หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 100
24 มกราคม 2548 07:17 น.
"แผนพัฒนาการท่าเรือของสเปน"
       ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ที่ประเทศสเปนครับ โดยผมร่วมเดินทางมากับคณะกรรมาธิการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ วุฒิสภา ในระหว่างวันที่ 16-28 มกราคม เพื่อศึกษาดูงานด้านการพัฒนา การปฏิรูปและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ใน 3 ประเทศคือ สเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี บทบรรณาธิการครั้งนี้ผมคงขอถือโอกาสเล่าสิ่งที่ผมไปเห็นมาให้ฟังกันครับ
       
       เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ผมได้ไปดูงานที่หน่วยงานชื่อ “การท่องเที่ยวแห่งเมืองมาดริด” (Patronato de Turismo de Madrid) หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานที่มีสถานะเทียบเคียงได้กับองค์การมหาชนในประเทศไทยที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ครับ หน่วยงานดังกล่าวมีสถานะเป็นนิติบุคคลในกฎหมายมหาชน มีงบประมาณเป็นของตนเองและมีอิสระในการบริหารจัดการ อำนาจหน้าที่ส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวครับ เช่น ประชาสัมพันธ์เมืองและจุดเด่นของเมืองต่อสาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้คนเดินทางมาเที่ยวเมือง Madrid ให้มากขึ้น ประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น บริษัททัวร์หรือร้านอาหารต่างๆ รวมทั้งยังทำหน้าที่สำคัญในการพัฒนาปรับปรุงและเสริมสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆที่จะทำให้เป็นจุดขายแก่นักท่องเที่ยว เช่น การจัดให้มีบัตรโดยสารรถประจำทางราคาถูกสำหรับนักท่องเที่ยว จัดให้มีการแสดงละครหรือ Opera จัดทำสื่อต่างๆเพื่อเผยแพร่กิจกรรมของเมือง ให้บริการด้านข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของเมือง ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็นเฉพาะ “หน้าที่” ขององค์การมหาชนแห่งนี้ ส่วน “อำนาจ”นั้นไม่มีครับ ทำได้แค่เป็นคนกลางหรือผู้ประสานงานเท่านั้น เช่นหากจะจัดงานแล้วต้องปิดถนนก็จะเป็นผู้ขอให้ผู้มีอำนาจเป็นผู้ปิดถนน เป็นต้น ส่วน website ของหน่วยงานก็ถือว่าเป็น website ที่สมบูรณ์มาก คนสามารถเข้าไปหาข้อมูลต่างๆของเมือง สามารถจองโรงแรม ซื้อตั๋วดู Opera โดยผ่านทาง website ของเมืองได้ครับ งานหนักสำหรับองค์การมหาชนแห่งนี้ในปัจจุบันก็คือ การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคในปี ค.ศ. 2012 ครับ ดูๆแล้วก็น่าสนใจดีเหมือนกันนะครับที่เมือง “แยก” หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวมาเป็นอิสระและก็ให้มุ่งทำการประชาสัมพันธ์เมืองอย่างเดียวครับ เท่าที่ทราบการทำงานขององค์การมหาชนนี้เป็นที่ถูกใจของทั้งรัฐบาลและเมือง Madrid เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีคนเข้ามาเที่ยวกรุง Madrid มากขึ้นเป็นหลายเท่าตัวครับ!
