หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 66
14 ธันวาคม 2547 18:21 น.
"คนป่วยขอสิทธิที่จะตาย"
       เมื่อเดือนมีนาคม - เมษายนที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัย Aix-Marseille 3 ให้มาเป็น visiting professor มีข่าวที่น่าสนใจอยู่ข่าวหนึ่งก็คือมีคนป่วยคนหนึ่งเขียนจดหมายไปหาประธานาธิบดี Jacques Chirac เพื่อขอให้ช่วยให้ตนเองตาย
       คงต้องเล่าเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก่อนครับ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๐ นาย Vincent Humbert พนักงานดับเพลิงในเมืองเล็กๆเมืองหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ส่วนตัวชนกับรถบรรทุก อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้เขาสลบและไม่ได้สติอยู่นานประมาณ ๙ เดือน เมื่อฟื้นขึ้นมาก็พบว่าตัวเองเป็นอัมพาตไปทั้งตัวรวมทั้งไม่สามารถพูดได้ ส่วนสายตาก็เกือบบอด พอมองเห็นได้ลางๆ เล็กน้อย ตลอดเวลาที่ป่วยอยู่ Vincent ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างมาก ครอบครัวก็ลำบาก มีมารดาที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดและสามารถ “สื่อ” กับลูกชายได้วิธีเดียวโดยผ่านการขยับนิ้วหัวแม่มือของลูกชายที่ ยังสามารถทำได้อยู่
       อาการป่วยของ Vincent นั้น แพทย์ลงความเห็นว่า ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และแพทย์ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีอะไรดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ Vincent พยายามติดต่อผ่านทางมารดาด้วยวิธีการ ขยับนิ้วหัวแม่มือเพื่อ “สื่อ” ความต้องการของตนเองไปยังแพทย์เพื่อขอให้ “จบชีวิต” ตนเสีย แต่แพทย์ก็ ไม่สามารถทำอะไรได้ ผลก็คือ Vincent ต้องนอนเป็นอัมพาตตลอดไปจนกว่าจะตายไปเอง ! Vincent ต้องการที่จะจบชีวิตที่ทารุณของตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะตัวเองไม่อยู่ในสภาพที่จะ “ฆ่าตัวตาย” ได้ การตายเพื่อจบชีวิตของ Vincent จึงดูไม่น่าจะเป็นไปได้ ดังนั้น Vincent จึงได้เขียนจดหมายด้วยวิธีการที่เขากับมารดารับรู้กันโดยผ่านการขยับนิ้วหัวแม่มือทีละตัวอักษรถึงประธานาธิบดี Jacques Chirac เมื่อเดือนธันวาคม ๒๐๐๒ ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ช่วยให้ตนเองตาย โดยกล่าวไว้ในจดหมายว่า ประธานาธิบดี เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะทำให้ตนเองตายได้ !!!
       ในยุโรปหลายๆประเทศ มีกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาตให้แพทย์ และครอบครัวของ
       ผู้ป่วยตกลงกันเพื่อทำให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบได้ สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยอย่างร้ายแรงหรือทนทุกข์ทรมานอย่างสาหัส และไม่สามารถรักษาให้หายได้ กระบวนการดังการเรียกว่า “euthanasie” euthanasie เป็นคำที่มาจากภาษา กรีก (thenatos) ที่มีความหมายว่า “ตายอย่างสงบ” คำนี้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการที่ทำให้คนป่วยร้ายแรง หรือคนป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานและไม่สามารถรักษาให้หายได้สิ้นชีวิตเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทนอยู่อย่าง ทุกข์ทรมานต่อไป
