หน้าแรก บทความสาระ
ถึงท่านผู้นำ โดย ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
7 กุมภาพันธ์ 2548 07:17 น.
 
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ครั้งที่ 2 ก็ได้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่ค่อย “คึกคัก” เท่าใดนัก ทั้งนี้ เพราะเกิดเหตุการณ์ที่ภาคใต้ขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็เลยทำให้คนไทยส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะเศร้าสลด แต่อย่างไรก็ดี หากไม่มีปาฏิหารย์ใดๆเกิดขึ้น ก็คงเป็นที่แน่นอนว่า พรรคไทยรักไทยของ “ท่านผู้นำ” คงจะ “ชนะ” การเลือกตั้งแบบขาดลอย ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในครั้งที่ 2 นี้คงมาจากหลายเหตุด้วยกันที่ทำให้พรรคไทยรักไทยของท่านผู้นำเป็นต่อพรรคการเมืองอื่นอยู่มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาที่พรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศและได้รับความ “นิยม” จากประชาชนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ จากการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของไทยที่ผ่านมาจะพบว่า รัฐบาลของพรรคไทยรักไทยในช่วงเวลา 4 ปี ที่เพิ่งผ่านไปเป็นรัฐบาลที่มี “เสถียรภาพ” มากที่สุดในบรรดารัฐบาลทั้งหมดเท่าที่เคยมีมา ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลส่วนหนึ่งแล้วเกิดขึ้นจาก “ผล” ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและจาก “ผล” ของการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง “รูปแบบใหม่” ของพรรคไทยรักไทย ดังนั้น จึงค่อนข้างเป็นที่แน่นอนว่า พรรคไทยรักไทยคงต้องเป็น “แกนนำ” ในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หรือเป็น “ผู้จัดตั้ง” รัฐบาลชุดใหม่ หากเป็นไปตามที่ “ท่านผู้นำ” ได้เคยประกาศเอาไว้ว่า หากได้ 400 เสียงก็จะจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียว
       
       ปัจจัยที่ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งนั้นมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “ทุน” ที่มีอยู่มาก “อำนาจรัฐ” ที่มีอยู่ในมือ รวมทั้ง “คุณภาพ” ของบุคลากรที่อยู่ในพรรคก็ล้วนแล้วแต่เป็นระดับ “สุดยอด” ของพื้นที่ทั้งสิ้น ฉะนั้น เป้าหมาย 400 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวของพรรคไทยรักไทยจึงเป็นสิ่งที่ “น่าจะ” เป็นไปได้ไม่ยากนัก
       
       คำถามที่น่าสนใจก็คือ อะไรจะเกิดขึ้นใน 4 ปีข้างหน้าหากพรรคไทยรักไทยได้คะแนนเกิน 400 เสียงและเป็นรัฐบาลพรรคเดียว
       คำตอบคงมีหลายแนวทาง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามคงเป็นสิ่งที่ “คาดเดา” ได้ยากมากว่า “ท่านผู้นำ” คิดอะไรอยู่และจะทำอย่างไรต่อไป แต่ถ้าพิเคราะห์จาก 4 ปีที่ผ่านมานั้น ก็อาจทำให้เราคาดเดาได้ว่า “ท่านผู้นำ” คงต้อง “สานต่อ” สิ่งที่ท่านได้ทำไว้ทั้งหมดในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็จะเกิดปัญหาให้ต้องขบคิดต่อไปอีกว่า ท่านผู้นำจะ “สานต่อ” อะไรบ้าง เพราะจากที่ได้ยินมานั้น ท่านผู้นำได้พยายามชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมา 4 ปีนั้น รัฐบาลของท่านผู้นำได้เข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดจากรัฐบาลก่อนจนได้ผลดีแล้ว ดังนั้นใน 4 ปีข้างหน้า ก็จะทำสิ่งใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยต่อไป
       
