หน้าแรก บทความสาระ
การสร้างสถาบันทางการเมืองกับธรรมาภิบาลของพรรคการเมืองเพื่อความยั่งยืนของประชาธิปไตย โดย ดร. เชาวนะ ไตรมาศ
ดร.เชาวนะ ไตรมาศ
16 พฤษภาคม 2548 09:37 น.
 
                                                       
       ๑. ความสำคัญอันยิ่งยวดของพรรคการเมือง
       ในระบบการเมืองแบบรัฐสภาของไทยในปัจจุบัน พรรคการเมือง นับว่าเป็นสถาบันที่ได้รับมอบภารกิจที่มีความสำคัญสูงอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพราะพรรคการเมืองเป็นเพียงสถาบันเดียวที่มีบทบาทนำในการดำเนินภารกิจทางการเมืองครอบคลุมทั้งระบบทุกกระบวนการ นับตั้งแต่การเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจไปจนถึงการใช้อำนาจปกครองประเทศทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ดังนั้น พรรคการเมืองจึงเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อระบบการเมืองและต่อประเทศ
       โดยผลของความสำคัญดังกล่าว ความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมือง โดยเฉพาะต่อภาระความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประชาชนและการพัฒนาประเทศ จึงทิ้งน้ำหนักลงไปที่พรรคการเมืองค่อนข้างสูง และในความเป็นจริงประชาชนเองก็ควรจะมีความคาดหมายเช่นนั้นด้วย
       ยิ่งในภาวะที่สังคมไทยกำลังพลิกผันเข้าสู่กระแสประชาคมโลกยุคใหม่ด้วยแล้ว การแข่งขันเชิงบทบาทขององค์กรในทุกระดับก็จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น การดำรงอยู่หรือการปรับตัวเพื่อรับผิดชอบและสนองตอบต่อภาระ – หน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นพันธะผูกพันหลักที่องค์กรสมัยใหม่จะต้องยึดถือเป็นสาระสำคัญ
       มิติใหม่ของพรรคการเมืองในฐานะที่เป็นองค์กรครอบงำบทบาททางการเมือง ย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่พรมแดนของมุมมองในมิติใหม่ โดยเฉพาะในมิติเกี่ยวกับการแข่งขันในเชิงสถาบันของพรรคการเมือง ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนใช้เป็นกรอบในการมองหรือการทำความรู้จักกับพรรคการเมืองอย่างกว้างขวางมากขึ้น
       ที่ผ่านมาประชาชนมีความสามารถที่จำกัดในการทำความรู้จักกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักถูกชักนำให้มุ่งจุดสนใจไปที่เฉพาะจุด เช่น ความสนใจในภาพลักษณ์ของตัวบุคคล แต่ไม่ได้รู้จักพรรคการเมืองในฐานะที่เป็นองค์กรหรือสถาบันในทางการเมืองอย่างแท้จริง
       ปัญหาความผิดพลาดทางมายาคติ ที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อภาวะสำนึกความมีประสิทธิภาพทางการเมืองในกระบวนการเข้าร่วมทางการเมืองระหว่างประชาชนกับพรรคการเมือง คือ การที่ประชาชนถูกหลอนด้วยภาพซ้อนระหว่างตัวบุคคลกับองค์กร ทำให้พรรคการเมืองบางส่วนใช้บทบาทของคนทำหน้าที่แทนบทบาทของพรรค ซึ่งทำให้พรรคถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงการทำหน้าที่เบ็ดเตล็ดโดยการเชิดชูภาพลักษณ์หรือการทำกิจกรรมบางกิจกรรมที่โดดเด่นของตัวบุคคลเพียงบางคน แต่ขยายผลครอบคลุมถึงพรรคในภาพรวม ซึ่งการที่พรรคการเมืองอาศัยจุดอ่อนทางจิตวิทยาโดยใช้กลยุทธ์การซ้อนภาพเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อการทำลายบรรยากาศการแข่งขันเชิงสถาบัน ไม่มีเหตุจูงใจให้มีการพัฒนาองค์กรพรรคส่วนรวมในระยะยาว ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการพัฒนาประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กร และที่สำคัญคือการละเลยภาระหน้าที่และความรับผิดชอบหลักของพรรคในฐานะที่เป็นองค์กร การสร้างสังคม – การเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้มีความเป็นปึกแผ่น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างสำนึกที่ส่งเสริมให้ประชาชนในสังคม – การเมืองแบบประชาธิปไตย มีความหวังและฝักใฝ่ในความสำเร็จที่เป็นไปได้สำหรับการสรรค์สร้างองค์กรพรรคการเมืองของไทย ให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีส่วนสนับสนุนให้ระบบการเมืองไทยเป็นระบบที่มีระดับความสามารถทางการปกครองสูงพร้อม ๆ กันไปกับการเป็นระบบการเมืองที่มีรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยด้วย โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนมุมมองพรรคการเมืองจากมิติดั้งเดิมที่เน้นตัวบุคคลไปเป็นจุดเน้นด้านองค์กร ทั้งนี้ เพื่อให้อิทธิพลจากสำนึกใหม่ของประชาชนนั้นส่งพลังผลักดันให้พรรคการเมืองตื่นตัวในการพัฒนาสมรรถนะเชิงองค์กรในภาพรวมระยะยาวมากขึ้น มีบรรยากาศของการแข่งขันที่มีนัยเชิงองค์กร หวังผลด้านประสิทธิภาพ มีแก่นสารของภาระหน้าที่และมีความรับผิดชอบเพียงพอที่จะสอดรับกับฐานะความสำคัญที่พรรคการเมืองได้รับมอบหมายจากประชาชนและประเทศ
       
       ๒. ความคาดหวังต่อพรรคการเมือง
       รัฐธรรมนูญได้สร้างความคาดหวังต่อพรรคการเมืองในภาพลักษณ์ใหม่ที่หวังให้พรรคการเมืองมีฐานะบทบาทที่เป็นพรรคมหาชน (mass party) อย่างแท้จริง โดยกำหนดให้พรรคการเมืองทำหน้าที่พื้นฐานในการสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ โดยให้การจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ และข้อบังคับพรรคการเมือง ต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย
       
       ๓. ปัญหาดั้งเดิมของพรรคการเมืองที่รอการแก้ไขในระยะยาว
       
หากนับย้อนหลังไปสัก ๑๐ ปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่าภาพสะท้อนของพรรคการเมืองนั้น เป็นภาพของพรรคการเมืองมีที่มาจากชนชั้นนำทางอำนาจที่เป็นชนชั้นปกครองดั้งเดิม แล้วจึงเปลี่ยนผ่านไปสู่การครอบงำโดยชนชั้นนำที่เป็นผู้มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
       พรรคการเมืองไทยดำรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญหลัก ๒ ด้าน คือ ปัจจัยด้านการเมือง และปัจจัยด้านกฎหมาย โดยในช่วงต้นพรรคการเมืองเป็นฝ่ายรับผลกระทบจากการเมือง ขณะที่ในช่วงหลังพรรคการเมืองเป็นฝ่ายปรับพฤติกรรมตามกฎหมาย
       พรรคการเมืองไทยเปลี่ยนผ่านโดยกระบวนการดำรงอยู่แบบลองผิด – ลองถูก มากกว่ากระบวนการเติบโตและอยู่รอดแบบเรียนรู้ – พัฒนา ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมือง จึงดำเนินไปภายใต้ปฏิกิริยาเชิงรับมากกว่าเชิงรุก แม้ว่าพรรคการเมืองจะได้รับยกย่องให้มีฐานะเป็นองค์กรนำ แต่กลับมีบทบาทในฐานะรอง
