หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 26
14 ธันวาคม 2547 18:19 น.
"ถูกแทรกแซงทางวิชาการ : มาทำกับข้าวกันดีกว่า!!"
       
ผมรู้สึกใจหายกับการจากไปก่อนวัยอันควรของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พนม เอี่ยมประยูร แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของวงการกฎหมายมหาชนในบ้านเรา ผมขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัว เพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ของอาจารย์พนมฯ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม อาจารย์พนมฯ จะยังคงอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป ผมขอมอบโคลงบทนี้ให้กับอาจารย์พนมฯ ครับ ซึ่งเป็นโคลงเก่าแก่ของอังกฤษที่ผมประทับใจมาก
       
       Time is too slow for those who wait,
       too swift for those who fear,
       too long for those who grieve,
       too short for those who rejoice,
       but for those who love, time is eternity.
       
       บทบรรณาธิการในครั้งนี้ผมขอเสนอรายการอาหารพิเศษสำหรับนักกฎหมายมหาชนโดยผมจะพาผู้ใช้บริการเข้าครัวทำอาหารจานโปรดของผมกัน ทุกครั้งที่ไปฝรั่งเศสผมมักจะหาอาหารจานหนึ่งอยู่เสมอ นั่นคือ moules frites หรือหอยแมลงภู่อบและมันฝรั่งทอด อาหารจานนี้อร่อยแล้วก็ทำไม่ยากด้วย เครื่องปรุงก็มี หอยแมลงภู่ตัวเล็ก 1 กิโลกรัม มะเขือเทศชนิดปอกเปลือก 3 ลูก หอมหัวใหญ่ 2 ลูก กระเทียมสัก 20 กลีบ ผักชีฝรั่ง พริกไทย ผงกะหรี่ เนย ไวน์ขาวเศษหนึ่งส่วนสี่ขวด และผักฝรั่งอีก 3 ชนิด คือ parsley (ผักชีฝรั่ง) bay leaves และ thyme ซึ่งผักทั้ง 3 อย่างหลังนี้ปัจจุบันหาได้ในซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่มีการนำเข้าผักจากต่างประเทศหรืออาจซื้อแบบแห้งที่เป็นขวดก็ได้ แต่ถ้าไม่มีก็ลองดัดแปลงใส่ผักไทยที่ให้กลิ่นหอมเอาก็แล้วกันเพราะผัก 3 อย่างนี้เป็นผักที่ให้กลิ่นหอมครับ เมื่อได้เครื่องครบแล้วเรามาเริ่มลงมือทำหอยแมลงภู่อบผงกะหรี่กันเลยครับ ขั้นแรกต้องนำหอยแมลงภู่มาล้างให้สะอาดทั้งข้างในข้างนอกโดยต้องจับเปิดฝาออกล้างข้างใน อย่าลืมดึงเกสรหอยออกด้วยนะครับ ส่วนผิวข้างนอกนั้นเวลาทำผมจะใช้ scotch-brite ใหม่เอี่ยมมาขัดเพื่อให้สะอาดจริงๆ ล้างหอยเสร็จเรียบร้อยแล้วก็แช่น้ำเอาไว้ก่อนนะครับ ต่อไปก็จะเริ่มกระบวนการทำหอยแมลงภู่อบผงกะหรี่กันโดยนำกะทะแบบมีฝาปิดหรือจะใช้หม้อที่มีฝาปิดก็ได้นะครับ ใส่เนยลงไปพอประมาณพอเนยเริ่มเดือดก็ใส่หอมหัวใหญ่ที่สับเป็นชิ้นเล็กๆลงไปครึ่งหนึ่งของที่เตรียมไว้พร้อมกับกระเทียมสับและพริกไทย ต้องคอยดูไม่ให้ไฟแรงจนเกินไปเพราะจะทำให้เครื่องที่ใส่ลงไปไหม้ได้ พอกระเทียมเริ่มเป็นสีเหลืองก็ให้ใส่มะเขือเทศปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆที่เตรียมไว้ทั้งหมดลงไป ปล่อยทิ้งไว้สัก 2-3 นาทีจนกระทั่งส่วนผสมทั้งหลายในหม้อเริ่มเดือดจึงค่อยใส่ไวน์ขาวและผงกะหรี่จำนวน 2 ช้อนชาตามลงไปในหม้อ เมื่อส่วนผสมเริ่มเดือดอีกครั้งหนึ่งจึงค่อยใส่หอยแมลงภู่ลงไป จากนั้นก็ใส่พริกไทย กระเทียมและหอมหัวใหญ่ที่เหลือพร้อมทั้งใส่ผักฝรั่งเพื่อให้มีกลิ่นหอมตามลงไปด้วย ปิดฝาหม้อทิ้งไว้ 2 นาทีโดยใช้ไฟอ่อนๆ หอยพวกนี้สุกง่ายครับแต่ที่ต้องปิดฝาหม้อเอาไว้ก็เพื่อให้เครื่องปรุงทั้งหลาย “เข้าเนื้อ” น่ะครับ แต่อย่าทิ้งไว้นานเพราะจะทำให้เนื้อหอยเหนียวเกินไป ต่อมาก็นำหอยแมลงภู่มาใส่ในหม้อเหล็ก (cocotte) สำหรับทานโดยเสิร์ฟพร้อมมันฝรั่งทอด หากไม่มีหม้อเหล็กก็คงต้องใช้โถมีฝาปิดถึงจะเหมาะ เท่านี้แหละครับเราก็จะได้อาหารอร่อยจานหนึ่งทีเดียว ขอแนะนำอีกอย่างว่าที่ต้องล้างหอยให้สะอาดก็เพราะน้ำที่อยู่ในหม้อที่ได้มาจากการนึ่งหอยนั้นอร่อยมากๆเลยครับ สูตรนี้ผมได้มาจากคุณ Annette Hélin ภรรยาของ ศ.ดร.Jean-Claude Hélin นักกฎหมายมหาชนชื่อดังซึ่งเป็นอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งเมือง Nantes ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งคุณ Annette บอกว่าเป็นสูตรดั้งเดิมของครอบครัวเธอนะครับ
       อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมสัปดาห์นี้อาจารย์นันทวัฒน์ฯ จึงออกอาการผิดปกติที่ไม่เขียนบทบรรณาธิการตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้นเหมือนกับที่ผ่านมาตลอดเวลาเกือบปี หากอธิบายคงยาว เอาเป็นว่ามีบางคนคิดว่าบทบรรณาธิการผมเขียน “แรงไป” และไป “กระทบ” กับเขาเข้า ผมขี้เกียจอธิบายเรื่องดังกล่าวเพราะผมเข้าใจว่าเป็นเรื่อง วิธีคิด หรือ philosophy ของแต่ละคน ผมก็เลยขอแสดง “ศักยภาพ” ให้ผู้อ่านเห็นว่าเรื่องอื่นๆผมก็เขียนได้ ไม่ใช่เขียนเป็นแค่กฎหมายหรือการเมืองเท่านั้น (แต่ก็ไม่แน่นะครับ การเข้าครัวงวดนี้อาจมีผู้ตีความออกมาจนไปกระทบตัวเองเข้าอีกก็เป็นได้ น่าเบื่อนะครับ !)
       ผมขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับ “ความเป็นเจ้าของ” website นี้อีกครั้งหนึ่งเพราะอาจมีผู้เข้าใจผิดได้ ขอยืนยันว่า website นี้เป็น website “ของผม” แต่เพียงผู้เดียวโดยผมจัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือของเพื่อนนักวิชาการจากหลายสถาบันที่ให้ความช่วยเหลือในบางเรื่องบางครั้ง และจากความอนุเคราะห์ในหลายๆด้านของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการซึ่งแม้จะเป็น “ฟันเฟือง” ที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ website นี้มีชีวิตอยู่รอดได้ในทุกวันนี้ แต่ก็มิเคย “อวดอ้าง” หรือ “เรียกร้อง” ใดๆทั้งสิ้นจากผมหรือจาก website เลย website นี้มิได้มีความเกี่ยวข้องกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใดๆทั้งสิ้น แม้ผมจะรับราชการอยู่ที่นั่นแต่ก็มิได้หมายถึง website นี้จะเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของคณะนิติศาสตร์ ผมใช้เวลาในการจัดทำ website นี้นอกเวลาราชการและด้วยปัจจัยต่างๆที่มิได้เป็นของคณะหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น ดังนั้น หากผู้ใช้บริการ website นี้แล้วมีปัญหาหรือไม่พอใจในเรื่องใด ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบ “ส่วนตัว” ของผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้นกับคณะนิติศาสตร์
       จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอได้โปรดรับทราบและเข้าใจตามนี้ด้วยครับ ในการทำ website นี้ ผมมีสถานะเป็นเพียง “นักวิชาการอิสระ” คนหนึ่งเท่านั้นและขอรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวครับ
       ในสัปดาห์นี้ บทความของผมเรื่องสัญญาทางปกครองก็มาถึงตอนที่ 4 แล้ว คงอีกหลายตอนกว่าจะจบ บทความเหล่านี้น่าจะมีคนจับผิดบ้าง (หาก “สามารถ” พอที่จะเข้าใจสาระของบทความได้) ผมจะได้แก้ไขให้ดีขึ้น ผมว่าน่าจะได้ประโยชน์ “ทางวิชาการ” มากกว่าจับผิดบทบรรณาธิการนะครับ นอกจากนี้ เราก็มีการตอบคำถามหลายคำถาม มีการเพิ่มคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาศาลปกครอง และข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วย สัปดาห์นี้คงมีเพียงแค่นี้นะครับ คราวหน้าหากผมยังรู้สึกว่าบรรยากาศทางวิชาการของผมยัง “อึมครึม” อยู่ ผมก็อาจพาผู้ใช้บริการเข้าครัวอีกหรือไม่ก็อาจพาไปดูหนังดีๆสักเรื่อง อย่าลืมติดตามนะครับ ก่อนจะจบขอแจ้งให้ทราบว่า คราวหน้าจะมี “ของดี” มาอวดเพราะเราครบรอบ 1 ปีพอดี ของดีที่ว่านี้จะเป็นอะไรโปรดติดตามกันในวันที่ 1 มีนาคมอันเป็นวันครบรอบ 1 ปีของเรานะครับ ของดีที่ว่านี้จะมาพร้อมกับบทความเด็ดๆและสาระสำคัญทางวิชาการอีกหลายประการที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามคงไม่สามารถหยุดยั้งพัฒนาการด้านวิชาการของ pub-law.net ได้ง่ายๆครับ
       ก่อนจะจบบทบรรณาธิการคราวนี้ อยากจะขอเพิ่มอีกสักนิด เช้าวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผมอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์หนึ่งได้นำบทสัมภาษณ์คุณบัณฑูร ล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทย จากวารสารการเงินการธนาคารฉบับปัจจุบันมาลงไว้ ผมเห็นว่าน่าสนใจจึงขอนำมาฝากไว้เป็นเครื่อง "เตือนใจ" ครับ คุณบัณฑูรกล่าวว่า ลักษณะของคนไทยเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน จะไม่หันหน้ามาพูดจากันตรงๆ แต่จะใช้วิธีการลงใต้ดิน ไปแกล้งกัน ทำลายกัน หรือถอยไปคนละก้าวไม่พูดกัน ไม่ยุ่งกัน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ไซโล" คือต่างคนต่างมีอาณาจักร ทำให้ปัญหาต่างๆไม่ถูกแก้ งานใหญ่ก็ทำไม่สำเร็จ ประสิทธิภาพก็ไม่เกิดขึ้น
       พบกันใหม่วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม 2545
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544