หน้าแรก บทความสาระ
การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 7) โดย ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
21 มีนาคม 2548 08:18 น.
 
บทที่ 4
       
       ประสบการณ์ของต่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครอง
       สิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยศาลรัฐธรรมนูญ
       

       การศึกษาถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทย รวมทั้งการศึกษาถึงการคุ้มครอง
       สิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทยโดยองค์กรต่าง ๆ ใน 3 บทที่ผ่านมา ย่อมแสดงให้เห็นถึงกระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทยที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
       ในบทนี้ผู้วิจัยจะขอนำเสนอประสบการณ์ของต่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยจะมุ่งเน้นไปที่บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น แต่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยผู้วิจัยจะนำเสนอรูปแบบของการให้สิทธิแก่ประชาชนที่จะร้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามีกฎหมายหรือการดำเนินการต่าง ๆ ที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
       ข้อจำกัดของงานวิจัยในบทนี้อยู่ที่ความยากลำบากในการหาเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพราะมีเพียงเอกสารทางวิชาการจำนวนน้อยที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวเอาไว้ แต่อย่างไรก็ตาม จากเอกสารที่มีอยู่ ผู้วิจัยจะขอนำเสนอประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ รวม 6 ประเทศ คือ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐโปรตุเกส ราชอาณาจักรสเปน ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐฝรั่งเศส
       
       4.1 ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม
       
แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1831 จะมิได้กำหนดให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญไว้ก็ตาม แต่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1980 ก็ได้มีการเพิ่มมาตรา 107 ตรี เข้าไปในมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1831 เพื่อจัดตั้งองค์กรในลักษณะ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาโดยมีชื่อเรียกว่า ศาล
       ชี้ขาดข้อพิพาท (la Cour d’ arbitrage) แต่อย่างไรก็ตาม ศาลชี้ขาดข้อพิพาทก็ยังไม่ได้ เริ่มปฏิบัติหน้าที่จนกระทั่งในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1984 ภายหลังจากที่กฎหมายประกอบ
       รัฐธรรมนูญ (la loi organique) ลงวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1983 ประกาศใช้บังคับและได้กำหนดโครงสร้างและสถานะของตุลาการรวมทั้งกระบวนการดำเนินงานของศาลชี้ขาดข้อพิพาทเอาไว้ 1
       เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1831 ถูกยกเลิกและมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเบลเยี่ยม ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติยืนยันหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมโดยในมาตรา 142 ได้กำหนดให้มีศาลชี้ขาดข้อพิพาทขึ้นดังเช่นที่มีมาแล้ว
       ศาลชี้ขาดข้อพิพาทประกอบด้วยตุลาการจำนวน 12 คน ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์
       ให้ดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต องค์ประกอบของตุลาการจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 6 คน มาจากผู้ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส และกลุ่มที่สอง 6 คน มาจากผู้ที่ใช้ภาษาดัชท์ เหตุผลที่มีการแบ่งตุลาการออกเป็นสองกลุ่มตามภาษาที่ใช้ก็เนื่องจากภาษาราชการของเบลเยี่ยมมีสองภาษา คือ ภาษาฝรั่งเศสและภาษาดัชท์
       ผู้ที่ทำหน้าที่ประธานศาลชี้ขาดข้อพิพาทนั้น ตุลาการแต่ละกลุ่มจะเลือกประธาน ขึ้นมา 1 คน ประธานทั้งสองคนจะสลับกันทำหน้าที่ประธานศาลชี้ขาดข้อพิพาทคนละปี สำหรับ ผู้ที่จะมาเป็นตุลาการนั้น คุณสมบัติเบื้องต้นคือต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี และในแต่ละกลุ่ม จะมีตุลาการจำนวน 3 คนที่เป็นนักกฎหมายและมีประสบการณ์ในการทำงานด้านกฎหมาย เช่น ผู้พิพากษาหรืออาจารย์คณะนิติศาสตร์ เป็นต้น มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ส่วนอีก 3 คนจะต้องเคยเป็นสมาชิกรัฐสภามาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี2
       
