หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 115
21 สิงหาคม 2548 23:44 น.
“จะให้บำเหน็จบำนาญสมาชิกรัฐสภาหรือ?”
       
ผมรู้สึกหงุดหงิดเป็นอย่างมากเมื่อได้ยินข่าวว่าจะมีการออกกฎหมายเพื่อให้ “บำเหน็จบำนาญ” กับ “บรรดาสมาชิกรัฐสภา” ทุกคนและจะให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 อันเป็นปีที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับ โดยอ้างกันว่าเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 229 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่บัญญัติไว้ครับ เหตุผลที่หงุดหงิดก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าสงสารประเทศไทยที่ต้องเสียเงิน “ก้อนโต” ไปในเรื่องที่ผมคิดว่าไม่สมควรอีกแล้วครับ!
       คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในอดีต การรับราชการถือเป็นเรื่อง “ศักดิ์สิทธิ์” สำหรับคนไทย การทำงานกับราชการนั้นแม้จะได้ค่าตอบแทนน้อยแต่คนไทยก็นิยมให้ลูกหลานรับราชการเพราะนอกจากจะเป็นการ “รับใช้แผ่นดิน” แล้ว ยังเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีเกียรติอีกด้วยครับ เมื่อพิจารณาถึงการทำงานเป็นข้าราชการแล้วจะพบว่ามีทั้งข้อจำกัดและข้อดี โดยข้อจำกัดของการรับราชการก็มีอยู่บ้างที่ทำให้ในเวลาต่อมาความนิยมของคนที่จะเข้ารับราชการลดน้อยลงไปบ้าง ข้อจำกัดที่ว่าก็คือค่าตอบแทนที่น้อยกว่าของภาคเอกชนครับ ส่วนข้อดีที่มีอยู่นอกเหนือจากเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีเกียรติที่สุดในบรรดาอาชีพทั้งหลายก็คือระบบสวัสดิการที่มีมานานแล้วครับ ด้วยเหตุที่ข้าราชการได้รับค่าตอบแทนน้อยจึงมีการสร้างสวัสดิการหลาย ๆ ประการให้กับข้าราชการเพื่อจูงใจให้คนเข้ามารับราชการและในขณะเดียวกันก็เพื่อช่วยให้ข้าราชการสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สวัสดิการเหล่านั้นได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือในด้านค่ารักษาพยาบาลกับข้าราชการและครอบครัว หรือการให้เงินบำเหน็จบำนาญเมื่อพ้นจากความเป็นข้าราชการ เป็นต้น สวัสดิการเหล่านี้ถือกันว่าเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของค่าตอบแทนในการทำงานที่ข้าราชการได้รับซึ่งก็เป็นเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บางคนยังคงทำงานอยู่ในระบบราชการต่อไปได้ครับ
       บำเหน็จบำนาญที่ทางราชการให้กับข้าราชการนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่มีขึ้นเพื่อ “ตอบแทน” ผู้ที่อุทิศตัวเข้าทำงานในระบบราชการแล้วยังมีวัตถุประสงค์สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เพื่อให้ข้าราชการที่พ้นจากความเป็นข้าราชการไปแล้วสามารถยังชีพอยู่ได้ โดยได้กำหนดเอาไว้ว่าผู้ที่รับราชการเป็นระยะเวลา 10 ปีขึ้นไปจะได้รับบำเหน็จ (ซึ่งก็คือเงินก้อน) เมื่อออกจากราชการ ส่วนผู้ที่รับราชการเป็นระยะเวลา 25 ปีขึ้นไปเมื่อออกจากราชการก็มีสิทธิเลือกที่จะรับบำเหน็จ (เงินก้อน) หรือบำนาญ (เงินรายเดือน) ครับ ก็อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้นครับว่า บำเหน็จหรือบำนาญที่ทางราชการให้กับข้าราชการนั้นมีขึ้นเพื่อตอบแทนผู้ที่อุทิศตัวเข้าทำงานในระบบราชการเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร ดังนั้นเมื่อต้องออกจากราชการ ทางราชการก็จะให้ “เงินก้อน” หรือ “เงินรายเดือน” แก่ผู้ที่เคยรับราชการต่อไปโดยผู้เลือกรับบำนาญก็จะรับไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงแก่กรรมครับ
       เมื่อเรามองภาพรวมของการให้บำเหน็จบำนาญกับข้าราชการแล้วก็จะพบว่าเหตุที่จะให้บำเหน็จบำนาญกับสมาชิกรัฐสภานั้นมี “น้อย” กว่าเหตุที่ให้บำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านค่าตอบแทนที่สมาชิกรัฐสภาได้รับอยู่แล้วในจำนวนที่สูงกว่าข้าราชการระดับสูงของประเทศ ด้านเวลาในการทำงานที่หากนับจำนวนวันที่ไปทำงานของสมาชิกรัฐสภาเทียบกันกับข้าราชการทั่ว ๆ ไปแล้วสมาชิกรัฐสภาปีหนึ่งทำงานน้อยกว่าข้าราชการประจำเกือบครึ่งหนึ่งแถมยังไม่มีระบบการทำงานที่เหมือนระบบราชการทั่ว ๆ ไปที่ต้องมีเวลาทำงาน มีลำดับชั้นและมีขั้นตอนในการทำงาน มีปัญหารายวันที่ต้องแก้ไข ฯลฯ รวมทั้งด้านความต่อเนื่องของการทำงานที่ข้าราชการประจำต้องทำงานต่อเนื่องถึง 10 ปีขึ้นไปจึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จและ 25 ปีขึ้นไปจึงจะมีสิทธิเลือกที่จะรับบำเหน็จหรือบำนาญเป็นต้น
       ผมคงไม่สาธยายยาวไปกว่านี้ครับเพราะเดี๋ยวจะเป็นการสร้าง “ปัญหา” ที่ไม่จำเป็นขึ้นมาอีกปัญหาหนึ่งให้กับชีวิตผม ผมคาดเอาว่าเราคงคิดเหมือนกันในหลาย ๆ อย่างครับ เสียดายที่ประเทศจะต้องเสียเงินก้อนโตอีกแล้วครับ ผมว่าน่าจะเอาเงินจำนวนนี้ไปสร้างและอุดหนุนโรงเรียนหรือโรงพยาบาลยังจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าครับ!!!
       
       ช่วงเวลาที่ “ยุ่ง” ที่สุดของบรรดาอาจารย์ทั้งหลายก็คือช่วงที่มีการสอบและช่วงที่ต้องตรวจข้อสอบครับ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นิสิตที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ทำการสอบกลางภาคไปซึ่งในเทอมแรกนี้ผมรับผิดชอบสอนอยู่ถึง 5 วิชาด้วยกันและมีสองวิชาที่มีนิสิตลงทะเบียนเรียนวิชาละเกือบ 200 คนครับ เพราะฉะนั้น เมื่อสอบกลางภาคผ่านไป ผมก็เจอ “งานใหญ่” คือการที่ผมต้องมาตรวจข้อสอบจำนวนมากครับ
       การตรวจข้อสอบสมัยนี้แตกต่างจากสมัยก่อนมาก สมัยผมเป็นนักเรียนหรือเป็นนิสิตนั้น เมื่อผลสอบออกมาว่าตก สิ่งที่ต้องทำก็คือพยายามหลบหน้าไม่ให้เจออาจารย์เจ้าของวิชา หากต้องเจอก็ต้องพยายามสงบปากสงบคำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะหาไม่จะเป็นภัยกับตัวเองในเวลาต่อมาครับ ซึ่งเมื่อตอนผมมาเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ สภาพก็ยังคล้าย ๆ เช่นที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้วอยู่ แต่ในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปมากครับ
       ในระดับปริญญาตรีนั้น ผมสอนอยู่สองหลักสูตร คือ หลักสูตรภาคปกติกับหลักสูตรภาคพิเศษที่เรียนกันตอนเย็น ๆ แล้วผู้มาเรียนก็เป็นผู้ที่ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่นมาก่อนซึ่งก็มีบางคนที่จบการศึกษาระดับสูงกว่าเกณฑ์ครับ การตรวจข้อสอบของนิสิตปริญญาตรีภาคปกตินั้นไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่เพราะ “เด็ก ๆ” ค่อนข้างที่จะน่ารักครับ ! ก่อนสอบอาจารย์ก็จะขอความเห็นใจกับเด็ก ๆ ว่า ช่วยเขียนลายมือให้อ่านง่ายหน่อยเพราะอาจารย์ต้องตรวจข้อสอบหลายวิชา ซึ่งบรรดาเด็ก ๆ ก็ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี จะมีบ้างที่เผลอเขียนตามอำเภอใจก็เพียงไม่กี่คน เมื่อตรวจข้อสอบเสร็จและประกาศคะแนนออกมา เด็ก ๆ ที่ได้คะแนนไม่ดีหรือสอบไม่ผ่านก็จะมาโผล่ที่หน้าห้องแล้วก็ขอให้อาจารย์ช่วย “ชี้แนะ” ว่าข้อสอบของตนมีข้อบกพร่องตรงไหนบ้างถึงได้คะแนนไม่ดีหรือสอบไม่ผ่าน พออธิบายให้ฟังว่าข้อสอบที่ทำไปนั้นมีปัญหาอย่างไร เรื่องก็จบครับ บรรยากาศส่วนใหญ่ก็เป็นไปด้วยดีเพราะคำว่า “อาจารย์” ยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้างในสายตาของเด็ก ๆ ครับ
       การตรวจข้อสอบของ “ภาคพิเศษ” นั้นก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากการตรวจข้อสอบ “เด็ก ๆ” เพราะสำหรับผมนั้น ไม่ว่าภาคปกติหรือภาคพิเศษ เมื่อจบไปแล้วก็ได้เป็น “นิติศาสตร์บัณฑิต” เหมือนกันและเหมือนผมด้วย ดังนั้นจึงไม่มีเหตุพิเศษอันใดที่จะต้อง “ลด” มาตรฐานสำหรับ “ภาคพิเศษ” ให้เข้มงวดน้อยกว่า “ภาคปกติ” แม้ว่า “ภาคพิเศษ” จะเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน “มากกว่า” ภาคปกติอยู่สองเท่าก็ตามครับ!!! บัณฑิตที่จบออกไปทุกคนจะต้อง “เก่ง” และเป็นที่ “ยอมรับ” ของสังคมครับ ซึ่งเรื่องนี้ในเวลาที่สอนภาคพิเศษผมก็พยายามพูดให้นิสิตฟังอยู่เสมอถึง “เป้าหมาย” ของผม แต่ก็ไม่ทราบว่าจะมีคนเข้าใจผมมากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อคะแนนออกมาแล้วมีบางคนที่ทำคะแนนสอบไม่ได้ดังใจก็มาหาผมด้วยท่าทีที่ค่อนข้าง “แตกต่าง” จากการมาขอดูคะแนนสอบของ “เด็ก ๆ” เช่นที่เล่าให้ฟังไปแล้วข้างต้นคือ มาให้ผม “ชี้แจง” การทำงานของผมให้ฟังทั้งกระบวนการตั้งแต่การออกข้อสอบ การส่งธงคำตอบพร้อมกระดาษข้อสอบ และการตรวจข้อสอบครับ แล้วก็ยังมีบางคนที่ไม่พอใจกับคะแนนที่ตนเองได้รับจนถึงกับพยายามที่จะเป็นอาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบเองแล้วก็ให้คะแนนตัวเองด้วย ผมเจออาการแบบนี้เข้าไปหลาย ๆ คนก็รู้สึกท้อใจเพราะจริง ๆ แล้วการตรวจข้อสอบและการให้คะแนนนั้นทุกคนรู้ว่าเป็นดุลพินิจของอาจารย์ผู้ตรวจ ซึ่งในการตรวจข้อสอบอาจารย์ทุกคนก็จะมีเกณฑ์ที่ต่างกันในการพิจารณา แต่ในที่สุดแล้วเมื่อถึงเวลาให้คะแนนผมเข้าใจว่าอาจารย์ทุก ๆ คนคงจะมีเกณฑ์ค่อนข้างคล้ายกันคือถ้าตอบถูกหมดก็คือผ่าน แต่จะผ่านดีมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างคือ การอธิบายอย่างเป็นระบบ การแสดงความคิดเห็นอย่างมีหลักมีเกณฑ์ รวมไปถึงการเขียนคำตอบที่ไม่สร้างความลำบากในการอ่านให้กับผู้ตรวจข้อสอบ องค์ประกอบเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้สอบได้คะแนนมากน้อยต่างกันครับ ซึ่งผมก็ต้อง “อดทน” อย่างมากกับผู้มาขอดูสมุดคำตอบหลาย ๆ รายที่พยายามทำตัวเป็น “อาจารย์” แทนที่ผม และให้คะแนนตัวเองมากกว่าที่ผมให้ เมื่อผมยืนยันว่าที่ผมให้คะแนนไปนั้นถูกต้องพอเพียงแล้ว ก็มีการแสดงความไม่พอใจออกมาอย่างออกนอกหน้าที่แตกต่างจาก “เด็ก ๆ” ที่ยังคงเห็นความ “ศักดิ์สิทธิ์” ของอาจารย์อยู่ในสายตาครับ
       ที่เล่าไปให้ฟังนี้ก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปตำหนิหรือบ่นว่าใครทั้งนั้น แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า สังคมเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปมากครับ การศึกษาเล่าเรียนเองก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม ดังนั้น อาจารย์เองก็ต้อง “ปรับตัว” ให้ทันกับความเปลี่ยนไปของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนไปของ “พฤติกรรม” ของมนุษย์ที่ในปัจจุบันนั้นมุ่งเน้นไปในทางวัตถุนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อก่อนกับปัจจุบันนั้นต่างกันมาก วันนี้เราพบว่ามีสถานศึกษาหลายแห่งที่สร้างหลักสูตรขึ้นมาจำนวนมากเพื่อ “ให้ความรู้” และเพื่อ “เพิ่มรายได้” ซึ่งผมเข้าใจว่าไม่ใช่เฉพาะเจ้าของหลักสูตรเท่านั้นที่ทราบ ผู้เข้ามาใช้บริการก็ทราบด้วยครับว่าตนเองต้องเสียเงินแพง ๆ เพื่อเข้ามาเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ดังนั้น ความคาดหวังของผู้ใช้บริการบางคนจึงกลายเป็นความคาดหวังในลักษณะของการ “ซื้อขาย” เช่นเดียวกับการซื้อขายสินค้า คือ เสียเงินแล้วต้อง “ได้” ครับ ผมไม่ทราบว่าที่ผมเข้าใจนั้นถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ แต่จากที่ผมเคยประสบมาบ้างในบางครั้งทำให้ผมรู้สึกเช่นนั้นครับ ซึ่งผมก็ได้พยายามอธิบายให้คนเหล่านั้นทราบว่า การเสียเงินกับการศึกษาเป็นคนละเรื่องกัน หากความรู้ไม่ถึงขั้นและไม่ได้มาตรฐานที่ผู้สอนกำหนด ก็ไม่มีเหตุผลใดทั้งนั้นที่จะทำให้ผู้นั้นได้คะแนนดีมากหรือสำเร็จการศึกษาครับ
       จริง ๆ แล้วที่ผมบ่นไปข้างต้นนั้นเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาอันเกิดจากระบบการศึกษาในวันนี้ครับ ผมยังมีอีกหลายอย่างที่อยาก “ระบาย” แต่ก็คงไม่เหมาะที่จะใช้เวทีนี้เป็นที่ระบายความรู้สึกหรือความในใจอะไรทั้งนั้นครับ ก็คงต้องขอจบบทบรรณาธิการคราวนี้ไว้เพียงแค่นี้ก่อนจะเหมาะสมกว่าครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีตอนจบของบทความที่เราได้ลงไปในคราวที่แล้วคือบทความเรื่อง “เมื่อชาวฝรั่งเศสลงประชามติไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป” โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายมหาชนที่ประเทศฝรั่งเศส ผมขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งที่ส่งบทความมาเผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 5 กันยายน 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544