       โดยที่พรรคการเมืองไทยเป็นส่วนผสมระหว่างชนชั้นนำทางอำนาจ กับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ซึ่งดำรงอยู่ใต้อิทธิพลของปัจจัยแวดล้อม เปลี่ยนผ่านในเชิงรับอย่างไร้ทิศทางและขาดขบวนการพัฒนา ทำให้พรรคการเมืองไทย มีฐานะเป็นองค์กรเฉพาะในทางโครงสร้างตามนิตินัย แต่ในด้านบทบาท – หน้าที่ของสถาบันตามพฤตินัย กลับมีฐานะเพียงในระดับตัวบุคคลและหรือกลุ่มอำนาจที่ครอบงำพรรคเฉพาะห้วงเวลาเท่านั้น สถาบันพรรคการเมืองไทยจึงเป็นองค์กรทางการเมืองที่กำลังเปลี่ยนผ่านอยู่ในช่วงกึ่งกลางของการพัฒนาความเป็นสถาบันมากกว่าเป็นองค์กรที่พัฒนาความเป็นสถาบันแล้ว เนื่องจากการสนับสนุนมีขอบเขตจำกัดไม่กว้างขวาง ติดยึดกับตัวบุคคลและกลุ่ม ขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวระดับองค์กร ศูนย์รวมอำนาจกระจุกตัวที่กลุ่มแกนนำ ขาดความเป็นอิสระในตัวเอง และมีการแตกแยกเป็นกลุ่มย่อย ซึ่งมีพลังเหนือองค์กรรวม การผนึกเป็นปึกแผ่นขาดความเข้มแข็ง
       
ภายหลังที่การเมืองไทยได้พัฒนามาถึงจุดเปลี่ยนก้าวสำคัญ ที่ก่อให้เกิดความเห็นพ้องร่วมกันในด้านกติกาสูงสุด ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้วนั้น กระแสความตื่นตัวในการปฏิรูปทางการเมืองก็ได้ก่อตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของพรรคการเมืองเองก็ได้มีความพยายามที่จะพลิกผันตัวเองเข้าไปร่วมอยู่ในกระแสบริบทนี้ด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นบทบาทที่ค่อนข้างสับสนและยังวกวนอยู่ในกระบวนท่าที่ไม่เอื้อให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในมิติที่น่าจะก่อให้เกิดผลต่อการปฏิรูปทางการเมืองตามความคาดหวังของสาธารณชนได้มากนั้น ทั้งนี้ เนื่องจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ บางพรรคต่างยังคงยึดติดอยู่กับการสร้างความเป็นเลิศในสนามการเลือกตั้ง (Electoral Function) มากกว่าการสร้างความเป็นเลิศในการทำหน้าที่ด้านการเมือง – การปกครอง (Political & Administrative Function) ทำให้พรรคการเมืองหันไปทุ่มเทให้กับการสะสมขุมกำลัง ส.ส. ซึ่งเป็นการมุ่งทำหน้าที่เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางอำนาจ ไม่ได้ตระเตรียมความพร้อมในหน้าที่ด้านการพัฒนาองค์กรสถาบันโดยรวมของพรรค และหน้าที่ด้านการบริหารประเทศซึ่งเป็นการทำหน้าที่ของพรรคการเมืองให้ครบทุกส่วน (Full Functions)
       การทำหน้าที่ของพรรคการเมือง ในฐานะที่เป็นองค์กรสถาบันทางการเมืองซึ่งต้องรับภาระความรับผิดชอบต่อสาธารณชนในกรอบของการบริหารประเทศด้วยนั้น พรรคการเมืองจะต้องเตรียมความพร้อมในระดับของการสร้างความเป็นสถาบันด้วย ทั้งนี้ เพื่อจะได้ทำหน้าที่เป็นกลไกพื้นฐานให้รัฐและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในวัตถุประสงค์ที่เป็นภารกิจทางการเมืองได้ โดยเฉพาะภารกิจในการระดมการมีส่วนร่วมเพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะและกฎหมายสำคัญไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งภารกิจในการสร้างแบบแผนจารีตทางการเมืองให้แก่ประชาชนพร้อมกับการสร้างอิทธิพลต่อระบบการเมืองด้วย
       
การทำหน้าที่ให้ครบทุกส่วนตามภาระความรับผิดชอบของพรรคการเมือง ไม่ว่าในส่วนของการแข่งขันทางอำนาจ การพัฒนาการบริหารการจัดองค์กรพรรคให้มีความเป็นสถาบัน และการเตรียมความพร้อมในการบริหารประเทศ พรรคการเมืองจะต้องมีนโยบายสำหรับใช้เป็นกรอบอ้างอิงในการประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้และสามารถประเมินทางเลือกได้ว่าพรรคมีความพร้อมในการเตรียมบริหารประเทศ และมีความพร้อมทางสถาบันพอที่จะสามารถผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อนำพาประเทศให้เปลี่ยนแปลงได้ในทิศทางใดได้ด้วย
       สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันกล่าวได้ว่า นโยบายของพรรคการเมืองไทยบางพรรคมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าค่อนข้างมากแต่โดยทั่วไปยังตกอยู่ในภาวะขาดแคลน โดยเฉพาะในมิติที่เป็นสารัตถะเชิงปฏิรูป ความเป็นสากล ความเป็นทางเลือก ความก้าวหน้าในการผลักดันศักยภาพใหม่ให้แก่ประเทศ ความมีดุลยภาพระหว่างการแก้ปัญหากับการพัฒนาประเทศ และยังขาดความตื่นตัวในการเล็งผลเลิศด้านการผลิตนโยบายเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศ ไม่ว่าในการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติและประชาชน หรือในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาประเทศ ซึ่งส่งผลให้การเตรียมความพร้อมของพรรคการเมือง ในด้านการบริหารประเทศนั้น ดูเหมือนจะเป็นส่วนที่มีความสำคัญน้อยตามไปด้วย ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ของพรรคการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็น “กรอบนโยบายแม่บทของพรรคการเมือง” โดยเฉพาะการเป็นกระจกสะท้อนต้นแบบของนโยบายเชิงปฏิรูปหรือทำหน้าที่เป็นเข็มทิศในการชี้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ในฐานะที่เป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ให้พรรคการเมืองได้ใช้เพาะหว่านให้หน่อกล้าใหม่ได้เติบโตขึ้นในสังคมไทยแล้ว น่าจะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญ ในการผลักดันให้เกิดการพลิกผันบทบาทหน้าที่ของพรรคการเมืองไทย โดยเฉพาะต่อบทบาทในการเตรียมความพร้อมด้านการบริหารประเทศ ซึ่งจะต้องมีนโยบายเป็นกรอบอ้างอิงในการประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ สามารถสัมผัสและประเมินได้ ว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่นั้นพรรคใดมีความพร้อมในการบริหารประเทศเพียงใด และจะสามารถนำพาประเทศไปในทิศทางใดในอนาคต
       ตามกรอบกำกับของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน แม้ว่าจะได้จำกัดเหนี่ยวรั้งอำนาจของรัฐบาลให้ลดน้อยลง (Less Government) แต่กลับมีความคาดหวังความสามารถทางการปกครองของรัฐบาล (Competence of Government) มากขึ้น ในขณะเดียวกันท่วงทำนองในการบริหารประเทศของรัฐบาลก็จะต้องทำให้ได้ผลดี (Well Performance) มากกว่าทำให้ดูดี (Good Looking) อีกด้วย ดังนั้น ศักยภาพและความสามารถในองค์รวมอย่างรอบด้านของพรรคการเมือง ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญในการชี้วัดความสำเร็จทางการเมืองได้มากกว่าปัจจัยความโดดเด่นเฉพาะตัวของนักการเมืองบางคนของพรรค ซึ่งในการพลิกผันบทบาทเข้าสู่ความเป็นองค์กรสถาบันทางการเมือง (Political Institutionalization) ของพรรคการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองจะต้องปรับเปลี่ยนพื้นฐานทางกระบวนทัศน์ การฝึกฝนทักษะ และหล่อหลอมรากฐานทางวัฒนธรรมใหม่ที่แตกต่างไปจากแนวทางดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิงด้วย โดยเฉพาะการยึดกุมปัจจัยความสามารถใน ๓ ประการ ได้แก่
