หน้าแรก บทความสาระ
“หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ” โดย คุณเกรียงศักดิ์ แจ้งสว่าง
โดย นายเกรียงศักดิ์ แจ้งสว่าง นิติกร ๓ กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
9 มกราคม 2549 00:49 น.
 
“หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ”
       
       ❋ บทนำ
       

       อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙ (Vienna Convention on the Law of Treaties) เป็นกฎเกณฑ์ในทางกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสนธิสัญญา ซึ่งได้ดำเนินการยกร่างโดยคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission : ILC) ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๔๙ โดยมีผู้รายงานพิเศษ (Special Rappoteur) รวมทั้งสิ้น ๔ ท่าน คือ James L. Brierly (๑๙๕๐), Sir Hersch Lauterpacth (๑๙๕๓), Sir Gerald Fitzmaurice (๑๙๕๖), และ Sir Humphrey Waldock (๑๙๖๒) โดยได้ดำเนินการยกร่างจนเสร็จสมบูรณ์ และเปิดให้รัฐต่าง ๆ ลงนามและให้สัตยาบันในปี ค.ศ. ๑๙๖๙ และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๐
       อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙ เกิดจากการประมวลหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (Customary International Law) และหลักกฎหมายทั่วไป (General Principle of Law) ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสนธิสัญญาที่สำคัญเข้าไว้ด้วยก้น พร้อมทั้งได้มีการบรรจุหลักเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นการพัฒนาการที่ก้าวหน้าของกฎหมาย (progressive development of law) ขึ้นด้วย
       อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙ มาตรา ๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า “สนธิสัญญา” หมายถึง “ความตกลงระหว่างประเทศที่ทำขึ้นระหว่างรัฐ เป็นลายลักษณ์อักษร และตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะประกอบด้วยเอกสารฉบับเดียวหรือสองฉบับหรือมากกว่านั้นขึ้นไป และไม่ว่าจะเรียกชื่อเฉพาะว่าอย่างไรก็ตาม” ดังนั้น คำว่า “หนังสือสัญญา” จึงมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “สนธิสัญญา” (Treaty) ซึ่งถือเป็นบ่อเกิดที่สำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๘ ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Statute of International Court of Justice) และเป็นพันธกรณีที่รัฐภาคีจะต้องถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งกระบวนการอนุวัติการ (implementation) ให้เป็นไปตามกฎหมายภายในของแต่ละรัฐก็มีความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแนวนิตินโยบายของแต่ละรัฐเป็นสำคัญ ที่จะกำหนดว่าสนธิสัญญาประเภทใดถือว่าเป็นสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันต่อรัฐโดยทันที หรือสนธิสัญญาประเภทใดที่จะต้องผ่านกระบวนการให้สัตยาบันตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเสียก่อน จึงจะมีผลบังคับเป็นกฎหมายภายในของรัฐได้
       สำหรับประเทศไทยนั้นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๔ วรรคสองได้กำหนดว่ามีหนังสือสัญญา ๓ ประเภทที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ได้แก่ หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ และหนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา
       บทความนี้จะได้ทำการศึกษาเฉพาะ “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ” ทั้งในแง่ของความหมาย ที่มา เจตนารมณ์ และปัญหาการตีความความหมายของคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่บทสรุปและข้อเสนอแนะที่เหมาะสมต่อไป
       
