หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 62
14 ธันวาคม 2547 18:21 น.
"ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง"
       ผ่านไปแล้วสำหรับการอภิปรายครั้งประวัติศาสตร์ของวงการกฎหมายมหาชนเรื่อง “นิติรัฐกับประชาสังคม” ที่เรา www.pub-law.net ร่วมกับสถาบันนโยบายศึกษาและสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทยได้จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสยามซิตี้ ผู้ที่มีโอกาสได้เข้าร่วมงานคงทราบถึง “ความสำเร็จ” ที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร วิทยากรทั้ง 4 คนของเราซึ่งเป็นนักกฎหมายมหาชนระดับประเทศคือ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รศ.ดร.โภคิน พลกุล และ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้ทำการอภิปรายอย่างดีเยี่ยมสมกับเป็นนักกฎหมายมหาชนชั้นนำ ผู้เข้าร่วมฟังอภิปรายกว่า 250 คนได้รับหนังสือเรื่อง “นิติรัฐกับประชาสังคม” ที่เราแจกให้ทั่วทุกคน ผมขอใช้โอกาส ณ ที่นี้ ขอบคุณวิทยากรทั้งสี่เป็นอย่างสูงอีกครั้งที่ได้กรุณาผม ขอบคุณท่านประธานศาลปกครองสูงสุด ท่านเลขาธิการและรองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่กรุณาอยู่ร่วมฟังการอภิปรายตั้งแต่ต้นจนจบ ขอขอบคุณสถาบันนโยบายศึกษาที่กรุณาพิมพ์หนังสือและจัดการอภิปรายครั้งนี้ให้ และขอขอบคุณผู้เข้าร่วมฟังการอภิปรายที่ส่วนใหญ่ก็คงเป็นผู้ใช้บริการ website แห่งนี้ที่เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จของเราครับ สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมฟังการอภิปรายครั้งนี้ ขณะนี้คุณกล้า สมุทวณิช ผู้เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งของ www.pub-law.net ได้จัดทำ “รายงานการอภิปรายเรื่องนิติรัฐกับประชาสังคม” ขึ้น โดยมีการนำเสนอสรุปสาระสำคัญของการอภิปรายและภาพบรรยากาศของงานวันอภิปรายมาไว้ ณ ที่นี้แล้วครับ ส่วนรายละเอียดแบบคำต่อคำของการอภิปรายทั้งหมด คาดว่าจะนำเผยแพร่ได้ในสองสัปดาห์หน้าครับ ขณะนี้กำลังเร่งถอดเทปกันอยู่ !
       เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะต้องจารึกสิ่งสำคัญไว้อีกสิ่งหนึ่ง นั่นคือการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 29/2546 ให้รัฐมนตรีคนหนึ่งใน
       รัฐบาลปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง และต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผลของคำวินิจฉัยคดีดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันให้ประชาชนมีความมั่นใจขึ้นมาได้อีกระดับหนึ่งว่า กระบวนการปฏิรูปการเมืองที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีความตั้งใจที่จะทำให้การเมือง “สะอาด” และประสงค์จะให้ได้ “คนดี” เข้าสู่ระบบนั้น ยังเป็นกระบวนการที่ใช้ได้ผลดีอยู่ครับ ในวันนี้เราจึงมีรัฐมนตรีที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นจากตำแหน่งครับ ผู้ใดสนใจคำวินิจฉัยฉบับเต็มคงต้องรออ่านรายละเอียดในคำวินิจฉัยที่จะเผยแพร่ในวันข้างหน้าครับ เป็นที่น่าสังเกตว่าข่าวนี้ไม่ค่อยดังเท่าไหร่ คงเป็นเพราะข่าวเรื่อง “หวย” กระมังที่กลบข่าวสำคัญเช่นนี้ อยากจะฝากคำถามไปถึงรัฐบาลสักเล็กน้อยว่าจะทำให้รัฐไทยเป็น “รัฐอบายมุข” แทนที่ “รัฐสวัสดิการ” แล้วหรือครับ รัฐบาล !!!
       ในสัปดาห์นี้ ผมขอนำเสนอบทความใหม่ของผมครับ บทความนี้มีขนาดยาวประมาณ 10 ตอนจบ เป็นบทความที่ผมจะทยอยเขียนลงใน website เพื่อที่จะพัฒนาเป็นหนังสือเล่มใหม่ของผมคือ “ความรู้เบื้องต้นกฎหมายปกครองฝรั่งเศส” เล่าให้ลูกศิษย์ฟังก็ถูกเตือนด้วยความเป็นห่วงว่าระวังจะเหมือนกรณี “สัญญาทางปกครอง” ที่เมื่อทยอยลงเผยแพร่ใน website ก็ได้รับการหยิบยกไปใช้โดยไม่อ้างอิงครับ ! ก็ไม่เป็นไรผมทำหน้าที่นักวิชาการของผมครับ ต่างคนก็คงต่างทราบกันอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร ! สำหรับบทความใหม่นี้ ผู้ใช้บริการที่สนใจผมขอแนะนำว่าอย่าเพิ่ง print เก็บไว้นะครับ อ่านเพียงอย่างเดียวเพราะผมคงเขียนไปแก้ไปเรื่อยๆครับ เอาไว้เมื่อผมเขียนจบแล้วผมจะทำการปรับปรุงอีกครั้งหนึ่งก่อนแล้วจึงค่อยพิมพ์เป็นเล่มพร้อมกับเผยแพร่ต้นฉบับที่สมบูรณ์ใน website อีกครั้งเช่นเดียวกับที่เคยทำกับสัญญาทางปกครองมาแล้วครับ สารบัญของบทความฉบับสมบูรณ์ก็ได้นำมาเผยแพร่ไว้หน้า บทความพร้อมด้วยคำชี้แจงแล้วครับ ลองอ่านดูแล้วกันนะครับ
       นอกจากบทความเรื่อง “ความรู้เบื้องต้นกฎหมายปกครองฝรั่งเศส ตอนที่ 1” และ “รายงานการอภิปรายเรื่อง นิติรัฐกับประชาสังคม” แล้ว เราก็มีการแนะนำหนังสือจำนวนหนึ่งอีกด้วยครับ ส่วนคำถามอาทิตย์นี้ไม่มีเวลาตอบ ขอติดไว้ก่อนนะครับ บางรายก็ได้ตอบส่วนตัวไปแล้วด้วยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม 2546 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544