       “4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง” ฟังดูแล้วก็น่าประทับใจ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากันจริงๆแล้วในช่วง 4 ปีซ่อมนั้น ท่านผู้นำก็ได้ทำอย่างอื่นไปด้วยนอกจากการซ่อม โครงการ “เอื้ออาทร” จำนวนมากที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ที่ดูๆแล้วน่าจะเป็นการ “สร้าง” ปัญหามากกว่าการ “ซ่อม” เพื่อแก้ปัญหาก็เกิดขึ้นในช่วง 4 ปีซ่อม ดังนั้น ในช่วง 4 ปีสร้างที่จะมาถึงข้างหน้าจึงอาจเข้าใจว่าท่านผู้นำก็คงต้อง “ซ่อม” สิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับการปฏิรูประบบราชการซึ่งมีบางส่วน “ล้มเหลว” แต่ก็ยังไม่มีการยอมรับว่าเกิดความ “ล้มเหลว” ขึ้นในการปฏิรูปราชการบางส่วน
       ส่วนสำคัญของการทำงานของรัฐบาลใหม่ของท่านผู้นำไม่ว่าจะเป็นการ “ซ่อม” หรือการ “สร้าง” คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงบรรดา “รัฐมนตรี” ของท่านผู้นำ เป็นเรื่องน่าขบคิดกับคำพูดของท่านผู้นำที่ได้ประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้งว่า รัฐบาลจะมีรัฐมนตรีชุดเก่าออกไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งก็หมายความว่า ในรัฐบาลชุดใหม่ของท่านผู้นำจะมีรัฐมนตรีหน้าเดิมอยู่ประมาณ 18 คน คำพูดดังกล่าวสมควรนำมาพิเคราะห์ให้ละเอียด เพราะในช่วง 4 ปีซ่อมที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าในการดำเนินงานของรัฐบาลของท่านผู้นำมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งค่อนข้างมาก คงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง “คุณภาพ” หรือ “ศักยภาพ” เพราะว่ามัน “ผ่านไปแล้ว” ทั้งๆที่ในช่วงที่ผ่านมาบางครั้งก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าท่านผู้นำ “มองเห็น” หรือไม่กับสิ่งที่รัฐมนตรีของท่านทำ โครงการหลายโครงการที่ “เกิด” และ “เลิก” ไปด้วยความ “เคลือบคลุม” นั้นล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่ผ่าน ครม. ทั้งนั้น !!! สำหรับในช่วง “4ปีสร้าง” นี้ แม้จะยังมองไม่ออกว่าท่านผู้นำจะ “สร้าง” อะไร เพราะท่านก็ได้ “สร้าง” สิ่งดีๆเอาไว้หลายอย่างแล้วในช่วง 4 ปีซ่อม แต่อย่างไรก็ดีการที่ท่านผู้นำได้กล่าวไว้ว่า รัฐบาลใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้าจะเป็นรัฐบาลที่ “สร้าง” นั้น ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง และจะน่ายินดีไปกว่านี้หากท่านผู้นำจะ “สร้าง” กติกาใหม่ให้กับสังคมไทยเรา
       
       เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า รัฐบาลชุดที่ผ่านมานั้นเกิดจากการรวมตัวกันขึ้นของนักการเมืองหลายๆกลุ่มที่สลายตัวมาจากพรรคการเมืองต่างๆ ดังนั้น ครม. ในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาจึงมีบางส่วนมาจาก “ตัวแทน” ของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่แม้ในบางครั้งท่านผู้นำจะ “ทุบโต๊ะ” ได้แต่ในบางครั้งท่านผู้นำก็คงต้อง “ประนีประนอม” เพื่อให้รัฐบาลของท่านสามารถอยู่ได้อย่างสงบเพื่อปฎิบัติหน้าที่ได้ดีและสำเร็จตามที่ท่านผู้นำต้องการ ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่ารัฐบาลใหม่ของท่านผู้นำจะเป็นอย่างไร โฉมหน้า ครม. ใหม่จะเป็นอย่างไรและกิจกรรมทางการเมืองใดที่ท่านผู้นำจะ “ให้” แก่ประชาชนคนไทย ! คำถามทั้งสามคงเป็นสิ่งที่ท่านผู้นำจะต้องตอบต่อประชาชนคนไทยต่อไป แต่ถ้าหากจะถามผู้เขียนว่าอยากได้รัฐบาลใหม่อย่างไร อยากให้ใครเป็นรัฐมนตรีบ้างและอยากให้ท่านผู้นำทำอะไรบ้างนั้น ก่อนที่จะให้คำตอบที่ถือว่าเป็น “ความฝัน” ของนักวิชาการคนหนึ่ง เราจะลองมาดูสภาพของ “การเมือง” และ “สังคมวิทยาทางการเมือง” กันก่อน ท่านผู้นำอยู่ในตำแหน่งมา 4 ปี ระหว่างที่ท่านผู้นำอยู่ในตำแหน่ง ท่านได้ทำกิจกรรมต่างๆ ไว้มาก ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่า ย่อมต้องมีทั้ง “คนรัก” และ “คนไม่รัก” ในส่วนของ “คนรัก” คงไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้น จะยุ่งก็แต่ “คนไม่รัก” ที่คง “จ้อง” ทั้งจับผิด จะจับได้หรือไม่ได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่แน่ๆ บุคคลเหล่านี้เป็นคนที่สร้างความ “รำคาญ” ให้กับท่านผู้นำไม่มากก็น้อย นอกจากนี้แล้ว ท่านผู้นำเองก็ยังไม่รู้อีกว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรกับท่าน กับรัฐบาลของท่าน จะอยู่ครบ 4 ปีไหม จะมีปัญหาขัดแย้งภายในหรือภายนอกพรรคของท่านหรือไม่ และนอกจากนี้ หากท่านผู้นำ “ลง” จากตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการ “ลงเอง” หรือ “ต้องลง” จะเกิดปัญหาอะไรตามมา? สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้ทั้งนั้น ดังนั้น จึงขอนำมาสู่ “ความฝัน” ของนักวิชาการคนหนึ่ง ที่ “อยากเห็น” กิจกรรมทางการเมืองดีๆ กิจกรรมหนึ่งที่อาจเป็นกิจกรรมที่สร้าง “อัศวิน” หรือ “รัฐบุรุษ” ใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ได้
       
