หน้าแรก บทความสาระ
แถลงการณ์ประธานรัฐสภา เรื่อง การสรรหากรรมการ ป.ป.ช.
นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา
9 มกราคม 2549 00:49 น.
 
แถลงการณ์ประธานรัฐสภา
       เรื่อง การสรรหากรรมการ ป.ป.ช.
       -----------------------
       ตามที่ได้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน ๓๙ คน ร้องขอให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพี่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. นั้น ประธานรัฐสภาได้พิจารณาแล้วมีความเห็น ดังนี้
       
       ๑. รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรนั้น หรือประธานรัฐสภา เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย” จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ก็ดี วุฒิสภา ก็ดี มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณา ดังนี้
       ๑.๑ คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. และวุฒิสภา เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ที่ ๕๘-๖๒/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ และคำวินิจฉัยที่ ๓๘/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ว่า “ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หมายถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ และกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. และวุฒิสภา จึงเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามความหมายในรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๖
       ๑.๒ กรณีตามคำร้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๕๔/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๒ เกี่ยวกับลักษณะของกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญว่า หมายถึง (๑) ลักษณะของการมีปัญหาว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรใดองค์กรหนึ่ง มีอำนาจกระทำการในเรื่องใด เรื่องหนึ่ง หรือไม่เพียงใด หรือ (๒) ลักษณะของการที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่สององค์กรขึ้นไปมีปัญหาข้อโต้แย้งกันว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งใช้อำนาจหน้าที่ล่วงล้ำหรือกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ของอีกองค์กรหนึ่ง
       
เมื่อคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. และวุฒิสภา ต่างเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องพิจารณาว่า
       (๑) คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจกระทำการในการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ เมื่อคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเลือกและให้เสนอบัญชีรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน ๑๘ คน ต่อประธานวุฒิสภาตามที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนด จึงไม่มีข้อเท็จจริงหรือประเด็นใดที่ชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตนในการดำเนินการดังกล่าว
       (๒) วุฒิสภา มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจกระทำการในการเลือกกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ เมื่อคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอบัญชีรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน ๑๘ คน ต่อประธานวุฒิสภา วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติ แล้วพิจารณาเลือกกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน ๙ คน จากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. เสนอ ตามที่รัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนด จึงไม่มีข้อเท็จจริงหรือประเด็นใดที่ชี้ให้เห็นว่าวุฒิสภามีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตนในการดำเนินการดังกล่าวเช่นกัน
       (๓) คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. และวุฒิสภามีปัญหาข้อโต้แย้งกันว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่งได้ใช้อำนาจหน้าที่ล่วงล้ำหรือกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ของอีกองค์กรหนึ่งหรือไม่
       เมื่อคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ได้เสนอบัญชีรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ต่อประธานวุฒิสภาแล้ว วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ได้รับการเสนอชื่อ และเสนอรายงานเพื่อประกอบการพิจารณาของวุฒิสภา การที่วุฒิสภาเลือกกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน ๙ คน จากบัญชีรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ
       ป.ป.ช. ที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ จึงไม่มีปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่ล่วงล้ำ หรือกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. กับวุฒิสภา
       (๔) การที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อถอนตัวจากการเข้ารับการสรรหา ๑ คน และวุฒิสภาได้เลือกกรรมการ ป.ป.ช. ๙ คน จากบัญชีรายชื่อที่เหลือจำนวน ๑๗ คน ซึ่งผู้เข้าชื่อร้องขออ้างว่าการเลือกกรรมการ ป.ป.ช. ของวุฒิสภา ดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยอ้างแนวทางปฏิบัติของวุฒิสภาในการเลือกกรรมการ ป.ป.ช. ในปี ๒๕๔๑ และการเลือกกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในปี ๒๕๔๒ ว่าเมื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อขอถอนตัว วุฒิสภาจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมให้ครบจำนวนตามที่กำหนด นั้น เห็นว่าเมื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ขอถอนตัว ทำให้ผู้สมควรได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เหลือไม่ครบจำนวน ๑๘ คน ตามที่คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. เสนอ ย่อมเป็นอำนาจของวุฒิสภาที่จะพิจารณาว่าจะเลือกกรรมการ ป.ป.ช. ๙ คน จากบัญชีรายชื่อที่เหลือ หรือจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการสรรหารกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมให้ครบจำนวน ๑๘ คนก็ได้ และเมื่อวุฒิสภามีมติเลือกกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ต้องถือว่าวุฒิสภามิได้มีปัญหาว่ามีอำนาจกระทำการในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ อีกทั้ง วุฒิสภาก็มิได้มีปัญหาข้อโต้แย้งกับคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ในประเด็นนี้
       (๕) การที่สมาชิกวุฒิสภา ๓๙ คน มีความสงสัยกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ที่ดำเนินการ โดยคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. และวุฒิสภา นั้น ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพราะสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว มิใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนวุฒิสภา เพราะการพิจารณาลงมติของวุฒิสภาเป็นการยากที่วุฒิสภาจะมีมติเป็นเอกฉันท์ รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๖ จึงกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากในการวินิจฉัยชี้ขาด ดังนั้นแม้ว่าฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยกับมติของวุฒิสภา แต่ก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หากให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาร้องขอให้เสนอความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติได้โดยไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ความสงสัยในกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว จึงมิใช่ปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการใช้อำนาจล่วงล้ำหรือกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. กับวุฒิสภา
       
