หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 72
15 ธันวาคม 2547 13:54 น.
"ร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ที่ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย:ใครต้องรับผิดชอบครับ!"
       สองสัปดาห์สุดท้ายของปี พ.ศ.2546 คงเป็นสองสัปดาห์ที่ “เหนื่อยที่สุด” ของรัฐบาลนะครับ ก็อย่างที่เราทั้งหลายทราบกันดีอยู่แล้วว่าร่างกฎหมาย “ผิดอีกแล้ว” !!! ครับ
       เมื่อเดือนที่ผ่านมา หลาย ๆ คนคงยังจำได้ไม่ลืมว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายสองฉบับคือ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบหกรอบ 12 สิงหาคม 2546 พ.ศ. .... เนื่องจากมี “ข้อผิดพลาด” ในร่างกฎหมาย เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็เกิดปัญหาทำนองเดียวกันนี้อีกกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. .... แต่ความแตกต่างมีอยู่คือ ร่างกฎหมายฉบับหลังนี้ถูกตรวจพบข้อผิดพลาดก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย โดยผู้ตรวจพบคือ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีครับ
       เราคงไม่พูดถึงความผิดพลาดครั้งแรก เพราะเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้แต่เพียงว่าร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู ฯ เกิดข้อผิดพลาดขึ้นเพราะมติของรัฐสภาผิดพลาด ส่วนร่างพระราชบัญญัติเหรียญเฉลิมพระเกียรติ ฯ เกิดข้อผิดพลาดขึ้น เพราะผู้ยกร่างคือกรมธนารักษ์บรรยายลักษณะของเหรียญมาผิด!!! เราคงมานั่งพิจารณากันเฉพาะความผิดพลาดครั้งหลังคือ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. .... ครับ ความผิดพลาดครั้งหลังนี้ทำให้หลายคนออกมาพูดออกมาแสดงความคิดเห็นทันทีครับ โดยเท่าที่รับฟังและอ่านพบคงมีความเห็นอยู่สองประการเกี่ยวกับ “ความผิดซ้ำซาก” ครั้งนี้คือ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น กับควรจะทำอย่างไรกับร่างกฎหมายฉบับหลังดี
       ผมคงไม่ลงไป “ร่วม” แสดงความคิดเห็นส่วนตัวทันทีครับ แต่ผมอยาก “บันทึก” ไว้ ณ ที่นี้ด้วย ถึง“ความเห็น” ของนายกรัฐมนตรีที่ได้แสดงไว้เมื่อพบว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยราชภัฏครับ ท่านผู้นำของเราบอกว่า “เรื่องนี้เป็นความบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกฝ่ายอาจเร่งรีบอยากให้กฎหมายออกมาใช้เร็ว ๆ จึงมีข้อบกพร่องไปบ้าง.......... ............เอาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านดีกว่า เรื่องอย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์กับใครเลย.......... .............เรื่องนี้มัวแต่มาชักเย่อกันให้เสียเวลา อย่าเอาเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่”
