หน้าแรก บทความสาระ
วิธีพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส[ตอนที่ 1]
รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
6 มกราคม 2548 21:45 น.
 

       
            
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (le Conseil Constitutionnel) ของฝรั่งเศสนั้น จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 อันเป็นฉบับที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

                   
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสประกอบด้วยตุลาการสองประเภทคือ ตุลาการที่มาจากการแต่งตั้งและตุลาการตามกฎหมาย ตุลาการที่มาจากการแต่งตั้งมีจำนวน 9 คน โดยประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง 3 คน ประธานสภาผู้แทนสภาราษฎรเป็นผู้แต่งตั้ง 3 คน และประธานวุฒิสภาเป็นผู้แต่งตั้งอีก 3 คน ส่วนตุลาการตามกฎหมายได้แก่ อดีตประธานาธิบดีทุกคนซึ่งถือว่าเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง

                   
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เป็นองค์กรทางการเมืองที่คอยควบคุมมิให้บทบัญญัติและกฎหมายใดๆขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะตุลาการ รัฐธรรมนูญมีหน้าที่ในการควบคุมร่างกฎหมายก่อนที่จะประกาศใช้บังคับและไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้มีการควบคุมหลังจากที่กฎหมายประกาศใช้บังคับไปแล้ว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสนอกจากจะมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมมิให้บทบัญญัติและกฎหมายใดๆขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่อื่นอีกหลายประการ เช่น การตรวจสอบความถูกต้องของการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ การควบคุมคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งของฝ่ายนิติบัญญัติ การควบคุมความถูกต้องของการเลือกตั้งประธานาธิบดี และการตรวจสอบความถูกต้องของการลงคะแนนเสียงประชามติ เป็นต้น

                   
       บทความนี้ ผู้เขียนมุ่งที่จะอธิบายถึงกระบวนวิธีพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแต่เพียงเรื่องเดียว ส่วน กระบวนวิธีพิจารณาอื่นๆนั้นหากมีโอกาสก็จะได้นำเสนอในวาระต่อๆไป

                   
       อนึ่ง เนื้อหาสาระของบทความนี้ เรียบเรียงมาจากส่วนหนึ่งของหนังสือเรื่อง Contentieux Constitutionnel des droits fondamentaux โดย Bertrand MATHIEU และ Michel VERPEUX สำนักพิมพ์ L.G.D.J. กรุง Paris ปี ค.ศ. 2002
       

                   
       1. ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้นมีจำนวนน้อยมากซึ่งก็ขอนำเสนอโดยสรุปได้ดังนี้คือ

                   
       1.1 รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติให้มีการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (une loi organique) ฉบับหนึ่งเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดโครงสร้างและการดำเนินงานของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ วิธีพิจารณาและระยะเวลาในการร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาคดี

                   
        บทบัญญัติในมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญนี้เป็น "บทบัญญัติกลาง" ที่ใช้กับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญโดยมิได้กำหนดเฉพาะเจาะจงไปว่าใช้กับการพิจารณาคดีประเภทใด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวอย่างถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่า ในบางเรื่องเช่น ระยะเวลา ในการร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายเพราะระยะเวลาในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายดังกล่าวได้ถูกกำหนดไว้แล้วในมาตราอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเรื่องระยะเวลาที่กล่าวไว้ในมาตรา 63 จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่อื่นของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
       

                   
       1.2 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1958 ได้มีการออกพระราชกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญ

                   
        รัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ในส่วนแรกจะกล่าวถึงโครงสร้าง ส่วนที่สองเป็นเรื่องการดำเนินงาน และส่วนที่สามจะเป็นเรื่องอื่นๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาสาระของรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่าไม่มีการแยกเรื่องวิธีพิจารณาออกมาเป็นส่วนพิเศษ ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญ จะมีก็แต่เพียงการบัญญัติไว้ในมาตรา 13 ถึงมาตรา 54 ถึงกฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาคดีของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ กระบวนการการร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาและระยะเวลาในการร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจสอบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นส่วนใหญ่