       แต่เนื่องจากในประเทศฝรั่งเศส ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับ euthanasie ดังนั้น Vincent จึงได้เขียน จดหมายไปหาประธานาธิบดีโดยกล่าวว่า “ประธานาธิบดี เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะทำให้ตนเองตายได้” ซึ่งก็หมายความถึงว่า ต้องการให้ประธานาธิบดีเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับ euthanasie นั่นเอง
       กลับมาสู่ปัจจุบันครับ ! เมื่อผมกลับมาที่ประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งในเดือนกันยายนที่
       ผ่านมา ข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องของ Vincent ก็ยังเป็นที่กล่าวขวัญกันอยู่ Vincent ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ข้าพเจ้าขอสิทธิที่จะตาย” (ซึ่งออกวางตลาดเมื่อ ๒๕ กันยายนที่ผ่านมา) หลายๆคนคงสงสัยว่า เป็นอัมพาตทั้งตัวและพูดไม่ได้ ทำไมจึงเขียนหนังสือได้ ผู้อ่านหลายๆคนที่เป็น “นักอ่าน” คงจำได้ว่า เมื่อ ๔-๕ ปีที่ผ่านมา มีหนังสือแปลเป็นไทยเล่มหนึ่ง ชื่อ “นักประดาน้ำกับผีเสื้อ” ที่แปลจาก “Le Scaphandre et le Papillon” ที่เขียนโดยอดีตบรรณาธิการนิตยสาร Elle ของฝรั่งเศสคือ Jean-Dominique Bauby ที่ป่วยเป็นอัมพาตเช่นกัน แต่สามารถเขียนหนังสือดังกล่าวด้วยวิธี “ขยิบตา” กับผู้ช่วยโดยตกลงกันว่า ขยิบตากี่ครั้งคือตัวอักษรใด !!! Vincent ใช้วิธีการเดียวกันนี้ แต่เป็นการขยับนิ้วหัวแม่มือ สาระสำคัญ ของหนังสือเล่มนี้ คงอยู่ที่ชีวิตก่อนป่วยและหลังป่วยของ Vincent นั่นเอง ในหน้าสุดท้ายของหนังสือคือหน้า ๑๘๖ Vincent กล่าวไว้ว่า ข้าพเจ้าต้องการให้หนังสือเล่มนี้เป็น “หนังสือพินัยกรรม” เพราะถ้าข้าพเจ้าจะตาย ข้าพเจ้าจะจากไปในวันที่ข้าพเจ้าและมารดาร่วมกันเลือก !
       ในความเป็นจริงนั้น Vincent ต้องการที่จะจบชีวิตของตนเองเพราะไม่สามารถอยู่ในสภาพ แบบนั้นได้ ครอบครัวของ Vincent ทุกคนก็เห็นด้วยเพราะไม่ต้องการเห็นคนในครอบครัวต้องมีชีวิตอยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน แต่ทุกคนก็ไม่สามารถทำอะไรได้ทั้งสิ้น เพราะกระบวนการ euthanasie ในประเทศฝรั่งเศสไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ หากมีการดำเนินการไปผู้ทำไม่ว่าจะเป็นแพทย์ หรือครอบครัวของผู้ป่วยก็จะมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามกฎหมายอาญาซึ่งมีโทษสูงสุด ถึงจำคุกตลอดชีวิต เคยมีผู้เสนอให้ครอบครัวของ Vincent ย้าย Vincent ไปยังในประเทศที่มีกฎหมายที่ เปิดโอกาสให้ทำ euthanasie ได้ แต่ครอบครัวของ Vincent ก็ไม่ต้องการทำเช่นนั้น โดยบอกว่าลูกชาย ไม่ต้องการตายอย่างหลบซ่อน
       ในที่สุด ก่อนที่หนังสือของ Vincent จะออกวางจำหน่ายเพียงวันเดียว Marie มารดาของ Vincent ก็ตัดสินใจที่จะ “ฆ่า” ลูกชายของตน “ด้วยความรัก” โดยฉีดสารเคมีประเภทยานอนหลับอย่างแรง (barbiturique) ให้กับลูกชายของตนเองเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ ๒๔ กันยายน ในห้องผู้ป่วยของโรงพยาบาล คณะแพทย์ได้นำตัว Vincent เข้าห้องฉุกเฉิน (ICU) เพราะ Vincent มีอาการโคม่าไม่ได้สติ ส่วนมารดา ก็ถูกตำรวจจับ และได้รับการปล่อยตัวในวันรุ่งขึ้นเนื่องจากขอประกันตัวออกมา และในที่สุดเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน Vincent ก็สิ้นชีวิตลงสมความต้องการของตนเองในห้อง ICU ของโรงพยาบาลภายหลังจากที่ ต้องการตายมาเกือบ ๓ ปี