       ลองมาดูกันก็แล้วกันครับ อย่างแรกคงต้องเริ่มต้นจากการที่ท่านผู้นำของเราต้องทำตัวใหม่ให้เป็น “ท่านผู้นำ” ที่สามารถ “ทุบโต๊ะ” ได้ก่อนครับ ทุบโต๊ะในที่นี้น่าจะมีความหมายไม่ไกลจาก “เผด็จการ” นัก แต่ก็สามารถยอมรับได้หากการทุบโต๊ะนั้นทำขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนครับ อย่างไรก็ตาม การทุบโต๊ะอย่างเดียวคงไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นหากไม่มี “เป้า” ที่แน่นอนของการทุบโต๊ะ “เป้า” ที่ฝันว่าจะได้เห็นก็คือการทุบโต๊ะเพื่อแก้ไขปรับปรุงระบบสถาบันการเมืองการปกครองประเทศตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเสียใหม่ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีข้อบกพร่องหลายประการให้สมบูรณ์ (เช่น จัดให้มีระบบการถ่วงดุลและตรวจสอบซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ แก้ปัญหาการผูกขาดอำนาจรัฐไว้กับพรรคการเมืองพรรคเดียวจนทำให้สมาชิกรัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารได้ แก้ไขปัญหาการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่องค์กรตามรัฐธรรมนูญและกำหนดกรอบในการใช้อำนาจและตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้เกิดผลดีกับประชาชนและประเทศชาติ เป็นต้น) และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบราชการให้สมบูรณ์และเกิดผลดีในการปฏิบัติ แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นให้มีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ หาจุดยุติที่เหมาะสมและเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การให้สัมปทานทั้งที่มีอยู่แล้วและที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน  คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่อยากขอความกรุณาท่านผู้นำให้ “ต้องทำ” ครับ โดยในขั้นต้น ต้องเริ่มต้นกระบวนการดังกล่าวจากการที่ท่านผู้นำต้องมีความ “ตั้งใจ” ที่จะทำการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียก่อน ความตั้งใจของท่านผู้นำจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูไปสู่การแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศชาติ แต่อย่างไรก็ดี ท่านผู้นำคนเดียวคงทำตามเป้าที่วางนี้ไม่ไหวแน่ๆ เพราะเป็น “งานใหญ่” ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่ายด้วยกัน ดังนั้น “คณะรัฐมนตรี” ของท่านผู้นำจึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นบุคคลที่ดีจริงๆที่คนเหล่านั้นอาจไม่จำเป็นต้อง “อยู่” ในพรรคการเมืองของท่านผู้นำก็ได้ครับ ขอเพียงแต่คนเหล่านั้นต้องเป็นคนที่เก่ง ดีและสะอาดจริงๆ เมื่อได้คนดีที่มีคุณสมบัติดังกล่าวครบตามจำนวนที่ท่านผู้นำต้องการมาเป็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว ท่านผู้นำก็คงต้อง “เริ่ม” ลงมือผ่าตัดระบบการเมืองการปกครองขนานใหญ่ การดำเนินการดังกล่าวไม่อาจเป็นไปอย่างราบรื่นได้หากขาดแรงสนับสนุนจากประชาชนครับ ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านผู้นำควรต้องแถลงวัตถุประสงค์ในการเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่สองของท่านผ่านวิทยุและโทรทัศน์เพื่อชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงเป้าหมายในการทำงานของท่านผู้นำและรัฐบาลใหม่ของท่านว่าจะเข้ามาเพื่อทำการปฏิรูปการเมืองใหม่โดยจะขอใช้เวลาเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ซึ่งไม่น่าจะเกิน 2 ปี) จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามประเด็นที่กล่าวไปแล้วข้างต้น รวมทั้งแก้ไขกฎหมายสำคัญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง ในการแก้กฎหมายนั้น รัฐบาลของท่านผู้นำจะต้องทำงานร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร (ของท่านผู้นำเพราะมีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งแน่ๆครับ!) ผลิตกฎหมายที่ดีออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคมที่มีอยู่เป็นเวลานานและเป็นปัญหาที่กัดกร่อนความเจริญของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการจัดโครงสร้างการบริหารราชการใหม่ การแก้ปัญหาองค์กรอิสระต่างๆ และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงต้องทำโดยการจัดตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ (ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวทางที่ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้เสนอไว้เมื่อกลางปีที่ผ่านมาที่เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 313 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองโดยคณะกรรมการพิเศษที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับนักการเมืองหรือพรรคการเมือง!!!)  เมื่อท่านผู้นำทำทุกอย่างคือทั้งได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายสำคัญๆ เพื่อการปฏิรูปการเมืองตามเป้าหมายเสร็จสิ้นแล้ว ก็สมควรเปิดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนด้วยการให้ประชาชนมาออกเสียงแสดงประชามติ เมื่อประชาชนให้ความเห็นชอบโดยการออกเสียงประชามติแล้ว ก็เข้าสู่จุดสำคัญสำหรับความเป็น “รัฐบุรุษ” ของท่านผู้นำ คือยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามกติกาใหม่ที่ได้จัดทำขึ้นครับ เท่านี้เราก็จะได้สิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นในสังคมไทย
       