                   
        มาตรา 7 และมาตรา 15 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้มอบอำนาจให้คณะรัฐมนตรีออกรัฐกฤษฎีกา1 เกี่ยวกับหลักประกันความเป็นอิสระในการทำงานของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการจัดตั้งสำนักงานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (secrétariat général du Conseil Constitutionnel ) ด้วย2 นอกจากนี้แล้วในมาตรา 56 แห่งรัฐกำหนดประกอบ รัฐธรรมนูญยังได้มอบอำนาจให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่จะออกข้อบังคับภายใน (règlement intérieur) เพื่อกำหนดเงื่อนไขและวิธีการในการสอบสวนหาข้อมูลต่างๆโดยตุลาการเจ้าของสำนวน (rapporteur) ซึ่งต่อมาคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ได้ออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา3 และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการร้องเรียนที่เกิดจากกระบวนการออกเสียงประชามติ4
       

                   
       ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนวิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่กล่าวถึงวิธีการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายเอาไว้เป็นการเฉพาะ นักกฎหมายมหาชนด้านรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสหลายคนออกอาการ "ไม่พอใจ" คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ไม่ทำ "ประมวลวิธีพิจารณาความ" ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่มีการแยกกระบวนวิธีพิจารณาแต่ละเรื่องออกจากกัน

                   
       กระบวนวิธีพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในฝรั่งเศสจึงเป็นเรื่องที่เกิดจากแนวคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเองและเกิดจากแนวทางปฏิบัติที่ทำกันต่อๆมา
       

                   
       2. การร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ค.ศ. 1958) ได้กำหนดให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (loi organique) กฎหมายธรรมดา (loi ordinaire) พันธกรณีระหว่างประเทศ (engagement international) และข้อบังคับการประชุมสภา (règlements des assemblées parlementaires) ถูกตรวจสอบโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก่อนที่จะประกาศใช้บังคับ โดยการตรวจสอบดังกล่าวมีขึ้นเพื่อ "ป้องกัน" มิให้กฎหมายหรือข้อบังคับเหล่านั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (inconstitutionalité)

                   
        การควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ การควบคุมที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่าต้องทำ (obligatoire) กับการควบคุมที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจทำได้ (facultatif) โดยการควบคุมที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่าต้องทำนั้นได้แก่ การที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาจะต้องถูกตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก่อนการประกาศใช้บังคับ ส่วนกฎหมายธรรมดากับพันธกรณีระหว่างประเทศอาจถูกตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังจะได้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป
       

                   
        2.1 ผู้มีสิทธิร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วย รัฐธรรมนูญของกฎหมาย รัฐธรรมนูญ "จำกัด" ผู้ที่จะมีสิทธิร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายเอาไว้ในกรณีของการควบคุมประเภทที่ รัฐธรรมนูญให้อำนาจทำได้ (facultatif) โดยกำหนดไว้ในมาตรา 54 และมาตรา 61 ส่วนการควบคุมประเภทที่รัฐธรรมนูญบังคับว่าต้องทำนั้น แม้รัฐธรรมนูญจะไม่กำหนดว่าผู้ใดจะเป็นผู้ร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณา แต่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องก็ได้กำหนดตัวบุคคลที่จะเป็นผู้ส่งร่างกฎหมายไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณา
       

                   
        2.1.1 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาจเป็นผู้มีสิทธิร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย การควบคุมร่างกฎหมายธรรมดาและพันธกรณีระหว่างประเทศนั้น รัฐธรรมนูญมิได้บังคับว่าคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญจะต้องตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้บังคับ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดวิธีการที่ผู้มีสิทธิร้องขอสามารถร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบร่างกฎหมายหรือพันธกรณีระหว่างประเทศก่อนที่จะมีการประกาศใช้บังคับได้ โดยกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวม 6 ประเภทสามารถเป็นผู้มีสิทธิร้องขอได้
       

                   
        (ก) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ มาตรา 5 แห่ง รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสกำหนดหน้าที่ของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐไว้ว่าเป็นผู้ดูแลให้มีการเคารพในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อำนาจหน้าที่ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายอยู่ในสองกระบวนการ กระบวนการแรกเป็นไปตามมาตรา 10 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญคือ ก่อนที่จะมีการประกาศบังคับใช้กฎหมาย ประธานาธิบดีสามารถร้องขอให้รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายนั้นใหม่ทั้งหมดหรือเพียงบางมาตราก็ได้ ซึ่งรัฐสภาจะไม่พิจารณาคำขอดังกล่าวของประธานาธิบดีไม่ได้ ส่วนกระบวนการที่สองเป็นไปตามมาตรา 61 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจประธานาธิบดีที่จะร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายนั้นก่อนที่จะมีการประกาศใช้บังคับได้ รวมทั้งการดำเนินการตามมาตรา 54 ที่ประธานาธิบดีสามารถร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบพันธกรณีระหว่างประเทศว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย

                   
        อำนาจของประธานาธิบดีทั้ง 2 กรณีดังกล่าวเป็นอำนาจเฉพาะตัวและไม่ต้องมีการลงนามร่วม (contreseign) โดยนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี

                   
        (ข) นายกรัฐมนตรี หากจะกล่าวว่า การที่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจะร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเป็นสิ่งที่ "ยาก" ในทางปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นได้ การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยนายกรัฐมนตรีจะยากยิ่งกว่านั้นอีก ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ โดยทั่วไปแล้วนายกรัฐมนตรีจะมาจากผู้ที่ได้รับความไว้วางใจโดยเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้นายกรัฐมนตรีมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุน หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก็ชอบที่จะใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสียตั้งแต่ต้น ดังนั้น การที่นายก รัฐมนตรีจะใช้อำนาจของตนเพื่อขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก

                   
        แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 61 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาความชอบด้วย รัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีอาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีตามมาตรา 45 วรรคสี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ร่างกฎหมายได้รับการแก้ไขปรับปรุงโดยวุฒิสภาแต่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ นายกรัฐมนตรีก็อาจนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้หากเห็นว่าร่างกฎหมายนั้นมีบทบัญญัติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

                   
        นับแต่ปี ค.ศ. 1959 จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2000 นายกรัฐมนตรีได้ทำการร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายธรรมดา (lois ordinaires) จำนวน 16 ฉบับ และพันธกรณีระหว่างประเทศ (engagements internationaux) จำนวน 3 ฉบับ5
       

                   
        (ค) ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา การที่ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาสามารถร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสมดุล (équilibre) ในระหว่างอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติอันเป็นเจตนารมณ์สำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

                   
        เนื่องจากประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ที่มาจาก "เสียงข้างมาก" ของสภาผู้แทนราษฎรเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จึงอยู่ในลักษณะเดียวกับนายกรัฐมนตรีคือสามารถใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญได้โดยง่ายซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2001 ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ใช้อำนาจดังกล่าวเพียง 3 ครั้ง6 ส่วนประธานวุฒิสภานั้น เนื่องจากในทางทฤษฎีแล้ว วุฒิสภามิได้ "มีหน้าที่" อุ้มชูรัฐบาลและประธานวุฒิสภาก็ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของรัฐบาลดังเช่นประธานสภาผู้แทนราษฎร และในบางยุคสมัย วุฒิสภายังอาจทำหน้าที่เป็น "ฝ่ายค้าน" ของสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย โดยก่อนปี ค.ศ. 1974 7 ประธานวุฒิสภาได้ใช้อำนาจตามมาตรา 61 วรรคสองขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายรวม 6 ครั้งด้วยกัน ซึ่งการร้องขอส่วนใหญ่นั้นเป็นไปตามคำเสนอแนะหรือมติของวุฒิสภา ส่วนหลังจากปี ค.ศ. 1974 เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 60 คนเข้าชื่อกันร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายนั้น แม้รัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดห้ามประธานวุฒิสภาที่จะร้องขอให้คณะตุลาการ รัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วสมาชิกวุฒิสภาก็จะเป็นผู้เข้าชื่อร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายเสียเอง
       

                   
        (ง) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมิได้ให้สิทธิแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่จะเข้าชื่อร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายมาตั้งแต่เริ่มประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1958 การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1974 ได้ให้สิทธิแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่จะร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายได้เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1992 ที่ให้สิทธิแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่จะร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพันธกรณีระหว่างประเทศ

                   
        มาตรา 61 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 60 คน หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 60 คน สามารถร้องขอต่อคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า ผู้เข้าชื่อร้องขอต้องมีจำนวนอย่างน้อย 60 คน ซึ่งจะต้องเป็นสมาชิกสภาใดสภาหนึ่งทั้ง 60 คน

                   
        นับแต่ปี ค.ศ. 1974 เป็นต้นมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพรรคฝ่ายค้าน) เข้าชื่อร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายจำนวน 215 ครั้ง และสมาชิกวุฒิสภาเป็นจำนวน 142 ครั้ง8
       

