หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 58
14 ธันวาคม 2547 18:21 น.
"เหตุผลแปลก ๆ ในการลาออกจากตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภา"
       ผมสนใจกับข่าวที่เกี่ยวข้องกับ “วุฒิสภา” ที่เกิดขึ้นมาสองข่าวในช่วงระยะเวลาใกล้ๆกัน ข่าวแรกเป็นข่าวใหญ่ที่สมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งขอลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลทำงานได้ดีมากจนทำให้ตนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้ ส่วนข่าวที่สองเป็นเรื่องสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งขอถอนรายชื่อของตนออกจากรายชื่อของสมาชิกวุฒิสภาที่เข้าชื่อกันยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพื่อขอให้ส่งเรื่องต่อศาล
       รัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2546 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       ข่าวแรกนั้นเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจมากและพากันออกมาประณามสมาชิกวุฒิสภาผู้ขอลาออกจากตำแหน่งนั้นกันมากมาย ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไงเพราะเป็นเรื่องที่แปลกมาก คงจะบอกได้แต่เพียงว่าตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น หน้าที่ของวุฒิสภามิใช่มีเพียงการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเท่านั้นครับ แต่วุฒิสภายังมีหน้าที่อื่นๆที่สำคัญอีกมากมายหลายอย่างที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้ทั้งหมด เช่น อำนาจหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริการราชการแผ่นดิน (การคัดเลือก แต่งตั้งบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่ง หรือการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ) เป็นต้น ก็ไม่ทราบว่าจะ “แนะนำ” อะไรต่อสมาชิกวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติได้ครับ คงต้องไปหยิบรัฐธรรมนูญมาอ่านกันใหม่อีกรอบนะครับ ส่วนข่าวที่สองก็เป็นเรื่องที่แปลกเหมือนกันเพราะผมเข้าใจว่า การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญมาก เมื่อมีการเข้าชื่อกันแล้วก็ไม่สมควรที่จะขอถอนรายชื่อดังกล่าวได้เพราะจะทำให้กระบวนการทำงานขององค์กรผู้พิจารณาต้องหยุดชะงักลงไปครับ ผู้ลงลายมือชื่อจึงไม่ควรเพิกถอนการลงลายมือชื่อของตนเองเนื่องจากการร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารประเทศครับ
       ในที่สุด หนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไวต์ www.pub-law.net เล่ม 2 พ.ศ. 2545” ก็คลอดออกมาแล้ว ในเล่มนี้เรามีบทความ 13 บทความ ซึ่งประกอบกันเป็นหนังสือหนา 428 หน้าครับ เราสามารถมอบหนังสือให้ได้เฉพาะผู้ที่ลงชื่อขอรับหนังสือไว้เท่านั้นครับ โดยขอความกรุณามารับได้ด้วยตนเองที่ห้องทำงานของผมที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันและเวลาราชการนะครับ ผู้ที่จะมารับหนังสือกรุณาถ่ายสำเนาบัตรแสดงตนต่างๆเช่น บัตรข้าราชการ บัตรนิสิตนักศึกษามาด้วยนะครับ และนอกจากนี้ ผมขอความกรุณาจากผู้ขอรับหนังสือทุกคนได้โปรดเขียนจดหมายฉบับหนึ่งเพื่อแสดงความขอบคุณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่เป็น “เจ้าภาพ” ในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพื่อแจกจ่ายครับ จดหมายถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนี้กรุณานำมาให้ในวันมาขอรับหนังสือ และผมจะได้จัดส่งให้กับศาลรัฐธรรมนูญต่อไป จดหมายขอบคุณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนี้เป็นความคิดของผมที่อยากจะให้ “กำลังใจ” กับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นคุณค่าของการจัดพิมพ์หนังสือของเราและหนังสือทางวิชาการอื่นๆอีกหลายเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้สนใจตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมานี้ครับ
       ผมขอความกรุณาให้ผู้ที่ลงชื่อขอรับหนังสือติดต่อขอรับหนังสือภายใน 30 มิถุนายนนี้นะครับ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่มารับ ผมก็จะได้มอบให้ผู้สนใจอื่นๆต่อไปครับเพราะขณะนี้มีผู้รอคิวจากคนที่จะไม่มารับอยู่อีกจำนวนหนึ่งครับ
       สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมารับได้ด้วยตนเอง กรุณาส่งซองขนาด A4 จ่าหน้าซองถึงผู้รับพร้อมติดแสตมป์จำนวน 16 บาทมาด้วยนะครับ และขอความกรุณาเขียนจดหมายขอบคุณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแนบมาด้วยเช่นเดียวกันครับ
       ในบทบรรณาธิการคราวหน้า คือในวันที่ 30 มิถุนายน ผมจะแจ้งข่าวการแจกหนังสือของเราอีกเล่มหนึ่งครับพร้อมทั้งข่าวการจัดสัมมนาครั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ โปรดติดตามให้ดีอย่าพลาดนะครับ
       สำหรับสาระสำคัญของ pub-law.net ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความสองบทความ บทความแรกเราได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้มอบบทความเรื่อง “แนวคิดการมีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ” ให้แก่ www.pub-law.net ครับ ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของคุณกล้า สมุทวณิช นักวิชาการรุ่นใหม่จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่เขียนบทความเรื่องที่กำลังเป็นที่วิจารณ์อยู่ในขณะนี้คือ บทความเรื่อง “แนวคิดการมีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ” นอกจากบทความทั้งสองแล้ว เราก็มีการแนะนำหนังสือ การตอบคำถาม และมีการปรับปรุงข้อมูลต่างๆให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาครับ ผู้ใช้บริการมีข้อเสนอแนะหรือมีข้อท้วงติงอย่างไรก็ติดต่อเข้ามาได้นะครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2546 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544