       แนวทางที่กล่าวมาข้างต้น แม้จะเป็นแนวทางที่ค่อนข้างจะ “เพ้อฝัน” เพราะต้องอาศัยองค์ประกอบและปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความเป็น “ผู้นำ” ที่กล้าหาญและประชาชนยอมรับ (แน่นอนครับ ท่านผู้นำมีอยู่แล้ว) ความเชี่ยวชาญของผู้ร่างรัฐธรรมนูญและความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างรัฐบาลและรัฐสภา ที่ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนการปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จได้ทั้งนั้น แต่ก็เป็นแนวทางที่ “น่าจะ” เป็นไปได้ หากท่านผู้นำ “ประสงค์” เพราะด้วยบุคลิกภาพและความสามารถของท่านผู้นำที่ได้แสดงให้เห็นใน 4 ปี ที่ผ่านมา ทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า ท่านผู้นำ “ทำได้” ครับ ดังนั้น ด้วยความตั้งใจของท่านผู้นำ ประกอบกับบทบาทของท่านผู้นำที่จะมีต่อรัฐบาลของท่านผู้นำและรัฐสภาที่มีเสียงข้างมากเป็นของท่านผู้นำ ก็จะทำให้การปฏิรูปการเมืองกลายเป็นกิจกรรมสำคัญที่รัฐบาลในช่วง “4 ปีสร้าง” ของท่านผู้นำ “น่าจะ” ทำครับ
       
       คำถามที่จะต้องมีผู้ถามแน่ๆ ก็คือ เมื่อปฏิรูปการเมืองตามแนวทางข้างต้นเรียบร้อยแล้ว ท่านผู้นำจะเป็นอย่างไรต่อไป คงไม่ต้องคิดให้มากนะครับ ทำการใหญ่ขนาดนี้ได้สำเร็จก็สมควรที่จะเลิกเล่นการเมืองดีกว่าครับ เพราะไหนๆทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแล้ว ก็ควรลงจากตำแหน่งไปอย่างสวยงามด้วยตัวเองพร้อมชื่อเสียงเกียรติยศที่จะมีผู้คนสรรเสริญและระลึกถึงต่อไปอีกนานแสนนาน ลองทำดูแล้วจะรู้ว่าแนวทางนี้ น่าสนใจกว่าการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ต้องคอยแก้ปัญหาเดิมๆ พร้อมกับวิตกว่า พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร? ครับ
       ก่อนจบก็ขอฝากความฝันข้างต้นผ่าน “คำคม” ที่ปรากฏอยู่ในเพลงของ John Lennon แห่ง The Beatles ไว้ด้วยนะครับว่า A dream you dream alone is only a dream. A dream you dream together is reality. ครับ
       
       ขอบคุณครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
       www.pub-law.net


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544