                   
        (จ) ประชาชนและฝ่ายปกครองไม่มีสิทธิร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเป็นการตรวจสอบ "ก่อน" (a priori) ที่กฎหมายจะประกาศใช้บังคับ ดังนั้น จึงกำหนดไว้แต่เพียงเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายคือประธานาธิบดี นายก รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้นที่จะมีสิทธิที่จะร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายได้

                   
        ในทางปฏิบัติ ได้เคยมีมีประชาชนที่มีความสนใจหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง ยื่นคำร้องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายอยู่บ้าง ซึ่งเมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องดังกล่าวก็จะทำคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องไว้พิจารณาโดยให้เหตุผลว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องที่มาจากประชาชน9

                   
        2.1.2 ผู้ที่กฎหมายบังคับว่าจะต้องเป็นผู้ร้องขอให้คณะตุลาการ รัฐธรรมนูญพิจารณาคดี มาตรา 61 วรรคแรกบัญญัติบังคับไว้ว่า ก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (les lois organiques) และก่อนที่จะมีการบังคับใช้ข้อบังคับการประชุมของสภาทั้งสอง (Les règlaments des arremblies parlementaires) จะต้องส่งร่างกฎหมายหรือร่างข้อบังคับดังกล่าวไปยังคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายและร่างข้อบังคับดังกล่าวเสียก่อน โดยในรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดถึงตัวผู้ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ส่งร่างกฎหมายหรือร่างข้อบังคับไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ดี รัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 ก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 17 ถึงตัวบุคคลผู้ที่จะเป็นคนทำหน้าที่ส่งร่างกฎหมายหรือร่างข้อบังคับไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้คือ
       

                   
        (ก) ประธานสภากับร่างข้อบังคับการประชุมสภา มาตรา 17 วรรคสองแห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 บัญญัติไว้ว่า ร่างข้อบังคับหรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาใดสภาหนึ่งจะต้องส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการประกาศใช้บังคับ โดยให้ประธานสภาที่เป็นเจ้าของร่างข้อบังคับนั้นเป็นผู้ทำหน้าที่ส่ง (transmis) ร่างข้อบังคับนั้น สำหรับในส่วนของร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (Congrès) นั้นเป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภา (le président du Congrès du Parlement) ซึ่งก็คือประธานสภาผู้แทนราษฎร (le président de l'Assemblée Nationale) นั่นเองที่จะต้องเป็นผู้ส่งร่างข้อบังคับดังกล่าวไปยังคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญ
       

                   
        (ข) นายกรัฐมนตรีกับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับไว้ว่าต้องมีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้บังคับได้แก่ ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 17 วรรคแรกแห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 บัญญัติไว้ว่า ให้นายก รัฐมนตรีเป็นผู้นำส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการประกาศใช้บังคับ โดยนายกรัฐมนตรีสามารถมอบอำนาจ (délégation) ดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นได้10

                   
        เหตุผลที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแทนที่จะเป็นประธานสภาสุดท้ายที่พิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็เนื่องมาจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อยู่ในฐานะที่เป็นตัวแทนระหว่างรัฐสภากับผู้ที่ทำหน้าที่ประกาศใช้บังคับกฎหมายซึ่งก็คือประธานาธิบดี โดยมาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นผู้ประกาศใช้กฎหมายภายใน 15 วันนับจากวันที่รัฐบาลได้รับร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       1. รัฐกฤษฎีกาดังกล่าวจะต้องมาจากข้อเสนอของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2 . ต่อมามีการออกรัฐกฤษฎีกาที่ 59-1292 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1959 และรัฐกฤษฎีกาที่ 59-1293 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1959.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3 . ประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1959.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4 . ประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1988.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5 . P. JAN, Le proc?s constitutionnel , Collection Syst?mes , L.G.D.J. , Paris 2001 , p.112 .
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       6 . เรื่องเดียวกัน , หน้าเดียวกัน.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       7 . การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1974 เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 60 คน สามารถเข้าชื่อร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของรัฐธรรมนูญได้.
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       8. P. JAN , อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 5 , หน้า 112.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       9. คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 82-146 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1982 และคำวินิจฉัยคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญที่ 84-178 ลงวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1984.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       10. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 67-33 และ 67-34 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1967 ในการตรวจสอบร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสถานะของผู้พิพากษา ได้รับการเสนอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งได้รับมอบอำนาจนายกรัฐมนตรี.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
       


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2546


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544