       4.1.1 อำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของศาลชี้ขาดข้อพิพาท มาตรา 142 ของ
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยี่ยมฉบับปัจจุบัน (ค.ศ. 1994) บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของศาลชี้ขาดข้อพิพาทไว้ 3 ประการ คือ
       ก. การชี้ขาดข้อพิพาทอันเกิดจากที่กฎหมาย (loi) กฤษฎีกา (decret) หรือกฎเกณฑ์ (regle) ต่าง ๆ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
       ข. การชี้ขาดข้อพิพาทอันเกิดจากการที่กฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์
       ต่าง ๆ กระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้
       ค. การควบคุมสนธิสัญญาระหว่างประเทศมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
       เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ทั้งสามประการของศาลชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะพบว่า อำนาจหน้าที่ในประการที่สองเป็นอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการตรวจสอบว่ากฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ไปกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้หรือไม่ อันเป็นเรื่องที่จะได้ทำการศึกษาต่อไป
       4.1.2 อำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบให้มีการเคารพต่อสิทธิ
       ขั้นพื้นฐานของประชาชน
ในเบลเยี่ยมนั้น ประชาชนสามารถใช้สิทธิร้องขอให้ศาลชี้ขาด ข้อพิพาทพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวกับการที่กฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไปกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ได้ใน 2 วิธี วิธีแรก เป็นการที่ประชาชนใช้สิทธิเสนอปัญหาต่อศาลชี้ขาดข้อพิพาทโดยตรงเพื่อขอให้มีการเพิกถอนกฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์ที่ไปกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน กับวิธีที่สองที่ประชาชนอาจร้องขอต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเป็นผู้ส่งเรื่องที่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์ให้ศาลชี้ขาดข้อพิพาทเพื่อทำการพิจารณาวินิจฉัยต่อไปได้ 3
       เดิมทีนั้นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าฉบับปัจจุบัน คือ ฉบับปี ค.ศ. 1831 มิได้
       กำหนดให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้โดยตรงต่อศาลชี้ขาดข้อพิพาท แต่ต่อมาเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1988 และมีการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1989 ออกมา ก็มีการกำหนดให้ศาลชี้ขาดข้อพิพาทเป็น “ผู้พิทักษ์” สิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยมีการกำหนดเรื่องต่าง ๆ ที่ให้อำนาจศาลชี้ขาดข้อพิพาทในการพิจารณา เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักว่าด้วยความ เสมอภาค การเลือกปฏิบัติ เสรีภาพทางการศึกษา เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อ ๆ มาศาลชี้ขาดข้อพิพาทก็ได้วางกรอบเพื่อจำกัดอำนาจตนเองไม่ให้เข้าไปยุ่งกับสิทธิและเสรีภาพ บางประเภท4 เช่น สิทธิในทรัพย์สิน 5สิทธิในการป้องกันตนเอง6 เสรีภาพในการพาณิชย์และอุตสาหกรรม 7เป็นต้น
       4.1.3 ฐานท1างกฎหมายของการให้ประชาชนฟ้องศาลชี้ขาดข้อพิพาทได้โดยตรง มาตรา 142 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติไว้ในวรรคสามให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทุกคน (toute personne justifiant d’ un interet) สามารถฟ้องศาลชี้ขาดข้อพิพาทได้ในกรณีที่มีการกระทำที่ไปกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้
       4.1.4 หลักเกณฑ์ในการรับฟ้องคดีไว้พิจารณา รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและ
       กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1989 ซึ่งยังนำมาใช้บังคับอยู่กับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการฟ้องคดีโดยประชาชนไว้ ดังนี้
       4.1.4.1 ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลชี้ขาดข้อพิพาท มาตรา 142 วรรคสาม บัญญัติให้ประชาชนทุกคน (toute personne) ที่มีส่วนได้เสียสามารถฟ้องคดีต่อศาลชี้ขาด ข้อพิพาทได้
       เมื่อพิจารณาดูมาตรา 2 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับ
       ลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1989 จะพบว่า ผู้มีสิทธิที่จะฟ้องศาลชี้ขาดข้อพิพาทเพื่อขอให้เพิกถอนกฎหมายจะได้แก่ คณะรัฐมนตรี ประธานสภาโดยการร้องขอของสมาชิกไม่น้อยกว่าสองในสามของสภานั้น และประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย โดยในมาตรา 2 ข้อ 2 บัญญัติไว้ว่า ประชาชนในที่นี้อาจเป็นบุคคลธรรมดา (personne physique) หรือนิติบุคคล (personne morale) ก็ได้ โดยนิติบุคคลในที่นี้อาจเป็นได้ทั้งนิติบุคคลในกฎหมายเอกชนหรือนิติบุคคลในกฎหมายมหาชนก็ได้ เช่นกัน 8
       4.1.4.2 วัตถุประสงค์แห่งการฟ้องคดี วัตถุประสงค์ของการที่รัฐธรรมนูญ
       กำหนดให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีโดยตรงต่อศาลชี้ขาดข้อพิพาทได้ก็เพราะศาลชี้ขาด ข้อพิพาทนั้นได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็น “ผู้พิทักษ์เสรีภาพส่วนบุคคล” ของประชาชน 9
       ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ โดยการฟ้องคดีโดยของประชาชนจะต้องเป็นเรื่องที่มีกฎหมาย (loi) กฤษฎีกา (decret) หรือกฎเกณฑ์ (regle) ต่าง ๆ ที่มีผลไปกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองเอาไว้
       4.1.4.3 เหตุแห่งการฟ้องคดี การฟ้องคดีของประชาชนโดยตรงต่อศาล
       ชี้ขาดข้อพิพาทอาจทำได้ด้วยเหตุที่ว่า ประชาชนผู้นั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่
       กฎหมาย กฤษฎีกา หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ไปกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญ
       บัญญัติรับรองไว้
       สภาแห่งรัฐ (Conseil d’ Etat) แผนกร่างกฎหมาย (la section de legislation) ได้ให้ความเห็นไว้ในความเห็น (avis) ลงวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1988 ว่า ประโยชน์ได้เสีย (interet) ที่บุคคลไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลใช้เป็นข้ออ้างเพื่อขอให้ศาลชี้ขาดข้อพิพาท ยกเลิกเพิกถอนกฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์ใด ๆ ได้นั้น จะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้นั้นโดยตรง (direct) และเป็นการเฉพาะตัว (personnel) 10รวมทั้งยังต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน (actuel) และแน่นอน (certain) อีกด้วย 11โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลชี้ขาดข้อพิพาทที่จะเป็นผู้พิจารณาวางเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อไป 12
       4.1.5 อายุความในการฟ้องคดี กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1989 กำหนดไว้ว่า อายุความในการฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหมาย กฤษฎีกา หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ คือ หกเดือนนับแต่วันที่มีการประกาศใช้บังคับกฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์นั้น โดยคำฟ้องจะต้องลงชื่อผู้ฟ้องคดีพร้อมทั้งอธิบายเหตุผลประกอบคำฟ้องของตน และแนบกฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์ที่ตนต้องการขอให้ศาลชี้ขาดข้อพิพาทเพิกถอนมาด้วย13
       4.1.6 การตรวจสอบคำฟ้องคดี เพื่อมิให้เรื่องฟ้องคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล
       ชี้ขาดข้อพิพาทมากเกินไป มาตรา 69 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1989 ได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาองค์กรหนึ่งเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองเรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลชี้ขาดข้อพิพาทก่อน คือ องค์คณะตรวจสอบ (la chambre restreinte) องค์คณะตรวจสอบประกอบด้วยประธาน 1 คน และตุลาการเจ้าของสำนวน (juge rapporteur) จำนวนสองคน
       เมื่อมีการฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์ใด ๆ มาตรา 70 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1989 กำหนดให้ตุลาการ เจ้าของสำนวนทำการตรวจสอบว่าคำฟ้องนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชี้ขาดข้อพิพาทที่จะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ ตุลาการเจ้าของสำนวนจะต้องทำรายงานเสนอต่อประธานองค์คณะตรวจสอบภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับคำฟ้องนั้นเพื่อพิจารณาชี้ขาดต่อไป
       4.1.7 การรับคำฟ้องไว้ดำเนินการ เมื่อคำฟ้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองโดยองค์คณะตรวจสอบแล้ว องค์คณะตรวจสอบก็จะส่งคำฟ้องไปให้ศาลชี้ขาดข้อพิพาทดำเนินการ
       พิจารณาตามกระบวนการที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ต่อไป ซึ่งศาลชี้ขาดข้อพิพาท
       จะต้องแจ้งเรื่องที่มีผู้ฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์เหล่านั้นต่อคณะรัฐมนตรีและต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อทราบต่อไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 76 วรรค 4 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1989 โดยคณะรัฐมนตรีจะต้องทำความเห็นของตนที่มีต่อคำฟ้องดังกล่าวเสนอต่อศาลชี้ขาดข้อพิพาทด้วย ความเห็นดังกล่าวนั้น มาตรา 89 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลชี้ขาดข้อพิพาทจะต้องส่งไปให้ผู้ฟ้องคดีทำความเห็นแย้งภายใน 30 วัน จากนั้นศาลชี้ขาดข้อพิพาท ก็จะกำหนดวันพิจารณาคดี การพิจารณาคดีนั้นทำโดยเปิดเผยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 104 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลพิจารณาคดีเสร็จแล้วจะต้องอ่านคำวินิจฉัยของตนโดยเปิดเผยเช่นกัน14 และจะต้องส่งคำวินิจฉัยของตนไปลงเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา (Moniteur Belge) ใน 3 ภาษา คือ ฝรั่งเศส ดัชท์ และเยอรมัน15 รวมทั้งจะต้องแจ้งทำวินิจฉัยให้คู่ความ นายกรัฐมนตรี และประธานสภาทั้ง 2 ทราบด้วย 16
       โดยปกติแล้ว ศาลชี้ขาดข้อพิพาทจะพิจารณาวินิจฉัยคำฟ้องเสร็จภายใน 6
       เดือนนับแต่วันที่มีการฟ้องคดี17 แต่ระยะเวลาดังกล่าวอาจขยายออกไปได้ไม่เกิน 1 ปี 18
       4.1.8 ผลแห่งคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยของศาลชี้ขาดข้อพิพาทที่สั่งให้เพิกถอนกฎหมาย
       กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์ใดๆ มีผลผูกพันทุกองค์กรทันทีที่มีการประกาศผลของคำวินิจฉัยดังกล่าว
       ในราชกิจจานุเบกษา (Moniteur Belge) 19
       4.1.9 กรณีศึกษา คำวินิจฉัยศาลชี้ขาดข้อพิพาท ที่ 61/94 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม
       ค.ศ. 1994
       สมาคมที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการหากำไร (les associations a but non
       lucratif) หลายแห่งได้ร่วมกันฟ้องขอให้ศาลชี้ขาดข้อพิพาทเพิกถอนรัฐบัญญัติ (loi) ลงวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1993 ที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐบัญญัติลงวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1980 ว่าด้วย การเข้ามาในราชอาณาจักรและการพำนักในราชอาณาจักรของคนต่างชาติเนื่องจากขัดต่อ มาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งรัฐธรรมนูญ
       ศาลชี้ขาดข้อพิพาทได้มีคำวินิจฉัย ลงวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1994 โดยประกอบด้วยสาระสำคัญสองส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนวิธีพิจารณาของศาล ในประเด็นที่เกี่ยวกับการรับคำฟ้องไว้พิจารณาและผู้ฟ้องคดี ในส่วนที่สองเป็นการพิจารณา เนื้อหาของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติ
       ในส่วนแรก คือ ในเรื่องของความเป็นผู้มีส่วนได้เสีย (interet a agir) ของ
       ผู้ฟ้องคดี (requerante) นั้น ศาลชี้ขาดข้อพิพาทได้วางเกณฑ์เอาไว้ว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเอกชน (le particulier) การเป็นผู้มีส่วนได้เสียถือเป็นสาระสำคัญของการฟ้องคดีรัฐธรรมนูญ โดยศาลชี้ขาดข้อพิพาทได้มีความเห็นว่าจะต้องนำหลักของการเป็นผู้มีส่วนได้เสียมาปรับใช้กับการฟ้องคดีโดยสมาคมที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการหากำไรดังกล่าวด้วย ซึ่งการเป็นผู้มีส่วนได้เสียของสมาคมนั้นจะต้องพิจารณาจากการดำเนินการของสมาคมที่เป็นการปกป้องประโยชน์ของสังคม (l’ interet social) อันปรากฏอยู่ในเหตุผลของการจัดตั้งสมาคมนั้น โดยศาลจะยึดถือจากวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสมาคมเป็นหลักว่า สมาคมมีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอันเป็นเหตุแห่งการนำคดีมาฟ้องศาลหรือไม่ และนอกจากนี้ การเป็นผู้มีส่วนได้เสียของสมาคมจะต้องแยกต่างหากจากความเป็นผู้มีส่วนได้เสียส่วนบุคคล (interets individuels) ของสมาชิกแต่ละคนในสมาคมนั้นด้วย
       ในส่วนที่สอง คือ ในเรื่องเนื้อหาของกฎหมายนั้น ศาลชี้ขาดข้อพิพาทได้พิจารณาถึงสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนชาวเบลเยี่ยม และสิทธิต่าง ๆ ของคนต่างด้าวที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเอาไว้ รวมไปถึงการพิจารณาตัวบทกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคนต่างด้าวด้วย ซึ่งศาลชี้ขาดข้อพิพาทได้ให้ความเห็นไว้ว่า แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้บุคคลมีสิทธิเดินทาง เลือกถิ่นที่อยู่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย (refugie) นั้น จะแตกต่างจากคนต่างด้าวทั่ว ๆ ไปที่เข้ามาในราชอาณาจักร เพราะการเป็นผู้ลี้ภัยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะการเลือกถิ่นที่อยู่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติและ ต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องด้วย ศาลชี้ขาดข้อพิพาทจึงมีคำวินิจฉัยให้ยก คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีเนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการพักอาศัยของผู้ลี้ภัยไม่ขัดต่อหลักว่าด้วยความเสมอภาคและไม่ขัดต่อหลักว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ
       
       4.2 สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
       ศาลรัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีพัฒนาการอันยาวนานนับแต่ปี ค.ศ. 1819 เป็นต้นมา 20
       มาตรา 94 แห่งรัฐธรรมนูญหรือที่เรียกกันว่ากฎหมายพื้นฐาน (Grundgesetz-GG หรือ Basic Law) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการจำนวน 16 คน โดยตุลาการจำนวนกึ่งหนึ่งได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ (Bundestag) และอีกครึ่งหนึ่ง ได้รับเลือกจากสภาสูงแห่งสหพันธ์ (Bundesrat) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 12 ปี ส่วนอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันบัญญัติไว้ในกฎหมายพื้นฐาน (Grundgesetz-GG หรือ Basic Law) และในกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ (Gesetz uber Bundesver fassungsgerichtBverfGG) โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับ 21
       (1) การจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลตามมาตรา 18 แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 1 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (2) คดีที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองตามมาตรา 21 วรรคสอง แห่งกฎหมายพื้นฐาน
       และมาตรา 13 ข้อ 2 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (3) การตรวจสอบการเลือกตั้งตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งกฎหมายพื้นฐาน และ
       มาตรา 13 ข้อ 3 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (4) คดีฟ้องประธานาธิบดีสหพันธ์ตามมาตรา 61 แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 4 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (5) คดีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 93 วรรค 1 ข้อ 1 แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 5 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (6) การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายแบบนามธรรมตามมาตรา 93 วรรค 1
       ข้อ 4 แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 6 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (7) คดีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างมลรัฐกับสหพันธรัฐโดยเฉพาะ
       เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายตามมาตรา 93 วรรค 1 ข้อ 4 แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 7 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (8) คดีข้อพิพาทตามกฎหมายมหาชนอื่นๆ ระหว่างสหพันธรัฐกับมลรัฐหรือระหว่าง
       มลรัฐด้วยกันเท่าที่ศาลอื่น ๆ ไม่ได้กำหนดเขตอำนาจศาลในเรื่องนั้น ตามมาตรา 93 วรรค 1 ข้อ 4 แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 8 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (9) การร้องทุกข์ตามรัฐธรรมนูญของประชาชนตามมาตรา 93 วรรค 1 ข้อ 4 a และ 4 b แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 8 a แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (10) คดีฟ้องผู้พิพากษาของสหพันธ์หรือของมลรัฐตามมาตรา 98 วรรค 2 และ
       วรรค 5 แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 9 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (11) คดีข้อพิพาทตามรัฐธรรมนูญของมลรัฐในกรณีที่กฎหมายของมลรัฐได้กำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ ตามมาตรา 99 แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 10 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (12) การควบคุมมิให้กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญแบบรูปธรรม ตามมาตรา 100 วรรค 1 แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 11 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (13) การตรวจสอบกฎเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศว่าเป็นกฎหมาย
       ภายในหรือไม่ ตามมาตรา 100 วรรค 2 แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 12 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (14) การควบคุมเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการตีความคดีรัฐธรรมนูญตาม
       มาตรา 100 วรรค 3 แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 13 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (15) วินิจฉัยว่ากฎหมายที่ออกใช้บังคับก่อนรัฐธรรมนูญปัจจุบันยังมีผลใช้บังคับ
       ต่อไปหรือไม่ ตามมาตรา 136 แห่งกฎหมายพื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 14 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       (16) กรณีอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสหพันธ์ตามมาตรา 136 แห่งกฎหมาย
       พื้นฐาน และมาตรา 13 ข้อ 15 แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
       เมื่อพิจารณาดูอำนาจหน้าที่ทั้ง 16 ประการของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐ
       เยอรมนีแล้ว จะพบว่า อำนาจหน้าที่ประการที่ (9) เป็นอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการ
       พิจารณาข้อร้องเรียนของประชาชนซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาเยอรมันว่าVerfassungsbeschwerde
       22คำว่า Verfassungsbeschwerde นี้ เป็นชื่อที่กฎหมายพื้นฐานใช้เรียกการฟ้องคดี ของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ (la cour constitutionnelle federale) ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายปกครอง (offentliche Gewalt) ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 93 แห่งกฎหมายพื้นฐาน การฟ้องคดีในมาตราดังกล่าวเป็นการฟ้องคดี “พิเศษ” ที่กฎหมายพื้นฐานกำหนดไว้เป็นการเฉพาะโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่กฎหมายพื้นฐานบัญญัติรับรองไว้ไม่ให้ถูกละเมิดจากอำนาจรัฐ (la puissance publique)
       4.2.1 ฐานทางกฎหมายของการฟ้องคดีโดยประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ
       บัญญัติไว้ในมาตรา 93 วรรค 1 ข้อ 4a แห่งกฎหมายพื้นฐานว่า บุคคลใดก็ตาม (quiconque) ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของอำนาจรัฐต่อสิทธิขื้นพื้นฐานตามที่กฎหมายพื้นฐานกำหนดเอาไว้ เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ
       4.2.2 หลักเกณฑ์ในการรับฟ้องคดีไว้พิจารณา กฎหมายพื้นฐานและกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการรับฟ้องของประชาชนได้ดังต่อไปนี้
       
