หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 69
14 ธันวาคม 2547 18:21 น.
"ความผิดต่อแผ่นดินไม่ควรมีอายุความ"
       ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับรองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุดที่ไปรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีครับ
       นักกฎหมายมหาชนส่วนใหญ่คงรู้จักชื่อเสียงของอาจารย์โภคิน ฯ เป็นอย่างดี เมื่อครั้งที่อาจารย์ยังเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิยาลัยอยู่ ทุกคนก็พูดคล้ายกันว่า อาจารย์เป็นคนที่มี “พรสวรรค์"”ในการที่ทำสิ่งที่เข้าใจยากให้กลายเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายได้ เมื่ออาจารย์เข้าไปช่วยงานทางการเมืองในตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรี อาจารย์ก็ทุกเทเวลาให้กับการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานหลายแห่งจนหน่วยงานเหล่านั้นสามารถปฏิบัติงานได้ราบรื่นขึ้น เมื่ออาจารย์เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีสองครั้ง ก็มีกฎหมายสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการผลักดันของอาจารย์หลายฉบับ เช่น กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง รวมทั้งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องประชาพิจารณ์ด้วย และเมื่ออาจารย์ไปดำรงตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด อาจารย์ก็เป็น “เสาหลัก” ที่สำคัญของศาลปกครอง ในวันนี้เมื่ออาจารย์ตัดสินใจไปรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็คงต้องขอเอาใจช่วยอาจารย์และรอดูผลงานกฎหมายใหม่ ๆ ที่อาจารย์จะ “ผลิต” ออกมา เพื่อประเทศชาติและประชาชนต่อไปครับ pub-law.net ของแสดงความยินดีกับอาจารย์ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง
       ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องที่ทำให้ผมแปลกใจอยู่เรื่องหนึ่งคือ กรณีคุณรักเกียรติ ฯ อดีตรัฐมนตรีที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้จำคุก แล้วคุณรักเกียรติ ฯ ก็หลบหนีไป ข่าวดังกล่าวเงียบหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์แล้วครับ!!! ผมได้เคยกล่าวไว้ในบทบรรณาธิการก่อนหน้านี้แล้วว่า คดีนี้เป็นคดี “ตัวอย่าง” ที่สะท้อนให้เห็นถึงการ “คอรัปชั่น” ของนักการเมืองที่ฝังรากลึกและมีการดำเนินการเป็นขบวนการสืบต่อกันเป็นทอด ๆ ก็คงต้องฝากเรื่องนี้ไว้กับสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปอีกครั้งหนึ่งครับ ความผิดฐาน “โกงแผ่นดิน” นั้น ไม่ควรจะมีอายุความครับ แม้ว่าจะจับไม่ได้ไล่ทันก็ตาม แต่สังคมก็ควรจะเฝ้า “ติดตาม” พฤติกรรมของผู้ที่ “ขึ้นชื่อ” เหล่านี้ว่า เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วมีความเป็นอยู่อย่างไร ลูกหลานใช้เงินกันสุรุ่ยสุร่ายขนาดไหน เพราะเงินเหล่านี้เป็นเงินที่ได้มาจากการ “โกงแผ่นดิน” ทั้งนั้นครับ ไม่ว่าเวลาจะผ่านนานแค่ไหนกี่ชั่วคนก็ตาม เงินและสิ่งต่าง ๆ ที่เคยเป็นของแผ่นดิน หรือควรเป็นของแผ่นดิน จะต้องกลับมาเป็นของแผ่นดินตามเดิมครับ ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่สังคมควรสนใจและให้ความสำคัญก็คือ การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มนักการเมืองบางกลุ่มที่มีการทำงานกันเป็นระบบ กรณีคุณรักเกียรติ ฯ อาจเป็นกรณีตัวอย่างที่คุณรักเกียรติ ฯ ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานโกงแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาล คงต้องไปฟื้นฝอยหาตะเข็บดูว่าตอนคุณรักเกียรติ ฯ ทำผิดนั้น คุณรักเกียรติ ฯ อยู่พรรคการเมืองไหน ใครเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ใครเป็นนายกรัฐมนตรี และใครเป็นผู้อุปถัมภ์ทางการเมืองของคุณรักเกียรติ ฯ “สังคมวิทยาทางการเมือง” เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุ ที่มา แล้วพฤติกรรมของคุณรักเกียรติ ฯ เพื่อให้ทราบถึงตัวผู้ที่จะต้องร่วมรับผิดชอบในการกระทำผิดของคุณรักเกียรติ ฯ ครับ เป็นหน้าที่ของคนไทยและสื่อมวลชนที่รักชาติจะร่วมกันตรวจสอบเพื่อให้ทราบถึงผู้ที่มีส่วนร่วมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจากการทุจริตของคุณรักเกียรติ ฯ และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจากการทุจริตของคุณรักเกียรติ ฯ ครับ
       กลับมาสู่ pub-law.net กันดีกว่าครับ ผมตั้งหลักได้แล้วหลังจากที่ “หนีงาน” มาพักหนึ่ง ในสัปดาห์นี้ เรามีการแนะนำหนังสือใหม่ ๆ หลายเล่มใน “หนังสือตำรา” เรามีการตอบคำถามจำนวนหนึ่งใน “เวทีทรรศนะ” และที่สำคัญ เรามีบทความถึง 3 บทความครับ บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “นิติรัฐกับประชาสังคม” ของรองศาสตราจารย์โภคิน พลกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้กรุณามอบให้กับ pub-law.net เป็นพิเศษ บทความนี้เป็นบทความที่ได้เขียนขึ้นเพื่ออธิบายถึงระบบนิติรัฐกับประชาสังคมไทย โดยแยกสาระสำคัญออกเป็น 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือ กรอบหรือกติการะดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับระบบนิติรัฐและประชาสังคม ประเด็นที่สองเป็นเรื่อง หลักประกันในดุลยภาพระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และประเด็นที่สามคือ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและค่าใช้จ่าย บทความที่สองเป็นเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง การเลือกกรรมการสรรหา กสช. ภายหลังที่มีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนมติของคณะกรรมการสรรหา ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ บิดาแห่งกฎหมายมหาชนไทยครับ เอกสารนี้เป็นเอกสารที่ท่านอาจารย์อมร ฯ เขียนขึ้นเพื่อเป็น “ความเห็นแย้ง” ของกรรมการในคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว โดยในตอนต้นของเอกสารนั้น ดร.บรรเจิด สองคะเนติ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กรุณาสรุปความเป็นมาของเอกสารดังกล่าวให้ทราบอย่างสั้น ๆ ครับ เพื่อความสมบูรณ์ของการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการสรรหา กสช. ผมขอแนะนำให้อ่านหนังสือของสำนักงานศาลปกครองในเรื่องที่เกี่ยวข้องและใกล้เคียงกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเลือก กสช. นั่นคือหนังสือเรื่อง “คดีการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ฉบับสมบูรณ์)” ด้วยครับ ส่วนบทความที่สามเป็นบทความตอนที่ 7 ของผมเรื่อง “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายปกครองฝรั่งเศส” ครับ
       หวังบทความทั้งสามและสาระต่าง ๆ ในสัปดาห์นี้ คงเป็นที่พอใจของผู้ใช้บริการทุกคนนะครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544