       แม้ Vincent จะตายลงอย่างสมใจ แต่ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นหลังจากการตายของ Vincent เพราะคณะแพทย์ที่ทำการรักษา Vincent มาสามปี ได้แถลงข่าวการตายของ Vincent ต่อสื่อมวลชนว่า ภายหลังจากที่ Marie ได้พยายามฆ่า Vincent อาการของ Vincent ก็อยู่ในขั้นโคม่าและจะต้องตายในไม่ช้า เพราะฤทธิ์ยาเข้าไปทำลายสมอง คณะแพทย์จึงตัดสินใจที่จะ “หยุด” ใช้เครื่องช่วยหายใจกับ Vincent ซึ่งหลังจากหยุดใช้เครื่องช่วยหายใจเพียงสองสามนาที Vincent ก็จากไปอย่างสงบ ปัญหาที่จะตามมาก็คือ มารดาซึ่งเป็น “ผู้ฆ่า” ลูกของตนเองจะต้องรับโทษทางอาญาอย่างไร เช่นเดียวกับคณะแพทย์ที่ตัดสินใจ “หยุด” ใช้เครื่องช่วยหายใจนั้น จะต้องได้รับโทษด้วยหรือไม่ เพราะในทางปฏิบัติแล้ว แม้แพทย์จะ “แอบ” ใช้วิธีดังกล่าวอยู่บ้างแต่หนนี้เป็นหนแรกที่มีการแถลงต่อสาธารณะว่าแพทย์หยุดรักษาคนไข้ ซึ่งมีผลทำให้ คนไข้ตายครับ ปัญหาเรื่องโทษทางอาญาก็คงต้องตามดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนปัญหาที่สำคัญ อีกประการหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับและนักการเมืองหลายๆคนพากันออกมาพูดก็คือ ปัญหาที่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีกฎหมายอนุญาตให้แพทย์ช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบได้ ก็มีหลายความเห็นนะครับ แต่ส่วนใหญ่แล้ว นักกฎหมายก็จะบอกว่าคงลำบากเพราะหากมีการร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นก็จะต้องมี ผู้ร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งก็คงสร้างความยุ่งยากลำบากแก่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมากว่าจะใช้หลักใดมา “อนุญาต” ให้มีการ “ฆ่ากันตาย” อย่างถูกกฎหมายครับ เพราะหลักเรื่อง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (La dignité humaine) ของฝรั่งเศสนั้นได้รับการยอมรับมากว่า ๒๐๐ ปี แล้วครับ !
       บทบรรณาธิการคราวนี้ออกจะยืดยาวไปสักหน่อยนะครับ ก็ไม่มีอะไรมากเพียงแค่ผมเห็นว่า euthanasie เป็นเรื่องน่าสนใจ และในบ้านเราก็ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว ประกอบกับเป็นข่าวใหญ่ ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสในวันนี้ก็เลยเอามาเล่าสู่กันฟังครับ
       ผมยังอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสครับ ตอนนี้มาอยู่ที่เมือง Nantes แล้วครับ อากาศกำลังสบาย ไม่ร้อนไม่หนาว เวลาส่วนใหญ่ของวันก็ใช้ไปในห้องสมุดครับ รีบเขียน “ความรู้เบื้องต้นกฎหมาย ปกครองฝรั่งเศส” กับแก้ไขหนังสือเรื่อง “บริการสาธารณะ” ของผมเพื่อพิมพ์ครั้งที่ ๓ ครับ มีโอกาสมาถึง “แหล่งข้อมูล” แล้วก็ต้องใช้โอกาสให้คุ้มครับ เข้าห้องสมุดหาวัตถุดิบมาเขียนมาแก้หนังสือครับ
       ในสัปดาห์นี้ บทความเรื่อง “ความรู้เบื้องต้นกฎหมายปกครองฝรั่งเศส” ของผมลงเผยแพร่ เป็นตอนที่ ๕ แล้วนะครับ เนื่องจากผมไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ก็เลยไม่ได้ไป “ขอ” บทความจากเพื่อนนักวิชาการมานำเสนอ ทำให้มีบทความเดียว ไม่มีการตอบคำถาม และไม่มีการแนะนำหนังสือใหม่ๆ ครับ ! ขอติดทุกอย่างไว้ก่อนนะครับ ปลายเดือนตุลาคมเมื่อผมกลับไปประเทศไทยแล้วค่อยว่ากันใหม่
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๖ ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544