       (๑) สร้างความสามารถทางองค์กรของพรรค เพื่อรองรับความสามารถในการพัฒนาความเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสืบเนื่องเป็นปึกแผ่น สามารถดำรงอยู่ในระบบการเมืองได้ทั้งในยามที่มีสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤติ โดยสามารถทำหน้าที่พื้นฐานทางการเมืองได้อย่างทั่วด้านและใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรบุคคลได้อย่างกว้างขวาง ไม่ยึดโยงอยู่แต่เฉพาะกับคนและกลุ่มย่อยเฉพาะคนเฉพาะกลุ่มอันจำกัดเท่านั้น (เหมือนกับสร้างและรักษาเรือไว้ให้สามารถสู้กับคลื่นลมและสามารถออกทะเลลึกเพื่อไปจับปลาได้ทุกฤดูมรสุม)
       (๒) สร้างความสามารถทางการเมืองของพรรค เพื่อรองรับความสามารถในการแข่งขันการเลือกตั้ง ซึ่งมุ่งเน้นแสวงหาความสนับสนุนความเป็นพรรคจากประชาชนมากกว่าการสนับสนุนบุคคลในพรรค เพื่อให้พรรคมีขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งระดับพรรคในระบบบัญชีรายชื่อ และระดับบุคคลในระบบแบ่งเขต (เหมือนกับเอาเรือออกไปในทะเลลึกแล้วสามารถจับได้ทั้งปลาเล็กและปลาใหญ่ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับคลื่นลมในสภาพใด)
       (๓) สร้างความสามารถทางการปกครองของพรรค เพื่อรองรับความสามารถในการบริหารประเทศ เมื่อได้รับการเลือกตั้งมาแล้ว สามารถใช้อำนาจผลักดันนโยบายการพัฒนาประเทศ และแก้ปัญหาสำคัญของประเทศและประชาชนได้สำเร็จ (เหมือนกับเรือที่ออกไปจับปลาได้มาแล้วสามารถเอามาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนที่อยู่บนฝั่งได้ ซึ่งคนบนฝั่งก็จะช่วยกันพัฒนาเรือให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจับปลามาได้มากขึ้นอีก)
       
       ๔. ธรรมาภิบาลของพรรคการเมืองกับความยั่งยืนของการพัฒนาประชาธิปไตย
       
พรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ต้องการให้มีความเป็นประชาธิปไตยทั้งในส่วนของพรรคและนักการเมือง โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง กรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิโต้แย้งคัดค้านโดยสามารถร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยมติหรือข้อบังคับพรรคที่มีปัญหาเหล่านั้นได้ ประกอบกับการอุดหนุนพรรคการเมืองด้วยกองทุนที่ตั้งขึ้นมาด้วยงบประมาณแผ่นดิน จัดสรรให้แก่พรรคการเมืองใช้ในการดำเนินกิจการทางการเมืองด้วยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองจะต้องสร้างธรรมาภิบาลขึ้นในการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรค ทั้งนี้ เพื่อให้ธรรมาภิบาลของพรรคการเมืองนั้น สามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์ของความชอบธรรมใหม่ ที่มุ่งก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการสร้างความสามารถพื้นฐานของพรรคการเมืองทั้ง ๓ ด้าน คือ (๑) ความสามารถทางด้านองค์กร (๒) ความสามารถทางด้านการเมือง และ (๓) ความสามารถทางด้านการปกครอง
       
       ๕. ประโยชน์และแนวทางในการสร้างธรรมาภิบาลของพรรคการเมือง
       ๕.๑ ประโยชน์ของการสร้างธรรมาภิบาลในพรรคการเมือง
       
๕.๑.๑ การบูรณาการพลังหลัก เพื่อสร้างพลังบวกเชิงองค์รวม ของพรรคการเมือง โดยการปรับระเบียบความสัมพันธ์ในการดำรงอยู่ร่วมกัน และการกำหนดน้ำหนักจุดเน้นทางบทบาทใหม่ให้เกื้อกูลซึ่งกันแทนการครอบงำเฉพาะด้านในภาคการเมืองเพียงภาคส่วนเดียว ซึ่งควรมีความครอบคลุมจากทั้ง ๓ ภาคส่วน คือ
       (๑) ภาครัฐ (public sector)
       (๒) ภาคเอกชน (private sector)
       (๓) ภาคประชาสังคม (civil society)