       
       ส่วนในวันที่ 18 มกราคม ผมออกเดินทางจากเมือง Madrid มาที่เมือง Barcelona ด้วยรถไฟด่วน ซึ่งจริงๆแล้วก็คงไม่ด่วนเท่าไหร่ เพราะรถไฟในฝรั่งเศสด่วนกว่ามากครับ เมือง Barcelona ต่างจากเมือง Madrid ค่อนข้างมาก และเนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากฝรั่งเศสเท่าไหร่นักก็เลยทำให้หลายๆอย่างในเมืองนี้เป็นฝรั่งเศสครับ! ที่เมืองนี้ ผมได้ไปดูงานด้านการท่าเรือของเมืองครับ เมือง Barcelona เป็นเมืองท่ามาหลายศตวรรษแล้ว คงจำได้ว่า Christopher Columbus ออกเดินทางจากเมืองนี้ไปค้นหาทวีปใหม่ และในที่สุดก็ค้นพบทวีปอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1492 ครับ การท่าเรือของเมืองนี้เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีอาณาเขตพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบพันกว่าไร่และอยู่ริมทะเลทั้งหมด ในช่วงเวลาสองร้อยปีที่ผ่านมา มีผู้พยายามที่จะจัดระบบท่าเรือของเมืองใหม่ บางยุคก็เป็นระบบปิดที่ทำให้บริเวณท่าเรือทั้งหมดเป็นเขตหวงห้ามของคนทั่วไป เฉพาะคนที่รับ-ส่งของหรือผู้โดยสารเท่านั้นที่จะเข้าไปในการท่าเรือได้ แต่ในที่สุด การท่าเรือแห่งเมือง Barcelona ก็เข้าสู่ระบบเปิด คือให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการได้ ซึ่งการใช้บริการในที่นี้หมายความรวมไปถึงเข้าไปใช้พักผ่อนหย่อนใจ หรือเข้าไป “ชื่นชม” ความงดงามริมทะเลด้วยครับ !! โดยในปี ค.ศ. 1987 เป็นต้นมา มีการจัดระบบพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการท่าเรือใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการหลัก คือ ทำให้ท่าเรือใหม่เป็นของ “ประชาชน” อย่างแท้จริง และก็เพื่อหาเงินเข้าเมืองด้วยครับ ดังนั้นจึงมีการวางผังบริเวณพื้นที่ใหม่ แบ่งเป็นท่าเรือ 3 ท่า สำหรับเรือต่างขนาด จัดให้มีพื้นที่ให้เช่าสำหรับจอดเรือ และนอกจากนี้ก็ยังนำเอาพื้นที่บางส่วนรวมทั้งโกดังเก่าหลายๆแห่งที่อยู่ริมทะเลไปให้เอกชนเช่า ในวันนี้บริเวณท่าเรือของเมือง Barcelona จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมือง มีศูนย์การค้า โรงหนังที่อยู่ริมทะเล มีโซนร้านอาหารทะเล มีพื้นที่สีเขียวที่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์และใช้พักผ่อนหย่อนใจ ว่ากันว่าท่าเรือแห่งเมือง Barcelona ได้ให้สัมปทานกับเอกชนไปกว่า 700 สัมปทานเพื่อเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ของการท่าเรือส่วนที่เป็น “ของประชาชน” ครับ ส่วนเงินรายได้จากสัมปทานนั้น คณะกรรมการบริหารของการท่าเรือก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานท่าเรือในส่วนที่เป็นของการท่าเรือ รวมทั้งนำไปใช้ในการขยายงานต่างๆ เช่น ถมทะเลบางส่วนเพื่อทำท่าเรือ หรือทำที่จอดเรือเพิ่มเติมครับ สัมปทานที่ให้กับเอกชนนั้น มีระยะเวลาไม่เกิน 30 ปีเหมือนของเรา ส่วนสัมปทานที่ให้เอกชนไปนั้นก็มีตั้งแต่สัมปทานขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ไปจนถึงสัมปทานขนาดใหญ่ เช่น ยกของลงจากเรือหรือจัดทำโกดังเก็บของครับ ผมดูแล้วมีความรู้สึกแปลกๆเมื่อนึกถึง “ท่าเรือ” ของเราแถวๆคลองเตยที่ “กั้นรั้ว” ตลอดแนวครับ ลองนึกดูบ้างดีไหมครับว่า ถ้ากันบริเวณดังกล่าวออกมาบางส่วนให้กับประชาชน เราก็คงจะมีบริเวณพักผ่อนหย่อนใจเพิ่มขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งครับ ก็คงต้องขอจบรายงานสิ่งที่ผมได้พบเห็นมาในประเทศสเปนไว้แค่นี้ก่อนครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เราได้รับเกียรติให้นำเสนอนโยบายของ “พรรคทางเลือกที่สาม” และ “ข้อบังคับพรรคทางเลือกที่สาม” ของท่านศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ และบทความของ คุณ บุญเสริม นาคสาร แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญไทยต่างจากศาลอื่นและศาลรัฐธรรมนูญของต่างประเทศอย่างไร” และในนานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน เรามีบทความของนักศึกษากฎหมายไทยในประเทศฝรั่งเศส คุณ ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ เรื่อง “การจำกัดเสรีภาพโดยรัฐในประเทศฝรั่งเศส” ผมต้องขอขอบคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ นอกจากนั้นยังมีการแนะนำหนังสือถึง 2 เล่ม คือ  "คำอธิบายศัำพท์กฎหมายมหาชนฝรั่งเศส-ไทย" และ "ถาม-ตอบกับมีชัย ฤชุพันธุ์" อีกด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544