       ❋ หนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
       
       นับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นการเข้าสู่กระบวนการจัดทำสนธิสัญญากับนานาประเทศในรูปแบบใหม่ของประเทศไทย ซึ่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับต่าง ๆ ได้มีการบัญญัติไว้ในลักษณะเดียวกันทุกฉบับว่าอำนาจในการทำสนธิสัญญาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และในกรณีที่เป็นสนธิสัญญาที่สำคัญก็จะต้องได้รับคำแนะนำหรือได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาเสียก่อน
       ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๕๔ ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึกและทำหนังสือสัญญาอื่น ๆ กับนานาประเทศ และการประกาศสงครามนั้นจะทรงทำได้ต่อเมื่อไม่ขัดแก่บทบัญญัติแห่งกติกาสันนิบาตชาติ (League of Nations Pact) โดยหนังสือสัญญาใด ๆ มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์สยามหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาไซร้ ท่านว่าต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
       อนึ่ง มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ด้านกิจการระหว่างประเทศที่ได้รับการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๓๖ ที่ได้กำหนดว่าการเจรจาการเมืองกับต่างประเทศเป็นหน้าที่ของกรรมการผู้แทนราษฎร และกรรมการอาจตั้งผู้แทนเพื่อการนี้ได้ และหากการเจรจาได้ดำเนินไปในประการใดให้กรรมการรายงานกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ทรงทราบ และการให้สัตยาบันสัญญาทางพระราชไมตรีทรงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แต่จะทรงไว้พระราชอำนาจนี้ตามคำแนะนำของกรรมการราษฎร นอกจากนี้ในมาตรา ๓๗ ยังได้บัญญัติว่าการประกาศสงครามเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ตามคำแนะนำของกรรมการราษฎร
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในฉบับต่อ ๆ มาได้วิวัฒนาการและแยกส่วนว่าด้วยการประกาศสงครามออกเป็นบทบัญญัติอีกมาตราหนึ่ง และได้มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมถ้อยคำจากคำว่า “นานาประเทศ” เป็นรวมทั้ง “กับองค์การระหว่างประเทศ” และได้มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมถ้อยคำจากคำว่า “อาณาเขตไทย” เป็นรวมทั้ง “เขตอธิปไตยแห่งชาติ” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ ได้เพิ่มเติมกรณีการทำ “สนธิสัญญาพันธมิตรทางทหาร” และเป็นเพียงฉบับเดียวที่ได้มีการบัญญัติไว้ในกรณีดังกล่าว
       สำหรับกรณีที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศโดยตรง ได้แก่ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐ และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔ การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับให้ความเห็นชอบหรือให้คำแนะนำในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของรัฐสภาได้ปฏิบัติตามประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น กรณีที่คณะรัฐมนตรีชุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าเกี่ยวกับเขตแดนที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก พร้อมทั้งได้ส่งสำเนาเอกสารบันทึกความเข้าใจฉบับภาษาไทย ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๔ และในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๓๑/๒๕๓๔ วันศุกร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๔ ที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบ เป็นต้น
       “เขตอำนาจแห่งรัฐ” เป็นถ้อยคำในทางกฎหมายที่อาจกล่าวได้ทั้งบริบทของกฎหมายมหาชน และกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ เป็นกรณีของการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ดังนั้น เขตอำนาจแห่งรัฐจึงหมายถึงเขตอำนาจที่รัฐใช้อำนาจเหนือบุคคลและทรัพย์สินตามระบบกฎหมายภายในของตนที่เป็นเขตอำนาจในการตรากฎหมาย (Prescriptive or legislative jurisdiction) และเขตอำนาจในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย (Enforcement or prerogative jurisdiction) โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บรรจุหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐไว้ในมาตรา ๒๒๔ ดังนี้
       “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
       หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”
       “หนังสือสัญญา” ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา ๒๒๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ จำแนกได้เป็นสามกรณี ดังนี้
       (๑) หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย
       (๒) หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ
       (๓) หนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา
       
       (๑) หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย
       สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หมายถึงสนธิสัญญาที่ทำให้อาณาเขตหรือพื้นที่ของประเทศไทยมีความแตกต่างไปจากเดิมหรือแตกต่างไปจากที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ดินแดนเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ตาม หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไป เช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพของเส้นเขตแดนที่ใช้ลำน้ำระหว่างประเทศเป็นเกณฑ์ ซึ่งปกติเส้นเขตแดนประเภทนี้จะเคลื่อนที่ไปตามแนวร่องน้ำลึก (Thalweg) โดยอาจเปลี่ยนให้เป็นการใช้เส้นเขตแดนคงที่ (fixed boundary) เป็นต้น
       (๒) หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ
       สนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ เป็นการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายแตกต่างจากที่เคยใช้ในวรรคสอง ของมาตรา ๑๖๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ และมาตรา ๑๗๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งใช้ข้อความว่า การเปลี่ยนแปลง “เขตอธิปไตยแห่งชาติ” ซึ่งเริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ทั้งนี้ เพื่อใช้บังคับกับอาณาบริเวณที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้รัฐมีเพียงสิทธิอธิปไตย (Sovereign Right) ในบางเรื่องเท่านั้น เช่น เขตไหล่ทวีป (Continental Shelf) อันเป็นอาณาเขตทางทะเลของรัฐชายฝั่ง (Coastal States) ซึ่งรัฐดังกล่าวมิได้มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์เหมือนกับอธิปไตยในดินแดนบนบก หรือในน่านน้ำภายในกับทะเลอาณาเขตและน่านฟ้า ทั้งนี้ รัฐชายฝั่งจะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอาณาเขตนั้นเฉพาะในเรื่องการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและในกิจกรรมอื่น ๆ
       บางประการเท่านั้น ซึ่งต่อมาวิวัฒนาการของกฎหมายทะเลก็ได้ขยายขอบเขตของสิทธิอธิปไตยออกไปในอาณาเขตทางทะเลอื่น ๆ เช่น เขตต่อเนื่องและเขตเศรษฐกิจจำเพาะซึ่งชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยในบางเรื่อง แต่เป็นกรณีสิทธิอธิปไตยที่ทับซ้อนกับสิทธิอธิปไตยเหนือเขตไหล่ทวีปและมีขอบเขตที่กว้างกว่า โดยรวมถึงห้วงน้ำ (water column) กระแสน้ำ ตลอดไปถึงกระแสลมเหนือผิวน้ำด้วย
       (๓) หนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา
       
สนธิสัญญาอีกประการหนึ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาคือ สนธิสัญญาที่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ซึ่งได้แก่ สนธิสัญญาที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับและต้องออกพระราชบัญญัติอนุวัติการเพื่อให้รัฐสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้ โดยกฎหมายดังกล่าวนี้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องที่ต้องออกกฎหมายอนุวัติการในระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น ไม่รวมถึงกฎหมายในระดับที่ต่ำกว่า เช่น กรณีที่มีพระราชบัญญัติรองรับสนธิสัญญานั้นอยู่แล้ว การต้องออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามสนธิสัญญาได้ก็ไม่จำต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาเพราะฝ่ายบริหารมีอำนาจในการออกพระราชกฤษฎีกาได้อยู่แล้วนั่นเอง
       
       ❋ ความหมายของคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ”
       

       ความหมายของคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” อาจเทียบเคียงได้กับถ้อยคำในภาษาอังกฤษว่า “Jurisdiction of State” หมายถึงการใช้เขตอำนาจของรัฐตามที่กฎหมายระหว่างประเทศรับรอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจของรัฐโดยอาศัย (๑) หลักดินแดน (territoriality principle) หรือหลักพื้นที่ (spatiality principle) (๒) หลักสัญชาติ (nationality principle) (๓) หลักป้องกัน (protective principle) (๔) หลักสากล (universality principle) และ (๕) หลักสนธิสัญญา (treaty principle) ดังนั้น คำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ตามมาตรา ๒๒๔ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หากพิเคราะห์ในทางกฎหมายระหว่างประเทศแล้วจะมีความหมายที่กว้างขวางมาก
       อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับก่อน ๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๗ เป็นต้นมานั้น มีการใช้คำว่า “เขตอธิปไตยแห่งชาติ” ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้คำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ และฉบับปัจจุบัน
       สาเหตุที่มีการใช้คำว่า “เขตอธิปไตยแห่งชาติ” (National Jurisdiction) ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับก่อน ๆ นั้นก็โดยเหตุเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีป ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ และต่อมาได้ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถใช้ “สิทธิอธิปไตย” (Sovereign rights) เหนือทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่มีชีวิต (living resources) และไม่มีชีวิต (non-living resources) ในเขตดังกล่าวได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ “เขตอำนาจ” (Jurisdiction) เหนือกิจกรรมบางประเภทในเขตดังกล่าว เช่น การสร้างและการใช้เกาะเทียม รวมทั้งสิ่งติดตั้งและโครงสร้างต่าง ๆ การวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล การคุ้มครองและการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งการใช้ “สิทธิ” (Rights) อื่น ๆ ซึ่งรัฐชายฝั่ง มีอยู่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ การเดินเรือ การใช้สิทธิไล่ตามติดพัน (Right of hot pursuit) และสิทธิอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๘๘ ถึงข้อ ๑๑๕ แห่งอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒ (United Nations Convention on The Law of the Sea) เช่น การปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด เป็นต้น
       ประเทศไทยนอกจากจะใช้ “สิทธิอธิปไตย” (Sovereign rights) เหนือทรัพยากรธรรมชาติในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีปแล้ว ประเทศไทยยังมี “เขตอำนาจ” (Jurisdiction) เหนือกิจกรรมต่าง ๆ และ “สิทธิ” (Rights) อื่น ๆ บางประการ ในการใช้ทรัพยากรเหนือพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ จึงใช้คำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” แทน ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึง “สิทธิอธิปไตย” (Sovereign rights) "เขตอำนาจ” (Jurisdiction) และ “สิทธิ” (Rights) อื่น ๆ ทั้งหมดที่ประเทศไทยพึงมีในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีปอีกด้วย
       ดังนั้น “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ” และจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา อาทิเช่น หนังสือสัญญาที่กำหนดเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือเขตไหล่ทวีประหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
       
