หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 35
14 ธันวาคม 2547 18:20 น.
"การพ้นจากตำแหน่งของประธาน กกต.ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ"
       
ประเด็นร้อนที่สุดในวันนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณี “ประธาน กกต.” หลายต่อหลายฝ่ายต่างออกมาให้ความเห็นกันจนยุ่งไปหมด ฟังดูแล้วน่าเหนื่อยใจครับ นักกฎหมายเก่งๆอีกหลายคนยังไม่ออกมาให้ความเห็น เข้าใจว่าคงคิดเหมือนๆกัน คือ รออ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวก่อนจึงค่อยให้ความเห็นได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น สิ่งหนึ่งที่ได้ยินได้ฟังมาในช่วงนี้และค่อนข้างวิตก คือ มีการให้ความเห็นทางกฎหมายจากฝ่ายต่างๆโดยมีลักษณะเป็นการ “ตีความ” กฎหมายอย่างแคบตามตัวบทที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยมิได้มองประเด็นอื่นประกอบ ยกตัวอย่างเช่น การอ้างมาตรา 141 แห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการการเลือกตั้งว่า ในมาตราดังกล่าวมิได้มีการบัญญัติไว้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งได้นั้น การพิจารณาเพียงมาตราเดียวออกจะเป็นการมองที่ค่อนข้าง “แคบ” และไม่สามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาปัญหาต่างๆได้อย่างรอบคอบ กรณีที่เป็นปัญหาอยู่นี้ จากการอ่านข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทราบว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กระบวนการสรรหา กกต.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น เมื่อกระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ได้รับการสรรหามาก็ย่อมต้อง “ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ด้วยเช่นกัน การกระทำทางปกครองของฝ่ายปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายถือเป็นหลักการขั้น “พื้นฐาน” ของกฎหมายมหาชนครับ กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่กรณีการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 141 ครับ อย่างไรก็ตาม ขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จครับ ก็คงเป็นการให้ความเห็นจากการฟังข่าวและอ่านข่าว เอาไว้เมื่อได้อ่านคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครบทั้งหมดแล้ว ค่อยว่ากันอีกทีหนึ่งครับ
       ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญค่อยเงียบลงไปบ้าง แต่ผมก็เข้าใจว่าคงอยู่ใน “ระหว่างการเตรียมตัว” นั่นแหละครับ บทความของผมเรื่อง “ถึงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง” ที่ได้ลงเผยแพร่ใน pub-law.net ไปเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วได้รับการ “ตอบรับ” อย่างดีโดยมีการนำไปอ้างอิงในหนังสือพิมพ์บางฉบับและนอกจากนี้ผมได้รับการติดต่อจากนักวิชาการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสอบถามถึงวารสารกฎหมายมหาชน (revue du droit public) ของฝรั่งเศสที่ผมได้อ้างถึงในบทความว่าจัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ 40 ปีของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญว่า “หน้าตา” ของหนังสือเป็นอย่างไร ก็ขอเอามานำเสนอไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
       สำหรับสาระสำคัญของ pub-law.net ครั้งนี้ผมเริ่มลงบทความเรื่อง “สัญญาทางปกครองของไทย” เป็นตอนแรกครับ พยายามลงให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้จบก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้ครับ สัญญาทางปกครองของไทยนี้มีความยาวพอสมควรและแบ่งสาระออกเป็น 2 ส่วน รวมทั้งหมด 6 บทด้วยกัน ผมคงไม่อธิบายอะไรทั้งนั้นในบทบรรณาธิการนี้ คอยติดตามอ่านเอาแล้วกันนะครับ ส่วนสารบัญรวมบทความยังไม่ได้ทำเลยครับเพราะคิดว่าคงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อลงครบทุกตอนแล้วจะนำไปรวมกับสัญญาทางปกครองของฝรั่งเศสและจัดทำเป็นหนังสือต่อไป คาดว่าน่าจะออกวางตลาดได้ภายในสิ้นปีนี้ครับ นอกจากบทความเรื่องสัญญาทางปกครองของไทยแล้ว เรายังมีบทความอื่นๆอีก 2 บทความ คือ บทความเรื่อง “วิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลปกครอง เรื่อง ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการตัดการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคม (คำสั่งที่ 645/2545)” ของ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบทความเรื่อง “พัฒนาการสิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆของฝรั่งเศส” ของ ผศ.ดร.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงไม่ต้องแนะนำอะไรมากเพราะชื่อเสียงของอาจารย์ทั้ง 2 ก็เป็นที่รู้จักและยอมรับกันอยู่แล้วนะครับ ก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์ทั้ง 2 ที่ได้กรุณาเขียนบทความให้กับ pub-law.net อย่างสม่ำเสมอ ส่วนอื่นๆก็มีการแนะนำหนังสือใหม่ใน หนังสือตำรา มีการตอบคำถามใน เวทีทรรศนะ นอกจากนี้ก็มีการปรับปรุงข้อมูลต่างๆอันเป็นข้อมูลพื้นฐานของเราให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2545 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544