หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 39
14 ธันวาคม 2547 18:20 น.
"จะเกิดอะไรขึ้นหลังการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ/สถานะขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ"
       เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปบรรยายเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้นิติกรของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งฟัง จากการพบปะพูดคุยกับพนักงานรัฐวิสาหกิจจำนวนหนึ่ง ทำให้เห็นถึง “ความวิตก” เกี่ยวกับอนาคตของพวกเขาเหล่านั้นว่าเมื่อแปรรูปไปแล้ว ความมั่นคงในหน้าที่การงานนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมก็ได้อธิบายไปว่าเมื่อมีการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทไปแล้วก็จะมีการโอนพนักงานไปอยู่ยังที่ใหม่ด้วยโดยผลของกฎหมายซึ่งพนักงานก็จะมี “ทุกอย่าง” เหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่มีหลักประกันว่า “ทุกอย่าง” จะเป็นเช่นนั้นตลอดไปเพราะในวันหนึ่งเมื่อกิจการนั้นเปลี่ยนเป็นของเอกชนอย่างสมบูรณ์ ผู้บริหารใหม่ก็คงต้อง “ปรับ” องค์กรให้เข้ากับความประสงค์และนโยบายของตนซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นคงไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่าพนักงานจะอยู่ครบและมีสถานะเป็นเช่นไร ตราบเท่าที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ก็คงอยู่ได้อย่างไม่มีปัญหาครับ
       พูดถึงเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็มานั่งห่วงอนาคตตัวเองอยู่เหมือนกันว่ามหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร จริงๆแล้วผมเคยเสนอมาหลายครั้งด้วยกันแล้วว่าทำไมรัฐบาลไม่ลอง “ศึกษา” ดูว่า ทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและระบบการบริหารมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเขาทำกันอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และนำข้อดีมาเป็น “แนวทาง” ในการดำเนินการในบ้างเราบ้าง อย่างน้อยผู้เกี่ยวข้องก็พอที่จะมองเห็นถึงอนาคตของตนเองว่าจะเป็นอย่างไร ที่ปฏิบัติกันอยู่ในบ้านเราทุกวันนี้มันไม่เห็นภาพ ทุกคนไม่รู้ว่าหากแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปแล้ว หน่วยงานของตนเองจะเป็นอย่างไร ผู้บริโภค ผู้ใช้บริการ นิสิตนักศึกษา จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทุกวันนี้ผมเข้าใจว่าทั้งพนักงานรัฐวิสาหกิจและข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยคงมีความรู้สึก “ร่วมกัน” ในบางอย่าง ความรู้สึกดังกล่าวย่อมไม่เกิดผลดีต่อองค์กรและต่อประเทศชาติเพราะเป็นความรู้สึกที่ “ไม่มั่นคง” ในหน้าที่การงานซึ่ง “น่าจะ” ส่งผลกระทบต่อ “ผลงาน” ที่จะเกิดขึ้นได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่คงต้องฝากให้ผู้มีอำนาจในแผ่นดินช่วยแก้ไขครับ
       เมื่อปลายปีที่ผ่านมา สำหรับผู้ที่ติดตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลปกครอง คงจะ “ตื่นเต้น” กับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 84/2544 ที่ได้วินิจฉัยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งซึ่งได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง อาจถูกฟ้องดำเนินคดีในศาลปกครองได้ ข่าวคืบหน้าสำหรับกรณีดังกล่าวคือในวันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำร้องลงวันที่ 26 มิถุนายน 2545 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งของศาลปกครองดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
       การร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาประเด็นดังกล่าวได้ทำให้ “ปัญหา” เกี่ยวกับสถานะขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเริ่มประทุขึ้นมาใหม่ ผู้ใช้บริการ pub-law.net คงจำกันได้ว่าในตอนต้นปี 2544 ผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องสถานะขององค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายบทความและมีการตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ในทุกบทความว่า ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบการกระทำขององค์กรตามรัฐธรรมนูญหากการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       ผมได้รับเอกสารจากศาลปกครองชิ้นหนึ่ง เป็นเอกสารที่มีคุณค่าทางวิชาการและเป็นเอกสารที่ “อธิบาย” ถึงสถานะขององค์กรทั้งหลายตามรัฐธรรมนูญว่าเป็นเช่นไร เอกสารนี้เป็นเอกสารที่ศาลปกครองสูงสุดจัดทำขึ้นเพื่อชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 84/2544 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
       เพื่อความสะดวกในการศึกษาเรื่องดังกล่าว โปรดอ่านลำดับเหตุการณ์ของเรื่องได้ใน ความเห็นศาลปกครองสูงสุดกรณี “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” โดยผู้สนใจควรอ่านคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น (เอกสารที่ 1) และศาลปกครองสูงสุด (เอกสารที่ 2) ในเรื่องดังกล่าวเสียก่อน ในช่วงนี้มีเอกสารที่ขาดหายไปส่วนหนึ่งซึ่งไม่สามารถนำมาลงได้ ณ ที่นี้ คือ คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2545 เรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดคำร้องที่ 13/2544 คำสั่งที่ 84/2544 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2544 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2545 แล้วมีมติให้รับคำร้องไว้ดำเนินการ ศาลรัฐธรรมนูญจึงส่งคำร้องไปยังศาลปกครองสูงสุด ต่อมาศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีหนังสือส่งคำชี้แจงไปยังประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2545 ดังปรากฏรายละเอียดในเอกสารที่ 3 ที่นำมาลงไวัอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ผมมีความเชื่อมั่นว่า คำชี้แจงของสำนักงานศาลปกครองสูงสุดให้ความกระจ่างกับนักวิชาการและนิสิตนักศึกษาที่มีความสนใจเกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการตรวจสอบองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดี
       นับเป็นความภูมิใจที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่ pub-law.net ได้มีโอกาสเสนอเอกสารชิ้นนี้ก่อนใคร ซึ่งผมต้องขอขอบคุณศาลปกครองสูงสุดไว้ ณ ที่นี้
       นอกเหนือจากเอกสารดังกล่าวแล้ว ในคราวนี้ก็มีการนำเสนอบทความของผมเรื่องสัญญาทางปกครองของไทย ตอนที่ 5 มีการตอบคำถามในเวทีทรรศนะ และมีการแนะนำหนังสือดีมากๆอีกจำนวนหนึ่งในหนังสือตำรา
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2545
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544