       ๕.๑.๒ การปรับตัวเข้าหาแนวโน้มสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อสร้างความทันสมัย โดยตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวเพื่อสนองตอบต่อตัวแปรอิทธิพลที่เกิดจากปัจจัยของสิ่งแวดล้อมใหม่ ๕ ด้าน คือ
       (๑) สร้างความชอบธรรม (legitimatization) ตามหลักนิติรัฐ (legal state)
       (๒) สร้างความเป็นโลกาภิวัตน์ (globalization) ตามหลักประชาสังคม (civil society)
       (๓) สร้างการมีส่วนร่วม (participation) ตามหลักสังคมประชาธิปไตย (democratic society)
       (๔) สร้างความเป็นเสรีนิยม (liberalization) ตามหลักสังคมเปิด (open society)
       (๕) สร้างความเป็นประชานิยม (popularization) ตามหลักสังคมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people center)
       (๖) สร้างความเป็นเหตุผล (rationalization) ตามหลักสังคมข้อมูลข่าวสาร (information society)
       ๕.๑.๓ การก่อประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างความพอใจร่วมแก่ทุกภาคส่วน โดยการสร้างหลักประกันความชอบธรรมและความเชื่อถือศรัทธาใหม่ครอบคลุมทั้งในประเทศและนอกประเทศ และขยายวงกว้างไปในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม คือ
       (๑) สร้างภาพลักษณ์การเป็นกลไกเกื้อหนุนประสิทธิภาพในภาครัฐ (earn image & efficiency)
       (๒) เกื้อหนุนการสร้างงาน การลงทุนและรายได้ของภาคเอกชน (earn income)
       (๓) เกื้อหนุนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม (earn participation)
       ๕.๑.๔ การก่อความเท่าเทียม เพื่อทะลายกำแพงกีดกันให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสเข้ามีส่วนร่วม และพร้อมเป็นพรรคมหาชน (mass party) โดยการขยายต้นทุนทางโอกาสแก่ภาคส่วนที่ด้อยโอกาสและเสียเปรียบมากขึ้น คือ
       (๑) ยอมรับฐานะความเกี่ยวข้องได้เสียของแต่ละฝ่าย (stakeholders)
       (๒) ยอมรับบทบาทความมีสิทธิ์มีส่วนของแต่ละฝ่าย (partners)
       (๓) ยอมรับความสำคัญในความเป็นเจ้าของของแต่ละฝ่าย (owners)
       (๔) ยอมรับความจำเป็นในการเข้าร่วมของแต่ละฝ่าย (participants)
       ๕.๑.๕ การเข้าสู่สนามการแข่งขัน เพื่อแสวงหาความยุติธรรม โดยการกำหนดกรอบของระเบียบในการดำรงอยู่ร่วมกัน หรือการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสันติวิธี มีการเคารพและยอมรับซึ่งกันได้ คือ
       (๑) การแข่งขันทางการเมืองบนพื้นฐานของการขจัดการเอาเปรียบ (disarm)
       (๒) การเป็นองค์กรนำในการเข้าสู่กรอบกติกา (rule)
       (๓) การสร้างแนวร่วมในการแสวงหาความเป็นธรรม (fairness)
       (๔) การสร้างหลักประกันการคุ้มครอง (protection)
       
       ๕.๒ แนวทางการสร้างธรรมาภิบาลในพรรคการเมือง
       
๕.๒.๑ เปลี่ยนการพึ่งพา เป็นอิสระ ทำให้เกิดความหลากหลายของภาคี (plurality) เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์แนวขวาง (horizontal) มากกว่าแนวดิ่ง และต้องอาศัยการจัดการที่ซับซ้อน (complexity) ในกรอบของการมีปฏิสัมพันธ์กันหลายฝ่าย (multi – lateral) มากขึ้น แทนที่กรอบความสัมพันธ์แบบผู้กำหนด – ผู้ตาม และผู้ให้ – ผู้ขอ
