หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 24
14 ธันวาคม 2547 18:19 น.
"นักวิจัยหรือนักล่างานวิจัย"
       
เรื่องร้อนที่สุดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ เรื่องการแปรสัญญาสัมปทานที่มีการนำเอาผลการวิจัยของมูลนิธิสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกมาขยายผลซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
       ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยสำหรับผมนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมเคยบ่นกับเพื่อนๆและลูกศิษย์บางคนฟังอยู่เสมอถึงมาตรฐานของงานวิจัยและตัวผู้วิจัย ในแวดวงวิชาการเราค่อนข้างที่จะใกล้ชิดกับงานวิจัยเป็นอย่างมาก เพราะมักจะมีผู้ "ว่าจ้าง" ให้นักวิชาการทำอยู่เสมอๆ แต่ภายใต้การ "ว่าจ้าง" เหล่านั้นส่วนใหญ่มักจะมีบางอย่าง "แอบแฝง" อยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ว่าจ้างหรือฝ่ายผู้ถูกว่าจ้าง สิ่งที่แอบแฝงนั้นอาจเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ขึ้นอยู่กับ "วัตถุประสงค์" ของแต่ละคน แต่อย่างไรก็ตาม นักวิชาการกับงานวิจัยก็คงต้องเป็นสิ่งคู่กันต่อไปไม่ว่าจะมีอะไร "แอบแฝง" อยู่หรือไม่ ที่ผมกล่าวในตอนต้นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจาการทำงานวิจัยสำหรับผมนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมค่อนข้างใกล้ชิดกับงานวิจัยพอสมควร ที่ว่าใกล้ชิดนั้นไม่ได้หมายความว่าผมทำงานวิจัยมากแต่หมายความถึงผมอยู่ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยหลายต่อหลายงาน ในบางครั้งผมรู้สึก "เสียใจ" แทนประเทศชาติที่หน่วยงานบางหน่วยงานจ้างนักวิชาการที่แม้จะเป็น "โชคดี" ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแต่ก็เป็นอาจารย์ที่ "ไม่ได้มาตรฐาน" ไม่ว่าจะเป็น "พื้นฐานการศึกษา" หรือแม้กระทั่ง "การสอนหนังสือ" ก็มีปัญหา มีอาจารย์หลายคนที่จับกลุ่มกันหางานวิจัยโดยน่าจะเรียกได้ว่าเป็นอาชีพหลัก ผลงานวิจัยของคนเหล่านี้ออกมาจะไม่มีอะไรแปลกใหม่ มีการเสนอขอแก้กฎหมาย เสนอให้เพิ่มความรู้แก่หน่วยงานหรือประชาชน ฯลฯ ที่น่าแปลกใจก็คือ แม้บางคนจะไม่ได้ "เรียน" มาในสาขาหนึ่งโดยตรงแต่ก็สามารถทำงานวิจัย "ข้ามสาขา" ได้อย่างไม่เคอะเขิน และที่น่าแปลกใจไปกว่านี้อีกก็คือหน่วยงานเหล่านั้นสามารถ "ว่าจ้าง" บุคคลเหล่านั้นทำงานวิจัยได้หลายต่อหลายเรื่องอย่างต่อเนื่องในลักษณะผูกขาด เรื่องเหล่านี้แม้จะไม่มีคำตอบ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและเห็นๆกันอยู่ คือ สถาบันจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากผลการวิจัยเหล่านั้นหากเกิดปัญหาขึ้นดังเช่นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังประสบอยู่ในเวลานี้
       กลับมาเรื่องของเราดีกว่าเพราะอย่างน้อย pub-law.net ก็ไม่มี "นักวิจัย" ประเภท "นักล่าเงินรางวัล" โดด "ข้ามสาขา" มาแย่งผมทำ ที่ไม่แย่งก็คงเพราะเหตุผลประการเดียว คือ ทำ pub-law.net แล้วไม่ได้เงินเหมือนทำงานวิจัย ลองทำแล้วรวยป่านนี้นักอื่นๆที่ไม่ใช่นักกฎหมาย มหาชนคงโดดลงมาทำแข่งกับผมหรือแย่ง pub-law.net ไปจากผมแล้วก็เป็นไปได้ ในสัปดาห์นี้ผมได้รับเกียรติจาก คุณนพดล เฮงเจริญ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ได้กรุณาให้ สัมภาษณ์ ถึงบทบาทและหน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นองค์กรสำคัญด้านกฎหมายมหาชนองค์กรหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนี้แล้ว เรายังได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ที่ได้กรุณาเขียนบทความเรื่อง "สัญญาทางปกครอง" โดยในตอนต้นของบทความได้มีการนำเอามติของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับคำอธิบายของสัญญาทางปกครองมานำเสนอไว้ก่อนที่จะเข้าสู่บทความ ส่วนสาระของบทความนอกจากจะประกอบด้วยทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบสัญญาทางปกครองแล้ว ยังมีการนำเอาเรื่องสัญญาทางปกครองในกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองมาอธิบายไว้ด้วย ส่วนบทความเรื่องหลักกฎหมายมหาชนว่าด้วยสัญญาทางปกครอง (ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี) ก็ได้นำลงต่อเป็นตอนที่ 2 นอกจากนี้เราก็ยังมีการตอบคำถามเพิ่ม มีการเพิ่มคำพิพากษาศาลปกครองและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใหม่ๆเพื่อความทันสมัยของข้อมูล และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เรามีการแนะนำหนังสือในคราวนี้หลายเล่ม มีทั้งหนังสือที่เกี่ยวกับกฎหมายปกครองและหนังสือที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญอีก 3 เล่มที่สำคัญๆ ซึ่งผมต้องขอขอบคุณสำนักงานศาลปกครอง สำนักพิมพ์นิติธรรมและสำนักพิมพ์วิญญูชนที่กรุณาส่งหนังสือที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนมาให้ ซึ่งผมก็จะค่อยๆอ่านและทยอยแนะนำเล่มที่ดีๆลงใน pub-law.net ต่อไป
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
       อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544