หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 119
16 ตุลาคม 2548 22:08 น.
"ความพยายามในการหาทางออกกรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน"
       ปัญหาเรื่องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังเป็นปัญหาที่คงอยู่ต่อเนื่องมาเป็นเวลานานพอสมควรทั้ง ๆ ที่มีความพยายามจากหลาย ๆ ฝ่ายเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหรือเข้ามาแสดงความคิดเห็น แต่ปัญหาก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ครับ!
       มี 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นคือ เมื่อนายวิสุทธิ์ มนตริวัต ได้ขอถอนตัวจากการเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น ประธานวุฒิสภาได้ทำหนังสือขอพระราชทานเรื่องกลับคืนมา และต่อมา คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้มอบหมายให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทำการศึกษาปัญหาข้อกฎหมายและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่าจะมีทางออกอย่างไร ซึ่งต่อมา ผลการศึกษาก็ออกมาว่า เรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังเป็นปัญหาข้อขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกองค์กร จำเป็นต้องหาข้อยุติให้เป็นที่ยอมรับได้ก่อน ดังนั้น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นข้อสงสัยของสังคมในปมปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ส่วนเหตุการณ์ที่สองเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่วุฒิสภามีมติด้วยคะแนนเสียง 91 ต่อ 47 และงดออกเสียง 9 เสียง ไม่รับพิจารณาญัตติของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 22 คนที่เสนอให้วุฒิสภาพิจารณาสถานะของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ในการเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
       
เหตุการณ์ทั้งสองนอกจากจะแสดงให้เห็นถึง “ความยืดเยื้อ” ของปัญหาในการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึง “ความไม่เข้าใจ” ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ที่เป็นสถาบันของรัฐอีกด้วย
       
       ก่อนที่จะเข้าไปพิจารณาในรายละเอียดของปัญหา ผมขอชี้แจงในเบื้องต้นก่อนว่าแม้เหตุการณ์เรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะส่งผลทำให้เกิดการ “แบ่งค่าย” ความคิดออกเป็นสองค่ายก็ตาม แต่ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่แสดงความคิดเห็นนั้นคงเป็นผู้ที่สนใจปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและคงพยายามช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคม ซึ่งผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้จักใครเป็นส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา หรือ คุณวิสุทธิ์ มนตริวัต แต่เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ “กฎหมายมหาชน” ดังนั้น ผมจึงต้องออกมาแสดงความคิดเห็นในส่วนที่คิดว่าตนเองพอจะแสดงได้ เผื่อความคิดเห็นของผม “อาจ” เป็นทางออกที่เหมาะสมของปัญหาดังกล่าวครับ
       
       ในเหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นข้อสงสัยของสังคมในปมปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น เนื่องจากในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ผมยังไม่ทราบถึง “เนื้อหา” หรือ “ประเด็น” ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ “ตั้ง” ขึ้นเพื่อส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จึงยังไม่อาจคาดเดาล่วงหน้า (เช่นที่มีข่าวออกมาบ้างแล้วในหน้าหนังสือพิมพ์) ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องดังกล่าวไว้วินิจฉัยหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากบทบัญญัติในมาตรา 266 แห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาเรื่องที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญได้นั้น เรื่องที่เป็นปัญหาดังกล่าวจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจทำการในเรื่องใดได้มากน้อยเพียงใด หรือเป็นเรื่องที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไปมีปัญหาโต้แย้งว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งได้ใช้อำนาจหน้าที่ล่วงล้ำหรือไปกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับการที่เรื่องใดจะเป็นเรื่องที่ “เข้าเกณฑ์” ของมาตรา 266 แห่งรัฐธรรมนูญที่กล่าวไปแล้วหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานไว้ในคำวินิจฉัยที่ 54/2542 แล้วครับ! เมื่อเรานำเกณฑ์ที่ได้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาปรับเข้ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะพบว่าค่อนข้างยากที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาครับ เพราะประเด็นที่เกิดขึ้นนั้นไม่น่าจะเข้าเกณฑ์ในมาตรา 266 ครับ คงต้องดูกันต่อไปว่าศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไรในเรื่องนี้ ส่วนประเด็นที่มีผู้พูดถึงอยู่บ่อย ๆ ว่าให้ส่งเรื่องปัญหาไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ “ตีความ” หรือ “ให้ความเห็น” นั้น เมื่อพิจารณาดูอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้วจะพบว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการให้ความเห็นหรือตีความใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งแตกต่างจากอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนที่ให้อำนาจคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่จะตีความรัฐธรรมนูญในกรณีที่มีปัญหาได้ครับ (ตัวอย่างเช่น มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540)
       