       ๕.๒.๒ เปลี่ยนความแตกต่าง – สูงต่ำ เป็นความเท่าเทียม – เสมอกัน ทำให้เกิดเวที กระบวนการ และมาตรฐานการตัดสินใจในรูปแบบใหม่ (decision making) การเจรจาพูดคุยก็จะเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองที่ทุกเสียงมีสิทธิหรือน้ำหนักเท่านั้น หรือการพูดกันบนโต๊ะที่อยู่ในระดับเดียวกัน
       ๕.๒.๓ เปลี่ยนการกีดกันออกสู่วงนอก เป็นการหลอมรวมเข้าสู่วงใน ตามกรอบของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ภายใต้เงื่อนไขของสิทธิการรับรู้ (rights to know) ทำให้เกิดขั้นตอนของการต่อรองและการประสานประโยชน์ (bargaining & compromising) ที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น ไม่มีการจัดชั้นของสิทธิพิเศษเฉพาะฝ่ายแบบ inclusived – exclusived หรือการจัดชั้นการแยกพวกแบบแยกเข้าและแยกออก separated - aggregated
       ๕.๒.๔ เปลี่ยนการมีผู้เสีย เป็นการมีแต่ผู้ได้ ทำให้เกิดมาตรฐานใหม่ในการจัดสรรและแบ่งปันคุณค่าผลประโยชน์ (value distribution) ที่ต้องสร้างทางเลือกและแสวงหาทางออกรูปแบบใหม่ ๆ ที่อิงอยู่บนฐานของค่านิยมใหม่ ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องจำนนกับการต้องแลกกัน (trade – off) ระหว่างผู้ได้กับฝ่ายที่ต้องเสีย แต่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมกัน หรือจะต้องมีผู้ต้องเสียสละหรือต้องมีผู้แพ้เกิดขึ้น ทำให้จำเป็นต้องพัฒนาคุณค่าใหม่ ๆ ในการประสานประโยชน์ร่วมกันในกรอบของทางเลือกใหม่ ๆ อาทิเช่น กรอบของความพอใจร่วมกัน กรอบของการยอมรับได้ และกรอบของการมีผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น
       ๕.๒.๕ เปลี่ยนการแยกส่วน เป็นการรวมส่วน ทำให้เกิดความตระหนักในผลกระทบร่วมและผลประโยชน์ร่วมแบบคู่ขนาน และความยุติธรรมสาธารณะที่กว้างขวางมากขึ้น (common interest & common justice) ความเกี่ยวเนื่องกันเป็นระบบจะสำคัญเหนือกว่าคู่กรณี และผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกันในมุมกว้างและไกล ก็จะสำคัญเหนือกว่าผลพวงเฉพาะที่ในกรอบจำกัด อาทิเช่น ความต่อเนื่องที่เกี่ยวกันกันทั้งมวลรวม (overall) นิอกจากคนแต่คลุมถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และต่างประเทศด้วย หรือการขยายวง (spill over) จากมิติการเมืองไปสู่มิติสังคม – เศรษฐกิจ หรือจากภาคส่วนของรัฐไปสู่เอกชน เป็นต้น
       ๕.๒.๖ เปลี่ยนการเชื่อคน เป็นการเชื่อระบบ ทำให้เกิดการสร้างประสบการณ์เชิงวัตถุวิสัย (objective experience) และหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) สนับสนุนกระบวนงานในการสร้างศรัทธาแก่ประชาชน ซึ่งเป็นการพึ่งพาเครื่องมือทางกิจกรรมแทนการพึ่งพาตัวคน การสร้างระบบงานของพรรคที่ดีมีความสำคัญเหนือกว่าความเชื่อถือในความดีของตัวคน
       ๕.๒.๗ เปลี่ยนผู้เสพย์ เป็นผู้สร้าง ทำให้เกิดความต้องการและมาตรฐานใหม่ (specification) เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากเฉพาะในชั้นของผลผลิต (product concerns) ไปเป็นในชั้นของกระบวนการผลิต (process concerns) ด้วย เนื่องจากประชาชนมิได้เป็นแต่เพียงผู้รอรับผลประโยชน์จากพรรคการเมืองเท่านั้น แต่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานและความต้องการในฐานะของผู้ริเริ่มหรือออกแบบ รวมถึงการควบคุมกระบวนการผลิตนโยบายเสียเองด้วย
