หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 31
14 ธันวาคม 2547 18:20 น.
"นักกฎหมายที่ดีในวันข้างหน้า"
       
ก่อนอื่นก็ต้องขอแสดงความยินดีกับ “เด็ก” ทั้งหลายที่เริ่มเปิดเทอมกันบ้างแล้ว บางคนก็อยู่โรงเรียนเดิม บางคนก็เปลี่ยนโรงเรียนใหม่ บางคนก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผมรับราชการอยู่ก็เพิ่งผ่านการสอบสัมภาษณ์นิสิตใหม่ไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง ปีนี้ก็ค่อนข้างคล้ายคลึงกับปีที่ผ่านมา คือนิสิตประมาณ 180 คนที่เรารับเป็น ผู้ชายเพียง 40 คน นอกนั้นเป็นผู้หญิงหมด คำถามที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอๆคือ ทำไมผู้หญิงถึงชอบเรียนกฎหมายหรือทำไมผู้หญิงถึงสอบเข้าในคณะนิติศาสตร์ของเราได้มากกว่าผู้ชาย
       คำตอบคงมีได้หลายแนวทาง บางคนก็ว่าผู้หญิงท่องหนังสือได้เก่งและมีสมาธิดีกว่าผู้ชาย เลยทำให้สามารถสอบเข้าได้มากกว่า บางคนก็ว่าผู้หญิงคิดเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าผู้ชาย เลยสนใจที่จะเรียนกฎหมายเพราะเหมาะที่จะยึดอาชีพนักกฎหมาย ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไรก็ตาม ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่เข้ามาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ ก็จะเป็น “นักกฎหมาย” ในวันข้างหน้าทั้งนั้น ปัญหาจะอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นนักกฎหมายที่ดีที่สามารถรับใช้สังคมและประเทศชาติได้อย่างดีมากกว่า จากประสบการณ์สิบกว่าปีของการ “เป็นอาจารย์” ผมพอจะมองเห็นว่า “เด็กรุ่นใหม่มักจะเรียนกันเพื่อให้ได้คะแนนและเพื่อให้ได้เกียรตินิยม” มากกว่า “เรียนเพื่อให้ได้ความรู้” ผมไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะทุกๆปีที่ผ่านมาจะเจอเด็กแบบนี้ค่อนข้างเยอะ ท่องหนังสือแต่ไม่เข้าใจ “ปรัชญา” หรือ “แนวคิด” ของสิ่งที่ตัวเองท่องไป ท่องเพื่อสอบแต่เพียงอย่างเดียว พอสอบกลางภาคเสร็จคะแนนออกมาไม่ดีก็ขอถอนวิชานั้นเสียแล้วไปลงวิชานั้นใหม่ ลองทำอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ได้คะแนนดีๆ ผมมักจะ “ดุ” เด็กเหล่านั้นเสมอหากผมรู้เรื่องพวกนี้เข้าเพราะผมมักจะไปคิดเปรียบเทียบกับนักมวยที่ขึ้นเวทีชกแล้วพอมองเห็นว่าตัวเองแพ้แน่ๆก็ขอให้ยุติการแข่งขันเพื่อที่จะไปเตรียมตัวมาแข่งใหม่เพื่อให้ชนะ พฤติกรรมเหล่านี้แม้จะไม่เสียหายกับใครแต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ “เพาะ” นิสัยไม่มีน้ำใจนักกีฬาให้กับเด็กผู้ที่จะพัฒนาเป็นนักกฎหมายที่ดีในวันข้างหน้า การกระทำเหล่านี้ผมเห็นว่าเป็นการนึกถึงแต่ตัวเองฝ่ายเดียวซึ่งในที่สุดแล้วจะเกิดผลต่อสังคมในวันข้างหน้าเพราะจะไม่มีใคร “ยอมผิด” หรือ “ยอมแพ้” เลยในที่สุด ก็ขอฝากความหวังไว้กับเด็กรุ่นใหม่ด้วยว่า การศึกษาเพื่อให้ตนเองได้รับความรู้เป็นสิ่งที่ “จำเป็น” มากกว่าการศึกษาเพื่อให้ตนเองได้เกียรตินิยม เพราะในการประกอบวิชาชีพนักกฎหมายนั้น “ความรู้” จะเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือประชาชน สังคม และประเทศชาติ ได้มากกว่า “เกียรตินิยม” ครับ
       ในสัปดาห์นี้ ผมขอนำเสนอบทความเรื่อง “หลักกฎหมายมหาชนว่าด้วยสัญญาทางปกครอง” ตอนที่ 7 ที่เพิ่งเขียนเสร็จสดๆร้อนๆ ยังมีอีกหลายตอนครับโปรดติดตามกันต่อไป นอกจากนี้แล้ว ยังมีบทความตอนที่ 2 ของ รศ.ดร.โภคิน พลกุล เรื่อง “การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล” ซึ่งเป็นตอนสำคัญที่ต่อจากคราวที่แล้ว คือ ปัญหาที่มีการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ปัญหาในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับศาลอื่นๆและปิดท้ายบทความด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลของประเทศฝรั่งเศส ส่วนบทความของ ผศ.ดร.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ เรื่อง “แนวความคิดว่าด้วยรัฐ” ก็นำมาลงตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบเอาไว้ในครั้งนี้แล้วเช่นกัน นอกจากนี้ก็มีการตอบคำถามในเวทีทรรศนะและมีการเพิ่มเติมคำวินิจฉัยของคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเข้าไปอีกหลายคำวินิจฉัยครับ
       ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมานี้ไม่ได้แนะนำหนังสือใหม่ๆ ผมพยายามเดินดูที่ศูนย์หนังสือจุฬาและโทรไปสอบถามสำนักพิมพ์บางแห่ง ก็ได้รับคำตอบคล้ายๆกันก็คือ ตลาดหนังสือกฎหมายมหาชนเงียบเหงามาก
       นักกฎหมายมหาชนทั้งหลายทำอะไรอยู่ครับ ช่วยกรุณาเขียนหนังสือกันออกมามากๆหน่อยเพื่อประโยชน์ทางวิชาการด้านกฎหมายมหาชนของเราด้วยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2545
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544