       4.2.2.1 ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรค 1 ข้อ 4a ใช้
       คำว่า บุคคลใดก็ตาม (quiconque) ซึ่งหมายความว่า ผู้มีสิทธิเสนอเรื่องร้องทุกข์ต่อศาล รัฐธรรมนูญอาจเป็นบุคคลธรรมดา (personne physique) หรือนิติบุคคล (personne morale) ก็ได้ 23
       ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลธรรมดานั้น บุคคลธรรมดาที่ประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นบุคคลชาวเยอรมันเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากสิทธิและเสรีภาพต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายพื้นฐานเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นสำหรับชาวเยอรมัน24 และนอกจากนี้ บุคคลธรรมดาที่จะฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้นอกจากจะต้องเป็นชาวเยอรมันแล้วยังต้องมีสภาพบุคคลอีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากสิทธิและเสรีภาพต่าง ๆ ที่กฎหมายพื้นฐานบัญญัติไว้เป็นสิทธิ ของประชาชนที่เริ่มตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สิทธิในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (la dignite humaine) ตามมาตรา 1 วรรค 1 แห่งกฎหมายพื้นฐาน สิทธิในชีวิตและร่างกายตามมาตรา 2 วรรค 2 ย่อหน้า 1 และสิทธิในเรื่องทรัพย์สินตามมาตรา 14 วรรค 1 เป็นต้น ซึ่งเรื่องสิทธิในทรัพย์สินนี้เองที่อาจ “ครอบคลุม” ไปถึงทารกในครรภ์ที่ยังไม่มีสภาพบุคคลที่อาจเป็นผู้ฟ้องคดีได้โดยบิดามารดาของตนหากมีการกระทำใด ๆ ที่จะมีผลไปกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของทารกผู้นั้น นอกจากนี้ การฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญยังอาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทดลองต่าง ๆ ที่อาจเกิดผลกระทบต่อเด็กที่จะเกิดมาก็ได้ 25
       อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรา 19 วรรค 3 แห่งกฎหมายพื้นฐานได้
       กำหนดให้บรรดาสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ใช้กับนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายภายในตามสภาพที่อาจใช้ได้ด้วย ดังนั้น นิติบุคคลจึงอาจเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยนิติบุคคลที่จะฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นนิติบุคคลในกฎหมายเอกชนคือเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงกลุ่มบุคคลที่เป็นนิติบุคคลหรือนิติบุคคลในกฎหมายมหาชน เช่น เขต เทศบาล วิสาหกิจ กองทุนต่าง ๆ ของรัฐ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยของรัฐสามารถเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หากเสรีภาพขั้นพื้นฐานทางด้านวิชาการ ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของฝ่ายปกครอง หรือกรณีวิสาหกิจมหาชน (entreprise publique) ด้านวิทยุโทรทัศน์ถูกจำกัดเสรีภาพด้านข่าวสาร เป็นต้น
       4.2.2.2 วัตถุประสงค์แห่งการฟ้องคดี วัตถุประสงค์ของการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีได้โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็เพื่อเป็นหลักประกัน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนนั่นเอง โดยการฟ้องคดีจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐและมีผลเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การใช้อำนาจรัฐดังกล่าว จะต้องใช้โดยฝ่ายปกครองของเยอรมันที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายภายใน หรืออาจเป็นเอกชนที่ได้รับมอบอำนาจรัฐจากฝ่ายปกครองก็ได้ ส่วนสิ่งที่จะนำมาฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น อาจเป็นรัฐบัญญัติ กฎระเบียบของฝ่ายปกครอง หรือคำพิพากษาศาลก็ได้ 26
       หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลาย ๆ ประเทศในยุโรปต่างพากันสร้างกลไกในการพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยให้ประชาชนสามารถฟ้องศาลได้ในกรณีที่มีการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม การให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชนนี้มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะศาลสามารถตรวจสอบได้เฉพาะการกระทำของฝ่ายปกครองเท่านั้น ส่วนการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ (actes legislatifs) หรือแม้กระทั่งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล (decisions de justice) ที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ศาลยุติธรรมก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น จึงมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ใหม่ในปี ค.ศ. 1951 เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องได้โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
       ปัจจุบันประชาชนสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงในกรณี
       ดังต่อไปนี้ 27
       (ก) ฟ้องร้องการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ อันได้แก่ รัฐบัญญัติทั้งหลายที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแห่งสหพันธ์ หรือรัฐสภาแห่งมลรัฐ (Lander) รัฐบัญญัติรับรองสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยประชาชนสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงหากเห็นว่ากฎหมายเหล่านั้นกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า การกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพนั้นเป็นการกระทบโดยตรง (en personne) ทันที (immediate) และเป็นผลกระทบที่ยังมีอยู่ (actuelle)
       (ข) ฟ้องร้องการกระทำของฝ่ายบริหาร ประชาชนสามารถฟ้องทางอ้อมต่อกฎหมายได้โดยการฟ้องว่ามาตรการที่ฝ่ายปกครองใช้ตามกฎหมายนั้นกระทบ ต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนผู้นั้น นอกจากนี้แล้ว ประชาชนยังสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ของรัฐบาลหรือฝ่ายปกครองได้หากสิ่งเหล่านั้นไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเข้า
       (ค) ฟ้องร้องการกระทำของฝ่ายตุลาการ การกระทำของฝ่ายตุลาการ (les actes des organes judiciaires) ที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตาม รัฐธรรมนูญ อาจถูกนำมาฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ใน 3 กรณี คือ การฟ้องคำพิพากษาที่ เกิดจากกระบวนพิจารณาของศาลที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การฟ้องคำพิพากษาที่เกิดจากกฎหมายที่ใช้ในการตัดสินคดีเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการฟ้องคำพิพากษาที่ตัวคำพิพากษาเองมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
       การฟ้องการกระทำของฝ่ายตุลาการนี้ ไม่ได้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะที่เป็นองค์กรที่ “ทบทวน” คำพิพากษาศาลฎีกาอีกชั้นหนึ่ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะไม่พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย แต่ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบแต่เพียงประเด็นเดียว คือ ประเด็น “ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ของคำพิพากษานั้นเท่านั้น
       4.2.2.3 เหตุแห่งการฟ้องคดี การฟ้องคดีของประชาชนโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญอาจทำได้ด้วยเหตุที่ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพเป็นพื้นฐานโดยการกระทำของอำนาจรัฐดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 แห่งกฎหมายพื้นฐาน
       ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ได้วางเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม คือ การกระทำที่จะนำมาฟ้องร้องได้จะต้องเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบ (leser) ต่อผู้ฟ้องคดีโดยตรง (en personne) โดยผลกระทบโดยตรงนี้จะต้องเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทันที (immediate) และเป็นผลกระทบที่ยังมีอยู่ (actuelle) ในขณะที่มาฟ้องคดี ซึ่งเมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะพิจารณาถึงเงื่อนไขเหล่านี้อย่างเคร่งครัด 28
       4.2.2.4 การดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิและเสรีภาพของตนไม่สามารถที่จะมาฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หากยังไม่ดำเนินการตามขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 90 วรรคสอง แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์เสียก่อน กล่าวคือ เรื่องที่จะนำมาฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น ประชาชนผู้ฟ้องคดีจะต้องไม่มีทางอื่นที่จะไปดำเนินการได้อีกแล้วไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีต่อศาลธรรมดาหรือการร้องทุกข์ต่อฝ่ายปกครอง หรือในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องคำพิพากษาของศาล ก็จะต้องมีการฟ้องศาลและได้รับการพิจารณาจากศาลสุดท้ายเสียก่อนจึงจะสามารถนำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลสุดท้ายมาฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ 29
       แต่อย่างไรก็ตาม หลักเกี่ยวกับการต้องดำเนินการตามขั้นตอนก่อนก็มีข้อยกเว้นอยู่สองประการที่มีผลทำให้ไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวมาแล้วก่อน กล่าวคือ ในกรณีที่การฟ้องคดีเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ (interet general) และในกรณีที่ ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงและไม่อาจแก้ไขได้หากให้ศาลธรรมดาเป็น ผู้ตัดสิน ในกรณีทั้งสองผู้ฟ้องคดีสามารถฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง อนึ่ง การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงรัฐบัญญัติที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่อาจใช้ข้อยกเว้นทั้งสองได้หากรัฐบัญญัตินั้นมิได้ถูกนำไปใช้ในการตัดสินคดีของศาล 30