       ❋ ตาราง : แสดงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับหนังสือสัญญา
       ที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
       

       ๑.
       พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ -
       ๒. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ “หนังสือสัญญาใด ๆ มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์สยาม หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาไซร้ ท่านว่าต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร” (มาตรา ๕๔ วรรคสาม)
       ๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์ไทยหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา” (มาตรา ๗๖ วรรคสอง)
       ๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐ -
       ๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์ไทยหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา” (มาตรา ๑๕๔ วรรคสอง)
       ๖. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร” (มาตรา ๙๒ วรรคสอง)
       ๗. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒ -
       ๘. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๐ “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา” (มาตรา ๑๕๐ วรรคสอง)
       ๙. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ -
       ๑๐. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอธิปไตยแห่งชาติ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา หรือสนธิสัญญาพันธมิตรทางทหาร ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา” (มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง)
       ๑๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๙ -
       ๑๒. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐ -
       ๑๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอธิปไตยแห่งชาติ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา” (มาตรา ๑๖๒ วรรคสอง)
       ๑๔. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔ -
       ๑๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา” (มาตรา ๑๗๘ วรรคสอง)
       ๑๖. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา” (มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง)
       
       ❋ เจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา ๒๒๔ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
       

       คำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ได้มีการเริ่มต้นใช้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ โดยศาสตราจารย์ ดร. อรุณ ภานุพงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (พุทธศักราช ๒๕๑๗) ได้อธิบายความหมายและเจตนารมณ์ที่ท่านได้บรรจุแนวความคิดเกี่ยวกับ “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ในขณะนั้นประเทศต่าง ๆ ที่เป็นรัฐชายฝั่งต่างอ้างสิทธิของรัฐตนเหนือไหล่ทวีปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในกรณีของอ่าวไทยนั้น ประเทศเวียดนามได้ประกาศเขตไหล่ทวีปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ประเทศกัมพูชา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ส่วนประเทศไทยได้มีการประกาศเขตไหล่ทวีปในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิที่ประเทศไทยมีอยู่และเป็นการโต้แย้งสิทธิของรัฐอื่น ๆ ที่ล่วงล้ำเข้ามาในอาณาเขตของประเทศไทยด้วย ดังนั้น ศาสตราจารย์ ดร. อรุณ ภาณุพงศ์ จึงเสนอให้มีการบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ ว่าหากประเทศไทยสามารถดำเนินการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านได้ว่าอาณาเขตทางทะเลมีข้อยุติอย่างไร ก็ให้จัดทำในรูปของสนธิสัญญา และสนธิสัญญาดังกล่าวให้เรียกชื่อว่า “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอธิปไตยแห่งชาติ” สาเหตุที่ใช้คำว่า “อธิปไตย” เนื่องจากในขณะนั้นกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลยังอยู่ในระหว่างการยกร่างโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และเมื่อได้มีการยกร่างอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเสร็จสิ้นแล้ว ในปี ค.ศ. ๑๙๘๒ จึงทำให้เกิดหลักเกณฑ์ในการกำหนดเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะได้อย่างชัดเจนแน่นอน และถือว่าอำนาจของรัฐต่าง ๆ ที่มีอยู่ในอาณาเขตดังกล่าวเป็น "อำนาจในทางกฎหมาย” (Jurisdiction) มิใช่ “อำนาจอธิปไตย” (Sovereignty) จึงได้เปลี่ยนแปลงถ้อยคำให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ระหว่างประเทศยิ่งขึ้นโดยใช้คำว่า “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ” ในมาตรา ๑๗๘ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ และปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๒๔ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
       