       ๒. ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ ๔๔/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๗ เกี่ยวกับปัญหาการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งประธานรัฐสภาได้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา ๕๔ คน ว่า มติของคณะกรรมการสรรหาในการวินิจฉัยว่า “อธิบดีหรือเทียบเท่า” ให้หมายถึงผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ ๑๐ โดยไม่คำนึงถึงการบริหารงานว่าเทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดีหรือไม่นั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ (๓) หรือไม่ ศาลรัฐธรมนูญได้วินิจฉัยว่า คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๖ ได้ จะต้องเป็นคำร้องที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น และเห็นว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๗ บัญญัติให้มีขึ้นและบัญญัติอำนาจหน้าที่ไว้ ได้ดำเนินการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. โดยมีมติเกี่ยวกับคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัครและผู้ได้รับการเสนอชื่อที่มีตำแหน่งเป็นอธิบดีหรือเทียบเท่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ (๓) ไปแล้ว กรณีจึงเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญแปลความ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ (๓) ซึ่งคณะกรรมการสรรหาได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. เกิดขึ้น และวุฒิสภาซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นองค์กรที่รับการเสนอชื่อของผู้ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาเลือกต่อไป ตลอดจนผู้สมัครและผู้ได้รับการเสนอชื่อต่างก็มิได้มีข้อสงสัยในอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง และ วุฒิสภาก็ได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ของตนเรียบร้อยแล้ว จึงไม่เป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. หรือวุฒิสภา ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖
       
คำวินิจฉัยที่ ๔๔/๒๕๔๗ ของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีประเด็นทำนองเดียวกับคำร้องที่สมาชิกวุฒิสภา ๓๙ คน เข้าชื่อร้องขอ เมื่อ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ เพื่อขอให้ประธานรัฐสภาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๖ เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
       
       ๓. คำร้องขอให้ส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในครั้งนี้ ผู้ร้องอ้างว่าเป็นกรณีเทียบเคียงกับการเข้าชื่อเสนอความเห็นให้ประธานสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา สามารถเข้าชื่อเสนอต่อประธานสภาเพื่อเสนอความเห็นนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๒ เพราะถือว่าการพิจารณาเลือกกรรมการ ป.ป.ช. กับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นการพิจารณาญัตติที่มีความสำคัญในระดับเดียวกัน
       ประเด็นนี้เป็นเรื่องการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน จำเป็นต้องนำหลักกฎหมายมหาชนมาใช้ในการวินิจฉัย กล่าวคือ กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไปพร้อม ๆ กับจำกัดอำนาจนั้นไปในตัว ด้วยเหตุนี้ปรัชญาหรือหลักกฎหมายมหาชน จึงถือว่า “เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจ (รัฐ หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ) ไว้ จะกระทำมิได้” อันต่างจากหลักกฎหมายแพ่งที่ถือว่า “เมื่อไม่มีกฎหมายห้าม (บุคคล) ย่อมกระทำได้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นการพ้นวิสัย”
       ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญมิได้มีบทบัญญัติให้นำมาตรา ๒๖๒ ของรัฐธรรมนูญมาใช้โดยอนุโลม ประธานรัฐสภาจึงนำวิธีการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๒ มาใช้กับการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้
       

       ๔. รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๑ วรรคสี่ กำหนดให้ประธานรัฐสภาต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้ การใช้อำนาจของประธานรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๖ จะต้องไม่เป็นการล่วงล้ำ หรือกระทบกระเทือนองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจโดยตรง และกรณีนี้ หากคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. หรือวุฒิสภา เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. และวุฒิสภาอาจปรึกษาหารือกันเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้
       ทั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. และวุฒิสภา ต่างก็สามารถเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๖ อยู่แล้ว
       ดังนั้น กรณีขอให้ส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกระบวนการได้มาซึ่งกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่สมาชิกวุฒิสภา ๓๙ คน เข้าชื่อร้องขอ จึงไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภาจะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้
       

       จึงขอแถลงให้ทราบโดยทั่วกัน
       (นายโภคิน พลกุล)
       ประธานรัฐสภา
       ธันวาคม ๒๕๔๘


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544