       4.2.2.5 อายุความในการฟ้องคดี อายุความในการฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยทั่วไปคือหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ประชาชนผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพจากการกระทำของอำนาจรัฐ 31แต่ถ้าหากเป็นการฟ้องร้องต่อรัฐบัญญัติ 32ระยะเวลาในการฟ้องร้องจะขยายเป็น 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐบัญญัตินั้น ส่วนคำฟ้องก็จะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมทั้งมีการกำหนดประเด็นและให้เหตุผลในการโต้แย้งคัดค้านการกระทำของอำนาจรัฐไว้ด้วย อนึ่ง ในกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ได้กำหนดไว้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่จำเป็นต้องมีทนายก็ได้ในขั้นตอนนี้ 33
       4.2.3 การตรวจสอบคำฟ้อง กระบวนการให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีต่อศาล
       รัฐธรรมนูญได้โดยตรงเป็นกระบวนการที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอันมาก
       เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีภาระงานอันอยู่ในอำนาจหน้าที่เป็นจำนวนมาก
       และประชาชนก็เข้ามาฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้น จึงมีการสร้างกลไกในการตรวจสอบและกลั่นกรองเรื่องฟ้องร้องของประชาชน โดยในปี ค.ศ. 1956 ได้มี การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์เพื่อกำหนดให้มีองค์คณะกลั่นกรอง (Kammer) ซึ่งประกอบไปด้วยตุลาการจำนวน 3 คน34 องค์คณะกลั่นกรองทำหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องที่ประชาชนฟ้องร้องว่ามีการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาในปี ค.ศ. 1986 ก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 องค์คณะ35 แต่งตั้งองค์คณะกลั่นกรองขึ้นองค์คณะหนึ่งหรือหลายองค์คณะก็ได้ แต่ละองค์คณะจะต้องประกอบด้วยผู้พิพากษา 3 คน และองค์ประกอบขององค์คณะกลั่นกรองจะมีการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ 3 ปี โดยก่อนเริ่มต้นแผนงานในแต่ละปี ให้มีการแต่งตั้งองค์คณะกลั่นกรองและ องค์ประกอบขององค์คณะกลั่นกรอง รวมทั้งตัวแทนขององค์คณะกลั่นกรองนั้น ๆ 36
       เมื่อองค์คณะกลั่นกรองพิจารณาแล้วเห็นว่าคำฟ้องใดเป็นคำฟ้องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาได้ ก็จะส่งเรื่องดังกล่าวไปยังองค์คณะที่เกี่ยวข้องต่อไป37 ส่วน คำสั่งรับหรือไม่รับคำฟ้องขององค์คณะกลั่นกรองถือเป็นที่สุด ไม่อาจนำมาฟ้องร้องต่อศาล
       รัฐธรรมนูญได้อีก
       384.2.4 การรับคำฟ้องคดีไว้พิจารณาดำเนินการ เมื่อองค์คณะกลั่นกรองมีคำสั่ง
       ว่าคำฟ้องใดที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับไว้พิจารณาได้ ก็จะเป็นหน้าที่ขององค์คณะในศาล รัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว
       ตามมาตรา 14 (เดิม) แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ได้กำหนด
       ให้ศาลรัฐธรรมนูญมี 2 องค์คณะ แต่ละองค์คณะมีอำนาจหน้าที่ที่แน่นอนชัดเจน ซึ่งการพิจารณาคำฟ้องของประชาชนนั้นจะอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์คณะแรก แต่หลังจากที่ได้ใช้กฎหมายมา ระยะหนึ่งก็พบว่า องค์คณะแรกนั้นต้องรับภาระอย่างมากเพราะนอกจากจะมีอำนาจหน้าที่ในการ พิจารณาเรื่องอื่น ๆ แล้ว ยังมีเรื่องที่ประชาชนฟ้องร้องเข้าสู่การพิจารณาจำนวนมากจนทำให้ ไม่อาจพิจารณาเรื่องได้ทัน ดังนั้น จึงมีการแก้ไขมาตรา 14 ใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยกำหนดให้ที่ประชุมร่วมขององค์คณะทั้งสองอาจกำหนดอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์คณะให้ แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 14 ได้ ในกรณีที่เกิดภาวะการล้นงานแก่องค์คณะใด ๆ องค์คณะหนึ่งอันมิได้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น กฎเกณฑ์ดังกล่าวใช้บังคับกับคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาซึ่งยังไม่มีการพิจารณาโดยวาจาหรือยังไม่มีการพิจารณาเพื่อทำคำวินิจฉัยด้วย มติของที่ประชุมร่วมขององค์คณะทั้งสองนี้ต้องประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาด้วย 39
       ส่วนกระบวนวิธีพิจารณาคำฟ้องร้องของประชาชนก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายพื้นฐานและกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ โดยมีการแยกวิธีพิจารณาออกเป็นสองส่วน คือ วิธีพิจารณาทั่วไปอันเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับคดีทุกประเภท เช่น การคัดค้านตุลาการ การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เป็นต้น กับกระบวนวิธีพิจารณาเฉพาะคดี
       ในระหว่างปี ค.ศ. 1951 ถึงปี ค.ศ. 1999 มีเรื่องที่ประชาชนฟ้องคดีเข้าสู่
       การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 127,171 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การใช้อำนาจรัฐตามคำฟ้องไม่มีผลเป็นการกระทบสิทธิประชาชนจำนวน 124, 301 เรื่อง หมายความว่า มีคำฟ้องเพียงร้อยละ 2.6 เท่านั้นที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยว่ามีการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
       4.2.5 ผลแห่งคำวินิจฉัย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ากฎหมายหรือสิ่งที่
       ประชาชนนำมาฟ้องร้องขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะมีผลทำให้กฎหมายหรือสิ่งต่างๆ นั้นสิ้นผลบังคับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรและไม่สามารถเพิกถอนเปลี่ยนแปลงได้
       ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ารัฐบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบัญญัตินั้นก็จะสิ้นผลบังคับไปทันที แต่ถ้าหากเป็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล หรือคำสั่งของฝ่ายปกครองขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีการเพิกถอนคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล หรือคำสั่งของฝ่ายปกครองนั้นโดยศาลรัฐธรรมนูญจะต้องส่งเรื่องกลับไปยังองค์กรเจ้าของเรื่องเพื่อเพิกถอนคำพิพากษาหรือคำสั่งต่อไป 40
       4.2.6 กรณีศึกษา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญลงวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1985 กรณีเสรีภาพในการชุมนุม
       มาตรา 8 แห่งกฎหมายพื้นฐานได้ให้สิทธิแก่ชาวเยอรมันที่จะชุมนุมโดยสงบ
       (paisiblement) และปราศจากอาวุธ (sans arme) โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าหรือขออนุญาตก่อน ซึ่งต่อมาในการก่อสร้างศูนย์นิวเคลียร์แห่ง Brokdorf ในปี ค.ศ. 1985 ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ก็ได้รวมตัวกันประท้วงการก่อสร้างศูนย์นิวเคลียร์แห่งนั้น ซึ่งต่อมาผู้ว่าการ (prefet) ก็ได้ออก คำสั่งห้ามชุมนุมในเขตเมืองดังกล่าวเป็นเวลา 48 ชั่วโมง โดยใช้มาตรา 14 และมาตรา 15 แห่งกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม (la loi relative aux reunions) ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสามารถห้ามหรือจำกัดบริเวณของการชุมนุมที่มีท่าทีว่าจะใช้กำลังหรือความรุนแรง อันเป็นภัยต่อสาธารณะได้ ซึ่งต่อมาผู้ชุมนุมก็ได้ฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเสีย ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยเห็นฟ้องด้วยกับคำฟ้องของผู้ชุมนุมในบางส่วน คือ สมควรที่ฝ่ายปกครองจะกำหนดบริเวณห้ามชุมนุมเฉพาะในบริเวณที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบจากการก่อสร้างเท่านั้น ฝ่ายปกครองจึงได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลปกครอง
       ชั้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยศาลปกครองชั้นต้นโดยเห็นด้วย
       กับการออกคำสั่งห้ามชุมนุมของฝ่ายปกครอง โดยให้เหตุผลว่าคำสั่งของผู้ว่าการเป็นมาตรการในการป้องกันมิให้เกิดความไม่สงบอันเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ฟ้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนคำสั่งของศาลปกครองดังกล่าวเนื่องจากขัดต่อมาตรา 8 แห่งกฎหมายพื้นฐาน
       ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยกรณีดังกล่าวว่า เสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิขั้น
       พื้นฐานของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญก็ได้มอบอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติไปกำหนดถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมมาตรา 14 และมาตรา 15 เป็นบทบัญญัติที่วางกรอบกติกาสำหรับการชุมนุมเอาไว้ หากฝ่ายปกครองผู้บังคับใช้เป็นผู้ทำให้บทบัญญัติดังกล่าวมีสภาพที่ขัดกับมาตรา 8 แห่งกฎหมายพื้นฐาน ก็เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ มิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคดีดังกล่าวว่า
       คำสั่งของศาลปกครองชั้นอุทธรณ์นั้นกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามมาตรา 8 แห่งกฎหมายพื้นฐานเนื่องจากการห้ามชุมนุมนั้น หากจะทำก็ควรทำเฉพาะเท่าที่จำเป็นดังเช่นที่ศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ มิใช่ห้ามชุมนุมทั้งเมืองดังที่ศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ได้วินิจฉัยเห็นด้วยกับการออกคำสั่งของฝ่ายปกครองดังกล่าว
       