       ❋ ปัญหาการตีความความหมายของคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ”
       

       ปัญหาในการตีความความหมายของคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ตามบทบัญญัติในมาตรา ๒๒๔ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ นั้น ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นและมีการตีความถ้อยคำดังกล่าวออกเป็นหลายแนวทาง เช่น เห็นว่าความหมายของคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “อำนาจอธิปไตย” ซึ่งประกอบด้วยอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ดังนั้น หนังสือสัญญาใดที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในทุกประเภท หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจนิติบัญญัติจะต้องดำเนินการขอความเห็นชอบของรัฐสภาทั้งสิ้น หรือเห็นว่าความหมายของคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” นั้น จะต้องกล่าวเฉพาะในบริบทของระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยเท่านั้น หากสนธิสัญญาใดไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ส่งผลกระทบต่ออาณาเขตทางทะเลของประเทศไทย ก็ไม่ต้องดำเนินการให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ เว้นแต่จะเป็นหนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา
       สำหรับตัวอย่างการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างในการตีความคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” นั้น กรณีศึกษาที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาการตีความในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๓/๒๕๔๓
       
โดยฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า “อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มาตรา ๑๕ วรรคสอง บัญญัติว่า รัฐภาคีจะต้องพยายามอำนวยความเป็นไปได้ในการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมจากรัฐภาคีอื่นเพื่อการใช้ที่เหมาะสมแก่สิ่งแวดล้อมและจะต้องไม่กำหนดข้อจำกัดใดที่เป็นไปในแนวทางที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา ฯ โดยที่การเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเหมาะสมเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของอนุสัญญา ฯ ดังนั้น จะเห็นว่าในปัจจุบันกฎหมายต่าง ๆ ของไทย กำหนดระบบอนุญาตไว้สำหรับการเข้าถึงพันธุ์พืช สัตว์บก และสัตว์น้ำ เช่น พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๙ และพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งหลักการของระบบการอนุญาตคือ ผู้อนุญาตมีอำนาจใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรจะอนุญาตหรือไม่ก็ได้ แต่เมื่อใดที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแล้ว เนื้อหาของบทกฎหมายไทยจะต้องแปรเปลี่ยนไป โดยในการใช้ดุลพินิจพิจารณาจะต้องเป็นไปในทางอนุญาตเสมอหากกรณีดังกล่าวไม่เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตามผลบังคับของอนุสัญญา ฯ ดังนั้น การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฯ จึงมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของกฎหมายไทย โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงการกระทำของรัฐในทางนิติบัญญัติ อันมีผลระดับเดียวกับการต้องมีกฎหมายบังคับเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญา ฯ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๔ ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ในทางนิติบัญญัติ จึงต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”
       สำหรับความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวคือ กระทรวงการต่างประเทศมีความเห็นว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” ตามมาตรา ๒๒๔ วรรคสองนั้นจะต้องพิจารณาเฉพาะในบริบทของกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยเท่านั้น กล่าวคือ “คำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” เป็นคำที่มีความหมายเฉพาะเป็นพิเศษ ซึ่งปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในการยกร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๓๔ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ ใช้คำว่า
       “เขตอธิปไตยแห่งชาติ”) หมายถึง เขตหรือพื้นที่ในทะเล ซึ่งอยู่นอกอาณาเขตหรือดินแดนของราชอาณาจักรไทย โดยเป็นเขตหรือพื้นที่ที่ประเทศไทยมีเพียงสิทธิอธิปไตย และมีอำนาจบางประการอย่างจำกัด เท่าที่กฎหมายระหว่างประเทศรับรองไว้ เมื่อประกาศเขต ๒๐๐ ไมล์ทะเลแล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต การสร้างเกาะเทียม การวิจัยทางทะเล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เขตอำนาจแห่งรัฐดังกล่าวเหล่านี้ หมายถึง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ และเขตไหล่ทวีป ดังนั้น คำว่า “เปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ” ตามที่ปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจึงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงขอบเขตของพื้นที่ในทะเล เช่น กว้างหรือแคบกว่าขอบเขตของพื้นที่ในทะเลที่ประเทศไทยเคยประกาศไว้หรือกำหนดไว้แต่เดิมเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับกรณีของข้อ ๑๕ วรรคสอง ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากล่าวอ้าง”
       ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยคำร้องของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ ในประเด็นเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๔ วรรคสอง หรือไม่นั้น ในทางเดียวกันกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวคือ เห็นว่าอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ ทั้งนี้ เนื่องจากการที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มาตรา ๑๕ กำหนดให้รัฐภาคีจะต้องพยายาม (endeavor) สร้างสภาพการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการที่รัฐภาคีอื่น ๆ จะสามารถเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมตนได้ จึงมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐในการใช้และควบคุมการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมของตน ดังนั้น การให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้จึงต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง
       ปัญหาการตีความคำว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” นั้น ยังส่งผลกระทบต่อกิจการระหว่างประเทศในด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน และยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายกรณีว่าความตกลงระหว่างประเทศบางฉบับเป็นกรณีที่จะต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่โดยเฉพาะความตกลงว่าด้วยการก่อตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ เป็นต้น
       