       พิจารณาดู “วาทะ” ของท่านผู้นำแล้วก็บังเกิดความรู้สึกแปลก ๆ แต่อย่างไรก็ตามผมคงไม่ “อาจเอื้อม” ไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรท่านผู้นำทั้งสิ้น ก็อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่แหละครับว่า นักวิชาการในสมัยนี้ย่อมต้องรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร!! แต่สิ่งที่ผมอยากจะกล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ก็คือ ระบบการผลิตกฎหมายของเราครับ
       ทุกคนคงทราบและเข้าใจดีเช่นที่ผมทราบและเข้าใจ (ทุกคนในที่นี้ย่อมหมายรวมถึงสมาชิกรัฐสภาด้วยนะครับ !!) ว่า หน้าที่ของสมาชิกรัฐสภานั้นคืออะไร? คงไม่จำเป็นต้องมานั่งแจงว่าหน้าที่ทั้งหลายของสมาชิกรัฐสภานั้นมีอะไรบ้าง เราพิจารณากันเฉพาะหน้าที่หลักของสมาชิกรัฐสภาในฐานะที่เป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติกันดีกว่านะครับว่า คือหน้าที่ในการจัดทำกฎหมายออกมาใช้ในประเทศ หน้าที่หลักของสมาชิกรัฐสภานี้ถือว่าเป็น “สากล” เพราะก็เป็นเหมือนกันทุกประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยครับ เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเข้ามา คนเหล่านี้ก็จะหอบหิ้วกระเป๋าเดินทาง ทิ้งถิ่นที่อยู่ของตนมุ่งหน้ามาสู่รัฐสภา เพื่อ “ผลิต” กฎหมายที่จำเป็นสำหรับประเทศออกมาใช้ครับ!! ขอย้ำว่านี่คือหน้าที่หลักของสมาชิกรัฐสภาครับ!! สมาชิกรัฐสภาของเราก็มีหน้าที่ดังที่กล่าวไปแล้วเช่นกัน ผมไม่อยากก้าวไปไกลเพื่อไปพูดถึง “คุณสมบัติ” ของคนที่จะมาเป็นสมาชิกรัฐสภาว่า ควรจะต้องเป็นนักกฎหมายระดับสูงและมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระดับสูง เพราะต้องมา “ผลิต” กฎหมายใช้สำหรับคนทั้งประเทศ เพราะประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ผมอยากจะขอให้เราลองพิจารณาดูว่า สมาชิกรัฐสภาซึ่งทำงานสัปดาห์ละบางวันคือ วันประชุมสภาและวันประชุมกรรมาธิการ และมีรายได้จำนวนมากต่อเดือนนั้น ได้ทำหน้าที่หลักของตนดีแล้วหรือไม่ อย่างไร ข้อผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ครับ เรื่องนี้คงไม่มีใครเถียง แต่ข้อผิดพลาดที่มีผลกระทบต่อคน 60 กว่าล้านคนนั้น ควรเกิดขึ้นหรือไม่ ควรที่คนรับอาสาเข้ามาผลิตกฎหมายจะ “ไม่ละเอียด” ถึงขนาดแล้วปล่อยปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับคนอีก 60 ล้านคนหรือไม่ เรื่องนี้คงมีคนตอบได้อยู่ในใจแล้วนะครับ สมัยผมรับราชการอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อปี พ.ศ.2530-2533 ผมยังจำได้ว่า ผมซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยคนหนึ่งได้ตรวจร่างกฎกระทรวงฉบับหนึ่งแล้วมีข้อผิดพลาดขึ้นคือ มีการพิมพ์ผิด 1 ตัว ผมไม่ลืมเลยว่าผมถูกเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้นคือ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เรียกไปอบรมอยู่กว่าครึ่งชั่วโมง โดยมีประเด็นหลักในการอบรมครั้งนั้นคือ ผมคงไม่สามารถเป็นนักกฎหมายที่ดีได้ถ้าไม่ละเอียดรอบคอบ!!
