หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 40
14 ธันวาคม 2547 18:20 น.
"ปฏิรูปการเมือง-ปฏิรูประบบราชการ"
       เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันที่ประเทศไทยของเราจะก้าวเข้าสู่ยุคของ “การปฏิรูประบบราชการ”
       การปฏิรูประบบราชการไม่อาจถือได้ว่าเป็นของใหม่สำหรับประชาชนชาวไทยเพราะเมื่อเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เคยก้าวเข้าสู่ยุคของการปฏิรูปมาแล้วครั้งหนึ่งเพียงแต่การปฏิรูปในครั้งนั้นเป็น “การปฏิรูปการเมือง” ที่เกิดขึ้นมาเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับ
       การปฏิรูประบบราชการมีความแตกต่างจากการปฏิรูปการเมืองอยู่หลายประการ อย่างที่ทุกคนทราบ ที่มาของการปฏิรูปการเมืองนั้นเกิดจากการที่ประชาชนมีความต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางที่ดีขึ้น จึงเกิดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เป็น “กลไก” ที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายที่ก่อนหน้านี้มักจะมีผู้ “กล่าว” อยู่เสมอว่า สิ่งนี้ทำให้ระบบการเมืองขาดความเชื่อถือจากประชาชน และส่งผลทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์อย่างมาก ส่วนที่มาของการปฏิรูประบบราชการนั้น แม้ว่าประชาชนจะเป็นผู้ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบราชการอยู่ตลอดเวลา แต่ “พลัง” ประชาชนที่ออกมาขับเคลื่อนให้มีการยกเครื่องหรือปฏิรูประบบราชการกลับไม่มีสักเท่าไหร่ คงเป็นเรื่องที่เกิดจากความคิดริเริ่มของฝ่ายการเมืองที่ต้องการให้มีการปฏิรูประบบราชการ
       ข้อแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองกับการปฏิรูประบบราชการ คือ เครื่องมือในการปฏิรูป การปฏิรูปการเมืองมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 8 ฉบับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการปฏิรูปการเมือง เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับในเดือนตุลาคม 2540 ผู้คนก็เริ่มมองเห็น “ภาพ” เลือนลางของการปฏิรูปการเมือง แต่ต่อมาเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทยอยกันออกมา ภาพของการปฏิรูปการเมืองจึงเริ่มชัดขึ้น และในที่สุดเมื่อกระบวนการต่างๆที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ
       รัฐธรรมนูญเริ่มใช้บังคับ ประชาชนส่วนใหญ่ก็เริ่มเห็นถึง “ความสำเร็จ” ของกระบวนการปฏิรูปการเมืองและ “เชื่อมั่น” ในการปฏิรูปการเมืองตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนการปฏิรูประบบราชการนั้นจะเห็นได้ว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่สองฉบับคือ ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง เนื่องจากฝ่ายบริหารและฝ่ายปกครองจะต้องไปวางเกณฑ์ต่างๆเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ดังนั้น ภาพของการปฏิรูประบบราชการจึงยังไม่ชัดเจนเท่ากับภาพของการปฏิรูปการเมืองหาก “วัด” จากช่วงเวลาเดียวกันคือ 10 วันก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อการปฏิรูประบบราชการ นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนยังเป็น “กระบวนการ” หนึ่งที่ส่งผลทำให้ “ความเป็นเจ้าของ” เด่นชัดขึ้น เพราะเมื่อครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น ประชาชนมีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆหลายขั้นตอน มีการเดินขบวนสนับสนุนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ในขณะที่การจัดทำกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบราชการนั้นเป็นเรื่องของ “รัฐบาล” และ “รัฐสภา” ที่ประชาชนมิได้มีส่วนร่วม ดังนั้น ความเป็นเจ้าของการปฏิรูประบบราชการจึงตกอยู่ที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่าประชาชน ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งที่มักมีผู้สงสัย (รวมทั้งผมด้วย) ก็คือ การปฏิรูประบบราชการตามแนวทางของรัฐบาลจะแก้ปัญหาของประเทศได้หรือไม่ การปฏิรูประบบราชการจะทำให้การทุจริต การใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ รวมถึงการบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐจะหมดไปจากระบบราชการหรือไม่ คงเป็นคำตอบที่ต้องรอดูจาก “ผล” ของการปฏิรูประบบราชการในครั้งนี้
       ข้อแตกต่างทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้มีส่วนทำให้ “ภาพ” ของการปฏิรูประบบราชการมีความ “คลุมเครือ” ไม่ชัดเจน และดูจะ “สวนทาง” กับการปฏิรูปโครงสร้างรัฐที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศที่มุ่งเน้นวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการคือ เพื่อปรับโครงสร้างของรัฐให้มีขนาดเล็กลง ลดจำนวนคน และลดขั้นตอนในการทำงาน การดำเนินการปฏิรูประบบราชการตามวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ประการนี้ ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณและประชาชนได้รับความรวดเร็วในการติดต่อกับราชการ แต่อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายสองฉบับเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการมิได้ตอบสนองวัตถุประสงค์ 3 ข้อดังกล่าวเพราะการมีกระทรวงและกรมเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่งอาจทำให้เราต้องหยุดคิดและรอระยะเวลาช่วงหนึ่งเพื่อ “ประเมิน” ว่า การปฏิรูประบบราชการแบบไทยๆจะประสบผลสำเร็จกว่าการปฏิรูปโครงสร้างรัฐในต่างประเทศหรือไม่ อย่างไร
       ในสัปดาห์นี้ บทความเรื่อง “สัญญาทางปกครองของไทย” ก็ลงเผยแพร่ต่อเป็นตอนที่ 6 แล้ว นอกจากบทความนี้เราก็มีการตอบคำถามจำนวนหนึ่งในเวทีทรรศนะ และมีการแนะนำหนังสือที่น่าสนใจใน “หนังสือตำรา” ด้วย ก่อนที่จะจบบทบรรณาธิการในครั้งนี้ ขอฝากบอกผู้ที่ถามคำถามด้วยว่ากรุณาอ่าน “กติกา” ก่อนถามเพราะคำถามที่ไม่เป็นไปตามกติกาก็จะไม่ได้รับการตอบครับ ส่วนคำถามบางคำถาม (เช่น คำถามของคุณนที สิทธิกร) อาจใช้เวลารอคำตอบนานหน่อยเพราะผู้ตอบบางท่านมีภารกิจมากเหลือเกิน ขอความกรุณาใจเย็นสักเล็กน้อยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2545 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544