       ๕.๒.๘ เปลี่ยนอำนาจ เป็นเหตุผล ทำให้เกิดความสำคัญของข้อมูลข่าวสาร และข้อเท็จจริงมากขึ้น (facts & information) การสร้างความเห็นพ้องร่วมกัน (consensus) การสร้างกฎเกณฑ์กติกา (regularity) กรอบกำหนดจรรยาบรรณ (conduct) เทคนิคในการใช้เหตุผลและข้อมูลข่าวสารจึงมีความสำคัญเหนือกว่าเทคนิคในการใช้กำลังหรือการบังคับควบคุม
       ๕.๒.๙ เปลี่ยนการผูกขาด เป็นการแข่งขัน ทำให้เกิดความจำเป็นในการสร้างความเป็นธรรม (fair) กรอบกติกา (rule) และสมรรถนะความสามารถ (competency) ใหม่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการใช้ทรัพยากรและการจัดสรรผลประโยชน์จะมีความสำคัญเหนือกว่าการครอบครองทรัพยากรและการรวมศูนย์ผลประโยชน์และอำนาจ
       ๕.๒.๑๐ เปลี่ยนการรวมศูนย์ เป็นการกระจาย ทำให้เกิดความจำเป็นในการประสานงาน (co – ordination) และการสร้างเครือข่าย (networking) ในระนาบเดียว การสร้างข้อต่อในการเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกัน จะมีความสำคัญกว่าการกีดกันและการสร้างศูนย์กลาง
       ๕.๒.๑๑ เปลี่ยนผู้กำหนด เป็นผู้ตอบสนอง ทำให้เกิดกฎเกณฑ์การควบคุมตรวจสอบที่เข้มงวด (scrutinize) การประเมิน (evaluate) การรับฟังความคิดเห็น (hearing) มีพันธะผูกพันที่ชัดแจ้ง (contract) การโต้แย้ง (defense) การทบทวนแก้ไข (review) และความสัมพันธ์ล่าง – บน (bottom – up) การทำบทบาทของผู้ส่งมอบและสนองบริการหรือประโยชน์สาธารณะ (service delivery) จะมีความสำคัญกว่าบทบาทของผู้กำหนดควบคุมหรือบงการการตัดสินใจสาธารณะ (decision maker)
       ทั้งนี้เนื่องจากการเมืองใหม่ นอกจากเป็นการเมืองที่อยู่ใต้อิทธิพลของลัทธิประชาธิปไตย (Democracy) เป็นกระแสหลักแล้ว ยังเป็นการเมืองที่อยู่ใต้อิทธิพลของเศรษฐกิจตลาดเสรี (Free Market) และอิทธิพลของวัฒนธรรมปัจเจกนิยม (Individualism) อีกด้วย ซึ่งการผนึกประสานกันระหว่างพลังหลักของอิทธิพลทั้ง ๓ กระแสดังกล่าว ได้สร้างสำนึกการเมืองใหม่ที่มีนัยสำคัญต่อพฤติกรรม และความคาดหวังต่อระบบการเมืองของคนใน ๓ ลักษณะที่สำคัญคือ (๑) สำนึกความเป็นเจ้าของอำนาจของประชาชนเองเหนือกว่าผู้แทน (Sense of Belongings) (๒) สำนึกการสนองความพึงพอใจจากบริการหรือสินค้าทางการเมือง (Sense of Political Utilities) และ (๓) สำนึกการเป็นเจ้าชีวิตของตนเองที่สามารถกำหนดชะตากรรมและแสวงหาคุณภาพชีวิตของตนเอง (Sense of Determination)
       โดยผลของสำนึกดังกล่าวทำให้ประชาชนมีบุคลิกภาพและความคาดหวังทางการเมืองใน ๓ ลักษณะที่สำคัญ คือ (๑) คาดหวังให้สิทธิของประชาชนอยู่เหนืออำนาจของผู้แทน โดยที่ผู้แทนมีหน้าที่ผลิตกฎหมายและนโยบายให้สนองสิทธิประโยชน์ของประชาชนเสมือนอาหารสำเร็จรูป โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนทางการเมืองเสมือนเป็นผู้บริโภคทางการเมือง (Political Consumer) แทนการเป็นผู้ผลิตทางการเมือง (๒) คาดหวังให้การผลิตสินค้าบริการทางการเมืองเปลี่ยนจากการส่งมอบรัฐสวัสดิการ (State Welfare) ที่รัฐเป็นฝ่ายกำหนดคุณค่าเองไปเป็น การส่งมอบสังคมสวัสดิการ (Social Welfare) แทนเพื่อให้ประชาชนเป็นฝ่ายกำหนดคุณค่าและพึ่งพาตนเองได้ และ (๓) คาดหวังให้ประชาชนเป็นสาระสำคัญในฐานะของผู้ทรงสรรพสิทธิของระบบการเมือง (Object) มากกว่าการเป็นไพร่ฟ้า (Subject) ของระบบการเมือง
       
                              _______________________


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544