       ❋ ตาราง : แสดงผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๓/๒๕๔๓
       

       
       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
       ที่มา ผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
       
       ๑. นายประเสริฐ นาสกุล ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ต้องได้รับความเห็นชอบ
       ๒. นายโกเมน ภัทรภิรมย์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ต้องได้รับความเห็นชอบ
       ๓. นายจุมพล ณ สงขลา ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ยกคำร้อง
       ๔. พลโท จุล อติเรก ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ต้องได้รับความเห็นชอบ
       ๕. นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ยกคำร้อง
       ๖. นายมงคล สระฎัน ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ต้องได้รับความเห็นชอบ
       ๗. นายสุจิต บุญบงการ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ต้องได้รับความเห็นชอบ
       ๘. นายสุจินดา ยงสุนทร ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์  ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบ
       ๙. นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ต้องได้รับความเห็นชอบ
       ๑๐. นายอนันต์ เกตุวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์
       ๑๑. นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์  ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบ
       ๑๒. นายอุระ หวังอ้อมกลาง ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบ
       รวม ต้องได้รับความเห็นชอบ๗ เสียง ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบ ๓เสียง ยกคำร้อง ๒ เสียง
       
       ❋ บทวิเคราะห์
       
       จากการศึกษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความหมายของ “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ” นั้น มิอาจที่จะตีความเป็นอย่างอื่นได้นอกจากบริบทของระบบกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากอำนาจในการทำสนธิสัญญาเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเป็นสำคัญ สำหรับขั้นตอนในการให้ความเห็นชอบของรัฐสภาถือเป็นข้อยกเว้น ซึ่งได้กำหนดไว้เพียงหนังสือสัญญาบางประเภทที่มีความสำคัญและเป็นการสมควรที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะเข้ามาตรวจสอบและให้คำแนะนำในการเข้าทำหนังสือสัญญานั้น ๆ ของฝ่ายบริหาร โดยหลักการดังกล่าวได้มีการบัญญัติไว้คล้ายคลึงกันในรัฐธรรมนูญของทุกประเทศ
       ผลกระทบของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๓/๒๕๔๓ ทำให้เกิดปัญหาเป็นอย่างมากสำหรับการดำเนินการของส่วนราชการต่าง ๆ ในทางปฏิบัติเพราะต่อไปนี้สนธิสัญญาเกือบทุกฉบับที่ฝ่ายบริหารได้เตรียมตัวที่จะเข้าทำความตกลงหรือได้ดำเนินการให้สัตยาบันไปแล้วจะต้องเข้าสู่กระบวนการขอความเห็นชอบของรัฐสภาทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพราะสนธิสัญญาเกือบทุกฉบับที่ฝ่ายบริหารเข้าทำกับต่างประเทศย่อมมีผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐ โดยเฉพาะอำนาจนิติบัญญัติ การตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวว่ารัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพจะต้อง “พยายาม” (endeavor) สร้างสภาพการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงทรัพยากรมีผลเท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภานั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นการตีความที่ขัดกับเจตนารมณ์ของมาตรา ๒๒๔ วรรคสองอย่างยิ่ง การตีความว่าหนังสือสัญญาใดที่ส่งผลกระทบต่ออำนาจนิติบัญญัติก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐแล้วนั้น ทำให้ความหมายของ “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ” ไม่มีกรณีที่จะต้องใช้อีกต่อไป และผลของการตีความดังกล่าวจะตกอยู่กับหนังสือสัญญาประเภทที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาทั้งหมด นอกจากนี้ ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยปริยาย เพราะได้เปลี่ยนแปลงหลักการที่ประเทศไทยได้ยึดถือมาโดยตลอดว่าฝ่ายบริหารเท่านั้นที่มีอำนาจในการเข้าทำสนธิสัญญาโดยฝ่ายนิติบัญญัติจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาเฉพาะในกรณีสำคัญตามที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น
       อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอำนาจในการทำสนธิสัญญาจะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร
       โดยฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่เพียงให้ความเห็นชอบหรือให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเข้าผูกพันเป็นภาคีในสนธิสัญญาที่มีความสำคัญตามที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ก็ตาม แต่การทำสนธิสัญญาในบางกรณีก็มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในหลาย ๆ ด้านที่ฝ่ายบริหารควรที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนปวงชนชาวไทยทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
       ตัวอย่างเช่น ความตกลงก่อตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ ทั้งนี้ อาจดำเนินการผ่านช่องทางตามมาตรา ๒๑๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและเห็นสมควรที่จะรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา โดยนายกรัฐมนตรีจะต้องแจ้งไปยังประธานรัฐสภาเพื่อขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์จากสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับผลได้ผลเสียในด้านต่าง ๆ ของประเทศแล้ว ยังถือเป็นการสร้างความชอบธรรม ความโปร่งใส และการดำเนินการที่สามารถตรวจสอบได้ของฝ่ายบริหารอีกด้วย.
       
       ❋ เอกสารอ้างอิง
       
       จตุรนต์ ถิรวัฒน์, กฎหมายระหว่างประเทศ, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๗.
       จุมพต สายสุนทร, กฎหมายระหว่างประเทศ เล่ม ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๔ กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๖.
       จุมพต สายสุนทร, กฎหมายระหว่างประเทศ เล่ม ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๔ กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๖.
       จุมพต สายสุนทร, การยอมรับและการใช้บังคับสนธิสัญญาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของรัฐ, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ ๓๑ เล่ม ๔ เดือนธันวาคม ๒๕๔๔.
       นพนิธิ สุริยะ, ก่อนที่จะมาเป็นมาตรา ๒๒๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และปัญหาที่ตามมาหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๓/๒๕๔๓, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ ๓๒ เล่ม ๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๕.
       นพนิธิ สุริยะ, หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ : ความหมายและทางปฏิบัติของประเทศไทย, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ ๒๘ ฉบับที่ ๒ เดือนมิถุนายน, ๒๕๔๑.
       ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, ปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาในทางปฏิบัติอันเป็นผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ ๓๐ เล่ม ๔ เดือนธันวาคม ๒๕๔๓.
       ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, สนธิสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย, เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการประจำปี ครั้งที่ ๑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๘.
       ประสิทธิ์ เอกบุตร, กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง เล่ม ๑ : สนธิสัญญา, พิมพ์ครั้งที่ ๑ โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นราการพิมพ์, ๒๕๓๔.
       ประสิทธิ์ เอกบุตร, กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง เล่ม ๒ : รัฐ, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๗.
       คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๓/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๓ เรื่อง อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง หรือไม่, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๖๘ ก หน้า ๗๑ วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๔
       
       ❋❋❋❋❋❋


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544