       4.3 สาธารณรัฐโปรตุเกส
       แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1911 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสาธารณรัฐโปรตุเกสจะมิได้มีการบัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาเพื่อควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา คือ ในปี ค.ศ. 1971 ก็ได้มีการมอบอำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้ “ศาลยุติธรรม” เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือฉบับลงวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1976 ใช้บังคับ และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในปี ค.ศ. 1982 ก็ได้มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ (le Tribunal Constitutionnel) ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย41 โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 227 ถึงมาตรา 283 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
       สำหรับโครงสร้างและองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มาตรา 224 แห่งรัฐธรรมนูญ
       ฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการจำนวน 13 คน มาจากการ แต่งตั้งของสภาแห่งสาธารณรัฐ (l’ Assemblee de la Republique) จำนวน 10 คน และอีก 3 คน ได้รับการแต่งตั้งจากตุลาการทั้ง 10 คน โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 6 คน ที่แต่งตั้งโดยสภาแห่งสาธารณรัฐหรือแต่งตั้งโดยตุลาการทั้ง 10 คนนั้น จะต้องคัดเลือกมาจากผู้พิพากษาในศาลอื่น นอกจากนั้นอีก 7 คนให้แต่งตั้งจากนักกฎหมาย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี สถานะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นเช่นเดียวกับผู้พิพากษาศาลอื่นคือมีอิสระในการทำงานและไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำในหน้าที่ของตน
       4.3.1 อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 225 แห่งรัฐธรรมนูญได้
       บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้ คือ
       ก. ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 277 แห่งรัฐธรรมนูญ อันได้แก่ การควบคุมกฎหมายหรือหลักของกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และการควบคุมเนื้อหาสาระและรูปแบบของสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ
       ข. เป็นผู้ประกาศการถึงแก่อสัญกรรมของประธานาธิบดีหรือประกาศการไม่
       สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปของประธานาธิบดีอันเนื่องมาจากปัญหาด้านสุขภาพ หรือประกาศให้ประธานาธิบดีหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว (empechement temporaire)
       ค. ประกาศถึงการพ้นจากหน้าที่ของประธานาธิบดีในกรณีที่เดินทางออกนอก
       ประเทศโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสภาแห่งสาธารณรัฐ (l’ Assemblee de la Republique) หรือในกรณีกระทำผิดอาญาอย่างร้ายแรงตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมสูงสุด (le Tribunal supreme de justice)
       ง. เป็นผู้วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
       จ. เป็นผู้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง
       ฉ. เป็นผู้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกระบวนการออกเสียง
       ประชามติ
       เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ทั้งหมดของศาลรัฐธรรมนูญโปรตุเกสแล้ว
       จะพบว่า อำนาจหน้าที่ประการแรกเป็นอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของรัฐธรรมนูญ อันเป็นเรื่องที่จะได้ทำการศึกษาต่อไป
       4.3.2 ฐานทางกฎหมายของการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดยประชาชน มาตรา
       207 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ว่า “ศาลไม่สามารถตัดสินคดีโดยใช้กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญได้” ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจึงสามารถยกขึ้นมาได้ในระหว่างการ
       พิจารณาคดีของศาล โดยศาลเองหรือโดยคู่ความเห็นว่ากฎหมายระดับรัฐบัญญัติหรือกฎข้อบังคับ
       ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขัดรัฐธรรมนูญและนำมาใช้ในการพิจารณาคดีดังกล่าว42 ซึ่งเมื่อมีการยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมา ศาลที่พิจารณาคดีนั้นก็จะต้องทำการวินิจฉัยว่ากฎหมายนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะปฏิเสธที่จะไม่นำกฎหมายดังกล่าวมาใช้เนื่องจากกฎหมายนั้นขัดรัฐธรรมนูญ ผลของคำพิพากษาของศาล ก็จะจำกัดอยู่เฉพาะในคดีนั้น ไม่ผูกพันศาลอื่น ไม่ผูกพันคดีอื่นและไม่มีผลต่อคดีที่ได้พิจารณาไปแล้ว การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลยุติธรรมสามารถพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายได้ก็เพื่อเป็นการ “คานอำนาจ” ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่น ๆ นั่นเอง
       มาตรา 223 แห่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดถึง “ช่องทาง” ที่จะฟ้องขอให้มี
       “การทบทวน” คำพิพากษาของศาลยุติธรรมโดยบัญญัติไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษ ที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีที่มีปัญหาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติในมาตรานี้เองเป็นบทบัญญัติที่เปิดช่องทางให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก คำพิพากษาของศาลสามารถฟ้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยทบทวนคำพิพากษานั้นได้หากคำพิพากษานั้นใช้กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคดี
       

