หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 63
14 ธันวาคม 2547 18:21 น.
"นักร้องตกคลอง"
       การออกพระราชกำหนด (อีกแล้ว !!!) เพื่อ “ปราบปรามการก่อการร้าย” ของรัฐบาลในครั้งนี้สร้างความ “ร้าวฉาน” ระหว่างรัฐบาลกับนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนขึ้นมาอีกระลอกหนึ่งภายหลังจากที่เกิดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการออกพระราชกำหนด “ภาษีสรรพสามิต” ของรัฐบาลเมื่อไม่นานมานี้เอง ผมค่อนข้างหนักใจกับปัญหาดังกล่าวพอสมควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกพระราชกำหนดของรัฐบาลที่นับวันก็จะ “มีความจำเป็น” ในสายตาของรัฐบาลมากขึ้นจนละเลยหลักว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจ หลักว่าด้วยสัญญาประชาคม และหลักว่าด้วยตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ความศักดิ์สิทธิ์ของการออกกฎหมายโดยรัฐสภาจะถูกทำลายลงหากรัฐบาลก้าวล่วงเข้ามาใช้อำนาจนิติบัญญัติเกินความจำเป็นครับ ผมเข้าใจการออกอาการ “ไม่เห็นด้วย” กับการออกพระราชกำหนด “บ่อยๆ” ของรัฐบาลจากฝ่ายผู้ไม่เห็นด้วยครับ แต่คงไม่ขอก้าวเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรทั้งนั้น จับตาดูศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวอย่างไรดีกว่าครับ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นอาทิตย์ที่ผ่านมาคือเมื่อวันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม www.pub-law.net ก็ได้บรรจุบทความเรื่อง “หลักนิติรัฐกับการตราพระราชกำหนดความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย” ของรองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้เขียนขึ้นท่ามกลางกระแสความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนแห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครับ บทความนี้ยังปรากฏอยู่ใน website ในวันนี้นะครับ
       หากไม่ใช่ในวงการกฎหมาย ข่าวที่ดังที่สุดในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาคือข่าวเกี่ยวกับ “นักร้องตกคลอง” ไงครับ ! หลายๆคนคงได้ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์มา อย่างต่อเนื่องว่า มีนักร้องวัยรุ่นคนหนึ่งขับรถอยู่ในจังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานครแล้วประสบอุบัติเหตุทำให้รถและนักร้องผู้นั้นตกลงไปในคลองข้างทาง เกิดอาการสำลักน้ำคลองแล้วก็ส่งผลตามมามากมายจนกระทั่งน่าเชื่อได้ว่าอาจไม่รอดชีวิตได้ (ขณะเขียนบทบรรณาธิการนี้คือวันพุธที่ 20 สิงหาคม นักร้องยังมีชีวิตอยู่ครับ) ผมรับทราบข่าวดังกล่าวด้วยความเศร้าใจเช่นเดียวกับคนไทยจำนวนมากครับ แต่ความเศร้าใจของผมนั้นมีลักษณะที่อาจแตกต่างจากคนอื่นอยู่บ้างและอาจมีหลายประการมากกว่า ความเศร้าใจประการแรกที่คล้ายกับทุกคนคือ เห็นใจในตัวผู้โชคร้ายและครอบครัวเป็นอย่างมากที่โชคร้ายเหลือเกิน เจอในสิ่งที่แทบจะเรียกได้ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย ความเศร้าใจประการที่สองก็คงอยู่ที่การรักษาพยาบาลรวมทั้งการจัดระบบของโรงพยาบาลที่ไม่ค่อยจะมีระบบเท่าใด และเป็นประเด็นให้แพทย์ที่อื่นๆออกมาวิพากษ์กันอย่างมาก จริงๆแล้วการรักษาพยาบาลโรค “ประหลาด” แบบนี้นั้น ควรที่จะ “ระดมสมอง” ร่วมกันแก้ปัญหาจะเหมาะกว่ามานั่งวิพากษ์ว่าอีกฝ่ายหนึ่งวิเคราะห์โรคผิดหรือใช้ยาผิด ส่วนการที่โรงพยาบาลไม่สามารถจัดระบบผู้เข้ามา “เพ่นพ่าน” ในโรงพยาบาลได้ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อ
       ผู้ป่วยรายอื่นด้วยครับ