       ในเหตุการณ์ที่สองที่มีความพยายามเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาถึงสถานะของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ว่ายังเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่หรือไม่นั้น ผมรู้สึก “ดีใจ” ที่วุฒิสภามีมติไม่รับพิจารณาญัตติดังกล่าว ซึ่งผมเห็นต่อไปด้วยว่าผลของการที่วุฒิสภามีมติไม่รับญัตตินี้ไว้พิจารณาแสดงถึง “ความมั่นใจ” ของวุฒิสภาที่มีต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 เรื่องการได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินครับ ผมมาลองนั่งคิดดูอีกมุมหนึ่งว่าหากวุฒิสภารับญัตตินี้ไว้พิจารณา วุฒิสภาก็จะต้องมีมติว่าจะยืนตามหรือเห็นแตกต่างจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเป็นไปในแนวทางหลัง เรื่องคงยุ่งมากเข้าไปอีกเพราะอย่างแรกที่ต้องรับรู้ก็คือมติของวุฒิสภาไม่สามารถลบล้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ และนอกจากนี้การที่วุฒิสภา “ปฏิเสธ” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็จะเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 268 ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กร รวมทั้งรัฐสภาด้วยครับ และนอกจากนี้ก็ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือ หากวุฒิสภารับญัตติข้างต้นไว้พิจารณาก็ “น่าจะ” เป็นการกระทำที่ “ขัดรัฐธรรมนูญ” ด้วยเพราะไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดเลยที่บัญญัติให้วุฒิสภาสามารถดำเนินการเช่นที่ต้องการได้ครับเพราะในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นวุฒิสภามีอำนาจเฉพาะตามมาตรา 31 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินคือให้ความเห็นชอบผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินครับ
       
       เมื่อพิจารณาดู 2 เหตุการณ์ข้างต้นแล้ว ผมเห็นว่ายังไง ๆ ก็ยังเป็น “ทางตัน” อยู่ครับ แต่ถ้าหากจะถามกันต่อไปว่าผมเห็นว่าทางออกควรเป็นเช่นไร ในกรณีนี้ผมพอมองเห็นอยู่บ้าง ความเห็นของผมอาจเหมือนหรือแตกต่างจากผู้อื่นเช่นไรผมไม่ทราบ แต่ผมมองว่าที่น่าจะต้องทำเป็นอย่างแรกคือต้อง “ยอมรับ” ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 ก่อนครับ เมื่อทุกฝ่ายยอมรับว่ากระบวนการสรรหาคุณหญิงจารุวรรณฯไม่ถูกต้อง ซึ่งก็จะส่งผลทำให้คุณหญิงฯต้องพ้นตำแหน่งไปในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ในวันนี้ หากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นด้วยหรือหากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไม่อยาก “สวน” กระแสสังคม คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็สามารถเสนอชื่อคุณหญิงจารุวรรณฯให้วุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบใหม่ได้ เพราะการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการสรรหาคุณหญิงจารุวรรณฯไม่ถูกต้องก็ย่อมมีผลเสมือนหนึ่งว่าคุณหญิงจารุวรรณฯ “ไม่เคย” เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาก่อน ดังนั้น การที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะเสนอชื่อคุณหญิงจารุวรรณฯใหม่จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ขัดกับมาตรา 34 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินที่กำหนดให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
       
       ผมว่าหากเราทำได้ เรื่องก็คงจบลงอย่างไม่ยากใช่ไหมครับ แต่ปัญหาตอนนี้คงมีอยู่ 2 อย่างคือ อย่างแรก ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้เกี่ยวข้อง (ที่อยู่ในประเทศที่เป็นนิติรัฐ) ยอมรับและปฏิบัติตามมาตรา 268 แห่งรัฐธรรมนูญ!!! กับอย่างที่สอง ทำอย่างไรจึงจะทำให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะเสนอชื่อคุณหญิงจารุวรรณฯเข้าไปเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน “อีกรอบ” ครับ!!!
       
       ในสัปดาห์นี้ เราได้รับบทความใหม่ล่าสุดจากนักกฎหมายมหาชนชื่อดังของประเทศไทย บทความนี้เป็นบทความที่ผู้เขียนนำเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับคำพิพากษาศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิในการสมัครสอบของผู้พิการมาวิเคราะห์ บทความดังกล่าวมีชื่อว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาศาลปกครอง : กรณีสิทธิในการสมัครสอบของทนายความพิการด้วยโรคโปลิโอ” ที่เขียนโดย ผศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชนผู้โด่งดังจากสำนักท่าพระจันทร์ครับ นอกจากบทความนี้แล้ว เรามีการแนะนำหนังสือใหม่ด้วยครับ ลองเข้าไปดูได้ใน หนังสือตำรา นะครับ
       
       ผมมีเหตุจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศในระหว่างวันที่ 14 – 27 ตุลาคมนี้ครับ ช่วง 5 วันแรกก็จะไปอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยผมมีนัดกับคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าของอิตาลี จากนั้นก็จะมาอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันคือพบปะพูดคุยกับคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าของฝรั่งเศสครับ กลับมาหากมีข้อมูลน่าสนใจก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544