้นของ website กฎหมายมหาชนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย คือ pub-law.net ของเรา ส่วน “ปีทอง” ของกฎหมายมหาชนในความหมายต่อมานั้น หมายถึงเป็นปีที่นักกฎหมายมหาชนพากันเปลี่ยนงานและได้ดิบได้ดีไปตามๆกัน เกิดการถ่ายเทบุคลากรจากหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่ง สังเกตเห็นได้จากการสมัครเข้าสอบเป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั้งสองครั้งจะมีผู้ที่ “มีคุณสมบัติ” ตามกฎหมายกำหนดไปสมัครกันเป็นจำนวนกว่าพันคน คนที่สอบได้ก็สมหวังเพราะนอกจากจะเปลี่ยน “สถานะ” จากนิติกร ฯลฯ ไปเป็น “ตุลาการ” แล้วค่าตอบแทนที่สูงมากๆก็ทำให้ “คุณภาพชีวิต” ดีขึ้นไปด้วย
       หลายคนถามผมว่าทำไปผมไม่ไปสมัครสอบคัดเลือกเป็นตุลาการศาลปกครองกับเขาบ้าง ผมคิดว่าแต่ละคนต่างก็มีเหตุผลเฉพาะตัว ผมเคยถามเพื่อนอาจารย์ต่างมหาวิทยาลัยคนหนึ่งว่าทำไมไม่ไปสมัครสอบเป็นตุลาการศาลปกครอง เพื่อนผมตอบว่าเป็นอาจารย์ไปสอบถ้าตกขึ้นมาคงต้องเอาปี๊บคลุมหัวเดินแน่ๆ (ข้อเท็จจริงคือในการสอบคราวที่แล้วมีอาจารย์หลายคนสอบไม่ได้) แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลของผมเพราะหากถามผมว่าทำไมผมถึงไม่ไปสมัครสอบคัดเลือกเป็นตุลาการศาลปกครอง ผมก็จะตอบว่าผมมีเหตุผลหลายประการ ประการแรก ผมเคยชินกับชีวิตนักวิชาการที่อยากทำอะไรเมื่อใดก็ได้ ผมสนุกกับการเขียนหนังสือและทำ website สนุกกับการทำงานวิชาการที่คณะ สนุกกับการพูดคุยกับนิสิต สนุกกับการสอนหนังสือ สนุกกับการใช้เวลาระหว่างวันตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้น ผมจึงพอใจในการทำงานของผมในปัจจุบัน ประการต่อมานั้น ผมยังไม่พร้อมที่จะ “ทิ้งคณะ” ไป เพราะในเวลานี้อาจารย์ที่พอจะสอนกฎหมายมหาชนได้ก็เหลือน้อยเต็มทน หากผมไปอีกคนก็จะสร้างความลำบากให้กับคณะและอาจารย์ที่เหลืออยู่พอสมควร ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจอยู่คณะต่อไปอีกสักระยะหนึ่งจนกว่าคณะจะมีอาจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชนเพิ่มมากขึ้นจึงค่อยคิดขยับขยายต่อไป เหตุผลประการสุดท้ายที่จะขอกล่าวในที่นี้ก็คือ ผมคิดว่าจุดสูงสุดของการเป็นนักวิชาการ คือ การได้ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ซึ่งผมเองก็มีความประสงค์ที่จะเป็น “ศาสตราจารย์” เช่นอาจารย์รุ่นพี่ๆทั้งหลายที่ทำสำเร็จมาแล้ว ดังนั้น ผมจึงยังไม่คิดที่จะไปไหนทั้งนั้นหากยังไม่สามารถขึ้นไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการได้
       ช่วงนี้คงต้องขอโทษผู้ใช้บริการที่ไม่สามารถตอบสนอง “ความอยาก” ทางวิชาการได้อย่างเต็มที่ เวลาที่มีอยู่ในแต่ละวันหมดไปกับการทำงานในฐานะรองคณบดีฝ่ายวิชาการจนแทบจะไม่มีเวลาผลิตผลงานทางวิชาการออกมาให้ประชาชนทั่วไปได้อ่าน ผมมานั่งนึกๆดูแล้วก็กลุ้มใจและหนักใจแทนตัวผมเองเพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการเลย สี่ห้าปีที่ผ่านมาผมมีชีวิตอย่างสงบ นั่งทำงานได้ทั้งวันโดยไม่มีใครมายุ่งแต่ตอนนี้ทุกอย่างที่ผมเคยมีหายไปหมด ชีวิตมีแต่ความวุ่นวายจนหาความสงบในการทำงานไม่ได้ ผมคงต้องรอระยะเวลาสัก 3-4 เดือน ให้ทุกอย่างเข้าที่ก่อนที่จะสรุปว่าจะสามารถทำงานทั้งหลายโดยไม่เสียงานใดงานหนึ่งได้หรือไม่
       ในสัปดาห์นี้ pub-law.net ได้ลงบทความของผมเรื่อง “ประชาชนกับการใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายและข้อบัญญัติท้องถิ่น” ซึ่งเป็นตอนที่ 2 ของบทความ นอกจากนี้แล้วเรายังมีการแนะนำหนังสือใหม่ 1 เล่มและหนังสือเก่าที่มีคุณค่าอีก 1 เล่ม ซึ่งผู้สนใจสามารถดูได้ใน “หนังสือตำรา” เรายังมีการตอบคำถามหลายๆคำถามใน “เวทีทรรศนะ” ซึ่งบางคำถามที่ถามมาแล้วผมไม่ตอบนั้นหมายความว่าเป็นคำถามที่มิใช่เป็นกฎหมายมหาชน ผมขอถือโอกาสใช้หน้าบรรณาธิการนี้ขอบคุณคุณ Chawalit Sawetsud สำหรับชื่อ website
       รัฐธรรมนูญของต่างประเทศซึ่งผมได้ขอให้ webmaster ใส่ไว้ใน “ลิงค์กฎหมาย” แล้ว คุณ Chakkrit Sanitphuang นักศึกษาปริญญาโท รามคำแหง ขอเบอร์โทรศัพท์ผมที่คณะ 0-2218-2017 คุณ Piyasart Kwaiphan จากฝรั่งเศส ขอให้ลงบทความไทยที่เป็นภาษาต่างประเทศ ก็ขอตอบว่าจะพยายามหามาลงให้ครับ ก่อนจะจบบทบรรณาธิการนี้ก็ต้องขอโทษที่การเปลี่ยนแปลงในสัปดาห์นี้อาจน้อยไปสักนิด แต่ก็ขอความเห็นใจจากผู้อ่านด้วยเพราะผมนั้นจะแย่อยู่แล้ว วันๆหนึ่งทำงานไม่รู้กี่ชั่วโมงครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2544
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
       คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544