       มีเรื่องหนึ่งที่ผมเข้าใจว่ายังเป็น“ปัญหา” ค้างคาใจของหลายๆฝ่ายคือฝ่ายโรงพยาบาล ฝ่ายครอบครัวผู้ป่วย และฝ่าย “นายจ้าง” ผู้ป่วยครับ ปัญหาดังกล่าวคือปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่เดาเอาแล้วคงจะเป็นจำนวนที่สูงมากๆ ปัญหานี้จะเกิดขึ้นเมื่อ “จบ” การรักษาพยาบาลนั่นแหละครับจึงจะทราบว่า ใครจะต้องเป็นผู้จ่ายกันแน่ ในปัญหานี้ผมมีความเห็นค่อนข้าง “ล่วงหน้า” และอาจจะเป็นควาเห็น “บอกทาง” แก่ผู้จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เตรียมตัวกันไว้ก่อนครับ เราจะต้องเริ่มต้นคิดถึงปัญหาจากต้นจนจบอย่างเป็นระบบ รถตกคลอง คลองของใครครับ ! หลายๆคนคงทราบคำตอบและอาจเดาว่าผมจะเขียนอะไรต่อไปแล้ว โดยปกตินั้น คลองส่วนใหญ่จะเป็นคลองสาธารณะซึ่งจะอยู่ในความดูแลของรัฐหรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี โดยในเหตุการณ์นี้ผม “คาดเดา” เอาว่าคลองที่นักร้องหนุ่มตกไป “น่าจะ” เป็นคลองที่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นครับ ซึ่งนักกฎหมายมหาชนทุกคนก็คงทราบกันดีถึง “อำนาจหน้าที่” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองหรือในกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบมีหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุง รักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำครับ ดังนั้น ในสายตาของผม คลองดังกล่าวจึง “ควร” ได้รับการดูแลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความสะอาดเพราะเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครับ ดังนั้น หากพิสูจน์ได้ว่าคลองดังกล่าวสกปรกเพราะขาดการดูแลรักษาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้เสียหายก็ย่อมที่จะฟ้องศาลปกครองได้เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานทางปกครองประเภทหนึ่งครับ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นก็ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ จึงส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความสองบทความครับ บทความแรกเราได้ลงเผยแพร่ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพราะผู้เขียนได้เขียนขึ้นในขณะเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับนัก วิชาการด้านกฎหมายมหาชนในเรื่องการออกพระราชกำหนดของรัฐบาลครับ บทความนั้นคือ “หลักนิติรัฐกับการตราพระราชกำหนดความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย” ของรองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนบทความที่สองคือบทความขนาดยาวของผมเรื่อง “ความรู้เบื้องต้นกฎหมายปกครองฝรั่งเศส ตอนที่ 2” ที่ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากผู้อ่านตอนที่ 1 และได้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความเห็นกับผมหลายคนครับ ผมคงพยายามเร่งเขียนให้จบโดยเร็วนะครับจะได้ไม่ต้องรออ่านกันนานเพราะคนที่ถามมามักจะถามว่า ยาวมากไหม ? กี่ตอนจบ ? นอกจากบทความทั้งสองแล้ว เรามีรายงานอภิปรายเรื่อง “นิติรัฐกับประชาสังคม” ที่ถอดเทปคำบรรยายคำต่อคำจากการอภิปรายเมื่อวันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 มาลงเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้แล้วครับ นอกจากนี้ เราก็มีการแนะนำหนังสือใหม่ๆที่น่าสนใจหลายเล่ม รวมทั้งการปรับปรุงระบบข้อมูลให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาครับ
       ถ้าจะถามว่าเหนื่อยไหมกับการทำ website คำตอบก็คือเหนื่อยครับ แต่ก็จะยังทำต่อไปเรื่อยๆเพราะรักการทำงานลักษณะนี้ครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 8 กันยายน 2546 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544