       เมื่อพิจารณาถึง “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดขึ้นแล้ว จึงย่อมโทษใครไม่ได้เลยนอกจากจะโทษ “สมาชิกรัฐสภา” นั่นแหละครับ ผมคิดว่าเมื่อเรามีหน้าที่อะไรแล้ว เราก็ต้องทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุดนะครับ ความผิดเกิดขึ้นได้ แต่ก็คงต้องพยายาม “หลีกเลี่ยง” ให้มากที่สุด เรื่องนี้คงเป็นอุทธาหรณ์สำคัญสำหรับรัฐสภาว่าจะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการร่างกฎหมายเสียใหม่แล้วล่ะครับ!! ส่วนจะปฏิรูปอย่างไรนั้น ผมเชื่อว่ามีคนเขียนและพูดไว้บ้างแล้ว ที่น่าสนใจที่สุดก็คือการนำเอาระบบ rapporteur หรืออาจแปลว่า “นิติกรเจ้าของร่างกฎหมาย” มาใช้ และการทำ “ตารางเปรียบเทียบ” ความเปลี่ยนแปลงของร่างกฎหมายทุกขั้นตอนนับแต่ยกร่างโดยหน่วยงานไปจนถึงการประกาศใช้บังคับว่ามีความเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนไหน อย่างไรครับ เพราะในฝรั่งเศสใช้ระบบนี้อยู่แล้วก็เกิดผลดีครับ อันที่จริงผมเคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งให้กับสถาบันนโยบายศึกษาเรื่อง “องค์กรชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล” เมื่อปี พ.ศ.2542 ในหนังสือเล่มนั้น ผมได้นำเสนอ “กระบวนการ” จัดทำร่างกฎหมายที่เหมาะสมที่มีการเปรียบเทียบแสดงความแตกต่างระหว่างร่างกฎหมายในขั้นตอนต่าง ๆ ครับ การทำตารางเปรียบเทียบทุกขั้นตอนของร่างกฎหมายนี้จะทำให้เราพบว่า สาระสำคัญของกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างนับแต่ร่างแรกและเกิดข้อผิดพลาดขึ้นในขั้นตอนใดครับ
       ส่วนเรื่องการ “หาตัวคนผิด” นั้น ผมเองไม่เคยคิดว่าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการหรือช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะต้องรับผิดชอบ เพราะข้อผิดพลาดนี้เกิดขึ้นในชั้นของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเกิดจากการพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายในรัฐสภาครับ คนที่ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่คือ “ท่านผู้นำ” เพราะท่าน “กุม” เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่จะต้องรับผิดชอบรายต่อไปควรจะเป็นผู้ที่ “ต้อง” ตรวจสอบความถูกต้องของร่างกฎหมาย (ในกระบวนการธุรการ) ที่ผ่านการพิจารณาของ “สภา” ไปแล้ว ผู้นั้นอาจเป็น “เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” หรือ “เลขาธิการวุฒิสภา” แล้วแต่ว่าร่างกฎหมายนั้นจะ “จบ” ที่สภาไหนครับ!! และนอกจากนี้ “สมาชิกรัฐสภา” ที่เป็นเจ้าของ “ข้อผิดพลาด” นั้นคงปฏิเสธความรับผิดชอบของตนไม่ได้หรอกครับ
       เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น ในสัปดาห์นี้เรามีบทความที่ดีมาก ๆ ของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีคือ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ได้เขียนขึ้นเพื่อ “หาทางออก” ให้กับปัญหาร่างกฎหมายผิดพลาด โดยบทความที่ได้ลงเผยแพร่ใน website ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีคือ www.cabinet.thaigov.go.th ไปแล้วเมื่อวันพุธ-พฤหัสบดีที่ 24-25 ธันวาคมที่ผ่านมา และผมได้ขออนุญาตท่านอาจารย์บวรศักดิ์ ฯ นำมาลงใน www.pub-law.net ของเราด้วย บทความนี้มีชื่อว่า “ร่างกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาผิด : จะป้องกันและแก้ไขอย่างไร” และนอกจากบทความนี้แล้ว เรายังมีบทความดี ๆ อีกสองบทความคือ บทความเรื่อง “สังคมประชาธิปไตยไทยวัย 71” ของ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบทความเรื่อง “Thailand’s Public Consultation Law : Opening the Door to Public Information Access and Participation” ของคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ แห่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ได้เขียนอธิบายร่างกฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นภาษาอังกฤษ นักศึกษาไทยที่อยู่ในต่างประเทศคงดีใจนะครับที่เห็นข้อมูลเหล่านี้ นอกจากบทความทั้งสามแล้ว เราก็มีการตอบคำถามและแนะนำหนังสือใหม่ด้วยครับ
       ในนามของ www.pub-law.net ผมขออวยพรให้ผู้ใช้บริการและครอบครัว จงประสบแต่ความสุขและความสำเร็จตลอดปี 2547 ครับ และผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ก็อย่าลืมนะครับว่ามีคนเอาใจช่วยอยู่และรอยินดีกับความสำเร็จที่จะมาถึงครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 12 มกราคม 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544