หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 49
14 ธันวาคม 2547 18:19 น.
"การออกพระราชกำหนดเพื่อเก็บภาษีสรรพสามิตจากบริการบางประเภท"
       ความพยายามของรัฐบาลที่จะออกพระราชกำหนดเพื่อเก็บภาษีสรรพสามิตจากบริการบางประเภทซึ่งรวมไปถึงบริการโทรคมนาคมดูจะเป็นประเด็นที่ร้อนที่สุดในช่วงระยะเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ใช้บริการ pub-law.net ที่สนใจเรื่องดังกล่าวคงจะทราบแล้วว่าประเด็นที่มีผู้ให้ความเห็นหรือคัดค้านกันนั้นมีอะไรบ้าง ในส่วนตัวผมเองนั้นผมมีความเห็นในเรื่องดังกล่าวด้วย โดยผมขอใช้เวที pub-law.net นี้เป็นที่แสดงความเห็นก็แล้วกันครับ
       ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ใน “การออกพระราชกำหนด” นั้น โดยทั่ว ๆ ไปแล้วการที่ฝ่ายบริหารจะ “ก้าวล่วง” เข้าไปใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอำนาจนิติบัญญัตินั้นเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญของไทยและอีกหลายประเทศต่างก็ยอมรับถึงการที่ฝ่ายบริหารจะ “ก้าวล่วง” เข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติได้ภายในสถานการณ์ที่มีการกำหนดขอบเขตไว้แน่นอนชัดเจน เช่นในระหว่างปิดสมัยประชุมรัฐสภา ในกรณีฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน หรือกรณีเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราที่ต้องการ “ความรวดเร็ว” ในการออกกฎหมายซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้ยอมรับอำนาจของฝ่ายบริหารดังกล่าวไว้ด้วยการกำหนดขอบเขตของการออกพระราชกำหนดเอาไว้ในมาตรา 218 และมาตรา 220 โดยในมาตรา 218 นั้น เป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกพระราชกำหนดในเรื่องทั่ว ๆ ไป ส่วนมาตรา 220 เป็นหลักเกณฑ์การออกพระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในพระราชกำหนดที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้นั้น ผมมีความเห็นว่า ยังไม่สมควรที่จะออกเป็นพระราชกำหนดเพราะไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 218 และมาตรา 220 กล่าวคือ เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนและไม่เกี่ยวกับความมั่งคงในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยังไม่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับการออกกฎหมายภาษีอากรที่ต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนหรือลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดินด้วย เพราะแม้รัฐบาลจะยังไม่ออกพระราชกำหนดนี้ บริษัทผู้รับสัมปทานก็ยังคงต้องจ่ายค่าสัมปทานให้กับรัฐอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบและกำหนดเกณฑ์ต่อไป สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับ “สาระ” ของพระราชกำหนดที่มีผลทำให้บริษัทผู้รับสัมปทานจ่ายภาษีสรรพสามิตแทนการจ่ายค่าสัมปทานนั้น เนื่องจากมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มี กทช. เข้ามาดูแลเรื่องเกี่ยวกับคลื่นความถี่ ดังนั้น การใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวเนื่อง หรือมีผลกระทบกับเรื่องคลื่นความถี่ ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ กทช. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มิใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะ “ก้าวล่วง” เข้าไปใช้อำนาจดังกล่าวซึ่งมีผลกระทบต่อ “อำนาจ” ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับ “รูปแบบ” ของการเก็บภาษีสรรพสามิตนั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า การเปลี่ยนค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายเป็นก้อนมาเป็นการจ่ายในรูปภาษีสรรพสามิต จริงอยู่แม้รัฐจะ “ได้” ค่าตอบแทนจากผู้รับสัมปทานทั้ง 2 รูปแบบก็ตาม แต่ถ้าหากพิจารณาถึงสภาพความเป็นไปในบ้านเราที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ ที่ในช่วงแรก ๆ ของการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น บรรดารัฐวิสาหกิจที่ให้บริการทั้งหลายต่างก็เป็นผู้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นให้กับรัฐ แต่ในเวลาต่อมาก็ผลักภาระดังกล่าวให้กับประชาชน ดังนั้น ในวันข้างหน้า หากบริษัทผู้รับสัมปทานจะผลักภาระการจ่ายภาษีสรรพสามิตให้ประชาชนจ่าย เราจะทำอย่าไรครับ ผลก็คือประชาชนเดือดร้อน ส่วนบริษัทผู้รับสัมปทานก็จะได้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะดังที่มาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ไปฟรี ๆ โดยประชาชนผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายภาษีสรรพสามิตให้กับรัฐ ยุติธรรมไหมครับ ! เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากและมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาหลายประเด็นคือ การออกพระราชกำหนดในกรณีดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ การที่ฝ่ายบริหารก้าวล่วงไปใช้อำนาจในการออกพระราชกำหนดที่มีผลกระทบต่ออำนาจของ กทช. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมไปถึงการเปลี่ยนค่าตอบแทนสัมปทานมาเป็นการเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นการกระทำที่ “เอื้อประโยชน์” ต่อประชาชนหรือประเทศชาติหรือไม่ ?
       กลับมาสู่สาระสำคัญของ website เราดีกว่าครับ ดังที่เรียนให้ทราบไปล่วงหน้าแล้วเมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเพื่อจะให้มีการจัดพิมพ์หนังสือรวมบทความกฎหมายมหาชนจากเวบไซต์ www.pub-law.net เล่ม 2 เพื่อมอบให้แก่ผู้ใช้บริการของเราครับ บังเอิญขณะนี้ยังมีข้อติดขัดอยู่เล็กน้อย ผมจึงขอเลื่อนการลงชื่อเพื่อขอรับหนังสือออกไปก่อนครับ ในคราวหน้าหากมีความชัดเจนกว่านี้ผมจะขออธิบายรายละเอียดให้ทราบอีกครั้งหนึ่งครับ
       สาระสำคัญของ pub-law.net ของสองสัปดาห์นี้มีอยู่หลายอย่างเริ่มจากบทความ ในคราวนี้เรามีบทความที่น่าสนใจอยู่สองบทความ บทความแรกคือบทความเรื่อง “การตรวจสอบการตราพระราชกำหนด กรณีพระราชกำหนดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม” โดย ผศ.มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความนี้เป็นบทความที่ผู้เขียนได้นำเสนอถึงระบบของการตราพระราชกำหนด และกระบวนการตรวจสอบการตราพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อให้ผู้อ่านได้นำไปประกอบการวิเคราะห์ถึงพระราชกำหนดที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงอยู่ในปัจจุบัน ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “ข้อพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540” ตอนที่ 1 และจะนำลงตอนที่ 2 อันเป็นตอนจบในคราวหน้าครับ เรามีการแนะนำหนังสือกฎหมายมหาชนดี ๆ ที่เพิ่งวางจำหน่ายจำนวน 4 เล่มในหนังสือตำรา และมีการตอบคำถามจำนวนหนึ่งในเวทีทรรศนะครับ สำหรับเรื่องการตอบคำถามนั้นคงต้องชี้แจงกันอีกครั้งหนึ่งนะครับว่า โดยหลักแล้วผมขอจำกัดการตอบคำถามเฉพาะที่เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนเท่านั้นนะครับ คำถามบางคำถามอาจตอบช้าเพราะหากไม่อยู่ในความสามารถของผมที่จะตอบได้ ผมก็ต้องไปขอให้นักวิชาการอื่นช่วยตอบ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ความสะดวกของผู้ตอบด้วยครับว่าจะตอบได้เร็วช้าแค่ไหน
       หวังว่าบทความและสาระสำคัญต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ใน website ของเราคงให้ประโยชน์ทางวิชาการแก่ผู้ใช้บริการทั้งหลายได้ตามสมควรนะครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2546
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544