       4.3.3 เหตุแห่งฟ้องคดี เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับประเด็นความชอบด้วย
       รัฐธรรมนูญของกฎหมายแล้ว คำพิพากษาเหล่านั้นอาจถูกนำมาฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ในกรณีดังต่อไปนี้43 คือ
       ก. เป็นคำพิพากษาที่ปฏิเสธการนำกฎหมายบางฉบับมาใช้โดยอ้างว่า
       กฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
       ข. เป็นคำพิพากษาที่ใช้กฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในการ
       พิจารณาพิพากษาคดี และมีการยกประเด็นว่ากฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาแล้ว โดยคู่ความในชั้นพิจารณาคดีของศาล
       ค. เป็นคำพิพากษาที่นำกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยมาแล้วว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาใช้ในการพิจารณาตัดสินคดี
       4.3.4 ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 แห่งกฎหมายประกอบ
       รัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาในคดีนั้นเอง อัยการ (ministere public)
       หรือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษานั้นสามารถฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยประชาชนในที่นี้หมายถึงเอกชน ฝ่ายปกครอง หรือนิติบุคคลก็ได้ และจะมีสัญชาติโปรตุเกสหรือเป็นคนต่างชาติก็ได้44 กระบวนการควบคุมคำพิพากษาของศาลดังกล่าวเป็นกระบวนการควบคุมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงเพื่อปกป้องสิทธิขั้น พื้นฐานของตน 45
       4.3.5 อายุความในการฟ้องคดี การฟ้องคดีต้องดำเนินการภายใน 8 วันนับแต่
       วันที่ได้รับแจ้ง (notification) คำพิพากษา
       4.3.6 กระบวนพิจารณาคดี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำฟ้องก็จะดำเนินการตาม
       กระบวนพิจารณาของตนดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลักสำคัญ ๆ คือ ต้องเปิดโอกาสให้คู่ความเข้ามาชี้แจงแสดงความเห็นได้ อนึ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลของคู่ความนั้นจะต้องมีทนายความเป็นผู้ดำเนินการและทนายความ ดังกล่าวจะต้องเป็นทนายความที่ได้รับอนุญาตให้ว่าความในศาลยุติธรรมสูงสุด (le Tribunal supreme de justice) เท่านั้น 46
       STRONG>4.3.7 ผลแห่งคำวินิจฉัย เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยขององค์กรศาลรัฐธรรมนูญ
       ทั่ว ๆ ไป คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันใช้บังคับได้ทั่วไปและไม่สามารถนำไปฟ้องต่อ ณ ศาลใดได้47<
       4.3.8 กรณีศึกษา คำวินิจฉัยที่ 383/00 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2000
       กรณีนี้เป็นเรื่องที่นาย S. ถูกศาลอาญาแห่งเมือง Lisbon พิพากษาลงโทษ
       เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1999 ให้ลงโทษจำคุกรวม 7 ปี จากการกระทำความผิดฐานปลอมแปลง (falsification) 10 กรณี และฉ้อโกง (fraude) อีก 9 กรณีด้วยกัน ต่อมานาย S. ก็ได้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นคำนวณโทษของตนผิดเนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ไปแยกนับการกระทำความผิดหลาย ๆ ความผิดออกจากกันทั้ง ๆ ที่เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์แห่งเมือง Lisbon ก็ได้มีคำพิพากษาลงวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2000 เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของนาย S. บางส่วน และคำนวณโทษใหม่โดยนาย S. จะต้อง รับโทษจำคุกรวม 6 ปี นาย S. ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงได้ร้องต่อศาล รัฐธรรมนูญว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขัดต่อหลักว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมาย (principe de legalite) และขอให้เพิกถอนคำพิพากษาศาลดังกล่าว
       ในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ อัยการได้ชี้แจงว่าการลงโทษนาย S. ด้วยวิธีดังกล่าวไม่ขัดต่อหลักว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมาย เพราะการกระทำความผิดทุกการกระทำของนาย S. เป็นการกระทำความผิดที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้การกระทำเหล่านั้นเป็นความผิดซึ่งผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษ ผู้กระทำผิดไม่อาจอ้างประโยชน์จากการกระทำผิดที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นมาเป็นประโยชน์เพื่อการคำนวณโทษที่ตนเองจะได้รับได้
       
       ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยให้ยกคำฟ้องของนาย S.โดยมีเหตุผลว่า การลงโทษนาย S. โดยศาลยุติธรรมเป็นการลงโทษตามกฎหมาย คำขอของนาย S.ที่ให้ ลงโทษการกระทำความผิดฐานปลอมแปลง 10 กรณีว่าเป็นการกระทำความผิดเพียงครั้งเดียว และการฉ้อโกงอีก 9 กรณีว่าเป็นการกระทำความผิดเพียงครั้งเดียวนั้นไม่สามารถทำได้เนื่องจากการกระทำทุกครั้งเป็นการกระทำที่เป็นความผิดและมีโทษกำหนดไว้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์แห่งเมือง Lisbon พิพากษาลงโทษจำคุกนาย S. 6 ปี จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ขัดต่อความชอบด้วยกฎหมาย จึงวินิจฉัยให้ยกคำฟ้องของนาย S.
       
       เชิงอรรถ
        (1) Annabelle PENA-GAIA,
       La justice constitutionnelle II : Belgique, Espagne, Italie, Allemagne,
       Documents d’ etudes no 1.16 edition 1998, la documentation Francaise, Paris, 1998, p.4.
        (2) เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
        (3) Francis DELPEREE,
       Le recours des particuliers devant le juge constitutionnel,

       collection droit public positif, Ed. Economica, Bruxelles 1991, p.17.
        (4) Annabelle PENA-GAIA,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 82,

       หน้า 7.
        (5) คำวินิจฉัยศาลชี้ขาดข้อพิพาทที่ 71/95 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1995.
        (6) คำวินิจฉัยศาลชี้ขาดข้อพิพาทที่ 56/95 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1995.
        (7) คำวินิจฉัยศาลชี้ขาดข้อพิพาทที่ 35/95 ลงวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1995.
        (8) Francis DELPEREE,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 84,

       หน้า 18.
        (9) เรื่องเดียวกัน, หน้า 16.
        (10) เรื่องเดียวกัน, หน้า 20.
        (11) เรื่องเดียวกัน, หน้า 21.
        (12) เรื่องเดียวกัน, หน้า 20.
        (13) เรื่องเดียวกัน, หน้า 31.
        (14) มาตรา 110 วรรคแรก แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1989.
        (15) มาตรา 65 วรรค 2 และมาตรา 114 วรรคแรก แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1989.
        (16) มาตรา 113 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1989.
        (17) Francis DELPEREE,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 84,

       หน้า 34.
        (18) มาตรา 109 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1989.
        (19) Francis DELPEREE,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 84,

       หน้า 34.
        (20) โปรดดู บรรเจิด สิงคะเนติ,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 16,

       หน้า 72-82.
        (21) เรื่องเดียวกัน, หน้า 87-89.
        (22) Armin DITTMAN,
       Le recours constitutionnel en droit allemand

       , Le Cahiers du Conseil Constitutionnel, no.10 (2001) Dalloz, Paris 2001, p.72.
        (23) เรื่องเดียวกัน, หน้า 74.
        (24) เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
        (25) เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
        (26) เรื่องเดียวกัน, หน้า 75.
        (27) Annabelle PENA-GAIA,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 82,

       หน้า 47-48.
        (28) เรื่องเดียวกัน, หน้า 76.
        (29) เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
        (30) Annabelle PENA-GAIA,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 82,

       หน้า 48.
        (31) มาตรา 93 วรรคแรก แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ.
        (32) มาตรา 93 วรรคสาม แห่งกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ.
        (33) Armin DITTMAN,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 103,

       หน้า 77.
        (34) เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
        (35) ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันประกอบด้วย 2 องค์คณะ โปรดดูรายละเอียดใน บรรเจิด สิงคะเนติ,
       หนังสือที่อ้างถึงในเชิงอรรถที่ 16,

       หน้า 83-85.
        (36) บรรเจิด สิงคะเนติ,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 16,

       หน้า 87.
        (37) Annabelle PENA-GAIA,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 82,

       หน้า 49.
        (38) บรรเจิด สิงคะเนติ,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 16,

       หน้า 85.
        (39) Armin, DITTMAN,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 103,

       หน้า 77.
        (40) Annabelle PENA-GAIA,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 82,

       หน้า 49.
        (41) มาตรา 223 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษที่มีอำนาจในการ พิจารณาพิพากษาคดีที่มีปัญหาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ.
        (42) Vital MOREIRA,
       Le Tribunal Constitutionnel Portugals,

       Les Cahiers du Conseil Constitutionnel no.10-2001, Dalloz, Paris 2001, p.27.
        (43) เรื่องเดียวกัน, หน้า 30.
        (44) เรื่องเดียวกัน, หน้า 29.
        (45) P. BON,
       La justice constitutionnelle au Portugal,

       Economica, Paris 1989, p.189.
        (46) Francis DELPEREE,
       อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 84,

       หน้า 189.
        (47) เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544